เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๑
กรกฎาคม - กันยายน ๒๕๔๗

๑๐๐ ปี พุทธทาส
จักรไท

ธรรมโฆษณ์ศึกษา : พุทธจริยากับสังคม

 

ธรรมโฆษณ์เป็นผลงานที่สำคัญของท่านพุทธทาสที่ฝากไว้เป็นมรดกแก่ชาวพุทธ ไม่ใช่เฉพาะคนไทยแต่เป็นของทั้งโลก” คำกล่าวของพระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่ามหาวัน จ.ชัยภูมิ วิทยากรนำเสวนาเรื่องพุทธจริยา ระหว่างวันที่ ๒๙ – ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๗ โดยมีเสมสิกขาลัย กลุ่มเสขิยธรรม เครือข่ายชาวพุทธฯ และองค์กรเครือข่าย จัดขึ้น ณ อาศรมวงศ์สนิท คลอง ๑๕ นครนายก

          การเสวนาครั้งนี้บรรยากาศโดยรวมเป็นไปด้วยดี อบอวลไปด้วยความใคร่รู้ของผู้เข้าร่วมทุกคน แม้สภาพอากาศภายนอกจะร้อนอบอ้าวแต่ธรรมรสได้แผ่ซ่านจนคลายความร้อนไปพอสมควร กล่าวถึงพุทธจริยาซึ่งพระไพศาลได้นำเสวนา ในช่วงแรกท่านได้ปูพื้นฐานและกล่าวถึงเนื้อหาพุทธจริยาอย่างย่อ ๆ โดยเน้นว่า “ธรรมะที่สอนในเชิงนามธรรมก็มีประโยชน์แต่ว่าธรรมะที่มาในรูปของเรื่องเล่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือแต่งก็ตาม มีพลังที่กระตุ้นให้คนทำความดี หรือว่าเกิดแนวคิดในทางปฏิบัติและยังช่วยให้เข้าใจเรื่องราวที่ไม่อาจอธิบายด้วยภาษา ในแง่ของพุทธจริยาเราจะมองเป็นเชิงตำนานหรือเชิงประวัติศาสตร์ก็ได้ หลายเรื่องที่กล่าวไว้ในพุทธจริยาทำให้เห็นว่าแม้คนธรรมดาสามัญก็สามารถบรรลุธรรมได้” พระพุทธศาสนาเปิดกว้างแก่ชนทุกชั้นถ้าเราอ่านประวัติของพระสาวกแต่ละท่าน จะเห็นที่มาของแต่ละคนว่ามาจากพื้นภูมิที่ต่างกัน บางคนเป็นโจรมาก่อน เป็นคนโง่ คนเสียสติ แต่เมื่อได้รับรสแห่งพระธรรมก็ข้ามพ้นเสียซึ่งสังสารจักรบรรลุธรรม ฉะนั้นธรรมะไม่ใช่เรื่องยาก และไม่จำเป็นเป็นต้องข้ามภพข้ามชาติเพราะทุกข์เกิดในชาตินี้ต้องแก้ที่นี่และเดี๋ยวนี้

          ถ้าเราเข้าใจเรื่องพุทธจริยาจะทำให้คลายความยึดมั่นต่อพระพุทธเจ้าที่เป็นบุคคลไป เห็นพระพุทธองค์ที่เป็นสภาวธรรมซึ่งสามารถเกิดขึ้นแก่เราทุกคนได้เช่นกัน พระไพศาลได้สรุปเนื้อหาพุทธจริยาที่เกี่ยวกับว่าพระพุทธเจ้าเป็นอะไรกับพวกเรา ๓ ประการคือ ๑) ทรงเป็นเพื่อนร่วมสังสารวัฏ ขณะที่พระองค์ไม่บรรลุธรรม ย่อมมีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่นเราทุกคน ๒) ทรงเป็นผู้ชี้ทางและกัลยาณมิตร เมื่อพระองค์บรรลุธรรมแล้วด้วยพระมหากรุณาก็ทรงนำมาตรัสสอนแก่สรรพสัตว์ ๓) ทรงเป็นอาจารย์ บางครั้งทั้งทรงปลอบประโลมถึงกับตรัสว่า ธรรมะนี้มีรสที่ประเสริฐสุด เพื่อให้กำลังใจแก่พระสาวก แต่บางครั้งพระองค์ก็ทรงขนาบดุจช่างปั้นหม้อทำแก่หม้อที่ยังดิบอยู่ แต่ถึงที่สุดแล้วการที่เราบอกว่าพระพุทธเจ้าเป็นนั่นเป็นนี่ที่แท้พระองค์มิได้ทรงเป็นอะไรเลย เพราะพระองค์ได้ข้ามพ้นเสียซึ่งกิเลสอาสวะ ควบคุมอายตนะทั้งภายในและภายนอกได้หมดจดสิ้นเชิงแล้ว

          การศึกษาพุทธจริยาให้ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง เราต้องนำธรรมะและเรื่องราวของพระพุทธองค์มาใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง และพยายามก้าวเดินตามรอยบาทพระศาสดาอย่างกรณีพระองค์ถูกกล่าวร้าย หรือท้าทาย พระองค์จะไม่ทรงโต้กลับและมีท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์กับใคร ทรงเอาชนะด้วยเมตตาและปัญญา พระไพศาลยังได้ตั้งข้อสังเกตว่าท่านพุทธทาสไม่ได้หยิบยกเรื่องคาถาพาหุง ซึ่งเป็นเรื่องราวที่สรรเสริญชัยชนะของพระพุทธเจ้า ๘ เรื่อง ท่านพุทธทาสได้ยกมาเพียงบางตอนคือเรื่องช้างนาฬาคีรี และสัจจกนิครนถ์ กรณีอื่นไม่ได้กล่าวถึงเพราะเห็นว่าเกี่ยวข้องกับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ และเป็นการแต่งเติมของพระอรรถกถาจารย์ในสมัยหลัง ท่านพุทธทาสพยายามที่จะลดระดับความรุนแรงในพุทธศาสนาที่กล่าวไว้ในอรรถกถาให้น้อยลง เรื่องราวเหล่านี้เราสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตและสังคมของเราโดยไม่ส่งเสริมความรุนแรง มีท่าทีเป็นมิตรต่อศัตรูและมองทุกอย่างในแง่ดี ดังเรามีพระพุทธเจ้าทรงเป็นแบบอย่างมาแล้ว พระองค์จะไม่ดูถูกลัทธิอื่นแต่จะบอกว่า พุทธศาสนาคิดอย่างไรเสนอทางเลือกให้เขาได้ใคร่ครวญด้วยตัวเอง

          นับเป็นเรื่องน่าคิดที่สังคมไทยบอกว่าเป็นเมืองพุทธ แต่การแก้ปัญหาหลายกรณีกลับทำด้วยความโกรธแค้น ชิงชัง และรุนแรง จนนำไปสู่การทำกรรมร่วมในสังคมโดยไม่รู้ว่าการเริ่มต้นและสิ้นสุดมีอยู่ ณ จุดใด

          นอกจากนี้พระไพศาลได้กล่าวว่าธรรมะในพุทธศาสนาครอบคลุมวิถีชีวิตมนุษย์ในทุกด้าน นับแต่ด้านกาย เรื่องการกินอยู่ ความสันโดษ ด้านจิต เรื่องความเพียร เมตตา ด้านปัญญา เช่น เห็นโทษของความโกรธ และยังมีด้านความสัมพันธ์ที่จะเชื่อมร้อยทั้งสามอย่างนี้เข้าด้วยกันให้เป็นไปอย่างสมดุล แต่ปัจจุบันการสอนพุทธศาสนากลับเน้นเพียงบางด้าน เช่น เรื่องจิตแต่ไม่สัมพันธ์กับด้านอื่น แม้จะฝึกจิตแต่ยังประกอบมิจฉาอาชีวะ ดังนั้นเราต้องสร้างปัจจัยด้านอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย ก่อนจบท่านได้ทิ้งท้ายว่า “ธรรมะในพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องไกลตัว มันเกี่ยวข้องกับตนเองและสังคมด้วย นำเอาธรรมะมาแก้ปัญหาทั้งตัวเราและสังคมให้มีความสุข” ถ้าศึกษาแล้วยังเอามาใช้ไม่ได้ถือว่ายังจับไม่ถูกหลักที่แท้จริง เราจะต้องโยงเอาธรรมะเข้ามาสู่ชีวิตเอามาให้ใกล้ตัวเราจึงจะพบสันติในความทุกข์ คิดว่าหลายท่านที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้คงได้แนวคิดและแนวปฏิบัติติดตัวไปตามควรแก่อัตภาพ และไปทดลองใช้ในชีวิตจริงดูนั่นแหละจึงเป็นเครื่องชี้บอกว่า เราได้สอบผ่านหรือสำเร็จระดับใดกับข้อสอบชีวิต ธรรมะเป็นปัจจัตตังแต่ก็ไม่ยากสำหรับคนที่มีความเพียรปรารถนาจะทำที่สุดแห่งทุกข์

          ท่านที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมธรรมโฆษณ์ศึกษาครั้งต่อไปสามารถติดต่อสอบถามได้ที่

          คุณสมบัติ ทารัก โทรศัพท์ (๐๑)๗๑๕–๖๘๔๓, (๐๓๗)๓๓๓–๑๘๓

การเสวนาครั้งต่อไป
โอสาเรตัพพธรรม
ประชา หุตานุวัตร ๑๐–๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๗
สุญญตาปริทรรศน์
พระสุชาติ ปญฺาทีโป ๑๑–๑๒ กันยายน ๒๕๔๗
อตัมมยตาประยุกต์
อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ๑๓–๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๗

          ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการได้ที่ โครงการธรรมโฆษณ์ศึกษาเพื่อสุขภาพทางจิตวิญญาณ...

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :