เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๐
เมษายน - มิถุนายน ๒๕๔๗

บทความหลัก
เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง – เชียงราย

รู้จัก แม่น้ำโขง

แม่น้ำโขง

แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายใหญ่ของโลกที่มีความยาวประมาณ ๔,๙๐๐ กิโลเมตร ยาวเป็นอันดับ ๑๐ ของโลก มีต้นน้ำอยู่บนภูเขาจี้ฟู ส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยบนที่ราบสูงทิเบต เขตจังหวัดหยู่ซู่ มณฑลฉิงไห่ ประเทศจีน โดยมีแม่น้ำจาคูและแม่น้ำอาคูไหลมารวมกัน มีชื่อเรียกเป็นภาษาของไทลื้อ ซึ่งเป็นชนชาติที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงอย่างหนาแน่นในดินแดนสิบสองปันนาว่า “แม่น้ำล้านช้าง” คนจีนทั่วไปเรียกว่า “แม่น้ำหลานซาง” มีความหมายว่า เป็นแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวกราก และไหลผ่าน ๖ ประเทศ คือ จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ก่อนออกสู่ทะเลจีนใต้

          มีแม่น้ำสาขาสายสำคัญในประเทศไทยคือ แม่น้ำพอง แม่น้ำชี แม่น้ำมูน และแม่น้ำสงคราม ในภาคอีสาน แม่น้ำอิง แม่น้ำกก ในภาคเหนือ แม่น้ำงึม แม่น้ำเทิน แม่น้ำเซกอง ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทะเลสาบโตนเลสาปของราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งต่อเนื่องกับลำธารของเทือกเขาสอยดาวฝั่งตะวันออกของจันทบุรี และแม่น้ำเซซาน ในประเทศเวียดนาม

          แม่น้ำโขงมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ปลามากเป็นอันดับ ๓ ของโลก รองจากแม่น้ำอะเมซอนในอเมริกาใต้ และแม่น้ำแซร์ในทวีปแอฟริกา มีจำนวนพันธุ์ปลาที่สำรวจพบ ๑,๒๔๕ ชนิด มีพื้นที่ชุ่มน้ำ ๗๙๕,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ในทุก ๆ ปี ปริมาณน้ำจากแม่น้ำโขงไหลลงสู่ทะเลจีนใต้เฉลี่ยสูงถึง ๔๗๕,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร

          แม่น้ำโขงตอนบนจะได้รับน้ำจากการละลายของภูเขาหิมะเป็นส่วนใหญ่ เช่น จากเทือกเขาหิมะเหม่ยลี่ ในแซงกรีลา ส่วนตอนล่างได้รับน้ำจากเทือกเขาต่าง ๆ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง รวมทั้งจากฝนในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ระหว่างเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม ทำให้เกิดน้ำท่วมทุกปีที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนาม ปลายของแม่น้ำโขงที่ประเทศเวียดนามนี้ได้แยกออกเป็น ๙ สายก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ คนเวียตเรียกว่า “๙ มังกร” สามเหลี่ยมดินดอนปากแม่น้ำนี้จึงเป็นที่สะสมตะกอนดินซึ่งมีคุณค่า เป็นปุ๋ยธรรมชาติชั้นดี และเป็นแหล่งปลูกข้าวคุณภาพดีแห่งหนึ่งของโลก

          ด้วยความยาวของแม่น้ำโขง ที่ไหลผ่านภูมิประเทศที่แตกต่างกันออกไป ทำให้แม่น้ำโขงมีความหลากหลาย ของทรัพยากรธรรมชาติ พันธุ์พืช พันธุ์ปลา และมีความหลากหลายของวิถีชีวิตของผู้คนกว่า ๑๐๐ ชนเผ่า ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ล้านคน และยังเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมโบราณ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เช่น เมืองหลวงพระบาง นครวัดนครธม แหล่งอารยธรรมบ้านเชียง แหล่งโบราณคดีเชียงแสนหลวง

แม่น้ำโขงในประเทศไทย

          แม่น้ำโขงส่วนที่ผ่านประเทศไทยเป็นช่วงของแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งไหลผ่าน อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และอ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ระยะทาง ๘๔ กิโลเมตร ก่อนเข้าสู่ประเทศลาว และไหลเป็นพรมแดนไทย – ลาวเริ่มจาก จ.เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี รวมความยาวที่ไหลผ่านประเทศไทยประมาณ ๙๗๖ กิโลเมตร

          ในภาคเหนือแม่น้ำคำ แม่น้ำกก และแม่น้ำอิง ไหลลงสู่แม่น้ำโขง บริเวณนี้จะมีลักษณะภูเขาและเนินเขาทอดยาวในแนวเหนือใต้ โดยจะมีที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขาและบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำและหนองน้ำต่าง ๆ ซึ่งเป็นระบบนิเวศน์ที่มีความสำคัญต่อการขยายพันธุ์ปลา สัตว์น้ำ พันธุ์ไม้น้ำ เป็นพื้นที่ดูดซับน้ำ ป้องกันอุทกภัย ตลอดถึงการกรองสารเคมี สิ่งแปลกปลอมก่อนลงสู่แม่น้ำโขง

          ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตที่ราบสูงโคราช ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะเอียงลงไปทางตะวันออกเฉียงใต้ มีแม่น้ำมูนและแม่น้ำชีไหลลงสู่แม่น้ำโขง ที่อำเภอโขงเจียม จ.อุบลราชธานี บริเวณตอนปลายของที่ราบสูงจะเป็นเนินกว้างลาดชันแยกจากลุ่มน้ำย่อยของทะเลสาบเขมร ในภาคอีสานยังถูกแบ่งโดยแนวเทือกเขาภูพาน ตอนเหนือเป็นแอ่งสกลนคร มีแม่น้ำสงคราม แม่น้ำอูน และไหลไปลงสู่แม่น้ำโขง

          สภาพแม่น้ำโขงในภาคเหนือเป็นแก่งหินและหน้าผา แม่น้ำไม่กว้างนักไหลผ่านขุนเขาสองข้างไปจนสุดแดนไทยลาวที่อำเภอเวียงแก่น และเป็นลักษณะเช่นนี้ไปจนถึงหลวงพระบางในลาว ส่วนสภาพแม่น้ำโขงในภาคอีสาน สายน้ำแผ่กว้างออก ประกอบไปด้วยชายฝั่งและหาดทราย และจะพบเกาะแก่งเป็นจำนวนมากอีกครั้งที่สี่พันดอนในประเทศลาว

          แม่น้ำโขงในบริเวณของประเทศไทยมีความแตกต่างของระดับน้ำในฤดูแล้งกับฤดูน้ำหลากสูงถึง ๒๐ เมตร เป็นฤดูกาลของน้ำตามธรรมชาติที่นำไปสู่วิถีชีวิตและวิถีการผลิตของชุมชนที่พึ่งพากับแม่น้ำสายนี้ แต่ในปัจจุบันฤดูกาลของน้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติ มีความเปลี่ยนแปลงไปมาก เนื่องจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบนในมณฑลยูนนานของประเทศจีน และสภาวะแล้งของต้นน้ำลำธาร

แม่น้ำกับชีวิต

          สำหรับผู้คนในถิ่นนี้ แม่น้ำโขงเปรียบเสมือนเส้นเลือดหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตของพวกเขา และยังเป็นเหมือนจิตวิญญาณของพวกเขาด้วย ประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า ๖๐ ล้านคน มีชีวิตผูกสัมพันธ์กับแม่น้ำโขงรวมถึงแม่น้ำสาขาด้วย ลุ่มน้ำโขงจึงเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ เป็นแหล่งน้ำใช้เพื่อการเกษตร การเดินทาง การขนส่ง และอีกมากมายหลายกิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้คนในถิ่นนี้

          จากที่ระดับน้ำขึ้น – น้ำลงในแม่น้ำโขงที่มีความแตกต่างกันระหว่างฤดูฝนและฤดูแล้งถึง ๒๐ เมตรนั้น ส่งผลให้ชุมชนริมฝั่งโขงมีวิถีการผลิตที่แตกต่างกันออกไปตามธรรมชาติของน้ำในแม่น้ำโขง

          ชุมชนริมฝั่งโขงรู้และเข้าใจดีว่า เมื่อถึงปลายพฤษภาคม – ต้นเดือนมิถุนายน เป็นเวลาที่น้ำจะขึ้น สัมพันธ์กับฤดูกาลคือเป็นช่วงฤดูฝน และจะเริ่มยกระดับน้ำขึ้นไปเรื่อยจนถึงเดือนสิงหาคม เมื่อถึงตุลาคมน้ำจะทรงตัว และเริ่มลดระดับลงเรื่อยในเดือนพฤศจิกายนซึ่งเข้าสู่ฤดูแล้ง ขณะเดียวกัน เดือนที่น้ำลดลงมากที่สุดคือเดือนเมษายน และเดือนที่น้ำขึ้นในระดับสูงมากที่สุดคือประมาณเดือนสิงหาคม

          ฤดูกาลของน้ำขึ้นหรือลงในแม่น้ำโขง ส่งผลให้ชุมชนมีวิถีการผลิตที่แตกต่างกันไป ในช่วงน้ำลงจึงสามารถทำการเพาะปลูกพืชผักบนที่ดินริมโขง ส่วนการหาปลาหาได้ตลอดทั้งปี คนหาปลาแม่น้ำโขงรู้ดีว่า ช่วงที่ปลาขึ้นจะขึ้นตามน้ำ คือเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน และช่วงที่ปลาลงก็จะลงตามน้ำเช่นกัน คือในเดือนตุลาคม ปลาจะรู้จักสภาพน้ำ เมื่อน้ำขึ้นก็ขึ้นตามน้ำ เมื่อน้ำลงก็ลงตามน้ำ

          ฤดูกาลน้ำขึ้นลงตามธรรมชาติในทุกปี ทำให้ชุมชนริมฝั่งโขงเรียนรู้จนสามารถทำนายอนาคตได้ว่า เมื่อถึงตอนที่น้ำลดลง วิถีการทำมาหากินจะเปลี่ยนไปในอีกรูปแบบหนึ่ง และเมื่อถึงเวลาที่น้ำขึ้น ก็เป็นอีกวิถีหนึ่งเช่นกัน การปลูกผัก ปลูกข้าว ทำไร่ ทำสวน จึงมีความสัมพันธ์กันไปธรรมชาติของแม่น้ำ ปรับตัวไปตามความเหมาะสม เพื่อให้เกิดความกลมกลืนและความเหมาะสมตามฤดูกาล แม่น้ำโขงจึงเป็นแหล่งอาหาร แหล่งชีวิต เสมือนแม่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาเป็นเวลาเนิ่นนานปี

การประมงและการเกษตรในที่ราบลุ่ม

          การทำการประมงและการทำการเกษตรเป็นวิถีชีวิตหลักของประชาชนในลุ่มน้ำโขง คนที่อาศัยอยู่ในที่ราบลุ่มจะปลูกข้าว ส่วนคนที่อยู่ที่สูงจะทำไร่และหาปลาจากแม่น้ำสาขา บริเวณที่ราบน้ำท่วมถึงและบริเวณปากแม่น้ำก็เป็นพื้นที่ปลูกข้าว ทำการประมงน้ำจืดเพื่อเลี้ยงชีพและขายในตลาดของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงจะมีบทบาทในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยรูปแบบของกิจกรรมและบทบาทจะสัมพันธ์กับการผลิตอาหาร เชื้อเพลิงและน้ำ

          ระบบการใช้ประโยชน์จากที่ดิน การเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเกี่ยวข้าว การประมง รวมไปถึงระบบประเพณีวัฒนธรรม เช่น การแข่งเรือ การไหลเรือไฟ  จะมีความเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมและฤดูกาลขึ้นลงของแม่น้ำโขง

          ชาวบ้านจะใช้ภูมิปัญญาและเทคโนโลยีพื้นบ้านในการจัดการน้ำและตะกอนดินจากทุ่งนา การทำเครื่องมือจับปลาและตาข่ายที่พัฒนามาจากการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น

          ในลุ่มน้ำโขงปลาจึงเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคนี้ ทะเลสาบเขมรถือเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตปลาที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ผลผลิตในแต่ละปีจะมีปริมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ตัน ซึ่งเป็นแหล่งอาหารโปรตีนของชาวกัมพูชาถึง ๙.๕ ล้านคน รวมทั้งในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว มีการบริโภคปลาจำนวน ๘๕ % ของประชากร

          ทะเลสาบเขมรถือเป็นตัวอย่างของความหลากหลายของระบบนิเวศน์ในภูมิภาคนี้ และมีความสัมพันธ์กับการดำรงชีวิตของชุมชน โดยปกติทะเลสาบจะมีน้ำท่วมริมฝั่งแม่น้ำในระหว่างฤดูฝนและจะค่อย ๆ ลดลงตลอดระยะเวลาที่เหลือในแต่ละปี จากการที่ระดับน้ำในทะเลสาบสูงขึ้นและท่วมบริเวณป่าไม้ที่อยู่รอบ ๆ ทะเลสาบ ปลาจึงเข้าไปอาศัยและแพร่พันธุ์ เมื่อระดับน้ำลดลง ปลาได้อพยพออกจากแหล่งดังกล่าวไปสู่แหล่งน้ำ ลำห้วยสาขาต่าง ๆ ของแม่น้ำโขง

          ประมาณ ๘๕ % ของการผลิตข้าวในที่ราบน้ำท่วม รอบ ๆ ทะเลสาบและแม่น้ำโขงขึ้นอยู่กับตะกอนดินที่เกิดจากน้ำท่วมซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์สูง ดังนั้นในการผลิตข้าวจึงมีความผูกพันกับวงจรของการเกิดน้ำท่วม น้ำขังในระบบของทะเลสาบเขมรและลุ่มน้ำโขง

          ฤดูกาลธรรมชาติของแม่น้ำโขงก่อให้เกิดภูมิปัญญาในการใช้และไม่ใช้ หรือจะใช้อย่างไร ทั้งในการผลิตการเกษตรกรรมและการประมงก็ขึ้นอยู่กับระบบนิเวศย่อยที่ต่างกันออกไป กระทั่งได้ก่อเกิดวัฒนธรรมที่หลากหลายตลอดสองฝั่งริมแม่น้ำโขง

 

ประวัติศาสตร์การพัฒนาในลุ่มน้ำโขง

ยุคสมัยการล่าอาณานิคม

          ดินแดนแห่งลุ่มน้ำโขงเริ่มเป็นที่รู้จักของชาวตะวันตกนักล่าอาณานิคม ผู้กระหายการช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติอันล้ำค่าจากซีกโลกตะวันออก โดยนักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสชื่อ อองรี มูโอต์ ได้เข้ามาเก็บข้อมูลสำรวจแม่น้ำโขงระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๐๑ – ๒๔๐๔ ในสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ นั่นเป็นจุดเริ่มของการศึกษาเพื่อจะเข้ามายึดครองประเทศใหญ่ในเขตลุ่มน้ำโขง

          ลัทธิอาณานิคมฝรั่งเศสเข้ายึดครองประเทศเขมร ในปี พ.ศ. ๒๔๑๐ และบุกยึดครองประเทศเวียดนามอย่างเบ็ดเสร็จ ในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ พร้อมกับการขยายอิทธิพลบุกยึดประเทศลาวในเวลาต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ และมีเป้าหมายต่อไปคือประเทศสยาม

          ประเทศสยามต้องตกอยู่ในวงวนของการล่าอาณานิคมฝรั่งเศส แม้ไม่สูญเสียอิสรภาพทั้งประเทศแต่ก็สูญเสียแผ่นดิน นามแคว้นสิบสองจุไท ในปี ๒๔๓๑ และดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ ทิ้งปัญหาไม่เป็นธรรมเรื่องการปักปันพรมแดนไทย – ลาว ในแนวแม่น้ำโขงที่ไม่ได้ถือร่องน้ำลึกแม่น้ำเป็นแนวเขตแต่ถือร่องน้ำที่ติดฝั่งไทยเป็นเกณฑ์

ยุคสมัยใหม่

          การพัฒนาในลุ่มน้ำโขงในระยะแรกนั้น มีความสัมพันธ์กับการเมืองในภูมิภาคอินโดจีน ซึ่งมีประเด็นความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองแบบทุนนิยมของผู้นำโลกเสรีอย่างสหรัฐอเมริกา และลัทธิสังคมนิยมที่กำลังแพร่ขยายไปทั่วโลก ประเทศไทยในช่วงเวลานั้นเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้ เพราะประเทศเพื่อนบ้านต่างมีระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์เกือบทั้งสิ้น

          แม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักในภูมิภาคอินโดจีน จึงกลายเป็นพื้นที่ที่มีแผนการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภค ที่แฝงไว้ด้วยข้อตกลงทางการเมืองและการทหาร ภายใต้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจจากรัฐบาลอเมริกา เช่น การสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อใช้ในฐานทัพ การสร้างถนนเพื่อเป็นถนนสายยุทธศาสตร์

          ในระยะแรกมีการจัดตั้งคณะกรรมการแม่น้ำโขง (Mekong Committee) ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ มีประเทศสมาชิกในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง เพื่อวางแผนการพัฒนาภายใต้วัตถุประสงค์ ส่งเสริม สนับสนุนงบประมาณ ประสานงาน ให้คำแนะนำ และควบคุมแผนการสำรวจเพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำและพลังงาน โครงสร้างพื้นฐานเส้นทางคมนาคม ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติท้องถิ่น อาทิ เนื้อไม้ สมุนไพร ซากสัตว์ ป่า ทองคำ อัญมณี ฯลฯ ถูกนำมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม จากเกษตรกรรมธรรมชาติ สู่ระบบทุนนิยม สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และอำนาจแก่มหาอำนาจได้อย่างแนบเนียน

          แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ – ๒๕๒๐ การดำเนินงานของคณะกรรมการแม่น้ำโขงได้หยุดชะงักลง เนื่องจากเกิดสงครามอินโดจีน และอุดมการณ์ที่แตกต่างทางการเมืองของประเทศสมาชิกในเวลานั้น ทำให้ กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ถอนตัวจากการเป็นสมาชิก

          ภายหลังจากการถอนตัวได้มีการตั้งคณะกรรมการประสานงานชั่วคราวขึ้น

          ในช่วงสงครามเย็น ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๘ – ๒๕๓๒ จากการถอนตัวของประเทศสมาชิก ทำให้การดำเนินงานของคณะกรรมการแม่น้ำโขงหยุดชะงักลง ในช่วงท้ายของยุคสงครามเย็น ประเทศพัฒนาแล้วอย่าง เนเธอร์แลนด์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ได้เข้ามาในรูปแบบการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่คณะกรรมการ ภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา และบทบาทของธนาคารพัฒนาเอเซีย ที่รุกเข้ามาในลุ่มน้ำโขงแทนคณะกรรมการประสานงานชั่วคราว ในฐานะผู้สนับสนุนการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ

          ภายหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง การค้าขายระหว่างประเทศจีนกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มต้นขึ้นภายใต้วาทกรรมของเติ้งเสี่ยวผิงที่ว่า “แมวจะสีอะไรก็ตามขอให้จับหนูได้เป็นพอ” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่แรงจูงใจในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ รวมถึงแหล่งทุนต่างประเทศเปิดช่องทางให้ด้วย รวมทั้งหลังจากการผลัดเปลี่ยนสู่ผู้นำรุ่นที่สามของจีนได้อย่างราบรื่น จีนได้เริ่มประกาศระบบเศรษฐกิจการตลาดสังคมนิยมแบบเปิดและสั่งการได้ เช่น เดียวกับวาทกรรม “หนึ่งประเทศสองระบบ” ที่เคยใช้กับเกาะฮ่องกง นอกจากนี้ในรายละเอียดของโครงร่างปฏิรูปประเทศแห่งสมัชชาประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ ๑๖ เมื่อ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ ยังต้องการเพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจการค้าของจีนสู่ภูมิภาคอื่น ๆ เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ให้สูงยิ่งขึ้น แต่ฐานคิดการปฏิรูปนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการของจีนหลายท่านว่า ละเลยภาคชนบทหรือเกษตรกรด้วยการเพิ่มภาคอุตสาหกรรมในเขตเมือง จะทำให้เกิดการอพยพของคนชนบทเข้าเมือง และจะยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังละเลยความคิดเรื่องระบบนิเวศน์ และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องสูญเสียไปอย่างมหาศาล เพื่อป้อนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของเมืองใหญ่

          ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ เกิดการรวมตัวของ ๖ ประเทศภายใต้แผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Great Mekong Subregion GMS) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและมนุษย์ การสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจโดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทางรถยนต์ ทางรถไฟ ตลอดถึงการพัฒนาเส้นทางเดินเรือในแม่น้ำโขง

          รวมไปถึงการกลับมาของความร่วมมือระหว่างประเทศ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ในโฉมหน้าใหม่ภายใต้ชื่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) นอกจากนี้ยังมีแผนความร่วมมือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจระหว่างไทย พม่า ลาว จีน ที่ยิ่งชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาลุ่มน้ำโขงเป็นการตอบสนองเพื่อเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแต่เพียงทางเดียว และโดยเฉพาะหลังจากที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี ๒๕๔๕ การขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของประเทศสังคมนิยม ยังผลให้เกิดการผลักดันการใช้ทรัพยาการธรรมชาติในเขตลุ่มน้ำโขงตอนบนเพิ่มยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนเพื่อตอบสนองเขตอุตสาหกรรมในจีน รวมทั้งเพื่อการเพิ่มการค้าและตัวเลขทางเศรษฐกิจ – การบริโภคด้วยการเปิดเขตการค้าเสรีไทย – จีน (FTA) ในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ และกำลังผลักดันการค้าเสรีอาเซียนจีนอยู่อย่างจริงจังอีกด้วย

เขื่อนกั้นแม่น้ำโขง

          เขื่อนขนาดใหญ่มากกว่า ๑๐๐ เขื่อน ถูกกำหนดให้มีขึ้นบนลำน้ำโขงและแม่น้ำสาขา โดยได้รับการสนับสนุนและผลักดันจากสถาบันหลัก คือ ธนาคารพัฒนาเอเซีย ธนาคารโลก และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งทั้ง ๓ สถาบัน เป็นองค์กรโลกบาลที่มีเป้าหมายชัดเจนในการควบคุมและจัดการแม่น้ำโขงเชิงพาณิชย์

          โครงการบางส่วนได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้ว และโครงการหลักที่สร้างผลกระทบอย่างมากต่อลุ่มน้ำโขงทั้งหมด คือ การก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ๘ เขื่อน กั้นแม่น้ำโขงตอนบน หรือแม่น้ำหลานซางในประเทศจีน ภายใต้โครงการหลานซาง – เจียง ซึ่งเป็นโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน โดยไม่สนใจเสียงทักท้วงและความวิตกกังวลของประเทศปลายน้ำว่า จะมีผลกระทบกับแม่น้ำโขง ระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างไรบ้าง รวมทั้งประเด็นที่จีนกำลังจะกลายเป็นผู้ควบคุมลำน้ำโขง แม่น้ำนานาชาติแต่เพียงผู้เดียว

เขื่อนที่จะสร้างกั้นแม่น้ำโขงตอนบน

          มี ๒ เขื่อน ที่ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว คือ เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำมันวาน สร้างเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ และเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดาเชาซาน ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ เขื่อนแห่งที่สาม ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ คือเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเซี่ยวหวาน เป็นเขื่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สันเขื่อนสูงถึง ๒๔๘ เมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ จีนได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างไปแล้วเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๔๕ รวมทั้งเขื่อนจิงหงในสิบสองปันนาที่อยู่ระหว่างการศึกษาเตรียมการก่อสร้าง และได้ปรับแต่งหน้าดินบริเวณฝั่งโขงไปแล้ว โดยมีนักธุรกิจการเมืองจากไทยไปร่วมลงทุนซึ่งมีสัญญาจะส่งไฟฟ้ามาขายในประเทศไทยด้วย

          ผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเทศจีนมีผู้ที่สูญเสียที่อยู่อาศัยไปแล้วไม่ต่ำกว่า ๙,๕๕๓ คน ระบบนิเวศน์ และผลกระทบด้านอื่น ๆ ยังไม่สามารถค้นหาข้อมูลได้ อันมีสาเหตุมาจากเงื่อนไขทางการเมือง เนื่องจากการควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และการเดินเรือ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ เช่น การลดปริมาณของพันธุ์ไม้น้ำ สาหร่ายใต้ผิวน้ำ (ไก) การลดจำนวนลงของปลาบางชนิดถึงกับสูญพันธุ์

          นอกจากนี้ผลกระทบต่อแม่น้ำโขงตอนล่างพบว่า มีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขงซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก ๒ ประการคือ ฤดูกาลน้ำขึ้น – น้ำลงของกระแสน้ำในแม่น้ำโขงในรอบหนึ่งปี และปริมาณตะกอนในลุ่มน้ำ

          การเปิด – ปิดประตูระบายน้ำของเขื่อนในประเทศจีน มีผลทำให้ปริมาณเฉลี่ยของน้ำเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในฤดูแล้ง และการขึ้นลงของน้ำในแม่น้ำโขงไม่เป็นไปตามธรรมชาติอีกต่อไป อีกทั้งปริมาณตะกอนกว่าครึ่งหนึ่งที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขงก็ถูกเก็บกักไว้ที่เขื่อนต่าง ๆ ในจีน ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง

          ผลกระทบต่อพันธุ์ปลาและการทำประมง ปริมาณน้ำที่เพิ่มมากขึ้นผิดปกติในฤดูแล้งส่งผลกระทบต่อการเดินทาง วางไข่ และอยู่อาศัยของปลา ขณะเดียวกันในฤดูฝนการเก็บน้ำของเขื่อนทำให้น้ำไม่หลากตามธรรมชาติ ระดับน้ำในพื้นที่ป่าน้ำท่วมถึงบริเวณตอนใต้ของประเทศลาวและกัมพูชาลดลง และส่งผลกระทบไปถึงแหล่งอาหาร แหล่งเพาะพันธุ์วางไข่ และแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ รวมไปถึงการลดลงของทรัพยากรประมง และการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำบางชนิด

          ผลกระทบต่อการเกษตร กว่าร้อยละ ๘๐ ของนาข้าวบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงได้อาศัยธาตุอาหารต่าง ๆ ที่มากับตะกอนในช่วงฤดูน้ำหลาก เมื่อมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำโขง ทำให้วงจรการไหลของน้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ปริมาณตะกอนที่มีประโยชน์ต่อการเพาะปลูกลดน้อยลง ส่งผลไปถึงความอุดมสมบูรร์ของดินและปริมาณผลผลิตทางการเกษตรก็จะลดลงตามไปด้วย

          แสดงถึงนัยสำคัญว่า ปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตจะสูงขึ้นด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของเกษตรกรที่ต้องแบกรับ รวมไปถึงคุณภาพน้ำในแม่น้ำที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีมากขึ้น

          ขณะเดียวกันปริมาณน้ำที่เพิ่มมากกว่าปกติในฤดูแล้งทำให้ไม่สามารถทำเกษตรริมโขงได้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นผลกระทบเรื่องการกัดเซาะ ปัญหาแผ่นดินถล่ม รวมถึงปัญหาการย้ายชุมชนออกจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อน ซึ่งได้รับค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรม

          สถาบันหลักที่ให้การช่วยเหลือในการสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ คือ ธนาคารพัฒนาเอเซีย เขื่อนทั้งหมดที่จีนดำเนินการเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ บางส่วนมีสัญญาส่งขายกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศไทย

          เช่นเดียวกับประเทศลาว พื้นที่ใหม่ที่นักสร้างเขื่อนทั้งหลายกระหายให้มีเขื่อนในลุ่มน้ำ

          ลาวเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีโครงการมากมายเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียและองค์กรข้ามชาติ เช่น การผลักดันให้มีการก่อสร้างเขื่อนเซคามัน ๑ กั้นแม่น้ำเซคามัน ซึ่งเป็น ๑ ใน ๖ ของแม่น้ำสาขาแม่น้ำเซกองซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาสายใหญ่ที่สุดของแม่น้ำโขง เขื่อนเซคามัน ๑ เป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าตามข้อตกลงที่จะขายให้กับประเทศไทย

          อีกโครงการที่สำคัญคือโครงการเขื่อนน้ำเทิน ๒ ซึ่งสร้างกั้นแม่น้ำเทิน แม่น้ำสาขาใหญ่เป็นอันดับที่ ๔ ของแม่น้ำโขง โครงการนี้ตั้งอยู่ในแขวงคำม่วน ในตอนกลางของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และห่างจากโครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำเทิน – หินบูน ที่สร้างเสร็จแล้ว ไปทางเหนือเพียง ๕๐ กิโลเมตรเท่านั้น เป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าตามข้อตกลงที่จะขายกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศไทย โครงการเขื่อนน้ำเทิน ๒ นี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อชุมชนและระบบนิเวศน์ แต่แม้ว่าจะมีผลกระทบมากมายเพียงใดต่อชุมชน พันธุ์ปลา ความหลากหลายทางชีวภาพ พืชพรรณและสัตว์ประจำถิ่น แต่ธนาคารโลกก็เตรียมการที่จะให้เงินกู้และให้การรับรองสนับสนุนโครงการแม่น้ำโขงในประเทศกัมพูชา ก็เผชิญกับสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน เมื่อรัฐบาลกัมพูชามีความพยายามที่จะผลักดันโครงการเขื่อนแซมเบอร์ (SAMBOR dam) ซึ่งจะสร้างกั้นแม่น้ำโขง โดยอ้างว่าเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า เขื่อนนี้มีความสูงถึง ๓๕ เมตร ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง ๓,๓๐๐ เมกกะวัตต์ มีงบประมาณในการก่อสร้างอยู่ที่ ๔ ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โครงการนี้จะทำให้คนไร้ที่อยู่อาศัยถึง ๖๐,๐๐๐ คน ในบริเวณรอบริมฝั่งแม่น้ำโขง และส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อพันธุ์ปลา สัตว์ป่าท้องถิ่น เขื่อนแซมเบอร์นี้ได้รับการสนับสนุนและผลักดันอย่างเต็มที่จากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง

          และที่ปลายแม่น้ำโขงก่อนไหลออกสู่ทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม ที่นี่มีแผนการก่อสร้างเขื่อนมากมายในลุ่มน้ำโขงเช่นเดียวกัน อาทิ เขื่อนเปลียกอง เป็นเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสร้างกั้นแม่น้ำดาโปโค แม่น้ำสาขาของแม่น้ำเซซาน ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง เขื่อนแห่งนี้มีความสูงถึง ๖๕ เมตร ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำเป็นบริเวณกว้างถึง ๘,๐๐๐ เฮกเตอร์ และท่วมพื้นที่การเกษตร ๕,๖๙๐ เฮกเตอร์ แรกสุดได้รับงบประมาณสนับสนุนการศึกษาความเป็นไปได้ ของโครงการจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง

          เขื่อนเซซาน ๓ และเขื่อนเซซาน ๔ เขื่อนอีกสองแห่งที่จะสร้างกั้นแม่น้ำเซซาน แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงก็มีเป้าหมายเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และมีที่ตั้งอยู่ห่างกันเพียงแค่ ๕๐ กิโลเมตรเท่านั้น เขื่อนเซซาน ๓ ได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเซีย และมีแผนจะสร้างให้เสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๕๐

          นอกจากนั้นยังมีแผนจะสร้างเขื่อนทุงคอนตำ เป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้ากั้นแม่น้ำทุงโปโค แม่น้ำสาขาของแม่น้ำเซซาน ทั้งเขื่อนเซซาน ๓ เขื่อนเซซาน ๔ และเขื่อนทุงคอนตำ อยู่ในแผนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำตลอดแม่น้ำเซซานในประเทศเวียดนาม เพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมที่กำลังขยายตัว และเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้ประเทศเพื่อนบ้าน

          ในประเทศไทยเอง โครงการคุกคามแม่น้ำโขงมีมาตลอดระยะเวลากว่าทศวรรษ เขื่อนปากมูล ซึ่งสร้างกั้นแม่น้ำมูน แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ปริเวณปากมูน จ.อุบลราชธานี ก็สร้างข้อขัดแย้งอย่างกว้างขวางถึงความไม่คุ้มค่าอย่างที่สุดของโครงการนี้ เมื่อต้องแลกกับระบบนิเวศน์ของพันธุ์ปลาที่สูญเสียไปทั้งระบบ และส่งผลกระทบมหาศาลต่อธรรมชาติและชุมชน เขื่อนปากมูนได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากธนาคารโลกเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘

          เขื่อนราษีไศลซึ่งสร้างกั้นแม่น้ำมูนใน จ.ศรีสะเกษ ทำให้ระบบนิเวศน์พื้นที่ชุ่มน้ำ (wetlands) เสียหายอย่างมหาศาล เขื่อนราษีไศลนี้เป็นเขื่อนสำคัญในโครงการผันน้ำ โขง – ชี – มูล ในความรับผิดชอบของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม

          ดูเหมือนว่าบทเรียนราคาแพงที่ไทยได้รับจากเขื่อนทั้ง ๒ ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างความรู้สึกหวงแหนธรรมชาติลุ่มน้ำโขง ประเทศไทยยังมีโครงการสร้างเขื่อนหัวนา กั้นแม่น้ำมูน ใน จ.ศรีสะเกษ โครงการสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ กั้นลำเชียงทา แม่น้ำสาขาของแม่น้ำชี ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง โครงการสร้างเขื่อนลำโดมใหญ่ กั้นแม่น้ำลำโดมใหญ่ แม่น้ำสาขาของแม่น้ำมูน

          ในแม่น้ำโขงเขตรอยต่อไทย – ลาว บริเวณ จ.เชียงราย โครงการใหญ่ที่คุกคามลุ่มน้ำโขงโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียให้การสนับสนุน คือ โครงการผันน้ำ กก – อิง – น่าน มีแนวคิดที่จะสร้างเขื่อน สร้างอุโมงค์ เพื่อผันน้ำไปเก็บไว้ที่เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ โครงการนี้จะปิดตายลุ่มน้ำอิงทั้งระบบอันเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง

โครงการระเบิดแก่งหินในแม่น้ำโขง

          โครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือ ในแม่น้ำหลานซางหรือแม่น้ำโขง เป็นแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ประเทศจีนเป็นผู้ผลักดันโครงการดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อให้สามารถเดินเรือจากเมืองซือเหมา มณฑลยูนนานของจีน ลงมายังแม่น้ำโขงตอนล่าง ผ่านพม่า ลาว และไทย ไปยังหลวงพระบาง

          ผลจากการสำรวจเส้นทางเดินเรือเมืองซือเหมา มลฑลยูนนาน ถึงเมืองหลวงพระบางประเทศลาว ระยะทาง ๘๘๖.๑ กิโลเมตร ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ผู้แทนจากประเทศจีนมีความเห็นว่า หากต้องปรับปรุงเส้นทางเดินเรือ ให้สามารถขนส่งสินค้าได้ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ตัน เกาะแก่ง หาดดอน เป็นอุปสรรคที่สำคัญ ต้องระเบิดเพื่อทำลาย โดยรัฐบาลจีนยินดีที่จะสนับสนุนงบประมาณ จำนวน ๒๐๐ ล้านหยวน ระหว่างการหารือผู้แทนจีนอาศัยอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศเป็นแรงผลักดัน

          รายงานสำรวจความเหมาะสมเบื้องต้นของโครงการระเบิดแก่งปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้ข้อสรุปว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ ประกอบกับจีนมีความพร้อมทางด้านเทคนิค จึงมีการศึกษาเพิ่มเติม และประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๔ ใช้เวลาเก็บข้อมูลภาคสนามเร่งด่วนเพียง ๑ เดือน นับเป็นรายงานการศึกษาที่ไม่มีมาตรฐานทางวิชาการ โดยมีการเสนอให้ดำเนินการ ๓ ระยะ

          ระยะแรก ระเบิด ๑๑ แก่ง และ ๑๐ กลุ่มหินใต้น้ำเพื่อให้เรือระวางบรรทุกอย่างต่ำ ๑๐๐ ตัน ได้ในระยะเวลาอย่างต่ำ ๙๕% ในรอบหนึ่งปี ให้เสร็จสิ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยในระยะแรกมีแก่งที่อยู่บริเวณพื้นที่ประเทศไทย คือ คอนผีหลง

          ระยะที่สอง ระเบิดและขุดลอกสันดอน ๕๑ แห่ง เพื่อให้สามารถเดินเรือระวางบรรทุกอย่างต่ำ ๓๐๐ ตัน ระยะเวลาอย่างต่ำ ๙๕% ในรอบหนึ่งปี ในระยะที่สองมีแก่งที่อยู่ในบริเวณประเทศไทย ตั้งแต่ อำเภอเชียงแสน เชียงของ เวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ๙ แห่ง

          ระยะที่สาม ปรับปรุงร่องน้ำให้มีลักษณะคล้ายคลองเพื่อให้สามารถเดินเรือระวางบรรทุก อย่างต่ำ ๕๐๐ ตัน เป็นระยะเวลาอย่างต่ำ ๙๕% ในรอบหนึ่งปี

          นอกเหนือจากการระเบิดแก่งปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือ ได้มีการกำหนดข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง เพื่ออำนวยความสะดวกกับเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ เช่น มาตรา ๑ ในบทบัญญัติทั่วไป ข้อ ๑.๕ ระบุว่า ไม่อนุญาตให้ทำการขุดดิน หิน ทราย วางตาข่ายจับปลา และเคลื่อนย้ายไม้ไผ่ หรือซุงลอยน้ำในบริเวณร่องน้ำ ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายทั้งทางตรงและทางอ้อมในร่องน้ำที่สามารถเดินเรือได้ ฯลฯ หมายความว่าภายหลังจากการปรับปรุงร่องน้ำเสร็จสิ้น แม่น้ำโขงต้องเป็นแม่น้ำเพื่อการเดินเรือเท่านั้น

          แม้จะมีเสียงทักท้วงจากชุมชนท้องถิ่น นักวิชาการ องค์การระหว่างประเทศ ต่อผลกระทบในระยะยาวที่จะเกิดขึ้น รัฐบาลจีนกลับไม่สนใจ ยังดำเนินการต่อเนื่องในพื้นที่แม่น้ำโขงตอนบน แต่การดำเนินการมิได้ราบรื่นนักเพราะอุปสรรคทางธรรมชาติ และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

          ทีมวิศวกรจีนรับผิดชอบการวางระเบิดทำลายแก่งหินกลางลำน้ำโขง ได้วางแผนระยะเวลาการระเบิดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ – เมษายน ๒๕๔๖ ยกเว้นฤดูน้ำหลากในเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม ๒๕๔๕ ระเบิดรอบแรกไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคม – เมษายน ๒๕๔๕ โดยทีมวิศวกรจากจีนเข้าไประเบิดแก่งหินกลางแม่น้ำโขงบริเวณรอยต่อพม่า – ลาว ในช่วงเดือนธันวาคม ๒๕๔๕ – เมษายน ๒๕๔๖ ซึ่งการดำเนินการรอบสองมีความคืบหน้าไปถึง ๑๐๐% และมีแผนจะระเบิดในช่วงหน้าแล้งของปี ๒๕๔๗ ซึ่งดำเนินการระเบิดแก่งระยะที่สองในเขตกัวเหล่ยของจีนถึงเชียงกกของลาวไปแล้ว เมื่อปลายเดือนมกราคม ๒๕๔๗ ส่งผลให้ระดับน้ำในเขตไทย – ลาว โดยเฉพาะเชียงแสน เชียงของ เวียงแก่นผันผวนอย่างหนัก ระดับน้ำขึ้นลงต่างกันในวันเดียวกว่าหนึ่งเมตร

          ทั้งนี้ในเขตรอยต่อแม่น้ำโขงไทย – ลาว แก่งหินที่จะถูกระเบิดเพื่อรองรับการเดินเรือในแม่น้ำโขง คือ แก่งคอนผีหลวง (Khon Pi Luang) ซึ่งยังไม่มีการระเบิดเพราะติดปัญหาเรื่องความมั่นคงชายแดนในการปักเขตแดนยังไม่แล้วเสร็จ อยู่เขตอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ตรงข้ามกับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว

          เป้าหมายของการระเบิดแก่งคอนผีหลงและแก่งอื่น ๆ ซึ่งเป็นแผนระยะแรกนั้น เพื่อให้เกิดร่องน้ำการเดินเรือมีความลึก อย่างน้อย ๑.๕ เมตร กว้างไม่ต่ำกว่า ๒๒ เมตร ให้เรือขนาดระวางไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ตัน เดินเรือได้ตลอดทุกฤดูกาล

          คำว่าไม่ต่ำกว่าในที่นี้ หมายความว่าสามารถระเบิดให้กว้างขึ้น ลึกขึ้นและให้เรือขนาดระวางมากกว่า ๑๐๐ ตันขึ้นไปเดินเรือได้ และต้องจดจำไว้เสมอว่า สาเหตุหนึ่งที่ต้องระเบิดแก่งทิ้งเพราะความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการเดินเรือในแม่น้ำโขง ที่ปรารถนาจะเดินเรือในหน้าแล้งได้อย่างสะดวก ตามปกติหน้าแล้งในแม่น้ำโขงเดินเรือได้ยากลำบาก เพราะมีเกาะแก่งหินตามธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมาก

          หากการพัฒนาในระยะแรกดำเนินการไปได้จะมีการพัฒนาต่อเนื่องเข้าสู่ระยะที่สอง ซึ่งจะมีการระเบิดแก่งและขุดลอกสันดอนอีก ๕๑ แห่ง เพื่อให้เรือระวางบรรทุกไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ตัน เดินทางได้ทุกฤดูกาล

          สุดท้ายจะต้องพัฒนาปรับปรุงให้แม่น้ำโขงมีลักษณะคล้ายคลอง เปิดเส้นทางให้เรือระวางบรรทุกไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ ตัน จากท่าเรือซือเหมาประเทศจีน ถึงเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว รวมระยะทาง ๘๖๑.๑ กิโลเมตร

          หลังการพัฒนาเสร็จสิ้นคือ ระเบิดแก่งหิน และสันดอนทรายครบตามแผนที่ได้วางไว้แล้ว แม่น้ำโขงจะต้องถูกใช้เพื่อการเดินเรือนานาชนิดได้อย่างอิสระ สะดวก สบาย ภายใต้ระบบการค้าแบบทุนนิยม และต้องไม่มีการวางตาข่ายดักปลา เก็บขอนไม้ลอยน้ำ ขุดดิน หินทราย โดยคนในชุมชนริมฝั่งโขงอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดอันตรายทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนในเรือ

          นั่นหมายความว่า วิถีชีวิตของชุมชนริมฝั่งโขงอย่างที่ดำเนินมาเนิ่นนานจะถูกห้ามไม่ให้มีอีกต่อไป

          แต่สำหรับชาวบ้านและชุมชนริมฝั่งโขงใน จ.เชียงรายนั้น ลำพังแค่มีการสร้างท่าเรือ และการเดินเรือระวาง ๕๐ – ๑๐๐ ตัน ในบริเวณนี้ส่งผลกระทบมากมายกับชุมชนและระบบนิเวศน์อย่างรุนแรงมากเกินพอแล้ว ซึ่งไม่นับรวมในช่วงที่มีการระเบิดแก่งในเขตจีน พม่า ลาวนั้น ส่งผลให้กระแสน้ำผันผวนเปลี่ยนแปลงจนชาวประมงไม่สามารถหาปลาได้อย่างปกติ รวมทั้งในหน้าน้ำหลากมีผลให้ชายฝั่งแม่น้ำโขงในเขตไทย–ลาวพังทะลายอย่างรุนแรง เพราะน้ำไหลเชี่ยวแรงขึ้นกว่าเดิม เพราะไม่มีหินผา เกาะแก่งค่อยกั้นน้ำในตอนบนเหมือนแต่ก่อน

การค้าเสรี : เสรีของใคร

โครงการพัฒนาสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ

          การเดินเรือสินค้ามากมายจากประเทศจีนเข้าสู่ประเทศไทย เป็นหนึ่งในแผนพัฒนาโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ โครงการนี้มีแนวความคิดที่จะพัฒนาพื้นที่จังหวัดเชียงรายให้มีการจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยมองเห็นว่า จ.เชียงราย มีศักยภาพที่จะเป็นประตูการค้าติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านนานาชาติ โดยเฉพาะประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ๖ ประเทศ คือ จีน พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย หรือที่เรียกกันว่า กลุ่มประเทศ GMS (Great Mekong Subregion) ให้สามารถเชื่อมโยงกับชุมชนศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ และเปิดติดต่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน

          ในแผนนี้มีการกำหนดกิจกรรมและโครงการ รวมทั้งโครงการก่อสร้างทั้งหลายเพื่อรองรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมุ่งเน้นไปที่ ๓ อำเภอหลักใน จ.เชียงราย คือ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน อ.เชียงของ

          ในด้านของอุตสาหกรรม โครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจเห็นว่า ควรมีการดำเนินการจัดตั้งเขตประกอบอุตสาหกรรมทั่วไปและอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก รวมทั้งการจัดการสินค้า ใน อ.เชียงของ ควรพัฒนาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตรครบวงจรและเขตอุตสาหกรรมทั่วไป

          ในการพัฒนาให้เป็นเขตอุตสาหกรรมนั้น แผนนี้กำหนดว่า ต้องมีการสร้างท่าเทียบเรือ ปรับปรุงถนน และสร้างเขตประกอบการอุตสาหกรรมเชียงแสนและเชียงของ มีการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบระบาย และป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น

          บทเรียนการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ อ.เชียงของ ได้ทำให้แม่น้ำโขงของฝั่งไทยพังทลายมา ขณะที่ตะกอนกลับไปทับถมร่องน้ำทางฝั่งลาวจนตื้นเขิน และทำให้เกิดการ “มูน” หรือมีการทับถมของทราย เกิดเป็นดอนกลางลำน้ำโขงขึ้นใหม่

          การสร้างท่าเรือแห่งนี้ รวมทั้งที่ อ.เชียงแสนทางตอนเหนือขึ้นไป ได้กลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศเนื่องจากได้มีการสร้างท่าเรือทั้ง ๒ แห่งล้ำเข้าไปในลำน้ำจนทำให้ลาววิตกกังวลเกี่ยวการเปลี่ยนแปลงร่องน้ำ ท่าเรือทั้ง ๒ แห่งนี้ถูกผลักดันในการประชุมหอการค้าทั่วประเทศที่ จ.เชียงราย ในสมัย นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ และนำไปสู่การอนุมัติงบประมาณกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค เพื่อก่อสร้างท่าเรือทั้งที่เชียงแสนและเชียงของ แต่กระแสน้ำโขงที่เชียวกรากได้พัดพาเอาท่าเรือเชียงแสนที่มีมูลค่า ๑๔ ล้านบาทพังลงทันทีที่ก่อสร้างเสร็จ

          ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ – ๒๕๔๑ กรมเจ้าท่าได้เสนอโครงการของบก่อสร้างท่าเรือแม่น้ำโขงใหม่ ทั้งที่เชียงของและเชียงแสนในงบประมาณ ๒๐๕ ล้านบาท เป็นงบออกแบบ ๕ ล้านบาท แต่โครงการนี้ก็ประสบปัญหาที่ไม่คาดคิดมาก่อนนั้นคือ ระหว่างการก่อสร้าง ลาวได้มีการคัดค้านการก่อสร้างท่าเรือทั้ง ๒ แห่ง เนื่องจากการออกแบบท่าเรือ ได้ยื่นออกไปในลำน้ำโขงเกินเขตแดนของลาวโดยไม่ได้มีการปรึกษาหรือขออนุญาตก่อน หลังการเจรจาระหว่างไทยกับลาวต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ลาวจึงยอมให้ก่อสร้างท่าเรือเชียงของได้ โดยอนุญาตให้สร้างล้ำเข้าไปในเขตแม่น้ำได้แต่ต้องลดระยะลง เป็นเหตุให้ต้องทุบทิ้งท่าเรือเชียงของที่เพิ่งสร้างได้ไม่กี่ปีทิ้งอีก ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมให้สร้าง

          ท่าเรือเชียงแสนที่ยังคงไม่ยอมแก้แบบก่อสร้าง และแม้ท่าเรือเชียงแสนจะสร้างเสร็จเรียบร้อยและเปิดใช้งานในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ ทว่ามีเรือขนส่งไม่กี่ลำเข้ามาเทียบท่า ส่วนใหญ่จะไปใช้ท่าเรือของเอกชน

เขตการค้าเสรีอาเซียนไทย – จีน

          อาเซียน (สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) จัดตั้งเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๐ ในยุคสงครามเย็นและสงครามเวียดนาม ท่ามกลางความไม่มั่นคงของภูมิภาค ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริม สันติภาพ ความร่วมมือและความมั่นคงในภูมิภาค อีกทั้งเป็นยุทธศาสตร์ต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยมีบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ในปี ๒๕๓๘ เวียดนามได้เข้าเป็นสมาชิก ตามด้วยลาวและพม่า ในปี ๒๕๔๐ และกัมพูชา ๒๕๔๒

          การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนมีขึ้นในปี ๒๕๓๔ ตามข้อเสนอของประเทศไทย และเริ่มดำเนินการในปี ๒๕๓๕ เพื่อการส่งเสริมตลาดการค้าเสรี การลดและค่อย ๆ เลิกเก็บภาษีและมาตรการเงื่อนไขอื่น ๆ ที่เป็นอุปสรรคทางการค้า โดยหลักทางการค้าเสรีคือ การลดการอุดหนุนการส่งออก การลดการอุดหนุนการผลิต และการทำลายกำแพงภาษีที่มีต่อกัน ทำให้ระบบการผลิตทุกภาคส่วนกลายเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์ที่แข่งขันเอากำไรสูงสุดเป็นหลัก และเพิ่มความกดดันกับความยากลำบากต่อระบบการผลิตแบบเดิมโดยเฉพาะระบบเกษตรแบบยั่งยืน

          เขตการค้าเสรีอาเซียนไทย – จีน รัฐบาลไทยมีมติผ่านกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียนไทย – จีน ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยเริ่มลดภาษีภายในปี ๒๕๔๘ เสร็จสมบูรณ์ในปี ๒๕๓๓ โดยครอบคลุมสินค้าทางการเกษตรกลุ่มแรกภายใต้พิกัดศุลกากร ๐๑–๐๘ ที่สำคัญ เช่น สัตว์มีชีวิต เนื้อสัตว์ ปลา และอาหารทะเล ผัก ผลไม้ และผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น โดยกำหนดให้เริ่มลดภาษีภายในวันที่ ๑ ม.ค. ๒๕๔๗ และด้วยการผลักดันของฝ่ายไทยกับจีน โดยไม่มีการปรึกษาความคิดเห็นของเกษตรกรหรือชาวบ้านทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี รัฐบาลของทั้งสองประเทศได้ลงนามเปิดเขตการค้าเสรีทวิภาคีระหว่างไทย – จีน เริ่มจากลดภาษีผักผลไม้ระหว่างกันเหลือเพียง ๐ % ให้มีผลบังคับตั้งแต่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๖

          ในปัจจุบันการพัฒนาแม่น้ำโขงมีปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนมากกว่าอดีต ที่มักแฝงอยู่ภายใต้การเข้ามาของกองทัพต่างชาติ การพัฒนาในวันนี้จึงเป็นการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขง ไปใช้เป็นทุนในการฟื้นฟูประเทศด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง หลังสงครามภายในภูมิภาคนี้ยุติลง การพัฒนาในวันนี้เป็นสงครามแย่งชิงทรัพยากรในระดับข้ามชาติ ข้ามประเทศ ในชื่อที่เรียกว่า “การค้าเสรี” ซึ่งดำเนินตามหลักการของการแย่งชิงแข่งขัน ให้ผู้ที่มีความเข้มแข็งเท่านั้นยั่งยืนอยู่ได้ในลู่วิ่งของโลกใหม่ที่ชื่อว่า “โลกาภิวัตน์” โดยโลกใหม่เร่งแข่งขันกันจนได้หลงลืมฐานชีวิตเดิมของแต่ละคนหรือประเทศ ได้ลืมต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนริมแม่น้ำ

          การพัฒนาแม่น้ำโขงที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอยู่ในลักษณะการตอบสนอง “การค้าเสรี” สุดขั้ว แต่ไม่ตอบสนอง “การค้าที่เป็นธรรม” ของคนในท้องถิ่นต่าง ๆ ในลุ่มน้ำโขง

          การค้ามีหลักเหตุผลที่สำคัญยิ่งอยู่ที่ว่าต้นทุนต้องต่ำและต้องได้กำไรสูง พ่อค้า นักธุรกิจทุกคนต้องการภาวะการค้าแบบนี้ แต่ไม่ใช่ว่าโลกนี้จะมีแต่พ่อค้านักธุรกิจ โลกยังมีคนกลุ่มอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น เกษตรกร ชาวประมง ข้าราชการ ศิลปิน ฯลฯ ดังนั้นการที่การค้าจะให้ประโยชน์กับคนทุกกลุ่ม ทุกระดับจึงจำเป็นต้องมีหลักคิดในนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ รวมไปถึงเรื่องต้นทุนที่ต่ำที่สุดนั้น มาจากต้นทุนที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติซึ่งประเมินค่าไม่ได้ ไปเป็นจำนวนมากมายมหาศาลเท่าไหร่

          หากมองในแง่นี้ ต้นทุนในการระเบิดแก่งจากซือเหมาในจีน มาจนถึงเชียงของและหลวงพระบางเ ป็นต้นทุนที่ทำลายทรัยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมของคนลุ่มน้ำโขง ๑๐๐ ล้านคนอย่างรุนแรง และการค้าทางเรือก็ไม่สามารถสู้ต้นทุนการขนส่งทางบกในระยะยาวดังที่กล่าวถึงข้างต้น

          ไม่ใช่เฉพาะการค้าฝ่ายไทยที่ต้องทนแบกรับภาระน้ำมันเรือที่สูงกว่า เพราะต้องทวนน้ำบรรทุกสินค้าขึ้นไป อีกทั้งการใช้เรือพาณิชย์แม่น้ำโขงยังมีข้อจำกัดทางเทคนิคอีกมากมาย เรือพาณิชย์ไทยยังไม่มีประสบการณ์การเดินเรือในแม่น้ำโขงเทียมเท่ากับจีน ด้วยเหตุนี้การประกาศเขตการค้าเสรีไทย – จีนที่มีผลมาตั้งแต่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ ซึ่งมีผลส่งให้สินค้าผักผลไม้ลดภาษีลงเป็น ๐% ทำให้การค้าสินค้าเกษตรของไทยไม่สามารถสู้จีนได้เลยจากรายงานล่าสุด “แนวโน้มราคาและภาวะสินค้าเกษตรกรปีวอก*” โดยมณีวรรณ ช่วยเต็ม (* โพสต์ทูเดย์, วันอาทิตย์ที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๗) เขียนถึงคำกล่าวของเลขาธิการสำนักเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ว่าจากการเปิดเสรีสินค้าเกษตรจำพวกพืชผักระหว่างไทยจีนหรือที่เรียกว่า เขตการค้าเสรีไทย – จีน (FTA Thai – Chaina) ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ไทยได้รับผลกระทบจากสินค้าเกษตรของจีนราคาถูกกว่ามาตีตลาดในพืชกระเทียมและหอม และยังมีรายงานสถิติของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ในปี ๒๕๔๔

          ประเทศไทยได้เปรียบการค้าประเทศจีนเป็นจำนวนเงิน ๕๐๐ ล้านบาท แต่ภายในครึ่งปีแรกของปี ๒๕๔๕ หลังจากจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) เรือสินค้าของประเทศจีนที่เข้ามาท่าเรืออำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และกระจายสินค้าไปทั่วประเทศ ด้วยข้อได้เปรียบที่ต้นทุนถูก ทำให้ราคาถูกกว่า ส่งผลให้จีนได้เปรียบดุลการค้ากับประเทศไทย

 

ระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง

          แม่น้ำโขงบริเวณรอยต่อพรมแดนไทย – ลาว ทางภาคเหนือของประเทศไทย เต็มไปด้วยเกาะแก่ง หาด ดอนทราย จำนวนมาก พื้นที่บริเวณนี้จึงมีเกาะแก่ง และดอนทรายที่อยู่ในแผนการระเบิดทิ้งในโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ ๙ จุด นับตั้งแต่จุดสามเหลี่ยมทองคำ จนถึงเขตผาได ก่อนแม่น้ำโขงจะไหลเข้าสู่ประเทศลาว

          แก่งที่อยู่ในแผนการระเบิดนี้ทีมวิศวกรจากประเทศจีนเรียกว่า “เป็นพื้นที่มีแก่งอันตราย สันดอน และหินโสโครก” นิยามความหมายแก่งของนักพัฒนาถูกมองว่าเป็นเครื่องกีดขวางการเดินทางได้อย่างสะดวกของเรือขนส่ง

          แต่สำหรับชุมชนและธรรมชาติของแม่น้ำโขงแล้ว แก่งหินเหล่านี้คือระบบนิเวศน์ ที่ประกอบไปด้วยระบบนิเวศน์ย่อยมากมายที่เอื้อประโยชน์ต่อปลาในแม่น้ำโขง และป้องกันการพังทลายชายฝั่งตลอดจนเป็นที่พักพิงของคนหาปลา และกักเก็บน้ำในฤดูแล้ง

          มีชื่อเรียกระบบนิเวศน์ของสภาพเกาะแก่งในแม่น้ำโขง ที่มีสภาพสลับซับซ้อนและมีลักษณะเฉพาะในชื่อต่าง ๆ ที่เป็นระบบนิเวศน์ย่อย ดังนี้ แก่ง ผา ดอน หาด คก หลง หนอง

          “ดอน” มีสภาพเป็นเกาะกลางน้ำ เกิดจากทรายและก้อนหินขนาดเล็กมากมายที่แม่น้ำโขงพัดมาทับถม บริเวณดอนมีระบบนิเวศน์ของพืชริมน้ำ โดยมีพืชหลักคือ แขม อ้อ ไคร้ พืชตระกูลเฟิร์น พืชเหล่านี้จมอยู่ใต้น้ำหลายเดือนในช่วงฤดูกาลน้ำขึ้นซึ่งจมอยู่ในระดับความลึก ๘ – ๑๐ เมตร พืชที่จมน้ำนี้จะเปื่อยยุ่ย กลายเป็นอาหารของปลา และยังเป็นที่พักอาศัยและวางไข่ของปลาด้วย ซึ่งเมื่อถึงฤดูกาลน้ำลดพืชเหล่านี้จะฟื้นกลับคืนมา เมื่อดอนโผล่พ้นน้ำ บริเวณดอนยังมี “หลงน้อย” มีลักษณะเป็นหลุมเล็ก ๆ กว้างประมาณ ๑ – ๓ เมตร ลึกไม่เกิน ๑ เมตร เป็นที่วางไข่ของปลาเช่นกัน

          “ผา” คือแก่งหินที่มีลักษณะเป็นแท่งหินตั้งอยู่ในแม่น้ำโขง อาจอยู่ใกล้ฝั่ง หรือกลางแม่น้ำ ผาบางแห่งประกอบด้วยชุดของแก่งหินที่อยู่ใต้น้ำ เช่น ผาหลัก ผาบางแห่งมีสันดอนทรายอยู่รอบ ๆ ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำจึงมีพืชริมน้ำขึ้นอยู่ เช่น ผาฟ้า บริเวณดอนที่อยู่รอบ ๆ มีพืช คือ ต้นไคร้ ต้นไคร้หางนาคขึ้นอยู่จำนวนมาก ผาในแม่น้ำโขงบริเวณนี้จมอยู่ใต้น้ำในฤดูน้ำหลาก และโผล่เหนือน้ำในฤดูน้ำลดเช่นกัน

          “แก่ง” คือชุดกลุ่มหินกลางแม่น้ำโขงที่มีความสลับซับซ้อนและมีร่องน้ำลึก ในฤดูน้ำลดแก่งจะโผล่พ้นน้ำ บริเวณซอกหินของแก่งซึ่งมีตะกอนทรายที่น้ำพัดมาทับถมจะมีพืชน้ำขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น โดยเฉพาะไคร้ บริเวณที่จมอยู่ใต้น้ำจะเป็นแหล่งกำเนิด “ไก” ซึ่งเป็นสาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่ง

          “หาด” เกิดบริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง แต่ละหาดอาจยาวนับกิโลเมตร บริเวณดังกล่าวนี้นอกจากปกคลุมด้วยทรายแล้ว ยังมีก้อนหินขนาดเล็กมากมาย ก้อนหินเหล่านี้จะเป็นแหล่งกำเนิดไก เช่นเดียวกับแก่งหินใต้น้ำ หาดทรายยังเป็นที่อาบน้ำเล่นทรายของนกอีกด้วย

          “คก” คือบริเวณหลุมลึกที่กระแสแม่น้ำโขงไหลวนอยู่ริมฝั่ง คกแต่ละแห่งมีความลึกมาก อาจจะลึกได้ถึง๑๐ เมตร คกที่สำคัญ เช่น คกลิง คกปวก เป็นต้น

          “หลง” สองฝั่งแม่น้ำโขงมีพื้นที่คล้ายคกแต่กระแสน้ำนิ่ง หลงมีขนาดกว้างไม่มาก ประมาณ ๕ เมตร บริเวณนี้อุณหภูมิของน้ำจะอุ่นซึ่งแตกต่างกับแม่น้ำโขงที่น้ำเย็น หลงเป็นแหล่งกำเนิด “เตา” ซึ่งเป็นตะไคร่น้ำชนิดหนึ่ง

          “หนอง” เป็นระบบนิเวศน์ย่อยที่แฝงอยู่ในระบบนิเวศน์แก่ง ดอน และหาด เป็นช่วงที่น้ำกินวงโค้งลึกเข้าไป คล้ายหลงแต่มีขนาดใหญ่กว่า ถ้ามีขนาดเล็กชาวบ้านจะเรียกว่า หลง เช่น หาดห้วยหม่อนทางฝั่งลาว มีหนองแม่ม่าย และหนองเป๊าะ เป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำโขง มีหนองมากมายในแม่น้ำโขง เช่น หนองแม่ม่าย หนองเป๊าะ หนองข้าวตอก กระแสน้ำของแม่น้ำโขงทำให้หนองเปลี่ยนสภาพหรือหายไปก็มี เช่น หนองปู่ขัน บริเวณบ้านดอนที่ ซึ่งจากกระแสน้ำที่เปลี่ยนทำให้ปัจจุบันเหลือเพียงชื่อ แต่ชาวเรือ และคนหาปลายังรู้จักกันดี ในหนองเป็นน้ำนิ่ง เป็นที่อยู่อาศัยและวางไข่ของปลาขนาดเล็ก และกุ้งแม่น้ำโขง

          นอกจากนั้นแล้ว ดอน แก่ง และผา คือโครงสร้างทางกายภาพตามธรรมชาติที่ทำหน้าที่บังคับให้น้ำในแม่น้ำโขงไหลไปตามร่อง ซึ่งเป็นการรักษาสภาพลำน้ำให้เป็นร่องลึก หากมีการระเบิดแก่ง ผาและขุดลอกดอนจะเท่ากับเป็นการทำลายตัวบังคับน้ำตามธรรมชาติ แก่งบางแห่งจะทำหน้าที่ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำโขงที่ไหลเชี่ยวในฤดูฝนซึ่งมีความเร็วได้ถึง ๒๐ – ๒๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมงพุ่งเข้าทำลายชายฝั่งของแม่น้ำ

คอนผีหลงและความเชื่อ

          การเรียกชื่อลักษณะภูมิศาสตร์ในแม่น้ำโขงนั้นมีความแตกต่างกันไปตามภาษาถิ่น และความเชื่อของคนท้องถิ่น แก่งในแม่น้ำโขงที่เป็นพรมแดนระหว่างไทยและลาว จึงมีทั้งชื่อที่เรียกเหมือนกันและต่างกัน คอนผีหลงก็เช่นกัน เป็นชื่อแก่งที่คณะผู้สำรวจจากประเทศจีนอ้างอิงเอาตามคำเรียกของคนลาวท้องถิ่นในบริเวณนั้น คอนผีหลงเป็นบริเวณที่อยู่ระหว่างบ้านดอนที่ บ้านผากุบ บ้านเมืองกาญจน์ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีความยาวตามลำน้ำประมาณสิบกิโลเมตร

          คนลาวเรียกว่า คอนผีหลง ไม่ใช่ คอนผีหลวง (Kon Pi Luang) เช่นที่แปรสำเนียงเพี้ยนมาจากภาษาอังกฤษ คำว่า คอน ในพจนานุกรม อีสาน ไทย อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ มีความหมายว่า “น. ร่องน้ำลึก ที่น้ำตก แม่น้ำที่มีสันดอนสูง น้ำไหลไปเป็นร่องลึก เรียกคอน ถ้าน้ำไหลไป ๒ ร่องมีสันดอนอยู่ตรงกลาง เรียก สองคอน เช่น สองคอนในแม่น้ำโขง”

          ดังนั้น คอนผีหลวงในที่นี้ จึงมีความหมายว่า เป็นช่องน้ำ หรือร่องน้ำที่ผีหลง ผีในความนี้ คือคนตายหรือศพ ชุมชนไทยริมแม่น้ำโขงบางกลุ่มก็เรียกคอนผีหลงนี้ว่า แสนผี

          สาเหตุที่เรียก เกาะ แก่งหิน บริเวณนี้ว่าเป็นคอนผีหลง หรือแสนผีเนื่องมาจาก ประเพณีของคนลาวบางกลุ่มชาติพันธุ์ทางเหนือขึ้นไปตามแม่น้ำโขง เมื่อมีคนตายในหมู่บ้าน มีความเชื่อว่า การส่งศพคนตายมากับแพลอยตามลำแม่น้ำโขง คนที่ตายก็จะได้ไปสู่สรวงสวรรค์ เป็นประเพณีที่คล้ายกันกับประเพณีลอยศพคนตายในแม่น้ำคงคา ประเทศอินเดีย

          เมื่อศพลอยพัดหลงเข้ามาถึงบริเวณจุดที่มีแก่งหินสลับซับซ้อนซึ่งมีมากในบริเวณคอนผีหลง แรงปะทะของน้ำโขงกับแก่งหิน ทำให้แพพลิกคว่ำ ศพคนตายก็ไหลมาติดตรงแก่ง หาด ดอน ตรงวังน้ำวนบ้าง จนเรียกกันติดปากว่าเป็นคอนผีหลง คือ ช่องน้ำที่ผีมาหลงมาวนอยู่ตรงนี้

          ชาวบ้านผากุบ ฝั่งไทย เล่าว่า หลายครั้งที่คนหาปลาเห็นแพลอยมากับน้ำ มีเครื่องใช้ไม้สอย ที่นอนหมอนมุ้งครบถ้วน คนหาปลาบางคนไปเก็บมาใช้บ้างก็มี ไม่ถือเป็นเรื่องการลักขโมยแต่อย่างใด

          ขณะเดียวกัน ชุมชนไทยริมฝั่งโขงก็มีชื่อเรียกกลุ่มแก่งหินนี้ต่างออกไป โดยเรียกตามความเชื่อ รูปร่างและลักษณะบางอย่างของหาด ดอน แก่งหิน และผาหิน ไม่ได้เรียกรวมทั้งกลุ่มเป็นชื่อเดียวกันอย่างที่คนลาวเรียก ดังนั้น คอนผีหลงของลาว จึงประกอบไปด้วย แก่ง และผาหินในชื่อไทยดังนี้

          ดอนสะเล็ง ดอนทรายกลางลำน้ำโขง มีกลุ่มหินใต้น้ำรายรอบมาก ผิวน้ำจึงไม่ราบเรียบ “เป็นคลื่น เป็นสะเล็ง” เรือที่ผ่านช่วงนี้จะเจอกับคลื่นและกระแสน้ำหลาก

          ดอนร้องไก คือบริเวณหนึ่งที่ร่องน้ำผ่านตรงกลางดอน เป็นถิ่นกำเนิดของไก สาหร่ายน้ำจืด ร้องก็คือร่องน้ำ

          ผาหลัก แก่งหินที่มีลักษณะคล้ายกับเสาหินปักลงกลางน้ำ

          ผาฟอง เป็นบริเวณที่มีแก่งหินใต้น้ำจำนวนมาก เมื่อกระแสน้ำไหลผ่านจะเกิดฟองอากาศตลอดเวลา เท่ากับการเติมออกซิเจนในน้ำ ทำให้สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงได้

          ผาฟ้า เป็นแก่งหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบริเวณคอนผีหลง ตรงปลายยอดตั้งตระหง่าน น้ำท่วมไม่ถึง ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตย์ของเหล่านางฟ้า

          หาดฮ้าย ฮ้ายแปลว่าร้าย หรืออันตราย เป็นบริเวณที่น้ำไหลเชี่ยวต้องระมัดระวังในการเดินเรือ

          ผาช้าง เมื่อมองจากกลางลำน้ำมายังฝั่งไทยจะมองเห็นแก่งหินรูปร่างคล้ายช้างหันหน้าเข้าหาฝั่ง บรรทุกสัมภาระไว้บนหลัง

          ผาเสือ มีลักษณะคล้ายเสืออยู่ริมฝั่งตรงข้ามกับผาช้าง (ปัจจุบันหัวเสือได้หักลงเนื่องจากการระเบิดหินเพื่อสร้างถนนในฝั่งลาว) ผาช้างและผาเสือเป็นสัญลักษณ์ทางธรรมชาติที่ช่วยคาดการณ์ว่า เมื่อใดที่ระดับน้ำขึ้นสูงถึงปากช้างคางเสือ ไม่ควรเดินเรือเพราะระดับน้ำที่สูงและเชี่ยว จะเกิดอันตรายถึงชีวิต

          ผาพระ ตำนานเล่าว่า สมัยโบราณ เจ้าลาวองค์หนึ่งจากหลวงพระบางล่องเรือผ่านผานี้ เกิดอุบัติเหตุเรือล่มทำให้ลูกชายเสียชีวิตจึงได้สลักรูปพระไว้บนหน้าผาเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย ปัจจุบันชุมชนสองฝั่งให้ความเคารพ เป็นสถานที่ทำพิธีทางศาสนาร่วมกันช่วงเทศกาลสงกรานต์

          ผากันตุง มีลักษณะคล้ายแท่นปักธงชัย กันตุงคือคันธง

          โดยธรรมชาติของแม่น้ำโขง เกาะ แก่ง ดอน ผา หาด คก หลง เป็นแหล่งกำเนิดพรรณพืชที่เป็นอาหารและที่อยู่อาศัยของปลา ชาวประมงหาเหยื่อจากระบบนิเวศน์เหล่านี้ ทั้งจากสัตว์น้ำขนาดเล็ก ตลอดจนถึงพรรณพืช ที่สำคัญแก่งยังเป็นฝายทดน้ำโดยธรรมชาติ ช่วยลดความเร็วของกระแสน้ำ ช่วยเก็บกักน้ำในช่วงฤดูแล้ง พรรณพืชที่ขึ้นบริเวณแก่ง เป็นแหล่งอาหารของชุมชน บางชนิดเป็นยารักษาโรคได้ และเกาะ แก่ง ดอน ผา หาด คก หลง ยังมีทัศนียภาพที่สวยงาม จนมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางมาล่องเรือเล็กชมความงดงามของลำน้ำโขง

          ความเชื่อที่ชุมชนริมฝั่งโขงมีต่อเกาะแก่งหินแม่น้ำโขง ปรากฏออกมาเป็นชื่อเรียกที่ต่าง ๆ กัน ชุมชนสองฝั่งโขงมีความเชื่อว่า บริเวณเกาะแก่งบางแห่งมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตอยู่ มนุษย์มิอาจลบหลู่ดูหมิ่น หรือทำลาย เพราะจะทำให้เกิดภัยพิบัติ

          ความเชื่อและองค์ความรู้จากประสบการณ์ที่สืบทอดต่อกันมา เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของระบบนิเวศน์ย่อยในลุ่มน้ำโขงที่มีความสลับซับซ้อนและยิ่งใหญ่เท่านั้น

          กระนั้นก็ตาม แม่น้ำโขงเส้นเลือดหลักของชุมชนสองฝั่งโขงก็ถูกรุกเร้า เร่งเปลี่ยนแปลงไป สู่หายนะอยู่ตลอดมา

 

การพังทลายของชายฝั่ง

          ตลอดริมฝั่งแม่น้ำโขงนั้น ชุมชนบ้านเรือนที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณริมโขง เรียนรู้และมีประสบการณ์เกี่ยวกับแม่น้ำโขงที่กัดเซาะชายฝั่งเป็นอย่างดี บางปีแม่น้ำโขงที่พุ่งเร็วและแรงก็ทำลายที่ดินริมฝั่งมาก บางปีก็เกิดขึ้นน้อย ในรอบห้าสิบปีมานี้ เคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมหมู่บ้าน จนต้องย้ายหมู่บ้านหนี เช่นที่เคยเกิดขึ้นที่หมู่บ้านหาดบ้าย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ – ๒๕๑๐ เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรง ทำให้ตลิ่งพัง สร้างความเสียหายให้แก่บ้านเรือนและวัดเป็นอย่างมาก ชาวบ้านจึงได้อพยพโยกย้ายหนีน้ำท่วมไปอาศัยอยู่ที่อื่น

          แต่ทั้งหมดนั้น ไม่เคยมีครั้งใดที่การพังทลายของชายฝั่งริมโขงจะรุนแรงมากเท่ากับที่เกิดขึ้นตลอด ๕ ปีมานี้ ทุกปีแผ่นดินทั้งฝั่งไทยและลาวที่อยู่ริมแม่น้ำโขงจะพังทลายลงรุกล้ำแผ่นดินมากกว่า ๑๐๐ เมตร ขนาดของที่ดินซึ่งพังลงไป หมู่บ้านหนึ่ง ๆ ไม่ต่ำกว่า ๑ ไร่ ที่ดินริมฝั่งโขงหายไปในแม่น้ำโขงจำนวนมาก เช่นนี้ทุกปี ตลอด ๕ ปี ที่ผ่านมา

          เหตุการณ์นี้ เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่เคยมีครั้งใดที่แผ่นดินริมแม่น้ำโขงจะถล่มหายไปในอัตราเฉลี่ยต่อปีมากเท่ากับที่เคยเกิดขึ้นในช่วง ๕ ปีนี้ แม้ว่าครั้งหนึ่งบางหมู่บ้านเคยต้องย้ายหมู่บ้านเพราะแผ่นดินหายไปในแม่น้ำโขง แต่นั่นก็เพราะอุทกภัยทางธรรมชาติ อย่างรุนแรง แต่ ๕ ปีมานี้ไม่มีอุทกภัยที่รุนแรง แม้น้ำท่วมก็จริงแต่ไม่ใช่น้ำป่าที่ไหลหลากอย่างรุนแรงและรวดเร็วจนหมู่บ้านถูกจมมิด

          กล่าวได้ว่า ปัญหาการพังทลายของชายฝั่งไม่ใช่ปัญหาใหม่สำหรับชาวบ้าน แต่ ๕ ปีมานี้ สิ่งที่แปลกไปจากการพังทลายตามปกติ ที่เคยเกิดขึ้นในทุกปี นั่นคือขนาดพื้นที่การพังทลายเพิ่มมากขึ้น การพังทลายที่เร็วและรุนแรง ตลอดจนเงื่อนไขของการพังทลายที่แตกต่างกัน

          ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ บ้านดอนสวรรค์ แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หมู่บ้านแห่งนี้อยู่ริมแม่น้ำโขงทางท้ายน้ำ เยื้องกับบริเวณที่มีการก่อสร้างท่าเรือเชียงแสน ประเทศไทย ปรากฏว่ากระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวได้เปลี่ยนทิศทางพุ่งเข้ากัดเซาะตลิ่งและบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ตามชายฝั่ง ทำให้ต้องมีการอพยพชาวบ้านกว่า ๑๑๓ ครัวเรือนออกจากหมู่บ้าน และต้องย้ายหมู่บ้านไปตั้งที่อื่น

          เช่นเดียวกับที่บ้านห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ฝั่งลาว บริเวณท้ายน้ำเยื้องกับบริเวณที่ก่อสร้างท่าเทียบเรือเชียงของ ตลิ่งและถนนที่สร้างใหม่บางส่วนถูกพัดพาไปกับกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว

          นอกจากการก่อสร้างท่าเทียบเรือที่ทำให้กระแสทางน้ำเปลี่ยน จนพุ่งเข้ากัดเซาะทำลายตลิ่งอย่างรวดเร็วแล้ว ยังเป็นผลจากการดำเนินการพัฒนาหลายประการในแม่น้ำโขง ซึ่งล้วนส่งผลให้ตลิ่งถูกกัดเซาะและพังทลายอย่างรวดเร็วเพิ่มมากขึ้น

          การเปิดให้มีการขนส่งสินค้าทางเรือขนาดใหญ่ในบริเวณนี้ ทำให้คลื่นจากเรือพุ่งเข้ากระแทกและกัดเซาะทำลายตลิ่ง

          การระเบิดเกาะแก่งหินและสันดอนทราย ตั้งแต่ประเทศจีนลงมาจนถึงเขตรอยต่อพม่า – ลาว ก็ทำให้กระแสน้ำมีความเร็วและไหลเชี่ยวมากขึ้น เพราะไม่มีเกาะแก่งชะลอการไหลของน้ำ ทำให้น้ำพุ่งกัดเซาะทำลายชายฝั่งเพิ่มมากขึ้น

          การที่ระดับน้ำขึ้น–ลงอย่างผิดปกติก็เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ตลิ่งพังทลายเพราะน้ำขึ้นและลงในระดับที่ไม่เสมอกัน คือ ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ที่เมื่อเวลา

          น้ำขึ้นก็จะขึ้นเรื่อย ๆ จนทรงตัวอยู่ในระดับและเมื่อลงก็จะลดระดับลงไปเรื่อยจนอยู่ในระดับ แต่ปัจจุบันนับตั้งแต่มีเขื่อนในประเทศจีน การเปิด–ปิดประตูระบายน้ำของเขื่อนส่งผลให้ระดับน้ำแปรปรวน บางวันก็ขึ้นและวันต่อมาก็ลดลง

          เมื่อเป็นเช่นนี้ ตลิ่งที่อุ้มน้ำไว้ เมื่อน้ำลดลงทันที ดินที่อยู่ได้ เพราะน้ำคอยอุ้มไว้ต้องพังทลายลงมาอย่างรวดเร็ว

          เหล่านี้คือสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ ตลิ่งพังทลายเร็วผิดปกติ จนชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนตามมา ตลอดแม่น้ำโขงในเขตที่ทำการศึกษาใน อ. เชียงของและ อ. เวียงแก่น หมู่บ้านที่อยู่ติดริมแม่น้ำโขงทั้งฝั่งไทยและลาวประสบปัญหาตลิ่งพังทลายในเกือบทุกหมู่บ้าน แต่หมู่บ้านที่มีอัตราการพังทลายเพราะตั้งอยู่ในช่วงที่กระแสน้ำไหลพุ่งเข้ากัดเซาะในฝั่งไทย คือ บ้านดอนที่ บ้านเมืองกาญจน์ บ้านปากอิง บ้านห้วยลึก ในฝั่งลาวมีบ้านน้ำยอน บ้านปากงาว เป็นต้น

          การแก้ปัญหาด้วยการก่อสร้างทำนบกั้นตลิ่งพัง ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลานาน เพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ขณะเดียวกัน สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาการพังทลายของตลิ่งก็เป็นเรื่องในระดับนานาชาติ

          จากการเฝ้าสังเกตในพื้นที่เชียงแสน – เชียงของ – เวียงแก่น มีปัญหาการพังทลายของตลิ่ง จนชาวบ้านริมแม่น้ำเกิดความหวั่นวิตกเป็นอย่างมากและได้ร่วมกันเก็บข้อมูลเบื้องต้น พบว่า ในปี ๒๕๔๖ บ้านหาดบ้ายมีพื้นที่ที่สูญหายพังทลายไปกับแม่น้ำ ๗ ไร่ บ้านดอนที่ ๕ ไร่ บ้านปากอิง ๒ ไร่ และบ้านห้วยลึก ๓ ไร่ และหากคิดคำนวณความเสียหายจากเชียงแสนถึงเวียงแก่นเบื้องต้น ในระยะทางริมน้ำโขง ๘๔ กิโลเมตร เพื่อจะจัดสร้างเขื่อนกั้นดินพังทลายในราคากิโลเมตรละ ๔๐ ล้านบาท* (* ปี ๒๕๔๖ จากการก่อสร้างเขื่อนกั้นตลิ่งพังที่บ้านหาดไคร้ อ.เชียงของ ในราคา ๒๕๐ เมตร เป็นเงิน ๑๐ ล้านบาท) ฉะนั้นระยะทางจากเชียงแสนถึงเวียงแก่นจึงมีค่าเสียหายอย่างต่ำ ๓,๓๖๐ ล้านบาท แล้วเงินค่าเสียหายเหล่านี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้หรือ ?

          ปัจจุบันนี้ชุมชนริมฝั่งโขงอาศัยอยู่ด้วยความหวาดกลัวว่า หากเหตุการณ์ยังเป็นเช่นนี้อยู่ต่อไป พวกเขาคงต้องย้ายหาที่อยู่ใหม่กันอีกครั้ง

 

ความมั่นคงทางอาหาร

          องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติให้นิยามความมั่นคงทางอาหาร หมายถึง การที่ประชาชนมี “ปริมาณ” อาหารเพื่อการบริโภคที่เพียงพอ มีความ “หลากหลาย” ของประเภทอาหารที่ได้รับ และอาหารนั้น “มีคุณภาพ” หมายถึงมีคุณค่าทางโภชนาการและความสะอาดปลอดภัย รวมทั้งประชาชนสามารถ “เข้าถึง” อาหาร อันเกิดจากการกระจายอย่างทั่วถึง

          ประเทศไทยได้นิยาม ความมั่นคงทางอาหารในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยครอบคลุมถึง

          ๑) การมีปริมาณอาหารเพียงพอ สำหรับบริโภคทั้งภายในครอบครัว ในชุมชน และชุมชนอื่น ๆ

          ๒) คุณภาพอาหารปลอดภัย มีความหลากหลายครบถ้วน ตามหลักโภชนาการและสอดคล้องกับวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น

          ๓) มีระบบการผลิตที่เกื้อหนุนรักษาความสมดุลของระบบนิเวศวิทยา สร้างความหลากหลายทางชีวภาพและใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม

          ๔) มีระบบการจัดการผลผลิตที่สอดคล้อง เหมาะสมเป็นธรรม และมีการกระจายอาหารอย่างทั่วถึงทั้งในระดับครอบครัวและชุมชน

          ๕) มีความมั่นคงทางการผลิตทั้งที่ดิน น้ำ ทรัพยากรเพื่อการผลิต และสร้างความมั่นคงทางอาชีพของเกษตรกรผู้ผลิต

ประเทศไทยกับความมั่นคงทางอาหาร

          ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ทางอาหารมาแต่อดีต สวนครัวรอบบ้านที่ปลูกไว้เพื่ออยู่เพื่อกิน เป็นระบบนิเวศน์เชิงซ้อนที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวไทยมั่นคง สภาวะภูมินิเวศน์ของไทยมีพืชพันธุ์ธัญญาหารที่หลากหลายมาช้านาน ประชาชนไทยได้สั่งสมถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์จนกลายเป็น “วัฒนธรรมทางอาหาร” ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนไทย ตั้งแต่การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การประมง จนถึงการเชื่อมสายสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชน อาหารและการเกษตรจึงเป็นฐานรากทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทยทั้งชาติ

          นับตั้งแต่ที่วิถีการผลิตการเกษตรเป็นการผลิตเชิงเดี่ยว เน้นการส่งออกอย่างเข้มข้น ทำให้แนวโน้มวิกฤติปัญหา ในด้านความมั่นคงของระบบอาหาร และภาวะสุขภาพของคนไทยมีความรุนแรงมากขึ้น นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ที่เริ่มมีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช การนำเข้าสารเคมีเพื่อการเกษตรที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มีการสร้างระบบชลประทานและเขื่อนขนาดใหญ่ ใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ทางการเกษตร เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการค้า การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

          การสูญเสียที่ดินทำกินซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ความเสื่อมสลายของทรัพยากรต้นทุน เช่น ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นดิน แหล่งน้ำ ทำให้แหล่งอาหารจากธรรมชาติลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จนเกือบสูญพันธุ์ในบางพื้นที่ ส่งผลต่อความหลากหลายของชนิดอาหาร การกระจายอาหาร และการที่ต้องพึ่งพิงอาหารจากภายนอกเป็นหลัก ทำให้ประชาชนสูญเสียอำนาจ ความสามารถในการจัดการควบคุมปริมาณและคุณภาพอาหารของตนและครอบครัว

          สังคมไทยจึงเปลี่ยนแปลงจากสภาพการพึ่งพาตนเอง ภายใต้สังคมเกษตรกรรมที่เกษตรกรผลิตเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนเป็นหลัก มาเป็นการผลิตเพื่อการค้าในเชิงพาณิชย์ ระบบการผลิตนี้ได้ลดทอนความสามารถในการพึ่งพาตนเองในการผลิตอาหารเป็นอย่างมาก โดยต้องพึ่งพิงปัจจัยการผลิตจากภายนอก ทั้งด้านเงินทุน เมล็ดพันธุ์ เทคโนโลยี พลังงานเชื้อเพลิงและระบบตลาด กลไกราคากลายเป็นเงื่อนไขสำคัญใน การซื้อขายอาหาร เพื่อการบริโภคมากขึ้น

          ในส่วนของประเทศไทย อาหารคือวัฒนธรรม ซึ่งมีการถ่ายทอด สั่งสมความรู้ ประสบการณ์และทักษะมาหลายชั่วอายุคน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทย นับตั้งแต่การเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ประมง จนถึงการเข้าครัวทำอาหารเพื่อการกินการอยู่อย่างมีคุณค่า ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนไทย

          ดร.อนุช อาภาภิรม ได้ให้ความเห็นในการประชุมผู้สังเคราะห์สถานการณ์ยุทธศาสตร์อาหาร ที่กรมยุทธศาสตร์อาหาร วันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ว่า ประเทศพัฒนาส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหารของประชาชนในประเทศของเขา เพราะ “อาหารเป็นอาวุธ และความมั่นคงทางอาหารเป็นฐานความมั่นคงของชาติ ขนาดประเทศญี่ปุ่นที่สนใจพัฒนาด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก ก็ยังต้องสนับสนุนชาวนาเพื่อให้ผลิตอาหารที่มั่นคงสำหรับประเทศ”

          มีการเปรียบเทียบว่าป่าและแหล่งธรรมชาติทั้งหลาย ทั้งป่าไม้ แม่น้ำ แหล่งน้ำในธรรมชาติ เป็นเสมือนศูนย์รวมของสรรพอาหารและสมุนไพรที่ชุมชนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย การใช้ทรัพยากรที่ไม่เหมาะสมและยั่งยืน ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ลดลง ทำให้ชุมชนขาดแหล่งทรัพยากรสำคัญในการหาเลี้ยงชีพ นอกจากนี้ยังน่าจะเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงความหลากหลายทางชีวภาพตามไปด้วย

          ความมั่นคงทางอาหารเป็นปัจจัยพื้นฐานหลักสำคัญที่สุดของมนุษยชาติ ไม่มีใครที่จะมีชีวิตที่ดีและสงบสุขได้ ถ้าพวกเขาไม่มีความมั่นคงเรื่องอาหาร และถ้าคนในสังคม ชุมชน ประเทศชาติ จนถึงคนในโลกนี้ไม่มีความมั่นคงด้านอาหาร ย่อมไม่มีทางที่สังคมนั้นจะอยู่อย่างสงบสุขได้แน่นอน ในชีวิตประจำวันแม้เพียงการหาอาหารบำรุงเลี้ยงร่างกาย ยังเป็นเรื่องที่ยากลำบากแล้วไซร้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าชีวิตของคนผู้นั้นจะอยู่อาศัยยากลำบากเพียงใด

          ในขณะที่โลกนี้ มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้นทุกขณะและเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ในอีกหลายประเทศมีอาหารไม่พอเลี้ยงคนในประเทศ มีเด็กอดอาหารตาย ทารกเกิดใหม่ขาดนมดื่ม เพราะร่างกายไม่แข็งแรงของแม่ผู้ให้กำเนิดไม่สามารถผลิตน้ำนมให้ลูกน้อยได้ ในภาพข่าวทางโทรทัศน์ มีการรายงานข่าวการขาดอาหารของประเทศในทวีปแอฟริกา ประเทศเกาหลีเหนือ ประเทศอินเดีย ประเทศที่ถูกทำให้ด้อยพัฒนา และภาพเด็กตัวดำผอมซีด หัวโต

          ภาวะการขาดอาหาร ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ เป็นที่น่าสงสัยว่า ทำไมความก้าวหน้าของวิทยาการสมัยใหม่ จึงเดินสวนทางกัน ในเรื่องความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์โลก

          คำตอบคือ ความก้าวหน้าของวิทยาการสมัยใหม่ ถือกำเนิดบนพื้นฐานของการผลาญทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาวะแห่งการทำลายสิ่งแวดล้อมคือการทำลายแหล่งอาหาร กลุ่มเกษตรอุตสาหกรรมกำลังเปลี่ยนสภาพพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ ให้กลายเป็นทะเลทราย และกำลังทำลายพื้นที่ป่าดงดิบของโลก อุตสาหกรรมทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ส่งผลให้ความหลากหลายตามธรรมชาติและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรลดลง

          ขณะที่เกษตรกรรายย่อย ที่อาศัยอยู่ในชนบทของประเทศไทยหลายพื้นที่ เริ่มตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และต้องการปรับตัวให้ระบบการผลิตได้สอดคล้องกับสมดุลธรรมชาติ รวมทั้งการรักษาสภาพแวดล้อมที่เป็นแหล่งอาหารให้ยั่งยืน เพื่อเลี้ยงครอบครัว ซึ่งจำเป็นต้องต่อสู้กับระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรม แรงกดดันจากภาวะหนี้สิน และปัจจัยในการดำรงชีวิตส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่นโยบายและโครงสร้าง การจัดการของรัฐ ไม่เกื้อหนุนระบบการผลิตและเลี้ยงชีพอย่างยั่งยืน

          การเกษตรที่ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดิน แม้ผลผลิต จะเพิ่มขึ้นในระยะแรก แต่สิ่งที่เกษตรกรได้ตอบแทนกลับมานั้นน้อยลง ขณะที่ราคาปัจจัยการผลิตเพิ่มสูงขึ้น แต่ราคาพืชผลทางการเกษตรกลับลดลง การใช้สารเคมีทางการเกษตรก่อให้เกิดมลพิษในสิ่งแวดล้อม พบสารพิษตกค้างตามแหล่งน้ำ การเจ็บป่วยของเกษตรกรจากการสัมผัสสารเคมี การปนเปื้อนสารเคมีในผลิตผลทางการเกษตรและห่วงโซ่อาหาร มีปัญหาดินเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ แน่นแข็ง ถูกชะล้างพังทลาย ระบบนิเวศน์เสียสมดุล ความหลากหลายของพรรณพืชและพันธุ์สัตว์ลดลง และสิ้นเปลืองพลังงานเชื้อเพลิงที่มีอยู่จำกัด

ชุมชนริมโขงกับความมั่นคงทางอาหาร

          ชุมชนริมแม่น้ำโขง ถือเป็นชุมชนที่มีความมั่นคงทางอาหารในระดับสูง ปลาในแม่น้ำโขงเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดีราคาถูก ที่คนในชุมชนสามารถเข้าถึงทรัพยากรนี้ได้อย่างไม่จำกัด แม้ไม่มีเงินก็มีปลากินได้ พรรณพืชที่เป็นผักพื้นบ้านก็เป็นผักคุณภาพดี ไม่ปนเปื้อนสารเคมี และหาเก็บได้ตามริมฝั่งเกาะแก่งทั่วไป ไม่ต้องใช้เงินซื้อหา นอกเหนือจากนั้น ยังหาปลาขายเลี้ยงครอบครัวได้ เก็บผัก เก็บไกขายหาเงินมาจุนเจือครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกันผืนดินริมน้ำโขง ที่แม้จะถูกน้ำท่วมตามฤดูกาลที่เป็นไปตามธรรมชาติ แต่เมื่อถึงเวลาที่โผล่พ้นน้ำ ชุมชนริมฝั่งโขงยังได้ใช้ที่ดินตรงนี้ปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อไว้กินในครอบครัวและปลูกขายสร้างรายได้ที่ดี เพราะไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีและยาฆ่าแมลง เนื่องจากเป็นดินตะกอนที่มีแร่ธาตุความอุดมสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว

          ชุมชนริมแม่น้ำโขงที่ลงน้ำหาปลาก็ได้ปลา เก็บพืชผักริมแก่งมาทำเป็นกับข้าวก็ทำได้ไม่ต้องซื้อหา มีที่ดินอุดมสมบูรณ์ไว้ปลูกผัก จึงถือเป็นรูปแบบหนึ่งของความมั่นคงทางอาหาร เป็นความมั่นคงทางอาหารที่ไม่ต้องใช้เงินซื้อหามา เป็นการผ่านกระบวนการพึ่งพาเงินในการซื้อหาที่น้อยจนถึงเกือบไม่มีเลย

          เป็นความมั่นคงทางอาหารที่หมายความว่า ถึงแม้ไม่มีเงินเลย วันนั้นยังมีอาหารกิน ความมั่นคงทางอาหารจึงเป็นเรื่องที่หลายคนนึกไม่ถึง เพราะเป็นเรื่องเคยชินในชีวิตประจำวัน แต่เป็นความเคยชินที่สำคัญของชีวิต ลองคิดสักนิดว่าหากลงน้ำแล้วหาปลาไม่ได้เลยติดต่อกันไประยะเวลายาวนาน ผักพื้นบ้านถูกน้ำท่วมจมมิดเก็บไม่ได้เลย จะเกิดอะไรขึ้น ชุมชนต้องซื้อหาปลาที่อื่นมากิน ต้องซื้อผักตามตลาดมากิน ต้องใช้เงิน เสียเงินเพิ่มมากขึ้น จากที่เคยไม่ต้องใช้เงินก็ทำให้ต้องมีช่องทางรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น

          ความมั่นคงทางอาหารที่ชุมชนเคยพึ่งพาตัวเองได้ ในเรื่องของอาหาร ปัจจัยขั้นพื้นฐานที่จำเป็น และสำคัญที่สุดของมนุษย์ถูกรบกวน กลายเป็นต้องพึ่งพาเงินในการซื้อหาอาหารก็เท่ากับว่า เราไม่มีความมั่นคงด้านอาหารแล้ว ไม่มีความแน่นอนในชีวิตต่อไปอีกแล้วว่า พรุ่งนี้และวันต่อ ๆ ไป ถ้าไม่มีเงินจะมีอาหารกินหรือไม่

          ในขณะที่การหาอาหารจากแหล่งธรรมชาติได้รับความสำคัญน้อยลง มีการพึ่งพิงปัจจัยจากภายนอกเป็นส่วนใหญ่แทนที่การพึ่งพิงแหล่งอาหารจากธรรมชาติเช่นในอดีต และความเสื่อมสลายของธรรมชาติแวดล้อม ก่อให้เกิดความยากลำบากมากขึ้นในการแสวงหาอาหารจากแหล่งธรรมชาติ

          ความสำคัญของปลาในแม่น้ำโขงและพรรณพืชผักพื้นบ้านทั้งหลาย จึงเป็นมากกว่าอาหารเพื่อบำรุงเลี้ยงร่างกาย คำพูดที่ว่า ถ้าไม่มีปลาก็กินอย่างอื่น ถ้าไม่มีผักก็ซื้อกินเอาเอง จึงเป็นคำพูดแสดงถึงความไม่รับผิดชอบและความไม่รู้อย่างที่สุดของผู้พูด

          สำหรับชุมชนริมแม่น้ำโขงที่ใช้ชีวิตอยู่กับการหาปลา เพื่อกิน เหลือขาย ฤดูไหนปลาขึ้นเยอะก็ว่างเว้นจากการทำเกษตร พากันมาจับปลาขาย ได้เงินดีกว่า ช่วงไหนปลาเริ่มลดลงแล้วก็กลับไปทุ่มเทให้การทำไร่ทำนา แต่ก็ยังหาปลามาเป็นกับข้าวนั้น ปลาจึงเป็นมากกว่าอาหารและอาชีพ

          ความมั่นคงทางอาหารที่ชุมชนริมแม่น้ำโขงมีคือ คุณภาพชีวิตดีอย่างต่อเนื่อง ปลาทำให้มีสุขภาพแข็งแรงเพราะไม่มีสารเคมีแปลกปลอมเหมือนเนื้อหมู เนื้อไก่ในตลาด ผักพื้นบ้านไร้สารเคมี ไม่เหมือนผักในตลาดที่เต็มไปด้วยการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลง สุขภาพดีคือรากฐานที่ดีของชีวิต ความมั่นคงทางอาหารก็ย่อมเป็นรากฐานที่ดีแห่งชีวิตเช่นกัน

          ปลาแม่น้ำโขงและผักพื้นบ้านริมโขง ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนที่มั่นคงและเป็นหลักแหล่ง ปลาและผักพื้นบ้าน ทำให้ชาวบ้านมีอาหารคุณภาพดีที่ไม่ต้องซื้อหา สร้างรายได้ที่ดี บางคนหาปลาส่งลูกส่งหลานเรียนหนังสือจนจบ เพราะมีปลาและผัก จึงไม่ต้องวิตกกังวลว่าเย็นนี้จะทำอะไรกิน จะหาเงินจากไหนมาซื้อกับข้าวกิน เมื่อไม่ต้องกังวลเรื่องการหาเลี้ยงท้อง ก็มีแรงมีสมองที่สร้างสรรค์คิดเรื่องที่เป็นประโยชน์กับชีวิต คิดฝันเพื่อชีวิตที่มีความสุขได้

          นี่จึงเป็นความมั่นคงทางอาหารที่ชุมชนริมแม่น้ำโขงมีมาเนิ่นนาน

          ทุกวันนี้แม่น้ำโขงกำลังถูกเปลี่ยนแปลงด้วยโครงการพัฒนาหลากหลาย ความอุดมสมบูรณ์ที่เคยมีอย่างอดีตลดน้อยลง คือภาวะที่แสดงถึงความมั่นคงทางอาหารเริ่มลดลงไปทีละน้อย หากไม่ช่วยกัน ปกป้องทรัพยากรที่มีค่าเหล่านี้ไว้ สักวันเราทุกคนย่อมต้องเผชิญกับภาวะการขาดแคลนอาหารอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ทางเลือกแม่น้ำโขง :
การค้าที่เป็นธรรม และไม่ระเบิดแก่ง

          การค้าอย่างไรที่เป็นธรรมและยั่งยืนในยุคโลกาภิวัตน์ที่ทุนใหญ่ไล่กวาดต้อนกินทุนน้อย ควรจะเป็นการค้าที่ให้ความยั่งยืนต่อระบบนิเวศน์ ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นต้นทุนชีวิตที่ประชากรทุกคนสามารถเข้าถึงได้เท่าเทียมกัน และการค้าที่เป็นธรรมต้องเป็นการค้าที่ไม่ทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมคนท้องถิ่น หรือกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมไม่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ นอกจากสาระสำคัญของการค้าที่เป็นธรรมคือผลประโยชน์ต้องตกสู่ประชาชนในทุกระดับ ไม่ใช่ได้ประโยชน์เฉพาะกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะการค้าที่เป็นธรรมต้องเกิดประโยชน์กับคนท้องถิ่น ผู้มีวิถีชีวิตอยู่กับธรรมชาติและวัฒนธรรมที่เกื้อสัมพันธ์กับธรรมชาติตลอดมา

การค้าท้องถิ่นและการค้าแต่โบราณ

          การค้าแต่เดิมในเชียงแสน – เชียงของ – เวียงแก่น เป็นการค้าขนาดเล็กระหว่างชุมชนสองฝั่งน้ำของ แม่น้ำมีบทบาทในการคมนาคมขนส่ง การไปมาหาสู่และการเชื่อมร้อยชุมชนต่อชุมชน และมีเมืองเชียงแสนเป็นเมืองท่าที่จะเดินทางไปสู่ตอนในของจังหวัดเชียงรายด้วยเส้นทางถนน การค้าระหว่างเมืองริมฝั่งของไทยกับลาวในลักษณะที่เรียกว่า “น้ำน้อย ก็ใช้เรือน้อย” คือเป็นการค้าตามขนาดของฐานทุนทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน ส่วนการค้ากับเมืองแดนไกลเช่นลาวทางเหนือหรือจีน เป็นเส้นทางการค้าทางบกใช้ม้า ล่อ ลา บรรทุกต่างสินค้า เช่นเส้นทางการค้าโบราณระหว่างเชียงของไปเชียงรุ่ง

          นอกจากนี้ยังมีเส้นทางการค้าที่สำคัญมาในแต่อดีตคือ เชียงของ – บ่อแก้วและหลวงพระบางโดยใช้เรือขนส่ง โดยใช้เรือขนาดเล็กและกลางที่ต่อประกอบในท้องถิ่น โดยก่อนสถานการณ์สงครามปลดปล่อยในปี ๒๕๑๘ ของลาว การค้าระหว่างท้องถิ่นเป็นมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะในเขตห้วยทรายที่มีโรงพยาบาลและตลาดการค้าที่ดีกว่าเชียงของ ปลาบึกราคาดีที่จับได้โดยพรานปลาบ้านหาดไคร้ – เชียงของจะนำไปส่งขายให้ฝั่งห้วยทรายเป็นส่วนใหญ่ แม้ในช่วงปี ๒๕๑๘ จะมีการหยุดชะงักชั่วคราวด้วยสงคราม แต่ในปัจจุบันการค้าระหว่างไทย – ลาว โดยเฉพาะในเส้นทางเชียงของ – บ่อแก้ว – หลวงพระบางก็ยังมีปริมาณการค้าที่ใหญ่โต โดยไม่จำเป็นต้องระเบิดเกาะแก่งระหว่างไทย – ลาว ในเส้นทางเชียงของถึงหลวงพระบางเลย

          การค้าภายในเขตจังหวัดเชียงราย ในช่วงก่อนและหลังปี ๒๕๐๐ ไม่มากนัก คนจากเชียงของ – เวียงแก่นต้องใช้เส้นทางน้ำ โดยเรือโดยสารเดินทางไปเชียงแสนตามลำน้ำของ แล้วขึ้นไปต่อรถยนต์ใช้เส้นทางถนนไปเข้าตัวเมืองเชียงราย ชาวบ้านใช้เส้นทางนี้เพื่อการแลกเปลี่ยนการค้าและการซื้อของที่ผลิตไม่ได้ในชุมชน เช่น เกลือ น้ำมันก๊าด และเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น รวมถึงวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้าง เช่น ตะปู ก็เดินทางมาถึงเชียงของ เวียงแก่น ด้วยวิธีขึ้นรถแล้วมาลงเรือที่เชียงแสนแล้วมาสู่ชุมชนในแถบนี้

การค้ายุคใหม่

          เมื่อหนทางดีขึ้นหลังจากการสร้างถนนเส้นเชียงราย – เทิง – เชียงของสำเร็จราวประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๒ และเส้นทางเชียงของ – เชียงแสน แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ความสำคัญของเส้นทางเดินเรือเชียงแสน – เชียงของก็หมดบทบาทไป แม่น้ำเหลือเพียงบทบาทการเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร, การคมนาคมระหว่างชุมชน และเป็นพื้นที่ในการประกอบประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนสองฝั่งของ เช่น งานเทศกาลยี่เป็ง, งานบุญบั้งไฟ, งานบวงสรวงเจ้าพ่อปลาบึก, งานบวงสรวงเจ้าพ่อผาถ่าน ฯลฯ

          ถนนเป็นบทบาทใหม่ในการค้าและการคมนาคมระหว่างกันมากกว่าทางเรือ แสดงพยานทางประวัติศาสตร์ของเส้นทางการคมนาคมไว้เหมือนกันทั่วโลกว่า เมื่อเส้นทางถนนเข้ามาสู่ชุมชน ท้องถิ่น ความสำคัญทางเรือหรือการใช้แม่น้ำในการสัญจรไปมาค้าขายระหว่างเมืองก็หมดบทบาทไปอย่างสิ้นเชิง แม่น้ำเหลือเพียงบทบาทดังที่กล่าวแล้ว

          ดังนั้น จากโครงการการเปิดการเดินเรือพาณิชย์เสรีด้วยการระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขง จึงเป็นการระเบิดทางน้ำที่สูญเปล่าทางงบประมาณอย่างมหาศาล แล้วยังสูญเสียทรัพยากรทางธรรมชาติ แหล่งอาหาร และวัฒนธรรมของผู้คนริมน้ำโขงอย่างประเมินค่ามิได้ เพราะจากประวัติศาสตร์และแผนพัฒนาที่จะเกิดในอนาคตได้ตอกย้ำให้รู้ว่า เส้นทางคมนาคมการค้าทางถนนสาย R3e จากเชียงรุ่งในจีน – เมืองลา – บ่อหาน – บ่อเต็นในลาว – หลวงน้ำทา – ห้วยทราย – เชียงของ ระยะทาง ๔๙๑ กิโลเมตร จะมีบทบาทที่มากกว่าและดีกว่า จึงไม่มีเหตุจำเป็นอันใดที่จะระเบิดแก่ง เพื่อเปิดช่องทางการเดินเรือพาณิชย์เสรีมาสู่เชียงของและหลวงพระบาง เพราะทั้งรัฐบาลไทย ลาว จีนได้ร่วมกันผลักดันอย่างขันแข็ง โดยในปีที่ผ่านมาได้เตรียมทางอัดดินหิน พร้อมที่จะลาดยางแล้วในบางส่วนและจะเร่งโครงการถนนสายนี้ให้แล้วเสร็จสมบูรณ์จะเปิดใช้ในปี ๒๕๕๐ พร้อมกับการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างห้วยทราย – เชียงของ และรัฐบาลไทยยังได้มีแผนการจัดสร้างทางรถไฟสายยูนาน – ไทย จากคุนหมิง – เชียงรุ่ง – เมืองลา – หลวงน้ำทา – ห้วยทราย – เชียงของ – เชียงราย – เด่นชัย อีกหนึ่งเส้นทางสายการค้า โดยในส่วนเด่นชัย – เชียงราย ได้สำรวจออกแบบทางวิศวกรเสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๔๐

          นอกจากนี้หากกล่าวทั้งภาพรวมของการค้าท้องถิ่นเชียงราย แม่สาย เชียงแสน เส้นทางสาย R3w คือสายจากเชียงรุ่งหรือจินหงในจีน เข้าทางเมืองลาของพม่า – เชียงตุง – ท่าขี้เหล็ก – แม่สาย – เชียงรายเป็นระยะทาง ๓๙๗ กิโลเมตร อยู่ในระยะที่ใช้เดินทางขนส่งได้แล้ว และมีการผลักดันอย่างแข็งขันของรัฐบาลพม่า – ไทย – จีนในการเปิดใช้เส้นทางการค้าระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงพยายามลดอุปสรรคในการเดินทางเส้นทางนี้ออกไป เช่น ล่าสุดมีการรายงานข่าวว่า พม่าเปิดทำวีซ่าจากด่านท่าขี้เหล็กไปสู่เมืองจีนได้แล้ว รวมทั้งลดอุปสรรคในการแลกเงินดอลลาร์ในการผ่านเส้นทางนี้ออกไป จึงมองให้เห็นว่าเส้นทางเดินเรือจากเชียงแสน – เชียงรุ่ง ระยะทาง ๓๔๔ กิโลเมตรซึ่งใช้เวลาในการเดินทาง ๒ คืน ๒ วัน ในอนาคตเมื่อถนนทั้งสองสายเสร็จสมบูรณ์ การพาณิชย์ขนาดใหญ่ในแม่น้ำจะหมดบทบาทไปเช่นเดียวกับแม่น้ำสายอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์โลก

ควรค้าอย่างไร

          การค้ามีหลักเหตุผลที่สำคัญยิ่งอยู่ที่ว่าต้นทุนต้องต่ำและต้องได้กำไรสูง พ่อค้า นักธุรกิจทุกคนต้องการภาวะการค้าแบบนี้ แต่ไม่ใช่ว่าโลกนี้จะมีแต่พ่อค้านักธุรกิจ โลกยังมีคนกลุ่มอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น เกษตรกร ชาวประมง ข้าราชการ ศิลปิน ฯลฯ ดังนั้นการที่การค้าจะให้ประโยชน์กับคนทุกกลุ่ม ทุกระดับจึงจำเป็นต้องมีหลักคิดในนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ รวมไปถึงเรื่องต้นทุนที่ต่ำที่สุดนั้น มาจากต้นทุนที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งประเมินค่าไม่ได้ไปเป็นจำนวนมากมายมหาศาลเท่าไหร่

          หากมองในแง่นี้ ต้นทุนในการระเบิดแก่งจากซือเหมาในจีน มาจนถึงเชียงของและหลวงพระบาง เป็นต้นทุนที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมของคนลุ่มน้ำโขง ๑๐๐ ล้านคนอย่างรุนแรง และการค้าทางเรือก็ไม่สามารถสู้ต้นทุนการขนส่งทางบกในระยะยาวดังที่กล่าวถึงข้างต้น

          ดังนั้นการค้าท้องถิ่นในเขตเชียงราย – แม่สาย – เชียงแสน จึงมีศักยภาพที่จะค้าขายกับจีน – ยูนาน และลาวตอนบน เช่น เมืองต้นผึ้ง เมืองมอม เมืองสิงห์ เมืองเมิง ส่วนเชียงของ – เวียงแก่น นั้นมีศักยภาพที่จะค้าขายกับจีนและลาวทางถนนสาย R3e โดยพิจารณาจากประวัติศาสตร์การค้า และความสัมพันธ์ในเชิงนิเวศวัฒนธรรม ที่จะไม่ทำลายต้นทุนเหล่านี้ให้ย่อยยับยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในรายละเอียดการจัดการการค้าชายแดนในเขตนี้ รัฐบาลต้องให้สิทธิพิเศษแก่คนในท้องถิ่นที่ทำมาค้าขาย มีสิทธิพิเศษเช่นเดียวกับนายทุนต่างถิ่น – ข้ามชาติที่ได้รับสิทธิในการลงทุนมากมายตลอดมา โดยสิทธิเหล่านี้ต้องคำนึงถึงคนท้องถิ่นทั่วไป ที่ไม่สามารถทำการค้าก็ต้องได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือด้วยความเท่าเทียมกัน

การท่องเที่ยวแม่น้ำโขง

          ทรัพยากรธรรมชาติ ที่สวยงามอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายตามสภาพธรรมชาติและกลุ่มชาติพันธุ์ ย่อมเป็นต้นทุนสำคัญยิ่งที่จะทำให้การท่องเที่ยวยั่งยืน ดังนั้นถ้าหากต้องการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน จึงควรพิทักษ์รักษาธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์คงอยู่อย่างเกื้อกูลต่อทรัพยากรธรรมชาตินั้น ด้วยความหลากหลาย ด้วยการเคารพและศรัทธาในความเท่าเทียมกันของมนุษย์

          เขตอำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ อำเภอเวียงแก่นเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตริมน้ำของ ประกอบด้วยกลุ่มคนชาติพันธุ์ที่หลากหลายถึง ๙ กลุ่มคือไทยวน ไทลื้อ ลาว อาข่า ลาหู่ ขมุ ม้ง เย้า จีนฮ่อ ประชาชนในเขตนี้มีวิถีชีวิตพึ่งพาอาศัยแม่น้ำของตลอดมาตั้งแต่ครั้งบรรพชน จนก่อเกิดชุมชน เวียง และวัฒนธรรมต่าง ๆ ในลุ่มน้ำของ และก่อเกิดอารยธรรมเชียงแสนหลวงโบราณ ที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น เมืองโบราณเชียงแสน วัดเจดีย์หลวง วัดมหาธาตุ วัดพระธาตุจอมกิตติ วัดแก้ว วัดหลวง วัดหาดไคร้ แหล่งโบราณคดีบ้านเวียงแก้ว แหล่งโบราณคดีบ้านหวาย แหล่งโบราณคดีดงเวียงแก่น ฯลฯ

          ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ทางโบราณ สถานที่ทางโบราณคดี โบราณวัตถุ เมืองประวัติศาสตร์ในเขตนี้ที่ยังหลงเหลืออยู่ก็บอกถึงอารยธรมของการพึ่งพาอาศัยลุ่มน้ำของ ดูได้จากการสร้างบ้านแปงเมืองยุคก่อน และยุคของพ่อขุนเม็งรายผู้นำคนสำคัญของล้านนาประเทศ ก็เลือกทำเลที่ตั้งที่อุดมสมบูรณ์ในเขตน้ำกก หรือในเขตลุ่มน้ำของเป็นปฐมบทแรกของการสร้างอาณาจักรล้านนา

          ดังนั้น การที่จะให้การท่องเที่ยวยั่งยืนได้ ควรจะต้องเปิดพื้นที่ให้มีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำอย่างจริงจังและเข้มข้น ให้คนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนการจัดการ และการตัดสินใจให้เชียงแสน – เชียงของ – เวียงแก่น เป็นเขตแม่น้ำและถนนสายวัฒนธรรมมีหมู่บ้าน – เมืองวัฒนธรรมเป็นผังเขตที่ชัดเจน และมีเขตอนุรักษ์พันธุ์พืชพันธุ์ปลา เขตอนุรักษ์ป่าและพื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่เกษตรปลอดสารพิษ

เราควรจะอยู่ร่วมกันอย่างไร

          การอยู่ร่วมกันของคนในลุ่มน้ำเดียวกัน เรามิอาจปฏิเสธความแตกต่างหรือความหลากหลายระหว่างอาชีพ เชื้อชาติ ศาสนา การค้าขายก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาตร์ผู้คนที่ดำเนินมาอย่างยาวนานเช่นเดียวกับอาชีพสุจริตอื่น ๆ เช่น การเกษตรกรรม การประมง ช่างศิลป์ ฯลฯ เพียงแต่ว่าการค้าขายควรจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมและความเสมอภาค การอยู่ร่วมกันอย่างสันติจึงจำเป็นต้องเอื้ออาทรต่อกัน ภายใต้ความหลากหลายของอาชีพต่าง ๆ

          “แผ่นดิน แม่น้ำ ฟ้าเดียวกัน” ก็ต้องแบ่งปันกันกินแบ่งปันกันอยู่ ช่วยกันดูแลรักษาทั้งคนที่ทำการค้า ทั้งคนที่ทำอาชีพประมง คนที่ทำอาชีพเกษตร และคนที่รักการท่องเที่ยว โดยทั้งหมดนี้ต้องมาจากพันธสัญญาของคนลุ่มน้ำ ที่ได้จากการศึกษาองค์ความรู้ในท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วมกันมาก่อนแล้ว เพื่อให้ผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวตกลงสู่คนทุกระดับเช่นเดียวกับการค้า และนโยบายการพัฒนาประเทศการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานเหล่านี้ ทั้งในระดับชาติและในระดับนานาชาติ

          พันธสัญญาของคนลุ่มน้ำโขงจึงมีว่า

           “การกระทำใด ๆ ต่อแม่น้ำโขงซึ่งจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ประมง ที่อยู่อาศัยและทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม แหล่งอารยธรรม ต้องให้ความสำคัญในการกำหนดและตัดสินใจโดยคนท้องถิ่น หรือคนที่มีวิถีชีวิตอยู่กินกับแม่น้ำตลอดลำน้ำโขง”....


บรรณานุกรม

  • ศรีวรรณ ไชยสุข, ประเสริฐ ไวยะกา, ๒๕๔๔, รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการการศึกษาระบบนิเวศน์ของไก
  • ทวีศักดิ์ ทรงศิริกุล, ๒๕๓๐, คู่มือการจำแนกครอบครัวปลาของไทย, คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม, ๒๕๔๒, ทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติของประเทศไทย, กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม, กรุงเทพฯ
  • สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม, ๒๕๔๒, พื้นที่ชุ่มน้ำภาคเหนือ, กระทรวง วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม, กรุงเทพฯ
  • สำนักงานสนับสนุนการพัฒนายุทธศาสตร์แห่งชาติด้านอาหาร, ๒๕๔๖, อาหารไทย : ความเป็นไท ใครคุกคาม, สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ
  • นิตยสาร โลกสีเขียว, ปีที่ ๑๒ ฉบับที่ ๑ มีนาคม – เมษายน ๒๕๔๖, หายนะบนลุ่มน้ำโขง, หน้า ๒๑– ๓๔
  • นิตยสาร Life On Earth, ฉบับที่ ๑๓ ประจำเดือนตุลาคม – ธันวาคม ๒๕๔๕
  • วารสารเพื่อการพัฒนาชุมชนไท, ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๐ ประจำเดือน พฤษภาคม – มิถุนายน ๒๕๔๖
  • เอี่ยน แบร์ด ๒๕๔๑, ปลาพื้นเมืองอยู่ภาพใต้ของลาว, โครงการประมงชุมชน และปกปักรักษาปลาข่า, กระทรวงกสิกำและป่าไม้, ส.ป.ป. ลาว
  • เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องผลกระทบจากโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจต่อประชาชนลุ่มน้ำโขง, ระหว่างวันที่ ๕ – ๗ กันยายน ๒๕๓๗ ณ ห้องประชุมสมาคม วาย เอ็ม ซี เอ เชียงราย
  • พันเอก กาญจนะ ประกาศวุฒิสาร, ๒๕๓๗, กองพล ๙๓ ผู้อพยพทหารจีนคณะชาติ บนดอยผาตั้ง, เชียงใหม่
  • สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, เอกสารประกอบการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดเชียงราย, วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๔
  • ปารวี ไพบูลย์ยิ่ง, หนังสือ “จากเชียงของถึงเชียงรุ่ง สุดปลายทางสายมิตรภาพ”, โครงการอาณาบริเวณศึกษา ๕ ภูมิภาค, ๒๕๔๖
  • แม่น้ำโขง : สายน้ำพิเศษของโลก, นิตยสารสารคดี, ปีที่ ๑๙, ฉบับที่ ๒๒๕, พฤศจิกายน ๒๕๔๖
  • Beijing Review, ฉบับ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๔๖
  • CHAINA DAILY, ฉบับวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๖ และ ฉบับวันเสาร์ – อาทิตย์ที่ ๑ – ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๖
หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :