เสขิยธรรม
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๒
ตุลาคม - ธันวาคม ๒๕๔๗

บันทึกตู้หนังสือ
กวีวงศ์

 

 

สรรนิพนธ์พุทธทาสภิกขุ
ว่าด้วย
ศาสนา
ดนตรี กวี
ศิลปะ

กวีวงศ์ –บรรณาธิการ
จัดพิมพ์โดย กลุ่มเสขิยธรรม
พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม ๒๕๔๗
ราคา ๑๒๐ บาท

เรื่องศาสนากับเรื่องดนตรี ศิลปะ หากดูในแง่มุมโลกกับธรรมในสายตาของคนทั่วไปแล้ว มันไม่น่าจะมีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย ศาสนาเป็นเรื่องของการละกิเลส แต่ดนตรีหรือศิลปะเป็นเรื่องของกิเลสตัณหา, เมื่อเราแยกโลกกับธรรมออกจากกันเช่นนี้ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นก็กลายเป็นเครื่องมืออย่างดีของกิเลส เป็นเหยื่อของความอยากในหลายๆ ด้าน, ศิลปะกลายเป็นอะไรที่วิเศษเพราะมันแพงแสนแพง ดนตรีเป็นสิ่งมีค่าเพราะสามารถบันดาลให้ศิลปินกลายเป็นคนดังและรวยได้ แล้วสิ่งทั้งสองนี้ยังกระตุ้นสัญชาตญาณที่คนโบราณประนามว่า ต่ำช้าเลวทรามออกมา เพราะขึ้นชื่อว่าโลกย่อมต้องสนองกิเลส, แท้ที่จริงโลกกับธรรมไม่ได้เดินสวนทางกันเลย โลกคือธรรม ธรรมคือโลก เพราะธรรมะคือทุกๆ สิ่งที่ประกอบกันขึ้นแล้วเป็นตัวเรา เป็นโลก เป็นจักรวาล, โลกีย์เป็นเรื่องของเด็กอ่อนทางธรรม ที่ยังล้มลุกคลุกคลาน ยังไม่รู้ว่าไฟคือกิเลสมันจะไหม้มือเอาถ้าไปเกี่ยวข้องเข้า ส่วนธรรมหรือโลกุตระธรรม เป็นเรื่องของคนที่เข็ดหลาบพอกันทีกับกิเลสและความทุกข์, ศิลปะก็คือธรรม ธรรมคือศิลปะ ดังนั้นศิลปะดนตรีที่เดินคู่กับธรรม จึงกระตุ้นสัญชาตญาณแห่งพุทธให้ตื่นขึ้น แทนความดิบเถื่อนของกิเลสที่จะกลายเป็นไฟเผาใจในภายหลัง.

          ข้าพเจ้ารวบรวมสิ่งที่ท่านพุทธทาส พูดไว้เกี่ยวกับดนตรี กวี ศิลปะ ด้วยเหตุสองประการคือ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าคนยุคนี้หยาบในเรื่องสุนทรียภาพ ความหยาบนี้ สะท้อนออกมาในสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา นับตั้งแต่ที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ไม้สอย เต็มไปด้วยความขัดแย้งแปลกแยก, เราสร้างวัดหรือศาสนสถาน อย่างประณีตงดงามสุดฝีมือ แต่หลังจากนั้นเราก็สร้างทางด่วนบ้าง ทางยกระดับบ้าง ตึกน่าเกลียดแข็งกระด้างบ้างมาขนาบหน้าขนาบหลัง, ถ้าเราไม่ต้องการความงาม ทำไมเราจะต้องลงทุนสร้างโบสถ์วิหาร หรือตึกเหล่านั้น อย่างประณีต ประดิษฐ์ประดอยด้วย แต่ถ้าต้องการทำไมมันจึงกลายเป็น ความงามที่ขัดแย้งกันกลายเป็นดูแล้วรกหูรกตา ดูแล้วจิตใจห่อเหี่ยวไปได้เล่า นี่แสดงให้เห็นว่าสังคมเราขาดอุดมคติ (ความเชื่ออันสูงสุด) ไปเสียแล้ว สังคมที่ขาดอุดมคติก็เหมือนกับนิยายที่ไม่มีพล็อตเรื่อง ไม่รู้ใครเป็นพระเอกพระรอง ทุกๆ พฤติกรรมของตัวละครไม่มีเหตุผลของการดำรงอยู่ ไม่สอดคล้องกลมกลืน, ท่านพุทธทาสได้พูดถึงศิลปะ ดนตรี กวีนิพนธ์เอาไว้มาก ท่านได้ชี้ให้เห็นว่า สิ่งนี้เป็นเครื่องมือที่สำคัญ ถ้าเราใช้มันถูก มันจะช่วยกล่อมเกลาจิตใจคนให้ประณีตอ่อนโยนได้ แต่ถ้าใช้ผิดไปในทางสนองกิเลสแล้วมันจะกลายเป็นสิ่งที่ร้ายกาจที่สุด เป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่หายนะได้อย่างไม่รู้ตัว, คนเมื่อไม่รู้ว่าอะไรดีหรืออะไรงามแล้ว สิ่งที่เขาสร้างขึ้นไม่ว่าจะลงทุนมหาศาลมากแค่ไหน มันก็เป็นแค่ขยะทางสุนทรียภาพเท่านั้นเอง.

          เหตุผลอีกประการ คือ ในขณะที่ชาวโลกพากันเดินตามหลังกิเลส (ภายใต้ชื่อ ความเจริญ ความก้าวหน้าทางวัตถุ หรือโลกาภิวัตน์) ก็มีคนบางกลุ่มเริ่มเบื่อ เพราะมองเห็นหายนภัยจากการเดินตามกิเลส ดังนั้นคนเหล่านั้น จึงเริ่มมองหาเครื่องมือในการกล่อมเกลาตน และกล่อมเกลาผู้อื่นด้วย เครื่องมือเหล่านั้นคือศาสนา ศิลปะ ดนตรี กวีนิพนธ์, สิ่งที่ท่านพุทธทาสได้พูดไว้นั้น สามารถตอบสนองต่อผู้ที่สนใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี ท่านได้พูดให้เห็น โทษ ของการเข้าไปเกี่ยวข้องกับศาสนาอย่างผิดๆ ติดตันอยู่กับเรื่องภาษา วรรณคดีไม่สามารถจับแก่นของศาสนาได้, ท่านได้พูดถึงโทษของการใช้ศิลปะดนตรีในทางที่ผิด พร้อมกับชี้ให้เห็นคุณประโยชน์อันมหาศาล หากใช้ในทางที่ถูก, ความบันเทิงเป็นปัจจัยพื้นฐาน ตามธรรมชาติของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย เช่นเดียวกับอาหาร หรือยารักษาโรค เพียงแต่ความบันเทิงนั้น มีทั้งที่เป็นด้านดีและด้านที่ไม่ดี, ถ้าหากเรามีสภาพแวดล้อมที่ถูกต้อง มันจะช่วยให้จิตหลุดพ้นจากความรู้สึกว่าตัวกูของกู หรือเข้าสู่สภาวะจิตว่างแบบชั่วครั้งชั่วคราวได้ เหมือนที่ท่านพุทธทาสได้พูดอยู่บ่อยครั้งว่า ที่สวนโมกข์ ต้นไม้พูดได้ ก้อนหินพูดได้ หมายความว่า ท่านได้จัดสภาพธรรมชาติของที่นั่นให้มีความสงบเย็น คนที่มีจิตใจไม่ตายด้านมากเกินไปก็อาจจะปล่อยจิต ให้สอดคล้องกับความสงบเย็นของธรรมชาติ ลืมตัวกูของกูที่เต็มอัดอยู่ในใจได้บ้าง แม้จะเป็นความว่างชั่วคราวก็ยังดี.

          หนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าตั้งใจทำขึ้นสำหรับศิลปิน และบรรดาคนที่สนใจศิลปะ สนใจแง่มุมอันงดงามของชีวิต, โดยพยายามรวบรวมสิ่งท่านพุทธทาสพูดไว้เกี่ยวกับเรื่องดนตรี ศิลปะ กวีนิพนธ์ ภาษา และศาสนาจากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ไม่น้อยกว่าห้าสิบเล่ม ซึ่งต้องใช้เวลาอยู่ไม่น้อย, สำหรับคนที่ไม่ได้สนใจเรื่องดนตรีภาษาหรือศิลปะเป็นพิเศษ หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ท่านมีท่าทีที่ถูกต้องกับสิ่งเหล่านี้ได้, คนธรรมดาทั่วไปต้องเกี่ยวข้องอยู่กับศิลปะดนตรี อย่างน้อยก็ในฐานะที่เป็นผู้เสพ, เราจะเสพศิลปะดนตรีชนิดไหนอย่างไร หรือควรจะมีท่าทีอย่างไรต่อสิ่งที่เป็นศิลปะดนตรี เพราะปัจจุบันศิลปะและดนตรีทั้งหลาย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นตัวแทนของ ความดี ความงาม และความจริงนั้น ได้ถูกแฝงเอาไว้ด้วย

          ยาพิษที่กัดกินจิตใจของเราให้ตกต่ำลงเรื่อยๆ อย่างที่เราไม่ทันรู้ตัว เราจึงต้องรู้เท่าทัน เพื่อการเสพศิลปะของเรา จะได้เป็นการยกระดับสุนทรียภาพให้ละเอียดประณีตขึ้น จากสัญชาตญาณดิบเถื่อน ไปสู่ความงามทางวิญญาณอันละเอียดอ่อนประณีต จากการเสพเพื่อสนองความอยาก สู่การเสพเพื่อการปลดปล่อยวิญญาณ ให้เป็นอิสระจากบ่วงแห่งมาร....

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :