เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

สุภาพร พงศ์พฤกษ์ ...ใบไม้ที่คืนกลับสู่ดิน

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๙
มกราคม - มีนาคม ๒๕๔๗

ด้วยความระลึกภึง

สุรภี ชูตระกูล

 

เม่เคยคิดว่าสักวันหนึ่งจะต้องมาเขียนถึงเรื่องของความตายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความตายของพร แต่จะมีใครหนีพ้นความตายไปได้

          ความตายเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องที่คนทั่วไปไม่อยากนึกถึง ไม่อยากเกี่ยวข้องด้วย และไม่คุ้นเคยกับการสัมผัสกับความตาย ประกอบกับความตายส่วนใหญ่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล เมื่อตายก็นำไปวัด ความตายจึงกลายเป็นเรื่องของความสูญเสีย ความเศร้าหมอง ความน่าสะพรึงกลัว และรู้สึกต้องหลีกหนีมากกว่าต้องยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติและเป็นความจริงของชีวิต ความตายของพรได้นำมุมมองใหม่ ความคิดใหม่มาให้ผู้ที่ได้สัมผัสกับเธอ และผู้คนอีกมากมายในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่กำลังสัมผัสกับความตาย พรแสดงให้เห็นว่าความตายนอกจากไม่ใช่สิ่งน่ากลัวน่ารังเกียจ ความตายยังเป็นความงาม เป็นการได้มาไม่ใช่การสูญเสีย และเป็นเรื่องใกล้ตัว ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าการตายและการมีชีวิตของเราสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและเป็นเรื่องเดียวกัน ความตายของพร เปิดโอกาสให้ผู้ที่ยังอยู่ได้เรียนรู้แนวทางการดำรงชีวิต ที่อยู่บนเส้นทางที่จะนำไปสู่ชีวิตที่งดงามและสงบสุข

          เจอกับพรครั้งแรกเมื่อ ๑๙ ปีก่อน ที่ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี พูดคุยกัน ๒ – ๓ ครั้งก็รู้สึกคุ้นเคยกันเนื่องจากเป็นคนใต้ด้วยกัน จบจากสถาบันเดียวกันจึงมีหลายเรื่องที่เห็นไปในทางเดียวกัน พูดกันเข้าใจได้ง่ายโดยไม่ต้องอธิบายทำให้คุ้นเคยกันเร็ว น่าแปลกที่เรื่องที่เราคุยกันบ่อย ๆ ในครั้งแรก ๆ คือ ทัศนะเกี่ยวกับศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปรัชญาศาสนาพุทธ ซึ่งไม่ใช่หัวข้อที่คนในวัยเดียวกับเราในขณะนั้นสนใจ เรามักจะอภิปรายกันมากกว่าเห็นพ้องต้องกัน เรามาสนิทกันจริง ๆ ๑๒ ปีหลังเมื่อพรพบว่าเธอมี “คุณก้อนมะเร็ง” ที่หน้าอกด้านซ้าย เมื่อย้อนวันโน้นมาถึงวันนี้ เห็นได้ชัดว่าทัศนะเกี่ยวกับพุทธศาสนาของพรเป็นธรรมชาติมากขึ้น ผ่อนคลาย และลุ่มลึกขึ้น ด้วยเป็นทัศนะที่กลั่นกรองมาจากการปฏิบัติจริง เป็นความเข้มแข็งเติบโตที่มาจากการเปลี่ยนแปลงภายในอย่างแท้จริง

          พรเป็นคนจริงจังกับชีวิต ใส่ใจปัญหาสังคมและความทุกข์ยากของผู้คน ร่าเริง แจ่มใส และมีน้ำใจ เมื่อถึงคราวสนุกเธอหัวเราะเสียงดัง และมักพูดเสมอว่า “ก็ฉันเป็นคนมีสีสันนี่จ๊ะ” แต่สิ่งที่คนอื่น ๆ ไม่รู้คือ เธอจะแอบเครียดเพราะความเจ้าคิดเจ้าแค้นและความไม่ยอมเป็นสองรองใคร ซึ่งเธอสารภาพว่าเธอเองก็ไม่รู้ตัวว่าเธอเป็นคนเช่นนั้น จนกระทั่งพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งจึงหันมาพิจารณาตัวเอง เริ่มเห็นตัวเองชัดเจนขึ้นเข้าใจตัวเองมากขึ้น และเห็นว่าความชอบชิงดีชิงเด่นและเจ้าคิดเจ้าแค้นนี่เอง ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการสะสมทุกข์สะสมโรคจนกลายเป็นมะเร็ง

          ย้อนกลับไป ๑๑–๑๒ ปี ก่อน เมื่อพรรู้ว่าเป็นมะเร็งใหม่ ๆ เธอตื่นตระหนก และตกใจกลัวแต่เธอโชคดีที่ทำงานอยู่ท่ามกลางกลุ่มคนที่ส่งเสริมการใช้หลักธรรมของพุทธศาสนา ในการพัฒนาสังคมพัฒนาชีวิต ในแวดวงขององค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคมนานาชาติ อาศรมวงค์สนิท และองค์กรในเครือของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ–นาคะประทีป และด้วยความเกื้อกูล ด้วยความเมตตาและกำลังใจที่เธอได้รับจากผู้คนที่รายล้อมเธอในเวลานั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาจารย์สุลักษณ์ (สุลักษณ์ ศิวรักษ์) พี่ประชา (ประชา หุตานุวัตร) และเพื่อน ๆ ในองค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคมช่วยให้เธอได้สงบใจ ได้ตั้งสติ ได้ไตร่ตรองและทำความเข้าใจกับเงื่อนไขของเธออย่างรอบคอบและอย่างมีสติ ในที่สุดเธอเลือกการรักษาแบบวิธีธรรมชาติบำบัดโดยมีธรรมะเป็นที่พึ่ง ซึ่งเธอคิดว่าเหมาะสมกับตัวเธอมากที่สุด อาจารย์สุลักษณ์และพี่ประชาจึงเสนอให้พรหยุดทำงานและพักผ่อนรักษาตัวที่อาศรมวงค์สนิท ด้วยอาศรมวงค์สนิทตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติของแมกไม้ บรรยากาศเงียบสงบและเอื้อต่อการปฏิบัติธรรม เธอจึงรักษาตัวอยู่ที่นั่นเกือบ ๒ ปี ก่อนจะกลับไปอยู่เป็นเพื่อนแม่ที่หาดใหญ่

          ทุกครั้งที่แวะไปเยี่ยมพรที่อาศรมวงศ์สนิท กิจกรรมประจำที่เราทำร่วมกัน คือเล่นโยคะ นั่งสมาธิ เดินเล่น และพรจะขอให้ช่วยประคบ “คุณก้อนมะเร็ง” ให้เธอ ซึ่งตอนนั้นประคบด้วยการฝนเผือกให้ละเอียดและห่อด้วยผ้าขาวประคบตรงก้อน ยังจำได้ว่าตอนที่พรเปิดหน้าอกให้ดูครั้งแรกรู้สึกกลัวมากไม่อยากดู เพราะเมื่อ ๑๒ ปีก่อนมะเร็งเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับความน่าสะพรึงกลัวและความตาย แต่ต้องทำใจแข็ง ดู ก็ ดู เพราะต้องการช่วยประคบให้พรและไม่อยากให้พรรู้ว่ากลัวเดี๋ยวเธอจะยิ่งกลัว ใจเต้นระทึกทีเดียวเมื่อพรเปิดหน้าอกให้ประคบ ตอนประคบมือยังสั่นนิด ๆ พยายามบังคับเสียงให้เป็นปกติบอกพรว่า “ไม่เห็นมีอะไรแตกต่างเลย” ซึ่งความจริงก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ เพราะหน้าอกเธอปกติทุกอย่างมีรอยแผลที่เกิดจากการทำ biopsy (เจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ) เพียงนิดเดียวเท่านั้นยาวประมาณ ๑ เซนติเมตร (ความคิดและจินตนาการของคนนี่ร้ายกาจมากทำให้เกิดความกลัวความวิตกกังวลได้อย่างไม่มีเหตุผล กลัวทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่ากลัวอะไร และทำไม) พรดูแลตัวเองอย่างมีวินัย นั่งสมาธิ เคร่งครัดเรื่องอาหาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และแปลหนังสือโดยเลือกหนังสือที่มีเนื้อหาที่เกื้อกูลต่อจิตวิญญาณภายในซึ่งเป็นการบำบัดตัวเองไปในตัว

          ในฐานะเพื่อน เมื่อพรเกิดความกังวล ไม่สบายใจเมื่อต้องเลือกว่าต่อไปจะทำอย่างไรดี จะรักษาอย่างไร สิ่งที่ทำได้คือรับฟังอย่างตั้งใจอย่างระมัดระวัง ช่วยเกลาความคิด ช่วยให้พรได้เลือกในสิ่งที่เธอทำแล้วสบายใจที่สุดไม่ขัดแย้งกับความรู้สึกลึก ๆ ข้างในของเธอเอง และพร้อมจะสนับสนุนช่วยเหลือและให้กำลังใจเธอในทุกเรื่องที่เธอทำ การทำให้เธอรู้สึกว่ามีเพื่อน การอยู่เป็นเพื่อนหรือไปเป็นเพื่อนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะฉะนั้นไม่ว่าพรจะชวนไปที่ไหน จะพยายามไปกับเธอทุกที่เกือบทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเธอชวนไปพบหมอ ทั้งหมอแผนปัจจุบันและหมอแผนโบราณ มีหลายครั้งที่พรแสดงความกังวลเมื่อรู้สึกว่าก้อนข้างในโตขึ้นพรบอกว่าจะเป็นอย่างนี้ทุกครั้งที่เธอรู้สึกเครียด ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้เธอเจริญสติและเบิกบานกับชีวิตให้มากขึ้น พรจะตื่นเต้นมีความสุขเมื่อรู้สึกว่าก้อนเล็กลง พรทำจินตภาพบำบัดและแผ่เมตตาให้กับก้อนของเธอและผู้ป่วยคนอื่น ๆ อย่างสม่ำเสมอทุกวัน

          ในช่วง ๙ ปีแรกพรใช้ชีวิตได้อย่างปกติทั่วไป ที่พิเศษกว่าปกติคือ เธอใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากกว่าทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความสุขมากกว่าก่อนที่เธอจะรู้ว่าเป็นมะเร็ง ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากบุคลิกลักษณะและสีหน้าท่าทางของเธอที่เปลี่ยนแปลงไป ถ้าไม่บอกจะไม่มีใครรู้ว่าเธอเป็นมะเร็ง พรเจริญสติทำสมาธิและพยายามนำธรรมะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เธอปฏิบัติธรรมอย่างสร้างสรรค์พยายามคิดว่ามรรค ๘ ที่เหมาะสมสำหรับคนเป็นมะเร็งเช่นเธอคืออะไร และเธอก็ค้นพบ และปฏิบัติตามนั้นอย่างสม่ำเสมอ พรเริ่มศึกษาธรรมะและพิสูจน์คำสอนอย่างจริงจัง เธอฝึกฝนพรหมวิหาร ๔ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ในชีวิตประจำวันของเธอมากขึ้นเพื่อ ลด โลภะ โทสะ โมหะภายใน ช่วงนี้เองที่เธอชักชวนให้ร่วมเปิดอบรมธรรมะกับการเยียวยา ให้กับผู้ป่วยมะเร็งคนอื่น ๆ โดยใช้ประสบการณ์ของเธอและของ จอห์น แมคคอร์แนล ซึ่งเป็นกัลยาณมิตรของเราอีกคนหนึ่งเป็นประเด็นในการพูดคุยแลกเปลี่ยนเพราะทั้ง จอห์น และ พร ต่างมีประสบการณ์ตรงในการใช้ธรรมะรักษาดูแลตัวเองมาแล้ว เราทั้ง ๓ คนจึงเริ่มทำเรื่องนี้ด้วยกันมาตั้งแต่ ปี ๒๕๔๑ การอบรมธรรมะกับการเยียวยาโดยตัวของมันเองเป็นการบำบัดเยียวยาตัวพรเองอีกรูปแบบหนึ่ง

          ผู้ที่ใกล้ชิดค่อย ๆ เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพรทีละเล็กทีละน้อย พรอ่อนโยน ผ่อนคลายและปล่อยวางได้มากขึ้นเรื่อย ๆ พรพยายามรักษากายรักษาใจอย่างแยกแยะ และรู้ว่ารักษากายต้องทำอย่างไรรักษาใจควรทำอย่างไรเพื่อให้การรักษาทั้ง ๒ อย่างได้เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ในขณะที่ในความเป็นเพื่อนของเรา เราผูกพันกัน ช่วยเหลือเอาใจใส่กันและกันและเข้าใจกันลึกซึ้งยิ่งขึ้น รวมทั้งการมีเรื่องถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้างเกิดขึ้นกับเราทั้งคู่ เพราะคิดว่าอีกคนหนึ่งจะคิดเหมือนเรา ทำแบบเดียวกับเราและทำตามเราในทุกเรื่อง เราจึงต้องใช้ธรรมะมาช่วยกล่อมเกลาใจอยู่เสมอ ๆ มองลึกเข้าไปในจิตใจและขัดเกลาจิตใจตัวเอง ความเป็นเพื่อนคือความละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของอีกฝ่าย ยอมรับกันและกันในแบบที่เขาเป็นพร้อมช่วยเหลือกันด้วยความเต็มใจ และกล่าวเตือนสติกันอย่างตรงไปตรงมาด้วยจิตที่เมตตา เราจึงพยายามเตือนสติกันและกันและเอ่ยขอโทษกันบ่อย ๆ

          จนกระทั่งช่วง ๒ ปี สุดท้ายพรเริ่มบอกว่าเธอรู้สึกว่า “คุณก้อนมะเร็ง” ของเธอโตขึ้นกว่าเดิม อาจจะเป็นเพราะเธอเครียด ทำงานมากและพักผ่อนน้อย เธอจึงงดรับโทรศัพท์ งดรับแขกชั่วคราว อยากอยู่เงียบ ๆ และต้องการทำภาวนาให้มากขึ้น พรทำเช่นนี้เป็นช่วง ๆ และทานยาสมุนไพรตามอาการควบคู่กันไปด้วย ในช่วงนี้ได้ลงไปเยี่ยมพรที่หาดใหญ่เป็นระยะ ระยะ ทำสมาธิด้วยกัน แบ่งปันทุกข์สุขกันและกัน (รวมทั้งการแอบตำยาสำหรับโปะก้อนเนื้อเพื่อไม่ให้แม่เห็น ในช่วงนั้นพรยังไม่บอกให้แม่ของเธอรู้ว่ามะเร็งกลับมาอีก กลัวแม่จะเป็นกังวล และตัวเธอเองต้องการเวลาเพื่อปรับใจปรับสภาพและไตร่ตรองว่าเธอจะดูแลตัวเองอย่างไรต่อไป) เราได้แบ่งปันความคิดและแบ่งเบาความกังวลที่เกิดขึ้น พรเลือกวิธีรักษาตัวเธอเองอย่างไตร่ตรอง เธอปรึกษาทั้งแพทย์ตามแบบแผนสากลอย่างรอบคอบ และปรึกษาหมอตามภูมิปัญญาโบราณและตามแบบธรรมชาติบำบัด ในที่สุดเธอเลือกที่จะใช้ตามแบบแผนภูมิปัญญาโบราณ โดยมีธรรมะประคองใจแต่ไม่ได้ละเลยความรู้และศักยภาพของการแพทย์แผนใหม่ พรยังคงร่าเริงแจ่มใสเหมือนเดิม มีกังวลบ้างเป็นครั้งคราวซึ่งเป็นธรรมดาของปุถุชน แต่ด้วยอานิสงส์ของการปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เธอสามารถเรียกสติกลับมาได้เร็ว และเริ่มทำมรณสติภาวนา ๑๐ ข้อ ทุกวัน

          วิธีหนึ่งที่พรใช้ในการดูแลตัวเองเมื่อก้อนมะเร็งเริ่มปรากฏออกมาภายนอกอย่างชัดเจนคือ การอดอาหาร และการโปะยาสมุนไพร วันหนึ่งขณะที่ไปอดอาหารร่วมกับพรที่สวนสายน้ำ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พรอยากให้ดู “คุณก้อนมะเร็ง” ของเธอ ความกลัวเริ่มกลับมาเกาะกุมใจอีกเพราะเป็นเวลาร่วม ๑๐ ปีแล้วที่ไม่เคยเห็นก้อนของพรและลืมไปแล้วว่าเคยกลัว แต่พยายามสงบใจเพราะรู้ว่าพรต้องการเปิดเผยแบ่งปันสิ่งที่เธอเป็นสิ่งที่เธอรู้สึก กับคนที่เธอไว้วางใจและรู้สึกปลอดภัย พรยังไม่เคยให้ใครเห็นก้อนที่ปรากฏออกมานอกจากหมอที่ตรวจเธอเท่านั้น จึงพยายามไม่จินตนาการว่าจะได้เห็นอะไรและนึกถึงธรรมะของความไม่เที่ยง เพื่อปลอบใจตนเอง คิดว่าทุกอย่างต้องมีครั้งแรกเสมอดีที่มีโอกาสทำให้คุ้นเคย

          ทันทีที่เห็น “คุณก้อนมะเร็ง” ของพรอีกครั้งรู้สึกตื้นตันใจจนต้องกลั้นน้ำตาใจวูบไปถึงปลายเท้าโชคดีที่ได้เตรียมใจไว้แล้ว และได้ตระหนักถึงความเข้มแข็ง ความเป็นนักสู้ของพร บอกพรว่า “ก้อนเธอน่ารักดี โปะง่าย ทำความสะอาดง่าย เดี๋ยวต่อไปฉันทำให้เอง” ในขณะเดียวกันรู้สึกซาบซึ้งใจที่พรอยากแบ่งปัน ความรู้สึก ความทุกข์ ความกังวล ด้วยการให้ดู “คุณก้อนมะเร็ง” ของเธอ ดีใจที่สามารถรวบรวมสติและได้ร่วมแบ่งปันความรู้สึกกับพร ทำให้ทุกข์ของพรคลายลง ซึ่งเห็นได้ชัดว่าพรผ่อนคลายลงมากหลังจากเปิดเผย “คุณก้อนมะเร็ง” ให้เห็น นึกในใจว่าโชคดีที่ได้โอกาสฝึกตนเองให้เผชิญหน้ากับความกลัวความหวั่นวิตก และคงต้องทำเมตตาภาวนาให้มากขึ้นและฝึกฝนพรหมวิหาร ๔ ให้มากขึ้นกว่าเดิม ต้องขอบคุณพรที่มอบโอกาสนี้ให้ พรบอกว่าคนมักจะถามว่าเจ็บไหม แต่น่าแปลกที่เธอไม่เจ็บในแบบเดียวที่คนอื่น ๆ ที่อยู่ในสภาวการณ์เดียวกับเธอเขาเจ็บกัน ระหว่างอดอาหารเราทำตารางกิจวัตรประจำวัน เริ่มด้วยการทำสมาธิในตอนเช้าตรู่ เดินเล่นไปตามแนวสวนยาง (เช้า) ดื่มน้ำผัก หรือผลไม้ พักผ่อน นั่งสมาธิ (เที่ยง) ดื่มน้ำผักหรือน้ำผลไม้ นอนพัก นั่งสมาธิ เล่นโยคะ เดินเล่น (เย็น) ดื่มน้ำผักหรือน้ำผลไม้ พักผ่อน นั่งสมาธิ เข้านอน ในช่วงพักผ่อนเราจะวาดรูปและพูดคุยกันถึงเรื่องของการรักษาดูแลตัวเองดูแลชีวิต ทัศนะต่อชีวิต ทัศนะต่อความตาย และหัวเราะกับความไม่แน่นอนของสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวเรา

          พรอยู่ในภาวะที่ต้องปรับระดับจิตใจขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง เมื่อเริ่มแรกเธอใช้ธรรมะเพื่อรักษาใจให้ประคองกาย และเกื้อกูลกายให้หายจากโรค แต่ด้วยแรงกุศลกรรมและความเพียรในการเจริญสติ การทำมรณสติ และการปฏิบัติพรหมวิหาร ๔ อย่างสม่ำเสมอทำให้เธอค่อย ๆ ปรับระดับจิตใจมาอยู่ในขั้นที่ยอมรับได้ว่าหายหรือไม่หายก็ไม่เป็นไรแต่จะใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข

          เดือนมีนาคมพรโทรมาบอกว่าจะชวนไปอยู่เป็นเพื่อนเธอที่สำนักวิปัสสนาดวงพรสวรรค์ของแม่ชีบุตรี ซึ่งอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี พรเรียกแม่ชีว่า “แม่ย่า” แม่ย่าเป็นหมอสมุนไพรพื้นบ้าน ที่เคยรักษาคนไข้โรคมะเร็งที่หมดหวังจากการรักษาตามแพทย์แผนใหม่ให้หายเป็นปกติ พรประทับใจความเมตตาของแม่ย่าที่มีต่อเธอ และต้องการให้แม่ย่าดูแล “คุณก้อนมะเร็ง” ให้เธอซึ่งขณะนี้ “เติบใหญ่ขึ้นกว่าเดิมมากเพราะได้อาหารดี” (พรมักจะมีอารมณ์ขันให้เราได้หัวเราะกันอยู่เสมอ) เมื่อไปเจอพรที่กุฏิหน้าถ้ำพรอยู่ในสภาพที่น่าตกใจ เพราะเดินแทบไม่ได้ เนื่องจากการรั้งของอาการบวมที่หน้าอกทำให้เส้นสายตึงไม่ยืดหยุ่น เดินมากไม่ได้จะสะเทือนและปวดรั้งบริเวณหน้าอก เธอจึงต้องเดินแบบค่อย ๆ ขยับอย่างช้า ๆ ก้อนของเธอโตขึ้นจากที่เห็นครั้งล่าสุดประมาณ ๒–๓ เท่า แต่พรยังสดใสร่าเริง เสียงดังฟังชัด แม้เคลื่อนไหวตัวเองมากไม่ได้แต่พูดคุยเขียนหนังสือได้ตามปกติ นอกเหนือจากการช่วยดูแลพรในทุกเรื่องเราทำวัตรเช้าวัตรเย็นร่วมกันทุกวัน พรสวดมนต์ในบทที่เกี่ยวข้องกับความไม่เที่ยง การละวางตัวตน บทที่พรชอบสวดเป็นประจำคือบทสวดมนต์พิเศษและบทปฐมพุทธสุภาสิตคาถา และพรจะฟังเทปธรรมะเกี่ยวกับสติปัฏฐาน ๔ ทุกเช้าเย็น ขณะอยู่ที่กุฏิหน้าถ้ำเราทั้งคู่ต่างได้ฝึกฝนการละวางตัวตนไปพร้อม ๆ กันแม้จะคนละบริบทคนละเหตุปัจจัยแต่เราต่างได้ประสบการณ์ของการละวางปล่อยวางตัวตน เป็นการปฏิบัติธรรมที่เข้มข้นมากโดยบางครั้งเราเองก็ไม่รู้ตัว สำหรับพรเธอกลายเป็นนางแบบสาธิตลักษณะอาการของโรคมะเร็งหน้าอก ให้เป็นวิทยาทานแก่ชาวบ้านแถวนั้นโดยปริยาย เป็นการเริ่มต้นละวางตัวตนของเธอ ประสบการณ์จากถ้ำดวงพรสวรรค์

          ทำให้ตระหนักว่าความเมตตาความกรุณาเป็นสิ่งที่เอื้ออำนวยต่อการละวางตัวตน และการละวางตัวตนทำให้ได้สัมผัสกับความสุขและความอิ่มเอิบใจที่ลึกซึ้ง เป็นประสบการณ์ใหม่ที่มีคุณค่าต่อชีวิตเป็นอย่างยิ่ง เราดูแลก้อนมะเร็งที่หน้าอกโดยการโปะยาซึ่งแม่ย่าเรียกว่ายาดำ พร้อมกับดื่มยาสมุนไพรเพื่อรักษาความสมดุลภายใน เราโปะยาเพื่อดูดหนองที่คัดอยู่ข้างในและเป็นเหตุให้หน้าอกบวมเป่งเราทำเช่นนี้ทุกวันเช้า เที่ยง เย็น

          วันหนึ่งขณะทำความสะอาด “คุณก้อนมะเร็ง” ของพรโดยค่อย ๆ เลาะเอายาที่ติดแข็งอยู่กับเนื้อและระหว่างเนื้อกับยาคือหนองที่ถูกดูดออกมาขังอยู่ ระหว่าง ๒ ชั่วโมงที่ค่อย ๆ ทำความสะอาดอย่างเบามือ รู้สึกสะเทือนใจและมีหลายครั้งที่สะท้อนใจจนน้ำตาซึมในสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้า ยิ่งนับถือในความเข้มแข็งอดทนของพร ในศรัทธาอันแน่วแน่ที่มีต่อธรรมะ และในความเพียรที่จะรักษาสติให้มั่นคงของเธอ เพราะไม่เคยได้ยินเสียงร้องโอดโอยจากพรเลย พรเคยบอกว่าเธอรู้สึกแปลกใจเช่นกันที่เธอเจ็บจี๊ด ๆ เป็นครั้งคราว แต่ไม่เคยรู้สึกเจ็บแบบที่คนอื่น ๆ เขาเจ็บ พรไม่เคยบ่นเรื่องปวดตรงบริเวณก้อนมะเร็งแต่บ่นถึงอาการขัดยอกปวดเมื่อยตามไหล่ หลัง คอ แขนมากกว่า เมื่อพูดคุยกันเรามักมีเรื่องให้หัวเราะกันอย่างสนุกสนาน ขบขันกับสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่าจมอยู่กับความเศร้าและความท้อแท้ การทำความสะอาด “คุณก้อนมะเร็ง” ให้พรในวันนั้นทำให้สามารถเข้าใจสภาวะความรู้สึกของพรลึกเข้าไปอีกระดับหนึ่งว่าพรต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ส่งผลให้การปฏิบัติพรหมวิหาร ๔ เป็นไปอย่างเข้มแข็งมากขึ้น และการทำสมาธิร่วมกันของเราลึกซึ้งยิ่งขึ้น สงบเย็นยิ่งขึ้น พรบอกว่า “สุที่นี่จะเป็นที่สุดท้ายที่ฉันจะรักษา หายก็หาย ไม่หายก็พอแล้ว”

          พรมีอาการท้อถอยอยู่บ้างในบางโอกาส เมื่อสังเกตเห็นจะเตือนสติเธอเสมอว่า ชีวิตของเธอเป็นชีวิตที่งดงามและมีคุณภาพทั้งเรื่องอาหารการกิน ทั้งเรื่องความสะดวกสบาย ไม่มีเรื่องอื่นใดให้ต้องเป็นทุกข์ ได้ทำแต่สิ่งที่ดี ๆ เป็นกุศล อยากเจอใครเขาก็มาหา อยากได้อะไรก็มีคนเอามาให้ ได้อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ มีเพื่อนฝูงที่รักใคร่ มีแม่และญาติพี่น้องที่รักที่เมตตาเธอมากและพร้อมเกื้อกูลเธอ ไม่รวมถึงสิ่งที่เธอได้ทำคุณประโยชน์ให้กับคนอีกมากมาย ซึ่งน้อยคนนักที่จะสามารถมีได้อย่างเธอและทำได้อย่างเธอ นี่คือสิ่งที่ได้มาจากกุศลกรรมที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงภายในที่เกิดขึ้นในขณะที่เธอเป็นมะเร็ง และถ้ามะเร็งไม่มาเตือนสติ เธออาจยังต้องหัวยุ่งเคร่งเครียดกับการทำงานก็เป็นได้ เราหัวเราะกันเพราะเราต่างก็เห็นด้วยว่าคงเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ระหว่างอยู่ที่นี่พี่ยา น้องเอก น้องเพชร และ โชโกะ ผลัดเปลี่ยนกันมาเยี่ยมและอยู่เป็นเพื่อนพรโดยมีพี่อุไร (อาจารย์อุไร ประกอบกิจวิริยะ) คอยช่วยเหลือและให้ความสะดวกในทุกเรื่อง พรอยู่ที่สำนักวิปัสสนาประมาณ ๒ เดือน จนอาการบวมหายไป แม้ก้อนยังคงอยู่แต่หน้าอกแห้งสนิทและเธอสามารถเดินได้ตามปกติ พรจึงตัดสินใจกลับหาดใหญ่

          เมื่อพรกลับมาหาดใหญ่เราได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์อย่างสม่ำเสมอ ในช่วงนี้จอห์นเดินทางมาจากประเทศอังกฤษ เพื่อมาเยี่ยมพรก่อนเดินทางไปทำการอบรมที่ประเทศพม่าและประเทศศรีลังกา ใน ๒ ปีที่มะเร็งกลับมาใหม่ จอห์นโทรศัพย์ข้ามประเทศมาให้กำลังใจพร และติดตามอาการพร้อมทั้งหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาให้พรอย่างสม่ำเสมอไม่ได้ขาด พร้อมทั้งการเดินทางมาเยี่ยมเยียนเป็นระยะ ระยะ ได้ตกลงกับจอห์นไว้ว่าเราจะผลัดเปลี่ยนกันลงมาอยู่เป็นเพื่อนพรในยามที่เธอต้องการ จอห์นเป็นกำลังสำคัญคนหนึ่ง ที่เป็นกำลังใจช่วยให้พรบำบัดเยียวยาตัวเองอยู่ในเส้นทางแห่งธรรมะอย่างต่อเนื่อง และอย่างมีความเพียร หลังจากกลับมาจากถ้ำไม่นานอาการขัดยอกตามร่างกายเริ่มปรากฏมากขึ้น ในช่วงนี้ พี่ยา (คุณจรรยา พึ่งประยูร) พี่สาวซึ่งพรบอกว่าเป็นคู่หูของเธอมาอยู่ดูแลเป็นประจำในตอนกลางคืน ส่วนตอนกลางวันมีน้องไก่คอยช่วยเหลือ โดยมีน้องเกศและน้องเอกหมอนวดใจดีที่ทำได้ทุกอย่างนอกเหนือจากการนวดมาช่วยอีกแรง พรฟังเทปธรรมะ ทำวัตรและอ่านบทสวดมนต์อย่างสม่ำเสมอทุกวัน และทำสมาธิมากขึ้น อาการอึดอัดไม่สบายกายเริ่มรบกวนเธอมากขึ้น เธอยังทำงานเขียนอยู่บ้างแต่น้อยลง และในที่สุดต้องบอกปากเปล่าให้คนอื่นเขียนให้ สี่เดือนหลังจากกลับมาหาดใหญ่ อาการของพรพัฒนาไปจนถึงขั้นต้องนอนเตียงโดยมีน้องเพชรคอยช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิด จอห์น กลับมาอีกครั้งพร้อมกับความตั้งใจว่าจะมาช่วยดูแลพรจนถึงที่สุด

          ก่อนไปเยี่ยมพรที่หาดใหญ่เมื่อพรต้องนอนเตียงได้คุยกับจอห์นเกือบทุกวันจึงรู้อาการของพรทุกระยะ ความกลัวเริ่มมาสะกิดอีกแล้วแต่เป็นความกลัวลึก ๆ เป็นความหวั่นวิตกในสิ่งที่จะต้องเจอ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ต้องตั้งสติดี ๆ คิดว่าทุกอย่างจะต้องมีครั้งแรกให้ต้องเผชิญหน้าเสมอพร้อมกับทำเมตตาภาวนามากขึ้น ก่อนลงไปหาดใหญ่จึงเตรียมใจไว้แล้วว่าจะต้องเจออะไรบ้าง และเตรียมความตั้งใจไว้ตั้งแต่ก่อนเดินทาง ว่าจะมาอยู่เพื่อเป็นเพื่อน เพื่อช่วยให้พรอึดอัดขัดข้องน้อยที่สุด สะดวกสบายมากที่สุด ให้เธอได้เจริญสติ และอยู่ในความสงบมากที่สุด จินตนาการล่วงหน้าว่าจะทำอะไร และจะทำอย่างไรได้บ้าง

          เมื่อมาถึงคำแรกที่พรเอ่ยทักทายคือ “เธอเห็นฉันแล้วตกใจไหม” จริง ๆ แล้วตกใจเหมือนกันเพราะพรผอมไปมากแม้จะรู้มาล่วงหน้าก็อดใจหายไม่ได้ แต่ตอบพรไปว่า “ไม่หรอก กินอาหารได้น้อยก็ผอมเป็นธรรมดา สังขารก็อย่างนี้แหละ” ในขณะที่ตอบพรตัวเองก็ได้พิจารณาสังขารและคิดตามไปด้วย คำสอนเรื่องความไม่เที่ยงเริ่มผุดขึ้นในใจทันที รู้ซึ้งถึงคุณค่าของพระธรรมที่มาช่วยกล่อมเกลาจิตใจไม่ให้หวาดผวา แม้พรจะผอมดูร่างกายไร้เรี่ยวแรง แต่ดวงตาเธอเปล่งประกายหน้าตาสดใส เปล่งปลั่งสติสัมปชัญญะดีเยี่ยม เสียงดังฟังชัด คนที่มาเยี่ยมแทบจะไม่ได้เห็นอาการของความเจ็บปวดรุมเร้า เพราะเธอยิ้มแย้มแจ่มใส ทั้ง ๆ ที่ในขณะนั้นเธอขยับขาเองไม่ได้ขยับแขนลำบาก ช่วยตัวเองไม่ได้ ระบบขับถ่ายไม่ทำงาน เป็นอีกครั้งที่ได้ดูแลพรและพยาบาลพรอย่างใกล้ชิด พรเริ่มมีอาการเจ็บกระดูก ปวดแสบปวดร้อนปลายประสาท การขยับตัวแต่ละครั้งจะเจ็บมากต้องใช้คน ๒–๓ คนช่วยและต้องทำอย่างช้า ๆ การยกขาต้องระวังเพราะจะไปดันกระบังลมทำให้หายใจไม่ได้ ผู้ดูแลจึงต้องมีสติอยู่ตลอดเวลาเพราะถ้าเผลอเมื่อไหร่หมายถึงความเจ็บปวดของพร และจะต้องช่วยพรขยับตัวทุก ๑–๒ ชั่วโมง เพื่อป้องกันแผลกดทับและความปวดเมื่อย

          พรโชคดีมากที่มีทีมแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ซึ่งมีคุณหมอเต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี หัวหน้าแผนกรังสีรักษาและหัวหน้าโครงการการรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคอง เป็นผู้นำทีมพยาบาลประกอบด้วยคุณกานดาวสี, คุณแอ๊ด, คุณแสงจันทร์, น้องแย และอีกหลาย ๆ คน ซึ่งเคยเข้าร่วมอบรมธรรมะกับการเยียวยากับพร คอยให้คำแนะนำและแวะเวียนมาเยี่ยมพรอย่างสม่ำเสมอ ทำให้การดูแลพรทั้งในเรื่องแผลกดทับ การขับถ่าย การพลิกตัว เป็นไปอย่างราบรื่น แม้ในระยะหลัง ๆ จะต้องเปลี่ยนถังอ๊อกซิเจนทุก ๕–๖ ชั่วโมงพวกเราก็สามารถทำได้อย่างคล่องแคล่วด้วยความมั่นใจ

          คุณหมอเต็มศักดิ์ เป็นแบบอย่างของหมอในอุดมคติของคนไข้ทุกคน ในกรณีของพรแม้พรจะปฏิเสธการฉายแสงที่คุณหมอแนะนำ แต่คุณหมอก็พยายามช่วยให้พรได้ดูแลตัวเองอย่างดีที่สุดในวิธีที่พรเลือก นอกเหนือจากให้คำแนะนำในการดูแลรักษาร่างกาย คุณหมอยังอธิบายให้พรและผู้ที่ดูแลพรได้รู้ถึงพัฒนาการของอาการ เพื่อที่พรและผู้ดูแลจะได้เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับรับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้แต่เนิ่น ๆ เมื่ออาการพัฒนาไปถึงขั้นนั้นเราจะได้ไม่ตื่นตระหนกและรู้วิธีการดูแลที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุดกับอาการนั้น ๆ นอกจากคุณหมอและทีมงานจะช่วยแนะนำวิธีในการดูแลกาย คุณหมอยังห่วงใยไปถึงการดูแลใจด้วย โดยการเตือนให้พรและพวกเรารู้เมื่อเห็นว่าเวลาของพรเหลือน้อยแล้ว ทำให้พรได้คิดถึงสิ่งที่ยังคั่งค้างอยู่ในใจ และเรามีเวลาพอที่จะช่วยให้เธอจัดการกับสิ่งที่คั่งค้างได้ก่อนที่จะสายเกินไป

          สองเดือนสุดท้ายเป็นช่วงเวลาที่พิเศษมาก บรรยากาศของบ้านไม้หลังน้อยอบอวลไปด้วยความรัก ความเอื้ออาทร และการให้อภัย ด้วยความรู้สึกว่าทำอย่างไร จึงจะช่วยให้พรสบายที่สุด กระวนกระวายน้อยที่สุด มีสมาธิและอยู่ในสติได้นานที่สุด มากที่สุด ทุกคนพร้อมจะช่วยเหลือพรอย่างเต็มที่เพื่อให้เธอได้สงบตามที่เธอปรารถนา จนสัมผัสได้ถึงกุศลจิตของผู้คนที่อยู่รายล้อม ได้ตระหนักถึงพลังอันเข้มแข็งของชุมชนที่ผูกพันกันด้วยจิตใจที่เอื้ออารีย์ต่อกัน รอบ ๆ ห้องจะประดับด้วยภาพของนักบวชที่พรเคารพนับถือ และการ์ดอวยพรที่เพื่อน ๆ ส่งมาให้กำลังใจ และในท่ามกลางบรรยากาศอันเงียบสงบจะมีเสียงหัวเราะเกิดขึ้นทุกวันอย่างสม่ำเสมอ ทั้งคนเฝ้าและผู้ป่วยไม่ได้อยู่อย่างอมทุกข์ เราร่วมทุกข์กันอย่างเบิกบานและพยายามมีสติอยู่กับปัจจุบัน

          ทุกเช้าจะเริ่มต้นด้วยเทปธรรมะของท่านพุทธทาสเรื่องตายก่อนตาย และคำสอนในเรื่องสติปัฏฐาน ๔ เทปบทสวดมนต์ เทปดนตรีที่เอื้อต่อการน้อมนำใจให้สงบ หรือเป็นเสียงปลุกจากเสียงขลุ่ยหรือเสียงขิมที่หวานไพเราะจับใจบรรเลงกันสด ๆ โดยบัวลอยน้องอีกคนหนึ่งซึ่งเดินทางมาไกลเพื่อมาให้กำลังใจพรโดยเฉพาะ เราจึงมีเสียงขลุ่ยและขิมบรรเลงให้ฟังกันสด ๆ ในตอนเช้าตรู่อยู่บ่อย ๆ “สุช่วยบอกบัวลอยขอเพลงค้างคาวกินกล้วย” หรือ “ขอขวัญกับเรียม” บางครั้งต้องหัวเราะออกมาโดยไม่รู้ตัวชื่นชมในอารมณ์สุนทรีย์ของพรที่ยังมีแก่ใจขอเพลง พรจะขอเพลงเหมือนไปดูดนตรีเพื่อทำให้เช้าวันใหม่ของเธอเริ่มต้นได้อย่างสดชื่นแจ่มใส

          ทุกวันน้องเพชรจะอ่านบทสวดมนต์ที่เกี่ยวข้องกับการละวางขันธ์ ๕ และการละวางตัวตน บทพุทธสุภาษิต และบทสวดมนต์อื่น ๆ ที่พรเลือกไว้ให้ การอ่านจดหมายจากเพื่อน ๆ ที่ส่งมาให้กำลังใจเป็นกิจวัตรซึ่งพรจะฟังอย่างตั้งใจบางฉบับเธอจะขอให้อ่านซ้ำ เพื่อน ๆ หลายกลุ่มทั้งแดนไกลแดนใกล้รวมกลุ่มนั่งสมาธิส่งเมตตาจิตมาให้พร สิ่งหนึ่งที่ทำอย่างสม่ำเสมอคือแม่ของพรจะนิมนต์พระจากสำนักสวนธรรมสากลมาสวดมนต์ เราจะทำสมาธิร่วมกันทุกวันวันละหลายครั้งและยิ่งบ่อยมากขึ้นในช่วงหลัง ๆ

          พรโชคดีมากที่มีนักบวชที่เธอเคารพนับถือหลายรูปแวะมาเยี่ยม เช่นพระโกศิล จากวัดปลายนา เมตตามาเยี่ยมพร มาสวดมนต์และสวดโพชฌงค์ ๗ ให้พรถึงหน้าเตียง พระไพศาลเดินทางมาจากชัยภูมิมาเยี่ยมพรถึง ๒ ครั้งทำให้พรมีโอกาสคลี่คลายข้อข้องใจที่ตัวเองยังติดขัด ตอนหลวงพี่มาครั้งแรกพรขอให้ท่านพูดเรื่องการละวางจากอาการเจ็บปวดที่รุมเร้า หลวงพี่ได้พูดเรื่องกายสังขารและจิตสังขาร เช่น เมื่อเจ็บให้เห็นว่าที่เจ็บคือกายให้เห็นแต่ความเจ็บ ความปวดของกาย ให้เห็นแต่ความเจ็บ ความปวด ไม่ใช่ฉันเจ็บ ฉันปวด คืนนั้นพรสดชื่นผ่อนคลายแจ่มใสขึ้นมาก ทำสมาธิได้ดีขึ้น เราได้พูดคุยกันหลายเรื่อง พรบอกว่าชีวิตในช่วง ๒ ปีนี้ ของเธอเป็นชีวิตที่ดีที่สุดและถ้ามีอะไรที่ต้องเสียดายก็เสียดายความสุขใน ๒ ปีนี้ ซึ่งน่าสังเกตว่าเป็น ๒ ปีที่มะเร็งเริ่มกลับมาใหม่ แต่กลายเป็นช่วงที่เธอได้ใช้ชีวิตอย่างผ่อนคลายที่สุด ละวางจากสิ่งต่าง ๆ ได้มากที่สุด ยินดีเป็นผู้ให้และคาดหวังจากผู้อื่นน้อยลงอย่างเต็มใจ และได้ปฏิบัติพรหมวิหาร ๔ อย่างจริงจัง เธอบอกด้วยว่าสิ่งที่เธอภูมิใจที่สุดในชีวิต คือ การที่เธอมีกัลยาณมิตร จอห์นเคยถามพรว่าเธอเสียใจและผิดหวังหรือไม่ที่เลือกการดูแลรักษาตัวเองวิธีนี้ พรตอบว่าเธอไม่เคยคิดเสียใจเลยและถ้าเธอต้องเลือกอีกเธอก็จะเลือกแบบเดิม มักถามเธอบ่อย ๆ ว่ากลัวไม๊ เธอจะตอบว่าไม่กลัว แต่ไม่รู้ว่าจะเจออีกบ้าง

          ก่อนต้องนอนเตียงพรได้ฝากงานเขียนชิ้นสุดท้ายคือบทความเรื่อง “คือมือแม่....ที่เยียวยา” โดยบอกปากเปล่าให้คนอื่นเขียน เป็นงานเขียนที่สะท้อนความในใจของเธอที่ต้องการบอกแม่ให้รับรู้ว่าเธอรักแม่ เธอซาบซึ้งและเห็นคุณค่าของความรักที่แม่มีต่อเธอ เป็นบทความที่เธอเขียนออกมาจากหัวใจและมีความหมายสำหรับเธอมาก แม่เธอปลาบปลื้มมากกับบทความนี้และขอให้จัดทำเป็นเล่มเล็ก ๆ ไว้แจกคนที่มาเยี่ยมพร พรบอกว่า “สุฉันดีใจมากที่ทำให้แม่มีปิติ แม่เป็นคนบอกให้ทำเป็นเล่มเองนะ ฉันไม่ได้ทำ แม่ทำเอง” แสดงให้เห็นถึงความภูมิใจที่แม่มีต่อเธอ

          เมื่ออาการอึดอัดและปวดกระดูกปวดแสบปวดร้อนเริ่มรุมเร้ามาก ๆ พรจะมีอาการหงุดหงิด โมโหง่าย (คุณหมอเคยบอกไว้ล่วงหน้าว่าจะมีช่วงหนึ่งเมื่ออาการต่าง ๆ รุมเร้ามาก ๆ ผู้ป่วยจะแสดงพื้นนิสัยเดิม ๆ ออกมา) ซึ่งเรารู้ล่วงหน้าจากคุณหมอว่าพรจะมีอาการเช่นนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกคนจึงเตรียมใจเตรียมตั้งสติ ทำเมตตาภาวนาเพื่อรักษาสติและรักษาอารมณ์ให้สดชื่นมั่นคง และคอยเตือนสติเธอ สติของเราเป็นสิ่งสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็นมาก นอกเหนือไปจากความรัก ความเอื้ออาทร และความตั้งใจดีที่เรามีให้เธอ ในช่วงนั้นได้ทำเมตตาภาวนาทุกเช้า และทุกครั้งที่มีโอกาส เพราะเราต้องใช้ความเข้าใจ ความอ่อนโยน และให้อภัยเมื่อเขาเกิดหงุดหงิดขุ่นเคือง จากอิทธิพลของความเจ็บปวดและจากการแปรปรวนของธาตุต่าง ๆ ที่รบกวน คนที่มีธรรมะคนที่ปฏิบัติธรรม ไม่ได้หมายความว่าไม่กังวล ไม่หงุดหงิด ไม่เจ็บไม่ปวด ไม่โกรธ แต่หมายถึง เจ็บแล้วโกรธแล้วทำอย่างไร และพรก็ไม่มีข้อยกเว้น มีบางเวลาที่เธอกังวล หงุดหงิด โกรธ ขุ่นเคือง เราจึงต้องช่วยเตือนสติเธอ เอื้ออำนวยให้เธอได้กลับมาอยู่กับสติให้มากที่สุดบ่อยที่สุด การปฏิบัติอย่างอ่อนโยน นุ่มนวลด้วยคำพูดและการกระทำช่วยเรียกสติเธอกลับคืนมาได้และเกิดความอ่อนโยน เมตตาขึ้นมาแทน ทุกครั้งที่เตือนสติเธอ เมื่อผ่านมาระยะหนึ่งเธอจะขอบคุณทุกครั้ง “สุขอบคุณมากนะที่ช่วยเตือนสติ” พรมักจะขอให้ พี่ ๆ และ เพื่อน ๆ พูดเรื่องสติให้ฟังอยู่เสมอ ๆ เพราะแม้พรจะเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี แต่เธอต้องการให้คนที่อยู่รอบข้างได้ช่วยตอกย้ำเพื่อเตือนสติไม่ให้เธอเผลอ

          เดือนที่สองของการใช้ชีวิตบนเตียงอาการของพรเริ่มทรุดลงมากกว่ากระเตื้องขึ้น แม้พรยังมีความหวังอยู่บ้างในช่วงเดือนแรก แต่เมื่อย่างเข้าเดือนที่สอง พรถามเป็นเชิงบอกว่า “หรือฉันจะยอมรับมันอย่างศิโรราบดี” จึงบอกเธอในสิ่งที่เธอรู้ดีอยู่แล้วว่า “อย่ากังวลเรื่องหายหรือไม่หาย รักษาสติให้อยู่กับปัจจุบัน แล้วสติจะให้คำตอบเธอเอง” แม้พรพยายามรักษาสติอยู่ตลอดเวลา แต่อาการแปรปรวนของธาตุภายในกายที่รุมเร้า ทำให้เธอไม่สามารถรักษาสติได้เต็มที่และเผลอลืมสติได้บ่อย ๆ เธอจึงต้องการสภาพแวดล้อมและบรรยากาศสงบเงียบที่เอื้ออำนวยต่อการรักษาสติ และต้องการให้คนรอบข้างคอยเตือนสติเธอ พรเคยพูดว่า “พรทำคนเดียวไม่ได้ต้องช่วยพรด้วย”

          ๓ สัปดาห์สุดท้ายพรเริ่มต้นการปล่อยวางและละวางจากสิ่งที่ติดยึดทีละเล็กที่ละน้อย ด้วยการแจกจ่ายของรักของหวงของเธอให้กับคนรอบข้างและผู้มาเยี่ยม และ เริ่มฝากฝังงานที่ยังคั่งค้าง ในระยะนี้ อาการของเธอทรุดลงมากท่อนล่างตั้งแต่บั้นเอวลงมาเริ่มเป็นอัมพาตและอาการของอัมพาตค่อย ๆ ขยับบริเวณสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไปถึงกระบังลมในที่สุดมาถึงบริเวณหน้าอกทำให้หายใจได้ลำบาก และทำอานาปานสติได้ยากขึ้นแต่เธอพยายามปฏิบัติโพชฌงค์ ๗ ในสติปัฏฐาน ๔ และพยายามทำอานาปานสติกับลมหายใจสั้น ได้เริ่มคุยกับพรว่าถ้าต่อไปพรพูดไม่ได้และการรับรู้น้อยลงเราจะใช้สัญลักษณ์อะไรสื่อสารกัน ไพฑูรย์ น้องชายของพรเสนอให้ใช้เสียงระฆัง เพราะเป็นสิ่งที่พรคุ้นเคยเป็นอย่างดี เราใช้เสียงระฆังเพื่อเรียกสติเป็นช่วง ๆ และตกลงกับพรไว้ว่า เมื่อได้ยินเสียงระฆังที่เคาะเป็นจังหวะ ๓ ครั้ง ๓ ครั้ง ขอให้เธอนึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พรบอกว่าเมื่อถึงที่สุดเธอต้องการมีสติรับรู้ตลอดเวลา และเมื่อถึงเวลาของเธอ เธอต้องการจากไปอย่างมีสติรับรู้ เพราะฉะนั้นเธอจึงไม่ต้องการรับยาแก้ปวดหรือยานอนหลับที่ทำให้เธอไม่สามารถครองสติได้เต็มที่

          อาการทางกายของพรทรุดลงอีก แต่พรกลับดูสงบเย็นขึ้นมาก สติแจ่มใสปลอดโปร่ง เธอพยายามทำสมาธิรักษาสติให้อยู่กับปัจจุบัน การหายใจเริ่มลำบากขึ้นจนต้องใช้อ๊อกซิเจนตลอด ๒๔ ชั่วโมง พรจึงขอให้เราทำสมาธิแบบกล่าวนำซึ่งช่วยให้เธอรักษาสมาธิได้ดีกว่า และประสบการณ์ที่พิเศษมากคือในขณะที่ได้เห็นกายค่อย ๆ เสื่อมถอย ค่อย ๆ ดับสลาย เราได้เห็นจิตวิญญาณที่ค่อย ๆ ผ่องใส ค่อย ๆ เข้มแข็ง และเติบโตแข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ

          สัปดาห์สุดท้ายพระไพศาลมาเยี่ยมพรอีกครั้งท่านตั้งใจมาเยี่ยมถึง ๓ วัน ซึ่งเป็นเวลาที่พรกำลังต้องการคำแนะนำที่จะช่วยให้เธอละวางตัวตนและสลัดทิ้งการติดยึดที่ยังมีอยู่ พรถามหลวงพี่ว่า “โทสะก็ละได้แล้ว โลภะก็ละได้แล้ว เหลือแต่โมหะจะทำอย่างไรคะหลวงพี่” พระไพศาลสอนเรื่องการละวางขันธ์ ๕ โดยให้ละวางทีละขั้นทีละตอนตามลำดับ ท่านได้บรรยายอย่างละเอียดแสดงขั้นตอนชัดเจนพร้อมกับยกตัวอย่างเปรียบเทียบ ท่านพูดถึงการค้นพบความสุขท่ามกลางความทุกข์ และไม่ต้องไปหาความสุขที่ไหนความสุขอยู่ในใจกลางของความทุกข์นั่นเอง พรได้ความกระจ่างชัดเจนขึ้นและได้แนวทางในการละวางกายสังขาร จิตสังขารของเธอ หลวงพี่ให้กำลังใจและให้ความเชื่อมั่นในการใช้ธรรมะเป็นเครื่องประคองใจ พร้อมทั้งให้สติพรในการละวางตัวตนและในการเจริญสติให้มั่นคงอยู่ในปัจจุบัน คำสอนของหลวงพี่เป็นคำสอนที่มีความสำคัญและมีความหมายสำหรับพรมาก ทำให้พรสามารถละวางได้อย่างสิ้นสงสัย หลวงพี่เมตตามากทำวัตรให้ทั้งเช้าเย็น และพูดให้พรฟังในบริบทนี้ทุกวันตลอด ๓ วันที่ท่านมาเยี่ยม ทำให้ผู้ที่อยู่รอบข้างพรต่างได้รับอานิสงส์จากการฟังหลักธรรมสำคัญนี้ และสำนึกถึงความสำคัญของการฝึกฝนตนเองให้ปล่อยวาง ละวางตัวตน และเห็นความสำคัญของการสร้างความคุ้นเคยกับความตาย

          ในช่วงท้าย ๆ พรมักจะบอกเสมอว่า “เธออยู่แถว ๆ นี้นะอย่าไปไหนไกล” พรเริ่มเหนื่อยมากขึ้นและไม่สามารถพูดคุยได้นาน เธอต้องการมีเพื่อนอยู่ใกล้ ๆ และต้องการพูดคุยด้วยเมื่อเธอหายเหนื่อย

          ๒ วันก่อนพรเสียชีวิต แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต มาเยี่ยมพรอีกครั้ง ความอ่อนโยน และความเมตตาของแม่ชีเกื้อกูลต่อการรักษาสติให้อยู่กับปัจจุบันของพรเป็นอย่างยิ่ง ท่านย้ำความเชื่อมั่นให้พรมั่นคงอยู่ในเส้นทางแห่งมรรค ซึ่งเอื้อให้พรเกิดความสงบเย็นภายใน พร้อมที่จะปล่อยวาง และสลัดทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไว้ข้างหลัง และจากไปอย่างเป็นอิสระที่สุด

          เช้าตรู่ของวันที่ ๑๘ ตุลาคม สังเกตุว่าพรหายใจเสียงดังขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อยคล้าย ๆ เสียงเสลดติดคอแต่เบามาก ๆ ก้มลงไปสังเกตใกล้ ๆ ทุกอย่างปกติดี โทรศัพท์ไปปรึกษาคุณหมอ คุณหมอบอกว่าไม่เป็นไร ให้สังเกตอาการไว้ พรเริ่มไม่พูดตั้งแต่วันที่ ๑๖ แต่เรายังปฏิบัติและพูดคุยกับพรเหมือนเดิมทุกอย่าง เพราะเชื่อว่าเธอสามารถรับรู้ได้ เมื่อแม่ชีแดงมาเยี่ยมจึงนิมนต์ให้ท่านทำวัตรเช้า จากนั้นเราได้ทำสมาธิร่วมกัน เปิดเทปคำสอนของหลวงพี่ไพศาลที่อัดเทปไว้ให้พรฟัง อ่านจดหมายจากเพื่อน ๆ เล่าเรื่องที่คุยกับจอห์น คุยกับคุณหมอคุยกับหลวงพี่ จากนั้นเปิดบทสวดธรรมะ เบา ๆ ให้พรได้พักผ่อนอยู่ในสมาธิ วันนี้บรรยากาศเงียบสงบตั้งแต่เช้า สงบเป็นพิเศษกว่าทุก ๆ วัน คนอื่น ๆ ออกไปข้างนอกกันหมด นั่งดูอาการพรอยู่ข้างเตียง พรนอนอย่างสงบ เสียงที่ได้ยินเมื่อเช้าหายไปกลายเป็นเสียงหายใจปกติ แม่พรเข้ามาและบอกว่าวันนี้วันเกิดพร จะต้องระวังเป็นพิเศษ (พรเกิดวันเสาร์) หลังจากนั้นไม่ถึง ๑ ชั่วโมง พรเริ่มหายใจผิดไปจากเดิม คือ สูดลมหายใจเข้า และจะหยุดไปนานมากและสูดลมหายใจใหม่อีกครั้ง เมื่อหันไปมองหน้าแม่ แม่ของพรส่งสัญญาณรับรู้และยอมรับ จึงกระซิบที่ข้างหูพร “พร ฟังนะจะเคาะระฆัง เป็นจังหวะ ๓ ครั้ง ๓ ครั้งไปเรื่อย ๆ พรนึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นะ ตามเสียงระฆังไปนะ ไม่ต้องห่วง ทุกอย่างที่พรฝากไว้จะทำให้ พรไม่ต้องห่วงไม่ต้องกังวลอะไรทั้งสิ้นนะ พรไปดีนะ… สุขอให้พรได้พบกับ unknown ที่พรต้องการนะ…… พรเป็นอิสระแล้วนะ” จากนั้นได้เคาะระฆังเป็นจังหวะ ๓ ครั้งเช่นนั้นไปเรื่อย ๆ ในวาระสุดท้ายของพร พรจากไปอย่างสงบ โดยมีเสียงระฆังเป็นเครื่องนำทาง

          ลมหายใจของพรค่อย ๆ แผ่วลง…แผ่วลง…แผ่วลง……และจางหายไปในที่สุดดุจเข้าสู่ความสงบเย็นของ “ปัสสัทธิ” เสียงระฆังได้ส่งดวงจิตอันบริสุทธิ์ ผ่องใส ของพรเป็นเวลา ๑๕ นาที ก่อนที่ทุก ๆ อย่างจะค่อย ๆ เงียบลงและสงบรำงับอยู่ในสมาธิ เราสงบนิ่งอยู่ในสมาธิ ๑๕ นาที ท่ามกลางบรรยากาศที่สงบเงียบ เป็นความสงบเงียบที่สงบเย็นรำงับจนได้ยินเสียงใบไม้ไหว พรจากไปอย่างนุ่มนวล อ่อนโยน และงดงาม เหมือนคนหลับสนิทไม่มีอาการกระตุกใด ๆ ปรากฏให้เห็น เธอจากไปอย่างเงียบสงบต่อหน้าคนที่เธอรักและรักเธอ ไม่มีเสียงร่ำไห้คร่ำครวญอย่างโศกเศร้า มีแต่ความเงียบสงบ และความอาลัยที่แฝงด้วยความอิ่มเอิบใจ และซาบซึ้งใจที่ได้เห็นชีวิตหนึ่งร่ำลาไป อย่างสง่างามสมศักดิ์ศรี ดุจดังคืนกลับสู่บ้านเก่าของเธอเอง

          การตายของพรเพียงชีวิตเดียวกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับการมีชีวิตที่ดีงามของอีกหลาย ๆ ชีวิต เป็นการตายที่ได้มา เป็นการได้มาที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่การสูญเสียไปอย่างที่เคยรู้สึก

          การได้มาดูแลพรในขณะที่ชีวิตของเธอเปราะบาง เหมือนกับการมาอยู่ในห้องเรียน หรือมาเข้าโรงเรียนสอนธรรมะแบบเข้มข้น พวกเราต่างได้ปฏิบัติธรรมกันถ้วนหน้าได้เห็นโลภะ โทสะ โมหะ ที่กระทบกันหมุนเวียนไปมาภายในตัวเราเอง ได้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างโลภะ โทสะ โมหะของเรากับของผู้อื่นได้อย่างชัดเจนซึ่งโดยปกติมักไม่ทันเห็น และเป็นโอกาสให้เราได้ฝึกฝนพรหมวิหาร ๔ อย่างเข้มแข็งเป็นรูปธรรม ได้ทำเมตตาภาวนาอย่างจริงจัง และได้ตระหนักถึงพลังของสติ พลังของความเมตตา พลังของการให้อภัย และพลังของจิตที่พร้อมจะเกื้อกูลกัน ซึ่งทำให้บรรยากาศที่น่าจะเป็นความขุ่นเคืองอึดอัด ผิดหวัง หรือ เศร้าหมอง สูญเสีย เป็นบรรยากาศที่สงบเย็น แต่เบิกบาน และกระตือรือร้น และที่สำคัญได้ประจักษ์ถึงสัจธรรมของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด ได้สัมผัสกับสภาวะของการละวางจากตัวตนครั้งแล้วครั้งเล่า เกิดภาวะการขัดเกลาจิตใจอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับสัมผัสความรู้สึกใหม่ ๆ ที่เป็นความสุขความอิ่มเอิบใจที่เกิดจากการละวางตัวตน จากการให้ความรักความเมตตาแก่ผู้อื่น เป็นประสบการณ์ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภายในและเกิดสำนึกที่จะใช้ชีวิตต่อไปข้างหน้าอย่างไม่ประมาท อย่างซาบซึ้งต่อความงดงามของชีวิต ต่อความงดงามของผู้อื่นต่อความงดงามของความตายและไม่ขลาดกลัวความตาย

          ในฐานะมนุษย์ที่ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์และใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนมากมายในสังคม ควรมีอย่างน้อยสักครั้งหนึ่ง ได้สัมผัสกับประสบการณ์ของการเอาใจใส่ดูแลผู้ที่กำลังเผชิญกับความเปราะบางของชีวิต หรือผู้ที่อยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใกล้ชิด เพราะจะเป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งต่อผู้ที่ได้รับการดูแลและต่อชีวิตที่ดีงามของตนเองและผู้ที่อยู่รอบ ๆ ตัวเราในอนาคต เป็นการฝึกฝนการละวางตัวตน การอ่อนน้อมถ่อมตน ฝึกเข้าใจความต้องการของผู้อื่น ลดความต้องการของตนเอง ได้อ่อนโยนกับ ผู้อื่นและอ่อนโยนต่อตนเองอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งการได้สัมผัสกับความรู้สึกที่ได้รับจากการปฏิบัติเช่นนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีความหมายอย่างยิ่งต่อชีวิตที่เหลือของตนเอง เป็นการบำบัดเยียวยาชีวิตและเป็นการให้สติให้มีชีวิตตั้งอยู่ในความไม่ประมาท แต่ไม่ขลาดกลัวความตาย เห็นคุณค่าของผู้อื่นเท่าเทียมกับตนเอง เป็นการลงทุนที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตวิญญาณ ให้กับตนเองและให้กับสังคมอย่างแท้จริง.

สุรภี ชูตระกูล
๕ ธันวาคม ๒๕๔๖


หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :