เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๑
กรกฎาคม - กันยายน ๒๕๔๗

ประยุกต์ธรรม
สุภาวดี หาญเมธี

เรียนรู้จากธรรมยาตรา รักษาลำน้ำโขง

คนทั้งโลกรู้จักแม่น้ำโขง ในฐานะแม่น้ำที่มีความยาวเป็นอันดับ ๑๐ ของโลก เป็นหนึ่งในแม่น้ำนานาชาติสายใหญ่ของทวีปเอเซีย

          คนไทยส่วนใหญ่รู้จักแม่น้ำโขงตั้งแต่เป็นนักเรียนชั้นประถม ในฐานะที่เป็นแม่น้ำสายยาวที่เชื่อมมาจากจีน เป็นพรมแดนกั้นระหว่างประเทศไทยกับพม่าและลาว ผ่านเข้าไปในกัมพูชาแล้วออกทะเลที่เวียดนาม

          หลายคนอาจรู้มากไปกว่านั้นว่า แม่น้ำโขงมีพันธุ์ปลากี่ชนิด ความแรงของกระแสน้ำจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้กี่วัตต์ จะขนส่งสินค้าในแม่น้ำนี้ต้องใช้เรือบรรทุกขนาดกี่ตัน ใช้เวลาแค่ไหน คิดเป็นต้นทุนเท่าใดเมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งด้วยเส้นทางอื่น สันใดตลิ่งใดที่เหมาะแก่การสร้างเมืองท่า ช่วงหุบเขาใดที่เหมาะแก่การสร้างเขื่อน

          ... ฯลฯ

          ใคร ๆ ก็สามารถ “เข้าถึงความรู้” ที่มีในโลกยุคข่าวสารได้โดยง่าย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าถึง “การตระหนักรู้ด้วยจิตใจ” ในสิ่งนั้น ๆ หากมิได้มีชีวิตที่เข้าไปเชื่อมโยงสัมพันธ์

          “รู้” จึงเป็นเพียงแค่ “รู้จัก”

          มิใช่ “รู้สึก” ...มิใช่ “ตระหนักรู้” และยิ่งมิใช่ “รู้จนผูกพันเป็นชีวิตวิญญาณหนึ่งเดียวกัน”

          ...คงเป็นอย่างที่ครูตี๋ – คุณนิวัฒน์ ร้อยแก้ว แห่งกลุ่มรักษ์เชียงของ ได้พูดไว้ว่า ไม่มีใครจะรู้จักแม่น้ำสายนี้ได้ดีเท่ากับคนที่อาศัยอยู่สองฟากฝั่งของแม่น้ำโขง ... คือคนที่กินดื่มอาบเล่น อาศัยทำมาหากินอยู่กับแม่น้ำสายนี้ทั้งชีวิต... พวกเขารู้ถึงกาละของการไหลบ่า จับได้ถึงจังหวะอันเชี่ยวกรากหรือหลากริน พวกเขาซาบซ่านในสัมผัสอุ่น–เย็น รู้ลีลาและอารมณ์ของแม่น้ำโขง พวกเขาซาบซึ้งในบุญคุณของแม่น้ำโขง ทั้งรักทั้งผูกพัน ...เพราะความสัมพันธ์นี้คือชีวิต

          พวกเขารู้ว่าเมื่อใด “แม่” ผู้อารีจะปรานีประทานความอิ่มหนำ ให้พวกเขาต้องรีบเร่งทำการผลิตรับผลที่แม่มอบให้ ...เมื่อใด “แม่” กำลังโกรธเกรี้ยวที่เขาต้องหลบลี้หนีหน้าไปก่อน ...และเมื่อใดที่แม่อ่อนล้า

 

คนอื่น ๆ แม้ไม่อาจรู้และรักแม่น้ำโขงได้มากมายเท่ากับคนริมโขง แต่ก็อาจเรียนรู้ที่จะรักได้ หากกระบวนการเรียนรู้ดีพอ

 

ขบวนธรรมยาตรา..รักษาลำน้ำโขง เป็นกิจกรรมที่ดิฉันเลือกเข้าร่วมโดยบังเอิญ เนื่องจากตกลงกับลูกชายวัยรุ่นไว้ว่าปิดภาคฤดูร้อน เราน่าจะมีกิจกรรมอะไรสักอย่างที่ได้ไปทำ ได้คิดค้นศึกษาไปด้วยกัน (ก่อนที่เขาจะโตจนไม่อยากไปไหนกับแม่อีก ??)

          เราเลือก “ธรรมยาตรา” หนึ่ง... เพราะเวลาประจวบเหมาะของทั้งสองฝ่าย สอง... เพราะดูแล้ว เป็นกิจกรรมที่เราสองคนจะได้เรียนรู้หลากหลาย น่าจะมีทั้งเรื่องธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องธรรมะในศาสนา ทั้งวัฒนธรรมสองฝั่งโขง ได้เชื่อมสัมพันธ์พี่น้องลาว–ไทย ทั้งการเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างเรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติ กับการใช้ชีวิตอยู่กับผู้คนที่มาจากต่างที่ต่างถิ่น

          อีกเหตุผลหนึ่งก็น่าจะเป็นการพักผ่อนอย่างสงบ หลังจากเหน็ดเหนื่อยกันทั้งคู่จากการงานของแม่ และจากการเรียนของลูก ชีวิตควรมีช่วงสงบนิ่งเสียบ้าง

          เหตุผลสุดท้ายที่ไปร่วมขบวน เป็นเหตุผลทางประวัติศาสตร์ส่วนตัวแท้ ๆ ดิฉันเคยไปกินไปนอนอยู่ริมแม่น้ำโขงหลายครั้ง สมัยที่เป็นทหารป่าหลัง ๖ ตุลา ๒๕๑๙ “หมู่บ้านก้อนตื้น” ริมแม่น้ำโขงคือที่พักพิงแนวหลัง ให้ได้ปลดเป้และปืน นอนคิดถึงบ้านอย่างไม่ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง ส่งใจผ่านดวงดาวระยิบระยับนับล้านบนท้องฟ้าที่มืดมิดไปถึงพ่อแม่พี่น้อง ได้นั่งล้อมวงกองไฟบนหาดทรายชายฝั่งคุยกันถึงเพื่อน ๆ ในเมือง ได้ร้องเพลงปฏิวัติคลอไปกับสำเนียงแห่งลำน้ำจนดาวรุ่งทอแสงบนขอบฟ้า ได้ซื้อน้ำตาลอ้อยที่หวานที่สุดในโลก (เพราะเป็นความหวานเพียงชนิดเดียวที่จะมีโอกาสลิ้มรสในป่า)

          ได้รำวงม่วนซื่นกับอ้ายน้องลาวที่ต้อนรับขับสู้ด้วยมิตรไมตรีอบอุ่นชุ่มเย็น...

          ดิฉันอยากไปสัมผัสบรรยากาศเก่า ๆ อีกสักครั้ง

          ...ยังไม่ได้เข้าใจ ลึกซึ้งหรือตระหนักในเรื่องราวของแม่น้ำโขง ดังที่ผู้จัดขบวนธรรมยาตราควรจะคาดหวังได้หรอกค่ะ... ???

 

ที่หมู่บ้านก้อนตื้น ชุมชนลาวลื้อที่ได้ชื่อบ้าน จากก้อนหินใหญ่กลางแม่น้ำโขง

          ข้างหน้า... ทุกสิ่งทุกอย่างเกือบไม่แตกต่างจากเมื่อ ๓๐ ปีก่อน ถ้าไม่เห็นรถไถหลายคันใต้ถุนกลุ่มบ้านไม้ทรงงามแล้ว ก็ดูราวกับว่ากาลเวลาได้หยุดนิ่ง ณ ที่ชายฝั่งโขงนั้น

          ชาวบ้านยังน่ารักเหมือนเดิม จากกระชุใบไม้ใส่ก้อนน้ำตาลอ้อยที่เคยมายื่นขายทหารป่าอ้ายน้องไทย คราวนี้เปลี่ยนเป็นผ้าซิ่นลายน้ำไหลของชาวลื้อ ที่เสนอขายอย่างซื่อ ๆ ไม่ตื๊อไม่ดัน ราคาแค่พอคุ้มค่าด้ายไหม ค่าแรงแทบไม่คิด

          ถ้ามีเวลา คงจะหาคนเฒ่าคนแก่หรือวัยกลางคนผู้ยังพอย้อนภาพทหารอ้ายน้องไทยกลุ่มใหญ่ ที่กะเร้อกะรังเอวอ่อนอ้อนแอ้น ไม่รู้ประสีประสา แม้แต่วิธีหาอยู่หากินกับป่าดงดอนในสมัยนั้นได้

          หากด้วยความเมตตาและประสาประชาชนหัวอกเดียวกัน ที่ต้องการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยสังคม ชาวก้อนตื้นได้เอื้ออาทรให้มิตรจิตมิตรใจ ที่พลพรรคเขต ๘ เชียงรายรุ่นนั้นคงจะนำมาเล่าขานเป็นตำนานได้ตราบสิ้นชีวิต

          ดิฉันก้มลงกราบลาพระประธานในวัดก้อนตื้น ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้มาเยือนอีก...

          แม้ประเทศชาติทั้งสองฝั่งในวันนี้ หลายอย่างจะไม่เหมือนวันก่อนโน้น แต่จิตวิญญาณของคน ไม่ว่าที่กรุงเทพฯ หรือชายฝั่งโขง ที่แสวงหาความถูกต้องดีงามในสังคม ..ยังเหมือนเดิม

          ได้เยี่ยมบ้านก้อนตื้นแล้วก็ถือว่าวัตถุประสงค์บรรลุไปแล้วหนึ่งข้อ

 

การเดินทางในขบวนธรรมยาตรา ที่กลุ่มเสขิยธรรมและกลุ่มรักษ์เชียงของจัดขึ้นนั้น เป็นไปอย่างเรียบง่าย

           แต่สอดสานด้วยความใส่ใจที่สัมผัสได้ชัดเจน

          การคัดเลือกเรือและนายท้าย การตระเตรียมข้าวปลาอาหารและอุปกรณ์เดินทาง แผนการเดินทาง องค์ประกอบของผู้ร่วมเดินทาง ต้องเรียกว่าสมบูรณ์แบบ ไม่คิดว่าการเดินทางจะสะดวกปานนี้ อาหารในเรืออร่อยทุกมื้อ ไม่ว่าจะเป็นข้าวกล้องกับน้ำพริกตาแดงปลาย่าง แกงไตปลาใส่ปลาแข้แม่น้ำโขงย่าง ผักกูดผัดกะทิ น้ำพริกหนุ่ม แคบหมู ฯลฯ ห้องน้ำห้องท่าที่เคยคิดกังวลก่อนมา กลับสบายสะอาดแถมมีลมโชยชื่นใจอีกต่างหาก

          พื้นทรายนุ่ม ๆ บนหาดแต่ละแห่งที่ถูกเลือกเป็นที่พักค้างแรม โอบล้อมด้วยแนวป่าเขาเขียวขจี แม้จะต้องเผชิญกับพายุฝน จนต้องเก็บเต็นท์หนีเข้าไปนอนเท้งเต้งในเรือ หลายต่อหลายครั้ง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้หมดอารมณ์กับการนอน กลับทำให้ตลอดการเดินทางมีชีวิตชีวาสนุกสนาน

          อากาศบริสุทธิ์ เย็น สบาย เป็นของขวัญจากแม่น้ำ ที่ต้องรีบสูดเข้าไปเพื่อฟอกปอด อันคราบคลั่กของคนเมือง

          ทิวทัศน์สองฟากฝั่งงดงามยิ่งนัก ภูชี้ฟ้าถิ่นเก่ายังตระหง่านเสียดฟ้า หมู่บ้านเล็ก ๆ ปรากฏตัวแทรกอยู่ตามชายป่าชายเขาและชายน้ำเป็นระยะ ๆ เมืองท่าอย่างปากแบ่ง ตั้งสงบรอต้อนรับเรือที่แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมเยือน

          เรือโดยสารขนาดกลางแล่นเลียบเลาะพลิ้วไปตามเกาะแก่งอย่างนุ่มนวล

          เป็นบรรยากาศของความผ่อนคลาย สงบและเป็นสุข

          นั่น...ได้บรรลุวัตถุประสงค์ไปอีกหนึ่งข้อ

 

แม่น้ำโขงสีทรายในเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่นายน้ำ–นายท้ายเรือหนุ่มลาวนาม “บุญมี” บอกว่า น้ำไม่มากไม่น้อยเกินไป เกาะแก่งกลางแม่น้ำที่ปรากฏตัวอยู่เป็นระยะ ๆ นั้นนับเป็นความรู้ใหม่ของดิฉัน ไม่เคยมีภาพมาก่อนว่าแม่น้ำโขงจะมีเกาะแก่งมากมายและใหญ่โตมโหฬารปานนั้น

          สำหรับนายน้ำ มันคือเครื่องเตือนใจให้นำเรือลำน้อยแล่นฝ่าไปอย่างมีสติระมัดระวังเป็นที่ตั้ง อย่าได้ประมาทเด็ดขาด ความประมาทคือทางแห่งความหายนะ พระวาจาครั้งสุดท้ายของพระพุทธองค์เตือนไว้เช่นนั้น ความรู้ในการพาเรือหลบเกาะแก่งคือสิ่งที่ถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ประสานกับชั่วโมงบินที่ต้องมาพร้อมกับการสังเกตเอาใจใส่ของหนุ่มฉกรรจ์ที่อยากเป็นนายน้ำ

          เกาะแก่งระเกะระกะเหล่านั้น กลายเป็นประกาศนียบัตร บ่งบอกว่านายน้ำคนไหนเชี่ยวชาญเพียงใด

          ธรรมชาติสร้างเกาะแก่งคู่มากับแม่น้ำโขงเพื่อให้เป็นที่พักพิงของพืชน้ำและปลาหลายชนิด ยามหน้าแล้งสาหร่ายได้เติบโตตามซอกแก่ง เมื่อน้ำมา มันกลายเป็นอาหารใต้น้ำของปลา ยามหน้าน้ำหลาก กระแสน้ำเชี่ยวกรากถูกเกาะแก่งรั้งทอนให้ลดความรุนแรงลง

          ธรรมชาติจัดการทุกสิ่งได้อย่างชาญฉลาด ในแบบที่มนุษย์ยากจะเข้าใจ

          ดิฉันเคยมองแม่น้ำโขงจากมุมบน เมื่อครั้งเดินทางไปหลวงพระบางด้วยเครื่องบิน ท่ามกลางผืนป่าและขุนเขากว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตานั้น ไม่มีสิ่งใดให้เห็นอีก นอกจากสายน้ำที่คดเคี้ยวไปมา มองดูเหมือนริบบิ้นสีทองที่คลี่ไปบนแผ่นพรมสีเขียว สวยงาม...

          ครั้นเมื่อขึ้นเรือมาเที่ยวนี้ ได้มองเห็นลำน้ำโขงในอีกระนาบหนึ่ง มุมมองก็เปลี่ยนไป

          ตัวเราอยู่ในเรือลำเล็ก มองจากสุดฟากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฟากหนึ่งนั้น ช่างกว้างใหญ่กว่าแม่น้ำสายใดที่เคยเห็น เกาะแก่งวังวนชวนให้พรั่นพรึง ภูผาป่าใหญ่ที่สูงชันขนานไปกับสายน้ำก็ชวนพิศวง ระคนครั่นคร้าม แม้แต่สายลมแรงพัดวูบให้เรือโคลงก็ชวนให้ใจระทึก

          ยามที่หย่อนกายลงในแม่น้ำ แม้ผิวน้ำจะอบอุ่นด้วยพลังแดดกล้าที่ส่องมาตลอดวัน แต่ลึกลงไปเพียงศอกก็สัมผัสได้ถึงความเย็นเยือกใต้น้ำ ในความอุ่นมีความเย็น ที่อาจเขย่าใจคนอยู่ไกลอย่างเรา ๆ ให้กลัวอยู่ลึก ๆ

          เรือขนาดบรรทุกผู้โดยสารได้ถึง ๕๐ คนแทบจะกลายเป็นเรือกระดาษ เมื่อเทียบกับความกว้างใหญ่ของสายน้ำ และความยิ่งใหญ่ของขุนเขาที่รายตัวขนานไปกับลำน้ำ

          เรือหางยาวบรรทุกคนสวมหมวกกันน็อคแล่นฉิวสวนไปมาเป็นครั้งคราว โดยมีเสียงคำรามของเครื่องยนต์นำมาก่อน ดังกึกก้องไปทั้งคุ้งน้ำ ดูคล้ายกับว่าเจ้าเรือจ้อยพยายามจะใช้เสียงย้อมใจตนเอง และข่มความยิ่งใหญ่ของสายน้ำ เพราะภาพตัวเรือที่ปรากฏขึ้นหลังเสียงคำรามก้องนั้น ดูกระจอกจ้อยเสียเหลือเกิน

          กลางแม่น้ำโขง มนุษย์นั้นกระจ้อยร่อยยิ่งนัก จะเป็นใคร สวมโขนแบบใด เมื่ออยู่ต่อหน้าแม่น้ำโขง ชีวิตของเราก็ขึ้นอยู่กับความเมตตาของแม่น้ำแน่แท้ทีเดียว

 

จากการเสวนา “แม่น้ำโขงในฐานะอู่อารยธรรม” กลางหาดทรายที่บ้านโคกกะ แขวงอุดมไชยในค่ำคืนที่ดาวหลบอยู่หลังก้อนเมฆ กลุ่มรักษ์เชียงของและกลุ่มเสขิยธรรมได้ทำให้เพื่อนร่วมทางและดิฉันเข้าใจกำเนิด ระบบนิเวศน์ ชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คน กับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงอย่างละเอียด สื่ออุปกรณ์ง่าย ๆ ที่พวกเขาตั้งใจทำขึ้น โดดเด่นชัดเจนกลางแสงเทียนริบหรี่ แววตาจริงจังที่ทอประกายฝ่าความมืดมิดของหนุ่ม ๆ เหล่านั้น กระทบใจของเราทุกคน

          พวกเขาเติบโตมาในอ้อมกอดของแม่น้ำโขง

          ชีวิตของพวกเขาเป็นหนึ่งเดียวกับแม่น้ำ มันไม่มีวันเป็นอื่น...มันไม่มีหนทางอื่น

          นอกจากพวกเขาจะต้องปกป้องรักษาแม่น้ำโขงไว้ เพื่อส่งต่อให้ลูกหลานต่อไป

          พวกเราได้เรียนรู้จากพวกเขาว่า แม่น้ำโขงมีเรื่องราวมากมายนัก มากกว่าเป็นเพียงแม่น้ำกั้นระหว่างไทย–ลาว–พม่า อย่างที่เขียนไว้ในหนังสือเรียน ผู้คนนับร้อยล้านคนเกี่ยวข้องสัมพันธ์อยู่กับ “ระบบและโครงข่าย” ของแม่น้ำโขง เฉพาะในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ก็นับหกสิบล้านคน

          ดังนั้น ถ้าใครกระทำสิ่งใดกับแม่น้ำโขง ก็คือการกระทำที่กระทบต่อคนนับร้อยล้าน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นการสร้างเขื่อนกักน้ำเพื่อสร้างพลังไฟฟ้า ๑๕ เขื่อนของจีน หรือการระเบิดเกาะแก่งเพื่อให้เรือสินค้า (ของจีน ??) สามารถขนส่งสินค้าได้มากขึ้น

          เราเข้าใจได้ไม่ยากว่า ถ้าเขื่อนทั้ง ๑๕ แห่งสร้างขึ้นครบตามแผนที่ประเทศจีนวางไว้ ปริมาณน้ำที่หายไปจากแม่น้ำโขงจะทำให้คนใต้น้ำอย่างกัมพูชาและเวียดนามเดือดร้อนสาหัสเพียงใด

          และยิ่งเข้าใจไม่ยากเลยว่า การระเบิดเกาะแก่งที่มุ่งหวังจะปรับแม่น้ำให้เข้ากับเรือนั้น จะสร้างหายนะแก่คนลุ่มน้ำโขงเพียงไร ช่างเป็นความคิดที่สิ้นท่าและบ้าสิ้นดี

 

ยอดขุนเขาลูกแล้วลูกเล่าที่สูงเสียดถึงปลายฟ้า คลุมด้วยสายหมอกแผ่นเมฆบาง ๆ ให้ความรู้สึกถึงความแน่นแฟ้นของมิตรสนิท – ขุนเขา แนวป่า กับแม่น้ำโขง โดยมีลำห้วยสายเล็กสายน้อยเป็นดั่งสายใยเชื่อมโยง

          ทั้งหมดนี้ ก่อเกิดเป็นภูมินิเวศน์เฉพาะของลุ่มแม่น้ำโขง ที่ซึ่งชีวิตของผู้คนนับล้านล้านได้ผูกพันพึ่งพิงมาหลายพันปี

          “ความเป็นแม่น้ำโขง” ไม่ว่าจะถูกเรียก “แม่น้ำล้านช้าง” ในสิบสองปันนา หรือ “แม่น้ำหลานชาง” ในประเทศจีน หรือถูกคนเวียดนามเรียกว่า “๙ มังกร” เมื่อแตกเป็น ๙ แขนงก่อนไหลลงทะเลจีนใต้... ได้ก่อกำเนิดอารยธรรม–วัฒนธรรมอันอุดมสมบูรณ์แก่กลุ่มชนอันหลากหลายในเอเซียอาคเนย์ ทั้งกำหนดวิถีการทำมาหากิน เครื่องมือการผลิตในแบบฉบับของลุ่มแม่น้ำโขง กำหนดวิถีความคิดความเชื่อที่แอบอิงอยู่กับความเป็นไปของธรรมชาติเป็นหลัก ตำนาน จารีตประเพณี กฎเกณฑ์ต่าง ๆ... ล้วนได้รับอิทธิพลจากการอยู่ในภูมินิเวศน์ของลุ่มน้ำโขงทั้งสิ้น

 

หัวค่ำที่หมู่บ้านหาดเต๊อะ แขวงอุดมไชย หมู่บ้านของนายน้ำบุญมี พระมหาเจิม สุวโจ กับหลวงพี่กิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ นำคณะขึ้นไปทอดผ้าป่า ถวายพระพุทธรูปองค์งาม ที่ชาวบ้านพนมมือท่วมหัวสาธุการว่า “งามแต้เน้อ ๆ ๆ”

          ขบวนผู้เฒ่าพายเรือข้ามมาทำพิธีรับพระพุทธรูป ที่หาดทรายซึ่งเรากางเต็นท์อยู่ฝั่งตรงข้ามของหมู่บ้าน โดยมีขบวนพระสงฆ์นำหน้า แสงเทียนจากลำเทียนแท่งใหญ่สว่างไสวส่องให้เห็นสีหน้าอิ่มเอิบของทุกคน ไม่ว่าเจ้าบ้านหรือผู้มาเยือน เสียงสวดมนต์กล่อมใจให้ปีติ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ชาวพุทธก็ภาวนาได้ด้วยภาษาเดียวกัน

          ...ภาษาแห่งธรรม

          หลังพิธีรับพระ ก็เป็นพิธีรับคน ขบวนอ้ายน้องไทยข้ามตามกลับไปที่หมู่บ้านเพื่อร่วมรำวงม่วนชื่นกับชาวหาดเต๊อะทั้งหมู่บ้าน เส้นฝ้ายสายสิญจน์จากเครื่องบายศรี พันรอบแขนของพวกเราทุกคน ควั่นเป็นเกลียวด้วยคำอวยชัยให้พรที่กลั่นมาจากใจ ซื่อใสและไพเราะอันพรั่งพรูเซ็งแซ่มาจากปากเหล่าผู้เฒ่าชายหญิงพร้อม ๆ กัน ทำให้พวกเราทุกคนซาบซึ้งใจจนน้ำตาคลอ

          แม่เฒ่าผลัดกันขึ้นขับลำนำด้นกันสด ๆ เป็นพรอันอ่อนหวาน ร้องรับต่อกันเป็นทอด ๆ

...เชิญท่านขึ้นอยู่แท่นแก้ว ...สบายดี...
เชิญท่านขึ้นอยู่หอคำ สุขสบายแท้เน้อ
เชิญท่านแล้ว ขอให้เพิ่นสู่สักเนา
ข้าน้อยจึงสุขแท้เน้อ...โห่ ฮิ้ว
... ... ...
ขอหื้อบุญช่วยค้ำ นำช่วยหนุน
ขอหื้อได้ดังคำปรารถนาแท้เน้อ
ขอหื้อสมความหวัง
ดังปรารถนา...โห่...ฮิ้ว...
ศรัทธาเอย ท่านผู้นั้นอายุยาวยืนมั่น
ขวัญลา...นี้อย่าได้ลา
ขอหื้อท่านขึ้นสู่สรวงสวรรค์ ...แม่ศรัทธาเอย

          ...อบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน พูดกันอย่างคนในครอบครัว

          เสียงเพลงรำวงรอบแล้วรอบเล่าคือลำนำสัมพันธ์ที่ร้อยรัดพี่น้องไทยลาวให้แน่นแฟ้น รำวงกันจนเหนื่อยเหงื่อตก แถมกลิ่นเหล้าเจือมาจาง ๆ เดือนคล้อยแล้วจึงทยอยกันโคลงเคลงข้ามโขงกลับมานอน

          รุ่งเช้า ทั้งเด็กน้อยและหนุ่มสาวผู้เฒ่าทั้งหมู่บ้าน ตั้งขบวนรอรับผ้าป่าอ้ายน้องไทยอย่างอบอุ่น กรวยใส่ดอกไม้ที่เด็ดมาจากแต่ละบ้าน จัดเรียงอย่างงาม ถูกยื่นให้แก่พวกเราเพื่อจะได้นำไปกราบพระด้วยกัน หนุ่มลาวไม่โห่แต่แม่ญิงลาวจะโห่ฮิ้วเสียงหวานและเร้าใจนัก เม็ดข้าวสารที่ผลิตจากไร่นาของอ้ายน้องลาวถูกโปรยขึ้นฟ้า เป็นเครื่องหมายของความอุดมสมบูรณ์ที่อวยพรแก่กัน

          พิธีทอดผ้าป่าดำเนินไปอย่างเรียบง่ายแต่สดใสกลางลานวัด ใต้ร่มมะตูม... ฝ่ายไทยทอดถวายพระพุทธรูปโลหะสีทองอร่าม หนังสือดีของไทยหลายสิบกล่อง เครื่องถ้วยชามเพื่อใช้ในกิจการของวัด พร้อมปัจจัยนับได้กว่าเก้าล้าน...กีบ

          หนังสือถูกแกะจากกล่องทันทีพร้อมถูกจับจองนั่งอ่านกันเต็มวง สื่อถึงความกระหายใคร่เรียนรู้และความขาดแคลน

          ฝ่ายลาวเลี้ยงดูปูเสื่อ แต่ละบ้านนำข้าวสารมานึ่งรวมกันเพื่อต้อนรับคณะคนไทย อาหารพื้นบ้านง่าย ๆ แต่เต็มไปด้วยน้ำใจมิตรไมตรี ล้อมวงกินไปคุยไป เราได้เรียนรู้ประวัติ ตำนาน เรื่องราวเล่าขานจากปากผู้เฒ่าซึ่งเต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา

          พ่อเฒ่าเล่าถึงถิ่นที่มีตำนานในลำน้ำโขง

          ...นางคำอยู่คกถ่อน นางดอนอยู่คกเฮือ นางผมเผืออยู่เหนอท่าช้าง ท้าวตกกวางขวางอยู่ปากคานท้าวทองจานอยู่ผาเดี่ยว ท้าวคำเปลวอยู่ผาเสือท้าวบุญเยืออยู่ผาช้าง...

          ภาษาวัฒนธรรมแบบแผนเดียวกัน หัวใจเป็นดวงเดียวกัน พ่อเฒ่ากล่าวต่อหน้าผู้ไทยผู้ลาวว่า “คนไทย คนลาวบ่รบกัน บ่ห่อนเป็นศัตรูกัน บ่ห่อนรบราฆ่าฟันกัน ถ้ารบราฆ่าฟัน มันจะผิดสัญญาแต่โบร่ำโบราณ”

          มิตรภาพประชาชนลาว–ไทยมั่นยืน

 

หลายคืนก่อนนอน และหลายรุ่งก่อนอาหารเช้า บนหาดทรายอ่อนนุ่ม พระภิกษุผู้นำทางทั้งสองรูปจะนำการนั่งภาวนาทำสมาธิ เชิญชวนให้หลายคนได้มาฝึกการทำใจให้หยุดนิ่งอยู่กับลมหายใจเข้า–ออกของตนเอง

          หายใจเข้า ...นำเอาสายลมบริสุทธิ์ของแม่น้ำโขงเข้าไปอย่างสำนึกรู้

          หายใจออก ...นำความรักความปรารถนาดีไปสู่เพื่อนมนุษย์และธรรมชาติลุ่มน้ำโขง

          หายใจเข้า ...เพิ่มพลังชีวิตด้วยการเรียนรู้สิ่งอันมีความหมาย

          หายใจออก ...จะใช้พลังชีวิตเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่า

          ลมหายใจเข้า–ออกสดชื่น เป็นการหายใจที่มีความหมาย หลังจากที่ความหมายของมันเลือนหายไปจากความนึกคิดมาเนิ่นนาน

 

ชีวิตคือการเดินทาง การเดินทางให้คุณค่าแก่ชีวิต แต่ก็ไม่ใช่ทุกการเดินทางที่ทำให้ชีวิตมีความหมายขึ้น

          คนส่วนใหญ่มาเยือนหลวงพระบางเพื่อมาสูดหากลิ่นไออันหอมหวนของอดีต เพราะว่ากันว่าหลวงพระบางคือเมืองทางเหนือทางอีสานของเราเมื่อสี่ห้าสิบปีก่อน มาดูเสียก่อนที่มันจะเปลี่ยนไป คนจำนวนมากมาเพราะรักเสน่ห์อันสงบสุขของหลวงพระบาง ...ไม่ต้องเอาอะไรมาก ขอแค่ได้กินเฝอกับกาแฟลาวยามเช้า ได้เดินเชยชมชื่นใจผ้าทอซำเหนือ ได้ถีบจักรยานไปรอบเมือง....แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว

          แค่นั้นก็มีความสุขจริง ๆ....

          แต่การได้รู้จักหลวงพระบาง ราชสำนัก วัดวัง ผ่านสายตาของนักวิชาการประวัติศาสตร์–รัฐศาสตร์อย่างคุณธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักศึกษาปริญญาเอก ในขบวนธรรมยาตราครั้งนี้ ช่วยให้มุมที่มองเมืองเก่ามรดกโลกแห่งนี้ลึกซึ้งขึ้น ครอบคลุมขึ้น ต่างจากครั้งก่อนที่เคยมาเองซึ่งเพียง “รู้ข้อมูล” และได้สัมผัสพอ “รู้สึก” แต่ไม่ “ตระหนักรู้”

          จากหลักฐานความเป็นมาแต่บรรพกาล การก่อตั้งแว่นแคว้นและการปกครองขึ้นอยู่กับภูมิศาสตร์เพื่อการอยู่รอดเป็นสำคัญ พัฒนาจนเป็นบ้านเมืองเวียงวัง ผ่านความรุ่งเรืองแล้วโรยรา ....ล้วนเป็นธรรมดา

          การเรียนรู้ประวัติศาสตร์มิใช่เพียงให้รับรู้ว่าได้เกิดอะไรขึ้น หากที่สำคัญกว่าคือได้คิดค้นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับสิ่งใด สภาพแวดล้อม ณ ขณะนั้นเป็นอย่างไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

          สำคัญกว่านั้นไปอีก คือ...ประวัติศาสตร์หน้านั้นให้บทเรียนอันใดแก่พวกเรา

          บ่อยครั้งที่มนุษย์เราในปัจจุบันไม่อาจทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์ กระทั่งไม่ยอมรับประวัติศาสตร์ ทั้งที่มันได้ผ่านไปแล้ว และนั่นทำให้ประวัติศาสตร์กลับมาหลอกหลอน ทำให้เราเป็นเหยื่อของมัน จนเราไม่อาจเดินข้ามไปสู่อนาคตได้

          การเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของหลวงพระบาง ยิ่งทำให้พวกเรามั่นใจในความเป็นบ้านพี่เมืองน้อง เป็นเทือกเถาเหล่ากอที่แยกกันไม่ออก

 

ระหว่างเดินทาง มีใครบางคนถามนายน้ำบุญมีว่า หากเขา (ทางการจีน ภายใต้การปิดปากเงียบของทางการไทยและทางการลาว) ระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงจริง ๆ เขาคิดอย่างไร

          บุญมีตอบด้วยสายตาแน่วนิ่งว่า “เฮาก็บ่ฮู้จะยะอย่างใด ฮู้แต่ว่าเฮาเกิดมากับน้ำโขง น้ำโขงเป็นชีวิตของเฮา ถ้ามันเปลี่ยนไปอย่างอื่น บ่ฮู้ชีวิตเฮาจะเป็นอย่างใด”

          คืนที่ห้าของการเดินทาง เราร่วมกันทำพิธีสืบชะตาลำน้ำโขง ที่หาดดอนเครื่อง บ้านปากตุง แขวงชัยบุรี

          แม้จะเป็นแรงปรารถนาอธิษฐานของคนเพียงสามสิบกว่าคน แต่มันคือเสียงสะท้อนแทนเสียงของผู้คนนับล้านล้านที่อาศัยพึ่งพิงอิงอยู่กับแม่น้ำโขง

          ...ขอให้มนุษย์ทั้งหลายได้ตื่นจากความไม่รู้ มาสู่ความรู้ มาเข้าใจ เคารพและเอื้อเฟื้อต่อวิถีการดำรงชีวิตของคนอื่น และเหนือกว่านั้นเคารพในธรรมชาติ....

          น้ำตาเทียนหยดน้อย ๆ หยดหยาดบนสายน้ำโขง ไหลลับไปในความมืดมิด

 

การเรียนรู้ชุดสุดท้าย ของขบวนธรรมยาตราจบลงที่นครเวียงจันทน์ ที่ซึ่งการเติบโตอย่างรวดเร็วลดทอนเสน่ห์ของเวียงจันทน์ไปไม่น้อย แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้การเดินทางไปเวียงจันทน์ของพวกเราขาดความหมาย เพราะจุดโฟกัสของขบวนฯ อยู่ที่การได้เยี่ยมเยือนหอสมุดมหาสิลา วีรวงส์ กับ พิพิธภัณฑ์ผ้าทอ “แถนแต่ง” ณ สวนไผ่พันกอ ของสองศรีพี่น้องปัญญาชนนักคิดนักเขียน อาจารย์ดารา กัลยา และอาจารย์ดวงเดือน บุนยาวง

          พิพิธภัณฑ์ผ้าทอของอาจารย์ดวงเดือน เล็ก ๆ... แต่คัดสรรงานได้น่าตื่นตาตื่นใจนัก คนชอบผ้าทั้งหลายเพียงเดินดูก็ต้องร้องอู้ฮูด้วยความตื่นเต้น ชื่นใจ หากเมื่อเจ้าของอนุเคราะห์เดินนำชมเอง กลับยิ่งทำให้ตื่นเต้นทวีคูณ เพราะแพรพรรณแต่ละผืนมีตำนานความเป็นมา ด้ายไหมแต่ละเส้นที่ถักทอขึ้นเป็นผ้าผืนงามบอกเล่าถึงประวัติของเจ้าของ วิถีความเป็นอยู่ ธรรมชาติรอบตัว ศรัทธา ความเชื่อ ความใฝ่ฝันและจินตนาการ

          ผืนผ้าลาวเป็นดั่งตำนานของความเป็นแม่หญิงลาว ผู้ซึ่งตั้งแต่ลืมตาเกิดก็ได้ยินเสียงหูกทอผ้าของแม่ ชีวิตทั้งชีวิตของพวกเธอผูกพันกับผืนผ้าและการ “ตำหูก” ไม่ว่ามันจะเป็นผ้านุ่งผ้าห่ม หรือผ้ากั้ง

          อาจารย์ดวงเดือนเล่าตำนานเหล่านั้นได้อย่างมีชีวิตชีวา ...เห็นไหมว่าในผ้าผืนนี้มีนกน้อยบินเป็นฝูงเป็นร้อยเป็นพัน นั่นนกหัสดีลิงก์ที่ตัวเป็นนกหัวเป็นช้าง นั่นนาคสองหัวเกี่ยวพันกันเป็นเกลียว ตรงนี้คือลายผักกูดชูยอด...

          การได้สดับตรับฟังจากผู้รู้จริง คือปีติสุขที่ควรแสวงหามาประดับชีวิต

          คืนนั้นเราตั้งวงเสวนากันอีกครั้ง ถึงสถานการณ์ของแม่น้ำโขง ที่นอกจากเพื่อนลาว–ไทยจะต้องช่วยกันกระจายเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับแม่น้ำโขงให้กว้างขวางออกไป ระดมความร่วมมือของคนลุ่มน้ำโขงให้กว้างขวางที่สุด อย่าให้มันเป็นอย่างที่ครูตี๋จากกลุ่มรักษ์เชียงกล่าวตัดพ้อคนอื่น ๆ เอาไว้ว่า “แม่น้ำโขงก็เหมือนของหลวง มีแต่คนใช้ประโยชน์ แต่ไม่มีใครรู้สึกว่าเป็นเจ้าของที่ต้องหวงแหนรักษา”

          สาย ๆ ของวันสุดท้ายที่เวียงจันทน์ เพื่อนมิตรทั้งลาว–ไทยและฝรั่งรักเมืองลาวอีกหลายคน มานั่งเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเต็มหอสมุดสิลา วีรวงส์ เรายังคุยกันเรื่องแม่น้ำโขง เส้นเลือดใหญ่ของแผ่นดินเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

          ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปกับแม่น้ำโขง หน้าที่ของเราทุกคนคือการทำความเข้าใจ เรียนรู้ และทำในสิ่งที่สำนึกของเราสั่งว่าควรทำ

 

วันของการเข้าร่วมขบวนธรรมยาตรากับกลุ่มเสขิยธรรม และกลุ่มรักษ์เชียงของ วัตถุประสงค์ทุกข้อของดิฉันและลูกบรรลุครบถ้วนบริบูรณ์

          คุณค่าที่ได้เพิ่มเติม...ดิฉันสามารถบอกกับตัวเองได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า รักแม่น้ำโขงเข้าแล้ว...

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :