เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๓
มกราคม - มีนาคม ๒๕๔๘

จับกระแส

จารุพรรณ กุลดิลก
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
คอลัมน์กระแสทรรศน์ มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๗

กระบวนการสร้างสันติภาพใน ๓ จว. ชายแดนภาคใต้

ก่อนที่จะพูดถึงกระบวนการสร้างสันติภาพ เราต้องทำความเข้าใจความหมายของ การแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ที่พูดถึงกันอยู่ในปัจจุบันเสียก่อน

          การแก้ปัญหาโดยสันติวิธี หมายถึงการนำวิธีทางวัฒนธรรม การศึกษา ศาสนา การต่างประเทศ การเศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ มานำการแก้ปัญหาโดยรวมอย่างมีหลักการและเหตุผล โดยไม่มีการสูญเสียทรัพยากรของชาติ เช่น ประชาชน เป็นต้น และนโยบายการสร้างสันติภาพนี้ต้องทำให้ชัดเจน และมีพื้นฐานมาจากความต้องการของสังคมอย่างแท้จริง

          ยกตัวอย่างเช่น การสร้างสันติภาพมี ๑๐๐ วิธี การปราบปรามก็เป็นเพียงหนึ่งใน ๑๐๐ วิธีเท่านั้น ส่วนที่เหลือ ๙๙ วิธีจะช่วยแยกแยะผู้ก่อการร้ายออกจากชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ได้อย่างชัดเจน รวมทั้งอาจจะทำให้ผู้หลงผิดกลับใจ และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคมในระยะยาว

          โดยหลักการแล้ว ก็คือการนำคนทุกคนกลับมาสู่ “เวลาปัจจุบัน” ให้มากที่สุด ตระหนักถึงความจริงที่ว่า ในสถานการณ์โลกขณะนี้ ประเทศต่าง ๆ ควรจะรวมตัวกันให้ได้

          ยกตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรป ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกที่มีความขัดแย้งกันทางประวัติศาสตร์ มาเป็นเวลายาวนาน แต่ทุกวันนี้สามารถรวมตัวกันได้ เพราะพบสัจธรรมที่ว่า “รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย” จึงปลดเปลื้องความแค้นในอดีตและเริ่มต้นใหม่ด้วยการแบ่งปันทรัพยากรในด้านต่าง ๆ ทำให้กลายเป็นกลุ่มประเทศมหาอำนาจ ซึ่งมีอำนาจต่อรองกับนานาประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาได้อย่างน่าเกรงขาม

          เช่นเดียวกันกับประเทศในแถบเอเชีย ที่ควรจะรวมตัวกันและคิดที่จะเกื้อหนุนกันทางด้านเศรษฐกิจและทรัพยากรให้ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อความอยู่รอดของประชาชนทุกหมู่เหล่า

          เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเล็ก ๆ ในแถบเอเชีย ประชากรทั้งประเทศก็มีไม่มาก แต่ยังมีความขัดแย้งไม่จบสิ้น ดังเช่น ปัญหาในภาคใต้ ที่ยืดเยื้อยาวนาน จนกระทั่งมีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ยิ่งทำให้เกิดความโกรธแค้นในวงกว้าง โดยเฉพาะความโกรธแค้นของผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต

          แต่หากลองศึกษาประวัติศาสตร์ จะพบว่าการฆ่ากันไปฆ่ากันมานั้นกินเวลาร่วม ๑๐๐ ปีแล้ว ซึ่งไม่ว่าจะเป็นใครฆ่าใคร ก็รังแต่จะสะเปะสะปะ ไร้ทิศทาง หาความสาสมไม่เจอสักที และรังแต่จะหมักหมมเป็นความทุกข์โศกไม่มีที่สิ้นสุด

          สิ่งที่ร้ายกาจขึ้นไปอีกคือ อนาคตของชาติที่ล้มตายร่อยหรอ แทนที่เด็กเหล่านั้นจะมีอนาคตที่สดใส เป็นคนเก่งบนสังคมแห่งความรู้ กลับจับอาวุธแลกกับสิ่งที่ไม่ควรแลกอย่างน่าเสียดาย

          อย่างไรก็ตาม เราสามารถร่วมกันสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ โดยทุกฝ่ายร่วมมือกัน น้อมนำให้ทุกคนกลับมาสู่ปัจจุบัน เริ่มต้นใหม่ ใช้พลังในการสื่อสาร จากคนในครอบครัวสู่คนในครอบครัว จากเพื่อนสู่เพื่อน จากผู้ที่มีความสามารถในการสื่อสารสู่ผู้รับสารในทุก ๆ ส่วน

          การสูญเสียในอดีตจักถูกทดแทนด้วยความเอื้อเฟื้อให้แก่กันและกัน และจะนำพาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุขให้แก่สังคม เป็นพลังในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพอย่างแท้จริง

          ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นแนวทางให้กับผู้รับผิดชอบในการแก้ปัญหา นำไปปฏิบัติบนพื้นฐานความต้องการของคนส่วนใหญ่ของประเทศ

          กระบวนการสันติภาพ เป็นกระบวนการที่สร้างความเข้าใจให้กับสังคมโดยรวม รวมทั้งกระบวนการตัดสินใจในการแก้ปัญหา บนพื้นฐานของความจริงและความยุติธรรม ซึ่งประกอบด้วย

          ๑. การจัดการความขัดแย้ง (Conflict Management) คือกระบวนการที่ประกอบด้วยการนิยามชนิดของปัญหาให้ชัดเจน บนพื้นฐานความรู้ที่หลากหลาย ซึ่งต้องการนักวิชาการจำนวนมากมาร่วมกันรวบรวม แยกแยะ จัดลำดับวิเคราะห์และยืนยัน

          เช่น ข้อมูลทางประชากร วัฒนธรรม ภาษา การศึกษา ศาสนา การต่างประเทศ จิตวิทยา กระบวนการยุติธรรม การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งจะสามารถแบ่งกลุ่มปัญหาออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ เช่น ขบวนการแบ่งแยกดินแดนดั้งเดิม กลุ่มอุดมการณ์เยาวชน กลุ่มค้ายาเสพติด กลุ่มค้าของเถื่อน และกลุ่มพวกฉวยโอกาส เป็นต้น

          รวมทั้งชี้ให้เห็นว่าประเด็นอะไรที่สังคมสับสนไม่ชัดเจน เช่น ประเด็นทางวัฒนธรรม ภาษา การศึกษา เศรษฐกิจและศาสนา โดยนำข้อมูลนี้ชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชนโดยเร็ว เพื่อลดความขัดแย้งในประเด็นดังกล่าว

          ขั้นต่อไปคือการอธิบายให้ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน ถึงการนิยามปัญหาและกระบวนการตัดสินใจในการสร้างสันติภาพ จะทำให้ได้รับความร่วมมืออย่างจริงจัง หลังจากนั้นจึงทำการหาตัวกลางในการไกล่เกลี่ย และสื่อสารข้อมูลในเชิงให้ความรู้ต่อสาธารณชน เพื่อให้ข่าวสารนี้กระจายไปถึงกลุ่มอุดมการณ์ทั้งหลาย ให้ชัดเจนถึงความจำเป็นในการอยู่ร่วมกัน และสร้างเวทีในการเรียกร้องตามกระบวนการประชาธิปไตยโดยสันติวิธี

          การให้ความรู้เช่นนี้จะลดการจ้างวานการกระทำผิด และจะทำให้กลุ่มโจรและกลุ่มฉวยโอกาสโดดเดี่ยว ง่ายต่อการจับกุมตัวตามกระบวนการยุติธรรม

          ๒. การทำให้เกิดสันติภาพ (Peace Making) เป็นกระบวนการที่ประชาชนส่งสัญญาณต่อผู้นำ และผู้นำส่งสัญญาณต่อผู้รับผิดชอบในการแก้ปัญหา ว่าจะร่วมกันแก้ปัญหาโดยสันติวิธี

          หากคนค่อนประเทศยังอยากที่จะเห็นการปราบปรามอย่างรุนแรงแล้ว รัฐและสื่อย่อมจะคล้อยตามในที่สุด ซึ่งพบแล้วว่า การปราบปรามเพียงอย่างเดียวไม่สามารถสร้างสันติภาพในระยะยาวได้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดและเป็นหัวใจของการแก้ปัญหาคือ “ประชาชน”

          ดังนั้นจงร่วมกันส่งสัญญาณสันติภาพให้กับทุกฝ่าย ใช้ความสามารถในการสื่อสารที่มีอยู่บอกปากต่อปาก ทั้งนี้ก็เพื่อความอยู่รอดและอนาคตของลูกหลานในระยะยาว

          ๓. การสร้างสันติภาพในระยะยาว (Peace Building) จะเห็นได้ว่า การระงับและการหยุดยั้งความรุนแรงนั้นไม่เพียงพอ สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ การที่ประชาชนสามารถหาหนทางในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

          สิ่งเหล่านี้เป็นรายละเอียดในระดับการปฏิบัติจริง ๆ ต้องอาศัยความร่วมมือและความจริงใจรายบุคคล โดยสร้างระบบความยุติธรรมที่น่าเชื่อถือ ทำให้ผู้คนศรัทธาด้วยใจ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เป็นสิ่งที่ยากที่สุด เพราะฝ่ายปกครองไม่เข้าใจกระบวนการความคิดของคนในพื้นที่ ยิ่งสื่อสารกันไม่ได้ยิ่งง่ายต่อความขัดแย้ง รวมทั้งบุคลากรที่เข้าใจปัญหายังมีอยู่น้อย

          ดังนั้น มาตรฐานของความยุติธรรมที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐและประชาชนต้องแสดงความจริงใจต่อกัน และหาหนทางที่จะนิยามปัญหานี้และร่วมกันแก้ไขให้เร็วที่สุด ด้วยกระบวนการทางประชาธิปไตย

          นอกจากประเด็นที่คลุมเครือดังที่กล่าวมาแล้วในข้อ ๑ เช่น ประเด็นด้านวัฒนธรรม ภาษา การศึกษา และศาสนา จำเป็นต้องมีการอธิบาย สิ่งที่เคลือบแคลงในใจเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นสิ่งที่ต้องระวัง หากมีการอธิบายอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เห็นใจกัน ส่งเสริมให้เกิดเวทีการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายโดยสันติ เป็นเวทีที่ไม่ได้ด่าทอกัน แต่นำความรู้มาพูดกัน จะทำให้เข้าใจว่า คนเราคิดต่างกันแต่อยู่ร่วมโลกกันได้ โดยเฉพาะเวทีของนักวิชาการหลากหลายสาขา มีโทรทัศน์ที่นำเสนอวัฒนธรรมอันงดงามของแต่ละท้องที่ เพื่อสื่อให้เห็นถึงความลึกซึ้ง และความหมายของวัฒนธรรมที่สั่งสมมาเป็นเวลายาวนาน สร้างคุณค่าและความภูมิใจให้กับคนในพื้นที่

          นอกจากนี้กระทรวงต่าง ๆ ควรมีนโยบายในการจัดทรัพยากรธรรมชาติ และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาฯ ร่วมกับครูสอนศาสนาหรืออุสตาซในการจัดทำหลักสูตรร่วมกัน

          กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับชาวบ้านและผู้นำเสนอแง่มุมทางวัฒนธรรมอย่างมืออาชีพ

          กระทรวงแรงงานร่วมกับโรงเรียนสอนศาสนา หาทางสร้างอาชีพให้เหมาะสมกับคำสั่งสอนของศาสนา เป็นต้น

          นโยบายเหล่านี้ต้องประณีตและถือประเด็นวัฒนธรรมและจริยธรรมเป็นตัวตั้ง

          ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีวิทยาลัยอิสลามยะลา กล่าวไว้ว่า “รัฐบาลและกลไกรัฐจะต้องทำความเข้าใจอิสลามอย่างถี่ถ้วนและถูกต้อง พร้อมทั้งนำหลักการและวิธีการอิสลามมาแก้ปัญหาต่าง ๆ และนำมาเป็นแนวทางในทุกมิติของการพัฒนา พื้นที่แห่งนี้มีความละเอียดอ่อน เป็นสังคมศาสนา การแก้ปัญหาก็ต้องเป็นไปอย่างละมุนละม่อม”

          ๔.การป้องกันความขัดแย้ง (Conflict Preventive) เป็นงานที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันคนละไม้คนละมืออย่างมีสติ ทั้งฝ่ายรัฐและประชาชน เสมือนการทำงานในตอนท้ายของพนักงานดับเพลิง ที่จะช่วยกันกำจัดเขม่าควันและเชื้อเพลิง เพื่อไม่ให้เกิดการลุกไหม้ติดไฟขึ้นมาอีก เช่น การทำให้กระบวนการยุติธรรมโปร่งใส ชัดเจน ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรอย่างยุติธรรม มีที่ปรึกษาทางด้านการพัฒนามนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ มีเวทีและกระบวนการเรียกร้องอย่างสันติ เช่น การทำข้อตกลงร่วมกันเรื่องการประท้วงอย่างเป็นสากล ต้องส่งชื่อกลุ่มและแกนนำผู้ชุมนุมประท้วง และมีการลงทะเบียนรายชื่ออย่างเป็นระบบ มีการนัดหมายเวลาให้เป็นเรื่องเป็นราว ส่วนหน่วยงานที่รักษาความปลอดภัย ต้องเป็นกลุ่มที่มีความรู้และได้รับการฝึกฝนมาอย่างชำนาญ เป็นต้น

          ท้ายที่สุด สิ่งที่ต้องระวังก็คือ กระบวนการการสร้างสันติภาพ จะต้องไม่เป็นกระบวนการที่เพิ่มเติมหรือส่งเสริมความขัดแย้ง และหัวใจของกระบวนการก็คือการสื่อสารและการตีความในระหว่างการประสานงาน จำเป็นต้องอาศัยผู้ที่มีความชำนาญ และผู้ที่มีจิตใจสมานฉันท์อย่างจริงจัง

          ดังนั้นขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน หยุดการทะเลาะวิวาทกันชั่วคราว ให้อภัย ยกประเด็นการเมืองเป็นเรื่องรอง หันมาให้ความรู้แก่สังคม

          และร่วมกันยับยั้งการตายรายวันของผู้บริสุทธิ์ในทุกพื้นที่กันอย่างจริงจัง จักแสดงถึงพลังของประชาชน ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้อำนาจรัฐใด นำกระบวนการประชาธิปไตยมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ บนพื้นฐานของปัญญาและขันติธรรม...

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :