เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๑
กรกฎาคม - กันยายน ๒๕๔๗

เหลียวมองเพื่อนบ้าน
ปภัสสร เธียรปัญญา

เที่ยวชม วัดและวัง ในลาว

 

ผมได้มีโอกาสไปสัมผัสลาว ๓ ครั้ง ครั้งแรกไปกับคณะทัวร์รอบอีสานไปแวะที่เวียงจันทน์แค่วันเดียว ครั้งที่สองไปกับคณะธรรมยาตรา..รักษาลำน้ำโขง ครั้งที่ ๑ มิ.ย. ๒๕๔๖ ครั้งที่สามไปเที่ยวเองในช่วงเวลาเดียวกันกับคณะธรรมยาตรา..รักษาลำน้ำโขง ครั้งที่ ๒ พ.ค. ๒๕๔๗ ขาขึ้นทวนน้ำจากเวียงจันทน์ไปห้วยทราย ครั้งสุดท้ายนี้ได้มีโอกาสเที่ยวชมวัด ต่าง ๆ ตามอัธยาศัย จึงอยากจะแบ่งปันประสบการณ์ความรู้ความประทับใจศิลปวัฒนธรรมลาวกับท่านผู้อ่าน

          เนื่องจากลาวเริ่มสร้างบ้านเมืองของตนเอง ตั้งมั่นลงในลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางที่เมืองหลวงพระบางก่อน จึงจะขอเริ่มจากวัดและวังในบริเวณหลวงพระบางและรอบ ๆ ที่น่าสนใจ แล้วจึงกล่าวถึงวัดในนครหลวงเวียงจันทน์

หลวงพระบาง

          เมืองหลวงพระบาง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงตรงลำน้ำคานสบกับแม่น้ำโขง แต่เดิมเป็นเมืองชื่อว่า เมืองซวา หรือเมืองซัว สันนิษฐานว่าเป็นของชนเผ่าขมุ ต่อมามีชื่อว่า เชียงดงเชียงคาน เพราะตั้งอยู่ระหว่างปากน้ำคานและน้ำดงไหลลงสู่แม่น้ำโขง และต่อมาเรียกชื่อเป็น เชียงดงเชียงทอง เพราะพ่อค้าชื่อจันทพานิชได้พบกองเงินกองทองที่เมืองนี้ตามคำทำนายของฤาษี ชาวเมืองจึงยกให้เป็นเจ้าเมืองและเปลี่ยนชื่อเมืองจากเชียงคานเป็นเชียงทอง อีกตำนานหนึ่งเล่าว่าเพราะมีต้นไม้ทองต้นใหญ่ที่นี่ก่อนตั้งเป็นเมือง หลังจากนั้นขุนลอผู้นำชนเผ่าไทลาวจึงยึดเมืองนี้ได้ และพระเจ้าฟ้างุ้มมหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๘๔๖-๑๙๑๕) ได้รวบรวมดินแดนแถบนี้ตั้งขึ้นเป็นอาณาจักรล้านช้าง มีเมืองเชียงดงเชียงทองเป็นเมือหลวง ในสมัยพระเจ้าวิชุลราช (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๐๔๓-๒๐๖๓) ได้เชิญพระบางจากเมืองเวียงคำ ในแขวงเวียงจันทน์ปัจจุบัน ขึ้นไปประดิษฐาน จนกระทั่งพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๐๙๓-๒๑๑๕) ได้ย้ายเมืองหลวงลงไปตั้งอยู่เมืองเวียงจันทน์ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๓ แต่คงเหลือพระบางไว้ จึงเรียกว่า เมืองพระบาง หรือเมืองหลวงพระบาง หมายถึง เมืองหลวงของพระบาง

          พระบางเป็นพระพุทธรูปโลหะผสมทองแดงทองคำและเงิน เป็นทองคำถึง ๙๐% ปางห้ามญาติ ศิลปะสมัยบายน ก่อนสมัยสุโขทัยเล็กน้อย สูง ๒ ศอก น้ำหนัก ๓๔.๔ กิโลกรัม พระเจ้าปรมัตถเขมราช กษัตริย์เขมรได้พระราชทานให้พระเจ้าฟ้างุ้มมหาราช ซึ่งเป็นพระราชบุตรเขย นำมาสักการะที่อาณาจักรล้านช้าง ใน พ.ศ. ๑๙๐๒ ระหว่างทางขณะแวะพักที่เมืองเวียงคำ แขวงนครเวียงจันทน์ พระบางได้แสดงปาฏิหาริย์ ไม่ยอมเสด็จไปยังเมืองเชียงทอง (หลวงพระบาง) ได้มีความพยายามหลายครั้งทั้งทางเรือและทางบกที่จะนำพระบางไปยังเมืองเชียงทอง ในที่สุดพระเจ้าวิชุลราชได้เชิญเอาพระบางจากเมืองเวียงคำขึ้นไปประดิษฐานไว้นครเชียงทอง (หลวงพระบาง) ได้สำเร็จ เบื้องต้นเอาประดิษฐานไว้วัดมโนรมย์ ภายหลังสร้างวัดวิชุลสำเร็จแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๗ จึงได้อันเชิญเอาพระบางไปประดิษฐานไว้วัดวิชุล

          พระบางนี้เคยอยู่เมืองไทยถึงสองครั้ง ครั้งแรกในสมัยกรุงธนบุรี ตีได้ลาวเป็นเมืองขึ้น แล้วอัญเชิญพระแก้วมรกตกับพระบางมายังกรุงธนบุรี ภายหลังรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ส่งพระบางคืนไป ครั้งที่สอง ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เจ้าอนุวงศ์เป็นขบถ กองทัพสยามได้เผาเมืองเวียงจันทน์และอัญเชิญพระบางมาที่กรุงเทพฯ พอถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ มีข่าวลือว่าพระบางเป็นเหตุให้ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกิดความอดอยากแห้งแล้ง จึงได้อัญเชิญพระบางกลับไปยังหลวงพระบางตามเดิม ชาวลาวจึงถือกันว่าพระบางเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ในช่วงบุญปีใหม่ (สงกรานต์) ก็จะอัญเชิญออกมาจากพระราชวังเก่าให้ประชาชนกราบไหว้บูชาและสรงน้ำเพียงปีละครั้งเท่านั้น

ภูษีและวัดพระธาตุจอมษี

          ภูษีเป็นยอดเขาใจกลางเมืองหลวงพระบาง สูง ๑๕๐ เมตร เป็นจุดชมวิวที่ดีที่สุดในหลวงพระบาง โดยเฉพาะในตอนเย็น มีบันไดขึ้น ๓๒๘ ขั้นจากหน้าพระราชวังเก่า ตามทางมีต้นจำปา (ลั่นทม) ดอกไม้ประจำชาติของลาว และมีต้นไม้ให้ความร่มรื่นตลอดทาง ภูษี เดิมชื่อ ภูซวง (ภูสรวง) ต่อมามีฤาษีอาศัยอยู่ จึงเรียกว่า ภูษี มีความหมายว่า ภูเขาของพระฤาษี

          ในบางครั้งจะได้ยินเสียงตีกลอง ซึ่งเป็นประเพณีสืบทอดกันมาแต่โบราณ จะตีกลองทุก ๑ ชั่วยาม (๓ ชั่วโมง) โดยเชื่อกันว่า ถ้าไม่ตีกลอง ยักษ์จะลงมากินคนหมด เพราะยักษ์คิดว่าไม่มีพุทธศาสนาแล้ว ไม่มีศีลธรรมแล้ว เพราะยักษ์ถูกฝังด้วยอาคมอยู่ในภูษี ตราบใดที่ยังมีเสียงกลอง มีคนถือศีลในวันพระ ศาสนายังอยู่ ยักษ์ก็ออกมาไม่ได้

          บนยอดภูษีมีพระธาตุจอมษี หรือจอมศรี ชาวเมืองเรียกว่า ธาตุหลักเมือง เพราะถือว่าภูษีเป็นจุดเริ่มสร้างเมืองหลวงพระบาง พระธาตุจอมษีกว้างด้านละ ๑๐ เมตร สูง ๒๑ เมตร ฐานเป็นรูปแปดเหลี่ยม ทรงสูงยอดแหลมคล้ายดอกบัวตูม มีเศวตฉัตรทองสำริด ๗ ชั้น ๔ อันประดับอยู่โดยรอบ ปิดทองเหลืองอร่ามมองเห็นได้แต่ไกล เป็นจุดเด่นของเมืองหลวงพระบาง

          ภูษีเหมาะที่จะขึ้นมากินลมชมทิวทัศน์ยามเย็น เพราะด้านหลังพระธาตุภูษีมีทิวทัศน์กว้างขวางที่สวยงามมาก ตั้งแต่สนามบินด้านซ้าย ลำน้ำคาน ถนนในเมือง ตัวเมืองทั้งหมด จนถึงลำน้ำโขงด้านขวา มีฉากหลังเป็นแนวภูเขาสลับซับซ้อน เมืองหลวงพระบางส่วนใหญ่ยังมีต้นไม้เขียวชอุ่มปกคลุมอยู่มาก ด้านหน้าพระธาตุภูษีมองเห็นพระราชวังเก่าอยู่เบื้องล่างริมลำน้ำโขง สายน้ำโขงสะท้อนแสงยามเย็นระยิบระยับ น่าดูจริง ๆ บรรยากาศสดชื่นแจ่มใสเป็นอย่างยิ่ง

          ตามทางลงจากภูษีไปทางด้านลำน้ำคานจะพบวัดถ้ำภูษี มีพระกัจจายน์ และรอยพระบาทบนก้อนหินในหลุมขนาดเล็ก สุดทางเดินจะลงไปถึงวัดศรีพุทธบาท ซึ่งทะลุออกไปยังย่านบ้านเจ๊กได้

          กลุ่มวัดที่อยู่ในบริเวณภูษีนี้ สมัยก่อนคงเป็นวัดป่ากัมมัฏฐานมานานแล้ว ภูษีเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมประเพณีและมิ่งขวัญของชาวนครหลวงพระบางตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีคำกล่าวติดปากชาวบ้านกันมาว่า “ไปเยี่ยมนครหลวงพระบาง ถ้าไม่ได้ขึ้นดูภูษี หรือว่าไม่ได้ขึ้นไปไหว้พระธาตุจอมษี ก็เท่ากับว่าไม่เห็นนครหลวงพระบางอย่างแท้จริง”

พระราชวังเก่า หรือ
หอพิพิธภัณฑ์หลวงพระบาง

          พระราชวังเก่าตั้งอยู่ระหว่างภูษีกับริมแม่น้ำโขง แต่เดิมเป็นพระราชวังหลวงของเจ้ามหาชีวิต ปัจจุบันเป็นหอพิพิธภัณฑ์ประจำเมืองหลวงพระบาง ผ่านประตูพระราชวังเข้าไปด้านขวาจะเป็น หอพระบางหลังใหม่ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียวสร้างอยู่บนเนินเล็ก ๆ รูปทรงเหมือนกับวิหาร มองเห็นถึงความพยายามที่จะสร้างให้สวยอย่างสุดยอดตามแบบอย่างของศิลปะลาว แต่ฝีมือก็ยังเทียบกับวัดเชียงทองสุดยอดศิลปะลาวไม่ได้ แม้จะก่อสร้างมาแล้วหลายปีแต่จนถึงปัจจุบันหอพระบางนี้ก็ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์

          ด้านซ้ายของทางเดินที่หน้าอาคารสองชั้นหลังหนึ่ง มีอนุสาวรีย์ของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ในท่าพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชน สร้างให้โดยสหภาพโซเวียต ดูบึกบึนเข้มแข็งเหมือนกับลักษณะของอนุสาวรีย์ในประเทศสังคมนิยมทั้งหลาย

          ตรงด้านหน้าตามทางเดินเป็นตัวอาคารพระราชวัง เป็นอาคารสองชั้นแบบฝรั่งสมัยอาณานิคมที่เรียกกันว่าโคโลเนียล รัฐบาลฝรั่งเศสสร้างถวายเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ สมัยที่ฝรั่งเศสปกครองลาว มองจากด้านหน้าจะเห็นรูปช้างสามเศียรสัญลักษณ์ของราชอาณาจักรลาว ถัดหน้าจั่วไปเป็นหลังคายอดปราสาทครอบอยู่ บางคนจึงเรียกว่าเป็น “ฝรั่งใส่ชฎา” ด้านหน้ามีบันไดกว้างขึ้นสู่ชั้นสอง ก่อนอื่นต้องเลี้ยวซ้ายไปจ่ายค่าเข้าชมและฝากของ เพราะห้ามถ่ายภาพทุกชนิด และถัดจากที่ฝากของไปด้านซ้ายเป็นห้องกั้นลูกกรง เป็นห้องที่สำคัญมาก เพราะเป็นห้องพระบาง ที่ประดิษฐานพระบาง พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของลาว

          นมัสการพระบางแล้วเดินมาเข้าประตูกลางไปเป็นห้องฟังธรรม มีธรรมาสน์ไม้แกะสลักและพระพุทธรูปแสดงอยู่มากมาย แสดงถึงศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างสูงส่งของเจ้ามหาชีวิตลาว ทางขวามือเข้าไปเป็นห้องพิธี หรือห้องรับแขกของเจ้ามหาชีวิต มีภาพวาดบนฝาผนังที่น่าดูมาก เป็นศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิสท์ของฝรั่งเศส แสดงวิถีชีวิตของชาวเมืองหลวงพระบางสมัยก่อนตั้งแต่เช้าจนค่ำ สีสันเน้นบรรยากาศของแต่ละช่วงเวลาได้งดงามมาก ห้องทางซ้ายมือเป็นห้องรับแขกของพระมเหสี แสดงของขวัญที่ได้รับมาจากประเทศต่าง ๆ

          ถัดจากห้องฟังธรรมคือ ท้องพระโรง แสดงราชบัลลังก์ไม้แกะสลักหุ้มทองและเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องสูง ๕ อย่างที่แสดงความเป็นกษัตริย์ คือ พระมหามงกุฎ (ไม่ได้แสดง อยู่ในตู้นิรภัย) พระขรรค์ (กระบี่) พระแสงของ้าว รองพระบาท และแส้จามรี ที่สวยงามมากคือฝาผนังท้องพระโรงเป็นสีแดง ประดับด้วยรูปภาพแสดงประวัติและชีวิตประเพณีของชาวเมืองหลวงพระบาง ด้วยกระจกโมเสกสีสันสดใสละลานตา

          ผนังด้านหลังมีเรื่องขุนบรม (บรรพบุรุษของลาว) ปู่เยอ ย่าเยอ (บรรพบุรุษของชาวหลวงพระบาง) และหมากเต้าปุง (คนเกิดจากน้ำเต้า) ด้านบนผนังด้านหลังบัลลังก์เป็นภาพขบวนแห่พระบางจากเขมรมาลาว ด้านซ้ายผนังด้านหลังเป็นภาพการฉลองพระธาตุหลวง บุญข้าวจี่เดือน ๓ บุญพระเวสเดือน ๔ ด้านขวาผนังด้านหลังเป็นภาพบุญสงกรานต์เดือน ๕ กับการแห่พระบางในบุญสงกรานต์ ผนังด้านบนเป็นภาพเรื่อง ขูลู่นางอั่ว ผนังด้านซ้ายเป็นภาพขบวนแห่เจ้าชีวิตไปทำบุญพระธาตุหลวง ผนังด้านขวาเป็นภาพบุญห่อข้าวประดับดินเดือน ๙ หรือบุญส่วงเฮือ (แข่งเรือในลำน้ำคาน) ผนังด้านตรงข้ามกับบัลลังก์จากซ้ายเป็นภาพบุญออกพรรษาเดือน ๑๑ ลอยกระทงในแม่น้ำโขง กับเรื่องพระลักษณ์พระราม (รามเกียรติ์)

          คาดว่าภาพโมเสกเหล่านี้ คงเป็นแหล่งบันดาลใจทางศิลปะให้แก่ช่างที่สร้างวัดเชียงทอง ที่มีรูปภาพประดับกระจกโมเสกแบบเดียวกัน มีคนบอกว่ามีผ้าปักลวดลายแบบกระจกโมเสกเลียนแบบที่นี่มีขายในตลาด แต่น่าเสียดายที่หาไม่พบ มีแต่ของชาวม้งที่ปักแบบนี้ แต่เป็นเรื่องราววิถีชีวิตของชาวม้ง ไม่เห็นมีใครทำวิถีชีวิตชาวหลวงพระบางเป็นแบบนี้บ้าง คงจะน่าดูมาก

          ด้านข้างของท้องพระโรงยังจัดแสดงเครื่องทองและพระพุทธรูปมีค่าอื่น ๆ ที่ได้มาจากวัดต่าง ๆ ในหลวงพระบาง น่าดูชมมาก พระพุทธรูปของลาวไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ไม่ว่าจะทำด้วยไม้หรือทอง จะให้ความรู้สึกแบบเดียวกันคือ ความสงบสุข นุ่มนวล เรียบง่าย ไม่มีความโอ่อ่าอลังการ เหมือนกับกำลังนั่งมองพระอริยบุคคลที่บำเพ็ญเพียรอย่างสงบเงียบอยู่ตามป่าเขาแถบอีสานหรือลาว อิ่มใจ สุขใจ แบบง่าย ๆ ตรงไปตรงมา และนี่ก็เป็นอีกเสน่ห์หนึ่งของลาว ที่สามารถสัมผัสได้จากวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของคนลาวทั่วไป

          ถัดจากท้องพระโรงเข้าไปเป็นห้องที่ประทับของเจ้ามหาชีวิต และอีกห้องหนึ่งของพระมเหสี ทั้งสองห้องช่างเรียบง่ายสมถะจริง ๆ ดูไม่เหมือนห้องบรรทมของระดับกษัตริย์เลย นอกจากนั้นบริเวณรอบ ๆ ห้องประทับทั้งสองจะรายล้อมด้วยห้องจัดแสดงเครื่องดนตรี เครื่องแต่งกาย และศิลปวัตถุอื่น ๆ ของลาว

วัดเชียงทอง

          วัดเชียงทอง ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงห่างจากลำน้ำคานประมาณ ๓๐๐ เมตร เป็นเพชรเม็ดงามแห่งหลวงพระบาง หรืออัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมลาว เป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวและสัญลักษณ์ของหลวงพระบางที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คงจะสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. ๒๑๐๒-๒๑๐๓ ก่อนที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจะย้ายเมืองหลวงลงไปนครเวียงจันทน์ เป็นวัดใหญ่และสวยงามที่สุดในหลวงพระบาง ได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้ามหาชีวิตของลาวมาทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะพระเจ้าศรีสว่างวงศ์และพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา

          พระอุโบสถ (ลาวเรียกพุทธสีมา หรือสิม) เป็นอาคารชั้นเดียว หลังคา ๓ ชั้นลาดต่ำลงมามาก ทำให้ดูมีลักษณะเตี้ย (ลาวเรียกว่าทรงแบบตัวเมีย) แต่กลับเป็นรูปแบบที่ลงตัวอ่อนช้อยงดงามเป็นอย่างยิ่ง รูปแบบนี้เป็นรูปแบบเดียวกันกับโบสถ์ทางภาคเหนือของไทยในสมัยอาณาจักรล้านนา ซึ่งก็ไม่น่าจะแปลกใจเพราะพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรง ครองราชย์ที่เมืองเชียงใหม่ ก่อนที่จะมาปกครองอาณาจักรล้านช้าง เพราะพระมารดาของพระองค์คือ เจ้านางยอดคำทิพย์ เป็นธิดาพระเจ้าพรหมราช เจ้าแผ่นดินเชียงใหม่ ที่ทรงอภิเษกกับพระเจ้าโพธิสาร เจ้าแผ่นดินอาณาจักรล้านช้าง พระบิดาของพระองค์ เมื่อพระองค์เจริญอายุได้ ๑๒ พรรษา พระเจ้าพรหมราชแห่งนครเชียงใหม่สวรรคต ไม่มีโอรสสืบบัลลังก์ พระองค์จึงต้องเสด็จไปครองราชย์อาณาจักรล้านนา และเมื่อพระราชบิดาสวรรคตลง พระองค์จึงต้องกลับมาปกครองอาณาจักรล้านช้างต่อไป เมื่อเสด็จกลับมานั้นได้ทรงนำเอาช่างฝีมือและผู้รู้จากอาณาจักรล้านนามาเป็นจำนวนมาก จึงจะเห็นได้ว่ามีหลายอย่างที่หลวงพระบางเหมือนกับเชียงใหม่

          หน้าบันพระอุโบสถเป็นไม้แกะสลักลงรักปิดทอง ประตูทำเป็นประตูโขง บานประตูแกะสลักสีทองพื้นแดง ฝาผนังโบสถ์ด้านในและด้านนอกเป็นลวดลายปิดทองฉลุบนพื้นรักสีดำ (Stencil Techniques) ที่ดูขลัง ฝาผนังด้านในด้านหนึ่งเล่าเรื่องท้าวจันทพานิชกับต้นไม้ทอง อีกด้านหนึ่งเป็นพุทธประวัติตอนมารผจญ พระประธานองค์โตเหลืองอร่าม เรียกว่า พระองค์หลวง ด้านข้างมีพระบางจำลองอยู่ในบุษบกหลังเล็ก ด้านบนตัวบุษบกมีรางน้ำต่อเข้ามาให้สรงน้ำจากข้างนอกได้ ผนังด้านนอกเล่าเรื่องท้าวสุทธโสม ส่วนผนังด้านหลังเป็นรูปต้นโพธิ์ บ้างก็ว่าเป็นต้นทอง ดูแล้วไม่เหมือนต้นโพธิ์ น่าจะเป็นต้นทองเข้ากับเรื่องต้นทองที่เป็นที่มาของเชียงทอง ที่เป็นทั้งชื่อวัดและชื่อเก่าของเมืองหลวงพระบาง พื้นเป็นสีส้มรูปต้นทองเป็นกระจกโมเสกดูอร่ามตาเวลาสะท้อนแสงแดด

          ด้านข้างพระอุโบสถมีหอไหว้น้อย มีหลังคาแบบใบโพธิ์ตัดครึ่ง ลวดลายประดับหลังคาเป็นลายพฤกษาสีทองแบบเก่าที่ละเอียดงดงาม ประดิษฐานพระปางห้ามญาติทองคำ ซึ่งพระมหากษัตริย์ไทยมอบให้แก่พระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์

          ด้านหลังหอไหว้น้อยมีหอไหว้สีกุหลาบ ซึ่งน่าดูมาก รูปร่างเป็นวิหารขนาดกะทัดรัด และสะดุดตาที่สุดคือฝาผนังสีชมพู ด้านหน้าเป็นสีทองบนพื้นชมพู ด้านอื่น ๆ ประดับกระจกโมเสกหลากสีเล่าเรื่องท้าวเสียวสวาด รูปแบบการประดับกระจกเหมือนกับในท้องพระโรงพระราชวัง สีสันอันสดใสสีทอง ส้ม และชมพูของวัดเชียงทองนี้ เป็นตัวอย่างการใช้สีสดที่เข้ากับบรรยากาศอันสว่างไสวของตะวันออก ที่เต็มไปด้วยแสงแดดอันอบอุ่น สร้างความรู้สึกที่มีชีวิตชีวา ต่างกับตะวันตกที่มักจะใช้สีที่กลมกลืนและออกบรรยากาศหม่นหมองของฤดูหนาวที่ไร้แสงแดด สร้างความรู้สึกที่สงบเงียบครุ่นคิด

          ด้านในหอไหว้สีกุหลาบประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางไสยาสน์ สร้างในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เคยถูกฝรั่งเศสอัญเชิญไปอยู่กรุงปารีส และเจ้าสุวรรณภูมาทรงขอคืนมาได้

          ด้านหลังพระอุโบสถมีหอไหว้หลังใหญ่ เป็นหอไหว้เก่าที่บูรณะขึ้นใหม่ โดยกลุ่มช่างของเพียตัน ประดิษฐานพระม่าน (พระพม่า) ชาวหลวงพระบางนับถือไม่น้อยกว่าพระบาง ช่วงบุญปีใหม่ก็ถูกอัญเชิญลงมากราบไหว้บูชาและสรงน้ำเช่นเดียวกัน คงจะมาจากสมัยที่พม่าปกครองลาว

          โรงเก็บราชรถและพระโกศของพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ สร้างในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยรอบตัวโรงทุกด้านแกะสลักเล่าเรื่องรามเกียรติ์ทั้งเรื่องโดยจับเฉพาะเหตุการณ์ตอนที่สำคัญ แม้กระทั่งคันทวย หรือที่ค้ำยันชายคา ก็ยังเป็นลวดลายยักษ์ลิงจับกันเป็นคู่แต่ละอันไม่ซ้ำกัน ออกแบบโดยเจ้ามณีวงศ์และฝีมือแกะสลักโดยกลุ่มช่างของเพียตัน ช่างละเอียด นุ่มนวล และอ่อนช้อยมาก ที่สังเกตดูส่วนมากจะใช้ลวดลายที่ใกล้เคียงกับลายผักกูด ซึ่งเป็นลายที่มีหลักฐานบนเจดีย์พระธาตุพนม ที่ถือกันว่าเป็นศิลปสถาปัตยกรรมแบบลาวแท้ ๆ ที่งดงามมาก ไม่เป็นลายแบบเปลวไฟเหมือนลายไทยทั่วไป จึงทำให้เกิดความรู้สึกที่นุ่มนวลกว่าลายไทย ภายในมีราชรถปิดทองคำเปลวทั้งคัน ด้านหน้าเป็นนาคห้าเศียร บนราชรถมีพระโกศ ๓ องค์ องค์ใหญ่ตรงกลางเป็นของพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ องค์เล็กด้านหลังเป็นของพระราชมารดา และองค์เล็กด้านหน้าเป็นของพระเจ้าอา นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเก็บรวบรวมศิลปวัตถุทางพุทธศาสนาของหลวงพระบางด้วย

          เย็นวันหนึ่งผมมาดูวัดเชียงทอง ไม่ต้องเสียค่าเข้าชมเพราะคนเก็บกลับบ้านไปแล้ว ได้ยินเสียงพระสวดมนต์ในโบสถ์เลยเข้าไปนั่งฟังด้วย เป็นทำนองสวดแบบหลวงพระบางที่ไพเราะไม่เหมือนที่เคยฟังมาเลย เมื่อการทำวัตรเย็นจบลงได้สนทนากับพระเณรได้ข้อมูลที่น่าตกใจว่า ปัจจุบันในหลวงพระบางแต่ละวัดจะมีพระอยู่น้อยมากไม่เกิน ๕ รูป เช่นวัดเชียงทองเองมีเพียง ๓ รูป แต่จะมีเณรจำนวนมากตั้งแต่ ๑๐ รูปขึ้นไป เช่นวัดเชียงทองมี ๒๐ รูป มีคนลาวอธิบายให้ฟังว่าปัจจุบันคนลาวส่วนมากมาเป็นพระเพื่อเรียนหนังสือ จบแล้วก็สึกออกไปหางานทำ การศึกษาภาษาบาลีกับพระธรรมวินัยของสงฆ์ไม่ได้รับความสนใจ ส่วนในชนบทมีโรงเรียนน้อย ชาวบ้านนิยมฝากลูกมาเป็นเณรในตัวเมืองเพื่อได้เรียนหนังสือ ในหลวงพระบางพระบางวัดรับเณรไว้มากเกินไปจนชาวบ้านรับภาระเลี้ยงดูไม่ไหว เพราะแต่ละคุ้มบ้านจะอุปัฏฐากวัดประจำบ้านของตนเอง เจ้าอาวาสจะรับเณรเข้ามาเพิ่มต้องตกลงกับชาวบ้านก่อน ถ้าชาวบ้านเลี้ยงไม่ไหวก็รับไม่ได้ ถ้าจะรับเจ้าอาวาสก็ต้องหาเงินมาเลี้ยงดูเอง เช่นที่วัดมโนรมย์ ในลาวพระสงฆ์ยังไม่มีแนวทางบทบาทในการทำงานพัฒนาสังคมที่ชัดเจน ปัญหาการขาดแคลนพระสงฆ์ก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น

วัดใหม่

          วัดใหม่สุวรรณภูมาราม ชาวบ้านเรียกว่า วัดใหม่ ตั้งอยู่ใกล้กับพระราชวังเก่า แรกสร้างโดยพระเจ้าอนุรุท ในปี พ.ศ. ๒๓๓๗ วัดนี้มีความสำคัญในฐานะเป็นที่ประทับของสังฆราชลาวองค์สุดท้ายคือ สมเด็จพระสังฆราชบุญทัน เมื่อลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ได้หนีมาฝั่งไทย และสิ้นพระชนม์ที่โรงพยาบาลสงฆ์ในกรุงเทพฯ และเคยเป็นที่ประดิษฐานของพระบางในสมัยพระเจ้าสักรินทร์ (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๔๓๑-๒๔๔๘) ปัจจุบันก็ยังเป็นที่อัญเชิญพระบางมาประดิษฐานเพื่อสักการบูชาและสรงน้ำในวันบุญปีใหม่ (สงกรานต์)

          ตัวโบสถ์เป็นอาคารขนาดใหญ่หลังคา ๕ ชั้น มีชายคาปิดคลุมลงมาทั้ง ๔ ด้าน เป็นสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะพิเศษของหลวงพระบาง ฝาผนังด้านหน้าเป็นปูนปั้นปิดทองโดยฝีมือช่างเพียตัน เล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดก เหลืองอร่ามยาวเต็มฝาผนัง บางส่วนแสดงวิถีชีวิตของชาวบ้านเมืองหลวงพระบางอย่างน่าดู บานประตูโบสถ์เป็นรูปทวารบาลศิลปะแบบเชียงขวาง ตัวเทพผอม ๆ ยาว ๆ ผนังด้านในมีพื้นสีแดงชาดตกแต่งด้วยพระพิมพ์ปิดทององค์เล็ก ๆ นับหมื่นองค์ละลานตา พระประธานเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ชาวลาวเรียกว่า พระเอ้

วัดป่ารวก

          วัดป่ารวก (ลาวเรียกป่าฮวก) ตั้งอยู่เชิงภูษีตรงข้ามกับวัดใหม่ บริเวณวัดเห็นแต่ตัวพระอุโบสถทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เหมือนโบสถ์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ทั่วไป หน้าบันเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ สิ่งที่น่าชมเป็นอย่างยิ่งคือ ฝาผนังเรื่องพญาชมพูบดีที่วาดไว้สวยสดงดงามมาก แสดงวิถีชีวิตชาวหลวงพระบางที่เป็นเมืองศูนย์กลางการค้ากับจีน มีภาพกองคาราวานฬ่อของชาวฮ่อ ร้านค้า บ้านเรือน แสดงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวฮ่อ อีกที่หนึ่งแสดงกิจกรรมการทอผ้าอย่างครบวงจร มีการปั่นด้ายด้วย ฝีมือการวาดใกล้เคียงกับสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่ ๕ ของไทย ดูมีชีวิตชีวามาก โดยเฉพาะรูปสัตว์ทั้งม้าและแพะวาดได้ดีดูมีชีวิต ไม่คิดว่าหลวงพระบางจะมีภาพฝาผนังฝีมือดีอย่างนี้ด้วย กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรมของลาว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกรมศิลปากร ได้ร่วมกันอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมฝาผนังแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐

วัดวิชุล

          วัดวิชุลราช ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ห่างจากภูษีประมาณ ๓๐๐ เมตร เป็นวัดที่โปรดให้สร้างขึ้นโดยพระเจ้าวิชุลราช เมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๖ จึงตั้งชื่อวัดตามพระนามของพระองค์ เพื่อประดิษฐานพระบางที่อัญเชิญมาจากเมืองเวียงคำ พอผ่านประตูโขงหน้าวัดเข้าไปด้านซ้ายก็จะเห็น พระเจดีย์พระปทุม หรือพระธาตุดอกบัวใหญ่ ซึ่งชาวเมืองเรียกกันว่า พระธาตุหมากโม (แตงโม) เพราะมีรูปทรงคล้ายผลแตงโมผ่าครึ่ง ครั้งหลังสุดที่ทำการบูรณะพระเจดีย์ปทุมนี้ได้พบวัตถุมีค่าจำนวนมากมาย ซึ่งปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ที่พระราชวัง

          พระอุโบสถมีรูปทรงแบบไทลื้อสิบสองปันนา มีลักษณะเด่นคือตรงคอชั้นสองจะยกระดับสูงขึ้นไป ซึ่งมีพระอุโบสถหลายวัดที่เป็นแบบนี้ เช่น วัดธาตุหลวง และวัดปากคาน สะท้อนถึงจำนวนชาวไทลื้อในสังคมหลวงพระบางว่ามีมิใช่น้อย ตัวพระอุโบสถเคยถูกพวกจีนฮ่อที่บุกเมืองหลวงพระบางเผาทำลายมาแล้ว และบูรณะใหม่โดยความช่วยเหลือจากไทยในสมัย ร. ๕ บานประตูพระอุโบสถแกะสลักลวดลายศิลปะแบบเชียงขวาง ตัวเทพแขนขาลีบ ๆ ยาว ๆ แปลกตาไปอีกแบบ แต่ดูเหมือนของเขมรมากกว่า พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่เรียกว่า พระองค์หลวง ด้านหลังพระประธานเป็นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุจำนวนมากมาจากวัดร้างต่าง ๆ ในหลวงพระบาง มีหลายชิ้นที่น่าดู เช่น หงส์ไม้แกะสลักขนาดใหญ่ และศิลาจารึกอักษรธรรมล้านนา ที่จารึกได้ชัดเจนงดงาม คนที่ชอบงานศิลปะลาวสวย ๆ ห้ามพลาด

          ศิลาจารึกอักษรธรรมล้านนาที่วัดวิชุลนี้ เป็นหลักฐานว่า ครูบากัญจนอรัญญวาสี มหาเถระชาวเมืองแพร่ เป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อครั้งมาทำการคัดลอกคัมภีร์พระไตรปิฎกกลับไปยังเมืองแพร่ ใน พ.ศ. ๒๓๘๐ ปัจจุบันยังมีคัมภีร์ใบลานมากมายอยู่ที่วัดสูงเม่น จังหวัดแพร่

วัดเชียงม่วน

          วัดเชียงม่วนวชิรมังคลาราม อยู่ทางทิศเหนือของพระราชวังเก่า ทางเข้าอยู่แถวบ้านเจ๊ก ในวัดผมพบว่าเป็นที่ตั้งโครงการฟื้นฟูศิลปะสกุลช่างลาว ๒๐๐๒ หลวงพระบาง เป็นโครงการจัดอบรมศิลปะสกุลช่างลาวแขนงต่าง ๆ มีการวาด การปั้น การแกะสลัก ให้แก่พระสงฆ์ในหลวงพระบางเพื่อสามารถซ่อมแซมบำรุงรักษามรดกทางวัฒนธรรมด้วยตนเอง โดยการสนับสนุนของรัฐบาลนิวซีแลนด์ อาคารชั้นเดียวหลังด้านซ้ายพระอุโบสถเป็นสถานที่จัดอบรมตามโครงการ ตรงกลางเป็นห้องเรียน ด้านซ้ายเป็นห้องแสดงผลงานของผู้เข้ารับการอบรม ด้านขวามือเป็นสำนักงานโครงการ มีคนสอนเป็นฆราวาสชาวลาว พระเณรที่มาเรียนก็มาจากวัดต่าง ๆ ในหลวงพระบาง และยังมีมาจากจังหวัดน่านของไทยด้วย

วัดสังคโลก

          วัดสังคโลกตั้งอยู่กำแพงเมืองชั้นนอกประมาณ ๖ กิโลเมตร ไปทางใต้ของตัวเมืองหลวงพระบาง วัดนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของอาณาจักรล้านช้าง เพราะแห่งนี้แต่เดิมเป็นที่ตั้งหอไหว้ ผีฟ้า ผีแถน ซึ่งเป็นความเชื่อของคนลาวมาแต่ดั้งเดิม ซึ่ง ๓ ปีครั้ง เจ้าผู้ปกครองเมืองทุกหัวเมืองทั่วอาณาจักรล้านช้างจะต้องไปไหว้ผีฟ้าผีแถนอยู่ที่นี้

          ในสมัยพระเจ้าโพธิสารราช พระองค์มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ได้สั่งให้เอาที่ไหว้ผีฟ้าผีแถนและหอผีอื่น ๆ ไปเป็นสถานที่ทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะได้สร้างวัดสังคโลก (สวรรคโลก) นี้บนสถานที่ไหว้ผีฟ้าผีแถนใหญ่ประจำเมืองเชียงดงเชียงทอง นับแต่นั้นมา คนลาวก็ได้หันมาเชื่อถือศีลธรรมทางศาสนาพุทธเป็นวิถีชีวิตของสังคมประจำวันมากขึ้นเรื่อย ๆ

วัดเชียงแมน

          วัดเชียงแมนไชยเชษฐาราม ตั้งอยู่ฝั่งแม่น้ำโขงด้านทิศตะวันตกตรงกันข้ามกับเมืองหลวงพระบาง ต้องนั่งเรือข้ามฝากที่ท่าวัดเชียงแมน เป็นเรือติดเครื่องยนต์ลำเล็กนั่งได้ ๑๐ คน เรือจะรอคนเต็มลำแล้วจึงจะออกเรือ หมู่บ้านเชียงแมนมีลักษณะเป็นหมู่บ้านในชนบทอย่างแท้จริง

          พระอุโบสถมีลักษณะคล้ายกับวัดในเชียงใหม่ โดยเฉพาะซุ้มประตูโขงของพระอุโบสถ บานประตูแกะสลักไม้ปิดทองเรื่องพระเวสสันดรชาดก คันทวย ลวดลายประดับคล้ายกับแบบสมัยล้านนา มีความสง่างามน่าชม นอกจากนี้ยังมีผ้าพระบฏปักทองเป็นรูปพระพุทธเจ้าที่หาดูได้ยาก

วัดจอมเพชร

          จากวัดเชียงแมนเดินตามทางเลียบแม่น้ำโขงไปจะพบทางขึ้นวัดจอมเพชร มีเด็กหญิงสามคนนั่งอยู่ในเพิงริมทางขึ้นคอยเก็บค่าขึ้นชม พระอุโบสถวัดจอมเพชรกำลังอยู่ในระหว่างซ่อมแซม สิ่งที่น่าสนใจคือ ที่ตั้งของวัดจอมเพชรนี้เป็นจุดชมทิวทัศน์เมืองหลวงพระบางทั้งหมดจากฝั่งตรงข้ามที่ดีที่สุด ในช่วงเย็นแสงแดดจะส่องพระธาตุภูษีเปล่งปลั่งเหนือยอดภูษี งดงามน่าดูมาก

วัดล่องคูน

          ลงจากวัดจอมเพชรเดินตามทางริมแม่น้ำโขงไปอีก ทางจะแคบลง มีต้นไม้ขึ้นรกครึ้ม เหมือนกับกำลังเดินอยู่ในป่า ไม่นานก็ถึงสะพานปูนข้ามไปสู่วัดล่องคูน

          วัดนี้เป็นวัดที่เจ้ามหาชีวิตของลาวทุกพระองค์จะต้องมาบวชก่อนขึ้นครองราชย์ จึงเป็นวัดหลวงที่มีองค์ประกอบครบถ้วนและสมบูรณ์แห่งหนึ่ง โดยเฉพาะมีศาลาเดินจงกรม สันนิษฐานว่าแต่เดิมคงเป็นวัดป่ากัมมัฏฐาน สิ่งก่อสร้างในวัดนี้ล้วนแสดงถึงความประณีตสวยงามอย่างเรียบง่าย

          พระอุโบสถหลังเล็ก รูปทรงเตี้ยได้สัดส่วนดี หน้าบันฝีมือแกะสลักประณีตคงเป็นช่างหลวง มีลักษณะคล้ายกับศิลปะในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นของไทย ผนังข้างประตูพระอุโบสถมีภาพวาดเสี้ยวก้าง (ทวารบาลทหารจีน) อยู่คนละด้าน ฝาผนังพระอุโบสถก็มีภาพวาดทศชาติชาดกสวยงามน่าชม

          ที่วัดนี้ต้องเสียค่าเข้าชม คุณลุงคนเฝ้าชวนไปเที่ยววัดถ้ำ นำทางไปพร้อมกับถือมีดพร้าไปตัดต้นไม้ตามทางเดินให้ด้วย

วัดถ้ำ

          ถัดจากวัดล่องคูนไปตามทางแคบในป่าเลียบแม่น้ำโขงประมาณ ๓๕๐ เมตร ก็จะถึงวัดถ้ำ ตั้งอยู่ริมภูเขาที่ยาวเลียบไปตามลำน้ำโขง มีถ้ำที่ลึกมาก ทะลุออกไปอีกด้านหนึ่งของภูเขา ที่ปากถ้ำมีฐานที่เก็บรักษาพระพุทธรูปไว้หลายองค์และมีที่พระลานทำบุญตามประเพณี น่าเสียดายที่มีขโมยลอบเข้ามาตัดเศียรพระพุทธรูปองค์ใหญ่หน่อย ส่วนองค์เล็กก็จะถูกขโมยไปจนหมดสิ้น นอกจากนี้ก็มีเจดีย์สูงประมาณ ๒ เมตรองค์หนึ่ง เป็นที่บรรจุพระอัฐิของพระเจ้าสักรินทร์ ตามทางเดินในถ้ำมีห้องใหญ่บ้างเล็กบ้าง ที่น่าสนใจเป็นหินย้อยรูปนกอินทรีย์

วัดถ้ำติ่ง

          นั่งเรือจากหลวงพระบางขึ้นไปตามลำน้ำโขงประมาณ ๓๒ กิโลเมตรจนถึงปากแม่น้ำอู จะพบถ้ำติ่งอยู่ด้านซ้ายตรงข้ามกับปากอู เป็นถ้ำโบราณอยู่ในผาติ่ง มีชื่อปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ลาวตั้งแต่ปฐมกษัตริย์ลาวขุนลอยกทัพตามลำน้ำอูมาพักทัพที่ผาติ่ง พระเจ้าฟ้างุ้มมหาราชผู้สร้างอาณาจักรล้านช้างที่หลวงพระบางก็เคยยกทัพมาตั้งอยู่ผาติ่ง ถ้ำติ่งได้ชื่อมาจากหินงอกหินย้อยที่เกิดขึ้นในถ้ำ ซึ่งงอกเป็นติ่งห้อยย้อยลงมา

          ถ้ำติ่งมี ๒ ถ้ำคือ ถ้ำติ่งบนกับถ้ำติ่งล่าง ถ้ำติ่งบนเป็นถ้ำติ่งแต่ดั้งเดิม สันนิษฐานว่าแต่เดิมถ้ำติ่งคงเป็นที่บูชาบวงสรวงสรรพสิ่งที่ปกปักรักษาป่าเขาเถื่อนถ้ำต่าง ๆ ในบริเวณนั้น และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ชาวบ้านชาวเมืองนับถือกันมาแต่ดั้งเดิม ต่อมาในสมัยพระเจ้าโพธิสารราชทรงให้ประชาชนเลิกนับถือผีสางเทวดา ให้มานับถือพระพุทธศาสนาแทน ตั้งแต่นั้นถ้ำติ่งจึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนา มีการถวายพระพุทธรูป และตามประเพณีเดิมพระเจ้ามหาชีวิตของลาวซึ่งทรงประทับที่หลวงพระบาง จะต้องเสด็จมาประกอบพิธีสรงน้ำพระที่ถ้ำติ่งหลังวันสงกรานต์หรือวันปีใหม่ของลาวประมาณ ๒ ถึง ๓ วัน

          ทุกวันนี้ ถ้ำติ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่นักท่องเที่ยวจะต้องมาเมื่อมาถึงหลวงพระบาง ถ้ำติ่งล่างจะถึงก่อน เป็นถ้ำมีขนาดเล็กกว่าถ้ำติ่งบนที่มีขนาดกว้างขวางกว่ามาก มีพระพุทธรูปขนาดต่าง ๆ ทั้งเล็กและใหญ่มากมาย ประมาณกันว่า ๓,๐๐๐ กว่าองค์ ที่ถ้ำติ่งนี้พระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ ก็ถูกขโมยเหมือนกัน ทางเดินริมผาจากถ้ำติ่งล่างไปถ้ำติ่งบนมีบรรยากาศดีมาก เดินขึ้นไปพอเหงื่อออก ทัศนียภาพจากลำน้ำโขงไปถึงผาแอ่นปากอูก็งดงามยิ่ง...

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :