เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๑
กรกฎาคม - กันยายน ๒๕๔๗

เสขิยบุคคล
ส.ศ.ษ.

ฟิลิป กาโปล

 

ทางฝ่ายนิกายเซนของญี่ปุ่นนั้น เรียกพระอาจารย์เจ้าผู้สามารถประสิทธิประสาทอุบายวิธีให้ศิษย์เข้าถึงภาวนามัยปัญญา ว่า โรชิ (Roshi) ซึ่งจริง ๆ แล้ว แปลว่าผู้เฒ่า ผู้ชรา หรือหลวงตา เท่านั้นเอง แต่เป็นถ้อยคำที่ถือว่าเป็นเกียรติสูงส่งในวงการศาสนา ผู้ที่จะได้รับสมญาดังกล่าว จะต้องได้รับตราตั้งจากอาจารย์ของตน ซึ่งรับสืบทอดต่อ ๆ กันมาจากองค์ปฐมปริณายก และปฐมปริณายกองค์แรกนั้นถือกันว่าได้แก่พระมหากัสสป ผู้ได้รับพรพิเศษมาจากพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังที่มีตำนานเล่าขานว่า พระศาสดาทรงชูดอกไม้ขึ้นท่ามกลางมหาสังฆสันนิบาต ซึ่งเงียบสงบอยู่โดยดุษฎี มีแต่พระมหากัสสปรูปเดียวที่เแย้มสรวลขึ้น เป็นเหตุให้เกิดประเพณีการถ่ายทอดพุทธธรรม โดยไม่ต้องใช้พระพุทธวัจนะ

          เซน เป็นภาษาญี่ปุ่น เพี้ยนมาจากคำจีนว่า จัน หรือญาณ ในภาษาสันสกฤต เพราะนิกายนี้ถือเอาการนั่งภาวนาอย่างเข้าฌานเป็นกิจวัตรพิเศษ และพระเถระรูปแรกจากอินเดียที่นำเอาอุบายวิธีนี้ไปสั่งสอนที่จีนเป็นองค์แรกคือท่านที่จีนเรียกว่า ตั๊กม้อ หรือท่านโพธิธรรม ซึ่งถือว่าเป็นปฐมปริณายกของจีน

          สังฆปริณายกนั้น ที่จริงน่าจะเรียกว่าพระคณาจารย์มากกว่า เพราะท่านไม่มีหน้าที่ในการนำคณะสงฆ์หรือบริหารการคณะสงฆ์ หากท่านเน้นในการสอนศิษย์ และเมื่อเห็นว่าศิษย์รูปใดมีดวงตาเห็นธรรม หรือตรัสรู้อย่างต้น ๆ (Satori) จนเห็นว่าจะเป็นครูอาจารย์แนะนำภาวนาวิธี ให้ศิษย์ได้อย่างไม่หลงทาง ย่อมมอบตราตั้งให้ โดยที่ในสมัยโบราณถึงกับมอบบาตรและสังฆาฏิเอาเลย แต่ต่อมานักพรตญี่ปุ่นพากันมีภรรยา แต่ก็ยังเป็นพระอาจารย์เจ้าได้ จึงมอบตราตั้งให้ บางทีก็มีผ้าคล้องคอ คือย่นย่อมาจากสังฆาฏินั้นแล

          ผู้ที่ได้รับตราตั้งเช่นนี้ เรียกกันว่า โรชิ ดังที่ทางญี่ปุ่นแยกอาจารย์ที่สอนวิชาทางโลกว่า เซนเซ หรือซินแส นั้นแล

          ฟิลิป กาโปล เห็นจะเป็นโรชิอเมริกันคนแรก ที่เพิ่งเสียชีวิตไป เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗ ส่วนโรชิร่วมสมัยกับท่านที่ยังมีชีวิตอยู่ในบัดนี้ คือ โรเบิร์ต เอตกิน แห่งเกาะฮาไวอิ อายุ ๘๐ ปีเศษแล้ว

          ฟิลิป กาโปล เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ จากครอบครัวของคนยากจน บิดาเป็นกรรมกร หากตัวเขาฝึกฝนจนได้เป็นนักข่าว เขียนรายงานการขึ้นศาลอย่างตรงไปตรงมา ถึงขนาดได้รับการเชื่อถือในแวดวงของผู้พิพากษา อัยการ และทนายความ

          ครั้นเมื่อเสร็จสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้ว มีการตั้งศาลอาชญากรสงครามขึ้นที่เมืองนิวเรนเบิร์ก ในสหพันธรัฐเยอรมัน กาโปลได้รับเชิญให้ไปทำข่าวที่นั่น ต่อมา มีการตั้งศาลทำนองเดียวกันที่กรุงโตเกียว เขาก็ได้รับเชิญให้ไปรายงานข่าวที่นั่นอีกเช่นกัน และ ณ ที่นั่นเอง ที่เขาสนใจลัทธินิกายเซนของญี่ปุ่น จนฝึกฝนสมาธิภาวนาตามแบบนี้ โดยอยู่ที่ประเทศนั้นต่อไปถึง ๑๓ ปี

          ในกรณีของ โรเบิร์ต เอตกิน นั้น ถูกจับเป็นเชลยอยู่ที่ญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง แล้วได้อ่านงานเขียนทางกวีนิพนธ์ไฮกุของญี่ปุ่น จากข้อเขียนภาษาอังกฤษโดยคนอังกฤษ แล้วลองหัดภาวนาในคุก จนต่อมาเรียนสมาธิภาวนากับครูอาจารย์ชาวญี่ปุ่นอย่างจริงจังเป็นเวลาหลายปีด้วยเช่นกัน

          กาโปลเห็นว่าคนอเมริกันเริ่มสนใจพุทธศาสนานิกายเซน หากได้แต่อ่าน เช่น งานเขียนของ ดี ที ซูซุกิ (คนญี่ปุ่น) และ อลัน วัตต์ (คนอังกฤษ) ซึ่งไม่ใช่นักปฏิบัติธรรมทั้งคู่ เขาจึงขออนุญาตอาจารย์ชาวญี่ปุ่นของเขา เรียบเรียงเรื่องการปฏิบัติธรรมของเซน แต่เมื่อเขายังอยู่ในประเทศนั้น จึงเกิดเรื่อง The Three Pillars of Zen ขึ้น นับเป็นตำราเล่มแรก ที่ช่วยให้ฝรั่งเข้าใจการปฏิบัติธรรมแบบเซน จนหนังสือนี้มีแปลออกเป็นถึง ๑๒ ภาษาแล้ว (น่าเสียดายที่ยังไม่มีในภาคภาษาไทย)

          ฟิลิป กาโปล กลับไปสหรัฐในปี ๒๔๙๙ ช่วยนำภาวนาให้คนจำนวนน้อย ๆ แล้วมีผู้ศรัทธายกที่ให้ได้สร้างศาสนสถานแบบเซนขึ้นเป็นแห่งแรก โดยคนอเมริกันเป็นผู้สอน ณ เมืองโรเชสเตอร์ ทางภาคเหนือของรัฐนิวยอร์ค

          คติพจน์ของท่านผู้นี้ที่ควรแก่การรับฟังคือ The object of gaining insight into the inner truth of things is really to qualify oneself for greater compassion to action in the world ซึ่งขอให้ผู้อ่านแปลกันเอาเอง

          เมื่อเกิดสงครามเวียดนามขึ้น ท่านติช นัท ฮันท์ ปลุกระดมพระญวนให้ขึ้นมาคัดค้านสงครามอย่างสันติ แต่ก็อยู่ในบ้านเกิดเมืองนอนไม่ได้ ท่านจึงออกไปปลุกมโนธรรมสำนึกของคนอเมริกัน ซึ่งท่านถือว่าคือต้นตอของปัญหาที่ทำให้สงครามในประเทศของท่านยืดเยื้อ ท่านเขียนหนังสือภาษาอังกฤษขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เรื่อง Zen Keys (ซึ่งมีแปลเป็นไทยแล้ว) ฟิลิป กาโปล เขียนคำนำให้ โดยที่เวลานั้นยังไม่มีใครรู้จักท่านนัท ฮันท์ เอาเลยก็ว่าได้

          ฟิลิป กาโปล เห็นว่าพุทธศาสนาควรมีบทบาททางสังคม เท่า ๆ กับมีบทบาทในการช่วยให้จิตใจงอกงามภายในด้วย

          เมื่อวันที่เกิดสงครามอีรักขึ้นนั้น ข้าพเจ้าได้รับเชิญให้ไปแสดงปาฐกถา ณ ศาสนสถานของท่านที่เมืองโรเชสเตอร์ แม้ท่านจะวางมือจากการสอนธรรมแล้ว แต่ท่านก็ยังร่วมภาวนากับศิษย์ เท่าที่โอกาสจะอำนวย นับว่าข้าพเจ้ามีโอกาสได้พบท่านเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในวันนั้น แต่ศิษย์ของท่านที่เป็นกัลยาณมิตรกับข้าพเจ้านั้นมีมากมายหลายคน เช่น เคนเนท คราฟต์ ผู้เรียบเรียงเรื่อง Eloquent Zen: Daito และ Early Japanese Zen และ Inner Peace, World Peace: Essays on Buddhism and Nonviolence และ ฮิว เคอร์แรน ซึ่งเชิญข้าพเจ้าให้ไปเป็นปาฐกเพื่อประเดิมการสัมมนานานาชาติ ว่าด้วยการสร้างสันติภาพในคริสตศตวรรษที่ ๒๑ โดยโยงใยสันติภายใน มาถึงสันติภาพนอก ณ มหาวิทยาลัยเมน แห่งสหรัฐฯ เป็นต้น ....

 
หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :