เสขิยธรรม -
ประเด็นร้อน
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

ลบภาพ "เสือกระดาษ"

เรื่องและภาพ : ทีมข่าวศาสนา นสพ.ไทยรัฐ
สกู๊ปศาสนา นสพ.ไทยรัฐ ปีที่ ๕๔ ฉบับที่ ๑๖๕๔๔ วันศุกร์ที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๖

 

          ฮือฮาไปทั่วทั้งวงการสงฆ์ หลังจากที่มหาเถรสมาคม มีมติเมื่อวันที่ ๒๙ เม.ย. ที่ผ่านมา รับร่าง "กฎมหาเถรสมาคม ว่าด้วยความผิด และ วิธีการลงโทษทางการปกครอง" ที่ร่างขึ้นมาเพื่อปราบ "พระนอกรีต" และกำจัดบรรดาอลัชชี ที่เข้ามาอาศัย ผ้าเหลือง ทำมาหากิน สร้างความเสื่อมเสีย ให้กับพระพุทธศาสนา

          ที่ผ่านมา คณะสงฆ์ไม่สามารถลงโทษ หรือจัดการ ขั้นเด็ดขาดต่อผู้กระทำผิดได้ เนื่องจากไม่ มีกฎใดๆ รองรับ ขณะที่ "พระธรรมวินัย" บทบัญญัติสูงสุดที่พระสงฆ์ ต้องประพฤติปฏิบัติ ให้เหมาะสม ก็ดูจะถูกกลืนหายไปกับยุคสมัยอันเสื่อมโทรมเสียแล้ว

          สภาพที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นช่องโหว่ที่อลัชชี และพระที่ประพฤตินอกรีต แฝงตัวเข้ามาปะปน ในหมู่สงฆ์ ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จนก่อให้เกิดวิกฤติศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา

          กฎมหาเถรฯฉบับนี้จึงถูกร่างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการลงโทษพระสงฆ์ที่ทำความผิด ตั้งแต่ละเมิดพระวินัยอันเป็น "โลกวัชชะ" ที่บางครั้งอาจจะถูกมองข้าม แต่กลายเป็นสิ่งที่ ชาวบ้านติฉินนินทา ไม่ว่าจะเป็นการใช้โทรศัพท์มือถือ ในที่สาธารณะ ฉันข้าวเย็น เดินห้างสรรพสินค้า ดูมวยตู้ ไปจนถึงคดีร้ายแรง ต้องลงนิคหกรรมขั้นเด็ดขาดกับพระนอกรีต ที่บิดเบือนพระพุทธศาสนา พระธรรมวินัย

          ที่สำคัญ ยังเปิดช่อง ให้มีการรื้อ คดีเก่า ที่ยังค้างชำระ ขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ด้วย

          นอกจากนั้น ยังให้มีขั้นตอน การพิจารณา ความผิดที่รวดเร็ว ไม่ต้อง "ดองเค็ม" นานข้ามปีเหมือนหลายๆ คดีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นคดีภาวนาพุทโธ คดียันตระ หรือคดีวัดพระธรรมกาย

          กฎมหาเถรฯ จึงถือเป็นการร่างกฎ การลงโทษพระสงฆ์ ที่ทำความผิดอย่างจริงจัง และเด็ดขาดเป็นครั้งแรก

          ด้วยความพยายามและ ความตั้งใจอย่าง เต็มเปี่ยมของ คณะสงฆ์ทั้งปวง โดยเฉพาะพระสงฆ์ทั้ง ฝ่ายมหานิกาย และคณะธรรมยุต ๑๒ รูป นำทีมโดย "สมเด็จพระมหาธีราจารย์" เจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ที่ร่วมกันระดมสมอง สรุปบทเรียนความผิดพลาด จากอดีต เพื่อนำมารับใช้ ปัจจุบันและอนาคต จนออกมาเป็นกฎเหล็ก มีด้วยกัน ๑๔ ข้อ

          และในวันที่ ๙ พ.ค. นี้ กฎมหาเถรฯ จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ในวาระที่ ๒ เพื่อให้คลอดออกมามีผลบังคับใช้เร็วที่สุด ในวาระนี้จะมีการพิจารณากันทีละมาตรา

          ทีมข่าวศาสนา ขอหยิบยกประเด็นที่คาดกันว่าจะต้องมีการถกแถลงอย่างรอบคอบและรัดกุม ทั้งเป็นเรื่องที่สาธารณชนเอง ก็ต้องการรู้ โดยเฉพาะกฎข้อ ๔ ที่ระบุถึงความประพฤติ ที่สมควรถูกลงโทษของพระภิกษุหรือสามเณร

          (๑) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ พระพุทธศาสนา ด้วยการ (ก) ละเมิดพระวินัย อันเป็นโลกวัชชะ หรือ (ข) บิดเบือนพระธรรมวินัย ให้วิปริต หรือกล่าวตู่ พระธรรมวินัย หรือตีความพระธรรมวินัยตาม ความคิดเห็นของตนเอง โดยไม่ยึด หลักคัมภีร์ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา หรือ (ค) ประพฤติอื่นใดที่ก่อหรือ อาจก่อให้เกิด ความเสียหายแก่ พระพุทธศาสนา หรือให้เกิดการ ดูหมิ่น เหยียดหยาม พระพุทธศาสนา

          (๒) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่การปกครองคณะสงฆ์ ด้วยการ (ก) ฝ่าฝืน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ กฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ หรือประกาศของมหาเถรสมาคม หรือ (ข) ฝ่าฝืนพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช หรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือตน ที่สั่งโดยชอบ หรือ (ค) ประพฤติอื่นใดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ การบริหารงานของคณะสงฆ์

          การลงโทษมี ๔ สถาน คือ ๑.ให้สละสมณเพศ ๒.ตำหนิโทษ ๓.ภาคทัณฑ์ และ ๔.ว่ากล่าวตักเตือน

          กฎข้อ ๔ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการละเมิด พระวินัย อันเป็น "โลกวัชชะ" หรือ การกระทำที่สังคมติเตียน ที่ว่าไปแล้ว ค่อนข้างกว้างว่า พฤติกรรมความผิด แบบไหน สมควรลงโทษ อันไหนไม่ สมควรลงโทษ

          สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม กรรมการมหาเถรสมาคม อธิบายว่า "โลกวัชชะ มีหลายเรื่อง แต่คงจะกำหนดเป็นเรื่อง เป็นข้อไม่ได้ ต้องบอกว่าโลกวัชชะคือ สิ่งที่พระภิกษุสามเณร ประพฤติแล้ว ฆราวาสเห็นว่าเป็นเรื่อง ไม่เหมาะสมที่จะประพฤติ อย่างการไปเดินซื้อของที่ตลาด ร้านค้า ก็ถือว่าไม่เหมาะสม หากจะซื้อควรให้ลูกศิษย์ไปซื้อให้ เพราะถือเป็นที่อโคจร"

          "การกำหนดโลกวัชชะเพื่อควบคุมพระภิกษุสามเณร ต้องดูความเหมาะสมในแต่ละ สถานการณ์ เพราะบางเรื่องถือเป็นโลกวัชชะ แต่ยุคสมัยเปลี่ยนไปก็อะลุ้มอล่วยได้ อย่างการดูโทรทัศน์ หากดูในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ดูข่าวสารก็ดูได้ การไปสวนสัตว์ สวนลุมพินี ถ้ายึดตามหลักก็ผิด มหาเถรฯจึงให้มีการตั้งคณะกรรมการควบคุม การลงโทษ ขึ้นมาเพื่อดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ไม่ใช่ให้รวดเร็วอย่างเดียว"

          ขณะที่มุมมองของ พระพิศาลธรรมพาที หรือ "พระพยอมกัลยาโณ" เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว กล่าวว่า เห็นด้วยกับมหาเถรฯ อย่างเรื่องการห้ามเดินห้างสรรพสินค้า เพราะเป็นที่อโคจร เช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือ ควรกำหนดว่าให้ใช้ได้ที่ไหนบ้าง เช่น ในวัดหรือนำติดตัวไป ใช้ในรถยนต์เวลาเดินทาง "แต่สิ่งที่อยากให้กำหนดไว้มากที่สุดคือ การห้ามพระสงฆ์ เรี่ยไรเงินจากฆราวาส ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ สร้างความเสื่อมศรัทธา ให้กับพระพุทธศาสนา พระไม่ควรจะทำตัวเป็นภาระของสังคม"

          อีกข้อหนึ่งที่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่คือ การให้อำนาจในการรื้อคดีความที่ยังค้างคา มาชำระใหม่ได้ ซึ่งมีหลายคดี ไม่ว่าจะเป็นคดีพระยันตระ หรือคดีวัดพระธรรมกาย

          เพราะหลังจากที่มหาเถรฯ มีมติรับกฎเหล็กได้เพียง ๒ วัน ก็เริ่มมีความเคลื่อนไหว จาก กลุ่มองค์กรที่มีความเกี่ยวพันกับ วัดดังที่มีคดีความยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยการยื่นหนังสือถึงนายผ่อง เล่งอี้ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม วุฒิสภา กล่าวหาว่า กฎมหาเถรฯ เป็นเผด็จการ พร้อมทั้งพยายาม ตีความบิดเบือนหวังล้มกฎมหาเถรฯ ที่ถือเป็นความหวังใหม่ของ วงการสงฆ์

          ขณะที่อีกหลายกลุ่มองค์กร ที่มีพระ วัด นอกรีต ชอบตั้งตัวเป็นเจ้าพิธี ปลุกเสก ทำเสน่ห์ เรี่ยไร ตู่พระธรรมวินัย ฯลฯ ชักใยอยู่เบื้องหลัง ก็เตรียมเคลื่อนไหว ล้มกฎมหาเถรฯ เพราะได้รับผลกระทบ

          แต่อย่างไรก็ตาม มีหลายกลุ่มองค์กร เห็นดีงามกับกฎเหล็กดังกล่าว เพราะมีประโยชน์มากกว่า โทษ อย่างน้อยกระบวนการลงโทษ นอกจากรวดเร็วแล้ว ก็ยังมีความยุติธรรมควบคู่ไปด้วย เช่น ให้มีการอุทธรณ์ การหาพยาน หลักฐานมาต่อสู้ หรือกรณีที่มีความผิดไม่ชัดแจ้ง ก็ให้มีการตั้งคณะกรรมการ ไม่น้อยกว่า ๔ รูป ขึ้นมาสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน

          ทีมข่าวศาสนามองว่า กฎเหล็กของมหาเถรสมาคมนี้ เป็นเสมือนมิติใหม่ของ วงการสงฆ์ เพื่อให้มีการลงโทษอย่างเฉียบขาดต่อพระ ที่ทำความผิด และล้างบางอลัชชี ที่สำคัญ กฎเหล็กนี้จะเป็นบทพิสูจน์และ ลบคำสบประมาท ที่สังคมบางส่วนมองว่า มหาเถรฯเป็น "เสือกระดาษ" เสียที!!! .. .


บทความเกี่ยวข้อง
หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว |> ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :