เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๔
เมษายน - มิถุนายน ๒๕๔๘

ปฏิกิริยา
พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ
กลุ่มเสขิยธรรม / skyd.org

นายกฯ ทักษิณ
กับตัวน และท่าที ที่ "ไม่ใช่" และ "ไม่เป็น"
กัลยาณมิตร

 

ยิ่งวันเวลาผ่านไป ตัวตนและท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะ “นายกรัฐมนตรี” ก็ดูจะสร้างความอึดอัด ขัดเคือง หงุดหงิด งุนงง สงสัย และตื่นตาตื่นใจ หรือกระทั่งเดือดร้อน–รำคาญ แก่ใครต่อใครยิ่งขึ้นทุกที…

          อาการเหล่านี้มักเกิดถี่ขึ้น และดูจะกลายเป็นความต่อเนื่องไปในที่สุด !!

    • ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะคอยเกาะติดสถานการณ์ และติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด หรือเพียงอ่านหนังสือพิมพ์ และฟังรายการ “นายกพบประชาชน” เท่าที่จะมีโอกาส,
    • ไม่ว่าคน ๆ นั้นเป็นคนชั้นกลางประกอบอาชีพในเมืองใหญ่ เป็นกรรมกรในโรงงาน เป็นชาวนาชาวสวนชาวไร่ หรือประกอบอาชีพอื่น ๆ ในภาคบริการ,
    • ไม่ว่าใครคนนั้นจะเป็น “นักวิชาการปากกล้า” เป็น “ขาจร” หรือ “ขาประจำ”, ฯลฯ
    • และที่สำคัญ..ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะเลือกพรรคไทยรักไทยหรือไม่ก็ตาม

          เพราะที่ว่ามาข้างต้น ต่างก็ไม่เคยพบเคยเห็น “นายกรัฐมนตรี” คนไหนเป็นอย่างนี้ หรือมี “ท่าที” อย่างนี้มาก่อน ไม่ว่าคน ๆ นั้น จะ “นายกฯ” ที่อยู่ในวาระการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ หรือเป็น “นายกฯ” หัวหน้ารัฐบาลรักษาการก็ตาม...

          แน่นอนละ ว่าคนที่ “ชื่นชอบ–ชื่นชม” คุณทักษิณ นั้นมีอยู่มาก แต่คนที่ออกจะเอือมระอาและมีท่าทีปฏิเสธ คุณทักษิณ ก็เชื่อว่ามีอยู่ไม่น้อย

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโชคหรือเคราะห์ก็แล้วแต่ กำหนดให้เขา (และเธอ) เหล่านั้น ต้องมารับรู้รับเห็น หรือรับฟัง ตลอดจนจำต้องร่วมรับผิดชอบ กับการบริหารบ้านเมือง “แบบคุณทักษิณ” เช่นที่ผ่านมา ๔ ปี (รวมกับช่วงรักษาการ และดูจะส่งผลให้เอือมล่วงหน้าไปด้วย เมื่อรู้แน่ว่ากำลังจะเข้ามาบริหารใหม่อีกรอบ ในระยะเวลาอันใกล้)

ปรากฏการณ์อันแจ้งชัดต่าง ๆ ของความ “ชอบ” และ “ชัง” นั้นพอจะสรุปได้ว่า

          ด้านหนึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศด้วยภาพลักษณ์ “นักบริหารมืออาชีพ” มีความสำเร็จจากกิจการส่วนตัวเป็นฉากหลังที่ใคร ๆ ปฏิเสธไม่ได้ (แม้ว่าจะมีคนจำนวนหนึ่งตั้งข้อสงสัยต่อองค์ประกอบของความสำเร็จที่ว่านั้นอยู่ไม่น้อยก็ตาม) แรกเริ่มของการประกาศเล่นการเมืองเต็มตัว “เขา” เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ ที่มีนโยบายอันชัดเจน และเป็นรูปธรรม (ระยะแรกหลายคนไม่เชื่อว่าจะทำได้ และต่อมาก็เกิดกระแสกริ่งเกรง ว่านโยบาย “ประชานิยม” เหล่านั้นจะสร้างผลกระทบในระยะยาว) สื่อ--มวลชนและคนทั่วไปจำนวนไม่น้อย “ชอบ” ที่เขาเป็นคนคิดเร็ว ปากกล้า และพร้อมที่จะตัดสินใจด้วยความเชื่อมั่นในตนเอง ฯลฯ

          ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ขึ้นชื่อลือชา ว่าพร้อมที่จะ “นอกกรอบ” ทั้งแนวคิดและการกระทำ เมื่อผนวกเข้ากับความเป็นนักยุทธวิธี ที่พร้อมจะ “ทำอย่างไรก็ได้” เพื่อไปให้ถึง “ความสำเร็จ” ภายใต้ยุทธศาสตร์การใช้ศักยภาพที่มีอย่างเต็มที่ และลดข้อจำกัดต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด พร้อม ๆ ไปกับการหาลู่ทางทั้งหมดที่มี แล้วใช้ “ทาง” ที่ “กำไรมาก” และ “เอาผิดได้น้อยที่สุด” เป็น “ทางออก” ไม่ว่าทางสายนั้นจะ “หมิ่นเหม่” สักเพียงใดก็ตาม ด้วยแนวคิดหลักที่ว่า ตราบใดยังจับผิดไม่ได้ก็ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ หรือกระทั่งหากจำเป็นก็อาจหาผู้อื่นมารับผิดแทน เมื่อพบว่าจวนตัวขึ้นมา

          เรียกว่าพร้อมที่จะ “ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล” หรือเห็นทั้ง “ทางหนี” และ “ทีไล่” อยู่เสมอ...

          ซึ่งว่าไปแล้วก็เป็นองค์ประกอบสำคัญของ “พ่อค้า” ประเภทไร้มโนธรรมสำนึกทั่ว ๆ ไปนั่นเอง ใครมีลักษณะอย่างด้านที่สองอยู่มาก หรือกล้าใช้วิธีการเช่นนั้นมาก ๆ ก็รวยได้มากและรวยได้เร็ว ทั้งที่ทำการผลิตน้อย (หรือไม่ได้ทำการผลิตที่แท้จริงเลย) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาสามารถ “รวย” ได้อย่างไม่หวั่นไหว ต่อการแช่งด่าประณามจากรอบทิศ และสามารถ “รวยอย่างยิ่ง” อยู่บนความฉิบหายล่มจมของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งลูกค้าและคู่ค้าประดามี

          คนที่ชื่นชอบ คุณทักษิณ มักมองเห็นด้านแรก (อันมีภาพลักษณ์ของมืออาชีพรุ่นใหม่) ขณะที่คนอีกส่วนหนึ่งชิงชังรังเกียจด้านต่อมา (ภาพของคนปราศจากทำนองคลองธรรมและไร้มโนธรรมสำนึก) โดยจำนวนไม่น้อยของคนที่ไม่เห็นด้วยกับ “สไตล์ทักษิณ” ถือเอาว่าสิ่งที่แสดงต่อสาธารณะทั้งทางตรงและทางอ้อมนั้น เป็น “โทษสมบัติ” ของผู้ที่จะเป็น “ผู้นำประเทศที่ดี” เอาเลยทีเดียว

          ด้วยเหตุดังกล่าวจึงไม่น่าแปลกใจ ที่การตัดสินใจครั้งสำคัญ ๆ ของคุณทักษิณ จะมีทั้งคนชื่นชมและคนชิงชัง ออกมาส่งเสียง “ขานรับ” หรือ “ตอบโต้–ติเตียน” อยู่เสมอ

          นับตั้งแต่นโยบายประชานิยม, นโยบายสงครามทั้ง ๓, นโยบายตาต่อตาฟันต่อฟันเกี่ยวกับสถานการณ์รุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ หรือนโยบายกดดัน ลดทอน และ ปราบปราม–ตอบโต้ การชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรม ด้วยท่าทีอันแข็งกร้าว

          เช่นเดียวกับท่าทีต่อนโยบายเมืองไทยครัวโลก นโยบายเมืองแฟชั่น นโยบายการจัดงาน “มหกรรม” ทั้งการประชุมนานาชาติ และการประชาสัมพันธ์ผลงานรัฐบาล ที่เต็มไปด้วยความหรูหรา ฟุ่มเฟือย และสิ้นเปลือง

          โดยแทบมิพักจะต้องกล่าวถึงปฏิบัติการละเมิดสิทธิมนุษยชน และท่าทีข่มขู่คุกคาม หรือการใช้อำนาจบาตรใหญ่ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ภายใต้รัฐบาลทักษิณ หรือที่เรียกกันว่า “ยุคท่านผู้นำ”

          ทั้งยังไม่ต้องนับรวม “ข้อกล่าวหา” ที่ยังรอการพิสูจน์ ประเภทผลประโยชน์ทับซ้อน การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย การเอื้อประโยชน์และยกตำแหน่งให้พรรคพวก ญาติมิตร และสมุนบริวาร หรือการมีส่วนร่วมในการสั่งการ หรือมอบหมาย–ให้นโยบาย ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บและล้มตายของผู้บริสุทธิ์ โดยมิได้ผ่านกระบวนการยุติธรรมนานาชนิดและประเภท

 

          ที่ยกมาข้างต้นนั้น จะว่าไปแล้วก็ดูจะหนักหนาสาหัสอยู่ไม่น้อย หากจะสรุปแบบเหมารวม ว่าเป็นผลอันเนื่องมาแต่เหตุของคนชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพียงคนเดียว

          แต่คนผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควรสักกี่คนเล่า ที่จะกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำ ว่าอะไรต่อมิอะไรข้างต้น ไม่เกิดมาในยุคทักษิณ หรือไม่ เกี่ยวข้อง–เกี่ยวเนื่อง มาจากคุณทักษิณและบริษัทบริวาร ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม…

          ถามว่า..ก็ในเมื่อมีเนื้อหาสาระและประเด็น “รักและชัง” หลากหลายถึงขนาดนี้ ทำไม “คุณทักษิณและพรรคไทยรักไทย” จึงชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย อย่างแทบไม่มีใคร หรือพรรคใดจะมาต้านทานได้ด้วยเล่า

          ก็คงต้องเชื่อมโยงกลับไป ถึงความสามารถด้านการ “บริหารการเลือกตั้ง” ที่หลายฝ่ายอาจมองข้ามคุณทักษิณและทีมงาน “การเมือง–การตลาด” ผู้จัดเจนไปเสีย นั่นคือ กระบวนการทำให้ “ลูกค้า” รู้จักและเชื่อถือ ในมาตรฐานของ “แบรนด์” (อันมีความหมายกว้างขวางกว่ายี่ห้อ อาทิ อัตลักษณ์ เอกลักษณ์ ฯลฯ) ทั้งส่วนตัวของคุณทักษิณ และพรรคไทยรักไทย จนกลายเป็น “ต้นทุน” ระดับหนึ่งอยู่เสมอ ทำนองว่ามี “มาตร--ฐาน” ที่ไว้ใจได้ แต่บริการหลังการขายไม่ดีนัก และราคาแพง หรือเจ้าของบริษัทปากเสีย ฯลฯ จนในสถานการณ์ปกติไม่เป็นที่ชื่นชม ไม่น่าซื้อหามาใช้

          แต่เมื่อใดถึงรอบปีบัญชีของบริษัทนี้ ที่เขาจำเป็นต้องทำยอดให้ถึงเป้า หรือทะลุเป้าเสียทีหนึ่ง ลูกค้าที่เคยมองเมินสินค้าในราคาเดิม (เมื่อเทียบกับแบรนด์อื่น) ก็พร้อมที่จะ “ตัดสินใจซื้อ” สินค้าบริษัทนี้ได้โดยง่าย เมื่อได้พบและเกิดตื่นตาตื่นใจกับ “มหกรรมสินค้าดีราคาถูก” ในโค้งสุดท้าย ซึ่งฝ่ายการตลาด “คิกออฟ” ออกมา

          ลืมคิดไปว่า บริษัทที่ฉลาดแกมโกงบางแห่ง “ตั้งใจ” จะขายแค่นี้มาตั้งแต่ต้น กล่าวคือ ในช่วงเวลาปกติก็ไม่ดูแลลูกค้า ไม่สนใจบริการหลังการขาย ดีไม่ดียังมีด่าแถมให้ ไล่เตะลูกค้า หรือจ้างนักเลงตีหัวคนวิจารณ์สินค้าเสียอีก

          เพราะวางแผนการขายแบบ “แกรนด์เซลล์” ให้ “ถึงยอด–เกินยอด” เพียงปีละไม่กี่ครั้งไว้ล่วงหน้าแล้ว

          ที่ว่ามาข้างต้นคงพอจะช่วยให้เข้าใจได้บ้างมิใช่หรือ ? กับการ “ทำยอด” ด้วยวิธีลด แลก แจก แถม ช่วงปลายปีก่อนต่อเนื่องมาถึงต้นปีนี้ที่ผ่านมา…

          หลังจากการเข่นฆ่าและทำร้าย “ลูกค้าร้านอื่น” อย่างโหดเหี้ยมมาแล้ว ก่อนหน้านั้น…

 

          การทำ “ธุรกิจการเมือง” แบบรู้ซึ้งถึงก้นบึ้งของผู้บริโภค หรือการเข้าใจกระบวนการ “จิตวิทยาการตลาด” ในการ “เล่น” กับจิตใต้สำนึก หรือการกระตุ้นเร้าให้ผู้ซื้อ “หลงตัดสินใจ” นั้น แม้ว่าจะสามารถอธิบายด้วยถ้อยคำสวยหรู หรือสร้างวาทกรรมใหม่ ให้กลายเป็น “เทคนิควิธี” หรือ “กล--ยุทธ์–กลเม็ด–เคล็ดลับ” ใด ๆ ก็ตาม แต่วิญญูชนย่อมตระหนักได้ว่า วิธีการ “ลวง–ล่อ” ดังกล่าว ล้วนแต่เป็น “กโลบาย” ทั้งสิ้น

          และ “กโลบาย” นั้น จะมากจะน้อย ก็มีที่มาที่ไปอันเป็น “อกุศล” เสมอ…

          เพราะวิเคราะห์ด้วยกรอบ “ปัญหา–สาเหตุ–เป้าหมาย–ทางออก” ของหลักอริยสัจ ภายใต้กฎของอิทัปปัจจยตาและปฏิจจสมุป--บาท– –แล้ว ก็จะพบว่า “ธุรกิจการเมืองแบบฉ้อฉล–ไร้มโนธรรมสำนึก” นั้น นอกจากจะทำให้ “ผู้บริโภคเสียหาย–ทำลายโครงสร้าง–ขัดขวางความดีงาม” ของผู้คนและสังคมตลอดจนธรรมชาติและพัฒนาการเป็นด้านหลักแล้ว พร้อม ๆ กันนั้น ก็จะบั่นทอน “ศักยภาพด้านดีงาม” ของ “ผู้กำหนด” และ “ผู้ใช้” หรือ “ผู้เกี่ยวข้อง” กับ “กโลบายและนโยบายธุรกิจการเมืองแบบอกุศล” ไปด้วยเสมอ

          จึงไม่น่าแปลกใจนักดอก ที่จะพบว่า ยิ่งนานไป วันเวลาแห่งความสำเร็จทางการเมือง (และโภคทรัพย์) ในเชิงปริมาณ ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และหมู่คณะสร้างขึ้น ในที่สุดก็กลายเป็นตัวเร่งและนำพาคุณทักษิณและพวกพ้องไปสู่ความ “ไม่เป็นมิตร” และ “ไม่น่ารัก” ของประชาชนยิ่งขึ้นทุกที

 

ในพุทธศาสนานั้น ผู้นำและผู้ตาม พึงก็เป็นเพื่อนที่ดี หรือที่เรียกว่าเป็น “กัลยาณมิตร” นั่นเอง เพื่ออนุเคราะห์ระหว่างกันและกันในการดับทุกข์ ทั้งระดับบุคคลและสังคม แม้พระผู้มีพระภาคเองก็เสนอพระองค์ไว้ในฐานะกัลยาณมิตรของสมาชิกอื่น ๆ ในสมมติสังฆะและอริยสังฆะ ซึ่งหมายถึง พุทธบริษัท ทั้งปวงนั่นเอง

          ทั้งยังตรัสไว้โดยตรงด้วยว่า กัลยาณมิตรนั้นเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ คือ เป็นทั้งหมดของการประพฤติธรรมอันประเสริฐ หรือทั้งหมดของวิถีชีวิตอันประเสริฐ เลยทีเดียว

          พุทธศาสนานั้น ให้ความหมายและตีความคำว่า “เพื่อน” และ “เพื่อนที่ดี” ไว้น่าสนใจนัก ดังจะยกมาจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เพื่อแสดงไว้โดยสังเขป ต่อไปนี้

          เพื่อน ผู้ร่วมธุระร่วมกิจร่วมการหรือร่วมอยู่ในสภาพอย่างเดียวกัน, ผู้ชอบพอรักใคร่คบหากัน,

          ในทางธรรม เนื้อแท้ของความเป็นเพื่อน อยู่ที่ความมีใจหวังดีปรารถนาดีต่อกัน กล่าวคือ เมตตา หรือไมตรี เพื่อนที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ เรียกว่า มิตร

          การคบเพื่อนเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ที่จะนำชีวิตไปสู่ความเสื่อมความพินาศ หรือสู่ความเจริญงอกงาม พึงหลีกเลี่ยงมิตรเทียมและเลือกคบหาคนที่เป็นมิตรแท้

          บุคคลที่ช่วยชี้แนะแนวทาง ชักจูงตลอดจนแนะนำสั่งสอน ชักนำผู้อื่นให้ดำเนินชีวิตที่ดีงาม ให้ประสบผลดีและความสุข ให้เจริญก้าวหน้า ให้พัฒนาในธรรม แม้จะเป็นบุคคลเสมอกัน หรือเป็นมารดาบิดาครูอาจารย์ ตลอดทั้งพระสงฆ์ จนถึงพระพุทธเจ้า ก็นับว่าเป็นเพื่อน แต่เป็นเพื่อนใจดี หรือเพื่อนมีธรรม เรียกว่า กัลยาณมิตร แปลว่า มิตรดีงาม

          กัลยาณมิตร มีคุณสมบัติที่เรียกว่า กัลยาณมิตรธรรม หรือธรรมของกัลยาณมิตร ๗ ประการ คือ

๑. ปิโย น่ารัก ด้วยมีเมตตา เป็นที่สบายจิตสนิทใจ ชวนให้อยากเข้าไปหา

๒. ครุ น่าเคารพ ด้วยความประพฤติหนักแน่น เป็นที่พึงอาศัยได้ ให้รู้สึกอบอุ่นใจ

๓. ภาวนีโย น่าเจริญใจ ด้วยความเป็นผู้ฝึกฝนปรับปรุงตน ควรเอาอย่าง ให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยซาบซึ้งภูมิใจ

๔. วัตตา รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงแนะนำ เป็นที่ปรึกษาที่ดี

๕. วจนักขโม อดทนต่อถ้อยคำ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถาม ตลอดจนคำเสนอแนะวิพากย์วิจารณ์

๖. คัมภีรัญจะ กถัง กัตตา แถลงเรื่องล้ำลึกได้ สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจและสอนให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป

๗. โน จัฏฐาเน นิโยชเย ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่ชักจูงไปในทางเสื่อมเสียหรือเรื่องเหลวไหลไม่สมควร

          ปัญหาระหว่างพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (และพวก) กับประชาชนไทย ทั้งที่เป็น “ลูกค้า” และ “มิใช่ลูกค้า” ของ “พรรคไทยรักไทย” คงอยู่ที่ว่า หากแนวโน้มและพัฒนาการของ “การเมืองการตลาด” ยังเป็นไปในทิศทางเช่นที่ผ่านมา “ความสำเร็จ” ตามมาตรวัดเชิงปริมาณของผู้ที่เกี่ยวข้อง จะนำพา “ความสัมพันธ์” ซึ่งมิอาจปฏิเสธระหว่างกันและกันได้ ระหว่างนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีภายใต้การสั่งการของนายกฯ รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล และพรรครัฐบาล ฝ่ายหนึ่ง กับประชาชนคนไทย ในฐานะผู้ถูกกระทำ (ไม่ว่าจะเลือกพรรคไทยรักไทยหรือไม่) อีกฝ่ายหนึ่ง ไปในทิศทางใด

          เพราะเมื่อพิจารณาตามกรอบแห่งความเป็น “เพื่อน” และความเป็น “กัลยาณมิตร” ในทางพุทธศาสนา ที่ยกมาข้างต้น ใช่หรือไม่ว่า ปัจจุบัน เราทั้งหลายแทบมิได้มีนายกรัฐมนตรีที่เป็นเพื่อน ในความหมายที่ยกมาเอาเสียเลย

          และหากพุทธพจน์ที่ว่า “กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของวิถีชีวิตอันประเสริฐ”…คือความจริงแท้

          ใช่หรือไม่ว่า การที่เรามีผู้นำซึ่งมิอาจเป็นกัลยาณมิตร ก็น่าจะเป็นเหตุแห่งความเสื่อมโดยประการทั้งปวงเช่นเดียวกัน !!!

          และหากเป็นจริงเช่นนั้น เขตเศรษฐกิจพิเศษ และนโยบายแบ่งเขตแยกสี หรืออาการปากร้ายระรานของท่านผู้นำ ก็ย่อมมิใช่เรื่องแปลกหรือเรื่องใหญ่อีกต่อไปแล้ว

          จะวิบัติอย่างถึงที่สุดด้วยเรื่องใด และเมื่อไรแน่ต่างหาก ที่ภาคประชาชนจำต้องใคร่ครวญหรือครุ่นคำนึง....

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :