เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๑
กรกฎาคม - กันยายน ๒๕๔๗

เสขิยบุคคล
ส.ศ.ษ.

ศิริชัย ศิริสยาม

 

การตายจากไปของนายศิริชัย นฤมิตรเรขการ เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๗ นี้ นับว่าสยามได้สูญเสียปูชนียบุคคลร่วมสมัยคนสำคัญไปอย่างน่าเสียดายนัก แม้มหาชนคนส่วนใหญ่จะไม่รู้จักท่านกันนักก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะคุณศิริชัยไม่ชอบความเด่นความดัง หรือการสร้างชื่อเสียงเกียรติยศให้ตนเอง ดังที่เป็นสมัยนิยมกันอยู่ ยิ่งท่านเก็บตัวเท่าไร พวกกึ่งดิบกึ่งดี ที่มีอำนาจวาสนา และทรัพย์สินเงินทองอย่างปราศจากศีลธรรมหรือรสนิยม ย่อมไม่มีแววตาที่จะเห็นคุณค่าของคนอย่างคุณศิริชัย ทั้ง ๆ ที่คุณศิริชัยเป็นผู้ที่มีคุณงามความดีอย่างพรั่งพร้อมอยู่ภายในตนเอง อุทิศชีวิตเพื่อส่วนรวมอย่างเต็มที่ มีเวลาและหัวใจให้กับผู้ยากไร้อย่างเปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณา ยิ่งทางด้านการอนุรักษ์ศิลปกรรมและธรรมชาติด้วยแล้ว คุณศิริชัยทุ่มเทให้อย่างไม่ย่อท้อเอาเลย โดยที่ท่านทำยิ่งกว่าพูด และทำอย่างปิดทองหลังพระ ยิ่งกว่าจะเอะอะโวยวาย พร้อมกันนั้นท่านก็ได้กัลยาณมิตรและศิษยานุศิษย์ ตลอดจนเยาวชน ที่สนับสนุนกิจการงานของท่านอย่างแทบไม่ขาดสาย

          คุณศิริชัยเป็นสถาปนิกที่ไม่ผลิตงานโหล หากสิ่งก่อสร้างหรืออาคารบ้านเรือนแต่ละชิ้นที่ท่านนฤมิตรขึ้นมานั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรขการ สมนามสกุลท่าน โดยที่ท่านเป็นบุตรของหลวงนฤมิตรเรขการกับคุณนายอนงค์ ซึ่งเป็นศิลปินทั้งคู่เอาเลยก็ว่าได้ นอกจากบิดาท่านจะสอนวิชาศิลปะ ณ โรงเรียนนายร้อย จปร. แล้ว มารดาท่านยังดำเนินกิจการด้านห้องศิลป์ทางแถบวัดราชบพิธ เป็นเหตุให้ได้ผลิตงานอย่างมีฝีมือ ที่ขึ้นชื่อลือชาแห่งยุคสมัย แต่ก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ศิลปินระดับชาติอย่างนายเฟื้อ หริพิทักษ์ ก็เป็นผลผลิตคนหนึ่งของสำนักนี้

          ยังปู่ของท่านก็เป็นศิลปิน ดังคุณหลวงเจนจิตรยงได้ฝากฝีมือไว้ในภาพรามเกียรติ์ ณ พระระเบียงแห่งวัดพระศรีรัตนศาสดารามอีกด้วย

          การสืบทอดความเป็นศิลปินมาถึงสามชั่วคนนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องที่หาได้ง่ายในสังคมไทย ยิ่งมาถึงคุณศิริชัยด้วยแล้ว ความงามภายในจิตใจของท่าน เป็นพลังอย่างสำคัญที่ช่วยให้วิถีชีวิตของท่านเป็นไปอย่างงดงาม มุ่งประโยชน์สุขของส่วนรวมและผู้อื่น ยิ่งกว่าส่วนตน ยิ่งเพื่อนร่วมงานรุ่นน้องหรือรุ่นศิษย์ที่เคยทำงานร่วมกับท่านมาอย่างใกล้ชิดด้วยแล้ว จะบอกได้เลยว่าท่านช่วยเหลือเกื้อกูลเขา ไม่แต่ทางด้านการงานและวิชาการ หากยังเอื้ออาทรไปจนถึงทรัพย์สินเงินทอง โดยแผ่ขยายไปถึงญาติพี่น้องของเขานั้น ๆ อีกด้วย

          เพื่อนฝูงของคุณศิริชัย ซึ่งตอนนี้เหลืออยู่น้อยแล้ว ก็จะพากันพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แม้คุณศิริชัยจะไม่ค่อยพูด แต่เวลาพูดออกมานั้น มักจะมีอารมณ์ขันแสดงออกมาด้วย อย่างช่วยให้บรรยากาศของการทำงานร่วมกันเป็นไปได้อย่างราบรื่นและสนุกสนาน แม้บางครั้งจะต้องทำงานใหญ่ ที่บางทีต้องขัดกับนักการเมืองและนักบริหารชั้นสูง ซึ่งมักเป็นไปในทางเผด็จการเสียด้วย โดยที่คุณศิริชัยมักมีบทบาทเป็นไปในทางของพระรอง ยิ่งกว่าพระเอก ทั้ง ๆ ที่แนวคิดและผลงานของท่าน พวกที่แสดงบทนำ ต้องพึ่งพาท่านอย่างแทบขาดไม่ได้เอาเลย ความข้อนี้ ขอให้ถามดูได้จากเพื่อนร่วมรุ่น ที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่น นายวทัญญู ณ ถลาง และนายนิจ หิญชีระนันท์ ส่วนนายแสงอรุณ รัตกสิกร นั้น ได้ตายจากไปแล้ว หากคุณแสงยกย่องเชิดชูคุณศิริชัยยิ่งนัก ว่ามีความสุขุมยิ่งกว่าตนในแทบทุก ๆ ทาง และคุณแสงก็เป็นผู้ที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมและอุทิศตนให้ศิษย์เป็นอย่างยิ่ง

          คุณศิริชัย มีบทบาทอย่างสำคัญในสมาคมสถาปนิกสยาม สยามสมาคม และสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม นอกจากดำรงตำแหน่งกรรมการที่สำคัญ ๆ แล้ว ยังรับใช้สถาบันทั้งสามนี้ ทางด้านอนุรักษ์ศิลปสถานและโบราณวัตถ ุให้คงสภาพทางความงามไว้อย่างสืบทอดความเป็นมาของอดีตเพื่อคนรุ่นต่อ ๆ ไปได้เข้าถึงคุณค่าที่บรรพชนเนรมิตรให้ไว้อย่างควรแก่การภาคภูมิใจ

          การที่คุณศิริชัยมีรกรากดั้งเดิมมา ณ กลางพระนคร ทางแถบแถวถนนบำรุงเมืองและเฟื่องนคร ท่านมีส่วนร่วมรักษาหัวแหวนของเกาะรัตนโกสินทร์ไว้อย่างน่านิยมชมชอบ ทั้งท่านยังพร้อมที่จะนำคนรุ่นหลังเดินชมบริเวณรอบ ๆ นั้น ให้ได้เข้าถึงบรรยากาศและวิถีชีวิตของคนร่วมสมัย เรื่อยไปจนถึงสมัยเมื่อคุณศิริชัยยังเยาว์วัยอยู่ เมื่อหกเจ็ดทศวรรษมาแล้ว ทั้งนี้เท่ากับเป็นการส่งมอบประเพณีแห่งการฟื้นความหลังต่อ ๆ ไป ดังที่ท่านเสฐียรโกเศศและท่านกาญจนาคพันธุ์เคยทำมาก่อนแล้วกับกรุงเทพฯ กรุงธนฯ ของเรา

          ไม่แต่คุณศิริชัยจะมุ่งไปทางความงามและความสมดุลทางธรรมชาติเท่านั้นก็หาไม่ หากยังมีเวลาให้กับคนยากไร้มิใช่น้อย ดังเคยช่วยครูประทีป อึ๊งทรงธรรม ฮาตะ มาอย่างเต็มที่ กับงานในสลัมคลองเตยของเธอ และช่วยคุณนงเยาว์ นฤมิตรเรขการ น้องสาวคนเดียวของท่าน เป็นอย่างมาก ทางด้านงานของมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม

          คุณศิริชัยช่วยงานอนุสรณ์ ๒๐๐ ปี จำเดิมแต่ที่เราสูญเสียกรุงศรีอยุธยาไป ในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ อย่างที่ช่วยให้งานนั้นได้รับความสำเร็จทางด้านการเตือนบุคคลร่วมสมัย ให้เกิดอนุสติและเพื่อเจริญอัปมาทธรรม ทั้งทางศิลปวัฒนธรรม และทางด้านการเมืองการปกครอง อย่างยากที่ชนชั้นปกครองจะเข้าใจได้ แต่ชนชั้นปกครองที่มีแววตาไปในทางกุสุมรส ย่อมจะยกย่องคุณศิริชัยอย่างจริงใจ ดังท่านได้รับความไว้วางใจเป็นอย่างมากจาก ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช

          แม้คุณศิริชัยจะอุทิศตนให้กับกรุงเทพฯ ในหลายต่อหลายทาง รวมถึงความพยายามที่จะให้ถนนวงแหวนรอบราชธานีมีแต่พื้นที่สีเขียว อย่างปราศจากอาคารอันน่าเกลียด แต่โครงการนี้ก็มีอันเป็นต้องพับไป เพราะความโสมมของนักการเมืองที่ทุจริต บวกกับพวกพ่อค้าที่สามารถในการติดสินบน เพียงเพื่อต้องการงานก่อสร้างเพื่อการค้าอย่างไม่ไยไพกับความสมดุลทางธรรมชาติเอาเลย

 

คุณศิริชัยเบื่อเมืองไทย จนหนีไปทำงานด้านวิทยุกับบีบีซีที่กรุงลอนดอนพักใหญ่ ๆ ช่วยผลิตรายการดี ๆ ที่มีคุณค่ามาให้พวกเราได้รับฟังกันอย่างเป็นประโยชน์อยู่หลายปี แต่แล้วท่านก็อดคิดถึงเมืองไทยไม่ได้ จึงต้องย้ายนิวาสสถานกลับมาบ้านเกิดเมืองนอน แต่แล้วท่านก็เห็นว่าเมืองกรุงมีพลเมืองหนาแน่นเกินไป อาคารสูง ๆ ทำให้แผ่นดินทรุดลงไปทุกที ควรที่พวกเราจะกระจายกันไปอยู่ตามต่างจังหวัด

          ไม่แต่พูดเท่านั้น ท่านทำด้วย โดยการโยกย้ายครอบครัวไปอยู่เชียงใหม่เอาเลยทีเดียว แม้ตอนนั้นท่านจะล่วงเลยมัชฌิมวัยไปมากแล้วก็ตาม ถึงกับยอมทิ้งทั้งญาติมิตรในเมืองกรุง แต่แล้วก็ไปได้กัลยาณมิตรใหม่ ๆ ทางล้านนา จนไปตั้งกลุ่มอนุรักษ์นครพิงค์ขึ้นจนได้ ด้วยการทำตัวอย่างทางแถบที่ท่านอาศัยอยู่ ด้วยการเก็บขยะมูลฝอยให้สะอาด แล้วนำมาใช้ใหม่ ก่อนที่ recycle จะเป็นแฟชั่นกันเสียอีก ทั้งท่านยังร่วมกับกัลยาณมิตร เข้าหาพระเจ้าพระสงฆ์ ระงับการสร้างรถไฟฟ้าที่จะขึ้นไปทำลายดอยสุเทพเสียได้ โดยมีท่านเจ้าคุณพระโพธิรังษีแห่งวัดพันตองเป็นองค์อุปถัมภ์ที่สำคัญ ดังที่ท่านเคยร่วมงานกับเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ แห่งวัดทองนพคุณ ทางธนบุรี ให้ทุกวัดในจังหวัดนั้นได้อนุรักษ์ศิลปกรรมไว้ได้อย่างน่าชื่นชม แม้จะในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก็ตามที

          คุณศิริชัยจบสถาปัตยกรรมศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และไปเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยคอแนล แล้วกลับมาสอนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนไปสอนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในบั้นปลายแห่งชีวิต

          คุณศิริชัยมีความสันโดษเป็นเจ้าเรือน มีวิถีชีวิตอันเรียบง่ายและอย่างงดงาม มีความสุขร่วมกับคุณอายาโกะ ภรรยาชาวญี่ปุ่นคนเดียวของท่าน ซึ่งมีเวลาให้กับดนตรีไทยอย่างน่าชื่นชม ทั้งสองมีบุตรีร่วมกันหนึ่งคน นับเป็นครอบครัวน้อย ๆ ที่มีความสุขตามอัตภาพ และเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยการให้และการรับใช้ชุมชนและบ้านเมือง อย่างปิดทองหลังพระ มาแทบจะโดยตลอด

          คุณศิริชัยเกิดที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ เพียงเลยงานวันเกิดอายุ ๗๗ ปีไปเพียงสามวัน ก็สิ้นอายุขัยลงที่เชียงใหม่เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๗ กำหนดปลงศพที่จังหวัดนั้น ณ วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๔๗ แม้ญาติมิตรจะอาลัยรักถึงท่านกัน แต่อีกไม่นาน ใคร ๆ ก็จะพากันลืมท่านไป ตามวิสัยของโลกธรรม แต่คุณความดีของท่านจะดำรงคงอยู่ชั่วนิรันดร์ และท่านจะไปสู่สุคติอย่างไม่พึงที่จะสงสัย สมกับคำของอังคาร กัลยาณพงศ์ ที่รจนาไว้ว่า

ศิริชัย ศิริสยามท่ามฟ้าสถาปัตย กรรมเอย
หนาวปรโลกพรากพลัดโลกแล้ว
เสวยวิเศษแห่งทิพยอุบัติภพใหม่ ทิพย์เทอญ
มนต์มิ่งไอศวรรย์แก้วเพริศแพร้วเกษมศานต์ฯ

          เนื่องในงานปลงศพคุณศิริชัยที่เชียงใหม่นั้น ข้าพเจ้ามอบเรื่อง ภูฐาน สวรรค์บนดิน ให้เจ้าภาพแจกเป็นของชำร่วย เพราะคุณศิริชัยฉายภาพประกอบทั้งเล่ม และเป็นเพื่อนร่วมเดินทางไปกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเชื่อว่าบัดนี้คุณศิริชัยขึ้นสวรรค์พ้นแผ่นดินไปแล้วด้วยซ้ำ หากใครต้องการหนังสือเล่มนี้ ยังมีจำหน่ายอยู่ ราคาเล่มละ ๑๔๐ บาท อนึ่ง เมื่อคุณศิริชัยแสดงนิทรรศการภาพเขียนครั้งล่าสุดในชีวิต ณ สยามสมาคมนั้น ท่านก็ได้มอบภาพจิตรกรรมไว้ให้ข้าพเจ้า ๒–๓ ภาพ ดังได้นำมาลงหลังปกหนังสือเล่มล่าสุดของข้าพเจ้าด้วย ชื่อ พุทธศาสนาไทยและประชาธิปไตยไทย จากมุมมองของ ส. ศิวรักษ์ รวมทั้งบทวิเคราะห์เจาะลึก ส.ศ.ษ. ซึ่งอุทิศให้คุณศิริชัย ใครจะซื้อหนังสือเล่มนี้ และ/หรือซื้อรูปเขียนฝีมือคุณศิริชัยที่มอบให้ข้าพเจ้าไว้ก็ได้ เงินทั้งหมดจากการนี้จะรวมตั้งเป็นกองทุน ศิริชัย นฤมิตรเรขการไว้ที่เสมสิกขาลัย เพื่อภิกษุสามเณรและรูปชีที่ยากจน จะได้รับการศึกษาทางเลือกได้อย่างไม่ต้องมีปัญหาในเรื่องค่าเล่าเรียนและอื่น ๆ หรือใครจะบริจาคร่วมกับกองทุนนี้ ข้าพเจ้าก็ยินดีรับในนามมูลนิธิเสฐียรโกเศศ–นาคะประทีป ซึ่งอาจลดภาษีได้ด้วย ติดต่อข้าพเจ้าได้ที่

          สวนเงินมีมา ๖๖๖ ถนนเจริญนคร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ๑๐๖๐๐
           โทร. ๐๒–๘๖๐๑๒๒๑ โทรสาร ๐๒– ๘๖๐๑๒๗๗ e–mail: –net.net.th ....

 
หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :