เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๒
ตุลาคม - ธันวาคม ๒๕๔๗

เสขิยทัศน์
กองบรรณาธิการ สัมภาษณ์ / ถ่ายภาพ
จัน - เจ้า - ค่ะ * ภาพประกอบ

ดร. สรยุทธ รัตนพจนารถ


-> ครอบครัวและประวัติส่วนตัว

          ครอบครัวเราเล็กๆ แต่มีความสุขกันดีตามอัตภาพ ผมเป็นลูกคนสุดท้อง คุณพ่อคุณแม่มีลูก ๔ คน พี่ชาย พี่สาวสองคน และ ผม เป็นครอบครัวคนจีน คุณแม่มาจากเมืองจีนตอนเกิดสงคราม ที่บ้านขยันขันแข็งและทำงานหนักกันมาตลอด เหมือนครอบครัวจีนทั่วไป คุณพ่อเคยทำหลายอาชีพ เคยขับรถแท็กซี่ เคยขายอาหาร เปิดร้านซ่อมรถ เคยซ่อมรถให้ในวังหลวง คุณแม่เป็นแม่บ้าน แต่ก็ทำงานทุกอย่างไปแพ้ผู้ชายอกสามศอก ตื่นเช้าก่อนใคร ทำงานตลอดวันอย่างมีความสุข ดูแลทุกคน และเข้านอนหลังคนอื่น ผมเห็นคุณพ่อคุณแม่ รวมถึงคุณอาทั้งสองเป็นตัวอย่างที่ดี ดีอย่างเหลือเชื่อ เป็นตัวอย่างของคนซึ่งเขาให้ความสำคัญ ให้คุณค่าต่อการทำงาน และงานที่เขาทำก็มีคุณค่ามีความสำคัญจริงๆ จังๆ และก็สร้างความสุขให้กับเขาได้ว่ามันเป็นอย่างไร ที่บ้านยังให้ความสำคัญกับการเรียนเยอะมาก ลูกๆ ทั้ง ๔ คน เรียนจบอย่างน้อยปริญญาตรีหมดเลย ทั้งที่คุณพ่อจบประถมสี่ คุณแม่ไม่เคยเข้าโรงเรียน อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เลย พี่สาวจบปริญญาโท ๑ คน จบแพทย์ ๑ คน แล้วไปต่อที่อเมริกา ผมถือว่าท่านเป็นชายหญิงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในชีวิตคู่หนึ่ง ตอนเล็กๆ ที่บ้านจะบอกให้เรียนไปก่อน พ่อแม่ไม่มีอะไรจะให้นะ จะให้ได้แต่ความรู้นี้แหละ ให้ไปสู้ชีวิต ไม่เคยบังคับว่าต้องเรียนอะไร ให้ลูกๆ เลือกในสิ่งที่ตัวเองชอบ ที่อยากจะเรียน ที่บ้านถึงแม้จะเป็นครอบครัวคนจีน แต่เป็นเสรีนิยมมาก ถึงขั้นหัวก้าวหน้ามากในหลายๆ เรื่องเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือเรื่องการศึกษา ตอน ม.๔ ผมได้รับทุนโครงการ พสวท. (โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ที่คนรู้จักในนามโครงการช้างเผือกทางวิทยาศาสตร์ โดยให้ทุนส่งเรียนสาขาวิทยาศาสตร์ เพื่อจะได้กลับมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ ม.ปลาย ปริญญาตรี จนถึง ปริญญาเอก ตอนนั้นตื่นเต้นกับวิทยาศาสตร์กระแสหลักมากๆ (ตอนนี้ตื่นเต้นกับวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่มากๆ ไม่แพ้กัน) เรียนมัธยมโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย แล้วต่อปริญญาตรีที่คณะวิทยาศาสตร์ มหิดล ซึ่งก็เป็นมหาวิทยาลัยที่ให้โอกาสในเรื่องความเป็นเลิศทางวิชาการ ในขณะเดียวกันก็ให้โอกาสทำกิจกรรมนักศึกษาต่างๆ ค่อนข้างเยอะพอสมควร เป็นนายกสโมสรนักศึกษา และได้ร่วมกิจกรรมชมรมต่างๆ บ้าง เช่น ชมรมพุทธ ชมรมชนบท ชมรมอนุรักษ์ ช่วงเหตุการณ์เดือนพฤษภาก็อยู่หน้ารัฐสภา อยู่ราชดำเนินเหมือนกัน ห่างจากแนวที่เขายิงไม่ไกล ออกมาก่อนที่จะยิงกันนิดเดียว

          จากนั้นไปต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเยล มีรุ่นพี่มหาวิทยาลัย คือ จอร์จ บุช ผู้เป็นพ่อ บิล และฮิลลารี่ คลินตัน จอร์จ บุช ผู้เป็นลูก รวมถึงจอห์น แครี่ ผู้สมัครประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต (รวมถึงโจดี้ ฟอสเตอร์ด้วย) คณะที่ไปเรียนเป็นคณะด้านสหวิทยาการ (Yale School of Forestry and Environmental Studies) ช่วยให้เราได้เรียนรู้ถึงมุมมอง การอธิบายโลก จากมุมมองของนักวิชาการจากศาสตร์ที่หลากหลาย เพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกันมีจบวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา เคมี ชีวเคมี จบกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ มีหมดเลย นักวิชาการและเพื่อนๆ ต่างพยายามอธิบายโลกจากมุมมองของเขาให้เราฟัง รู้สึกตื่นเต้นและตื่นตัวทางวิชาการกับงานของเพื่อนอาจารย์และเพื่อนนักศึกษา ที่มีความสนใจหลากหลาย ช่วงที่อยู่อเมริกาก็มีประสบการณ์หลากหลาย เป็นบอร์ดขององค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งด้านการศึกษา ด้านสิ่งแวดล้อม ทำงานเสิร์ฟอาหาร ทำงานรณรงค์เคลื่อนไหวประท้วงก็เคย ได้สอนเด็กอเมริกันทั้งระดับมัธยม ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกหลายวิชาอยู่ ทำงานวิจัย ทำงานอบรมในหลายๆ เรื่องด้วย สนุกและได้เรียนรู้มาก ช่วงทำวิจัย โจทย์ที่ทำจะถูกตั้งคำถามจากเพื่อนๆ และอาจารย์ว่าคุณมองประเด็นนี้แล้วหรือยัง คุณมองประเด็นนั้นแล้วหรือยัง เป็นส่วนที่บ่มเพาะให้เราเข้าใจได้ว่าโลกถูกอธิบายได้ด้วยชุดความรู้หลายชุด คนเราเข้าใจโลกไม่เหมือนกัน แต่ถึงแม้มหาวิทยาลัยจะเป็นที่รวมของนักวิชาการชั้นนำของโลกก็ตาม การเรียนรู้ภายในนั้นก็ยังจำกัดเอามากๆ ระบบการศึกษากระแสหลักนั้นไม่ได้พูดถึงเลย เป็นมิติทางกายภาพล้วนๆ ตัวผมถือว่ามีโอกาสอันดีมากเลยที่ก่อนจะไปเรียน ได้ไปบวชเรียน และได้มีเครื่องมือที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ด้านในของตัวเอง และการเอาตัวรอดอยู่ในสังคมตะวันตก โดยไม่ได้โดนดึงไปสู่สิ่งต่างๆ มากเกินไป

          งานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกทำเรื่อง “โครงการพัฒนาการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชน” เป็นเรื่องกระบวนการการเรียนรู้ ซึ่งก็มีมิติในเรื่องของวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และชุมชนท้องถิ่น ไปอยู่ในบุรีรัมย์ ในสวนป่าครูบาสุทธินันท์อยู่ปีกว่า ได้เรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้านหลายท่าน โดยเฉพาะพ่อคำเดื่อง เห็นเลยว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นมันมีพลังและลึกซึ้งมาก หากจะให้เทียบกับชุดความรู้ตะวันตกคงเปรียบเทียบยาก คล้ายเปรียบกล้วยกับส้ม ไม่มีอะไรดีกว่ากัน เพียงแต่ว่ามันอธิบายโลกได้ต่างกัน ทำให้เห็นความเป็นไปได้ของการประสานชุดความรู้ต่างๆ เข้ามาด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น ภูมิปัญญาตะวันออก เรื่องของวิทยาศาสตร์ และเรื่องของศาสนาเข้าด้วยกัน มีบทสรุปว่าการอธิบายโลกที่ดี คือ การใช้ภูมิปัญญาชุดความรู้ต่างๆ เข้ามาร่วมอธิบาย อีกทั้งยังทำให้เราสื่อสารและทำงานร่วมกับหลากหลายกลุ่มได้ อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องมีจุดร่วมกันเป็นเรื่องของการเรียนรู้ การเดินทางทั้งสู่โลกภายนอกและโลกภายใน เป็นเรื่องของการรู้จักตนเอง รู้จักโลก และรู้จักความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างตนเองกับโลก


-> บทนำ

-> อ่านบทสัมภาษณ์

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :