เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๒
ตุลาคม - ธันวาคม ๒๕๔๗

เสขิยบุคคล
ส.ศิวรักษ์

พระปัญญาวัฑโฒ

 

ภิกขุปัญญาวัฑโฒ เป็นพระภิกษุชาวอังกฤษ ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ณ วัดปากน้ำภาษีเจริญ โดยมีพระมงคลเทพมุนี (สด) เป็นพระอุปัชฌาย์ แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ นับว่าท่านเป็นพระมหาเถระ ที่มีพรรษายุกาลยิ่งกว่าพระฝรั่งรูปใดในประเทศนี้ หรือที่ประเทศอื่นๆ ในโลกเอาเลยก็ว่าได้ เมื่อท่านมรณภาพลงเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๗ ที่วัดป่าบ้านตาด อุดรธานีนั้น ท่านบวชมาได้ ๔๖ พรรษา ย่าง ๔๗ พรรษาเอาเลยด้วยซ้ำ

          ท่านปัญญาวัฑโฒ เดิมชื่อ Morgan ปู่ของท่านเคยเป็นเจ้าอธิการมหาวิหารของนิกายอังกฤษแห่ง คริสตศาสนา (Dean of St. David’s Catheral) ในแคว้นเวลส์ คือท่านเองก็มีเชื้อสายเป็นชาวเวลส์ ดังที่ใน สหราชอาณาจักรนั้น คนอังกฤษหรือ British นั้น เป็น English ก็ได้ Welsh ก็ได้ หรือ Scots ก็ได้ โดยไม่นับถึง Irish ในไอร์แลนด์เหนือ

          ท่านจบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ แต่เห็นว่าการครองเรือนและอาชีพการงานต่างๆ ออกจะไร้สาระ จึงแสวงหาทางออกจากวิถีชีวิตอย่างโลกๆ ที่เป็นไปเพียงเพื่อมีคู่ครอง มีลูกหลาน แล้วก็มีทรัพย์ศฤงคารบริวาร ทั้งหมดนี้ท่านเห็นว่าเป็นเรื่องเหลวไหล ไม่จีรังยั่งยืน

          เผอิญท่านอ่านหนังสือชื่อ Buddhism by Christmas Hamphreys นายกพุทธสมาคม ของ อังกฤษในขณะนั้น ท่านทึ่งในเนื้อหาของหนังสือเล่มดังกล่าว จึงหาทางโยงใยไปพบพุทธศาสนิกชนชาวอังกฤษ ซึ่งในเวลานั้นยังมีเป็นจำนวนน้อย แล้วตั้งกลุ่มปฏิบัติธรรมขึ้นที่เมืองแมนเชสเตอร์ หาเวลาภาวนาให้จิตใจสงบและรักษาศีล เพื่อไม่เอาเปรียบตนเองและผู้อื่น หวังที่จะได้แสงสว่างทางปัญญา

          ณ ช่วงก่อนกึ่งพุทธกาลนั้น มีคนอังกฤษคนหนึ่ง ซึ่งออกบวชเป็นพระภิกษุมาแล้ว ได้รับสมณฉายาว่า กปิลวัฑโฒ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเป็นผู้นำสูง แม้จะไม่มีการศึกษามากนักก็ตาม ทั้งท่านยังมีโวหารกล้าทางด้านการแสดงธรรม จนนายมอร์แกนไปสมัครเป็นศิษย์ และใคร่ติดตามพระกปิลวัฑโฒมาบวชที่เมืองไทยในปี ๒๕๐๐

          พระกบิลวัฑโฒต้องการตั้งคณะสงฆ์ขึ้นในอังกฤษ ชักชวนชาวอังกฤษมาบวชกับท่านที่วัดปากน้ำถึง ๔ รูป รวมท่านด้วยเป็น ๕ หากท่านทั้งห้านี้ทรงพรหมจรรย์ต่อไป จนท่านกปิลวัฑโฒบวชได้ครบ ๑๐ พรรษา ท่านทั้งห้านี้ย่อมให้บรรพชาอุปสมบทในอังกฤษได้ตามพระวินัย แม้บางท่านที่มาบวช ณ วัดปากน้ำจะเป็นชาวอินเดียตะวันออก (East Indies) ที่มีผิวดำก็ตามที หากทุกท่านถือสัญชาติอังกฤษ

          ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เรามีพระกปิลวัฑโฒเป็นตัวตั้งตัวตีที่จะก่อให้เกิดคณะสงฆ์ขึ้นในอังกฤษ ดังที่ในปี ๒๔๗๕ เราก็มีพระโลกนาถ ชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาเลียน ที่เข้ามาเมืองไทย ชักชวนพระหนุ่มเณรน้อยให้จาริกด้วยเท้าเปล่าไปยังชมภูทวีป เพื่อบูชามหา--สังเวชนียสถานทั้งหมด แล้วก็จะยาตราไปยังกรุงโรม เพื่อโน้มน้าวพระสันตปาปา ประมุขแห่งนิกายโรมันคาทอลิก ให้มาสมาทานพุทธศาสนา และแล้วพระฝรั่งทั้งสองรูปนี้ก็ล้มเหลวทั้งคู่ อย่างน้อยพระโลกนาถได้ถอยกองทัพธรรมมาตั้งมั่นอยู่รูปเดียวในพม่า จนเพิ่งมรณภาพไปเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง หากท่านถือมังสวิรัติเคร่งครัด และมีอาจารย์กรุณา กุศลาสัย เป็นศิษย์ก้นกุฏิท่าน แต่ปี ๒๔๗๕ จนบัดนี้

          สำหรับพระกปิลวัฑโฒที่นำคนทั้ง ๔ มาบวช ณ วัดปากน้ำภาษีเจริญในปี ๒๕๐๐ นั้น สึกหาลาเพศกันไปหมด รวมทั้งท่านกปิลวัฑโฒด้วย เหลือแต่ท่านปัญญาวัฑโฒรูปเดียว

          เมื่อบวชแล้วไม่นาน ท่านปัญญาวัฑโฒย้ายจากเมืองแมนเชสเตอร์ มาจำพรรษาในกรุงลอนดอน โดยพุทธมามกชนชาวอังกฤษในราชธานีแห่งนั้นตั้ง Sangha Trust ขึ้น เป็นดังมูลนิธิที่อุดหนุนให้เกิดคณะสงฆ์ในสหราชอาณาจักร แต่ท่านอยู่ของท่านรูปเดียว เจริญสมาธิภาวนาเป็นส่วนใหญ่ ไม่รับกิจนิมนต์ใดๆ โดยที่เวลานั้นลอนดอนมีพุทธสมาคมของฆราวาสชาวอังกฤษ ๑ และมีพุทธวิหารของชาวสิงหฬที่นิมนต์พระมาจากลังกาทวีปไปอยู่อีก ๑

          ในช่วงหลัง พ.ศ. ๒๕๐๐ ข้าพเจ้าเข้าไปทำงานในลอนดอน และเรียนที่เนติบัณฑิตยสภาของอังกฤษ จึงมีโอกาสไปพบท่านปัญญาวัฑโฒ ซึ่งปรารถนาจะเรียนภาษาไทย คือท่านประสงค์จะกลับไปเมืองไทย เพื่อแสวงหาครูบาอาจารย์ที่เป็นพระป่า ซึ่งพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงอาสาไปสอนภาษาไทยถวายท่านแทบทุกสัปดาห์

          ในตอนนั้น มีนักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษคนหนึ่งต้องการไปบวชเพื่อปฏิบัติธรรม กับท่านพระอาจารย์ขาว ผู้เคยได้รับอาราธนาให้ไปเป็นเจ้าอาวาส วัดชลประทานรังสฤษฏ์ ซึ่งเพิ่งแรกสร้าง หากท่านไม่รับตำแหน่งดังกล่าว จึงตกไปเป็นของท่านปัญญานันทะ

          เมื่อชาวอังกฤษคนนี้ มาบวชที่เมืองไทย เขาได้สมเด็จพระสังฆราช (อยู่) วัดสระเกศ เป็นพระอุปัชฌาย์ แต่เมื่อยังทรงเป็นเพียงสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้รับฉายาว่า ชุตินฺธโร เมื่อสึกหาลาเพศแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้คุ้นเคยกับเขา ซึ่งคงจะแนะนำให้ท่านปัญญาวัฑโฒไปพัก ณ วัดชลประทานรังสฤษฏ์ เมื่อท่านหวนกลับมาเมืองไทยในปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๔

          ข้าพเจ้าเองก็กลับเมืองไทยในระยะใกล้ๆ กับท่าน และไปเยี่ยมท่านที่วัดชลประทานฯ อยู่เนืองๆ ตัวท่านเองแสวงหาครูอาจารย์อยู่นาน ข้าพเจ้าแนะนำท่านอาจารย์พุทธทาสที่สวนโมกข์ แต่ท่านไม่ต้องการ ท่านหาว่าสวนโมกข์เน้นทางทฤษฎีมากเกินไป ท่านต้องการปฏิบัติธรรมล้วนๆ อยากได้พระป่าเป็นครูบาอาจารย์ จนท่านได้ไปพบพระอาจารย์มหาบัว าณสมฺปนฺโน ที่จันทบุรีนั้นแล ที่ท่านตัดสินใจว่านี่แลคือพระอาจารย์ในอุดมคติของท่าน แม้ภาษาไทยของท่านจะไม่ดีพอถึงขนาดเข้าใจคำสั่งสอนภาษาไทยได้อย่างลึกซึ้งก็ตามที

          พระอาจารย์มหาบัวดำริจะย้ายไปตั้งหลัก ณ วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี แทนจาริกไปตามที่ต่างๆ อย่างแต่ก่อน เพราะโยมมารดาแก่ชรา ท่านต้องการอนุเคราะห์บุพการิณี ท่านปัญญาวัฑโฒจึงตามไปยังวัดนั้น ทั้งๆ ที่เวลานั้นชาวกรุงเห็นว่าอุดรธานีอยู่สุดหล้าฟ้าเขียว ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปส่งท่านที่วัดนั้นด้วย ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕

          ท่านปัญญาวัฑโฒอยู่ที่วัดนั้นตลอดมา แม้จะเดินทางไปยังที่อื่นๆ บ้าง ก็เป็นการชั่วคราว ทางอังกฤษอาราธนาให้ท่านกลับไปตั้งคณะสงฆ์ขึ้น แต่ท่านก็ปฏิเสธ แม้ท่านจะเคยพาท่านอาจารย์มหาบัวไปอังกฤษด้วยกันครั้งหนึ่งด้วยแล้วก็ตาม ทางอังกฤษจึงเปลี่ยนใจ ขอให้ท่านอาจารย์ชา สุภทฺโท แห่งอุบลราชธานี ส่งพระอาจารย์สุเมโธไปตั้งสมณวงศ์ที่ประเทศนั้นแทน จนเป็นปึกแผ่นอยู่ทั้งที่อังกฤษและประเทศอื่นๆ พระอาจารย์สุเมโธเองก็ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ จนได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชสุเมธาจารย์ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ณ วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๗ นี้

          ท่านปัญญาวัฑโฒไม่ยอมรับสมณศักดิ์ ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย เน้นที่สมาธิภาวนาอย่างพระป่าแท้ๆ แม้ท่านจะอยู่วัดธรรมยุตโดยได้บวชมาในคณะมหานิกาย ต่อภายหลังท่านจึงบวชแปลงเป็นธรรมยุต ที่วัดบวรนิเวศ โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ เจ้าคุณพระญาณวโรดม (สนธ์ กิจฺจกาโร) แห่งวัดบวรนิเวศ พูดชมอยู่เสมอว่า ท่านปัญญาวัฑโฒเป็นพระที่แท้ คือท่านมุ่งเพียงมรรคผลนิพพาน อย่างไม่สนใจในเรื่องโลกธรรมเอาเลย

          ท่านไม่เขียนและแทบไม่เทศน์ หากแปลพระธรรมเทศนาของท่านพระอาจารย์ของท่านเป็นภาษาอังกฤษ ดังท่านเคยมอบให้ข้าพเจ้านำไปตีพิมพ์เป็นเล่มชื่อ Forest Dhamma

          ที่วัดป่าบ้านตาดนั้น ท่านเป็นพระผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านและเพื่อนสหธรรมิก ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศอย่างแท้จริง

          แม้ท่านจะเป็นวัณโรคที่เท้ามาแต่หนุ่ม แต่ก็ออกบิณฑบาตได้ หากต้องไม่ไกลนัก โดยท่านไม่สะสมวัสดุสิ่งของใดๆ ชีวิตของท่านเป็นไปอย่างเรียบง่าย สมกับความเป็นสมณะ ท่านมุ่งเจริญจิตสิกขา และรักษาศีลสิกขาอย่างเคร่งครัด เพื่อเข้าถึงปัญญาสิกขา ด้วยภาวนามัยวิธี อย่างที่ควรแก่การเคารพสักการะยิ่งนัก

          ทัศนคติทางโลกของท่านตีกรอบอยู่เพียงแค่วัดป่า ท่านไม่รู้อะไรยิ่งไปกว่านั้น และท่านเคารพครูบาอาจารย์อย่างปราศจากการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ เอาเลย ข้าพเจ้าเคยถามท่านเมื่อปีกลายว่า ท่านเห็นอย่างไร ที่วัดป่าบ้านตาด บัดนี้มีกิจกรรมมากมาย ไม่สงบเงียบดังแต่ก่อน ทั้งท่านพระอาจารย์มหาบัวก็กลายเป็นพระธรรมวิสุทธาจารย์ไปแล้ว โดยมีการเรี่ยไรกันจากทั่วประเทศ เอาเงินคนจนส่วนใหญ่ไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ท่านบอกว่า ไม่มีความเห็น และการที่พระอาจารย์มหาบัวมีกิจกรรมมากนั้นดี ช่วยให้ท่านอายุยืน หาไม่ท่านจะหงอยเหงานักการที่พระมีทัศนคติเช่นนี้ ก็นับว่าน่ารับฟัง แม้เราจะไม่เห็นด้วยกับท่านก็ตาม อย่างน้อยท่านปัญญาวัฑโฒก็เป็นพระดี และอยู่ที่ประเทศของเรามาเป็นเวลาถึงสี่ทศวรรษ นับว่าเป็นสิริมงคลกับบ้านเมือง โดยถือได้ว่าท่านเป็นศรีของพระศาสนาอย่างแท้จริง....

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :