เสขิยธรรม
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๓
มกราคม - มีนาคม ๒๕๔๘

ปฏิกิริยา
ธรรมาวตาร

ท่าทีชาวพุทธต่อหนังสือ

“พลังแห่งชีวิต” Power for Living

 

ช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาคงมีน้อยคนที่ไม่รู้จักหนังสือแจกฟรี “พลังแห่งชีวิต” เพราะมีการโฆษณาออกทีวีในช่วงไพรม์ไทม์ ช่วงเวลาโฆษณาที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนนาทีหนึ่งหลายแสนบาท หากเงินไม่หนาจริงระดับสิบล้านหรือร้อยล้าน ไม่ต้องคิดว่าจะทำได้ ในแวดวงมาร์เก็ตติ้งต่างรู้แก่ใจดีว่า ถ้าเงินไม่ถึง คงไม่สามารถปูพรมได้ถี่ยิบขนาดนี้ เพราะส่วนมากรายการช่วงนี้จะเป็นเรื่องบันเทิงที่มีสปอนเซอร์ให้การสนับสนุนมากมาย ส่วนรายการศาสนาก็ไปอยู่หลังตีหนึ่งหรือรุ่งเช้าที่คนมักจะหลับแล้วและยังไม่ตื่น หรือไม่ก็ไปออกรายการวิทยุที่ราคาถูก ๆ แทน

          หนังสือดังกล่าวมีพรีเซ็นเตอร์เป็นนักร้อง พิธีกรและคนดังในสังคม ที่ดูน่าเชื่อถือ ซึ่งก็เป็นไปตามกระแสเห่อดารา นักร้อง พิธีกร นักธุรกิจของคนไทยนั่นแหละ เจ้าของเงินทุนที่ศรัทธาพิมพ์หนังสือแจกและจ่ายค่าโฆษณาให้ คือ มูลนิธิอาร์เธอร์ เอส. เดมอส (Arthur S. Demoss Foundation) ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๓๙ ที่มลรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย อาร์เธอร์ เดมอส นักธุรกิจในแวดวงประกัน ตอนก่อตั้งใช้เงิน ๒๐๐ ล้าน เติบโตรวดเร็ว มียอดสินทรัพย์ในครอบครองอยู่ระหว่าง ๔๐๐–๕๐๐ ล้านดอลลาร์ ในสิ้นปี ๒๕๔๖ มีสินทรัพย์สูงถึง ๕๖๓ ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ติดอันดับ ๑ ใน ๑๐ ของมูลนิธิยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ถือว่าเป็นผู้สนับสนุนกิจกรรมตัวยง ติดอันดับที่ ๔๘ ของมูลนิธิที่ใจกว้างมากที่สุดของสหรัฐ

          โฆษณาหนังสือนี้ ฉบับภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า Power for Living ซึ่งตรงกับคำแปลภาษาไทยคือ “พลังแห่งชีวิต” เนื้อหาเขียนโดยบาทหลวงเจมี บักกิ้งแฮม นอกจากมูลนิธินี้จะพยายามขยายเครือข่ายให้กับความเชื่อความศรัทธา ในทางที่ตนเองนับถือแล้ว ยังเคลื่อนไหวต่อต้านประเด็นการทำแท้งและการสูบบุหรี่อีกด้วย ซึ่งมักปรากฏให้เห็นตามโฆษณาทางทีวีและนิตยสารต่าง ๆ ทั่วสหรัฐ พอคนในสหรัฐเริ่มตาสว่างต่อคำสอนศาสนาเก่าที่ตนนับถือ หันไปนิยมศาสนาในโลกตะวันออกมากขึ้น มูลนิธินี้จึงเบนเข็มทิศมาทางประเทศไทย ที่ตาเริ่มมืดบอดไม่สนใจพุทธศาสนา มัวเมาในไสยศาสตร์ ทุนนิยมและเสพบริโภคค่านิยมจากตะวันตก

          ก่อนหน้านี้ ในปี ๒๕๔๕ ที่เยอรมนีมีการใช้งบประมาณในการประชาสัมพันธ์ถึง ๔.๔ ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีกระแสคัดค้านจากองค์กรศาสนาในประเทศอยู่ช่วงหนึ่ง ทำให้ มาร์ก เดมอส ผู้อำนวยการของมูลนิธิต้องทำจดหมายชี้แจงเป็นการใหญ่ เพราะชาวยุโรปเองก็มีคนตาสว่างมากอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะที่เยอรมนีและกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย

          ในประเทศไทยมีการประชาสัมพันธ์ปูพรมถี่ยิบ ทั้งหน้าหนังสือพิมพ์ หนังโฆษณา บิลบอร์ด พรินต์แอด เว็บบอร์ด แผ่นพับ นอกจากนั้นในโทรทัศน์ยังระบุให้โทรศัพท์เพื่อรับหนังสือฟรี โดยวลีที่ให้ความหวัง “หนังสือเล่มนี้สามารถเปลี่ยนชีวิตคุณ” ที่สำคัญคือแจกฟรี ๖๐๐,๐๐๐ เล่ม ทราบข่าวว่าตอนนี้เกินล้านเล่มเข้าไปแล้ว ถึงแม้ว่าจะเป็นการทำการตลาดแบบเซ็กเมนเตชั่นเป็นหลัก สู่ตลาดระดับแมส แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า เป็นแคมเปญหนึ่งที่ชาญฉลาดที่สุดในรอบ ๕–๑๐ ปีที่ผ่านมาสำหรับสื่อโฆษณากึ่งศาสนาแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ วิธีการ และการเลือกใช้สื่อหลักอย่างโทรทัศน์ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งใหม่

          นับว่า “พลังแห่งชีวิต” ได้จุดกระแสอย่างถูกจังหวะเวลา พร้อม ๆ กับที่ข่าวภาพพจน์ในแวดวงศาสนา ช่วงเทศกาลกฐินที่มีเงินสะพัดหลายพันล้านบาทมีแต่ความเหลวแหลก ทำให้พุทธศาสนาในระยะหลัง ๆ ความน่าเชื่อถือในพระสงฆ์ลดน้อยลง มีข่าวพระสงฆ์ในแง่ลบออกมาเรื่อย ๆ ชาวพุทธไม่ค่อยกล้าทำบุญ พอถูกชวนให้เป็นกรรมการกฐินผ้าป่า ก็อดหวั่นไหวต่อตัวเลขที่ต้องจ่ายไม่ได้ สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติที่ตั้งขึ้นมาแล้วก็ไม่ได้สร้างสรรค์เรื่องใหม่ ๆ อะไร นอกจากคอยจับผิดพระเณร แทนที่จะสร้างวัฒนธรรมการทำงานเชิงรุกและมีรูปธรรมในการพัฒนางานด้านศาสนา ไม่รู้เมื่อไหร่จิตสำนึกแห่งความเป็นชาวพุทธแท้จริง จะเกิดขึ้นกับคนทำงานเนื่องด้วยการศึกษาและเผยแผ่พุทธศาสนา มากกว่าการเป็นข้าราชการประจำเท่านั้น

          สำหรับจำนวนหนังสือที่คนขอรับมากขนาดนี้ นับว่าเป็นความสำเร็จเกินคาดและอาจต้องขอบคุณท่านทักษิณเป็นการใหญ่ด้วย เพราะท่านเป็นคนคิดเรื่องการให้ฟรี (OTOP, SML, SME) และปลูกฝังสร้างฝันให้คนไทยมีความหวังไว้ล่วงหน้า ยอมกู้เงินเพื่อเพิ่มหนี้มากขึ้น พอคนคุ้นเคยกับการรับของฟรีและเพลิดเพลินกับความหวังจากโปรเจคของรัฐบาลแล้ว การเข้ามาของพลังแห่งชีวิตจึงเป็นเรื่องง่าย เพราะว่าให้ฟรีเหมือนกัน มีใครบ้างละที่ไม่ชอบของฟรี งานนี้เห็นท่าว่ารัฐน่าจะมีส่วนช่วยด้วยโดยมิได้ตั้งใจเป็นแน่ แต่คงไม่ต้องห่วงอะไรนัก เพราะคงมีไม่กี่คนหรอกที่อ่านหมดเล่มหรือส่งชิ้นส่วนไปขอเล่มอื่น ๆ มาอ่านต่อ คนส่วนมากที่โทรไปขอเพราะเห็นว่าน่าสนใจดี เวลาคุยกับใครก็จะได้ทันสมัยหรือทันข่าวสาร ไม่ตกยุค ยิ่งของฟรีด้วยแล้วรับไว้ก่อนเป็นดีที่สุด จะได้อ่านหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่จะศรัทธาถึงขั้นนับถือหรือไม่นั้นก็ไม่อาจฟันธงได้เช่นเดียวกัน เพราะเป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่เชื่อว่าน่าจะมีบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นชายขอบของศาสนา ลื่นไหลตามกระแสสังคม มากกว่าที่จะยึดหลักศาสนาแล้วนำมาปฏิบัติให้เกิดผลกับตนเองในชีวิตประจำวัน

          ปรากฏการณ์นี้ หน่วยงานที่ทำงานเนื่องด้วยศาสนาที่มีเงินและบุคลากรพร้อม จากการเสียภาษีของประชาชนที่นับถือศาสนาต่าง ๆ โดยเฉพาะพุทธศาสนามากที่สุดนั้น ต้องหันมาทบทวนการทำงานของตัวเองได้แล้วว่าทำไมงานด้านศาสนาที่ผ่านมาจึงได้ไม่คุ้มเสีย ไม่มีรูปธรรมปรากฏชัดในการเปลี่ยนแปลงคนให้มีจิตสำนึกที่ดีงามต่อหลักธรรม และนำหรือสมสมัย อาจต้องทบทวนดูว่าได้ใช้ศักยภาพในการทำงานให้เต็มที่ทั้งร่างกาย สมองและหัวใจหรือยัง แม้ทำท่าขยับเขยื้อนด้วยการแจกหนังสือธรรมนูญชีวิตก็ตาม แต่ก็ต้องเสียเงินค่าแสตมป์ถึง ๑๕ บาทจึงจะได้หนังสือสักเล่ม แต่ก็น่าดีใจที่ทำให้ชาวพุทธตื่นตัวและสนใจในคำสอนของพุทธศาสนาขึ้นมาบ้าง

          กรณีนี้จะเรียกว่าเป็น Act of God หรือ Act of Human ก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นแบบอย่างชาวพุทธได้คือการวางท่าทีในเหตุการณ์นี้ของคุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเอ็มดีเคคอนซัลแทนส์ (ประเทศไทย) จำกัด นักการตลาดรุ่นใหม่ที่นำการบริหารเชิงพุทธมาใช้ ได้แสดงทัศนะไว้ว่า “ใครจะมาเผยแผ่อะไร เราไม่ต้องกลัว น่าจะเป็นสิ่งที่ดีมากกว่า เราจะได้ตื่นตัวในการปฏิบัติธรรมกันมากขึ้น เราต้องฉลาดที่จะใช้ประโยชน์จากทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวเรา บางครั้งเราไม่สามารถควบคุมปัจจัยภายนอกได้ แต่เราดูแลและเรียนรู้จากปัจจัยภายนอกที่มากระทบเราได้ เพราะศาสนาพุทธให้เรากลับมาเอกซเรย์ตัวเอง เห็นตัวเอง เราบกพร่องอะไรก็ดูตัวเราเองก่อน” แบบนี้แหละที่เขาเรียกว่า “ท่าทีชาวพุทธที่ดี” ครับ…งานนี้ต้องยกนิ้วโป้งให้ไปเลย....

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :