เสขิยธรรม
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๒
ตุลาคม - ธันวาคม ๒๕๔๗

หนังสือน่าอ่าน
โอ๋ค่ะ

เดอะ ดาวินชี โค้ด: ความจริงในนิยาย

 

ตอนที่อ่าน เดอะ ดาวินชี โค้ด (The Davinci Code) ของ แดน บราวน์ ไม่รู้หรอกว่าเป็นนิยายขายดีอันดับหนึ่งของนิวยอร์ก ไทม์ แมกกาซีน แต่มีคนยื่นหนังสือให้แล้วบอกว่า “สนุกมาก” พอได้อ่านเองก็เกิดอาการเหมือนที่เขาเขียนไว้บนปก คือ “Unputdownable” อ่านวางไม่ลงจนถึงกับไม่ยอมหลับจะได้อ่านให้จบ อันที่จริงผู้เขียนไม่เคยเชื่อในนิยายขายดี ไม่ได้ไม่เชื่อในคุณภาพ แต่ไม่เชื่อคำโฆษณาที่ติดหราอยู่บนปก หนังสือที่เป็น “Best Selling” ไม่ได้การันตีคุณภาพเสมอไป แต่ก็ต้องยอมรับว่านิยายเรื่องนี้มีคุณภาพในแบบที่ “วางไม่ลง” จริงๆ ไม่แปลกใจที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ยิ่งถ้าใครชอบนิยายแนวสืบสวนสอบสวน ลึกลับ ผจญภัย กึ่งสปายกึ่งทริลเลอร์ ก็ยิ่งสนุกสนานสำราญใจ เพียงแต่ว่าสำหรับนิยายเรื่องนี้ พออ่านจบ ก็ทำให้ตาค้างอยู่อีกนาน กลายเป็นว่านิยายจบ คนไม่จบ

 

รหัสลับดาวินชี
แดน บราวน์ : เขียน
อรดี สุวรรณโกมล : แปล
จัดพิมพ์โดย แพรวสำนักพิมพ์
พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๗
กระดาษกรีนรีด ๕๒๔ หน้า ๒๘๕ บาท

 

          พล็อตเรื่องก็ง่ายๆ ก็เหมือนนิยายตื่นเต้นขายดีทั่วๆ ไป (เปี๊ยบ) ตัวละครก็ง่ายๆ (ให้นึกถึงหนังฮอลลีวู้ดเข้าไว้) มีพระเอก นางเอก ผู้ร้าย และมีหักมุมตอนจบ คนอ่านก็จะต้องเดาว่าใครเป็นผู้ร้ายกันหนอ ตามสูตร (เป๊ะ) เรื่องของเรื่องก็เริ่มที่พระเอก โรเบิร์ต แลงดอน ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสัญลักษณ์โบราณและเทววิทยา ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในอเมริกา ได้รับเชิญมาบรรยายที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในนครปารีส ฝรั่งเศส และตกเป็นผู้ต้องสงสัย ในกรณีฆาตกรรมภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ ฌัค โซนิแยร์ ที่มีผู้พบศพบนพื้นห้องนิทรรศการที่เรียกว่า แกรนด์ แกลอรี่ ที่สนุกคือเหยื่อฆาตกรรมรายนี้ ไม่ได้นอนตายเหมือนศพในนิยายฆาตกรรมเรื่องอื่นๆ แต่นอนตายในท่าประหลาด แถมยังจงใจทิ้งปริศนาไว้มากมาย พระเอกของเราจักแหล่นจะโดนตำรวจโหด เบซู ฟาช แห่งกองตำรวจฝรั่งเศสจับอยู่รอมร่อ ก็ปรากฎสาวสวย (ซึ่งตามสูตรหนังฮอลลีวู้ดถือว่าเป็นตัวละครที่ขาดไม่ได้) โซฟี เนอเวอ จากกองถอดรหัสมาช่วยให้หนี แล้วเลยตามเลยหนีไปด้วยกัน กลายเป็นผู้ต้องหาที่ต้องหนีตำรวจด้วยกันทั้งคู่ การณ์ปรากฏว่านางเอกเป็นหลานของผู้ตาย และอ้างว่าปริศนาที่คุณตาทิ้งไว้นั้น ทิ้งไว้ให้ตัวเอง ทั้งสองจึงต้องร่วมกันตามหา ถอดรหัสที่คุณตาทิ้งไว้ให้ ระหว่างการหนีและไล่ล่า จากปารีสไปลอนดอน จากพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ไปโบสถ์รอสลิน รหัสหนึ่งโยงสู่อีกรหัสหนึ่ง เผยให้พบความจริงที่น่าตื่นตะลึง….

          ตามธรรมเนียมของนิยายแนวนี้ ถ้าเล่าหมดก็จะทำให้เสียอรรถรส เนื่องจากมีการซ่อนปม ซ่อนเงื่อน ซ่อนปริศนา เอาไว้ให้คนอ่านหลงติดตามจนจบ ถ้าเผลอเล่าก็อาจจะโดนสาปส่งกันได้ง่ายๆ

          คงให้ร่องรอยได้เพียงว่า เรื่องนี้ใช้ภาพเขียนของ ดาวินชีเป็นหัวใจในการค้นหาความจริงของเรื่อง ว่ากันว่า ดาวินชีแอบบอกความจริงอันน่าตื่นตะลึงไว้ในภาพวาดของตัวเอง ความจริงที่ท้าทายความจริงอีกชุดหนึ่งในพระคัมภีร์ไบเบิล

          และนิยายเรื่องนี้บอกว่า สิ่งที่เราเคยรู้เกี่ยวกับเรื่องราวในพระคัมภีร์ของศาสนาคริสต์นั้นไม่เป็นความจริง ทว่า มีความจริงอีกอย่างที่ซ่อนอยู่ในรูปของสัญลักษณ์ในภาพเขียน งานศิลปะ ดนตรี นิยาย เรื่องเล่า ฯลฯ มานานนับพันปี

          รูปแบบการเขียนแนวตื่นเต้นผจญภัยผนวกสืบสวนสอบสวน บวกกับเนื้อหาที่เขย่าวงการศาสนาคริสต์ และข้อเท็จจริงที่น่าค้นหา น่าสืบค้น ก็ทำให้ผู้อ่านตื่นเต้นได้ไม่ยากอยู่แล้ว วิธีการที่ใช้ในการค้นหาความจริงก็สนุกสนาน ท้าทาย ในนิยายสืบสวนเรื่องอื่นๆ เราอาจคุ้นกับวิธีการหาร่องรอย ทั้งรอยเท้า รอยมือ รอยเลือด เศษเล็บ ฯลฯ

          แต่เรื่องนี้ ใช้การถอดรหัสที่ซ่อนอยู่ตามภาพเขียน ตัวเลข ปริศนา ภาษาโบราณ เรียกว่าขนเอาองค์ประกอบแห่งความลึกลับและบันเทิงมาครบครัน แล้วจะไม่ให้สนุกยังไงไหว ยังมีความสมเหตุสมผลของข้อมูลที่ค้นคว้ามาอย่างดี ยิ่งทำให้คนอ่านคล้อยตามได้ง่ายๆ

          แต่ถ้าจะว่ากันตามจริงแล้ว เดอะ ดาวินชี โค้ด ไม่ได้เป็นนิยายที่เราอยากกลับไปอ่านซ้ำสอง ด้วยพล็อตเรื่องธรรมดาๆ ตัวละครที่คาแรคเตอร์ไม่สม่ำเสมอ นางเอกนั้นเดี๋ยวฉลาดเดี๋ยวไม่ฉลาด ความสัมพันธ์ของตัวละครผูกกันอยู่อย่างไม่ค่อยสมเหตุสมผล หรืออาจพูดได้ว่าโดยองค์ประกอบของนิยาย เช่น พล็อต ตัวละคร สถานการณ์ สไตล์การเขียนแบบนิยายตื่นเต้น (Thriller) ฯลฯ เป็นสิ่งที่พบบ่อยจนเบื่อ ตามภาษาวรรณกรรมเขาเรียกว่า คลิเช่ (cliche) ความไม่ธรรมดาของเรื่องนี้ จึงไม่ได้อยู่ที่เทคนิคกลวิธีการเขียน แต่เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความจริงในศาสนาคริสต์ดังกล่าวมาแล้ว นี่เองเป็นเหตุให้นิยายจบ คนไม่จบ เนื่องด้วยทำให้คนอ่านกระหายใคร่รู้ยิ่งนักว่าเรื่องจริงเป็นยังไงกันแน่

          แดน บราวน์ ผู้เขียน เล่าว่าหลังจากนิยายได้รับการตีพิมพ์ และขึ้นอันดับหนึ่งในเบสต์เซลเลอร์แล้ว เสียงโทรศัพท์ที่บ้านก็ดังไม่ขาดสาย กระแสหนึ่งต่อต้าน กระแสหนึ่งตอบรับ ส่วนที่ต่อต้าน (ส่วนใหญ่เป็นนักบวช) ก็เนื่องจากเกรงว่าข้อมูลบางอย่างในนิยาย จะก่อให้เกิดวิกฤติศรัทธา เพราะเนื้อหาขัดแย้งกับความจริงอันศักดิ์สิทธิ์ในพระคัมภีร์ ส่วนที่ตอบรับซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้อ่านทั่วไป

          บางคนถึงกับบอกว่าตัวเองเชื่ออย่างนี้มานานแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่เป็นผู้เชี่ยวชาญก็ออกมาชี้แจงว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง พ.ศ. นี้ถูก พ.ศ. นั้นไม่ถูก อันนั้นบิดเบือน อันนี้ถูกต้องตามประวัติศาสตร์

          กระแสหาความจริงก็ตามกระแสความขายดีมาติดๆ

          คำถามหนึ่งที่มีคนถามบ่อยจนแดน บราวน์คงคร้านจะตอบแล้วคือ ใน ดาวินชี โค้ด มีอะไรบ้างที่เป็นจริง? ตามที่คนเขียนกล่าวอ้าง สิ่งที่เป็นจริงในเรื่องนี้คือ สถานที่ ภาพเขียน งานศิลปะ คำบรรยายภาพเขียน สมาคมลับที่เรียกว่า เดอะ ไพรเออรี่ ออฟ ไซออน และนิกายโอปุส เดอี ส่วนการตีความในนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ได้ถูกสมมุติขึ้นเพื่อนำมาเขียนนิยาย แต่เป็นทฤษฎีที่นักประวัติศาสตร์ศิลป์ นักวิเคราะห์สัญลักษณ์ นักเทววิทยา และเหล่าผู้สนใจเรื่องลึกลับอันหาคำตอบมิได้ ค้นคว้าและศึกษากันมานานอย่างมีระบบ แดน บราวน์เพียงนำมาเรียบเรียงใหม่ในรูปแบบของนิยายตื่นเต้น (Thriller) และเล่าผ่านปากของตัวละครเท่านั้น จนดูเหมือนการตัดแปะด้วยซ้ำไป ที่สำคัญ การตีความดังกล่าว เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลด้านเดียว

          พึงทราบว่าการตีความสัญลักษณ์โบราณ หรือภาพวาด หรืองานศิลปะ มีมานานแล้ว เฉพาะ ภาพโมนาลิซ่า เจ้าของรอยยิ้มปริศนาอันลือลั่น ก็มีผู้เสนอข้อสันนิษฐานไว้หลายอย่างว่าใครเป็นนางแบบกันแน่ เรื่องการตีความสัญลักษณ์ในศาสนาต่างๆ ก็มีผู้เสนอข้อสันนิษฐานแห่งความจริงไว้มากมาย โดยเฉพาะเรื่องความเป็นเทพของพระเยซู หรือความเป็นมาของแมรี่ แม็กดาลีน และถ้วยศักดิ์สิทธิ์คืออะไร อยู่ที่ไหนกันแน่ และยังเถียงกันมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

          จุดอ่อนนิยายเรื่องนี้จึงอยู่ที่การเสนอการตีความ (ตามทฤษฎีหนึ่งของประวัติศาสตร์ศิลป์) แต่เพียงด้านเดียว ไม่ได้เสนอข้อมูลด้านอื่นให้ผู้อ่านทราบเพื่อประกอบการพิจารณาแต่อย่างใด

          โดยบังเอิญ หลังจากอ่านนิยายเรื่องนี้จบไม่กี่วัน เพื่อนรุ่นน้องของผู้เขียนคนหนึ่งโทรมาหา เราคุยไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกันหลายเรื่อง หัวข้อหนึ่งคือ เดอะ ดาวินชี โค้ด น้องคนนั้นบอกว่า เพิ่งอ่านจบไปได้ ๒–๓ วัน และ “พี่ หนูเชื่อจริงๆ นะ ว่าเรื่องในนั้นน่ะเป็นเรื่องจริง”

          สิ่งที่น่าคิด จึงไม่น่าจะเป็นคำถามว่าเรื่องจริงคืออะไร หรือ การตีความในนิยายเป็นจริงหรือไม่ แต่ผู้อ่านน่าจะได้กลับมาคิดว่า ความจริงบางอย่างต้องเปิดเผยกันไหม หรือเราไม่ต้องรู้ก็ได้ ถ้าเราเชื่อสิ่งที่พูดถึงในนิยาย เรามีเหตุผลอะไร

          เช่นเดียวกับคำวิจารณ์หลังปกนิยาย ที่มักตัดมาเฉพาะข้อความชม เช่นว่า “เรื่องเยี่ยมแห่งยุค” “วางไม่ลง” “ตื่นเต้นเร้าใจ” “ขายดีที่สุด” “หาที่เปรียบปานมิได้” ในเมื่อนิยายเพียงเสนอภาพด้านเดียวเช่นนี้ ภาระที่เหลือก็ย่อมตกเป็นของผู้อ่าน

          ที่ต้องถอดรหัสความจริงกันเอาเอง....

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :