เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๓
มกราคม - มีนาคม ๒๕๔๘

จับกระแส

พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภณ
กลุ่มเสขิยธรรม

เศรษฐี ๕๐๐

 

ไม่กี่วันมานี้ วารสาร “การเงินธนาคาร” ฉบับประจำเดือนธันวาคม ๒๕๔๗ ร่วมกับรองศาสตราจารย์ วีรวรรณ พูลพิพัฒน์ รองศาสตราจารย์ สุพพตา ปิยะเกศิน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปรีชา อัศวเดชานุกร อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยความร่วมมือของสื่อมวลชนหลายสาขา ทำให้คนไทยได้รับทราบ “ข้อมูล–ข่าวสาร” บางประการ ที่แม้จะเคยคาดการณ์ไว้บ้าง แต่ก็อดตื่นตาตื่นใจเสียมิได้

          นั่นคือการรวบรวมรายละเอียด วิเคราะข้อมูล และจัดอันดับ “เศรษฐี ๕๐๐” ผู้รวยหุ้น ให้สาธารณชนได้รับทราบ

          เพื่อให้เพื่อนร่วมชาติของ “น้องเอม” น.ส.พิณทองทา ทายาทคนที่ ๒ ของนายกฯ ได้อิจฉาตาร้อนกันเล่น ๆ ในฐานะที่เธอเป็น “เศรษฐีหุ้นอันดับ ๑” ผู้ถือหุ้นมูลค่าทั้งสิ้น ๑๘,๐๓๒.๗๖ ล้านบาท (แต่พวกเราทั้ง รากหญ้า–รากแก้ว ดูจะ “รวย” กันได้แค่ “หนี้สาธารณะ” เท่านั้น)

          นอกจากหุ้นของ บมจ. ชิน คอร์ปอเรชั่น (SHIN) ที่พิณทองทาถือหุ้นเป็นอันดับ ๑ ในสัดส่วน ๑๔.๙๑% มูลค่า ๑๖,๖๑๐ ล้านบาทแล้ว เธอยังถือหุ้นของ บมจ. เอสซี แอสเซท คอร์ปอเรชั่น (SC) อีก ๒๘.๙๗% มูลค่า ๑,๔๒๒.๗๖ ล้านบาท

          ย้ำอีกครั้ง ว่า มูลค่าทั้งสิ้น ๑๘,๐๓๒.๗๖ ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๔๖ จำนวน ๗,๘๒๔.๗๖ ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น ๗๖.๖๕%

          คิดเลขแบบคนบวกลบคูณหารได้ธรรมดา ๆ ก็คือ “มูลค่า” ที่เพิ่มของ “หุ้น” ในมือ “น้องเอม” นั้น เพิ่มขึ้นวันละ ๒๑.๔๔ ล้านบาท (โดยประมาณ) หรือราว ๆ ชั่วโมงละ ๘๙๓,๒๓๗ บาท คิดเป็น นาทีละ ๑๔,๘๘๗ บาท ไม่ว่าน้องเอมเธอจะท้องเสีย–ท้องผูก หลับหรือตื่น ทั้งในยามฝนตก แดดออก หรือเธอกำลังเหน็บหนาวสักเพียงใดก็ตาม

           และ..ไม่ว่าใน ๓ จังหวัดภาคใต้ใครจะฆ่ากันตายวันละกี่คนก็ตาม…

 

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น โดยที่วารสารฉบับนี้ ทำเรื่อง “เศรษฐีหุ้น” มาเป็นปีที่ ๑๑ แล้ว มิได้ทะลึ่งทะเล้นล้วงความลับมาไขในที่แจ้งเป็นปีแรก หรือกระทำการอันอุกอาจเยี่ยง “ขาประจำ” ให้ระคายเคือง สมุนบริวารของ “ใครคนนั้น” จึงไม่ได้ออกมาเอาสีข้างเข้าถู หรือกระเสือกกระสนปฏิเสธ ว่า “เจ้านาย” “ลูกเจ้านาย” หรือ “ญาติเจ้านาย” ถูกใส่ร้าย

          ไม่เช่นนั้น การถูกจัดอันดับว่าเป็นคนร่ำรวยมหาศาล ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาของครอบครัวนี้ จึงไม่จำเป็นต้องเขินอายอันใด แม้จะมีเสียงนกเสียงกาทักเอาเสมอ ว่า “รายได้บางยอด” หรือ “รายรับบางประเภท” ช่างน่าสงสัย คาบเกี่ยว หรือฉิวเฉียด อยู่กับท่วงทำนองของ “ผลประโยชน์ทับซ้อน” อย่างยากจะปฏิเสธได้ก็ตาม

          เพราะถ้าเหลือบตาลงมาเพียงเล็กน้อย ตามข้อมูลจาก “หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์” ฉบับออนไลน์ วันที่ ๑๔ ธันวาคม ก็จะพบว่า…

          เศรษฐีหุ้นอันดับ ๒ ก็เป็นเครือญาติของนายกฯ เช่นกัน คือ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ถือหุ้น SHIN สูงเป็นอันดับ ๒ ในสัดส่วน ๑๓.๗๐% มูลค่า ๑๕,๒๖๗.๒๔ ล้านบาท ก้าวขึ้นจากอันดับ ๓ เมื่อปี ๒๕๔๖ โดยรวยเพิ่มขึ้น ๕,๘๘๔.๔๖ ล้านบาท หรือ ๖๒.๗๒%

          ส่วน “เสี่ยโอ๊ค” นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรคนโตของนายกฯ ยังคงรักษาตำแหน่งเศรษฐีหุ้นอันดับ ๔ เช่นเดียวกับปีที่แล้ว โดยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ ๓ ของ SHIN ในสัดส่วน ๙.๙๖% มูลค่า ๑๑,๐๙๖.๖๒ ล้านบาท และแม้ว่าในปีนี้พานทองแท้จะไม่ได้ถือหุ้น บมจ.ทหารไทย (TMB) แล้ว แต่ก็ยังคงรวยเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๔๖ ถึง ๓,๒๓๑.๙๘ ล้านบาท หรือ ๔๑.๐๙%

          ขณะที่ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ทายาทคนสุดท้องของนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือหุ้น SC ในจำนวนที่เท่ากันกับพิณทองทาพี่สาว ก้าวเข้ามาติดทำเนียบเศรษฐีหุ้นเป็นปีแรก โดยอยู่ในอันดับ ๒๘ รวย ๑,๔๒๒.๗๖ ล้านบาท

          ไม่แต่เท่านี้ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยานายกรัฐมนตรี อดีตแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยหลายสมัย หลังจากที่หลุดอันดับไปตั้งแต่เมื่อปี ๒๕๔๓ เนื่องจากโอนหุ้นให้นายบรรณพจน์พี่ชาย และลูก ๆ ก็กลับเข้ามาติดทำเนียบเศรษฐีหุ้นอีกครั้งในปีนี้ โดยอยู่ในอันดับ ๓๒๑ ถือหุ้น SC ๒.๘๘% และโรงพยาบาลวิภาวดี (VIBHA) ๐.๖๓% รวมมูลค่า ๑๕๐.๑๑ ล้านบาท

          นอกจากนี้น้องสาวของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ก้าวขึ้นจากเศรษฐีหุ้นในอันดับ ๑๑๒ มาอยู่อันดับ ๖๕ ในปีนี้ โดยรวยเพิ่มขึ้น ๒๙๑ ล้านบาท หรือ ๖๒.๗๒% จากการถือหุ้น SHIN ในสัดส่วน ๐.๖๘% มูลค่า ๗๕๕ ล้านบาท

          จากข้อมูลดังกล่าว ส่งผลให้ตระกูลชินวัตรก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์ตระกูลเศรษฐีหุ้นไทยในปีนี้ โดยเครือญาติในตระกูลชินวัตรมีมูลค่าหุ้นที่ถือครองรวมกันทั้งสิ้น ๓๑,๕๔๓.๗๕ ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ๑๓,๐๐๐.๒๓ ล้านบาท หรือ ๗๐.๑๑%

          ส่วนตระกูลเศรษฐีหุ้นอันดับ ๒ เป็นของแชมป์เก่า “มาลีนนท์” จากเครือญาติที่ถือหุ้นรวมมูลค่าทั้งสิ้น ๒๐,๕๘๕.๘๓ ล้านบาท อันดับ ๓ ได้แก่ ตระกูลดามาพงศ์ ถือหุ้นรวมมูลค่าทั้งสิ้น ๑๕,๒๖๗.๒๔ ล้านบาท อันดับ ๔ ตระกูลอัศวโภคิน ถือหุ้นรวมมูลค่า ๑๔,๕๕๑.๙๙ ล้านบาท อันดับ ๕ ตระกูลกรรณสูต ถือหุ้นรวมมูลค่า ๘,๙๒๕.๙๕ ล้านบาท

          สำหรับอดีตแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยปี ๒๕๔๕ และ ๒๕๔๖ นายอนันต์ อัศวโภคิน ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บมจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ในปีนี้ถือครองหุ้นรวมมูลค่า ๑๒,๓๑๔.๘๔ ล้านบาท รวยลดลง ๔,๐๕๘.๕๓ ล้านบาท หรือ ๒๔.๗๙% จึงทำให้ตกลงมาอยู่ในอันดับ ๓ ส่วนเศรษฐีหุ้น อันดับ ๕ ในปีนี้ก็คืออันดับเดียวกับเมื่อปีที่แล้วได้แก่นายเปรมชัย กรรณสูต กรรมการผู้จัดการ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ถือหุ้นรวมมูลค่า ๗,๕๘๔.๓๒ ล้านบาท เพิ่มขึ้น ๑,๘๙๑.๗๒ ล้านบาท หรือ ๓๓.๒๓%

          ขณะเดียวกันเจ้าของตำแหน่งเศรษฐีหุ้นอันดับ ๖ และ ๗ ก็ยังคงเป็นบิ๊กวงการบันเทิงคู่เดิม แต่รวยลดลงจากปีที่แล้ว คืออากู๋แกรมมี่ นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เศรษฐีหุ้นอันดับ ๖ รวย ๔,๑๕๑.๐๕ ล้านบาท ลดลง ๑,๓๘๓.๖๘ ล้านบาท หรือ ๒๕% และนายประวิทย์ มาลีนนท์ แห่งช่อง ๓ เศรษฐีหุ้นอันดับ ๗ รวย ๔,๑๑๑.๒๐ ล้านบาท ลดลง ๑,๒๗๙.๔๐ ล้านบาท หรือ ๒๓.๗๓%

          นอกจากเครือญาติของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แล้ว ยังมีรายชื่อของรัฐมนตรีและนักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน พร้อมด้วยทายาท เข้ามาติดอยู่ในทำเนียบ ๕๐๐ เศรษฐีหุ้นไทยในปีนี้ด้วย เริ่มจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงาน นายอนุทิน ชาญวีรกูล เจ้าของกลุ่ม ซิโน–ไทยฯ เป็นเศรษฐีหุ้นอันดับ ๘๕ ถือหุ้นมูลค่ารวม ๖๓๘.๒๕ ล้านบาท และภรรยา นางสนองนุช ชาญวีรกูล รวยติดอันดับ ๖๐ มูลค่า ๗๘๙.๕๖ ล้านบาท ส่วน ๒ ทายาท มาศถวิน และอนิลรัตน์ ชาญวีรกูล รวยอันดับ ๒๘๓ ถือหุ้นมูลค่าเท่ากันคือ ๑๗๕.๒๓ ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีนางพนิดา เทพกาญจนา ภริยารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ลูกเขยตระกูลวัฒนเวคิน รวยติดอันดับ ๓๑ ถือหุ้นมูลค่า ๑,๓๓๔.๗๔ ล้านบาท

          สำหรับแคทลีน และเทรซีแอนน์ มาลีนนท์ ทายาทรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประชา มาลีนนท์ ที่ได้รับการโอนหุ้น BEC จากคุณพ่อประชาเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย ว่าการกระทรวงคมนาคมเมื่อปี ๒๕๔๔ นั่งเป็นเศรษฐีหุ้นอันดับ ๒๙ รวย ๑,๔๑๔.๒๖ ล้านบาท ด้านลูกชายของนายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พิชญ์ โพธารามิก ปีนี้อยู่ในอันดับ ๕๓ รวย ๘๖๖.๗๑ ล้านบาท

          ส่วนทายาทของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ น้องสาวนายกรัฐมนตรี เจ้าของ บมจ. เอ็ม ลิงค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น (MLINK) ก็เข้าแถวมาติดอันดับเศรษฐีหุ้นในปีนี้ทั้ง ๓ คน ได้แก่ ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ รวยอันดับ ๖๔ ถือหุ้นมูลค่า ๗๖๐.๐๒ ล้านบาท ชยาภา วงศ์สวัสดิ์ รวยอันดับ ๘๔ ถือหุ้นมูลค่า ๖๔๕.๔๙ ล้านบาท และยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รวยอันดับ ๘๗ ถือหุ้นมูลค่า ๖๓๖.๕๖ ล้านบาท

           ด้านนายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคชาติไทย เจ้าของสโลแกน “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” เป็นเศรษฐีหุ้นอันดับ ๑๗๔ รวย ๓๐๐.๑๘ ล้านบาท ส่วนทายาทคือ เพ็ญพรรณี หอรุ่งเรือง รวยอันดับ ๖๘ ถือหุ้นมูลค่า ๗๓๖.๓๖ ล้านบาท, สุเมธ หอรุ่งเรือง รวยอันดับ ๑๙๘ ถือหุ้นมูลค่า ๒๕๔.๗๐ ล้านบาท และวิกิจ หอรุ่งเรือง รวยอันดับ ๔๑๕ ถือหุ้นมูลค่า ๑๐๑.๐๕ ล้านบาท นอกจากนี้โพธิพงษ์ ล่ำซำ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเศรษฐีหุ้นอันดับ ๒๖๐ ถือหุ้นรวมมูลค่า ๑๙๔.๑๖ ล้านบาท

          เป็นที่น่าสังเกตว่า การแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขณะเข้ารับตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ พ.ต.ท.ทักษิณแจ้งการถือหุ้นไว้ทั้งหมด ๑๑๒.๘ ล้านบาท คุณหญิงพจมาน ๑,๓๒๒ ล้านบาท ด.ญ.พิณทองทา ๒,๓๘๒ ล้านบาท ด.ญ.แพทองธาร ๒,๓๘๑ ล้านบาท รวม ๖,๑๙๙ ล้านบาท ส่วนนายพานทองแท้ บรรลุนิติภาวะแล้วไม่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน

(ขอขอบคุณข้อมูลเพื่อเทียบเคียง บางส่วนจาก ผู้จัดการออนไลน์ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๗ http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9470000095792
และข้อมูลที่นำมาใช้โดยตรง จาก ไทยโพสต์ ฉบับออนไลน์ ประจำวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๗ http://www.thaipost.net/index.asp?bk=thaipost&post_date=14/Dec/2547&news_id=99470&cat_id=501)

 

 

เนื้อหาที่กล่าวมาข้างต้นหากจะถือตามวิถี “ไทย ๆ ” ก็คงต้องกล่าวว่า เป็นวาสนาและบุญบารมีของท่าน ทั้งเศรษฐีผู้เฒ่าผู้แก่และลูกเด็กเล็กแดง ค่าที่ ชาติก่อน–ชาตินี้ ท่าน “ทำบุญ” มามาก เลยส่งผลให้ “ธนสารสมบัติ” ประดามี พอกพูนขึ้นตามกาล และฉันทะ วิริยะ อุตสาหะ ฯลฯ ของท่านเหล่านั้น โดยบริสุทธิ์และยุติธรรม

          แม้ว่าในพุทธศาสนาจะสอนให้ชาวพุทธทั้งหลาย “อย่าเชื่ออะไรง่าย ๆ ” ให้ “มองทุกอย่างตามที่เป็นจริง” และ “พิจารณาเหตุปัจจัยทั้งหลายด้วยความละเอียดถี่ถ้วน–แยบคาย” ก็ตาม

          ผู้เขียนเองก็เป็นคนไทย และเป็นชาวพุทธ “แบบไทย ๆ” จึงบ่อยครั้งที่มักเผลอใจคล้อยตาม “อะไร ๆ” ที่ปรากฏในสื่อ หรือข้อมูลที่คนส่วนใหญ่เชื่อถือกัน ไม่ว่าจะเชื่อเอง หรือถูกบางฝ่ายพยายามทำให้เชื่อและเชื่องอยู่เสมอ ๆ

          แต่น่าเสียดายที่คราวนี้อ่านข่าว “เศรษฐี ๕๐๐” จบลงแล้ว ความทรงจำกลับประหวัดไปถึงข่าวสั้น ๆ ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับออนไลน์ เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๗ ที่ยกเอาคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อ ๑๕ ปีก่อนมาตีพิมพ์ไว้ ความโดยละเอียดดังต่อไปนี้…

          คำพิพากษาศาลฎีกา หมายแดงที่ ๑๔๙/๒๕๓๒ เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๒ ให้ พ.ต.ต.ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) จำเลยคดีตั๋วเงินร่วมชำระเงิน ๑,๓๐๐,๐๐๐ บาท คืนให้กับนางชม้อย เชื้อประเสริฐ

          นางชม้อย เชื้อประเสริฐ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสันต์ สมิตเวช จำเลยที่ ๑, พ.ต.ต.ทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ ๒ ต่อศาลแพ่ง ในความผิดเรื่องตั๋วเงิน ให้ชำระเงินคืนเงิน ๑,๓๐๐,๐๐๐ บาท

          โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ผู้ถือเช็ค ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คธนาคารเอเชีย จำกัด สาขาเชียงใหม่ เลขที่ ๑๐๗๖๙๐๙ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๒๕ จำนวน ๑,๓๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ลงลายมือชื่อสลักหลังเพื่อรับรองเป็นประกัน

          เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๒๕ โจทก์นำเช็คเลขที่ ๑๐๗๖๙๐๙ ไปเข้าบัญชีโจทก์ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาสยามสแควร์ เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค ปรากฏว่า ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่าโปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย

          โจทก์ได้ติดต่อให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน แต่จำเลยกลับเพิกเฉย จึงนำเรื่องยื่นฟ้องต่อศาล เพื่อให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินต้นคืน ๑,๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๒๕ ถึงวันฟ้องคดีรวมเป็นเวลา ๑ ปี คิดเป็นเงินดอกเบี้ยจำนวน ๙๗,๕๐๐ บาท

          ศาลแพ่ง มีคำพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คจริง โดยมีจำเลยที่ ๒ ลงลายชื่อสลักหลัง จึงพิพากษาให้จำเลยทั้งสอง ร่วมกันใช้เงิน ๑,๓๐๐,๐๐๐ บาท คืนแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปีนับแต่วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๒๕ จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยร่วมกันชำระค่าทนายความแทนโจทก์อีก ๕,๐๐๐ บาทด้วย

          พ.ต.ต.ทักษิณ ยื่นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

          พ.ต.ต.ทักษิณ ยื่นฎีกา ศาลฎีกา ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า เมื่อเดือน กันยายน ๒๕๒๓ พ.ต.ต.ทักษิณ จำเลยที่ ๒ ซื้อโรงภาพยนตร์พร้อมที่ดินจากนายธรรมนนท์ สมิตเวช บิดาของจำเลยที่ ๑ ในราคา ๘,๕๐๐,๐๐๐ บาท แต่ในสัญญาระบุจำนวนเงินไม่ถึง ๘,๕๐๐,๐๐๐ บาท โดยการซื้อขายดังกล่าว นางพจมาน ชินวัตร ภริยาของจำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อเป็นผู้ซื้อ ซึ่งจำเลยที่ ๒ ชำระราคาเป็นเงินสดบางส่วน ให้กับบิดาจำเลยที่ ๑ และชำระเป็นเช็คหลายฉบับ ที่จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย

          ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้นำเช็คของจำเลยที่ ๒ มาชำระหนี้ให้โจทก์ รวม ๓ ฉบับ ของ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาสะพานกรุงธน ออกเช็ควันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๒๔ จำนวน ๑,๘๐๐,๐๐๐ บาท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาเดียวกัน ออกวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๒๕ จำนวน ๑,๓๐๐,๐๐๐ บาท และอีกฉบับเป็นธนาคารเดียวกัน สาขาเดียวกัน ออกวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๒๖ จำนวน ๑,๘๐๐,๐๐๐ บาท

          เมื่อโจทก์นำเช็คของจำเลยที่ ๒ ไปเรียกเก็บเงินกับธนาคาร ถูกปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าบัญชีปิดแล้ว

          โจทก์จึงติดต่อให้จำเลยที่ ๒ ชำระเงิน ซึ่งจำเลยที่ ๒ นัดพบที่ห้องทำงานที่กรมตำรวจ ในวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๒๕ โดยมีโจทก์, จำเลยที่ ๑, นายนภศูล สวัสติเวทิน ซึ่งจำเลยที่ ๒ ตกลงว่า จะออกเช็คใหม่ให้โจทก์ และขอเช็คเก่าคืน

          แต่ขณะนั้นจำเลยที่ ๒ ยังไม่ได้เปิดบัญชีใหม่ จึงขอให้จำเลยที่ ๑ ออกเช็คไปก่อน โดยจำเลยที่ ๒ ลงชื่อสลักหลังไว้ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ออกเช็ค ๓ ฉบับที่ธนาคารเอเชีย จำกัด สาขาเชียงใหม่ ลงวันที่ ๒๙ กันยา--ยน ๒๕๒๕ จำนวน ๑,๓๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์ และจำเลยที่ ๒ ลงชื่อสลักหลังต่อหน้าโจทก์และนายนภศูล และ เช็ค ธนาคารเอเชียทรัสต์ จำกัด สาขาเชียงใหม่ ลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๖ จำนวน ๑,๘๐๐,๐๐๐ บาท และ เช็ค ธนาคารเอเชียทรัสต์ จำกัด สาขาเชียงใหม่ ลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๗ จำนวน ๑,๘๐๐,๐๐๐ บาท

          และเมื่อครบกำหนดวันออกเช็ค โจทก์เรียกเก็บเงินจากธนาคาร แต่ถูกปฏิเสธเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๒๕ โจทก์ทวงถามแต่จำเลยทั้งสองกลับเพิกเฉย ทางนำสืบจำเลยที่ ๒ อ้างว่า รู้จักโจทก์ แต่ไม่เคยมีหนี้สินผูกพัน และไม่เคยออกเช็คตามฟ้องให้โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ ๒ ซื้อที่ดินและโรงภาพยนตร์ จากบิดาจำเลยที่ ๑ จริงในราคา ๘,๕๐๐,๐๐๐ บาท และได้ชำระเป็นเช็ค ธนาคารกสิกรไทย สาขาสะพานกรุงธน รวม ๕ ฉบับ ๑,๓๐๐,๐๐๐ บาท ๑ ฉบับ และ ๑,๘๐๐,๐๐๐ บาท ๔ ฉบับ ลงวันที่ออกเช็คห่างกันฉบับละ ๑ ปี และจำเลย ที่ ๒ ตกลงกับจำเลยที่ ๑ ว่า ไม่ให้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร โดยมีการนำเช็คมาแลกเงินสดไปจากจำเลยที่ ๒ แล้วทุกฉบับ

          ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๕๒/๒๕๒๗ ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ในความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คนั้น โจทก์มีนายนภศูล ทนายความโจทก์ เบิกความด้วยว่า โจทก์กับนายนภศูล ไปพบจำเลยที่ ๒ ที่ห้องทำงานจริง

          ส่วนข้อต่อสู้ ที่จำเลยที่ ๒ อ้างว่า จำเลยที่ ๑ นำเช็คทั้ง ๕ ฉบับมาแลกเงินสดไปจากจำเลยที่ ๒ แล้วเป็นเพียงคำเบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็ค ตามฟ้องที่จำเลยที่ ๑ สั่งจ่าย เพื่อชำระมูลหนี้คืนแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดใช้เงินตามจำนวนเช็คของฟ้อง โจทก์ ศาลฎีกาพิพากษายืน

องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา
นายบุญส่ง คล้ายแก้ว
นายประมาณ ชันซื่อ
นายนิเวศน์ คำผอง

(ข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๗ http://www.bangkokbiznews.com/2004/09/15/comment/index.php?news=column_14707539.html)

           ยกข้อความมายืดยาวเพราะหากใช้วิธีสรุป “บางรายละเอียด” หรือ “บางภาพ” จะขาดหาย หรือเลือนลบไป ด้วยนัยเดียวกันกับวิธีการชี้แจงข้อบกพร่อง หรือความพลาดผิด อันมีลักษณะ “ปิดไม่มิด” ของรัฐบาลบางประเทศ หรือพรรคการเมืองบางพรรค ที่มักบอก “ความจริงบางส่วน” หรือ “ข้อมูลไม่ครบ” แล้วปล่อยให้ผู้รับสาร “เข้าใจเอาเอง” ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้…

 

           คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ...

           อะไรหนอ ที่เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้ พ.ต.ต. (ยศในขณะนั้น) คนหนึ่งเติบโตและยิ่งใหญ่บนเส้นทางสายอำนาจ และสามารถเพิ่มพูนโภคทรัพย์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งของตนเองและวงศ์วานว่านเครือ ได้อย่างรวดเร็วและมากมายถึงปานนี้

           อะไรหนอ ที่ทำให้ “ข่าวเช็คเด้ง” ตามคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อ ๑๕ ปีก่อน กลับกลายเป็นข่าว “รวยหุ้นอันดับ ๑” และข่าว “ตระกูลเศรษฐีหุ้น” ขึ้นมาได้ในวันนี้…

           ในฐานะชาวพุทธ “เราทั้งหลาย” คงไม่สามารถสรุปสิ่งใดได้โดยง่าย หากไม่มีข้อมูล เครื่องมือ หรือกระบวนการ–วิธีการ ประกอบการวิเคราะห์อย่างเหมาะสม

           ขณะเดียวกัน ในฐานะชาวพุทธ หากยังไม่สามารถหาคำตอบที่เหมาะควรได้ ก็จำเป็นอยู่เองมิใช่หรือ ที่จะต้องสำรวมระวังเป็นอย่างยิ่ง กับการแสดง “ท่าที” ต่อ “วัตถุแห่งวิจิกิจฉา” อย่างหนึ่งอย่างใด อันสามารถส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง ทั้งต่อส่วนตัวและส่วนรวม

           กล่าวคือ ด้านหนึ่งชาวพุทธย่อมไม่กล่าวหากันง่าย ๆ ขณะเดียวกันก็ไม่ควร “ยอมรับ” ใครหรือสิ่งใดอย่างผลีผลาม ทั้งยอมเป็นผู้ตาม และยอมตกเป็นเครื่องมือ…

           ถึงวันนี้ “กระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ” ภายใต้กลไกของรัฐและรัฐธรรมนูญ ดูจะเสื่อมทรุดและผุกร่อน–คลอนแคลนอย่างน่าวิตกกังวล

           เช่นเดียวกับ “กระบวนการตรวจสอบหรือจรรโลงคุณธรรม–จริยธรรม” ที่นับวันจะถูกตั้งข้อสังเกตและกล่าวหาว่า คร่ำครึโบราณ–ไม่ทันโลกย์ ยิ่งขึ้นทุกที

           จึงจำเป็นอยู่เอง ที่เราจะต้องเร่งทบทวนและหาทางออกจากปัญหา อย่างชนิด “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ให้จงได้ ทั้งในระดับปัจเจก ชุมชน และสังคม

           พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค มีพุทธพจน์อันเป็นปัจฉิมวาจา ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ความว่า

           “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา

           พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิดฯ”

           ความเปลี่ยนแปลงของอันดับเศรษฐีหุ้นที่ “ขึ้น ๆ ลง ๆ ” และ “พุทธวจนะ” ข้างต้นจึงเป็นอนุสติแก่เราทั้งหลายไม่มากก็น้อย ว่าทุกอย่างที่ยังเป็น “สังขารธรรม” หรือยังสามารถ “ปรุงแต่ง––ขึ้น ๆ ลง ๆ” ได้อยู่นั้น มิอาจประมาทสิ่งใดได้เลย

           และกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว “ปราสาททราย” ที่บางคนหรือหลายคนพยายามก่อไว้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ยากที่จะ “เนรมิต” ให้แข็งแรงและมั่นคงได้ อย่างที่ผู้สร้างอยากให้มีให้เป็น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ทั้งสิ่งที่แข็งแรง และถูกทำให้เชื่อว่าแข็งแรง ก็มิได้ “ถาวร–ยั่งยืน” แต่อย่างใด

           ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า…

           ทำอย่างไรที่ “เศรษฐี ๕๐๐” กับ “โจร ๕๐๐” จะใกล้เคียงกันเพียงรูปคำ โดยไม่คล้ายคลึงในเนื้อความ

           และทำอย่างไรที่ “ปราสาททราย” ของ “เศรษฐี ๕๐๐” จะทลายใส่กันเพียง “พวกเขา” โดยไม่กระเทือนถึง “พวกเรา” ให้มากมายนัก…

           พูดไปทำไมมี ขนาดคดีเช็คเด้ง ๑,๓๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งมีทั้ง “ใบเสร็จ” และ “กฎหมาย–กระบวนการยุติธรรม” รองรับอยู่อย่างรัดกุม ยังสู้กันถึง ๓ ศาล และใช้เวลากว่า ๗ ปี

           หากยกระดับเป็นเงินหลายหมื่นหลายแสนล้านบาท และเกี่ยวข้องกับ “เศรษฐีแห่งมหาเศรษฐีทั้ง ๕๐๐” เล่า จำนวนเงินมหาศาล ภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จ และอภิสิทธิ์ทั้งหลาย มิทำให้การงัด “อ้อยในปากช้าง” ยิ่งยากเย็นไปละหรือ ?

           ถึงวันนั้น หากภาคประชาชนเตรียมการไว้ไม่รัดกุมพอ แค่ “ศาลและกระบวนการยุติธรรมสามัญ” คงมิอาจทำอะไรได้ง่ายดายนักกระมัง ?...

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :