เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๑
กรกฎาคม - กันยายน ๒๕๔๗

แด่... เจริญ วัดอักษร
อวยพร แต้ชูตระกูล

ลาแล้ว...เจริญ วัดอักษร

 

          เดิมทีเดียวนั้น เจริญ วัดอักษร และภรรยาคือ กรณ์อุมา พงษ์น้อย หรือ “กระรอก” เป็นเพียงคู่สามีภรรยาที่มีอาชีพทำไร่สับปะรด และรับซื้อพืชไร่ ในพื้นที่บ้านบ่อนอก ต.บ่อนอก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นบ้านเกิด แต่ด้วยนิสัยส่วนตัวของทั้งคู่ที่มีพื้นฐานรักความเป็นธรรม จึงเข้าร่วมขบวนการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก ขนาดกำลังผลิต ๗๓๔ เมกะวัตต์ มูลค่า ๓๒,๐๐๐ ล้านบาท ของบริษัทกัลฟ์พาวเวอร์เจเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งเข้ามาแจ้งเกิดในพื้นที่บ่อนอกโดยปราศจากการรับรู้ของชาวบ้าน ห้วงเวลานั้น ผู้นำการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอกคือผู้นำชาวบ้านในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น ธนู หินแก้ว ลูกชายอดีตกำนัน รวมทั้งอดีตผู้ใหญ่บ้าน สำราญ เฟื่องฟุ้ง

          การคัดค้านของชาวบ้านในยุคเริ่มต้น มีการร่วมชุมนุมกันที่สี่แยกบ่อนอก โดยมีชาวบ้านกรูด ต.ธงชัย อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน “หินกรูด” มาร่วมด้วย ทั้งนี้ผู้นำการคัดค้านในช่วงแรกนั้น ไม่ใช่ผู้นำการคัดค้านในยุคปัจจุบัน

 

          จากการชุมนุมที่วัดสี่แยกบ่อนอกหลายครั้ง ขยายไปสู่การชุมนุมกันที่ศาลากลาง จ.ประจวบคีรีขันธ์ และส่งผลให้ผู้นำชาวบ้านในพื้นที่บ่อนอก ซึ่งเป็นผู้นัดให้ชาวบ้านที่ไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอกมาชุมนุมกัน “กลับไม่มาตามนัด” ท่ามกลางคำครหาถึง “ตัวเลขแห่งผลประโยชน์” ที่เป็นข้อแลกเปลี่ยนผ่านผู้มีอิทธิพลรายหนึ่งในพื้นที่

          แต่ท้ายที่สุด การชุมนุมครั้งใหญ่ภายใต้การนำของกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอกซึ่ง เจริญ วัดอักษร เป็นผู้ประสานงานคนสำคัญ ก็มีขึ้นที่หน้าศาลากลางฯ เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๑ เพื่อยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลว่า

          ๑.ให้คณะรัฐมนตรีทบทวนและยกเลิก โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งสองแห่งใน จ.ประจวบคีรีขันธ์

          ๒.ให้นายกรัฐมนตรี (ชวน หลีกภัย) หรือผู้มีอำนาจเต็มในการตัดสินใจ เช่น สาวิตต์ โพธิวิหค ทบทวนยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และมาเจรจากับประชาชนที่มาชุมนุมที่หน้าศาลากลางฯ

          การชุมนุมของชาวบ้านเพื่อรอคอยคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปราศจากเสียงตอบรับใด ๆ จนกระทั่งการชุมนุมข้ามเข้าสู่บ่ายของวันต่อมา ๙ ธันวาคม ๒๕๔๑ จึงมีการเคลื่อนขบวนไปปิดถนนเพชรเกษม ที่บริเวณสี่แยกบ่อนอก ก่อนจบลงด้วยการสลายกลุ่มชุมนุมด้วยวิธีการรุนแรง โดยรัฐบาลประกาศจะมีการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน ต่อโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์

  เจริญ วัดอักษร
  ชีวิตนักสู้แห่งบ่อนอก

          เจริญ วัดอักษร เป็นคนประจวบคีรีขันธ์โดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ ก.ค. ๒๕๑๐ อายุ ๓๗ ปี เป็นบุตรคนที่ ๘ ของนายชั้น และนางวิเชียร วัดอักษร เรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ ๖ และกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาตรี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันราชภัฏเพชรบุรี

          ในปี ๒๕๓๘ เริ่มเข้ามาคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.ประจวบฯ จนถูกขู่ฆ่าหลายครั้ง กระทั่งการคัดค้านของชาวบ้านประสบผลสำเร็จ รัฐบาลมีคำสั่งให้ย้ายโรงไฟฟ้าออกจากพื้นที่

          “เจริญ เป็นคนที่มีเพื่อนฝูงมาก ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เล่นการพนัน และไม่ใช่นักเลง เคยเตือนเขาหลายครั้งว่า ถ้าทำตรงนี้ก็ต้องมีวันนี้เพราะมีตัวอย่างให้เห็น แต่เขาไม่ยอมถอย” พระครูวิชิตพัฒนวิธาน เจ้าอาวาสวัดสี่แยกบ่อนอก พี่ชายของเจริญ ให้ข้อมูลจากความสำเร็จในการคัดค้านโรงไฟฟ้า เจริญ ได้รับเชิญให้เป็น วิทยากรเพื่อให้ความรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์แก่ชาวบ้านทั่วประเทศ และได้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ที่มี อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นอธิการบดี

          เจริญ มีอาชีพค้าขายและธุรกิจบริการ มีร้านอาหาร ที่พักแบบชนบทอยู่ชายทะเล ต.บ่อนอก ชื่อร้านครัวชมวาฬ เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ทั้งในท้องถิ่นและคนเมือง


ผู้จัดการออนไลน์

 

          ชื่อของ เจริญ วัดอักษร จึงเริ่มเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ในฐานะผู้นำชาวบ้านที่คัดค้านโรงไฟฟ้าบ่อนอก โดยมี “กระรอก” เคียงข้างการต่อสู้อย่างเข้มแข็ง การเคลื่อนไหวเพื่อยื่นจดหมายคัดค้าน ถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับจังหวัดไปถึงระดับประเทศ ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้นำอย่าง เจริญ วัดอักษร รู้เท่าทันการเอาตัวรอดของข้าราชการเท่านั้น ทว่าชาวบ้านบ่อนอกที่ออกมาร่วมคัดค้าน ก็ได้เรียนรู้สิ่งเหล่านั้นไปด้วยพร้อมกัน “พึ่งตนเอง” คือคำตอบที่ได้รับ สำหรับการทำงานที่ดูจะเกินกำลังของชาวบ้านบ่อนอก

          จากชาวไร่ที่เคยใช้ชีวิตกับการทำไร่ และรับซื้อสับปะรดตามฤดูกาล ทั้งสับปะรดและว่านหางจระเข้ ก็ต้องเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง โดยต้องทิ้งไร่สับปะรด แล้วย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ที่วัดสี่แยกบ่อนอก เพื่อความปลอดภัย หลังจากบ้านหลังเล็กกลางไร่สับปะรดถูกเผา และห้วงเวลาของการทุ่มเททั้งชีวิต เพื่อการคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก ก็เริ่มขึ้นอย่างเข้มแข็งและยิ่งใหญ่ จนสร้างผลกระเทือนไปทั้งสังคมไทย

 

          เอกสารกองโตกลายเป็นภาระที่ต้องทำความเข้าใจ เพื่อถ่ายทอดสู่การรับรู้ของชาวบ้านร่วมอุดมการณ์ เช่นเดียวกับการตระเวณไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อบอกเล่าให้เพื่อนบ้านชาวบ่อนอก ได้รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะตามมากับโรงไฟฟ้าถ่านหิน แผนการเคลื่อนไหวจังหวะก้าวต่อไป เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายสำหรับเจริญและเพื่อนร่วมงาน บ่อยครั้งที่ตกอยู่ภายใต้ความรู้สึกกดดันอยู่ตลอดเวลา แต่กำลังของทีมชาวบ้านบ่อนอกก็ถูกเรียกกลับคืนมาทุกครั้ง ที่มีการประเมินผล “มวลชน” เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานของโรงไฟฟ้าบ่อนอก ที่ต้องใช้เงินมหาศาล

          รถกะบะติดชุดกระจายเสียง เพื่อใช้ในการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน คือสมบัติชิ้นสำคัญของกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก ซึ่งได้มาจากการเรี่ยไรไปตามที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะตลาดกุยบุรี สามร้อยยอด และชาวบ้านบ่อนอก ครั้งนั้นเจริญและชาวบ่อนอกใช้เวลาไม่นาน ในการป่าวร้องถึงวัตถุประสงค์ของการออกเรี่ยไร และได้มาซึ่งชุดเครื่องเสียง ที่พร้อมเคลื่อนที่ไปกับการชุมนุมทุกหนทุกแห่ง ยิ่งนานนับวัน ความแตกต่างและความแตกแยกอย่างเห็นได้ชัดก็ปรากฏให้เห็นได้ที่บ้านบ่อนอก เพียงแค่หยิบหัวข้อโรงไฟฟ้าบ่อนอกมาพูดถึง

          หลายครั้งที่วิธีการทุ่มเงินกองทุนพัฒนาชุมชนเพื่อหามวลชนของโรงไฟฟ้าบ่อนอก ถูกนำมาประเมินสถานการณ์ คำพูดที่ได้ยินเสมอจากปากของ เจริญ วัดอักษร นำมาซึ่งกำลังใจสำหรับทุกคน โดยเฉพาะประโยคที่ว่า “จะกลัวอะไรกับการหาแนวร่วมที่ใช้เงิน”

 

          ด้วยเหตุนี้วิธีการหาแนวร่วมด้วยการออกเรี่ยไร ด้วยการให้เจ้าของเงินได้เข้ามาร่วมการชุมนุม ท่ามกลางความร้อนระอุบนพื้นถนนทั้งที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์และที่กรุงเทพฯ จึงเป็นสิ่งที่ยึดโยงให้กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าบ่อนอกยืนหยัดอยู่ได้ คำครหาถึง “ม็อบรับจ้าง” ในยามที่การชุมนุมของชาวบ้านในชุดเสื้อเขียว–ธงเขียว จึงไม่เคยปรากฏมาตลอดระยะเวลากว่า ๙ ปี ที่มีการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์

          สิ่งที่ชาวบ่อนอกต้องเผชิญตลอดระยะเวลาของการคัดค้านโรงไฟฟ้าบ่อนอก ไม่เพียงแต่การ “ตะแบงร่วมกัน” ทั้งจากหน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชนในเรื่องผลประโยชน์ของโรงไฟฟ้า กับผลกระทบของชาวบ้าน แต่ยังต้องร่วมกันเอาตัวให้รอดจาก “อำนาจเถื่อน” ที่มีอยู่เต็มพื้นที่บ่อนอก หลายเหตุการณ์จึงเกิดขึ้นในลักษณะ “ชาวบ้านรู้แต่ตำรวจไม่รู้” บ่อยครั้งที่ “ชาวบ้านเห็นแต่ตำรวจไม่เห็น” จึงทำให้การ “ขู่ฆ่าแบบเปิดเผย” จบลงด้วยค่าปรับแค่ ๕๐๐ บาท โดยมีชาวบ้านเป็นผู้หาหลักฐานไปประเคนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่รวมถึงการ “เหิมเกริม” ของบรรดา “อันธพาลมีปลอกคอ” ที่ออกทำลายธงเขียวหรือผืนป้ายคัดค้านโรงไฟฟ้าบ่อนอกตามบ้านต่าง ๆ เสียงปืนที่บ่อนอกจึงเป็นเรื่องผิดปกติที่ถูกทำให้ปกติไปในที่สุด

 

          แม้จะหมดหวังจากกลไกต่าง ๆ ของระบบราชการ แต่ในเมื่อไม่มีทางเลือกมากกว่านั้น เจริญ วัดอักษร ยังคงต้องดำเนินการยื่นหนังสือคัดค้านตามกระบวนการที่เปิดช่องให้ “ผมยื่นจดหมายจนมือจะยางยาวจากบ่อนอกไปถึงกรุงเทพฯ อยู่แล้ว”

          เมื่อครั้งที่ “ปลาวาฬบ่อนอก” กลายเป็นภาพที่มีค่ามากกว่าคำบรรยายนับร้อยพัน เพื่อยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลบ่อนอก ที่ชาวบ่อนอกยืนยันหัวเด็ดตีนขาดว่าแลกไม่ได้ด้วยโรงไฟฟ้าถ่านหิน เจริญ วัดอักษร สีหน้าเปื้อนรอยยิ้มสลับกับเสียงตะโกนด้วยความตื่นเต้น เมื่อปลาวาฬตัวมหึมาอ้าปากฮุบเหยื่ออยู่เบื้องหน้าโดยมีฉากหลังเป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก

          ไม่ง่ายสำหรับการต่อสู้ฝ่าฟันด้วยความอดทนของชาวบ้านบ่อนอกจนกระทั่งนำมาซึ่งการ “ย้ายโรงไฟฟ้าบ่อนอกไปก่อสร้างที่จังหวัดสระบุรี” คงเหลือไว้เพียงที่ดินร่วม ๑,๐๐๐ ไร่ ของโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก แต่สำหรับ เจริญ วัดอักษร ในฐานะประธานกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก ยังคงภารกิจที่ต้องสานต่อด้วยความหวังว่า จะสามารถ “ตอกฝาโลง” โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอกได้อย่างถาวร

 

          ที่ดินสาธารณะทุ่งเลี้ยงสัตว์คลองชายธง ๙๓๑ ไร่ ต.บ่อนอก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถูกสรุปว่าคือเงื่อนไขสำคัญของการปิดฉากโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก ด้วยเหตุที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจำเป็นต้องใช้พื้นที่ต่อเนื่องกับชายทะเล หากแต่ที่ดินผืนใหญ่ของโรงไฟฟ้าบ่อนอกกลับไม่มีส่วนใดติดชายทะเล ดังนั้นที่ดินสาธาณะทุ่งเลี้ยงสัตว์คลองชายธง จำนวน ๙๓๑ ไร่ จึงสร้างปัญหามาตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เหตุว่าโรงไฟฟ้าบ่อนอกได้ขออนุญาตใช้ที่ดินผืนดังกล่าวโดยได้

          รับอนุญาตจากสภาตำบลบ่อนอก ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ถูกตั้งข้อสงสัยถึงความ “ไม่ปกติ” ของกระบวนการออกใบอนุญาตดังกล่าว การหาช่องทางในการใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณะเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอกอย่างถาวร

          สร้างมหาวิทยาลัยจึงเป็นเป้าหมายสูงสุด ที่ เจริญ วัดอักษร ต้องการทำเพื่อ “รักษ์ท้องถิ่น”

 

          ระยะเวลาเกือบ ๑๐ ปี ของการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก นานมากพอสำหรับการพิสูจน์ความหนักแน่นและยืนหยัดของผู้นำชาวบ้านตัวจริงซึ่ง เจริญ วัดอักษร ทำหน้าที่ประธานกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอกอย่างยิ่งใหญ่ตราบจนลมหายใจสุดท้าย...

          ราวสามทุ่มของวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๗ กระสุนปืนร่วม ๑๐ นัดจากปืน ๒ กระบอก กลายเป็น “กระสุนแห่งความชั่วร้าย” ที่ปลิดชีวิตนักสู้เพื่อชุมชนที่ชื่อ เจริญ วัดอักษร ให้เหลือเพียงตำนานที่ยิ่งใหญ่ที่อยู่ในความทรงจำ ไม่เฉพาะชาวบ้านบ่อนอกแต่หมายรวมถึงคนไทยทั้งประเทศ เพราะการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อให้ข้อมูลการทุจริตที่ดินสาธารณะทุ่งเลี้ยงสัตว์คลองชายธง ๙๓๑ ไร่ ต่อคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการประพฤติมิชอบที่อาคารรัฐสภา ยังเป็นการทำหน้าที่ “รักษ์ท้องถิ่น” จนต้องแลกด้วยชีวิต

          ลาแล้ว... เจริญ วัดอักษร นักสู้เพื่อชาวบ่อนอก...

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :