เสขิยธรรม
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์
เรียกเขาว่า 'นายน้ำ'

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๒
ตุลาคม - ธันวาคม ๒๕๔๗

บทความพิเศษ
ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ เรื่อง
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ จุดประกาย ฉบับวันจันทร์ที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

 

ขี้นชื่อว่าแม่น้ำโขง หลายคนรู้ซึ้ง ถึงความเชี่ยวกราก และบรรดาเกาะแก่งมหาโหด ยากที่นายเรือธรรมดาๆ จะคุมเกมอยู่ แต่มีคนเล็กๆ จำนวนหยิบมือ ที่โค่นแม่น้ำสีชาเย็นนี้ลงได้ จนถูกเรียกว่า ‘นายน้ำ’ ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ พาไปรู้จักชีวิตปัจจุบันของพวกเขา และอนาคตที่กำลังจะเปลี่ยนไป

          แม้จะถูกวางตำแหน่งให้เป็นแค่แม่น้ำสายชายขอบ ไม่อาจเทียบเท่าเส้นเลือดหลักอย่างเจ้าพระยา แต่ถ้าว่ากันถึงเจ้าแห่งตำนาน ความลี้ลับ และพลังร้ายใต้น้ำแล้ว ‘แม่โขง’ ก็ไม่เป็นรองใคร

          ไม่ว่าจะเรื่องลูกไฟปริศนาที่กระโดดขึ้นมาโชว์ตัวในทุกๆ คืนวัน ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือคำบอกเล่าเรื่องบทลงโทษรายทางในข้อหาลบหลู่และไม่สำนึกบุญคุณของสายน้ำ ผ่านจุดทดสอบต่างๆ อาทิวังน้ำวน ที่กลืนชีวิตไปไม่รู้จบ หรือเกาะแก่งใต้น้ำซึ่งไม่อาจมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่จ้องจะทำร้ายนายเรือมือใหม่เสมอ

          กระทั่งความเชื่อบางอย่างที่ไม่มีข้อพิสูจน์ แต่หลายคนโดนเข้าอย่างจัง เช่น พญานาคเฝ้าแก่งที่พร้อมจะตื่นทุกครั้งถ้าถูกรบกวน หรือผีปู่ผีย่าผู้สิงสถิตอยู่ตามชะง่อนผา ประหนึ่งผู้ตรวจการณ์ตลอดเส้นทาง

          อาจเป็นเพราะเหตุนี้ ใครคนหนึ่งถึงเคยพูดว่า “คนธรรมดาๆ เอาแม่โขงไม่อยู่หรอก”

          โชคดี ยังมีคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ธรรมดา ซุ่มเรียนวิชา จบออกมาปราบน้ำโขงเสียจนอยู่หมัด หลายคนรู้จักพวกเขาในนาม ‘นายน้ำ’

 

‘นาย’ แห่งสายน้ำ

          ความเชี่ยวกรากและอุดมไปด้วยเกาะแก่งอันเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของลำน้ำโขง อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ นายน้ำ จำกัดอยู่ที่จำนวนน้อยนิด แต่คนหนุ่มอย่าง บุญมี อินทวุฒิ วัย ๒๗ ปีก็ฝ่าฟันขึ้นมาจนสำเร็จ

          ตามความหมายแล้ว นายน้ำก็ไม่ต่างอะไรกับคนขับเรือในภาษาลาว แต่ถ้าพิจารณาถึงความสามารถในการเดินเรือ กับฤทธิ์เดชของแม่น้ำเบื้องล่างแล้ว นายน้ำในที่นี้ คือ นายแห่งสายน้ำจริงๆ

          ในเส้นทางแม่น้ำโขง จากห้วยทราย–หลวงพระบาง เป็นแหล่งชุมนุมของนายน้ำกว่าสามสิบชีวิต ซึ่งแต่ละนายไม่ใช่ว่าจะขึ้นมาเป็นกันได้ง่ายๆ ทั้งหมดนี้ต้องผ่านการเรียนรู้มาไม่ต่ำกว่า ๕ ปี จากประสบการณ์จริงและการเก็บวิชาจาก ‘ผู้รู้’ ที่นายน้ำหนุ่มอย่างบุญมีบอกว่า ทั่วน่านน้ำนับได้แค่ ๒ คน

          “เขาขับเรือมานาน นายน้ำที่นี่ทุกคนต้องไปขอความรู้จากเขา ไม่อย่างนั้นวิ่งเรือไม่ได้” บุญมีพูดถึงผู้รู้ของเขา

          แม้จะเกิดและโตอยู่ริมฝั่งโขง รวมทั้งมีพ่อและพี่ชายเป็นนายน้ำมาก่อน แต่บันไดขึ้นสู่กัปตันเรือของบุญมีก็กินความยาวไม่ต่ำกว่า ๑๐ ปี โดยเริ่มต้นที่ ‘เบ๊สารพัดประโยชน์’ ประจำเรือครอบครัว

          “อายุ ๑๑–๑๒ ก็ไปแล้ว หยุดเรียนไปช่วยพ่อ ทำอะไรได้ก็ทำ จากนั้นทำอะไรได้มากขึ้น ก็มาช่วยพี่ชาย ตอนนั้น ๑๘–๑๙ แล้ว วันไหนน้ำปกติเฮาจะเป็นคนขับ แต่ถ้าวันไหนมันไม่ปกติ พี่ชายจะขับเอง เฮาช่วยคัดท้าย” บทบาทนายคัดท้ายของชายหนุ่ม

          นอกจากคนในครอบครัวแล้ว ตำแหน่งครูฝึกสอนอีกหนึ่งของบุญมี คือผู้รู้ทั้งสอง แต่กว่าจะตกปากรับคำเป็นอาจารย์–ลูกศิษย์ ก็ไม่ใช่ง่ายๆ

          “เขาจะเลือกคนด้วย ถ้าเป็นใครไม่รู้จัก อยู่ๆ มาขอเรียนเขาก็ไม่รับ ต้องเป็นคนที่เขาเชื่อถือและดูแล้วเชื่อมือว่าขับเรือได้”

          ไม่ใช่ว่าสองผู้ช่ำชองแห่งน่านน้ำจะเปิดโรงเรียนสอนอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ตรงกันข้ามตำราสักเล่มก็ยังไม่มี ใครอยากรู้ก็จดเอาจากปากเปล่า หรือใช้วิธีติดตามออกไปสนามจริง เพื่อซักและลักจำเทคนิคต่างๆ เมื่อต้องไปเจอข้อสอบต่างๆ กลางทาง โดยเฉพาะกองทัพเกาะแก่งต่างๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วน้ำโขง มีทั้งแบบโผล่พ้นน้ำและซ่อนตัวร้ายอยู่ใต้บาดาล แต่บุญมีและนายน้ำคนอื่นๆ มีเคล็ดลับเอามันอยู่

          “ช่วงน้ำเยอะ ก็ต้องจำจุดแก่งให้ได้ จำจากต้นไม้ จำป่า ระยะที่มาจากบ้าน จำสิ่งที่อยู่รอบๆ แก่งนั้นและต้องรู้จักว่าน้ำมันลึก น้ำมันตื้นช่วงไหน เพื่อจะได้ขับเรือหลีกหินได้ถูก ปลอดภัย”

          พูดเหมือนง่าย แต่ในทางปฏิบัติมีลูกแม่โขงหลายคนชิงลาออกกลางคัน ทั้งๆ ที่ยังไม่จบหลักสูตร เพราะอะไร? นายน้ำหนุ่มมีคำตอบ

          “ไม่ใช่ว่าทุกคนจะขับเรือได้ บางคนวิ่งเรือมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ยังเป็นนายน้ำไม่ได้ เพราะจำอะไรไม่ได้ เจอปัญหาก็แก้ไม่ได้” สำหรับนายน้ำทุกคน การจำในทุกๆ รายละเอียดของสายน้ำถือเป็นเกณฑ์ใช้วัดว่าสอบผ่านหรือตก

          แต่ละนายจึงต้องสร้างสรรค์ตำราส่วนตัวขึ้นมาคนละเล่ม ในแต่ละหน้าจะจดหรือวาดแผนผังเล็กๆ ในทุกจุดที่หัวเรือผ่าน ตั้งแต่กล้าไม้ไปจนถึงเขาลูกใหญ่ที่อยู่รายรอบแก่ง เพื่อเป็นอีกหนึ่งคู่มือวางไว้ข้างพวงมาลัยหรือไม่ก็เอามาอ่านแทนนิทานก่อนนอน

          เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด เวลาเรือไปเทียบแก่งต่างๆ บุญมีจอดเรืออย่างไม่ลังเล แล้วเดินเท้าเปล่าไปสัมผัสหินโผล่พ้นน้ำเหล่านั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจำแบบสามมิติ เผื่อเวลาน้ำขึ้นและจมมิดแก่ง เจ้าตัวจะได้ดึงของเก่ากลับมาช่วยรู้หลบหลีกได้

          แม้อาวุธปราบน้ำจะครบมือขนาดนี้ แต่ความไม่แน่นอนของสายน้ำโดยเฉพาะแม่โขงผู้เชี่ยวกราก ก็พร้อมจะตลบหลังคู่ต่อสู้ได้ทุกเมื่อ

          “ตอนน้ำใหญ่มาเกาะแก่งอันเดิมถูกพัดหาย ไปยังที่ใหม่ เราก็ต้องจำของใหม่ เวลาเดินเรือไปตรงไหน ต้องนึกอยู่ตลอดว่า ข้างล่างมีอะไรอยู่ หรือถ้าเราไม่รู้ก็ใช้วิธีดูจากน้ำเอา ว่ามันเปลี่ยนหรือเปล่า”

          อาศัยช่างซักถามจากนายน้ำเที่ยวกลับ เป็นอีกวิธีหนึ่งในการเช็คสภาพเส้นทางก่อนถอนสมอทุกครั้ง ถือเป็นประเพณีปฏิบัติของทุกนายเรือไม่ว่าจะกร้านน้ำมากี่ปีแล้วก็ตาม

          “สายน้ำมันเปลี่ยนตลอด เราต้องถามเขาว่าเป็นยังไงบ้าง มีอะไรเปลี่ยนไหม เพื่อจะได้เตรียมตัวล่วงหน้า เพราะทุกๆ วันมันเปลี่ยนตลอด”

          เช่นหน้าร้อนในช่วงนี้ ภาวะน้ำแห้งบางช่วงขอดถึงขนาดปริ่มปนดินเลนสีชาเย็น ผลักให้นายเรือที่ยังไม่เข้าขั้นเซียนต้องบ่ายหัวเรือกลับไปทางเก่าก็หลายราย เช่นล่าสุดเมื่อต้นเมษายนที่ผ่านมา เส้นทางน้ำจากห้วยทรายสู่หลวงพระบาง จำต้องให้ผู้โดยสารโดดลงกลางทางแล้วเดินข้ามเลนไปเพื่อต่อเรืออีกลำหนึ่งที่รออยู่อีกฟาก เพราะเรือลำเดิมไม่สามารถไปต่อได้แล้ว

          แต่ถ้าเป็นสองผู้รู้ผู้โด่งดังไปทั่วคุ้งน้ำ บุญมีบอกว่าเขาสองคนมีพรสวรรค์บางอย่าง เพราะเป็นคนคู่เดียวที่สามารถพาเรือข้ามน้ำแห้งขอดไปได้ โดยที่นายเรือคนอื่นได้แต่มองตาปริบๆ จะเลียนแบบก็ทำไม่ได้ บุญมีบอกว่าเป็นเทคนิคส่วนตัว

          “ถ้าคนอื่นทำได้กัน เขาก็เป็นผู้รู้ไปหมดน่ะสิ” นายเรือหนุ่มพูดยิ้มๆ

          วิชากลางสายน้ำไม่มีวันจบหลักสูตร จนทุกวันนี้บุญมีผู้มีเรือเป็นของตัวเอง และถือเป็นนายน้ำอนาคตไกลอีกคนหนึ่ง ก็ยังต้องเรียนรู้อยู่ทุกวัน เพราะความหวังของเขาในบั้นปลายคือ ‘ผู้รู้คนที่สาม’ แห่งคุ้งน้ำโขง

          แต่เมื่อขอดูแบบเรียนส่วนตัวที่บุญมีใช้จดสลับจำอยู่ทุกวัน เจ้าตัวกลับส่ายหน้าบอกว่าไม่มีแล้ว เพราะถือเป็นความลับ ที่นายน้ำทุกคนต้องเผาทิ้งเมื่อสอบผ่านวิชาชีพขั้นสูง

          “เมื่อจำได้แล้ว จะต้องทำลายสิ่งที่จดทั้งหมด ไม่เป็นไรเพราะเราเก็บไว้ในความทรงจำแล้ว” บุญมีบอก ก่อนเฉลยที่มาที่ไปในประโยคถัดมา

          “กันไม่ให้คนมาลักจำ เราไม่ได้เขียนเพื่อให้คนอื่นมาอ่าน แต่เราเขียนไว้อ่านเอง เกิดคนอื่นมาอ่านแล้วเอาไปใช้ขับเรือผิดๆ ถูกๆ มันอันตราย” แต่ถ้าใครมุ่งมั่นอยากจะเดินเรือจริงๆ ต้องมาขอฝากตัวเป็นศิษย์กับผู้รู้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ส่วนเรื่องรับหรือไม่รับนั้นว่ากันทีหลัง

 

พลังลี้ลับใต้ลำโขง

          ด้วยเลยวัยเบญจเพสมาแค่ ๒ ปี บุญมีจัดเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ แต่ในหลายมุม เขายังเชื่อในเรื่องลี้ลับและตำนานใต้ลำน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ โดยไม่เคยคิดลบหลู่

          “คนเดินเรืออย่างพวกผม จะนับถือพญานาคกันทุกคน ก่อนออกเรือแต่ละครั้งต้องไหว้วอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้คุ้มครองการเดินทาง หัวเรือก็มีแม่ย่านางคอยปกปักรักษา แล้วเวลาเดินเรือไปถึงแต่ละจุด จะมีจุดที่ศักดิ์สิทธิ์ เราก็ต้องไหว้ ทำนองขออนุญาตผ่านทุกครั้ง” วิธีของไต้ก๋งหนุ่ม

          เส้นทางที่บุญมีขึ้นล่องอยู่เป็นประจำ นายเรือช่างจำนับแก่งได้ทั้งหมด ๑๕ จุด แต่จะมีอยู่เพียง ๒ จุดที่ลือชื่อเรื่องฤทธิ์เดช โค่นเซียนเรือมานักต่อนัก อันได้แก่ แก่งธนู และ แก่งหลวง

          คนฝั่งขวาแม่น้ำโขงเชื่อกันว่า สองแก่งนี้มีผีเงือก (พญานาคในภาษาท้องถิ่น) ที่เก่งกล้าอาคมมากกว่า ๑๓ แก่งที่เหลือ ซึ่งในอดีต เคยมีชนวนกับ ‘เจ้าเพชรราช’ อุปราชองค์สุดท้ายของราชวงศ์ลาว ผู้ที่ชาวบ้านโจษจันกันว่ามีวิชาแก่กล้า ตัวเบาขนาดนั่งเล่นบนใบกล้วยได้

          “ครั้งหนึ่งท่านเดินเรือมาจากทางเหนือ ผ่านแต่ละแก่งสะดวก สายน้ำมันดีกับท่าน แต่มี ๒ แก่งนี้ที่ไม่ยอมดีด้วย ไม่ยอมท่าน เพราะถือว่ามีวิชาอาคมเท่าเทียมกัน ไม่มีใครยอมแพ้ จนท่านต้องดำลงไปปราบพญานาคที่อยู่ใต้แก่งทั้งสอง สุดท้ายก็ชนะ แล่นเรือผ่านไปได้”

          ระหว่างแล่นเรือผ่านสองแก่งที่ว่า บุญมีได้จังหวะชี้ให้ดู ไกด์สมัครเล่นบอกว่า คงเป็นเพราะเต็มไปด้วยแก่งใหญ่น้อย น้ำเลยเชี่ยวเป็นพิเศษ โดยมีวังน้ำวนรายรอบเป็นของแถม ซึ่งกินเรือเล็กไปไม่รู้กี่ลำต่อกี่ลำแล้ว

          ถัดจากแก่ง บุญมียังบุ้ยใบ้ให้ดูหินผารายทาง โดยเฉพาะผาสูงตระหง่านดูเก่าแก่ ชาวบ้านเรียก ผาย่าเฒ่า (ย่าเฒ่าเฝ้าน้ำ) เป็นที่บูชาของนายเรือทุกราย ใครจะผ่านต้องยกมือไหว้ แต่ถ้าเว้นไปหรือลืมทำ อาจเจอสายน้ำเล่นตลกเอาได้

          “ถ้าคนไหนเดินเรือผ่านไปเฉยๆ ส่วนใหญ่จะไปไม่ขึ้น ไหลลงกลับมาเอง โดยเฉพาะเรือส่งสินค้า เขาต้องมาขอก่อนด้วยดอกไม้ ธูปเทียน บางเที่ยวติดไก่มาด้วยก็ดี ถึงจะผ่านไปได้”

          แต่การปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด ก็ไม่ใช่ว่าจะนำพาผู้โดยสารไปถึงจุดหมายโดยสวัสดิภาพทุกครั้ง อีกหนึ่งพรแสวงที่นายน้ำทุกรายควรมีคือ สัมผัสพิเศษประเภทรู้ดินฟ้าอากาศล่วงหน้า

          ใครจะใช้วิธีไหนไม่รู้ แต่บุญมีกลับใช้เครื่องมือพิเศษที่เรียกว่าความรู้สึก บวกกับความช่างสังเกต เก็บเล็กผสมน้อยจนกลายเป็นคู่มือทำนายส่วนตัวได้

          “ดูฟ้าดูเมฆ ฟ้ามันจะเหลื่อม มันมีลม ซึ่งไม่ใช่ลมธรรมดา ใช้ฟังเอาก็รู้ หรือไม่ก็สังเกตต้นไม้ มันจะไหวแปลกๆ” เจ้าของเทคนิคเอง ก็ไม่รู้จะอธิบายให้คนฟังเข้าใจได้อย่างไร บอกได้เพียงสั้นๆ ว่า ต้องขับด้วยใจไม่ใช่ทักษะ และเรียนกับความจริง อาศัยการจำร่วมสิบปีจากการขึ้น–ล่องนับครั้งไม่ถ้วน จนบ้านของบุญมีกลายรูปร่างเป็นเรือไปตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้

 

เล็กๆ หลบไป ขาใหญ่เข้ามา

          แต่บ้านหลังน้อยของบุญมีและเพื่อนร่วมลำน้ำอีกหลายชีวิต กำลังเผชิญวิกฤติครั้งใหญ่ ซึ่งเริ่มตั้งเค้ามาเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว

          “ครั้งหนึ่ง เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว น้ำโขงมันแห้งมากๆ คิดว่าเพราะฝนมันแล้ง คนตัดไม้เยอะ” สมมติฐานของบุญมีเกือบถูก แต่ตัวการไม่ใช่พลังธรรมชาติ หากเป็นมือมนุษย์ จากคนต้นน้ำโขงที่ปิดเขื่อน โดยคนปลายน้ำไม่มีใครรู้เรื่องนี้เลย

          จีนในฐานะคนต้นน้ำ วางแผนขายไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เป็นจุดเริ่มต้นของแผนการสร้างเขื่อน ๘ แห่ง ‘เขื่อนมันวาน’ เขื่อนแรกเริ่มก่อสร้าง พ.ศ. ๒๕๓๖ และดาเฉาชาน เขื่อนที่สองเสร็จตามมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ เขื่อนหมายเลขสาม ‘เซี่ยวหวัน’ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และจิ่งหง ลำดับ ๔ ที่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด

          “นี่เป็นตัวการที่ทำให้กระแสน้ำขึ้นลงผิดปกติ ไม่ใช่ฟ้าฝนที่ผิดธรรมชาติ” สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา แกนนำกลุ่มรักษ์เชียงของ หน่วยงานที่ทำงานด้านอนุรักษ์แม่น้ำโขง ให้ข้อมูล ระหว่างกิจกรรมธรรมยาตรา รักษาลำน้ำโขง ครั้งที่ ๒ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

          ระหว่างมหกรรมสร้างเขื่อนยังดำเนินต่อไป โครงการระเบิดแก่งเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง–แม่โขง ก็เกิดขึ้นในระยะเวลาไล่เลี่ย (พ.ศ. ๒๕๓๖) ในข้อตกลงร่วม ๔ ประเทศ คือ ไทย จีน ลาว และพม่า โดยจีนจะเป็นฝ่ายลงมือสำรวจร่องน้ำเพื่อการเดินเรือ

          “ผลจากการสำรวจ จำเป็นต้องระเบิดเกาะแก่งกว่า ๑๐๐ แห่ง ตั้งแต่ซือเหมาถึงหลวงพระบาง ๘๘๖.๑ กม. โดยวางแผนระเบิดเป็น ๓ ระยะ ซึ่งปัจจุบันนี้แผนแรกยังไม่สำเร็จ เพราะติดอยู่ที่แก่งคอนผีหลง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ชาวบ้านเขาไม่ยอม” สมเกียรติกำลังพูดถึงเสียงทักท้วงจากชุมชนท้องถิ่น นักวิชาการองค์กรระหว่างประเทศ โดยได้แกนนำภาครัฐอย่าง ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ดร. ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ว. เตือนใจ ดีเทศน์ มาร่วมขับเคลื่อน

          แต่ความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้วกับน้ำโขง เช่น ภาวะน้ำแห้งอย่างที่บุญมีเจอเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว ซึ่งเวียนกลับมาเมื่อเมษา ๒๕๔๗ อีกครั้ง แต่คราวนี้บุญมีพอรู้แล้วว่า ‘ใคร’ เป็นคนทำ

          “ได้ยินมาว่าเขาปิดเขื่อน อีกอย่างจีนเขาให้ตารางเดินเรือกับเรามาแล้ว เขาบอกว่าจะปิดเขื่อน ๓ วัน และเปิด ๑ วัน เราก็ต้องเดินเรือตามนั้น” นายเรือลาวไม่วายบ่นอุบอีกว่า เดี๋ยวนี้อาศัยตำราธรรมชาติไม่ได้อีกแล้ว เพราะน้ำขึ้นลงไม่ปกติ คาดเดาจังหวะไม่ค่อยถูก

          ในแผนระเบิดแก่งระยะสุดท้าย เป้าหมายอยู่ที่การปราบพยศแม่โขงผู้เชี่ยวกรากให้มีสภาพไม่ต่างจากคลอง เพื่อให้สามารถเดินเรือระวางบรรทุกอย่างต่ำ ๕๐๐ ตัน เป็นระยะเวลาอย่างต่ำ ๙๕ เปอร์เซ็นต์ในรอบหนึ่งปี

          แม้ไม่ได้บอกกันตรงๆ แต่เจ้าของเรือโดยสารท่องเที่ยวขนาด ๒๕ ตันอย่างบุญมี ก็รู้อนาคตตัวเองดี ว่าต่อไปคงต้องหลีกทางให้ขาใหญ่พวกนี้เข้ามาวางอำนาจทั่วคุ้งน้ำ

          คนเล็กอย่างบุญมี รู้ดีว่าไม่มีสิทธิมีเสียงอะไรจะไปทักท้วง ทำได้เพียงแค่แอบลุ้นให้ฝ่ายต่อต้าน ทัดทานโครงการจนถึงที่สุด

          “ท้ายที่สุดแล้ว การระเบิดแก่งก็ยังต้องทำต่อไป เราทำได้แค่ยื้อเวลาและทำให้คนกลุ่มใหญ่เห็นว่าแม่น้ำโขงมีค่ามากแค่ไหน” ประโยคสุดท้ายจากแกนนำกลุ่มรักษ์เชียงของ

.... .... ....

สำหรับบุญมีแล้ว แม่น้ำโขงคืออีกคนในครอบครัวของเขา เวลาไปไหนไกลๆ ก็อดไม่ได้ที่จะคิดถึงเธอคนนี้

          “ถ้ามีวันใดที่เฮาต้องเดินจากแม่น้ำโขงนี้ไปหรือวันไหนที่ไม่ได้เห็น เฮาจะรู้สึกคิดถึงแม่น้ำโขง ยิ่งตอนจากไปนานๆ เฮาก็คิดฮอดมันว่าจะเป็นยังไงบ้างแล้ว มันขึ้น มันลง ขุ่นหรือว่าใส” ความในใจของลูกผู้ชาย

          แต่ถ้าวันใดนายน้ำคนนี้จะถูกขาใหญ่สัญชาติมังกรผลักออกไป เขาจะทำอย่างไร ลองไปฟัง

           “ก็คงมีแต่ความเสียใจ เพราะเฮาไม่สามารถต้านทานได้ ชีวิตทุกๆ อย่างของเฮาอาศัยที่ในแม่น้ำโขง กระทั่งบ้านของเฮา” ว่าแล้ว นายน้ำหนุ่มก็ลูบคลำเรือขนาด ๔๐ ที่นั่งของเขา ซึ่งเพิ่งต่อเสร็จไม่กี่วันก่อนหน้านี้ กลิ่นสียังฉุนติดจมูก...

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :