เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๒
ตุลาคม - ธันวาคม ๒๕๔๗

ปฏิกิริยา
ส.ศ.ษ.

เขย่าตะกอนประวัติศาสตร์:
สะสางมุมมองประวัติศาสตร์ไทย

 

ในโอกาสที่สยามสมาคมตั้งมาครบศตวรรษ และนี่เป็นสมาคมแรกที่ตั้งขึ้นในเมืองไทย การเขย่าตะกอนประวัติศาสตร์ ควรเริ่มที่สมาคมนี้เอง โดยเราต้องไม่ลืมว่าการประชุมกันอย่างเป็นทางการเพื่อคิดจัดตั้งสยามสมาคมนั้น มีขึ้นเป็นครั้งแรกที่โรงแรมโอเรียนเต็ลเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๑๘๐๔ ซึ่งถ้านับศักราชอย่างไทยยังเป็นปลายปี ๒๔๔๖ (เพราะเวลานั้นเราขึ้นศักราชใหม่ ณ วันที่ ๑ เมษายน) ครั้นวันที่ ๑๐ ตุลาคมในปีนั้นได้มีการประชุมใหญ่เพื่อฉลองวันพระราชสมภพครบ ๑๐๐ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยที่วารสารสยามสมาคมฉบับแรก ซึ่งออกในปีต่อมา (คือครบ ๑๐๐ ปีในปี ๒๕๔๘) ลงบทความเป็นภาษาอังกฤษเรื่องพระราชประวัติของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น โดยบรรณาธิการคือ Dr. Frankfurter ชาวเยอรมัน ซึ่งเคยรับราชการ ณ กระทรวงการต่างประเทศแล้วโอนมาเป็นบรรณารักษ์ใหญ่ของหอพระสมุดวชิรญาณ (ซึ่งเป็นพระฉายาของในหลวงรัชกาลที่ ๔ เมื่อทรงผนวช)

          ที่จะตราไว้ก็ตรงที่ วันที่ ๑๘ ตุลาคมที่จะถึงนี้ จะเป็นวันพระราชสมภพครบ ๒๐๐ ปี ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นพระเจ้ากรุงสยามพระองค์แรกเอาเลยก็ว่าได้และสมาคมนี้ก็มีชื่อว่าสยามสมาคม อยากทราบว่าสมาคมคิดทำอะไรเพื่อถวายพระเกียรติในทางวิชาความรู้อย่างไรหรือไม่ อย่างน้อยเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน ตอนตั้งสยามสมาคม ได้มีการรำลึกถึงพระองค์ท่านอย่างเป็นประเดิมเอาเลยทีเดียว

          พระมหาเธียรราชเจ้าพระองค์นี้ ทรงมีพระอัจฉริยภาพยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์แทบทุกพระองค์ในบรมราชวงศ์จักรี และถ้าไม่มีพระองค์ท่านทรงวางรากฐานไว้ให้ เมืองไทยจะธำรงคงเอกราชและอธิปไตยไว้ได้ละหรือ โดยมิใยต้องเอ่ยถึงความทันสมัยต่างๆ รวมถึงการปรับปรุงพระพุทธศาสนาให้หมดความล้าสมัย โดยทรงนำให้พุทธศาสนาเป็นไปได้อย่างเหมาะสมกับวิทยาศาสตร์อย่างใหม่อีกด้วย

          พระคุณูปการและพระอัจฉริยภาพของพระองค์นั้น แม้รัฐบาลไทยและชนชั้นนำร่วมสมัยของสังคมไทย ก็มองไม่เห็นเอาเลยก็ว่าได้ จะว่าเพราะชนชั้นนำของเราในสมัยนี้ตาไม่มีแววก็ได้ จนแลไม่เห็นคุณงามความดีของบุพการี ผู้มีบุญคุณมากับบ้านเมืองของเราอย่างมหาศาล เพราะมักไป หลงเงินและอำนาจกัน หรือหลงระเริงอยู่กับลัทธิบริโภคนิยม ทุนนิยมกัน จนปราศจากจิตสำนึกในทางคุณงามความดี

          ที่มีนักปราชญ์รู้พลั้งกล่าวหาว่า พระองค์ท่านทรงปลอมแปลงเอกสารชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์ อันได้แก่จารึกรามคำแหงนั้น นั่นเป็นเสรีภาพทางวิชาการของเขา เราจะเห็นด้วยหรือไม่ เป็นสิทธิของเรา พร้อมๆ กันนี้ที่มีการยกย่องพระองค์ท่านว่าทรงเป็นบิดาของวิชาวิทยาศาสตร์อย่างใหม่ของไทย นี่ก็ออกจะเป็นการเกินเลยไป คือทั้งสองกรณีนี้ ควรได้รับการเขย่าตะกอนทางประวัติศาสตร์ด้วยกันทั้งคู่

          ก็คติพจน์ของสยามสมาคม มีข้อความว่า “วิชชายังให้เกิดมิตรภาพ” แต่ถ้าเสรีภาพทางวิชาการเกิดจากอวิชชา โดยที่นักวิชาการนั้นๆ มีความยึดมั่นถือมั่นในทฤษฎีของตน จนเห็นฝ่ายตรงกันข้ามเลวร้ายไปหมด นั่นย่อมก่อให้เกิดมิตรภาพไม่ได้ เฉกเช่นการยกย่องวีรชนในอดีตอย่างปราศจากการวิพากษ์วิจารณ์ หรือหาข้อมูลให้รอบด้าน นั่นก็เป็นการสร้างอวิชชา ซึ่งนำไปสู่ความมืดบอด ไม่ใช่ความสว่างอย่างสะอาด หรืออย่างสงบ

          การแสวงหาความรู้จากอดีตหรือแม้จนความรู้ร่วมสมัย ไม่ว่าจะในทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ สังคมศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ พวกเรามักเป็นทาสของวิธีวิทยาอย่างฝรั่ง จนยกหูชูหางว่าทฤษฎีของตน หรือการค้นพบของตนเท่านั้นที่ถูกต้อง นี้นับว่าน่าเสียดาย เพราะมันกลายเป็นความคับแคบได้ง่าย และไม่ก่อให้เกิดมิตรภาพได้ อย่างน้อยก็จากผู้ที่มีทัศนะหรือทฤษฎีที่ตรงกันข้ามกับเรา

          ก็คนไทยเป็นจำนวนไม่น้อย อ้างตนว่าเป็นพุทธศาสนิก แม้ศาสนิกเหล่าอื่น รวมถึงจนคนที่ไม่นับถือศาสนาใดเอาเลยก็ตาม ลองฟังทัศนคติทางฝ่ายพุทธดูบ้าง ว่าการแสวงหาความรู้หรือความจริง ควรเป็นไปเช่นไร บางทีจะมีประโยชน์ทางด้านการเขย่าตะกอน หรือสะสางการตกค้างต่างๆ ในภวังคจิตของเรา

          ทางพุทธศาสนานั้น มีข้อเสนอถึงแนวทางของการแสวงหาความจริงว่า สิ่งซึ่งเราจำได้หมายรู้ (สัญญา) เราต้องรู้ว่าเรารู้มาได้อย่างไร ถ้าไม่แม่นในความข้อนี้ ย่อมนำไปสู่สัญญาวิปลาสได้ กล่าวคือสังขาร (หรือขบวนความคิดทั้งหมด) จะแปรไปตามความผิดพลาดที่ได้รับมา จนเกิดวิญญาณ การลงมติพิจารณาหรือตัดสินไปในทางที่เป็นโทษ

          ถ้าสัญญาที่ว่านี้เป็นเพียงสมมติฐาน เช่นว่าศิลาจารึกนี้จริงหรือปลอม ก็พึงตราไว้เพียงนี้ก่อน ว่านี่อาจเกิดจากความเพ้อฝันของเรา หรือเราอาจวาดภาพดังว่าไว้ หากไปยึดมั่นว่านั่นเป็นสัจภาวะ แล้วเลยหาเหตุผลและข้อมูลต่างๆ มาสนับสนุนหรือหักล้าง ถ้ายิ่งเชื่อว่าความจำได้หมายรู้ของเราถูกต้อง ก็เลยเกิดเป็นทิฏฐิหรือความเห็น แม้จนตั้งเป็นทฤษฎี ซึ่งอาจผิดพลาดไปได้ จนกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ

          แนวทางของพุทธธรรมเสนอว่า การแสวงหาความจริง ควรพิจารณาดูเสมอถึงสภาพของจิตใจเรา ว่าเรามีอคติมากน้อยเพียงใด โดยฝึกจิตให้ปราศจากการติดยึดในตัณหา (ความทะยานอยากจะให้สมมติฐานที่เราตั้งไว้ว่าเป็นจริง) มานะ (ความคิดของเราต้องถูกต้องเสมอไป) และทิฏฐิ (ทฤษฎีหรือวิธีวิทยาที่เราเล่าเรียนมา) นี้แลคือแนวทางที่จะเข้าหาความจริงได้ อย่างไม่จำต้องกล่าวหาว่าร้ายหรือทับถมใคร ด้วยการยกหูชูหางตนเองว่าเหนือกว่าคนอื่น

          เมื่อเกิดความอ่อนน้อมถ่อมตน อย่างไปพ้นปปัญจธรรมทั้งสามประการดังกล่าวแล้ว จึงจะเข้าใจอคติทั้งสี่ที่มีในตนได้ คือการตัดสินใจใดๆ เป็นไปด้วยความรัก (ฉันทา) ด้วยความชัง (โทสา) ด้วยความกลัว (ภยา) ด้วยความหลง (โมหา) หรือไม่

          จากจุดนี้เท่านั้น ที่จิตใจจึงจะปล่อยวางอย่างว่างจากหนทางที่ผิดต่างๆ (อคติ) และแจ่มใส จนเกิดปัญญาญาณ คือมองเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง โดยใช้อุปายโกศล หรือวิธีการต่างๆ ที่เข้าถึงความเป็นกลางทางธรรมชาติเป็นตัวตัดสิน

          เกรงว่าวิธีการตามแนวทางของพุทธศาสนาดังที่กล่าวมานี้ ดูจะไม่ได้เข้าสู่วิธีวิทยาของสถาบันหลักทางการศึกษาของไทย และถ้าลองรับไปพิจารณาดูตามที่ข้าพเจ้าเสนอมานี้ บางทีการแสวงหาวิชาความรู้จากอดีตหรือไม่ก็ตาม น่าจะเป็นการยังให้เกิดมิตรภาพได้

          เช่นพระราชพงศาวดารของไทย ระบุว่า พระนเรศวรทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดีนั้น พระราชพงศาวดารพม่าหารับรองข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ หากยอมรับว่าพระมหาอุปราชานั้นสิ้นพระชนม์ลงในการพระราชสงครามคราวนั้น ก็ในเมื่อเราไม่อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว เราก็น่าจะสรุปได้ว่าเอกสารทั้งสองฝ่ายตรงกันว่าพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์จริง และถ้าอีกฝ่ายเขาไม่เชื่อในเรื่องยุทธหัตถี เราก็น่าจะใจกว้างพอที่จะรับฟังเขาได้ หาไม่เราจะใช้ความเป็นชาตินิยมมาตัดสิน ซึ่งเป็นอคติอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องระมัดระวังไว้ให้มาก ดังนี้เป็นต้น

          ก็ในเมื่อคำกล่าวเท่านี้ เริ่มที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงจักขอย้อนกลับมาที่พระองค์ท่านอีกครั้ง ก่อนจะจบคำปราศรัย กล่าวคือพระองค์ท่านทรงเป็นพระเจ้ากรุงสยามพระองค์แรก และทรงบัญญัติให้ใช้คำว่า สยาม เป็นนามของประเทศ แทนการเรียกชื่อประเทศตามราชธานีอย่างแต่ก่อน ทั้งนี้ก็เพราะความเป็นประเทศอย่างสมัยใหม่ เริ่มแต่รัชสมัยของพระองค์ ซึ่งไม่เน้นเพียงแค่ราชธานี หากแผ่ขยายไปยังเจ้าผู้ครองนครต่างๆ เผ่าชนต่างๆ ที่ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา และต่างวัฒนธรรม โดยที่ความเป็นประเทศชาติจะธำรงคงอยู่ได้ ก็เมื่อมีการเคารพในความหลากหลายนั้นๆ อย่างไม่ก้าวก่ายไปยังศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมที่ต่างกันออกไป ครั้นเมื่อมาเปลี่ยนชื่อประเทศสยามไปเป็น Thailand (ดังสยามสมาคมก็เคยจะเปลี่ยนชื่อให้กลายเป็น Thailand’s Research Society อยู่สมัยหนึ่ง) นี่ก็คือการทำลายล้างสัญลักษณ์แห่งความเป็นประเทศชาติ ซึ่งควรประกอบไปด้วยความหลากหลาย อย่างร้ายแรงที่สุด แม้จนเพลงชาติ ก็เริ่มต้นว่า “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” ซึ่งเป็นคำเท็จ

          มุมมองจากการเมืองการปกครอง และวัฒนธรรมนั้น ถ้าตั้งอยู่บนสมมติฐานแห่งความเท็จเสียแล้ว นั่นจะเป็นตะกอนก้อนใหญ่ที่จะขยายความเลวร้ายออกไปอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ดังกรณีที่ปัตตานีและสี่จังหวัดภาคใต้ ซึ่งมีคนส่วนใหญ่เป็นมลายูและถือศาสนาอิสลามนั้น คนที่มีจิตสำนึกในทางที่ปราศจากสัจจะทางประวัติศาสตร์ จะเข้าใจสถานการณ์อันเลวร้ายร่วมสมัยไม่ได้เอาเลย

          คนที่ทำลายความเป็นสยาม ให้กลายไปเป็น Thailand นั้น เลวร้ายกว่าพวกที่กล่าวหาว่าพระเจ้ากรุงสยามทรงปลอมแปลงเอกสารทางประวัติศาสตร์เป็นไหนๆ ถ้าจะเขย่าตะกอนประวัติศาสตร์กันจริงๆ แล้วไซร้ ถ้าไม่ตีประเด็นไปที่คำว่าสยามกับ Thailand ให้ชัดเจน จะสะสางการตกค้างจากมุมมองของประวัติศาสตร์ไทย หรือประวัติศาสตร์สยามได้อย่างไร้ผลเอาเลย

          ที่กล่าวนำมานี้ ถ้ามีอะไรเกินเลยไป ก็ขออภัยไว้ด้วย หากหวังว่าจะช่วยให้การอภิปรายโต๊ะกลมมีรสชาติยิ่งขึ้น โดยมีมิติที่กว้างไกลกว่าที่แล้วๆ มาในวงการวิชาการกระแสหลัก และถ้าจะช่วยถางทางให้แลเห็นอะไรๆ อย่างลุ่มลึกลงด้วย อย่างเป็นองค์รวม วิชาความรู้ที่ได้จากอดีต คงนำมารับใช้การเมืองการปกครองและวัฒนธรรมร่วมสมัย ซึ่งโยงใยไปถึงเศรษฐกิจด้วย อย่างช่วยให้เกิดมิตรภาพที่แท้ ไม่ใช่มิตรภาพอย่างจอมปลอม ดังที่รัฐบาลไทยกระทำอยู่กับพม่า สหรัฐอเมริกา และจีนในบัดนี้ และเฉกเช่นที่ชนชั้นปกครองผู้ใช้ภาษาและอาการอันแปลกปลอมกับราษฎรไทย โดยปราศจากความจริงใจด้วยประการทั้งปวง....

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :