เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๔
เมษายน - มิถุนายน ๒๕๔๘

แวดวงเสขิยธรรม
กองบรรณาธิการ : รายงาน

ระดมธรรม ระดมทุน ต้านบริโภคนิยม

วันที่ ๕ - ๖ มีนาคม ๒๕๔๘ ที่ผ่านมา หากใครมีโอกาสแวะเวียนมาที่วัดทองนพคุณ (พระอารามหลวง) เขตคลองสาน กรุงเทพฯ คงได้พบเห็น หรือได้มีส่วนร่วม กับงานวัด “เล็ก ๆ” ที่กลุ่มเสขิยธรรม กับบรรดาปิยมิตรร่วมกันจัดขึ้น ณ พระอุโบสถ และลานวัด (ลานคอนกรีต อยู่ระหว่างพระอุโบสถกับเมรุ)

          เดิมทีคณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา (ศพพ.) เมื่อยังใช้ที่ทำการมูลนิธิเสฐียรโกเศศ–นาคะประทีป เลขที่ ๑๒๔ ซอยวัดทองนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เป็นสำนักงาน เป็นผู้ริเริ่มจัดงานในลักษณะนี้ขึ้น น่าเสียดายที่มีโอกาสได้จัดซ้ำอีกเพียงครั้งเดียว ก็ต้องย้ายที่ทำการไปอยู่แถบรามคำแหง ทำให้กิจกรรมดี ๆ ที่ริเริ่มไว้ต้องยุติลงไปด้วย ทั้งที่ได้รับความสนใจและเรียกร้องของผู้คนในชุมชนใกล้เคียงอยู่ไม่น้อย

          ครั้งนั้น “งานวัด—รูปแบบใหม่” ดูจะเป็นที่ฮือฮาและสร้างความครึกครื้นแก่ผู้คนอยู่เป็นอันมาก ค่าที่ “วัดในกรุง” ห่างเหินบรรยากาศรื่นรมย์ อันไม่มีระบบธุรกิจเกี่ยวข้องเช่นนี้ไปนานนักหนาแล้ว

          ในวันนี้ เมื่อ “เสขิยธรรม” ดำริจะรื้อฟื้นงานวัดขึ้น หลายคนจึงยังกล่าวขานถึง “คณะลิเกมะขามป้อม” หรือบรรยากาศ “ร้านสอยดาว” ที่ยังตราตรึงในความทรงจำ อยู่มิได้ขาด

          คนคิดงานกลุ่มเล็ก ๆ สรุปกันง่าย ๆ ในเวลาไม่นาน ว่าประเด็นของงานคราวนี้ คือ “ระดมธรรม ระดมทุน ต้านบริโภคนิยม” แม้บางคนจะทักท้วงว่าเป็น “คำใหญ่คำโต” เกินไปหรือเปล่า สำหรับงานเพียง ๒ วัน ๑ คืน และมีคนทำงาน (ของเสขิยธรรม) อยู่แค่ ๓ คน นอกนั้นเป็นอาสาสมัครในแวดวง ซึ่งมีงานประจำอยู่ที่อื่น และมีภารกิจเต็มเหยียด–คิวแน่นเอี๊ยด ไปตาม ๆ กัน

          แต่ในที่สุดข้อวิตกกังวลต่าง ๆ ก็ดูจะเบาบางลง เมื่อภาพของงานโดยรายละเอียดและขั้นตอนต่าง ๆ ถูกกำหนด–ออกแบบ และแบ่งเบาภาระไปยังเพื่อนพ้องกลุ่มต่าง ๆ ที่มีทั้งอาสามาช่วย และที่ถูกบังคับแกมขอร้องให้เข้ามารับงานที่ “น่าจะถนัด” ไปทำ

          อาจเป็นเพราะงาน “ระดมธรรม ระดมทุน ต้านบริโภคนิยม” เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “ผ้าป่าเสขิยธรรม ครั้งที่ ๔” ซึ่งเป็นกิจกรรม “ระดมทุนประจำปี” ก็เป็นได้ ที่ทำให้หลายคนหลายฝ่ายเข้ามาช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง แม้ว่าจะมีสิ่งตอบแทนไม่มากไปกว่าข้าวน้ำเล็ก ๆ น้อย ๆ

          และที่น่ายินดีไปกว่านั้นก็คือ หลายคนให้ความช่วยเหลือทั้งเงินทอง กำลังกาย และกำลังใจ แก่งานและคนทำงาน อย่างพร้อมสรรพ

          บรรยากาศการเตรียมงาน เตรียมต้นผ้าป่า เตรียมจัด “สอยดาว” อย่างสรวลเสเฮฮาหลังเวลางานประจำนั้น คงไม่เป็นการเกินเลย ที่จะกล่าวว่า “วิญญาณของงานบุญ” ที่เคยมีอยู่ในชุมชนชนบทในอดีต ยังไม่หายไปไหน หากแฝงฝังอยู่ในใจที่เสียสละ และเปิดกว้างต่อ “งานสาธารณะ” นั่นเอง

          ด้วยเหตุดังกล่าว ในงานเล็ก ๆ นี้ จึงได้รับความเอื้อเฟื้อจากใครต่อใครเป็นอันมาก อาทิ พระเดชพระคุณ พระเทพปริยัติมุนี ท่านเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ ตลอดจนคณะสงฆ์ในสังกัดของท่าน, ท่านสมณะเพาะพุทธ จันทเสฏโฐ และมูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อน ที่นำอาหารมังสวิรัติสำหรับคนมาร่วมงานจำนวนมาก มาบริการถึงที่, คุณนิพนธ์ บุญญภัทโร เลขานุการส่วนตัวของคุณชวน หลีกภัย ที่กรุณาประสานงานให้ “เสขิยธรรม” มีโอกาสรู้จัก คุณเกียรติ สิทธิอมร ที่ปรึกษาผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร อันเป็นที่มาของเวทีพร้อมฉากหลังอันงดงาม ต้นไม้ประดับในงาน ตลอดจนเต็นท์ โต๊ะ เก้าอี้ และรถสุขาเคลื่อนที่ ที่มาให้บริการตลอดงาน, ท่านเจ้าคุณพระศรีปริยัติโมลี อาจารย์สุลักษ์ ศิวรักษ์ คุณเตือนใจ ดีเทศน์ ที่กรุณารับเป็นวิทยากรเสวนา ในหัวข้อ “เป็นชาวพุทธที่ดีได้อย่างไร ในโลกอันเร่าร้อนและรุนแรง” โดยมี คุณสุเมธ โสฬศ กรุณารับเป็นผู้ดำเนินรายการ

          นอกจากนั้น ในภาคกลางคืน “เสขิยธรรม” ได้รับความอนุเคราะห์จากอาจารย์ประภาภัทร นิยม แห่งโรงเรียนรุ่งอรุณ นำการแสดงชุดใหญ่ของนักเรียนหลากหลายชั้นเรียน มาเสริมสร้างสุนทรียศิลป์ให้กับผู้มาร่วมงานกว่า ๒ ชั่วโมง เช่นเดียวกับ คุณอารักษ์ อาภากาศ คุณฤทธิพร อินสว่าง และคณะหมอลำภูไท จากภูพาน สกลนคร ภายใต้ความอนุเคราะห์ของพระอาจารย์บุญชู ติสาโร ที่ร่วมกันสรรค์สร้างความงดงาม ตามแนวคิดที่วางไว้ ว่าการแสดงตั้งแต่ ๑๙.๐๐–๒๔.๐๐ น. ของคืนวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๘ คือ “จุดนัดพบระหว่างอดีตและปัจจุบัน”

          อย่างไรก็ตาม รายนามที่กล่าวมาข้างต้น นับได้เพียงส่วนเสี้ยวของผู้เกี่ยวข้อง เพราะตลอด ๒ วัน กับ ๑ คืน ของงาน “ระดมธรรม ระดมทุน ต้านบริโภคนิยม” และการเตรียมงานก่อนหน้านั้น ยังมีอีกหลายคนและหลายหน่วยงานอยู่เบื้องหลัง บ้างเป็นเพื่อนพ้องน้องพี่ในเครือข่ายเสฐียรโกเศศ–นาคะประทีป บ้างเป็นปิยมิตรในโครงการธรรมยาตรา..รักษาลำน้ำโขง บ้างเป็นทีมงานของโครงการเสริมสร้างพลังชีวิตพิชิตบุหรี่ในเพศบรรพชิต (โครงการล่าสุดของเสขิยธรรม) ตลอดจนเพื่อนฝูง และญาติมิตรอื่น ๆ ที่ตามมาเพราะวิธีการ “บอกต่อ” อีกหลายต่อหลายท่าน และที่ไม่เอ่ยนามไม่ได้ก็คือ ท่านประธานและสมาชิกหลายท่านของชุมชนวัดทองนพคุณ สมาคมเต็กก่าจีจินเกาะ และ “ป้านิด” แห่งร้านขายของเบ็ดเตล็ดหน้าคอนโดมิเนียมบ้านเจ้าพระยา ตลอดจน “ป้านิด” อีกท่าน ซึ่งมีบ้านอยู่ในย่านหลังโรงเรียนวัดทองนพคุณ ที่ช่วยจัดแจงสิ่งละอันพันละน้อย กระทั่งงานนี้ “สมบูรณ์ที่สุด” ตามเหตุและปัจจัยอันพึงมี–พึงเป็น

          ขณะเดียวกัน “ความไม่ร่วมมือ” ก็มีอยู่บ้าง เช่น “บ้านเจ้าพระยา” คอนโดมิเนียมใหญ่โตที่ตั้งอยู่อย่างแปลกแยกและโดดเดี่ยวในชุมชนเล็ก ๆ รอบ ๆ วัดทองนพคุณ ที่นอกจากจะปลูกสร้างอย่างสูงลิบจนบดบังทัศนียภาพของ “วัดทองนพคุณ”

          พระอารามหลวงอันเป็นโบราณสถานแล้ว ยังมีความคับแคบด้านจิตใจ และขาดมนุษยสัมพันธ์ อย่างที่ควรจะมี–ควรจะเป็น เนื่องเพราะไม่เพียงจะปฏิเสธการอนุเคราะห์ลานจอดสำหรับรถราผู้มาร่วมงาน ตลอดจนของคนในชุมชน ที่ปกติอาศัยจอดในลานวัดทองนพคุณ (วัดไม่เก็บค่าใช้จ่าย) แล้ว ผู้จัดการคอนโดมิเนียมแห่งนี้ ยังใช้วาจาดูหมิ่นถิ่นแคลนผู้คนในชุมชนรอบวัดทองนพคุณ อย่างอวดโตโอหังเอาด้วยซ้ำ เมื่อครั้งที่ผู้ประสานงานของ “เสขิยธรรม” แวะเวียนไปขอความอนุเคราะห์จากพวกเขา ฉันมิตรบ้านใกล้เรือนเคียงคนละฟากกำแพงรั้ว

          ถ้าจะถามว่างานวัดเล็ก ๆ ในกลุ่มคนไม่กี่คน จะเป็นการ “ระดมธรรม ระดมทุน ต้านบริโภคนิยม” ได้อย่างไร ? หากตอบแบบกำปั้นทุบดินก็พอจะบอกได้ว่า ด้วยขนาดเล็ก ๆ ด้วยความเรียบง่าย ด้วยความสมานฉันท์ และการอุทิศกำลังทรัพย์ กำลังกาย กำลังใจ “ร่วมกัน” อย่างพยายามลด ละ เลิก ความยึดมั่นถือมั่น และความเห็นแก่ตัว ของผู้เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับคนทำงาน และคนเข้าร่วม..นี่เอง ที่จะเป็น “จุดเริ่มต้น” และ “ก้าวย่าง” อันสำคัญยิ่ง ที่จะเดินออกจากวิถีทุนนิยม–บริโภคนิยม และทวนกระแสอันเชี่ยวกราก ของสังคมวัตถุนิยมโลกาภิวัตน์ ด้วยว่านี่เป็น “ด้านตรงกันข้าม” กับสิ่งที่ว่ามาข้างต้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

          และหากจะอ้าขาผวาปีกกันด้วย อหังการ-มมังการ แล้ว ก็มีแต่งานลักษณะนี้ วิถีชีวิต และวิธีคิดเช่นนี้..มิใช่หรือ ? ที่หมายถึง “ปฏิบัติการอันเป็นจริง” ซึ่งมากและไกลไปกว่าแนวคิดและทฤษฎีอันหลากหลาย ซึ่งเราครุ่นคิด พิจารณา หรือถกเถียงกันอยู่ในที่ ประชุม–เสวนา–อภิปราย ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

          แน่นอนละ ว่า “งานวัดเล็ก ๆ” ครั้งนี้อาจส่งผลสะเทือนต่อสังคมวงกว้างไม่มากมายนัก แต่อย่างน้อยที่สุด นี่อาจเป็นบทเรียนที่สำคัญไม่น้อย สำหรับผู้ร่วมเรียนรู้ ฝึกฝน และทดลองปฏิบัติไปพร้อม ๆ กัน

          บางคนกล่าวไว้ว่า การทำงาน การเรียนรู้ และการฝึกตน..นั้น เมื่อใดที่กระทำไปพร้อม ๆ กัน หรือบรรสานสอดคล้องกันได้ จะหนุนส่งหรือเพิ่มเติมศักยภาพในการดำเนินชีวิตของผู้ปฏิบัติให้งอกงามไพบูลย์ ยิ่งเมื่อผสานเข้ากับการภาวนา และความเป็นชุมชนอันเข้มแข็งด้วยแล้ว ย่อมก่อให้เกิดสันติสุขในชีวิตและสันติภาพในสังคมในที่สุด

          อย่างน้อย “เสขิยธรรม” กับบรรดากัลยาณมิตรก็เริ่มต้นอะไรไปบ้างแล้ว บัดนี้คงต้องถามบ้างว่า “คุณเล่า…จะเริ่มต้นกับตัวเองอย่างไร ?” ...

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :