เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๑
กรกฎาคม - กันยายน ๒๕๔๗

แด่... เจริญ วัดอักษร
แสงธรรม ชุนชฎาธาร
นักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ตีพิมพ์ครั้งแรกในมติชนรายวัน วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๗

 

แด่...พี่เจริญ วัดอักษร นักต่อสู้ผุ้ยิ่งยง

 

ข่าวการเสียชีวิตคุณเจริญ คงจะเป็นเพียงข่าวจากสื่อต่าง ๆ ที่ผ่านหูผ่านตาผมเพียงเท่านั้น หากว่าผมไม่เคยเรียกเขา เมื่อยามเขายังมีลมหายใจว่าพี่เจริญ หากว่าเขาไม่เคยต้อนรับคณะนักศึกษา ที่มีผมเป็นส่วนหนึ่ง เมื่อไปทัศนศึกษาที่ตำบลบ่อนอก หากว่า...เขาไม่เคยเอ่ยถึงเหตุการณ์ การต่อสู้ของชาวตำบลบ่อนอก ให้พวกเรานักศึกษาจากสังคมเมืองฟัง

          ความสัมพันธ์ของผมกับพี่เจริญ ไม่อาจนับได้ว่าเป็นความสนิทสนม ระยะเวลา ๒–๓ วัน ที่ผมรู้จักกับพี่เจริญไม่สามารถทำให้เรารู้จักกันดี จนอาจเรียกได้ว่าสนิทสนม แต่เวลาเพียงเท่านั้นหละ ที่พี่เจริญได้แสดงให้พวกเรารู้ซึ้งถึงจิตวิญญาณของเขา จิตวิญญาณที่ยืนหยัดเพื่อต่อสู้กับอำนาจมืด จิตวิญญาณที่เรียกร้องสิทธิของชาวชุมชนบ่อนอก

          บอกตรง ๆ ว่าก่อนมาผมรู้สึก “แปลก” กับอุดมการณ์ของชาวบ่อนอก แต่การฟังการบรรยายของพี่เจริญ ท่ามกลางลมทะเลยามราตรี ค่ำคืนนั้นเป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกอย่างแท้จริง ถึงปัญหาที่ชาวบ่อนอกประสบ นอกจากคำว่า “โรงไฟฟ้าบ่อนอก” ที่ได้เห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ โดยมิรู้ความหมายที่แท้จริง

          พูดกันอย่างไม่อายเลยว่า การไปบ่อนอกครั้งนั้นของผมเป็นไปอย่างกึ่งบังคับ

          ที่ว่ากึ่งบังคับก็คือ มีอิสระที่จะไปก็ได้ ไม่ไปก็ได้ ตามใจผม แต่ว่ามันมาบังคับก็ตรงที่ ถ้าไม่ไปก็ไม่มีคะแนนในวิชานี้ ก็เท่านั้น ผมจึงจำใจโบกมือลาผับที่ทองหล่อ แล้วก็จำยอมเดินทางสู่บ่อนอก แต่เมื่อไปถึงครัววาฬน้อย ของพี่เจริญ มันดีกว่าที่ผมคิด บรรยากาศที่อิงธรรมชาติแต่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้ผมตะลึงกับความงามของธรรมชาติ

          ผมคิดว่าถ้าผมไม่ได้มาครั้งนี้ ผมจะได้สัมผัสบ่อนอกอีกทีก็ต้องที่รีสอร์ตของนายทุนขึ้นกันเป็นดอกเห็ด ฝุ่นจากโรงไฟฟ้าคลุ้งอยู่ในบรรยากาศ น้ำทะเลเต็มไปด้วยคราบน้ำมัน และชายหาดอุดมไปด้วยสสารที่เรียกว่าขยะ วิถีชีวิตของชุมชนชาวบ่อนอกคงกลายเป็นสังคมเมืองเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขัน

          และตอนนั้นผมก็คงไม่ได้รู้จักพี่เจริญเป็นแน่ (ตอนนั้นพี่เจริญคงนอนอยู่บนสวรรค์อย่างสำราญบานใจ เพราะคงไม่มีใครอุตริริสร้างโรงไฟฟ้าในสวรรค์ให้พี่เจริญต้องเหนื่อยกับการต่อต้านอีกแน่)

          และผมคงไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชาวบ่อนอกต่อสู้กันอย่างไร

          ขอบคุณอาจารย์จริง ๆ ที่สั่งแบบกึ่งบังคับให้ไปบ่อนอก

          พี่เจริญบอกกับพวกเราว่า เขารู้ตัวเสมอว่าเขาเป็นคนมีค่าหัว การเป็นแกนนำชาวบ้านไปต่อต้านโรงไฟฟ้าบ่อนอกนั้น เป็นการกระทำที่ไปขวางทางปืนใครหลายคน ที่สำคัญเป็นปืนกระบอกโตอีกทั้งยังไม่ใช่ปืนกระบอกเดียว แต่พี่เจริญและชาวบ่อนอกก็ยังคงตั้งมั่นต่อสู้อยู่เช่นเคย แม้ว่ารู้ถึงอันตรายของมัน ผมสงสัยว่าทำไม ? เพราะเขาอยู่อย่างมีความหวัง และพี่เจริญก็เสียชีวิตไปแล้วอย่างมีความหวัง

          พี่เจริญครับ ผมเชื่อว่า แม้ร่างกายพี่จะตายไปแล้ว แต่จิตวิญญาณ อุดมการณ์ของพี่ไม่ได้ตายไปด้วย มันยังคงอยู่กับชาวบ่อนอก มันยังคงอยู่กับกลุ่มคนที่ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมทั่วประเทศไทย...และทั่วโลก แล้วจะมีคนสานต่ออุดมการณ์ของพี่เอง

          ผมนึกถึงสุภาษิตจากหนังสือกำลังภายในบางประโยค “ลูกผู้ชายมีบ้างพึงกระทำ มีบ้างไม่พึงกระทำ” ยินยอมเป็นหยกแหลกราญ ก็ไม่ยอมเป็นกระเบื้องที่สมบูรณ์ นี่แหละคือตัวตน คือจิตวิญญาณของพี่เจริญ วีรบุรุษของชาวบ่อนอก แม้ว่าวันนี้ และวันต่อ ๆ ไป ผมจะยังคงหลงฟุ้งเฟ้ออยู่กับ แสงไฟเสียงเพลง น้ำอำพัน ควันบุหรี่ อยู่บ้างแต่ผมรู้สึกได้ว่า บางสิ่งในชีวิตผมมัน “ตื่น” ขึ้นแล้ว หลังจากหลับใหลมาตลอดชีวิต

          ผมอยากให้นาฬิกาเรือนนี้ มาปลุกพวกเราที่อยู่ในแสงสีให้ตื่นขึ้นด้วยเช่นกัน ไม่ใช่หวังว่าให้ไปตะโกนเย้ว ๆ เรียกร้องเพื่อสิทธิของชาวบ้าน โบกมือลาความฟุ้งเฟ้อของวัตถุนิยมที่โอบล้อมตัวพวกเราอยู่ ผมไม่ได้หวังเช่นนั้น เพราะรู้ว่าตัวเองก็ทำได้ยาก ไม่มีความกล้าหาญพอ ผมเพียงแต่ต้องการให้ “พวกเรา” “ตื่น” คือตระหนักว่าสังคมยังมีคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

          และถ้าเราตื่นจากประชาธิปไตยปลอม ๆ ที่มันคอยพรางตาเราอยู่ สิ่งที่พี่เจริญทำมาตลอดชีวิตคงไม่สูญเปล่า....

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :