เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๙
มกราคม - มีนาคม ๒๕๔๗

คิดคนละมุม

สมบัติ ทารัก

ชีวิตที่จิตใฝ่หา

 

หนังสือรวมคำบรรยายของพระไพศาล วิสาโล ณ วัดป่ามหาวัน แม้เจตนาแรกจะแสดงแก่ญาติโยมที่ไปร่วมปฏิบัติธรรมที่วัดเป็นสำคัญ แต่เนื้อหาก็เหมาะสมและสามารถที่บุคคลทั่วไป จะนำไปปรับประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่ยาก ทั้งนี้เพราะผู้บรรยายใช้ภาษาที่ง่าย กระชับ และมีเนื้อหาสาระเกี่ยวโยงกับชีวิตประจำวันที่พบเห็นได้บ่อย ๆ เมื่ออ่านแล้วรู้สึกเพลิดเพลินไปกับเนื้อเรื่องแต่ละบท สำหรับหลักธรรมที่ยกมากล่าว ก็เป็นเรื่องที่เรามักมองข้าม ด้วยสังคมสมัยใหม่ปลุกเร้าอารมณ์ให้สนใจแต่เรื่องนอกตัวมากเกินไป กระทั่งลืมใส่ใจกับการมีสติ การรู้เท่าทันอารมณ์ที่มากระทบใจ เชื่อมโยงไปหา ศีล สมาธิ และปัญญา เพราะหลักธรรมไม่จำต้องศึกษามากมาย หากไม่ได้น้อมนำมาปฏิบัติศึกษาแล้วก็ลืม หรือศึกษาเพื่อให้รู้ทันคนอื่นแต่ไม่รู้ทันตนเอง กลับจะกลายเป็นคนใบลานเปล่าคือรู้แต่นำมาใช้ประโยชน์ไม่ได้


ชีวิตที่จิตใฝ่หา
พระไพศาล วิสาโล
จัดพิมพ์โดย กองทุนวุฒิธรรม
พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม ๒๕๔๖
กระดาษกรีนรีด ๑๔๓ หน้า
ราคา ๙๐ บาท

          เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบก็เกิดกำลังใจขึ้นอย่างมาก เพราะมีหลายเรื่องที่ตรงกับตัวเอง หรือใกล้เคียงกับเหตุการณ์ที่เคยเผชิญมา รวมทั้งมีแง่คิดในการใช้ชีวิต การมองโลก การจัดการกับความรู้สึกที่ไม่ดี เป็นต้น อย่างแง่คิดที่ได้จากธรรมชาติป่าเขานำมาผสานกับการใช้ชีวิต แม้ว่าโลกจะพัฒนาไปก้าวไกล แต่มุมหนึ่งของจิตใจมนุษย์ ก็ยังโหยหาธรรมชาติอยู่ พลังธรรมชาติสามารถแปรเปลี่ยนจิตใจมนุษย์ที่รุ่มร้อน หมดหวัง ท้อแท้ ให้กลับมามีชีวิตชีวาอย่างมหัศจรรย์ ยิ่งถ้าเปิดใจน้อมรับธรรมชาติภายนอก มาผสานกับธรรมชาติภายในใจเรา จนประจักษ์ชัด และเห็นสัจธรรมว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสักแต่ว่าธาตุมาประชุมกันชั่วขณะ เมื่อถึงเวลาก็แตกสลายไป ทำให้หมดความติดยึด ไม่มุ่งหวังไขว่คว้าทุกสิ่งมาไว้เป็นของตัว เว้นจังหวะชีวิตให้มีเวลาใคร่ครวญกับตนเอง มองเห็นอารมณ์ที่มากระทบตามเป็นจริง พยายามพัฒนาสติให้มีความกล้าแข็ง แม้บางครั้งเราจะเผลอไผลกับสิ่งยั่วยวนรอบข้างก็ตาม หากทำบ่อยครั้งจนเป็นจริตนิสัยที่เคยชิน เราจะรู้เท่าทันอารมณ์ที่กระทบจิตใจเราได้อย่างทันท่วงที จนไปพ้นการปฏิบัติธรรมที่ติดกับรูปแบบ เพราะธรรมะอยู่ทุกหนทุกแห่งไม่จำเป็นต้องอยู่ในวัดเท่านั้น

          นอกจากการเสนอแง่คิดสำหรับการจัดสรรชีวิตให้ลงตัวแล้ว พระไพศาลยังโยงหลักธรรมเข้ากับสังคมร่วมสมัยได้อย่างลงตัว จนไม่ค่อยรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้เหมือนกับหนังสือธรรมะทั่วไป ที่มีแต่ศัพท์แสงเทคนิคในพระไตรปิฎกมากมาย จนคนอ่านจบแล้วยังไม่เข้าใจต้องกลับไปเปิดพจนานุกรมดูอีกรอบ อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้บรรยายไม่ได้แสดงไว้โดยตรงถ้าหากวิเคราะห์ให้ดีจะเห็นแง่มุมที่เป็นจิตวิทยาอยู่ แต่เป็นจิตวิทยาแบบพุทธมิใช่จิตวิทยาแบบตะวันตก นั่นคือท่านได้เสนอวิธีจัดการกับจิตไร้สำนึกหรือความรู้สึกเก็บกด ยกตัวอย่างเรื่องที่ผู้บรรยายกล่าวถึง ชายคนหนึ่งเมื่อวัยเด็กมักจะถูกพ่อตีเป็นประจำจนเกิดความรู้สึกเก็บกดและเกลียดพ่ออย่างฝังใจ จนเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้หันมาสนใจสมาธิภาวนา ยามที่จิตเขาสงบเป็นสมาธิจะมีภาพของเด็กน้อยคนหนึ่งร้องไห้มากมาย เป็นอยู่บ่อยครั้ง จนเมื่อเขาได้รับคำแนะนำว่าเวลามีเด็กคนนี้โผล่ขึ้นมาในสมาธิให้นึกต่อไปว่า เขาได้โอบกอดเด็กน้อยคนนั้นให้คลายเศร้าโศก และที่แท้เด็กน้อยคนนั้นคือความทรงจำของเขาในวัยเด็กที่ถูกพ่อตี จากนั้นมาเขาก็รู้สึกดีขึ้นกับพ่อนั่นคือเขาได้ให้อภัยพ่อแล้ว ที่ให้อภัยเพราะเขาได้เยียวยาอดีตอันเจ็บปวด

          นี่คือการจัดการกับความรู้สึกนึกคิดที่ฝังแน่นจนบางทีเจ้าตัวอาจจะลืมไปด้วยซ้ำ ต่อเมื่อถูกสะกิดหรือมีเรื่องมากระทบ ความรู้สึกนั้นจึงกลับมาเป็นแผลในใจ แต่ถ้าเรามีความเข้าใจความจริงเบื้องหลังแล้วพยายามหาทางแปรเปลี่ยนให้มันได้สัมผัสความรัก ความเมตตา หรือได้สัมผัสกับสติ ยอมรับมันตามเป็นจริง ผสานชีวิตด้านนอกกับชีวิตด้านใน จิตใจเราจะสามารถพัฒนาไปถึงขั้นที่สามารถจัดการกับอารมณ์ต่าง ๆ ได้อย่างแยบคาย

          เมื่อเราได้ฝึกฝนพัฒนาจิตใจให้มองในหลายแง่มุม ไม่ติดยึดหลักการใดหลักการหนึ่งจิตเราจะเป็นอิสระปราศจากเมฆหมอกที่มาบดบังให้จิตขุ่นมัว หรือนอกจากเรื่องที่กล่าวมานี้แล้วเรื่องสันโดษท่านก็ได้ยกตัวอย่างได้อย่างน่ารับฟังเป็นอย่างยิ่ง

          ยามที่ชีวิตท้อแท้ หมดหวัง หากมีหนังสือดี ๆ หรือคำแนะนำที่มีประโยชน์สามารถนำมาปฏิบัติได้ไม่สูงส่งจนสุดเอื้อม เราย่อมเห็นว่าชีวิตนี้ยังไม่สิ้นหวัง ยังต้องต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคไปให้ถึงจุดหมาย ชีวิตที่ใฝ่หาคงเป็นหนึ่งในหนังสือเล่มนั้นแหละ ที่จะให้คำตอบแก่บางส่วนเสี้ยวชีวิต.

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :