เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๒
ตุลาคม - ธันวาคม ๒๕๔๗

เสขิยทัศน์
กองบรรณาธิการ สัมภาษณ์ / ถ่ายภาพ
จัน - เจ้า - ค่ะ * ภาพประกอบ

นายแพทย์ประเวศ วะสี
สัมภาษณ์ ที่ โรงแรมรามาการ์เด้น เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๗

 

-> หัวใจสำคัญของการพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพคืออะไร

น.พ.ประเวศ: ที่สำคัญคือ ขณะนี้การพัฒนาหมดทั้งโลก เป็นการพัฒนาทางวัตถุ ทำให้เข้าไปสู่ความเสื่อมเสียทางศีลธรรมขนาดหนัก ทั้งการขาดความเมตตา การแย่งชิง การทำร้ายกัน การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ทำลายวัฒนธรรม ทุกอย่าง จะเกิดวิกฤติใหม่ ๆ ทีนี้ ปัญหาหนักมาก ไม่มีทางที่จะพัฒนาไปทางมิติเดิมคือ การพัฒนามิติทางวัตถุได้อีกต่อไป เพราะยิ่งเร่งการพัฒนาทางนี้ไป ก็ยิ่งเร่งไปสู่การทำลาย ควรยกระดับการพัฒนาขึ้นไปอีกมิติหนึ่ง ไปสู่มิติทางจิตใจ เพราะจิตใจยิ่งพัฒนามากยิ่งดี แต่วัตถุยิ่งพัฒนามาก ไม่ได้แปลว่าดี เมื่อพัฒนาจิตใจแล้ว การใช้วัตถุก็จะยิ่งน้อยลง มีการอยู่ร่วมกันมากขึ้น มีความเอื้ออาทรมากขึ้น ก็ทำให้เป็นไปได้ แต่การพัฒนาวัตถุเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะมีการทำลายสูง

           ดังนั้น การพัฒนาจิตจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และเนื่องจากมนุษย์ที่ผ่านมาไปพัฒนาทางวัตถุ ถึงมีวัตถุมาก แต่ก็มีความพร่องในตัว เพราะมนุษย์ขาดความดีไม่ได้ ถ้าขาดความดีก็จะขาดความสมบูรณ์ ทำอย่างไรก็ไม่อิ่ม ต้องไปหาอะไรมาเติม เช่น ยาเสพติด ความฟุ่มเฟือย ความรุนแรง ซึ่งไม่ตรง จำเป็นต้องมีการพัฒนาจิต เพื่อให้มนุษย์เกิดความสมบูรณ์ในตัวเอง เกิดความสุขในตัวเอง เมื่อมีความสุขและความสมบูรณ์ในตัวเอง ก็ไม่ไปทำเรื่องยาเสพติด ความฟุ่มเฟือย ความรุนแรง การใช้วัตถุปัจจัยก็น้อย เรียกว่าเป็นความสุขราคาถูก (Happiness at low cost) จึงเป็นไปได้สำหรับทุกคน ถ้าเป็นความสุขราคาแพง ก็เป็นไปไม่ได้ทุกคน การพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพจึงมีความสำคัญ ต้องทำให้มาก และหลากหลายวิธี

 

-> วิสัยทัศน์ของเรื่องนี้ในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ควรเป็นอย่างไร

น.พ.ประเวศ: ระยะสั้น เราเห็นแล้วว่าคนมาสนใจเรื่องจิตใจมากขึ้น เป็นไปทั่วโลก ทุกคนประสบปัญหาทางวัตถุ ความเครียด ทางอะไรต่าง ๆ และได้เห็นตัวอย่างสังคมที่พัฒนาไปจนร่ำรวย ก็ยังขาดความสุข เช่น สังคมอเมริกัน เราจึงเห็นการหันมากลับมาสนใจเรื่องทางจิตมากขึ้นเป็นแนวโน้มทั่วไป อย่างในต่างประเทศ ที่ไหนไม่มีศูนย์วิปัสสนากรรมฐาน เป็นเรื่องเชย มี Meditation Center เกิดขึ้น เริ่มมีการศึกษาที่มองจิตใจตนเองมากขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะกลางก็จะมีความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ

          ส่วนในระยะไกล ผมอาจจะเห็นต่างจากคนอื่นที่บอกว่าเป็นไปไม่ได้หรอก แต่ผมว่าในที่สุด มนุษย์พ้นทุกข์ร่วมกันได้ เพราะมนุษย์มีกิเลสก็จริง แต่ว่าไม่ใช่ด้านเดียว อีกด้านยังมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ในตัว ถ้าเรารดน้ำพรวนดิน มันเป็นไปได้ทุกคน ท่านอาจารย์พุทธทาสถึงพูดช่วยไว้ตรงนี้ว่า ทุกคนเคยแล้วทั้งสิ้น นิพพานชิมลอง เราไม่ได้เห็นแก่ตัวตลอดเวลา บางครั้งที่เราไม่เห็นแก่ตัว เรามีความสุข สงบ สบายมาก ดังนั้น จึงเกิดขึ้นได้กับทุกคน ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ จะได้ช่วยกันทำให้เกิดบ่อยขึ้น เกิดนานขึ้น ขยายจากที่เกิดเป็นครั้งคราว

          ในที่สุด โดยความเข้าใจ สมองมนุษย์ซึ่งมีศักยภาพเรียนรู้สูงมาก ขณะนี้มันพลาดไป เกิดอุบัติเหตุในวิถีของมนุษยชาติ ๓๐๐–๔๐๐ ปี แต่มนุษย์เรียนรู้ได้ ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี จนในที่สุด มันจะเปลี่ยนไปสู่การพ้นทุกข์ร่วมกันหมด และเพราะโลกเชื่อมโยงเป็นโลกเดียวกัน ถ้าจะพ้นเฉพาะตัวเฉพาะคน ทิ้งคนอื่น ก็จะเป็นปัญหาต่อกันและกัน ก็จะไปไม่ได้ นอกจากคิดพ้นทุกข์ร่วมกัน ผมคิดว่าในระยะไกล เป็นเรื่องที่เป็นไปได้

 

-> ปัญหาและอุปสรรค ในระดับปฏิบัติการ

น.พ.ประเวศ: ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือปัญหาเกี่ยวกับทิฏฐิ เพราะทิฏฐิที่เป็นไปเพื่อความโลภ มีกำลังแรงมาก เป็นมิจฉาทิฏฐิ วิธีมองโลก วิธีคิดต่าง ๆ ทิฏฐิตัวนี้นำไปสู่มิจฉาสังกัปปะ คือดำริไม่ชอบ ดำริที่จะหาความร่ำรวยบ้าง ดำริที่จะไปแย่งชิงกัน ดำริที่จะไปทำสงคราม อะไรต่าง ๆ และได้สร้างโครงสร้างไว้ในสังคมที่เป็นไปเพื่อโลภจริตทั้งหมด เพราะฉะนั้น โลกทัศน์และวิธีคิดทั้งโครงสร้าง เป็นสิ่งที่รุนแรงมาก ทำให้คนทำได้ยาก แต่เราก็ไม่ควรท้อถอย เราต้องรู้มัน และต้องมีวิธีทำต่าง ๆ เราสามารถสร้างโครงสร้างขึ้นใหม่ได้ อย่างที่ผมเสนอโครงสร้าง INN เพราะโครงสร้างในขณะนี้เป็นโครงสร้างอำนาจทั้งสิ้น

 

-> คุณหมอเห็นว่า โครงสร้าง INN เป็นทางออกที่สำคัญ

น.พ.ประเวศ: ใช่ครับ เพราะว่ามันจะมีพลังเกิดขึ้น ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีพลัง เพราะเราถูกโครงสร้างกดทับอยู่ ที่จริงคนอยากทำดีมีเยอะ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะโครงสร้างที่กดทับมันหนักมาก แต่ INN จะปลดปล่อยสู่อิสระ

โครงสร้างแห่งความสุขและความสร้างสรรค์

          ทุกวันนี้ ทุกคนถูกทำให้รู้สึกว่าไร้ศักยภาพ และไร้ศักดิ์ศรี เพราะว่าโครงสร้างอำนาจและโครงสร้างเงิน องค์กรต่างๆ ในสังคมล้วนเป็นองค์กรอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรทางการเมือง ทางราชการ ทางการศึกษา ทางธุรกิจ และทางศาสนา นอกจากนั้น ยังมีโครงสร้างอำนาจเงินที่กดทับคนทั้งหมด ในโครงสร้างอำนาจนี้ก่อให้เกิดความบีบคั้น ความไร้ศักยภาพ ความหงุดหงิดรำคาญใจ และความรู้สึกสิ้นหวัง (hopelessness) ทั้งหมดล้วนทำลายสุขภาพจิต ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และศักยภาพแห่งความสร้างสรรค์

          INN เป็นโครงสร้างที่ทำให้หลุดจากความบีบคั้นดังกล่าว ไปสู่ความสุขและความสร้างสรรค์

I = Individual หรือ ปัจเจกบุคคล
แต่ละคนมีคุณค่า มีศักด์ศรี และมีศักยภาพ เราต้องตั้งใจของเราไว้ให้ดี มีความเพียรอันบริสุทธ์ มีความสุขจากการแสวงหา ความรู้และการทำความดี เราอย่าติดอยู่ในยศศักดิ์ อัครฐานหรือตำแหน่งอันเป็น “รูปแบบ” (form) ต้องไปสู่แก่นสัจจะ คือความเป็นมนุษย์ ของแต่ละคน คนแต่ละคนถ้ามีศักดิ์ศรี และทำดีจะมีผลมาก ถ้าเราระลึกรู้อย่างนี้จะประสบอิสรภาพ ความสุข และความสร้างสรรค์

N = Nodes หรือ กลุ่ม
คน ๔–๕ คน หรือ ๗–๘ คน ที่ถูกจริตกัน ควรมารวมกลุ่มด้วยความสมัครใจ สมาชิกอาจข้ามสาขาและข้ามองค์กร สมาชิกกลุ่มพบปะกันบ่อยๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ชวนกันทำอะไรที่สร้างสรรค์เมื่อรวมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ จะมีความสุขและความสร้างสรรค์เหลือหลาย ความเป็นกลุ่ม และความหลุดพ้นจากการบีบคั้นที่ดำรงอยู่ในองค์อำนาจทางดิ่ง ควรมีกลุ่มอันหลากหลายให้เต็มสังคม คนคนหนึ่งอาจเป็นสมาชิกได้หลายกลุ่มตามความสมัครใจ

N = Networkt หรือ เครือข่าย
ปัจเจกบุคคล (I) ก็ตาม กลุ่ม (N) ก็ตาม ควรเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกับบุคคล หรือกลุ่มอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แต่ละคนแต่ละกลุ่ม อาจเป็นสมาชิกของหลายเครือข่ายตามความสมัครใจ

          INN หรือ บุคคล – กลุ่ม – เครือข่าย จะเป็นโครงสร้างที่ไม่มีใครมีอำนาจเหนือใคร ทุกคนและทุกกลุ่มเข้ามาเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย มีการเรียนรู้ร่วมกัน โครงสร้างอย่างนี้จะมีความสุขความสร้างสรรค์ เป็นโครงสร้างที่มีจิตวิญญาณ และมีพลังที่จะเยียวยาโลกที่เจ็บป่วย

 


-> บทนำ

-> อ่านบทสัมภาษณ์

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :