เสขิยธรรม -
ประเด็นร้อน
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

กฎ มส. มาตรวัดที่กำจัดความหลากหลาย

สมเกียรติ มีธรรม
เครือข่ายชาวพุทธเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมไทย

          ผมเห็นด้วยกับพระศรีปริยัติโมลี รองอธิการบดีฝ่ายต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ที่ออกมาพูดให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎมหาเถรสมาคมฉบับใหม่ว่า น่าจะสนับสนุนพระธรรมวินัยและการศึกษาของพระภิกษุสามเณร มากกว่าการสร้างอำนาจที่ทำให้เกิดความกลัว ซึ่งระยะยาวอาจจะมีความเสี่ยงในการนำไปใช้ และบางส่วนที่กำหนดไว้อาจเกินกว่าที่พระธรรมวินัยกำหนด

          การลงโทษตามพระธรรมวินัยนั้น ถ้าเอาใจใส่กันจริงจัง เป็นการกำราบภิกษุทุศีลรุนแรงอยู่แล้ว พอมหาเถรสมาคมออกกฎบังคับซ้อนขึ้นอีก ก็ยิ่งกดดันพระสงฆ์ ดีไม่ดีก็จะหาทางเลี่ยงบาลี ให้มหาเถรสมาคมต้องออกกฎไล่ตามไปไม่รู้จักจบสิ้นอีก มาตรการใช้อำนาจเช่นนี้ ผมคิดว่ามีสาเหตุมาจากความล้มเหลวในการปกครองคณะสงฆ์ตามพระธรรมวินัย ที่ไม่สามารถพัฒนาพระภิกษุสามเณรให้ฝึกฝนตนเองตามแนวทางของพระพุทธองค์ได้ จึงต้องใช้อำนาจมาบังคับในลักษณะให้คุณให้โทษ เพื่อให้เกิดความเกรงกลัว ไม่กล้าที่จะประพฤติผิดพระธรรมวินัย เฉออกไปนอกลู่นอกทางอีก

          การใช้อำนาจในลักษณะให้คุณให้โทษนั้น น่าจะศึกษาให้ชัดเจนว่า สามารถแก้ปัญหาพระภิกษุสามเณรที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัยได้จริงหรือไม่ และทำให้เกิดการพัฒนาทางสติปัญญามากน้อยแค่ไหน ผมเข้าใจว่า เหตุที่พระพุทธองค์ไม่ใช้อำนาจในลักษณะให้คุณให้โทษนำในการปกครองคณะสงฆ์นั้น พระพุทธองค์ท่านเห็นคุณเห็นโทษของอำนาจในลักษณะนี้ดี จึงหันมาใช้วิถีธรรมเป็นอำนาจนำในการปกครองคณะสงฆ์ ซึ่งจะทำให้ปัจเจกบุคคลและสังคม พัฒนาสติปัญญาได้ดีกว่าการบังคับ ในแง่นี้ขอให้สังเกตดูให้ดีครับว่า ถ้าผู้ปกครองใช้ธรรมนำทางไร้ผล ก็จะหันมาใช้อำนาจในลักษณะให้คุณให้โทษแทนธรรมนำทางในการปกครอง ซึ่งง่ายกว่าการจัดการศึกษามาก และยังใช้งบประมาณน้อยด้วย

          จากความเห็นของพระเถระหลายท่าน ที่แสดงความห่วงใยต่อร่างกฎมหาเถรสมาคมฉบับใหม่ ซึ่งจะประกาศออกมาใช้ควบคุมพระเณรขณะนี้นั้น ต่างก็ห่วงใยในความไม่ชัดเจนหลายประเด็นด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องโลกวัชชะ อาทิ การใช้โทรศัพท์มือถือ หรือว่าเรื่องพระดูโทรทัศน์ ควรจะกำหนดลงไปให้ชัดเจนหรือไม่ว่า พฤติกรรมอย่างไรที่ทำให้ชาวโลกติเตียน เช่น พระควรจะใช้โทรศัพท์มือถือในสถานที่ใด ดูโทรทัศน์รายการอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์ พระควรจะเข้าไปในสถานที่ใดได้บ้าง ความห่วงใยเหล่านี้ ผมคิดว่าถ้าลงลึกถึงขั้นนั้น ก็นึกไม่ออกเหมือนกันครับว่าจะควบคุมพระเณรในประเด็นเหล่านี้อย่างไร ยิ่งพระฉันอาหารเย็นเฉกเช่นพระเณรทางภาคเหนือตอนบนด้วยแล้ว จะลงโทษกันอย่างไรล่ะครับ เมื่อเจ้าสังกัดหรือเจ้าของเขตก็ฉันเช่นเดียวกัน

          ผมคิดว่า ปัญหาพระเณรในภาคเหนือฉันอาหารเย็นเป็นกิจวัตรนั้น มีที่มาที่ไปครับ ไม่ใช่เกิดขึ้นลอย ๆ โดยไม่มีเหตุผล ถ้าย้อนไปในอดีตอันไกลโพ้นของสังคมล้านนา เราก็จะเห็นว่า ทั้งพระและชาวบ้าน ได้รับอิทธิพลของพุทธศาสนาในแต่ละยุคสมัยแตกต่างกันไป นับตั้งแต่นิกายมหายาน ซึ่งเข้ามาก่อนสร้างเมืองหริภุญไชยหรือลำพูนในปัจจุบัน อีกทั้งการเข้ามาของนิกายรามัญวงศ์ก่อนสมัยพระเจ้ากือนา และการเข้ามาของนิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งนิกายต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนทรงอิทธิพลต่อสังคมสงฆ์และฆราวาสมาก ไม่ว่าจะเป็นข้อวัตรปฏิบัติหรือประเพณีต่าง ๆ อาทิ การสวดมนต์ ครองจีวร รวมทั้งพระฉันอาหารเย็น ก็น่าจะเป็นอิทธิพลของพุทธศาสนานิกายมหายาน ที่แยกออกมาหลังจากการสังคายนาครั้งที่ ๒ กรณีพระภิกษุวัชชีบุตรแสดงวัตถุ ๑๐ ประการในกรุงเวสาลี ๒ ใน ๑๐ ประการนั้นก็คือ ฉันอาหารเมื่อเงาเลยเวลาเที่ยงไป ๒ องคุลีได้ และเข้าบ้านฉันอาหารที่ไม่เป็นแดนได้ นี้คงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พระฉันอาหารเย็น แม้ว่าปัจจุบันจะอ่อนแอลงไปบ้าง แต่ก็ยังมีให้เห็นอยู่มากมายตามวัดต่าง ๆ ทั้งในเมืองและชนบท ถ้ามหาเถรสมาคมเข้าใจในประเด็นเหล่านี้ และยอมรับความหลากหลายที่เป็นเอกภาพ ท่านคงจะนำหลักสามัคคีธรรมเข้ามาบริหาร ถ้าต้องการออกกฎระเบียบใด ท่านก็จะเอาหลักรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์มาประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ไม่เฉพาะแต่ทางล้านนาเท่านั้น ทางทักษิณประเทศและอีสานด้วย

          การรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลางเพียงอย่างเดียวนั้น ผมเห็นว่าไม่ได้ผลหรอกครับ ทั้งในอดีตและปัจจุบันก็เห็นชัดแล้วว่า อำนาจจากส่วนกลางไม่สามารถที่จะจัดระเบียบพระเณร และพระพุทธศาสนาให้เป็นแบบเดียวกันได้ ความหลากหลายของลัทธินิกายต่าง ๆ และความเชื่อของพระและชาวบ้านก็ยังดำรงอยู่ มิหนำซ้ำยังมีลัทธิแปลก ๆ ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย และที่สำคัญลัทธินิกายต่าง ๆ เหล่านั้น ก็เริ่มมีฆราวาสเข้ามามีบทบาทในการสอนกรรมฐาน และได้รับการยอมรับจากพระและฆราวาสจำนวนมาก สภาพเช่นนี้คณะสงฆ์และมหาเถรสมาคมจะทำอย่างไร

          ถ้าคิดว่าหนทางที่แก้ได้คือ การออกกฎระเบียบมาควบคุมพระ โดยไม่ใส่ใจกับเรื่องพระธรรมวินัย และการศึกษาสงฆ์ ผมคิดว่าระยะยาวก็อาจจะเกิดลัทธิแปลก ๆ ใหม่ ๆ ขึ้นมาอีกมากมาย และในที่สุดพระสงฆ์ก็อาจจะกลายเป็นบุคคลชายขอบก็ได้ .. .


บทความเกี่ยวข้อง
หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว |> ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :