เสขิยธรรม
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๐
เมษายน - มิถุนายน ๒๕๔๗

ปฏิกิริยา
พระชาย วรธมฺโม

๒๗๖ ข่มขืนเมียไม่บาป

 

ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิง ซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ
โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้
หรือโดยทำให้หญิงเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี
และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท

ข้อความดังกล่าวข้างต้นเป็นประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเพศมาตรา ๒๗๖ อ่านดูแล้วก็สามารถเข้าใจได้ทันทีว่า กฎหมายไทยเปิดโอกาสให้ชายไทยข่มขืนภริยาตนเองได้เต็มที่อย่างไรบ้าง

          จากที่มีการพยายามเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาข้อนี้ ให้รวมการคุ้มครองหญิงที่เป็นภริยาเข้าไปด้วย โดยการเสนอให้มีการตัดคำว่า ‘ซึ่งมิใช่ภริยาของตน’ ออกไปกลับกลายเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก ทั้ง ๆ ที่ผู้หญิงที่มีสถานภาพเป็นภริยาในประเทศไทยก็มีจำนวนที่มากมายมหาศาลอยู่

          นั่นหมายความว่าประมวลกฎหมายมาตรา ๒๗๖ จะให้ความคุ้มครองแก่หญิงตราบเท่าที่หญิงนั้นยังเป็นโสด หากหญิงนั้นแต่งงานไปเมื่อใดการคุ้มครองทางกฎหมายต่อหญิงกรณีถูกข่มขืน ก็ไม่อาจคุ้มครองหญิงผู้นั้นได้ หากการถูกข่มขืนนั้นเป็นการกระทำโดยชายผู้เป็นสามีของเธอที่ไม่ใช่ชายอื่น

          อะไรทำให้เรามองเห็นได้ยากว่าในคู่สามีภริยาเองก็มีการข่มขืนกันได้ด้วย คงเพราะความเข้าใจเรื่องเพศระหว่างคู่ผัวตัวเมียเข้าทำนองว่า แต่งงานกันแล้วเรื่องเพศใด ๆ ระหว่างคนสองคนถือว่าอยู่นอกเหนือกฎหมายจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยได้ เพราะถือเป็นเรื่องในครอบครัวระหว่างสามีภริยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเรื่องในมุ้งที่มีความเป็นส่วนตัวของคนสองคน อีกทั้งหญิงเมื่อแต่งงานไปแล้วสังคมก็มีความคิดความเชื่ออยู่ชุดหนึ่งว่าภริยาเป็นสมบัติของสามี ๆ จะทำอะไรก็ได้ จึงคงมีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ถูกสามีข่มขืนแต่พูดอะไรไม่ออกหรือไม่กล้าออกมาพูด ที่สำคัญก็คือในกรณีสามีภริยาเรามักจะแยกกันไม่ค่อยออก (หรือไม่คิดอยากจะแยก) ว่าระหว่าง ‘การข่มขืน’ กับ ‘การมีเพศสัมพันธ์’ นั้นเป็นคนละเรื่องกัน

          แม้แต่กรณีสามีทุบตีทำร้ายภริยาก็ยังเป็นเรื่องที่กฎหมายไทยไม่ค่อยอยากจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวนัก อย่างมากก็พยายามให้ทั้งคู่ยอมความประนีประนอมกัน กลับบ้านไปก็ไปทะเลาะกันอีก ในขณะที่บางกรณีภริยาต้องการหย่าขาดจากสามีเต็มทีเพราะทนการถูกทำร้ายไม่ไหว กลายเป็นว่าขบวนการประนีประนอม กลับทำให้ผู้หญิงต้องกลับเข้าไปสู่วังวนแห่งความรุนแรงในบ้านอีก เพราะใช่ว่าสามีจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงได้ง่าย ๆ

          รัฐไทยเองก็พยายามทำให้ครอบครัวกลายเป็นสถาบันที่อบอุ่น มั่นคง กลมเกลียว แม้แต่วันสงกรานต์ก็พยายามอุปโลกน์ให้กลายเป็นวันครอบครัวขึ้นมา โดยภาครัฐก็ไม่ได้ตระหนักว่ามาตรา ๒๗๖ จะเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้สถาบันครอบครัวไม่สงบสุข เพราะเปิดโอกาสให้เกิดการข่มขืนภายในบ้านได้อย่างแนบเนียน ‘ครอบครัวสุขสันต์’ ที่รัฐไทยพยายาม
ส่งเสริมให้เกิดมีขึ้นก็เลยดูขัดแย้งและออกจะทะแม่ง ๆ อย่างไรชอบกล อีกทั้งครอบครัวในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ก็มิได้หมายถึงสมาชิกที่มีครบทั้งพ่อแม่ลูกปู่ย่าตายายเช่นครอบครัวไทยในอดีต ครอบครัวตามจินตนาการของรัฐไทยที่อยากให้มีให้เป็นจึงอาจเป็นไปได้แค่วันหนึ่งใน ๓๖๕ วันตามที่อุปโลกน์ขึ้นมาหรืออาจเป็นได้แค่เทศกาล ‘แกล้งทำเป็น’ ในเดือนเมษายนปีละหน

          ภายใต้มุมมองทางพุทธศาสนาแล้วการข่มขืนกระทำชำเราทุกรูปแบบ ไม่ว่าบุคคลคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม ถือเป็นการล่วงละเมิดศีลข้อ กาเมสุมิจฉาจารด้วยกันทั้งสิ้น (รวมทั้งผัวข่มขืนเมียด้วย) เพราะเป็นการร่วมเพศที่เกิดจากการบังคับกดขี่ฝ่ายตรงข้าม มิได้เกิดจากการยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย แต่การที่ชาวพุทธไม่สามารถมองเห็นประเด็นนี้ได้ชัดเจนนัก คงเพราะเรายกให้ศีลข้อนี้เป็นเรื่องของการ ‘ผิดลูกผิดเมีย’ สถานเดียว ทั้ง ๆ ที่ศีลข้อกาเมสุมิจฉาจารยังสามารถตีความให้เข้าใจได้กับการเอาเปรียบและการคุกคามทางเพศในรูปแบบอื่น ๆ อีกหลายกรณี (การที่ผู้ชายบางคนชอบใช้อวัยวะเพศถูไถด้านหลังของสุภาพสตรีบนรถเมล์ หรือแม้แต่การพูดจาแสดงกิริยาอาการแทะโลมทางเพศต่อผู้หญิงก็น่าจะสงเคราะห์ได้กับศีลข้อนี้)

          แม้แต่การให้คำจำกัดความของคำว่า ‘ข่มขืน’ แคบ ๆ เพียงว่า ‘คือ การใช้อวัยวะเพศชายล่วงล้ำเข้าไปในช่องสังวาสหรืออวัยวะเพศหญิง’ (คำพิพากษาศาลฎีกา ๑๖๔๔/๒๕๓๒) ก็ยังมีปัญหาอยู่มากเพราะทำให้เราพลาดการมองเห็นการกระทำชำเราทางเพศในรูปแบบอื่น ๆ อย่างเช่น ชายข่มขืนชาย, ชายข่มขืนเด็กชาย, ชายข่มขืนกะเทย หรือแม้แต่การข่มขืนในเพศเดียวกันที่เคยปรากฏเป็นข่าว เมื่อเราพบเจอประเด็นเหล่านี้เราก็แทบจะหัวเราะชอบใจเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องตลกขบขันและคิดว่าเป็นไปไม่ได้

          คงเพราะอย่างนี้กระมังกฎหมายไทยจึงมิได้ให้ความคุ้มครองบุคคลอื่น (ผู้ชาย, กะเทย, เด็กชาย, ภริยา) ที่ถูกข่มขืนเข้าไปด้วยเพราะมัวแต่เห็นว่าการข่มขืนมีได้ระหว่างชายกระทำต่อหญิงเท่านั้น ไม่มีแม้แต่ในสามีกระทำกับภริยาหรือไม่มีแม้แต่ในเพศเดียวกัน เวลาที่บุคคลเหล่านี้ถูกข่มขืนกระทำชำเราอย่างมากก็เอาผิดกับผู้ต้องหาได้แค่ขั้นกระทำอนาจารเท่านั้น โดยที่ความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับนั้นมากกว่าการถูกกระทำอนาจารหลายเท่า นี่ยังไม่ได้พูดถึงบทลงโทษผู้กระทำการข่มขืนที่ค่อนข้างเบา และยังขาดกระบวนการที่จะทำให้ผู้กระทำผิดได้เกิดความสำนึกในสิ่งที่ตนได้กระทำลงไป ออกจากคุกมาใหม่ก็ก่อคดีข่มขืนซ้ำอีกตามที่เคยเป็นข่าว

          ผู้หญิงที่เป็นเมียแล้วถูกผัวข่มขืนรวมทั้งบุคคลอื่น ๆ ที่ถูกข่มขืนจึงต้องรับเคราะห์กรรมจากมาตรา ๒๗๖ ต่อไปอีกยาวนานเพราะไม่สามารถเอาผิดอะไรกับผู้ข่มขืนได้เต็มที่คนผิดก็ยังลอยนวลต่อไป เพราะคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายมาตรานี้ไม่ได้รู้สึกว่านั่นคือการข่มขืน....

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๘๘๗๕
... e-mail :