เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๑
กรกฎาคม - กันยายน ๒๕๔๗

ชีวิตกับความตาย
วรรณวิภา อัศวชัยสุวิกรม

วาระสุดท้ายของแม่

 

การจากไปของแม่อย่างเป็นธรรมชาติ เป็นแรงบันดาลใจให้เขียนบทความนี้ขึ้น เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างในสองมิติได้แก่ มิติ “ความแก่” หรือ “ชราภาพ” ซึ่งผู้คนพยายามหลีกหนี ถึงแม้ปัจจุบันจะนิยมใช้คำว่า “สูงอายุ” ก็เพียงช่วยให้รู้สึกดีขึ้น แต่ก็ไม่สามารถหนีพ้นความแก่ได้ อีกมิติหนึ่งคือ มิติ “ความตาย” ที่ทุกคนยอมรับว่ากลัว และพยายามจะหาวิธีต่ออายุการตาย บทความนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน ที่ได้มีโอกาสทำหน้าที่ของ “ลูก” และ “พยาบาล” ในการดูแลแม่ในช่วงเวลา ๒ ปีจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ผู้เขียนได้พยายามเรียงร้อยบทเรียนจากการดูแลแม่วัย ๘๙ ปี เรื่องราวชีวิตของแม่ และการช่วยให้แม่เข้าสู่วาระสุดท้ายของชีวิตที่บ้านด้วยความรักและความสงบ โดยสะท้อนให้เห็นมิติต่าง ๆ ในเชิงรูปธรรมมากที่สุด เพื่อให้ผู้อ่านสามารถประยุกต์ในการปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของผู้สูงอายุ และผู้ที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต ประโยชน์ที่พึงจะเกิดจากบทความนี้ ขออุทิศแด่คุณแม่อุไร อัศวชัยสุวิกรม

          ยังจำภาพที่แม่หกล้มเมื่อปี ๒๕๔๔ ข้อตะโพกเทียมเคลื่อนและต้องรักษาอยู่ในโรงพยาบาลเดือนเศษ แม่ออกจากโรงพยาบาลวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ และตัดสินใจมาอยู่ที่คอนโดมิเนียม ที่บางแสนกับผู้เขียนเป็นครั้งแรกหลังจากที่ได้ขอร้องแม่มาหลายครั้ง จึงรู้สึกดีใจมากที่จะได้ใช้ความเป็นพยาบาลวิชาชีพดูแลแม่ และตั้งปณิธานที่จะใช้วาระนี้เป็นโอกาสทองแห่งการบำเพ็ญบุญครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต

 

การปรับตัวและการรอคอย

          แม่ต้องใช้เวลาปรับตัวอยู่นานพอสมควรกับที่อยู่ใหม่ ด้วยอายุ ๘๘ ปีของแม่ ทำให้บางครั้งแม่สับสนเรื่องเวลา สถานที่ ลูกพยายามจัดสิ่งแวดล้อมให้แม่ได้เห็นท้องฟ้า ตะวัน เดือนเพ็ญ ทุกวันลูกจะต้องรีบกลับบ้านทันทีเมื่อเลิกงาน เพราะสงสารแม่ที่ต้องรอคอยการกลับบ้านของลูก ถ้ากลับช้าแม่จะวิตกกังวลไปต่าง ๆ นา ๆ ทั้งแม่และผู้ดูแลจะไม่สงบเลย เพราะแม่ต้องการให้ผู้ดูแลไปรอรับลูก ซึ่งก็ไม่ผิดอะไรกับลูกที่รู้สึกเครียดมากจากทั้งหน้าที่ตำแหน่งงานและกังวลเกี่ยวกับแม่เช่นกัน กลัวว่าถ้ามีสิ่งไม่คาดคิดเกิดขึ้นกับลูกเวลาที่ขับรถไปนิเทศงานหรือต้องเดินทางไปประชุมไกล ๆ แม่และผู้ดูแลจะทำอย่างไร มีอยู่ครั้งหนึ่งที่แม่คะยั้นคะยอให้ผู้ดูแลหมุนโทรศัพท์ไปบอกว่าปวดท้องมาก แต่พอลูกมาถึงบ้าน นั่งพูดคุยกับแม่สักครู่หนึ่ง แม่ก็บอกว่าไม่เป็นอะไรมาก ให้กลับไปทำงาน ได้เล่าเรื่องนี้ให้พี่สาวฟัง ยังหัวเราะกันว่าแม่คงต้องการทดสอบการเดินทางของลูก เพราะลูกบอกแม่ว่าสบายมาก ที่ทำงานลูกอยู่ใกล้แค่นี้เอง ห้านาทีก็ถึงบ้านแล้ว กลางคืนแม่ก็ไม่ยอมนอน แม่จะเรียกเป็นระยะ ๆ เกือบทั้งคืน เวลาผ่านไป ๓ เดือน อาการนอนไม่หลับ วิตกกังวล และอาการซึมเศร้าของแม่ทวีความรุนแรงขึ้น แม่ร้องไห้เกือบทุกคืน บางคืนจะนั่งข่มตาหลับที่เก้าอี้ และจะมาหลับสนิทอีกครั้งในช่วงเช้ามืด คิดว่าแม่คงจะเหงามากจนอยู่ในโลกของตัวเอง คิดถึงเรื่องราวในชีวิตวนเวียนอยู่เช่นนั้น ลูกน่าจะมีเวลาให้แม่มากขึ้น ในที่สุดจึงตัดสินใจขอลาออกจากตำแหน่งบริหาร เพราะตั้งใจแน่วแน่ว่าจะขอทำสิ่งที่ตัวเองเรียกว่า “ปริญญาชีวิต” โดยการดูแลแม่ให้ได้รับความสุขที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะต้องให้เวลาแม่มากขึ้น คิดว่าเวลาที่ลูกจะได้ตอบแทนพระคุณแม่เหลือน้อยนัก เมื่อเทียบกับเวลาในเรื่องอื่น ๆ

 

ความเหงาและว้าเหว่

          ความหลุดพ้นจากตำแหน่งบริหาร ช่วยให้ลูกไม่ต้องนั่งอยู่ในห้องประชุมจนดึกดื่น ในทางกลับกันทุกเย็นหลังจากอาบน้ำ ป้อนข้าวแม่แล้ว ลูกก็จะนั่งอยู่ข้าง ๆ แม่ ฟังแม่พูด คุยกับแม่ ยอมรับว่าหลายครั้งที่รู้สึกเบื่อเหมือนกันเพราะฟังซ้ำหลายรอบมาก บางครั้งเวลาเบื่อมาก ๆ ก็จะพูดอะไรไปที่สะเทือนใจแม่ ทำให้แม่คิดมาก เมื่อได้สติถึงรู้สึกเสียใจกับการกระทำเช่นนั้น ระยะหลังหากรู้ตัวว่าอารมณ์ไม่ดี ก็จะนั่งเงียบ ๆ อยู่กับแม่ อ่านหนังสือหรือดูทีวี แล้วปล่อยให้แม่พูดไปเรื่อย ๆ การฝึกสติให้รู้เท่าทันอารมณ์เบื่อของตัวเอง จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการช่วยควบคุมตนเอง ไม่ให้พูดหรือแสดงกริยาเบื่อซึ่งกระทบความรู้สึกของแม่

          การที่แม่ได้พูดคุยทุกเย็น แทบทุกเรื่องราวชีวิตของแม่ถูกถ่ายทอดออกมา มีทั้งทุกข์และสุข หลายเรื่องเป็นสิ่งที่ลูกหลานไม่เคยได้ยินได้ฟัง ทำให้ลูกฉุกคิดได้ว่าในชีวิตส่วนใหญ่ของแต่ละคน อาจจะลืมใส่ใจหรือให้โอกาสที่จะรับรู้เรื่องราวของกันและกัน เวลาผ่านไปแม่มีอารมณ์ดีขึ้นเป็นลำดับ เริ่มได้ยินเสียงหัวเราะของแม่อีกครั้ง ลูกรู้สึกมีความสุขมากที่ได้เห็นแม่มีพลังใจในการดำรงชีวิต แม่รับประทานอาหารเก่งขึ้น นอนหลับตอนกลางคืนได้ดีขึ้น ดูมีแรงมากขึ้น ลูกจึงฝึกให้แม่เดินโดยใช้ walker แรก ๆ ให้ลุกยืนและนั่งก่อน วันละ ๕–๑๐ ครั้ง แล้วจึงค่อย ๆ เดินโดยช่วยประคองอยู่ด้านหลัง ดูแม่จะอารมณ์ดีขึ้นเป็นลำดับ

          การมีโอกาสดูแลแม่ทำให้ลูกได้เรียนรู้ชีวิตหลายแง่มุมซึ่งหาไม่ได้ในตำราเล่มใด รู้สึกดีที่ได้อยู่กับแม่ แม่จะพูดเสมอว่าแก่แล้วเป็นภาระให้ลูกต้องเลี้ยงดู ก็จะคอยย้ำเตือนให้แม่รู้ว่าแม่ก็อยู่เป็นเพื่อนลูกเหมือนกัน หากไม่มีแม่ก็คงจะเหงามาก การได้เห็นความทุกข์ของแม่ที่เกิดจากจากการรอคอยลูกหลานมาเยี่ยมในแต่ละอาทิตย์ อาจพูดได้ว่าลูกเกือบจะสามารถซึมซับความรู้สึกเหงาว้าเหว่ที่แม่มี ลูกได้เรียนรู้ว่า การเผชิญกับความเหงาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตคน ลูกต้องฝึกตนและเตรียมตัวรับความรู้สึกนี้ให้ได้ ลูกบอกแม่ว่าเกิดเป็นคนไม่ว่าหญิงหรือชาย ต้องฝึกให้สามารถอยู่กับตัวเองได้ และต้องอยู่อย่างมีความสุขด้วย แม่ตอบว่าใช่ ตั้งแต่เล็กจนโต จำได้ว่าลูกไม่เคยได้ยินแม่พูดถึงความเหงาเลย ทุกคนที่มาเยี่ยมแม่ก็พยายามช่วยคิดว่าจะให้แม่ทำอะไรเพลิน ๆ แต่แม่ก็ไม่รู้สึกสนุกที่จะทำ อีกทั้งสังขารก็ไม่อำนวยให้ทำได้ สิ่งที่แม่ต้องการมากที่สุดคือ ลูกหลาน ญาติ และเพื่อนที่มาเยี่ยม

 

ภาพแห่งความทรงจำ

          แม่จะเล่าเรื่องราวซ้ำ ๆ อยู่ไม่กี่เรื่อง แม่เล่าเรื่องราวชีวิตที่เมืองจีนบ่อยมาก ความยากจน ความอดอยากที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องตายลงอย่างไม่มีศักดิ์ศรี ถูกหามไปทิ้งทับถมกันไว้ แม่เล่าไปก็ร้องไห้ไปและบอกว่ากลัว ดูเหมือนจะเป็นภาพที่ฝังอยู่ในความทรงจำจนยากที่จะลืมเลือน หลายครั้งที่ลูกต้องช่วยดึงความรู้สึกของแม่สู่สภาวะปัจจุบัน ลูกคิดว่าภาพเหล่านี้นี่เองเป็นสาเหตุให้แม่ไม่ยอมนอนตอนกลางคืน แต่จะมาหลับตอนใกล้รุ่ง เคยพูดคุยกับแม่ก็ทำให้รู้ว่าแม่กลัวจะนอนหลับไปแล้วหยุดหายใจ กลัวว่านอนอยู่คนเดียวไม่มีใครเฝ้า ด้วยเหตุนี้เองทำให้แม่เลือกที่จะนั่งหลับบนเก้าอี้โซฟา และทุกครั้งที่แม่นอนเตียง แม่ก็จะเรียกชื่อผู้ดูแลเป็นระยะ ๆ ลูกและผู้ดูแลจึงต้องให้ความมั่นใจกับแม่ว่ามีคนอยู่ด้วยตลอดเวลา ก็ทำให้แม่นอนหลับได้มากขึ้น

 

นั่งเป็นเพื่อน ฟังเรื่องราวชีวิต

          ทุกครั้งที่แม่มีอารมณ์เศร้าหดหู่ ลูกจะนั่งอยู่กับแม่และฟังแม่พูดถึงถึงเรื่องต่าง ๆ ที่แม่สามารถเล่าได้เหมือนกันทุกครั้ง หลายฉากชีวิตที่ดูเหมือนจะฝังอยู่ในความทรงจำจนยากจะเลือนหาย แม่เล่าแล้วเล่าอีก และถึงวันหนึ่งแม่ก็ค้นหาคำตอบได้เอง หนึ่งปีผ่านไปลูกไม่เห็นแม่ร้องไห้อีกเลย เสมือนความทุกข์ ความเจ็บปวดจากหลายเรื่องราวในชีวิตของแม่ได้เลือนหายไป ลูกไม่ได้ยินแม่พูดถึงอีกเลย

 

อยู่กับธรรมชาติ หาสิ่งที่ชอบ ค้นหาความทรงจำดีดี

          ด้วยในอดีตความที่แม่เป็นคนชอบปลูกต้นไม้ ลูกเริ่มทยอยหาต้นไม้มาปลูกเพื่อให้แม่ได้เห็นความงอกงามของต้นไม้แต่ละต้น เรื่องต้นไม้ที่ปลูกจึงเป็นหัวข้อหนึ่งที่ลูกได้สนทนากันเป็นประจำ เพื่อนสนิทคนหนึ่งได้มาเยี่ยมแม่และนำบทสวดคาถาทิเบตมาเปิดให้ฟัง ปรากฏว่าแม่ชอบมากและฟังทุกวันจนเทปเสียจึงไม่ได้ให้แม่ฟังอีก ผู้ดูแลชอบเปิดทีวีรายการเพลงลูกทุ่ง แม่ก็ชอบมากเช่นกัน แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งพบว่าแม่มีอาการกลัวและระแวงหลาย ๆ เรื่อง เช่นมีโจรผู้ร้ายเข้ามาในบ้าน ตอนแรกลูกคิดว่าเป็นอาการเลอะเลือนของผู้สูงอายุที่ลูกมักเข้าใจกัน แต่มาพบภายหลังว่า ทุกเรื่องล้วนมีเหตุมีปัจจัย ผู้ดูแลเปิดทีวีรายการละครน้ำเน่า ฉากการฆ่าฟันกัน ข่าวยาเสพติด ฯลฯ ล้วนแต่เป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับแม่ การไม่มีผู้คอยช่วยเหลืออธิบายหรือให้ความกระจ่างในแต่ละเรื่อง ทำให้คิดเข้าใจเองอยู่คนเดียว จึงต้องกำชับให้ผู้ดูแลเปิดเฉพาะรายการเพลงจังหวะสนุกครื้นเครง หรือรายการเกี่ยวกับธรรมชาติ ดูความน่ารักของสัตว์ รู้สึกแม่จะรักและผูกพันกับสุนัขมาก เพราะแม่เคยเลี้ยงหลายตัวที่บ้านพี่สาว แม่จำได้แม้กระทั่งชื่อสุนัขที่แม่เคยเลี้ยงเมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน แต่ที่คอนโดมิเนียมไม่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ แม่จึงได้เพียงแต่ดูรายการสารคดีและภาพยนตร์ที่มีสัตว์น่ารัก

 

ช่างมันเถอะ

          จากการที่ได้มีเวลาพูดคุยกับแม่ทุกวัน ฟังแม่เล่าเกร็ดชีวิต นั่งเป็นเพื่อนแม่ทุกเย็น คอยบอกวันเวลาให้แม่รู้ รวมทั้งการจัดสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่นานนักทุกอย่างก็ดูดีขึ้นเป็นลำดับ แม่นอนหลับได้ดีตอนกลางคืน รับประทานอาหารได้มากขึ้น แต่ด้วยความชราภาพ และความผิดรูปทรงของกระดูกตะโพกทำให้แม่มีอาการปวดเวลาเดิน ระยะหลังแม่ไม่ยอมเดิน บอกว่าแก่แล้ว ช่างมันเถอะ และแม่ก็ไม่ต้องการไปโรงพยาบาลอีกแล้ว เมื่อแม่ยืนยันเช่นนี้ก็จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย ต่อมาแม่ก็ไป ๆ มา ๆ ระหว่างกรุงเทพฯ และบางแสน

 

เตรียมสู่วาระสุดท้ายของชีวิต

          แม่กลับมาอยู่คอนโดมิเนียมที่บางแสนครั้งสุดท้ายได้ ๙ วันก็ขอให้พาไปบ้านพี่สาวคนโตซึ่งเป็นบ้านที่แม่ผูกพันอยู่ใกล้ญาติพี่น้องและเพื่อน ๆ ของแม่ อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นย่านที่แม่คุ้นเคยที่สุด แม่เริ่มรับประทานอาหารได้น้อยลง ๆ โดยไม่มีอาการเจ็บป่วยแต่อย่างไร และไม่ยอมไปโรงพยาบาล ต่อมาเหลือเพียงขอจิบน้ำเต้าหู้และน้ำผลไม้ ลูกกลับไปดูแลแม่ ๓ คืนก่อนที่แม่จะละสังขาร สังเกตเห็นว่าแม่ปฏิเสธอาหารทุกอย่าง และพูดชัดถ้อยชัดคำว่าขอน้ำเต้าหู้ และลูกพลับเท่านั้น จำได้ว่าคืนนั้นเป็นวันพฤหัสที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๔๖ แม่นอนจับมือลูกไว้และนอนหลับได้ดีตลอดทั้งคืน วันศุกร์แม่เริ่มมีลมหายใจกลิ่นผิดปกติ นอนเพ้อ เป็นพัก ๆ เมื่อแม่รู้สึกตัวก็พยายามพูดคุยกับแม่ เพื่อให้แม่หมดความกังวล และถามว่า “แม่ต้องการจะให้ทำอะไรอีกไหม” “แม่ไม่ต้องเป็นห่วงใครแล้วใช่ไหม” “ใช่” คือคำตอบของแม่ ณ นาทีนั้นรู้สึกว่าแม่หลุดพ้นจากความวิตกกังวลและความกลัว ลูกสวดมนต์ที่แม่คุ้นเคยให้ฟังจนแม่หลับไป และถามแม่ว่าจะฟังบทคาถาทิเบตที่แม่ชอบไหม แม่ตอบว่า “เอา”

 

คืนสู่ธรรมชาติอย่างสงบ

          วันอาทิตย์เพื่อนนำเทปบทคาถาทิเบตมาแต่เช้า แม่ชอบฟังมากและหลับได้เป็นพัก ๆ ลูกหลานและญาติพี่น้องทุกคน เวียนมาคุยกับแม่ จับมือคล้ายจะอำลากันเป็นครั้งสุดท้าย แม่ยังรับรู้ทุกอย่างและพยายามจะพูด เสียงของแม่ค่อย ๆ แผ่วเบา ช่วงบ่ายทุกคนเห็นตรงกันว่า ควรให้แม่นอนอย่างสงบ บทคาถาสวด โอม มณี ปัทเม หุม ยังคงดำเนินไปเรื่อย ๆ พวกลูกนั่งสมาธิภาวนาให้แม่ละจากวัฏสังสาร ประมาณ ๕ โมงเย็นลูกวัดความดันโลหิตให้แม่เป็นครั้งแรกได้ ๗๐/๔๐ แม่อยู่ในท่าที่หลับสบาย สงบ เป็นคืนสุดท้ายที่ลูกได้นอนกับแม่ ๖ โมงเช้าของวันใหม่แม่ยังคงหลับสบายถึงแม้จะวัดความดันไม่ได้แล้ว หายใจเร็วขึ้น ๆ และจากไปอย่างสงบเมื่อเวลา ๙.๒๐ น. เสียงคาถา “โอม มณี ปัทเม หุม” ยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่งร่างของแม่ถูกเคลื่อนจากบ้านไปสู่วัด เพื่อประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา....

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :