เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๙
มกราคม - มีนาคม ๒๕๔๗

บทความหลัก

พระไพศาล วิสาโล

ความตายในมิติทางสังคามและจิตวิญญาณ

 

เมื่อเราไม่สนใจเรื่องความตาย ปิดหูปิดตาไม่รับรู้เรื่องความตาย ไม่ช้าไม่นานเราก็จะหลงลืมไปว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องตาย คนจำนวนไม่น้อยในสังคมปัจจุบันอยู่ในสภาพที่เรียกว่าลืมตาย ลืมว่าจะต้องตาย ดังนั้นจึงเอาแต่แสวงหาเงินทอง ชื่อเสียง อำนาจและความสำเร็จทางโลก โดยไม่คิดเลยว่าสิ่งเหล่านั้นจะช่วยเขาได้ไหมเมื่อความตายมาถึง และเขาจะเอาสิ่งเหล่านั้นไปได้ไหมเมื่อสิ้นลม

 

ทำไมจึงควรเรียนรู้เรื่องความตาย

เราทุกคนต้องตายไม่ช้าก็เร็ว ที่สำคัญก็คือเราตายได้ครั้งเดียวในชีวิตนี้ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราทุกคนจะต้องเตรียมตัวตายให้ดีที่สุด เพราะหากพลาดพลั้งไป เราก็ไม่อาจแก้ตัวได้ สอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือสอบเข้าทำงาน เรายังมีโอกาสแก้ตัวได้หากสอบตก แต่เราไม่มีสิทธิ์ทำอย่างนั้นได้กับความตาย

          นี่เป็นเหตุผลประการแรก ที่เราควรรู้จักความตาย และเตรียมใจรับมือกับความตาย ขณะที่ยังมีเวลาอยู่ ประการต่อมาก็คือ แม้เราจะตายได้ครั้งเดียว แต่ขณะที่ยังไม่ตายนั้น เราต้องเผชิญกับความตายของคนที่เรารัก ของคนที่เรารู้จักและไม่รู้จักอีกมากมาย เราไม่รู้ว่าในช่วงชีวิตนี้เราต้องเผชิญกับความตายของคนที่เรารักและรู้จักอีกมากมายสักเท่าไหร่ อาจจะไม่ใช่เพียงแค่ตัวเลขสองหน่วย แต่อาจเป็นสาม หรือสี่หน่วย เช่น เวลาเกิดภาวะสงครามหรืออุบัติเหตุร้ายแรง ในสภาวะเช่นนี้การที่เราเข้าใจเรื่องความตายได้ดี ไม่เพียงแต่จะช่วยให้เราเผชิญกับความตายของคนที่เรารักได้อย่างดีเท่านั้น แต่เรายังสามารถที่จะช่วยคนเหล่านั้นได้ด้วย เราอาจจะช่วยให้เขาเหล่านั้นมีชีวิตยืนยาวไม่ได้ แต่เราสามารถช่วยให้เขาตายอย่างดีที่สุดหรือตายอย่างมีคุณภาพได้

          ที่พูดมานี้เป็นเหตุผลในเชิงปัจเจกบุคคลอยู่มาก อย่างไรก็ตาม การศึกษาเรื่องความตายมีประโยชน์นอกเหนือจากประโยชน์ส่วนตัวหรือ คุณค่าในเชิงปัจเจกบุคคล มันยังมีคุณค่าต่อสังคมทั้งสังคมเลยทีเดียว พิจารณาให้ดีแล้วจะพบว่าความเข้าใจเรื่องความตายนั้น มีผลกำหนดสภาพความเป็นไปหรือทิศทางของสังคมไม่น้อยเลย ที่เห็นได้ชัดก็คือ เมื่อเราไม่สนใจเรื่องความตาย ปิดหูปิดตาไม่รับรู้เรื่องความตาย ไม่ช้าไม่นานเราก็จะหลงลืมไปว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องตาย คนจำนวนไม่น้อยในสังคมปัจจุบันอยู่ในสภาพที่เรียกว่าลืมตาย ลืมว่าจะต้องตาย ดังนั้นจึงเอาแต่แสวงหาเงินทอง ชื่อเสียง อำนาจและความสำเร็จทางโลก โดยไม่คิดเลยว่าสิ่งเหล่านั้นจะช่วยเขาได้ไหมเมื่อความตายมาถึง และเขาจะเอาสิ่งเหล่านั้นไปได้ไหมเมื่อสิ้นลม พฤติกรรมเช่นนี้ยังส่งผลไปถึงแบบแผนของสังคมปัจจุบันที่มุ่งแต่ความเจริญเติบโตทางวัตถุ วัดความเจริญก้าวหน้าของประเทศโดยดูจากอัตราการเติบโตของจีดีพีและตัวเลขอีกไม่กี่ตัว เช่น ตัวเลขการซื้อขายในตลาดหุ้น และค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ คนทั้งสังคมสนใจตัวเลขเพียงไม่กี่ตัวเพราะเราลืมไปว่าเราจะต้องตาย และตัวเลขเหล่านี้มันช่วยอะไรเราไม่ได้เมื่อถึงเวลานั้น

          ทำไมคนทุกวันนี้ถึงหลงลืมความตาย คำตอบประการหนึ่งก็คือ เพราะความตายถูกปิดบังเอาไว้จนยากจะเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ที่พูดนี้หมายถึงความตายที่ประสบสัมผัสด้วยตนเอง มิใช่ความตายที่เห็นทางโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ อันเป็นความตายที่อยู่ห่างไกลและเราไม่รู้สึกผูกพันด้วย หรือความตายในภาพยนตร์และวีดีโอเกม ซึ่งเป็นความตายแบบเทียม ๆ ส่วนความตายของคนทั่ว ๆ ไป เวลานี้ก็นิยมกันออกไปให้อยู่ห่างแม้กระทั่งจากคนใกล้ชิด เพราะเดี๋ยวนี้มักตายกันที่ห้องไอซียู ที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ยาก นอกจากนั้นยังมีการปิดกั้นไม่ให้เราได้สัมผัสพบเห็นกับคนตาย หาไม่ก็ตกแต่งให้ความตายเป็นเรื่องที่สะอาดไม่น่ากลัว เช่นปิดผนึกไว้ในโลงที่มิดชิด เช่น ตกแต่งศพให้สวยงาม มีดอกไม้ประดับประดา เป็นต้น

 

เมื่อความตายกลายเป็นเรื่องน่ากลัว

อย่างไรก็ตามการที่คนเราลืมตายนั้นยังมีเหตุผลที่ลึกไปกว่านั้นอีก นั่นคือ เราแกล้งลืม เพราะลึก ๆ เรากลัวความตายมาก เรากลัวตาย ไม่อยากนึกถึงความตาย ก็เลยผลักมันออกไปจากจิตสำนึก หรือจะเรียกว่าเก็บกดเอาไว้ในจิตไร้สำนึกก็ได้ จนลืมไปว่าเราจะต้องตาย การหมกมุ่นอยู่กับความสนุกสนาน ความบันเทิงเริงรมย์ทางเพศ การแสวงหาเงินทองชื่อเสียงและอำนาจ เป็นวิธีการหนึ่งในการที่จะทำให้ตัวหลงลืมเรื่องความตาย เป็นการเบนความสนใจออกไปจากสิ่งที่ตนหวาดกลัว

          เดี๋ยวนี้เรากลัวความตายกันมากเนื่องจากเราไม่เข้าใจเรื่องความตาย เราไปเข้าใจว่าความตายเป็นจุดสุดท้ายของชีวิต เมื่อชีวิตดำเนินมาถึงความตายก็มักเข้าใจว่าชีวิตนั้นจบสิ้นแล้ว ไม่มีอะไร หลังจากนั้นอีกต่อไป ยิ่งไปกว่านั้นเรายังมองว่า ความตายเป็นเรื่องของความเจ็บปวดทรมาน ที่มีแต่ความเสื่อมสลายความพินาศเป็นจุดหมายปลายทาง นั่นเป็นเพราะเรามองแต่ในแง่ร่างกาย หรือมองความตายเฉพาะมิติกายภาพ ถ้าเรามองความตายแต่ในแง่กายภาพเราจะเห็นว่า มีแต่ความเสื่อมความพินาศย่อยยับเมื่อถึงจุดสุดท้ายของชีวิต แต่ถ้าเรามองเห็นความตายในมุมที่กว้างขึ้นโดยคลุมไปถึงเรื่องจิตใจหรือเรื่องจิตวิญญาณด้วยแล้ว เราจะพบว่าความตายมิใช่ “วิกฤต” เท่านั้น หากยังเป็น “โอกาส” อีกด้วยคือเป็นโอกาสที่จิตจะได้พัฒนาไปสู่อีกระดับหนึ่ง เกิดพัฒนาการทางจิตวิญญาณ ที่ไปพ้นจากสภาวะเดิม ความตายเป็นโอกาสให้เกิดพัฒนาการทางจิตวิญญาณได้แม้ร่างกายจะเสื่อมทรุดแตกสลาย แต่ถ้าเราเห็นความตายว่าเป็นเรื่องกายภาพหรือเป็นเรื่องร่างกายล้วน ๆ ที่วัดกันด้วยตัวเลขการเต้นหัวใจ ความดันเลือด และเส้นกราฟจากสมอง เมื่อเรามองเพียงแค่นี้ ความตายก็เป็นเรื่องน่ากลัวมาก เพราะมันหมายถึงความย่อยยับแตกดับของร่างกาย เราถึงกลัวความตายมาก

          การกลัวความตายแบบนี้ทำให้เกิดปัญหามากมายร้อยแปด เช่น การพยายามหนีความตายให้ไกลที่สุด และหากหนีไม่ได้ ก็ขอประวิงให้ตายช้าที่สุด เดี๋ยวนี้เราทำอย่างไรเมื่อเราเจ็บป่วยใกล้ตาย ส่วนใหญ่ก็พยายามใช้เครื่องช่วยชีวิต ต่อท่อเข้าไปตามทวารต่าง ๆ ทั้งร่างกาย และใช้ทุกวิธีที่จะยืดลมหายใจให้ได้นานที่สุด หรือกระตุ้นการเต้นของหัวใจให้ได้นานที่สุด จนกระทั่งไม่สามารถตายอย่างสงบ หรือไม่สามารถทำใจให้สงบได้ เพราะเกิดความเจ็บปวดมากจากการรักษาแบบก้าวร้าวรุนแรงแบบนั้น นอกจากสร้างความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วยแล้ว การพยายามหนีความตายแบบนี้ยังก่อให้เกิดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจอย่างมากมาย ทั้งต่อครอบครัวผู้ป่วยและต่อส่วนรวม มีตัวเลขว่าในสหรัฐอเมริกา ค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยให้คนมีลมหายใจยืดยาวขึ้นนั้นเป็นตัวเลขมหาศาล ประมาณว่า ๖๐ เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยทั้งประเทศนั้นหมดไปกับการดูแลผู้ป่วยในระยะ ๖ เดือนสุดท้าย น่าสนใจว่าในจำนวน ๖๐ เปอร์เซ็นต์ที่ใช้นั้น มีกี่เปอร์เซ็นต์ที่ใช้ไปกับการต่ออายุหรือยืดลมหายใจผู้คนในช่วง ๒–๓ ชั่วโมงหรือ ๒–๓ วันสุดท้ายของชีวิต

          เป็นเพราะเรามีทัศนคติว่าความตายเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่ต้องพยายามหลีกเลี่ยงให้ได้ไกลที่สุด เราจึงมักช่วงเวลาท้าย ๆ ของชีวิตไปอยู่ในโรงพยาบาล โดยฝากทุกอย่างไว้กับหมอ โดยไม่คิดว่าในช่วงสำคัญของชีวิตเช่นนี้ สิ่งสำคัญที่สุดไม่ได้อยู่ที่การยืดลมหายให้ได้นานที่สุด หากอยู่ที่การเตรียมใจให้สามารถเผชิญกับความตายได้อย่างสงบสันติที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้นึกถึงเรื่องนี้ เพราะไม่เคยเตรียมตัวไว้ก่อนเลยในยามที่ยังปกติสุขอยู่ หรือถึงนึกได้ก็สายไปเสียแล้ว เพราะไม่มีใครที่จะช่วยเราได้ในเรื่องนี้นอกจากตัวเราเอง

          การเห็นความตายเป็นสิ่งน่าเกลียดน่ากลัวยังก่อให้เกิดผลกระทบตามมาอีกหลายอย่าง อาทิ การนิยมให้คนไปตายนอกบ้าน และเมื่อตายแล้วก็ตั้งศพนอกบ้าน เช่นที่วัด สมัยก่อนคนไทยจัดงานศพกันที่บ้าน แม้ในชนบทปัจจุบันก็ยังมีธรรมเนียมนี้อยู่ แต่คนในเมืองไม่จัดงานศพกันที่บ้านแล้ว ส่วนหนึ่งเพราะสถานที่ไม่อำนวย อีกส่วนหนึ่งเพราะเห็นว่าศพนั้นเป็นสิ่งปฏิกูล อุจาด ไม่สะอาด ไม่เอื้อต่อสุขอนามัย จึงเอาออกนอกบ้าน ขณะที่ห้องส้วมซึ่งแต่ก่อนเอาไว้นอกบ้าน เดี๋ยวนี้กลับย้ายเข้ามาไว้ในบ้าน เพราะถือว่าสะอาดสะอ้าน สวนทางกับศพซึ่งถือเป็นของไม่สะอาด

          การพยายามทำให้ศพเป็นสิ่งสะอาด ไม่อุจาด ทำให้งานศพสมัยนี้เป็นเรื่องสิ้นเปลืองมาก เพราะต้องเอาศพไปตั้งในวัดหรือสถานที่ดูโล่งโปร่ง มีการตกแต่งศพและประดับประดาศพ เมรุเผาศพก็ทำให้เผาศพได้อย่างมิดชิด ไม่เปิดโล่งอย่างเมรุในชนบท ซึ่งเปิดให้ทุกคนได้เห็นศพทั้งก่อนเผาและระหว่างเผา

          การเห็นว่าศพเป็นสิ่งไม่สะอาดที่ควรตั้งไว้นอกบ้าน เป็นความคิดที่ได้รับอิทธิพลจากวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ โดยเฉพาะเมื่อค้นพบว่า บักเตรีเป็นสาเหตุของโรคหลายชนิด ทำให้เกิดความคิดเรื่องความสะอาดที่ไร้เชื้อโรค (ความสะอาดสมัยก่อนไม่เกี่ยวกับเชื้อโรค แต่เกี่ยวกับสายเลือดหรือวรรณะหรือบุญบาป เป็นต้น) พฤติกรรมที่คนแต่ก่อนถือว่าธรรมดา เช่น การไม่ใส่รองเท้าไม่ล้างมือหรือกินข้าวด้วยมือกลายเป็นเรื่องไม่สะอาดขึ้นมา ความคิดที่ว่า ความสะอาดคือการปลอดจากเชื้อโรค นี้เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้คนนิยมนำคนป่วยไปอยู่โรงพยาบาล ซึ่งนอกจากจะสะอาดแก่ผู้ป่วยแล้ว ยังเป็นผลดีต่อคนในบ้านที่ไม่ต้องห่วงกังวลกับเชื้อโรคหรือสิ่งปฏิกูลจากผู้ป่วย

          ความคิดแบบวิทยาศาสตร์ซึ่งนิยมมองสิ่งต่าง ๆ แต่ในเชิงวัตถุ ที่ชั่งตวงวัดหรือจับต้องได้ ยังมีอิทธิพลสำคัญในการทำให้ผู้คนมองความตายแต่ในแง่กายภาพดังได้กล่าวมา จนลืมนึกถึงมิติด้านจิตใจหรือด้านจิตวิญญาณ ความคิดแบบวิทยา--ศาสตร์ดังกล่าวยังทำให้ความตายหมายถึงความย่อยยับดับสลายของชีวิต เป็นจุดสุดท้ายของชีวิต ที่ไม่มีอะไรหลังจากนั้น ตรงนี้เองเป็นจุดที่ทำให้ความตายเป็นสิ่งน่ากลัวยิ่งขึ้น เพราะในสัญชาตญาณส่วนลึกที่สุดของคนเรานั้นต้องการความเป็นอมตะ ปรารถนาความสืบเนื่องของตัวตน ทนไม่ได้ที่ตัวตนจะดับสูญ ถ้ามองแบบพุทธ ปุถุชนย่อมมีความยึดมั่นในความเป็นตัวตน เพราะนึกว่าตัวตนนั้นมีอยู่จริง จึงต้องการให้ตัวตนคงอยู่ยั่งยืนสืบเนื่องต่อไป แต่เมื่อวิทยาศาสตร์บอกเราว่าความตายเป็นจุดสุดท้ายของชีวิต ไม่มีอะไรหลังจากนั้น ไม่มีทั้งนรกสวรรค์ หรือชีวิตหลังตาย เราจะรู้สึกอย่างไร ในยามปกติเราอาจไม่รู้สึก แต่เมื่อกระทบกับความตายอย่างจัง ๆ หรือเมื่อความตายมาอยู่ใกล้ตัว เราย่อมอึดอัดกระสับกระส่าย ทนไม่ได้ที่ตัวตนจะดับสูญ ดังนั้นจึงดิ้นรนที่จะหนีความตายไปให้ไกลที่สุด หรือยิ่งกว่านั้นก็คือพยายามหาทางทำให้ตัวเองเป็นอมตะ

 

นอกจากการเตือนตนเรื่องความตายแล้ว ควรหาโอกาสพิจารณาถึงความตายอย่างเป็นรูปธรรมด้วยว่า เมื่อเราจะต้องตายจริง ๆ ไม่ว่าเพราะโรคร้าย หรืออุบัติเหตุ เราจะรู้สึกอย่างไร และควรจะทำใจอย่างไร นึกภาพให้เห็นเด่นชัด จับความรู้สึกกลัวที่เกิดขึ้น และยอมรับตามที่เป็นจริง ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจะช่วยให้เรารู้จักตัวเองได้ดีขึ้น และรู้ว่าจะต้องฝึกฝนตนเองอย่างไร การสาวหาสาเหตุของความกลัว จะช่วยให้เรารู้วิธีที่จะแก้ไขหรือลดทอนความกลัวนี้ได้

 

ความเป็นอมตะในยุคใหม่

แต่จะทำให้ตัวเองเป็นอมตะได้อย่างไรในเมื่อคุณไม่เชื่อเรื่องชาติหน้า ไม่เชื่อเรื่องสวรรค์ ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า การมีอนุสาวรีย์หรือสร้างชื่อเสียงให้วงศ์ตระกูลเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกเป็นอมตะ การมีชื่อเสียงสืบเนื่องไปถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลาน มีชื่อปรากฏในประวัติศาสตร์ เป็นวิธีการที่สนองจิตไร้สำนึกของเราซึ่งต้องการให้ตัวตนสืบเนื่องหรือเป็นอมตะ ความคิดแบบนี้ทำให้คนจำนวนไม่น้อยไม่กลัวตาย เพราะเชื่อว่าตัวตนจะยังสืบเนื่องต่อไป แม้เขาจะตายแต่ก็ตายแค่ร่างกาย “ตัวตายแต่ชื่อยัง” คำขวัญหรือความคิดแบบบนี้
ทำให้หลายคนยอมตายเพื่อชาติ เพราะเชื่อว่าที่ตายนั้นคือร่างกาย แต่ตัวตนที่แท้จริงนั้นยังดำรงอยู่ในรูปชื่อเสียงเกียรติยศหรืออนุสาวรีย์ ลัทธิชาตินิยม
กลายมาเป็นศาสนาอย่างหนึ่งก็เพราะสามารถ
ทำให้คนยอมตายได้ด้วยความเชื่อว่ายังมีตัวตน
สืบเนื่องหลังตาย

          แต่ชื่อเสียงเกียรติยศหรืออนุสาวรีย์ไม่ใช่คำตอบเดียวของคนสมัยนี้ที่ต้องการเป็นอมตะ การมีทรัพย์สินเงินทอง มีตึกรามบ้านช่องใหญ่โต ก็เป็นทางเลือกของคนสมัยนี้ด้วยเช่นกัน การที่เอาตัวตนไปผูกติดกับอะไรบางอย่างที่ดูมั่นคงยั่งยืนเป็นรูปธรรม ช่วยทำให้เรารู้สึกมีตัวตนที่มั่นคงยั่งยืนตามไปด้วย และพลอยทำให้เกิดความหวังว่าตัวตนจะยั่งยืนชั่วกาลนาน วิธีนี้ดูน่าจูงใจและมีเสน่ห์มากกว่าการเสียสละชีวิตเพื่อชาติ เพราะ (เชื่อว่า) ตัวตนสามารถยั่งยืนไปได้โดยไม่ต้องสร้างวีรกรรมหรือให้ใครมาสังหารเสียก่อน นี้เป็นคำตอบของลัทธิบริโภคนิยมที่ได้รับความนิยมอย่างสูง จนกำลังมาแทนที่ลัทธิชาตินิยมในการสร้างความหวังเกี่ยวกับตัวตนอมตะ ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนรู้สึกศรัทธาหลงใหลกับยี่ห้อดัง ๆ เพราะการที่เขารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของยี่ห้อระดับโลกที่ดูยั่งยืนเป็นอมตะนั้น ทำให้เขามั่นใจว่าตัวตนของตนจะยั่งยืนเป็นอมตะด้วยแม้ร่างกายจะดับสูญไปแล้วก็ตาม บ่อยครั้งยี่ห้อดัง ๆ ยังทำให้เขารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่นิยมของยี่ห้อเดียวกัน อย่างเช่น มอเตอร์ไซค์ฮาร์เลย์เดวิดสัน หรือรถโฟล์ก กลุ่มเหล่านี้ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าตนมีกลุ่มก้อนสังกัดที่ฝากใจหรือฝากตัวตนไว้ได้ กลุ่มเหล่านี้มีเสน่ห์ก็เพราะผู้คนรู้สึกว่าเมื่อเขาตายไปแล้ว กลุ่มเหล่านี้ก็จะยังคงอยู่ ซึ่งหมายถึงตัวตนของเขาได้คงอยู่สืบเนื่องตามไปด้วย ทั้งหมดนี้เป็นทางออกของคนสมัยนี้ที่ต้องการในส่วนลึกให้ตัวตนเป็นอมตะ หลังจากที่พระเจ้าหรือสวรรค์ได้สูญหายไปจากโลกของเขาแล้ว ด้วยอิทธิพลของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่

          พูดอีกอย่างคือว่า อารยธรรมสมัยใหม่ที่มุ่งสั่งสมความมั่งคั่งทางวัตถุ ตลอดจนอุดมการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าลัทธิชาตินิยม หรือบริโภคนิยม เหล่านี้ โดยส่วนลึกแล้ว มันพยายามตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณ ของผู้คนที่ปรารถนาความเป็นอมตะหรือความสืบเนื่องของตัวตน ในเมื่อไม่มีสวรรค์ ไม่มีพระเจ้าที่จะยึดถือได้ ผู้คนจำนวนไม่น้อยก็วิธีการแบบโลกย์ ๆ เหล่านี้แหละมาเป็นสิ่งตอบสนองความต้องการส่วนลึกแทน

          จะว่าไปแล้วอารยธรรมทั้งหลายของมนุษย์มีขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว มีนักประวัติศาสตร์ผู้หนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อคริสต์ศาสนาเริ่มเสื่อมอิทธิพลลงไปและยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) เริ่มถือกำเนิดขึ้นมา สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดก็คือ ผู้คนเริ่มหมกมุ่นคิดถึงความตายมากขึ้น ผิดกับก่อนหน้านั้น คือช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑–๑๒ ตอนนั้นคริสต์ศาสนายังมีอิทธิพลอยู่มาก ผู้คนจึงเชื่อว่าความตายมิใช่เรื่องน่ากลัว เพราะเมื่อตายไปก็จะไปรวมกับพระเจ้า แต่เมื่อความเชื่อนี้เสื่อมอิทธิพลลงไป คนก็เริ่มเห็นความตายเป็นเรื่องน่ากลัว สุสานของคนยุโรปยุคนี้นิยมสลักหรือปั้นภาพศพที่น่าเกลียดน่ากลัว ความตายในทัศนะของคนยุคนี้มิใช่เรื่องน่ายินดีที่วิญญาณของตนจะได้ไปอยู่กับพระเจ้าแล้ว แต่กลับก็มีความหมายเพียงแค่ความเน่าเปื่อยผุพังของร่างกาย

          เมื่อมีความเชื่อแบบนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าความตายเป็นจุดสุดท้ายของชีวิต ความตายก็กลายเป็นสิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัว แต่ขณะเดียวกันจิตส่วนลึกยังต้องการความเป็นอมตะของตัวตน จึงพยายามแสวงหาสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการส่วนลึกนี้ ชื่อเสียงเกียรติยศเป็นทางออกอย่างหนึ่งของคนยุคนี้ที่ต้องการเป็นอมตะ ดังจะเห็นได้ว่ายุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการเป็นยุคที่ผู้คนแข่งขันกันสร้างชื่อเสียง จะเป็นดาร์วินชี ไมเคิล แองเจลโล ราฟาเอล ตลอดจนศิลปินดัง ๆ ทั้งหลายในยุคนี้ล้วนต้องการสร้างชื่อเสียงกันทั้งนั้น ในขณะที่ยุคก่อนหน้านั้น ศิลปินจะไม่มีความคิดเช่นนั้น เพราะเขาไม่ต้องการฝากชื่อเสียงเอาไว้ ชื่อเสียงไม่มีความหมายเพราะเขาคิดว่าภพหน้า ชีวิตหน้าสำคัญกว่า จึงมุ่งอุทิศชีวิตนี้เพื่อพระเจ้า วาดภาพเพื่อเป็นสมบัติของศาสนายิ่งกว่าเพื่อสร้างชื่อเสียงให้ตนเอง แต่พอมาถึงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ความเชื่อในชีวิตหน้าและภพหน้าเริ่มจางคลาย ผู้คนคิดว่ามีเพียงโลกนี้หรือชีวิตนี้เท่านั้น จึงพยายามสร้างชื่อเสียงเพื่อให้เป็นอมตะ แม้เขาจะวาดภาพเกี่ยวกับพระเจ้ามาก แต่แรงจูงใจที่สำคัญไม่น้อยก็คือความต้องการฝากชื่อเสียงไว้ให้เป็นอมตะ ความใส่ใจเรื่องชื่อเสียงและความหมกมุ่นในเรื่องเกียรติยศ จะมีความเด่นชัดมากในยุคนี้และส่งผลถึงผู้คนในยุคหลัง ๆ กระทั่งยุคปัจจุบัน อย่างไรก็ตามเกียรติยศและชื่อเสียงที่ได้มานั้น ตอบสนองความต้องการเป็นอมตะได้เพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น เมื่อความตายมาถึงเขาจะพบว่าชื่อเสียงเกียรติยศนั้นไม่ใช่คำตอบ ความรู้สึกว่าตัวตนใกล้ขาดสูญจะหลอกหลอนเขาในช่วงวิกฤตของชีวิต

 

ความตายกับอารยธรรม

ถ้าเราพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าทัศนะเรื่องความตายนั้น ถึงที่สุดแล้วเป็นตัวกำหนดอารยธรรมเลยทีเดียว อารยธรรมต่าง ๆ ในโลกนี้จะเป็นภาพสะท้อนทัศนะเรื่องความตายที่แตกต่างกัน อาทิเช่น อารยธรรมอียิปต์กับกับการสร้างพีระมิด อารยธรรมเขมรกับการสร้างนครวัด อารยธรรมธิเบตกับการหั่นศพและทิ้งให้แร้งกิน สองอารยธรรมแรกมีความเชื่อว่าตัวตนนั้นยั่งยืนเป็นอมตะ ขณะเดียวกันก็มีความปรารถนาอยากให้ผู้ที่ตายไปแล้วโดยเฉพาะพระราชากลับมาเกิดใหม่ จึงสร้างสถานที่เอาไว้รองรับผู้ที่จะมาเกิดใหม่ มีการระดมผู้คนจำนวนมหาศาลมาก่อสร้างสุสานอย่างใหญ่โต สิ้นเปลืองทรัพยากรมากมาย ตรงกันข้ามกับธิเบตซึ่งเห็นว่าคนเรานั้นมาจากธรรรมชาติเมื่อตายไปก็กลับคืนสู่ธรรมชาติ กลายเป็นอาหารของสรรพสัตว์ ชื่อเสียงเกียรติยศหรือยศศักดิ์อัครฐานไม่ว่าจะสะสมไว้มากเพียงใด ตายไปก็เป็นอันยุติ ไม่มีความหมายอีกต่อไป จึงไม่มีความจำเป็นต้องสร้างเทวสถานหรือสุสานรอคอยการกลับมาของคนที่ตายไป ส่วนอารยธรรมปัจจุบันเห็นว่าโลกหน้านั้นไม่มีหรือไม่สำคัญ สิ่งสำคัญอยู่ที่โลกนี้ชีวิตนี้ ดังนั้นการสร้างสุสานอย่างใหญ่โตเพื่อรองรับชีวิตหน้าของคนตาย จึงไม่ค่อยมี มีแต่การสร้างอนุสาวรีย์เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในโลกนี้ เช่น เพื่อสร้างความรักชาติ กระตุ้นให้คนเสียสละ หรือเพื่อชื่อเสียงเกียรติยศของวงศ์ตระกูลหรือของลูกหลาน (ซึ่งเป็นผู้สร้างอนุสาวรีย์) นอกจากนั้นความที่อารยธรรมสมัยใหม่เชื่อมั่นในโลกนี้มากกว่าโลกหน้า จึงมุ่งแสวงหาและตักตวงวัตถุมาปรนเปรออย่างไม่หยุดหย่อนมากกว่าที่จะสร้างบุญกุศลสำหรับโลกหน้า

          ที่กล่าวมานี้ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่ก็ต้องการชี้ให้เห็นว่า ทัศนะเรื่องความตายนั้น มีอิทธิพลต่อสังคมของเราและแบบแผนการใช้ชีวิตของเรามาก ดังที่ได้พูดไว้แต่ต้นแล้วว่า เดี๋ยวนี้ผู้คนอยู่อย่างลืมตาย ทั้งนี้ก็เพราะสังคมปัจจุบันเห็นความตายเป็นเรื่องน่ากลัว และดังนั้นจึงพยายามปกปิดซ่อนเร้น ยิ่งเห็นความตายว่าเป็นจุดสุดท้ายของชีวิตด้วยแล้ว ก็เลยยิ่งกลัว พยายามลืมเรื่องนี้ และหมกมุ่นกับการเสพสุข แต่ไม่ว่าจะพยายามปิดหูปิดตาและหลีกหนีความตายอย่างไร ในที่สุดเราก็ต้องเผชิญกับความตายอยู่นั่นเอง คำถามก็คือเมื่อถึงตอนนั้นเราจะเผชิญกับความตายอย่างไร เผชิญด้วยความสงบ หรือด้วยความทุรนทุรายและสะพรึงกลัว

          ถึงที่สุดความตายเป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างยิ่ง เพราะเรามีโอกาสตายทุกวินาที และอันที่จริงแล้วความตายเกิดขึ้นกับเราทุกขณะ เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายตายตลอดเวลา แต่ก็มีเซลล์ใหม่มาแทนที่ จึงดูเหมือนว่าร่างกายของเรานั้นคงที่ แท้จริงแล้วร่างกายของเราขณะนี้กับเมื่อสิบปีก่อน เป็นคนละร่างก็ว่าได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งร่างของเราเมื่อสิบปีก่อนได้ตายไปแล้ว และมีร่างใหม่มาแทนที่ จิตของเราก็เช่นกัน มีการเกิดดับตลอดเวลา แต่มีความสืบเนื่องกัน จึงดูเหมือนว่าเป็นจิตที่คงที่คงตัว การเข้าใจแบบนี้ทำให้เห็นจิตเป็นตัวเป็นตน แต่ที่จริงไม่ใช่

          แต่ความตายหรือแตกดับแบบทุกขณะจิตนั้น ไม่สำคัญสำหรับเราเท่ากับความตายชนิดที่เหลือแต่ร่างกายที่ไร้วิญญาณ คำถามคือเราจะทำอย่างไรกับความตายแบบนี้ ถ้าเรารู้จักความตายดีพอ เราย่อมเผชิญกับความตายด้วยใจสงบได้ แต่ความที่คนสมัยนี้ไม่พยายามทำความรู้จักกับความตาย คือเห็นความตายแต่ในแง่กายภาพ คือเป็นเพียงความแตกดับของร่างกาย จึงเห็นความตายเป็นเรื่องน่ากลัว เป็นเรื่องเลวร้าย เป็นสภาวะที่มีแต่ทุกข์ทรมานสถานเดียว โดยมองข้ามความจริงไปว่า แม้ร่างกายจะแตกดับ แต่เราสามารถรักษาจิตประคองใจให้สงบ ไม่ทุกข์ร้อนทุรนทุรายไปกับร่างกายได้ด้วย

 

ความตายไม่ใช่เป็นแค่วิกฤตของชีวิตเท่านั้น หากยังเป็นโอกาสในทางจิตวิญญาณ ในทางพุทธศาสนาเชื่อว่าจิตที่สงบเป็นกุศล ไม่เพียงช่วยให้ตายอย่างไม่ทุกข์ทรมานแล้ว ยังสามารถนำพาผู้ตายไปสู่สุคติ เป็นการยกระดับจิตใจให้เข้าสู่ภพภูมิที่ดีกว่าเดิม ยิ่งผู้ใกล้ตายนั้นมีสติเต็มที่ เห็นโทษของความติดยึดในสังขารหรือความสำคัญมั่นหมายในตัวตน จนสามารถละวางได้อย่างสิ้นเชิง ก็จะเข้าถึงความวิมุติหลุดพ้นคือนิพพานได้ทันที

 

วิธีเตรียมตัวตาย

ความทุกข์ของผู้คนในยามที่เผชิญกับความตายนั้น ไม่ใช่เป็นแค่ความทุกข์เนื่องจากความเจ็บปวดรวดร้าวทางกายเท่านั้น ที่สำคัญกว่านั้นก็คือความทุกข์ทางจิตใจ อาทิ เช่น ความกลัว ความตื่นตระหนก ความรู้สึกดังกล่าวสร้างความทุรนทุรายและทรมานแก่ผู้คน ยิ่งกว่าอาการทางกายด้วยซ้ำ ความรู้สึกดังกล่าวนี้ทำให้ผู้คนพยายามผลักไสความตาย แต่ทำเท่าไรก็ไม่สำเร็จ จึงทุกข์ทรมานยิ่งขึ้นไปใหญ่ หากเราต้องการเผชิญหน้ากับความตายอย่างสงบ เราต้องเรียนรู้ที่จะไม่ผลักไสความตายเมื่อเวลานั้นมาถึง ยอมรับความตายว่าเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นกับเราในที่สุด จะทำเช่นนั้นได้ ก็ต้องหมั่นทำใจให้คุ้นเคยกับความตายตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ใช่มาทำเอาตอนจวนตัวแล้ว การพิจารณาความตายสม่ำเสมอที่เรียกว่า มรณสติ เป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอาจิณ คือเตือนตนว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเกิดขึ้นกับเราไม่ช้าก็เร็ว การทำเช่นนี้สม่ำเสมอ ช่วยให้เราไม่ลืมตาย ไม่อยู่อย่างประมาท เวลาได้รับรู้ถึงความตายของผู้อื่นหรืออ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ แทนที่จะตื่นเต้นไปตามข่าวสาร ให้เตือนตนเองว่า สักวันหนึ่งเราก็ต้องเป็นอย่างเขา เวลาขึ้นรถลงเรือนั่งเครื่องบินควรเตือนตนว่านี้อาจเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายของเรา ก่อนจะเข้านอนควรระลึกว่าอาจไม่มีพรุ่งนี้สำหรับเราก็ได้ ในทำนองเดียวกัน ไปงานศพแต่ละครั้ง ควรถือเป็นโอกาสที่จะได้ตอกย้ำตนเองในเรื่องสัจธรรมของชีวิต แทนที่จะมัวแต่สังสรรค์กับมิตรสหายเท่านั้น

          นอกจากการเตือนตนเรื่องความตายแล้ว ควรหาโอกาสพิจารณาถึงความตายอย่างเป็นรูปธรรมด้วยว่า เมื่อเราจะต้องตายจริง ๆ ไม่ว่าเพราะโรคร้าย หรืออุบัติเหตุ เราจะรู้สึกอย่างไร และควรจะทำใจอย่างไร นึกภาพให้เห็นเด่นชัด จับความรู้สึกกลัวที่เกิดขึ้น และยอมรับตามที่เป็นจริง ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจะช่วยให้เรารู้จักตัวเองได้ดีขึ้นและรู้ว่าจะต้องฝึกฝนตนเองอย่างไร การสาวหาสาเหตุของความกลัว จะช่วยให้เรารู้วิธีที่จะแก้ไขหรือลดทอนความกลัวนี้ได้

          การฝึกใจให้คุ้นเคยกับความตายช่วยให้เรายอมรับความตายได้มากขึ้น และสามารถเผชิญหน้ากับความตายด้วยใจสงบ แต่ยังมีอีกสองสามปัจจัยที่สำคัญด้วยเช่นกัน ได้แก่ การหมั่นทำความดี สร้างกุศลอยู่เสมอ ผู้ที่ได้ทำกรรมดีไว้ตลอดชีวิต เมื่อเผชิญกับความตาย ย่อมมีความอุ่นใจและมั่นใจว่าจะได้ไปสุคติ ตรงกันข้ามกับผู้ที่ทำกรรมชั่ว ย่อมมีความทุกข์เมื่อวาระสุดท้ายใกล้จะมาถึง เพราะกลัวจะไปสู่ทุคติ ในทางพุทธศาสนายังเชื่ออีกด้วยว่า เมื่อใกล้ตายจะเกิดนิมิตสองประเภท คือ กรรมนิมิต และคตินิมิต นิมิตอย่างแรกหมายถึงภาพที่ปรากฏเกี่ยวกับกรรมที่ได้เคยกระทำไว้ หากทำความดีมาตลอด กรรมนิมิตจะเป็นในทางที่ดี แต่หากทำชั่ว จะเกิดกรรมนิมิตที่น่ากลัว ส่วนคตินิมิตหมายถึงนิมิตหรือภาพเกี่ยวกับภพหน้าที่ตนจะไปเกิด คนที่ทำความดีจะเกิดคตินิมิตที่งดงาม ส่วนคนทำชั่วจะพบเห็นนิมิตที่น่ากลัว นิมิตที่ดีย่อมช่วยให้ผู้ใกล้ตายมีอาการที่สงบ ในทางตรงข้ามนิมิตที่น่ากลัวย่อมมีผลให้ผู้ใกล้ตายกระสบกระส่าย ทุกข์ทรมาน

          นอกจากกรรมดีแล้ว สติเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ การรักษาจิตให้เป็นปกติ ไม่ตื่นตระหนก หวาดกลัว หรือยินดียินร้าย จะช่วยให้จิตสงบได้ในยามที่ถือว่าเป็นวิกฤตของชีวิต คนที่ไม่มีสติ เมื่อร่างกายเจ็บปวด ใจก็จะทุกข์ทรมานไปด้วย แต่ผู้ที่มีสติเข้มแข็ง แม้กายจะเจ็บปวด แต่ใจจะไม่ทุกข์ไปกับร่างกาย สติช่วยให้ใจไม่ติดยึดกับความเจ็บปวด หรือไปยึดเอาความเจ็บปวดมาเป็น “ของฉัน” เป็นแต่รู้ว่ามีความปวดเกิดขึ้นเท่านั้น มีผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายหลายคนที่อาศัยการเจริญสติและสมาธิภาวนา ทำให้ไม่ต้องใช้ยาแก้ปวดเลยแม้แต่น้อย หรือใช้น้อยมาก การมีสติเท่าทันความกลัวที่เกิดขึ้น ก็เป็นปัจจัยที่ช่วยให้เผชิญกับความตายได้อย่างสงบ

          การหมั่นพิจารณาความตาย การทำกรรมดี และการฝึกสติ เป็นสิ่งที่บุคคลพึงตระเตรียมอย่างสม่ำเสมอและอย่างเนิ่น ๆ แต่เมื่อความตายใกล้เข้ามา มีอีกหลายอย่างที่ควรจะตระเตรียมให้พร้อมเพื่อรับมือกับความตายด้วยใจสงบ อาทิ การสะสางกิจต่าง ๆ ไม่ให้คั่งค้าง ความเป็นห่วงในบางสิ่งบางอย่างที่ยังคั่งค้าง เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้คนกระสับกระส่ายเมื่อใกล้ตาย สิ่งนั้นอาจได้แก่การงานที่ยังไม่แล้วเสร็จ มรดกที่ยังไม่ได้ทำ ทรัพย์สินที่ยังไม่ได้สะสาง หรือภารกิจบางอย่างเกี่ยวกับลูกหลาน หรือบิดามารดา ที่ยังคาราคาซังอยู่ สิ่งเหล่านี้ควรสะสางให้แล้วเสร็จก่อนที่จะไม่มีโอกาส ในทางพุทธศาสนาเชื่อว่า ความห่วงกังวลไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม นอกจากจะทำให้ทุกข์ทรมานในยามใกล้ตายแล้ว เมื่อสิ้นลม ก็จะเป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติได้

          สิ่งค้างคาใจเป็นภาระอีกประการหนึ่งที่ควรปลดเปลื้องหรือสะสางให้แล้วเสร็จ อาทิเช่น ความรู้สึกโกรธเคืองเจ็บแค้นใครบางคน โดยเฉพาะคนที่เคยใกล้ชิด เช่น พ่อแม่ ลูกหลาน หรือเพื่อนร่วมงาน หรือความรู้สึกผิดที่ได้กระทำสิ่งไม่สมควรต่อคนเหล่านั้น เมื่อความตายใกล้เข้ามาควรหาทางปลดเปลื้องความรู้สึกเหล่านั้น เช่น ให้อภัย หรือขอโทษ ขออโหสิ การกระทำดังกล่าวต้องอาศัยความกล้าไม่น้อย เช่นเดียวกับการพยายามลดทิฐิมานะ ไม่ติดยึดกับหน้าตา หาไม่แล้ว จะต้องจ่ายด้วยบทเรียนราคาแพง คือความทุกข์ใจในยามใกล้ตาย

          ทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียงเกียรติยศ ลูกหลาน พ่อแม่ คนรัก หรือคู่ครอง เป็นสิ่งที่ควรตัดใจปล่อยวางเช่นกันเมื่อวาระสุดท้ายใกล้มาถึง การเป็นห่วงคนเหล่านั้นยิ่งทำให้ความตายกลายเป็นเรื่องทุกข์ทรมานมากขึ้น การปล่อยวางเกิดขึ้นได้ยากเพราะความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็น “ตัวกู ของกู” ความตายนั้นโดยตัวมันเองก็เป็นประกาศิตจากธรรมชาติว่า ไม่มีอะไรเป็นของเราสักอย่าง เพราะเราเอาติดตัวเมื่อตายไปแล้วไม่ได้เลย แต่บ่อยครั้งประกาศิตดังกล่าวผู้คนกลับไม่ได้ยิน จึงจำเป็นที่จะต้องตอกย้ำกับตัวเองเพื่อให้ปล่อยวางก่อนที่สิ่งเหล่านั้น (พูดให้ถูกต้องคือ ความติดยึดสิ่งเหล่านั้น) จะทำให้เราทุกข์ทรมานในยามใกล้ตาย

          จะทำเช่นนั้นเราควรฝึกปล่อยวางในชีวิตประจำวันเสียแต่เนิ่น ๆ เวลาเงินหาย ข้าวของถูกลักขโมย หรือเจ็บป่วย ควรฝึกใจให้เป็นปกติ ไม่ฟูมฟายเสียอกเสียใจให้มาก ให้ระลึกว่านี้เป็นความสูญเสียพลัดพรากเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับความสูญเสียครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตซึ่งจะต้องมาถึงอย่างแน่นอน ความสูญเสียและความทุกข์เล็ก ๆ น้อย ๆ มิใช่อะไรอื่น หากคือแบบฝึกหัดให้เรารู้จักปล่อยวางและทำใจเมื่อเผชิญทุกข์ภัยที่ยิ่งใหญ่กว่า การฝึกทำใจน้อมรับความพลัดพรากสูญเสียซึ่งเป็นธรรมดาของชีวิต จะช่วยให้เราสามารถปล่อยวางสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในชีวิตได้มากขึ้นเมื่อความตายมาถึง อันจะช่วยให้เรายอมรับความตายได้ง่ายขึ้นด้วย

          ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นปัจจัยภายใน คือการทำใจในฝ่ายผู้ใกล้ตาย อย่างไรก็ตามการเผชิญกับความตายอย่างสงบนั้น ปัจจัยภายนอกก็สำคัญ แม้ไม่สำคัญกว่าปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกที่ช่วยให้ผู้ตายจากไปอย่างสงบก็คือ บรรยากาศแวดล้อมผู้ใกล้ตาย ควรเป็นบรรยากาศแห่งความสงบ มิใช่แวดล้อมด้วยผู้คนที่กำลังเศร้าโศก ร้องห่มร้องไห้ หรือทะเลาะกันเรื่องมรดก หรือเถียงกันเรื่องใครจะเป็นผู้จ่ายค่าพยาบาลหรือค่างานศพ ห้องที่มีพระพุทธรูปหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของผู้ใกล้ตาย มีดอกไม้ประดับประดาให้ดูแช่มชื่น มีการสวดมนต์ หรือทำสมาธิร่วมกัน ตลอดจนมีการเปิดเทปธรรมะที่น้อมใจให้เป็นกุศล ไม่พลุกพล่านหรือมีเสียงรบกวน เหล่านี้ล้วนช่วยสร้างบรรยากาศแห่งความสงบ ซึ่งน้อมใจให้ผู้ใกล้ตายเกิดสมาธิและจิตที่สงบ เป็นกุศล

          ความตายไม่ใช่เป็นแค่วิกฤตของชีวิตเท่านั้น หากยังเป็นโอกาสในทางจิตวิญญาณ ในทางพุทธศาสนาเชื่อว่าจิตที่สงบเป็นกุศล ไม่เพียงช่วยให้ตายอย่างไม่ทุกข์ทรมานแล้ว ยังสามารถนำพาผู้ตายไปสู่สุคติ เป็นการยกระดับจิตใจให้เข้าสู่ภพภูมิที่ดีกว่าเดิม ยิ่งผู้ใกล้ตายนั้นมีสติเต็มที่ เห็นโทษของความติดยึดในสังขารหรือความสำคัญมั่นหมายในตัวตน จนสามารถละวางได้อย่างสิ้นเชิง ก็จะเข้าถึงความวิมุติหลุดพ้นคือนิพพานได้ทันที ดังพระสาวกหลายท่านได้กระทำไว้เป็นแบบอย่าง นับเป็นตัวอย่างที่ชี้ว่าความตายสามารถเป็นปัจจัยให้เกิดพัฒนาการทางจิตวิญญาณอย่างถึงที่สุดได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงสมควรที่จะเตรียมตัวรับความตายแต่เนิ่น ๆ ในขณะที่ยังมีเวลาอยู่ ทั้งนี้เพื่อใช้ความตายให้เป็นโอกาสในทางจิตวิญญาณ ไม่ปล่อยให้ความตายนำชีวิตไปสู่วิกฤตหรือความแตกดับเท่านั้น.. .

 
หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :