เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๒
ตุลาคม - ธันวาคม ๒๕๔๗

เสขิยทัศน์
กองบรรณาธิการ สัมภาษณ์ / ถ่ายภาพ
จัน - เจ้า - ค่ะ * ภาพประกอบ

คนของงาน

 

-> มีความเป็นมาอย่างไรจึงทำให้มีโอกาสเข้ามาทำงานนี้

          ชีวิตมนุษย์อาจเปรียบได้เสมือนการเดินทางที่ยิ่งใหญ่ เป็นการเดินทางที่มีเป้าหมายหลักเพื่อค้นหาความหมายของชีวิต ให้เข้าใจตำแหน่งแห่งที่ของเราในกระแสการเปลี่ยนแปลงไหลเลื่อนเคลื่อนที่ตลอดเวลา งานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพสำหรับผมแล้วเป็นจุดนัดพบของการเดินทางเติบโตก้าวสู่โลกภายนอก กับการเดินทางเติบโตเรียนรู้สู่โลกภายใน เป็นจุดนัดพบของ Spiritual Quest (การเดินทางค้นหาทางจิตวิญญาณ) กับ Professional Quest (การเดินทางค้นหาทางอาชีพ) มาเจอกันพอดี หากตอบสั้นๆ ตอบว่า “ธรรมะจัดสรร” ก็คงจะได้ครับ ดูอะไรๆ เป็นจังหวะจะโคนลงตัวไปหมด ตอบอีกนัยหนึ่งตามงานและความสนใจเดิมคือ ฐานจากวิทยาศาสตร์ ผมเรียนและทำงานในสาขาวิทยาศาสตร์ โดยในช่วงหลังสนใจเน้นเรื่อง “วิทยาศาสตร์ท้องถิ่น” (Local Science) ซึ่งเป็นคำหรือวาทกรรมใหม่ หมายถึง วิทยาศาสตร์คุณภาพใหม่ ที่เป็นการผสานจุดแข็งของวิทยาศาสตร์ฉบับตะวันตกกับวิทยาศาสตร์ฉบับภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าด้วยกัน ซึ่งสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ใหม่ หรือวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ (New Paradigm Science) ได้ทำงานเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เรื่องจิตวิวัฒน์ หมายถึงการที่มนุษย์ ทั้งระดับบุคคล ระดับชุมชน และระดับมนุษยชาติ กำลังก้าวข้ามไปสู่จิตวิญญาณใหม่ มีจิตใหญ่ หรือจิตวิญญาณที่ก้าวข้ามตัวตนขึ้นไป ซึ่งก็สอดคล้องกับแผนงานในเรื่องของการพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ความสนใจและประสบการณ์เดิมที่พอมีอยู่บ้าง ประจวบเหมาะกับทาง สสส. ก็ต้องการคนเข้ามาช่วยดูแลบริหารจัดการชุดโครงการนี้

          เหตุปัจจัยอีกประการหนึ่งที่เข้ามาทำงาน เพราะมีความกล้ามากขึ้นครับ กล้าคิด กล้าจินตนาการ กล้าฝันมากขึ้น แล้วก็กล้าไปตามความฝันด้วย เรื่องมีอยู่ว่า วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ท่านอาจารย์ประเวศ ชวนไปทานข้าวครับ อาจารย์ถาม ๒ คำถาม คำถามแรกคือว่าในฐานะคนหนุ่มฝันอะไรไว้บ้าง ฝันอยากเห็นอะไรดีๆ หรือฝันอยากทำอะไรดีๆ บ้าง คำถามข้อที่สอง คือว่า อาจารย์ในฐานะผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส จะช่วยอะไรได้บ้าง โอ้โห! เหลือเชื่อนะครับ คำถามง่ายๆ แบบนี้ มันพลิกโลกของผมเลย เรื่องนี้ผมเอาเป็นบทเรียนว่าเราไปช่วยให้คนเติบใหญ่ด้วยคำถามง่ายๆ แบบนี้ได้ สงสัยว่าสังคมเราทำไมไม่ตั้งคำถามที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของคนแบบนี้ และไม่จำเป็นว่าผู้ใหญ่ช่วยเด็ก เด็กช่วยผู้ใหญ่ก็ได้ เพื่อนช่วยเพื่อนก็ได้ว่าเธอฝันอะไรไว้ เธอคิดอยากจะทำอะไรไว้บ้าง เราช่วยอะไรเธอได้บ้าง วันนั้นก็พูดคุยกันหลายเรื่อง มีทั้งจิตวิวัฒน์ตั้งแต่ยังไม่เริ่มมีกลุ่ม (กลุ่มจิตวิวัฒน์เริ่มเมื่อกันยายน ๒๕๔๖) เรื่องเครือข่ายส่งเสริมการเรียนรู้ที่ดี เรื่องการเรียนรู้โดยการวิจัยเรื่องท้องถิ่น ผมใช้เวลานานหลายเดือนจึงกลับไปตอบคำถามสองข้อนั้น เพราะกลับไปรื้อลิ้นชักความฝันของตัวเอง ว่าในชีวิตเราเคยฝันเรื่องอะไรไว้บ้าง ผมเก็บฝันใส่ลิ้นชักไว้หลายแบบ เช่น ฝันแบบน่าจะเป็นไปได้ น่าจะได้ทำซักวันหนึ่ง หรือฝันแบบว่าชาตินี้คงไม่ได้ทำก็เก็บไว้ในลิ้นชักล่างๆ กลับไปนอนคิดรื้อความฝันใหญ่เลย แล้วก็พบว่าเรื่องหนึ่งที่เคยฝัน เคยมีความสนใจเป็นส่วนตัว คือเรื่องอาสาสมัคร อยากทำงานอาสาสมัครและอยากส่งเสริมการทำงานอาสาสมัคร เคยมีประสบการณ์ทำงานอาสาสมัครมาอยู่หลายงาน อาทิเช่น กิจกรรมสโมสรนักศึกษา หรือเมื่อตอนสิบปีที่แล้วเคยเป็นอาสาสมัครรับโทรศัพท์ ตอบปัญหาเรื่องโรคเอดส์ สมัยเมืองไทยยังไม่ค่อยมีความรู้เรื่องนี้เท่าไร ช่วยโครงการแอคเซส (โครงการเข้าถึงเอดส์) ของอาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ เกิดความรู้สึกดีว่าอยากจะให้คนอื่นๆ ได้ความรู้สึกดีๆ อย่างเราบ้าง อยากให้โอกาสต่างๆ เหล่านี้แพร่หลาย หลายเดือนหลังจากที่อาจารย์ประเวศถามว่า เคยฝันอะไรไว้ จึงได้ไปตอบว่าฝันอยากจะทำงานด้านอาสาสมัคร ซึ่งทำให้โยงมาถึงงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ประเด็นของเรื่องนี้อยู่ที่การกล้าคิด กล้าจินตนาการ กล้าฝันครับ ผมมักคิดว่าตนเองเป็นคนกล้าฝัน แต่เหตุการณ์นี้ทำให้ตระหนักว่าการที่เราโตเป็นผู้ใหญ่ความสามารถของเราลดลงแค่ไหน เห็นชัดเลยว่าตนเองติดอยู่ในกรอบที่หลายๆ ครั้งเราสร้างขึ้นมาครอบตัวเอง จินตนาการของเราถูกกดทับอย่างมาก ตอนนี้ก็เริ่มฝึกฝัน ฟื้นฟูและบ่มเพาะจินตนาการมากขึ้น รู้สึกว่าอะไรๆ ก็เป็นไปได้ หากเรากล้าคิด กล้าทำ กล้าฝัน Sky is the limit มีท้องฟ้าเป็นขอบเขต คือไม่มีขอบเขตนั่นเอง

          ไหนๆ เล่าเรื่องอาสาสมัครแล้ว ขออนุญาตเพิ่มเติมสักนิดว่า งานอาสาสมัครนี้ภาคีที่ทำงานร่วมกันคิดว่าจะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลัก เห็นพ้องต้องกันว่าจะเป็นตัวคูณหรือตัวยกกำลังให้กับทุกเรื่อง งานอาสาสมัครในปัจจุบัน คนมักจะคิดว่าทำแล้วขาดทุน ไม่จ๊าบ ไม่ทันสมัย เป็นเรื่องที่ทำแล้วหนุ่มไม่หล่อ สาวไม่สวย ขายไม่ออก คนทำต้องหลบๆ ซ่อนๆ ไม่กล้าบอกใคร ชุดโครงการพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพมีความคิดอยากจะพลิกโฉมเรื่องอาสาสมัคร ทำให้เป็นสังคมเห็นว่าการทำงานอาสาสมัครนี้งานที่ดี เท่และทันสมัย หนุ่มหล่อ สาวสวย ทำแล้วทันสมัย ผมเชื่องานอาสาสมัครจะไปช่วยงานพัฒนาอื่นๆ ในทุกเรื่อง ไม่ว่าการศาสนากับการพัฒนา ในเรื่องของศิลปะกับพัฒนาการทางจิตวิญญาณ ในเรื่องของเกษตรกรรม ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ในเรื่องของเศรษฐกิจเพื่อชุมชนต่างๆ ทุกเรื่องครับ อยากเห็นงานอาสาสมัครที่เคลื่อนคน (mobilize) ทำงานอาสาได้เป็นร้อยล้านคน แม้ประชากรประเทศไทยมี ๖๐ กว่าล้านก็ตาม หมายความว่าคนหนึ่งทำงานอาสาสมัครได้มากกว่า ๑ ครั้ง ทำในฐานะเพื่อนของเพื่อน ในฐานะลูกของพ่อแม่ ในฐานะคนเดินไปจ่ายตลาด ในฐานะคนขับรถ ในฐานะลูกศิษย์ของอาจารย์ก็ได้ ทำคนเดียวก็ได้ ทำเป็นกลุ่มก็ได้ เป็นกลุ่มในสำนักงาน หรือเป็นครอบครัว หรือในฐานะองค์กรก็ได้ ทำนองนี้ คือให้คนมีช่องทางหลากหลายที่เข้าประสบเข้าไปสัมผัสประสบการณ์ตรง เริ่มเห็นเค้าลางบุพนิมิตแล้วว่าเรื่องนี้ท่าจะเป็นฝันที่เป็นจริง เคยฝันอยากจะเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่มีงานอาสาสมัครที่แข็งแรง เข้มแข็ง และเต็มแผ่นดิน เกิดอาสาสมัครทั่วทุกหย่อมหญ้า ไม่ว่าอาสาสมัครทางธรรม อาสาสมัครด้านสิ่งแวดล้อม อาสาสมัครเรื่องของสุขภาพ อาสาสมัครเรื่องการเรียนรู้ต่างๆ เหล่านี้ ผมเชื่อว่าในไม่กี่ปีข้างหน้าหากชุดโครงการได้รับการสนับสนุนจาก สสส. เราจะมีโอกาสเห็นสิ่งดีๆ งามๆ เหล่านี้บนแผ่นดินไทย

 

-> ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป คุณจะเข้ามาทำงานนี้เต็มตัว เต็มเวลา

          ณ จุดปัจจุบัน ผมเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหิดล ตอนนี้ก็ยังทำงานสอนเต็มเวลาอยู่ คือยังสอนระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ทั้งวิชาวิทยาศาสตร์และวิชาที่เป็นสหวิทยาการ อีกงานหนึ่งซึ่งเป็นช่วงท้ายของงาน ผมประสานงานชุดโครงการวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ชื่อชุดโครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น (Project Local Science) ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องเชื่อมโยงกับการพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพเช่นกัน เนื่องจากเป็นงานที่ทำให้เราเข้าใจเรื่องวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่มากขึ้น ทั้งในระดับทฤษฎีและรูปธรรมการนำไปประยุกต์ใช้จริง ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมสุขภาวะทางปัญญา ส่งเสริมการทำความดี ให้การทำงานเป็นการปฏิบัติธรรม โดยมีตัวละครหลักคือครู นักวิชาการ เด็ก และชาวบ้าน งานที่สามที่เริ่มทำเต็มตัวคือ ผู้จัดการชุดโครงการพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ อนาคตก็จะเหลือสองงานหลัก คืองานสอนที่คณะวิทย์ฯ และงานผู้จัดการ

 

-> อะไรเป็นแรงบันดาลใจส่วนตัวที่ทำให้คุณหันมาสนใจเรื่องด้านใน หรือว่าทางด้านจิตวิญญาณ ในขณะที่คนในรุ่นของคุณเองอาจจะมีจำนวนไม่น้อยที่ไปทำธุรกิจ ไปหาความเป็นเลิศทางวิชาการ หรือไปเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือผู้บริหารมืออาชีพ.. อะไรต่างๆ ที่ผ่านมาคุณบอกว่ามันเป็นการบรรจบกันของอาชีพกับการสนใจด้านใน แต่ในการสนใจด้านในไม่ใช่อยู่ๆ จะเกิดขึ้นโดยอิสระ คงต้องมีความเป็นมาของมัน อยากจะให้ช่วยเล่าส่วนนี้ด้วย

          ผมเป็นคนชอบตั้งคำถาม ชอบทดลอง และไม่ชอบความทุกข์มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ตอนเด็กๆ ก็เคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า เรามีชีวิตอยู่ไปทำไม เป้าหมายในชีวิตคืออะไร ตั้งแต่ ม.๓ ตั้งเป้าหมายในชีวิตไว้ว่า “เป็นคนดีและมีความสุข” แน่นอนว่าสองคำนี้มันเป็นคำใหญ่ทั้งสองคำ น่าตื่นเต้นที่ตลอดระยะเวลาการเดินทางของชีวิต ความหมาย ความเข้าใจของผมต่อทั้งสองคำก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เล็กๆ จนถึงปัจจุบัน มีความละเอียดขึ้น มีมิติมากกว่าเดิม

          ถ้าถามว่าการเดินทางของชีวิตเป็นอย่างไร ทำไมเป็นอย่างนั้น ครอบครัวก็มีส่วนอย่างยิ่ง ที่บ้านมีความสนใจเรื่องศาสนาพอสมควร ตอนเด็กๆ ชอบอ่านหนังสือ อ่านทุกประเภท และที่บ้านก็มีหนังสือพวกโลกทิพย์ ซึ่งตอนเด็กๆ เราก็อ่านสนุก สนใจศาสนาในแง่ของอภินิหารค่อนข้างมาก และพอสนใจก็เริ่มสวดมนต์ภาวนาต่างๆ ในแง่ที่เป็นพิธีกรรม พอโตขึ้นก็ได้มีโอกาสได้ไปรู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์ที่สำคัญหลายท่าน ก่อนที่จะไปทำปริญญาเอกก็ได้ไปบวชที่วัดสระเกศ แล้วไปจำวัดที่หลวงพ่อสดธรรมกายาราม ดำเนินสะดวก และได้ไปอยู่ที่สวนโมกข์ระยะหนึ่ง (เป็นฆราวาส) ศึกษาจากหนังสือส่วนตัวด้วยบ้าง สิ่งเหล่านี้ช่วยตอบคำถามส่วนตัวเกี่ยวกับคนดีและความสุขว่า เป็นคนดี มันแปลว่าอะไร การเป็นคนดีมันมีคนพูดจาเยอะแยะไปหมดว่าเป็นคนดีเป็นอย่างไร ทางโลกเขาตอบแบบหนึ่ง ทางธรรมเขาก็ตอบอีกแบบหนึ่ง ผมสนใจ สงสัย อยากรู้ เรื่องความสุขก็เช่นกัน โลกก็มีข้อเสนอ มีตัวอย่างความสุขแบบต่างๆ เราก็ไปดูว่ามีความสุขแบบต่างๆ เป็นยังไง ทางธรรมก็เช่นกัน เพราะฉะนั้นเรื่องของการมีความสุขก็มีพัฒนาการมาพร้อมการเดินทางของชีวิต สำหรับเรื่องการทำงาน ผมมองว่างานเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางของชีวิต เพราะฉะนั้นงานที่ทำผ่านมาทั้งหมด เป็นเรื่องของการเชื่อมโยงกับเป้าหมายของชีวิต และไปตอบคำถามพื้นฐานหลักว่างานของเราทำให้ตัวเราหรือโลกเข้าถึงความจริง ความดี และความงามได้หรือไม่ อย่างไร การเดินทางและการทำงานในปัจจุบันกำลังตอบคำถามนี้อยู่เสมอ เพราะฉะนั้นงานที่ทำ ผมไม่ได้มองมันเป็นอาชีพ แต่งานที่ทำมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ยิ่งดีเสียอีก มีคนจ้างเราให้ได้ทำในสิ่งที่เป็นเป้าหมายในชีวิต ถึงเขาไม่ให้ทำ เราก็จะไปดั้นด้นทำอยู่แล้ว ถึงไม่มีสตางค์ก็จะทำ

 

-> จากความสนใจศาสนาเชิงอภินิหาร หรืออิทธิฤทธิ์ มาสู่เรื่องการแสวงหาด้านใน พัฒนาการด้านจิตวิญญาณ หรือด้านแก่นศาสนธรรม มีกระบวนการการเปลี่ยนผ่านอย่างไร

          การเดินทางของชีวิตผมมีหมุดหมายสำคัญหลายแห่ง แต่ละครั้งก็ให้ความชัดเจนในชีวิตมากขึ้น ยกตัวอย่างสักเรื่องตอนวัยรุ่น เมื่อสมัยเรียนมัธยมต้นเรียนค่อนข้างใช้ได้ พอขึ้น ม.๔ เริ่มเรียนวิชาฟิสิกส์ สอบครั้งแรก เก็บคะแนนครั้งแรกเต็ม ๕๐ ผมได้๒๙ เกินครึ่งมา ๔ คะแนน ตอนนั้นจะเป็นจะตายให้ได้ เพราะว่าเคยได้คะแนนสูงๆ มาก่อน แต่ก็พยายามทำใจ เอานะพยายามตั้งใจใหม่ แต่พอสอบครั้งที่สอง คะแนนเต็ม ๗๐ ผมได้ ๓๙ เกินครึ่งมาอีก ๔ คะแนนเหมือนเดิม ตอนนั้นโลกทั้งโลกมันจะพังทลาย และก็มีความทุกข์มากๆ ไปคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษา ครูแนะแนว ถึงขนาดที่จะย้ายแผนการเรียน ว่าจะไม่เรียนแผนวิทย์แล้ว คงเอาดีไม่ได้ จะไปเรียนแผนศิลป์ดีกว่า อาจารย์แนะแนวก็ช่วยเตือนสติ บอกให้ใจเย็นๆ ให้คิดถึงสิ่งดีๆ ในอดีตเอาไว้ (หัวเราะ) และก็แนะนำหลักจิตบำบัดแบบเกสตอลท์ (Gestalt Therapy) ซึ่งเน้นเรื่องของ “Here and Now” ที่นี้และเวลานี้ ซึ่งผมก็ไปนั่งครุ่นคิดอยู่นาน คำนวณคำนึงเข้าไปศึกษาข้างใน และก็พบว่าจริงๆ แล้ว Here and Now ของฝรั่งก็คือเรื่องของปัจจุบันขณะ เรื่องของสติสัมปชัญญะ เรื่องของการเรียนเพื่อเรียน อะไรทำนองนี้ พอคิดได้ก็สถานการณ์พลิกผัน ในที่สุดเทอมนั้นก็ได้คะแนนค่อนข้างดี แต่ว่าตรงนั้นก็เป็นจุดที่ทำให้เราตั้งคำถามหลักของชีวิตว่า ทำไมเรียนแล้วทุกข์เหลือเกิน! อย่างที่เรียนว่าตั้งแต่ ม.๓ เริ่มตั้งเป้าหมายเรื่อง คนดีและมีความสุข แต่เรื่องการเรียนที่เป็นทุกข์ก็เลยมาขัดแย้งกัน ผมก็ลองไปเลือกหาว่าอะไรเป็นคำตอบกับชีวิตเราได้บ้าง ว่าเราไม่อยากทุกข์ ไม่ชอบทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียนหรือว่าเรื่องอะไร อะไรจะเป็นคำตอบให้เราได้บ้าง ได้ลองไปศึกษาหลายๆ อย่าง ได้พยายามทดลองหลายแบบ ศาสนาอื่น เช่น ศาสนาคริสต์ผมก็ไป services หรือ mass เหมือนกัน ได้ไปลองเรียนรู้ว่าโลกนี้มันอธิบายได้ด้วยชุดความรู้อะไรบ้าง และการที่เราจะออกจากความทุกข์มีช่องทางอะไรได้บ้าง

 

-> อายุเท่าไรที่ไปลองศึกษาศาสนาอื่นๆ

          ศาสนาอื่นๆ ก็ประมาณ ๒๐ กว่าๆ ครับ

 

-> พอจะสรุปได้หรือยัง ว่าค้นพบแนวทางที่ตัวเองรู้สึกว่า “ใช่”

          ปัจจุบันมีความเชื่อ มีศรัทธากับสิ่งที่ตัวเองทำอยู่มาก แต่ขณะเดียวกันก็ยังเปิดใจ เปิดกว้างที่จะเรียนรู้อยู่ เข้าใจว่าสิ่งที่เราเชื่อ มันต้องมีการตรวจสอบ การพิสูจน์ การปฏิบัติจริง ไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าถึงได้ด้วยการฟังคำบอกเล่า เช่นเดียวกับสุขภาวะทางปัญญาไม่ใช่เรื่องเข้าถึงได้ด้วยการที่เข้าฟังบรรยาย ดู VCD หรืออบรมสัมมนา แต่มันเป็นเรื่องของการที่คุณต้องปฏิบัติ ณ ปัจจุบัน เท่าที่ผ่านมาคำตอบเป็นที่น่าพอใจ พิสูจน์มาแล้วในระดับหนึ่ง คิดว่าใช่ ณ จุดที่เราเป็นอยู่ แน่นอนว่ายังจะต้องเดินทางอีกไกล แต่คิดว่ามีศรัทธาที่ค่อนข้างแข็งแรงพอสมควร

 

-> มองว่าตัวเองเป็นคนอย่างไร

          มองว่าเป็นคนธรรมดาสามัญทั่วไป ยิ่งในแง่ความเป็นเพื่อนทุกข์ รู้สึกว่าก็เป็นคนธรรมดาเหมือนคนอื่นๆ เปิดและเปราะบางต่อสิ่งเร้าต่างๆ ในขณะเดียวกันก็อยากจะมีความสุขซึ่งก็ตามแต่ละคน ต่างภูมิธรรม ภูมิปัญญาจะเข้าใจว่ามันคืออะไร สุขแบบไหน ผมเองมีความเชื่อพื้นฐานโดยส่วนตัวว่า มนุษย์ทุกคนอยากเป็นคนดี อยากเป็นที่รัก ไม่เว้นแม้แต่คนเดียว เพียงแต่ว่าเขาจะมีโอกาสเอื้อสักขนาดไหน แต่โดยศักยภาพแล้วมนุษย์มีศักยภาพที่จะเรียนรู้ ออกจากจิตที่คับแคบ ก้าวข้ามไปสู่จิตที่ใหญ่ได้ อันนี้เป็นลักษณะร่วมกันเป็นธรรมดาของธรรมชาติของมนุษย์

 

-> เคยได้ยินคุณพูดถึงงานของพระไพศาล วิสาโล ด้วยความชื่นชม ไม่ทราบว่าคุณถืออะไรเป็นสาระสำคัญในงานของท่าน และอะไรคือสิ่งที่คุณสนใจเอามาใช้ในชีวิตและการงาน รวมไปถึงประเด็นศาสนาธรรมกับชีวิต และสังคมด้วย

          ในชีวิตผมมีฮีโร่อยู่หลายคน ทั้งผู้ชายผู้หญิง ทั้งที่มีชีวิตอยู่และเสียชีวิตไปแล้ว หลวงพี่ไพศาล วิสาโล เป็นฮีโร่คนหนึ่ง เป็นหนึ่งในบุคคลตัวอย่างในชีวิต เข้าใจว่าเด็กเยาวชนปัจจุบันไม่ค่อยมีฮีโร่ หรือ role model (อุดมลักษณ์) ในทำนองนี้สักเท่าใดนัก โดยมากจะเป็นดารานักร้องนักแสดง นักการเมือง นักธุรกิจ ที่ประสบความสำเร็จในการแข่งขันกับคนอื่น ดังนั้น หนึ่งในงานของชุดโครงการพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพจะเป็นเรื่องการนำเสนอ role model ให้กับเด็กและเยาวชน ให้เขามีทางเลือกมีฮีโร่ที่เป็นคนที่ละวาง ไม่สะสม เรียบง่าย สมถะ ทำงานเพื่อคนอื่นด้วย อย่างหลวงพี่น่าจะกินขาดบิ๊กดีทูบี หรือ F4 (หัวเราะ) ผมประทับใจท่านที่มีจริยวัตรงดงาม มีจิตสำนึกทางสังคม สามารถบรรยายข้อธรรมได้ตรงประเด็นโดยใช้ภาษาง่ายๆ แถมมีอารมณ์ขันอีกด้วยผมได้อ่านงานหลวงพี่ไพศาลบางเล่ม ช่วงสมัยเรียนมหาวิทยาลัย มีหนังสือเล่มสำคัญเล่มหนึ่งในชีวิตผม ชื่อ แสวงหารากฐานของชีวิตจากโลกกิจกรรม เป็นปาฐกถาโกมลคีมทอง ประจำปี ๒๕๒๗ ซึ่งก็เสียดายมาก ที่สำนักพิมพ์โกมลไม่พิมพ์แล้ว ผมซีร็อกแจกไปหลายสิบเล่มแล้ว แจกเพื่อน เพื่อนร่วมงาน บางทีให้เป็นของขวัญวันเกิด หรือเป็นของฝากเวลามีเพื่อนมาเยี่ยม มาเที่ยวเล่นที่บ้าน หนังสือเล่มนี้น่าตื่นเต้นมากเลย อ่านแล้วทำให้รู้สึกลุกโพลงทางปัญญา คือจิตใจมันตื่นเต้นอยากจะไปบอกคนอื่น อาจจะเป็นเพราะหนังสือตอบคำถามหลักที่ตนเองมีด้วย คือส่วนหนึ่งผมมักเห็นเพื่อน หรือชาวเอ็นจีโอทำงาน ทำสิ่งดีๆ และไปช่วยคนอื่น แต่ก็มีความทุกข์มาก เรื่องนี้เป็นโจทย์หลักของชุดโครงการพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพเลยก็ว่าได้ เพราะเราจะพูดถึงสุขภาวะทางปัญญา สุขภาวะจากการมีจิตใจสูงทั้งประเทศ ต้องเริ่มต้นจากภาคีที่มาทำงานดีๆ ด้วยกัน มีสุขภาวะทางปัญญาด้วยกันก่อน

          ปาฐกถาของท่านชี้ทางออกให้แก่นักกิจกรรม ที่ทำดี แต่บ่อยครั้งไม่มีความสุข หลวงพี่พูดถึงการประยุกต์หลักธรรมที่เป็นองค์คุณสี่ประการ ได้แก่ ก) จาคะ คือ การใฝ่ใจในการเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ ข) สัจจะ คือ การดำรงตนอยู่ในความจริง หรือการรู้จักตนเองนั่นเอง ค) อุปสมะ คือการเข้าถึงความสุขอันประณีต หรือความสงบใจ และ ง) ปัญญา คือ ความเข้าใจในความเป็นจริงของชีวิตและโลก องค์คุณสี่นี้ คือ อธิษฐานธรรม คือธรรมอันเป็นที่มั่น ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ เป็นที่ยืนหยัดให้สามารถบรรลุผลสำเร็จได้ โดยไม่สำคัญตนผิด และไม่เกิดสิ่งมัวหมอง โดยท่านบรรยายได้ง่ายดาย ชัดเจน เห็นแจ้งว่าธรรมะมาช่วยตอบปัญหา แก้ปัญหาชีวิตอย่างไร

          ของแบบนี้มันทนต่อการพิสูจน์ คือไม่เพียงเขาพิสูจน์มาแล้ว เราเองก็พิสูจน์ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ผมคิดว่ามันเชื่อมโยงอย่างแรง ไม่ขัดแย้งเลยกับการอบรมฝึกฝนที่ผมได้รับมาในแง่อาชีพ ในแง่ของนักวิทยาศาสตร์ พุทธศาสนาพูดเรื่องการทดลองความจริง ไปแสวงหาความจริง โดยมีอุปกรณ์หลักในการทดลองคือตัวเรา ต้องเอาตัวเองเข้าไปทดลองความจริง เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เวลาที่นักวิทยาศาสตร์พูดถึงการทดลอง นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มีมุมมองที่ค่อนข้างจำกัด ว่าต้องใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เครื่องมือทางเทคโนโลยี ทางกายภาพ แต่นักวิทยาศาสตร์โดยมากไม่ค่อยนึกถึงว่าในการเดินทางข้างใน ค้นหาความจริงโดยใช้ตัวเราเองเป็นเครื่องมือพิสูจน์ก็เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นวิทยาศาสตร์มากๆ เลย แล้วทดลองที่ไหนเวลาไหนก็ได้ด้วย

          ที่น่าตื่นเต้นก็คือ ความรู้ในโลกกำลังเข้ามาหากัน เรียกว่า The Great Convergence (of Science and Religion) นักวิทยาศาสตร์เช่น Prof. Amit Goswami จากภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยโอเรกอน สหรัฐอเมริกา พูดเลยว่ามี complete reconciliation ระหว่างวิทยาศาสตร์กับศาสนา คือ วิทยาศาสตร์กับศาสนาเข้ามาซ้อนกันอย่างสมบูรณ์ อธิบายความจริงชุดเดียวกันได้อย่างไม่ขัดกันเลย เรื่องนี้ทั้งตรงต่อความสนใจส่วนตัว และเกี่ยวข้องกับผลงานที่เราทำ ถือเป็นเรื่องตื่นเต้นของชีวิต

 

-> อยากให้วิจารณ์ชุดโครงการพัฒนาจิตด้วยมุมมองส่วนตัว โดยมองเสมือนว่าตนเป็นคนนอก

          ผมว่าชุดโครงการนี้มาช้าน่ะครับ คือว่าปัญหามันเยอะแล้ว ทำไมจึงเพิ่งเกิด คือเรื่องแบบนี้น่าจะเกิดขึ้นตั้งนานแล้วทำไมยังไม่เกิด แต่ก็ไม่ได้เป็นเดือดเป็นร้อนนะครับ ก็คิดว่ามันมีเหตุมีปัจจัยจึงเป็นแบบนี้ นอกจากนี้ก็เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องดีๆ แต่ท้าทายมาก เป็นความหวังของสังคม อยากให้ประสบความสำเร็จ อยากเอาใจช่วยทุกคนที่ทำงาน

 

-> ในฐานะที่คุณไปเรียนต่างประเทศ เดินทางผ่านมาหลายประเทศ น่าจะมีโอกาสได้เปรียบเทียบ คุณคิดว่า…เมืองไทยในมุมมองของ ดร.สรยุทธ เป็นอย่างไรและ..จะไปอย่างไร

          การได้มีโอกาสไปเรียนต่อต่างประเทศก็เป็นโอกาสอันงาม ทำให้ได้เปิดโลกทัศน์อย่างเกินคำอธิบาย ตอนเรียนปริญญาตรี ได้ไปเสนอผลงานที่อังกฤษ ได้ไปที่ยุโรป ๒ ครั้ง ก็ทำให้ได้เห็นอะไรมากมาย แต่พอไปเรียนยิ่งได้เข้าใจอะไร เห็นวัฒนธรรมที่แตกต่างจากที่เราเติบโตมาด้วย ที่เดิมคิดว่าโลกเป็นอย่างที่เราเข้าใจแบบแคบๆ แบบเดียว ผมเกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ ตอนไปเรียนต่อไปที่อเมริกา เป็นประเทศที่สุดโต่งในเรื่องของความเจริญด้านวัตถุ ด้านบริโภคนิยม ในขณะเดียวกันผมได้มีโอกาสมาเก็บข้อมูล มาทำวิจัยที่ บุรีรัมย์ อ.สตึก อยู่กับชาวบ้านและปราชญ์ชาวบ้าน พ่อคำเดื่อง ภาษี และครูบาสุทธินันท์ (ปรัชญพฤทธิ์) เลยได้มีโอกาสเห็นว่าชาวบ้านอยู่กันอย่างไรในสมัยก่อน และตอนนี้ชาวบ้านอยากจะอยู่กันอย่างไร ได้เปรียบเทียบวิถีชีวิตคนชนบท กรุงเทพฯ และอเมริกัน เราเห็นเลยว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ผิดฝาผิดตัว จะเรียกว่า กึ่งดิบกึ่งดีก็ได้ ส่วนหนึ่งว่าอยากจะเป็นภูมิปัญญาตะวันออก ส่วนหนึ่งอยากมีวัตถุแบบตะวันตก อยากจะก้าวล้ำนำยุค ส่วนประสมปนเปอะไรหลายๆ อย่าง เมืองไทยและกรุงเทพฯ กำลังอยู่ในทางแพร่ง ผมมองว่ากรุงเทพฯ อยู่ตรงกลางจุดผ่านของอดีตกับอนาคต เรากำลังเลือกว่าจะไปอย่างไร เชื่อว่าโลก ประเทศไทย และกรุงเทพฯ กำลังเข้าสู่ภัยพิบัติ และความรุนแรงมากๆ ในหลายรูปแบบ ถ้ามองตามวิทยาศาสตร์ใหม่และทฤษฎีไร้ระเบียบแล้ว ก็เห็นทั้งส่วนที่น่าเป็นห่วงและที่เป็นความหวังครับ งานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพก็เป็นงานที่วางรากฐาน สร้างทางเลือกให้กับอนาคต

          นอกจากนี้การได้ไปต่างประเทศได้เห็นผู้คนจากหลายทวีปเอเชีย อเมริกา ออสเตรเลีย ยุโรป แอฟริกา เห็นเลยว่ามนุษย์เหมือนกันคือเป็นเพื่อนทุกข์เหมือนกัน ผมเห็นความเหมือนกันของแต่ละทวีปมากกว่าความแตกต่าง เรื่องศาสนาก็เช่นเดียวกัน พวกเรามีความเหมือนมากกว่าความต่าง แต่สังคมในปัจจุบันเราอยู่ในกระบวนทัศน์ที่แยกส่วน แข่งขัน ไปเน้นความต่าง แบ่งแยกไปกีดกั้นว่าพวกเราพวกเขา ไม่ใช่พวกเราไม่ใช่พวกเขา จริงๆ แล้วเรามนุษย์เหมือนกันเป็นสัตว์สปีชีส์เดียวกันและก็เวียนว่ายตายเกิดเหมือนกัน พอเราได้เห็นก็สัมผัสได้เลยว่าคนอเมริกันก็เหมือนกับคนไทย ทุกข์เหมือนกัน เพียงแต่ทุกข์ในเรื่องที่ต่างกัน ทั้งสังคมไทย เอเชีย อเมริกา ออสเตรเลีย แอฟริกา ถ้ามองในกระแสการเดินทางแล้วก็เหมือนกันว่าไปสู่การหลุดพ้นเหมือนกัน ในกลุ่มจิตวิวัฒน์พูดคุยกันถึงกระแสการเดินทางของมนุษย์ เชื่อว่าในอนาคตจะมีการบรรลุธรรมกันมากขึ้น แต่จะต้องผ่านความเจ็บปวดรุนแรงก่อน เพราะฉะนั้นงานของพวกเรา ของชุดโครงการพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ เป็นการสร้างบรรยากาศ สร้างช่องทาง สร้างตัวอย่าง ให้คนจะได้มีโอกาสเข้าไปทดลอง เข้าไปทำงานด้านใน ไปเรียนรู้อย่างจริงจัง ให้สัดส่วนของชีวิตทำงาน ถอดถอนตัวเองมากขึ้น ส่วนหนึ่งที่เห็นเช่นนี้เพราะได้เดินทาง ได้ไปเห็น ได้เอาประสบการณ์ตัวเองไปทดลอง ตรวจสอบแล้วก็ไปเช็คกับความจริง ทั้งความจริงภายนอกและความจริงภายใน

 

-> ถ้ามองในมุมมองของคุณๆ คิดว่าเมืองไทยมีเรื่องใดที่น่าจะแก้ไขเร่งด่วน

          เรื่องสำคัญเร่งด่วน คือ กำลังจะเกิดปัญหาความทุกข์ยากในแผ่นดินมากขึ้น ข้อมูลทั้งทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ด้านภูมิอากาศ ด้านสิ่งแวดล้อม ล้วนแล้วแต่ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน โลกกำลังจะไปรอดหรือไม่ มนุษยชาติในฐานะสิ่งมีชีวิตสปีชีส์หนึ่งจะไปรอดหรือไม่ยังไม่มีใครตอบได้ แต่คำตอบรออยู่ใกล้ๆ นี้แล้ว ไม่ต้องรอนาน เพราะสถานการณ์จะรุนแรงขึ้นอย่างมากในอนาคตอันใกล้ อย่างน้อยก็เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกและการกระจายทรัพยากร แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้เรื่อง ไม่สนใจอะไร มีข้อมูลยืนยันได้มากมาย แต่ระบบทุนนิยม บริโภคนิยมกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อปิดการรับรู้และเรียนรู้ของคน คนในสังคมไทยต้องหันมาศึกษาเรื่องข้างในให้มากขึ้น ปัจจุบันเราสนใจเรื่องภายนอกมากเกินไป แม้ปากจะบอกว่าให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ เรื่องด้านใน แต่ในความเป็นจริงในวิถีชีวิตเขาไม่ได้ให้เวลากับสิ่งเหล่านี้เท่าใดเลย

 

-> การปฏิบัติธรรมในความหมายของคุณ

          การปฏิบัติธรรมมันมีได้หลายระดับ หลายแบบ ทุกคนควรได้ปฏิบัติธรรม ตามเหตุ ตามปัจจัย ตามเงื่อนไข ตามความพร้อมของตัวเอง และที่ง่ายที่สุด ที่ทุกคนทำได้และทำได้ทุกเวลา คือเรื่องของการมีสติ และปฏิบัติงานให้เป็นการปฏิบัติธรรม ทำงานเพื่องาน ทำให้งานเป็นการขัดเกลาตนเอง ทำงานแล้วก็มีความสุขให้ได้ หากเป็นเช่นนี้ทุกคนทำได้หมด เพราะว่าทุกคนต้องทำงานอยู่แล้ว เป้าหมายก็แล้วแต่ คนที่มองในเรื่องของการทำงานเพื่อให้มีความสุขพอประมาณ ไม่มีความทุกข์มากนัก ให้อยู่บนโลกได้ก็ระดับหนึ่งก็สามารถอยู่ร่วมและปฏิบัติธรรมร่วมกัน เสริมกันกับคนซึ่งปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังไปเพื่อการหลุดพ้นระดับโลกุตรธรรมได้ คิดว่าปัจจัยสำคัญคือ เรื่องของโยนิโสมนสิการ กัลยาณมิตร และความไม่ประมาท

          การพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ โดยเนื้อแท้ โดยสารัตถะแล้วก็คือการปฏิบัติธรรมนั่นเอง เป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่กีดกันโดยอะไรเลย เข้าถึงเดี่ยวๆ ก็ได้ เป็นกลุ่มก็ได้ เป็นสิ่งที่ควรจะส่งเสริมให้ทำเยอะๆ และก็ให้มีช่องทางทำได้มากมาย ไม่ว่าจะเข้าทางวิปัสสนากรรมฐาน ทางการมีสัมมาชีพ ทางการบริหารกายบริหารจิต ทางศิลปะ หรืองานอาสาสมัคร เป็นต้น


-> บทนำ

-> อ่านบทสัมภาษณ์

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :