เสขิยธรรม
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๘

เหลียวมองเพื่อนบ้าน

ลัดดา วิวัฒน์สุระเวช

เดิน เพื่อจิตวิญญาณ ณ เทือกเขาหิมาลัย

 

การเดินอย่างมีสติทุกย่างก้าวสง่างามอยู่ในท่วงท่า แต่การเดินเพื่อจิตวิญญาณ ณ เทือกเขาหิมาลัยจะเป็นเช่นใด ต้องไปเผชิญด้วยตนเอง ผู้ที่ไปมาแล้วจะรู้สึกเหมือนขึ้นสวรรค์จริง ๆ ตรงที่จะขึ้นไปได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย พอดีปีนี้ตรงกับเทศกาลมหากุมภา มีลา ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวพฤหัสโคจรอยู่ในแนวเดียวกับดวงอาทิตย์ ถือว่า ๑๒ ปี จึงจะมีครั้งหนึ่ง ชาวฮินดูเชื่อว่าเหมาะแก่การจาริกบุญและบำเพ็ญเพียรทางจิตวิญญาณ

          ตามใบประกาศของอาศรมวงศ์สนิท นครนายก จัดรายการเชิญชวน “ธรรมยาตราสู่ขุนเขาหิมาลัย ในภารตะแดน” (A Spiritual Walk in Himalaya) วันที่ ๒๙ สิงหาคม ถึงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๖ โดยจัดร่วมกับดร.มานี รามูวานนัน แห่งมหาวิทยาลัยนิวเดลฮี เพื่อหาทุนให้โครงการพุทธสรวล (Buddha’s Smile) จัดสร้างโรงเรียนสำหรับเด็กยากจน ในประเทศอินเดีย ซึ่งจะเริ่มมีการก่อสร้างด้วยบ้านดินในเดือนธันวาคมศกนี้

          สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ๓ แห่ง คือ ศรี เหมคุน ซาฮิบ (Sri Hemhund Sahib) ศรี บาดินาถ (Sri Badrinath) และศรี คาดินาถ (Sri Kardinath) และทุ่งดอกไม้ (Valley of Flowers) บนยอดเขา เป็นที่หมายปลายทางของการเดินทางครั้งนี้ ตามความเข้าใจจุดมุ่งหมายของผู้จัดไม่ใช่การท่องเที่ยว แต่เป็นการเดินด้วยจิตวิญญาณ ฝึกฝนให้เกิดความเข้มแข็งทางจิตใจ ต้องเดินขึ้นและลงเขาประมาณ ๑๐๐ ก.ม. ข้อมูลเพียงเท่านี้ก็ทำให้รู้สึกตื่นเต้น อยากไปเห็นเทือกเขาหิมาลัย อันสูงลิบลิ่ว ที่ไทยเราเรียกว่า ฟากฟ้าป่าหิมพานต์ แหล่งที่มาของลัทธิพราหมณ์ ฮินดูและ พุทธ มีผู้ร่วมเดินทางคราวนี้ทั้งหมด ๑๑ คน

          เมื่อขึ้นเครื่องบินไปถึงเมืองเดลฮี อินเดีย จะต้องนั่งรถยนตร์ ๒๒๔ ก.ม.ไปเมืองฤๅษีเกศ (Rishikesh) อยู่สูง ๖๐ เมตร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ถือเป็นเมืองท่าของเชิงเขาหิมาลัย สิ่งที่แปลกตาแปลกใจในเมืองนี้คือเราได้พบผู้ที่บำเพ็ญตนเป็นสมณะอยู่เป็นอันมาก ไม่ใช่สมณะทางพุทธศาสนา แต่เป็นพวกที่เขาเรียกกันหลายอย่างตามลำดับชั้นแห่งการฝึกฝน มีทั้งฤๅษี มุนี สันยาสี สาธุ พวกนี้แต่งกายด้วยผ้าย้อมสีส้ม บางคนโกนผม โกนหนวดเกลี้ยง บางพวกไว้ผมและหนวดเครายาว บางพวกเอาขี้เถ้าทาหน้าทาตัว เดินไปตามถนน หรือนั่งอยู่ตามโคนต้นไม้ รวมความว่าเป็นเมืองของฤๅษี

ชาวสิกข์ ชาวฮินดู อาบน้ำในทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ เหมคุณ
ท่ามกลางหมอกหนาวเย็น

          ภูเขาหิมาลัยอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย เป็นทิวเขายาวและสูงที่สุดในโลก มีความยาวถึง ๑,๕๐๐ ไมล์ ตั้งแต่แคชเมียร์ถึงเบงกอล ส่วนอีกด้านเป็นแดนของธิเบต ที่เรียกว่าเป็นหลังคาโลกนั้น เป็นภูเขาที่ไม่อาจพบเห็นได้ในเมืองไทย ภูเขาในเมืองไทยเมื่อเปรียบกับหิมาลัยแล้วเป็นเพียงเนินเขาเท่านั้นเอง ดอยอินทนนท์ถือว่าเป็นรุ่นลูกหลานเลยทีเดียว ลักษณะอันหนึ่งที่น่าจดจำสำหรับภูเขาหิมาลัยนั้นคือ ฟากข้างอินเดียเป็นภูเขาสูงชัน รถต้องแล่นลียบภูเขา ซึ่งข้างหนึ่งเป็นภูเขาสูง อีกข้างหนึ่งเป็นเหว ภูเขาสูงมาก เมื่อมองลงไปจะเห็นเหวลึกอยู่ข้างกายอย่างน่าหวาดเสียว ถนนขึ้นเขา พับไปพับมา ตั้งแต่เบื้องล่างจนถึงยอดเขา เป็นของธรรมดาที่พับจนเวียนศีรษะ มองจากที่ราบดูทิวภูเขาหิมาลัย แลเห็นเป็นกำแพงสูงลิ่วและยาวสุดสายตา และการนั่งรถยนตร์ข้ามภูเขาหิมาลัยนี้ ไม่ใช่ข้ามภูเขาลงไปหาที่ราบ เป็นการข้ามภูเขาลูกหนึ่ง เพื่อไปหาภูเขาอีกลูกหนึ่ง ซึ่งสูงยิ่งขึ้นไป ถ้าไม่หันหลังกลับมาทางเดิมแล้ว ก็ไม่มีหวังจะพบที่ราบอีก ข้ามไปแล้วกี่สิบลูก ก็ยังต้องข้ามสูงขึ้นไปอีก พูดถึงความสูงแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะพรรณนาอย่างไร ความลึกของเหวที่อยู่ข้างทาง ทำให้แน่ใจว่า ถ้าพลาดพลัดลงไปแล้ว ก็ไม่มีทางรอด ระหว่างทางขึ้นเขานี้ แถมรถต้องจอดเป็นระยะ รอเป็นแถวยาวเพื่อรอการเกลี่ยทางจากการที่ดินบนภูเขาถล่มลงมาขวางทางไว้ นี้เป็นประสบการณ์อันยอดเยี่ยมที่พบตลอดการเดินทางครั้งนี้

          เรานั่งรถยนตร์ขึ้นเขา ลงเขาลูกแล้วลูกเล่าต่อไปอีก ๒๙๐ ก.ม. ถึง เมืองโควินกัต (Govind Ghat) รถต้องจอดที่นี่ เพื่อเดินขึ้นภูเขาไปยังที่พัก ๑๔ ก.ม. และเดินขึ้นไปอีก ๗ ก.ม.เพื่อไปยังศรี เหมคุน ซาฮิบ ถือเป็นระยะทางที่ยากลำบากที่สุดเมื่อเทียบกับอีก ๒ แห่ง ทางขึ้นเขาทั้งลื่น ทั้งสูง ทั้งชัน วันที่ไปฝนตก จึงทั้งหนาวและเปียก แต่หนทางยิ่งยากลำบากเท่าใด ผลที่ได้ก็สมกับความเหนื่อยยาก จะได้ชมทัศนียภาพอันสวยงามไม่แพ้ยุโรป ระหว่างทางเดินจะเห็นทิวสนหลายพันธุ์ใบสีเขียวเข้ม ต้นสูงตระหง่านท้าความหนาวเย็น ธารน้ำตกเกิดจากหิมะไหลลงตามไหล่เขา น้ำใสสะอาด ทุ่งดอกไม้นานาชนิด หลากสีสรรแตกต่างกันไปตามความสูงของภูเขา ความเขียวขจีและอุดมสมบูรณ์ของเฟิร์น มอส เกาะตามโขดหินผา

          เมื่อเดินฝ่าฟันไปจนถึงยอดเขา ศรี เหมคุน ซึ่งหนาวเหน็บ อยู่บนที่สูง ๔,๓๒๙ เมตร รายล้อมด้วยยอดเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ ๗ ลูก มีทะเลสาบซึ่งรองรับหิมะที่ละลาย ถือว่าเป็นทะลเสาบศักดิ์สิทธิ์ ผู้มีศรัทธาขึ้นมาถึงแล้ว ก็พาร่างกายที่นุ่งผ้าน้อยชิ้นไปแช่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเย็นยะเยือก ตามประวัติ คุรุ ซาฮิบ เคยมานั่งสมาธิที่ริมทะเลสาบนี้ แล้วต่อมามีผู้ค้นพบทะเลสาบในปี ค.ศ. ๑๙๓๐ จึงมีการก่อสร้างสถานที่สักการะบูชาคุรุท่านนี้ขึ้น สถานที่นี้เป็นศูนย์กลางของผู้จาริกบุญชาวสิกข์และฮินดู ช่วงเวลาแห่งการจาริกบุญบนยอดเขานี้ มีเพียงกลางสิงหาคมถึงกันยายนเท่านั้น เพราะนอกจากช่วงนี้แล้ว จะปกคลุมด้วยหิมะ หนาวมาก ข้าพเจ้าได้เห็นความศรัทธาของคนอินเดียไม่ว่าคนเฒ่า คนแก่ คนหนุ่มสาวเดินขึ้นเขา บางคนเดินเท้าเปล่า บางคนสวดมนต์ระหว่างนั่งพัก คนที่เดินไม่ไหวก็ขี่ม้า หรือนั่งคานหามขึ้นไป บ้างก็ไปเป็นครอบครัวพ่อแม่ลูกเล็ก ๆ เดินกรำฝนขึ้นไป บางคนขึ้นมาแล้ว ๑๗ ครั้ง ถือว่าเหมือนได้มาสวรรค์ ดูหน้าตามีความสุขมาก แม้จะหนาวเหน็บเพียงไรก็ตาม ข้างบนนี้ยังมีโรงทานรับบริจาคเงิน และ มีการต้มชาแจกตลอด ๒๔ ชั่วโมง พร้อมทั้งขนมหวานสีแดงและสีเหลือง โดยมีอาสาสมัครทำงานอย่างไม่หยุด

 ๓
๑ ๔
๒
๑. ศรี คาดินาถ วัดพระศิวะ ยามค่ำ
๒. ศรี บาดรินาถ วัดพระวิษณุ
๓. พิธีถวายผ้าแด่พระเจ้าของชาวบ้านมน (Mana Village)
๔. เมืองฤๅษีเกศ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา

 

          พวกเราเดินลงจากเขา เข้าที่พัก แล้วตอนเช้าจึงไปสถานที่ใกล้เคียงถัดไปคือทุ่งดอกไม้ ต้องเดินขึ้นเขาไปอีก ๔ ก.ม. อยู่บนยอดเขาสูง ๓,๖๕๘ เมตร พวกเราไม่ได้เดินต่อไปอีก เห็นว่าอีก ๑๐ ก.ม. ข้างหน้าจะพบดอกไม้นานาพันธุ์นับได้กว่า ๕๐๐ ชนิด บางฤดูมีถึง พันกว่าชนิด แต่จุดที่เรานั่งพักก็ได้ชื่นชมกับดอกไม้เล็กสีขาว สีชมพู สีเหลือง เป็นทุ่งมากมายไปหมด

          เมื่อนั่งรถยนตร์ออกจากโควินกัต แล้วก็ลงเขาขึ้นเขาไปจุดมุ่งหมายที่สองคือ ศรี บาดรินาถ กว่าจะถึงก็มืดค่ำ รถยนตร์เข้าไปถึงไม่ต้องเดินขึ้นเขา ศรีบาดรินาถ เป็นที่ตั้งของวัดพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ เทพแห่งทะเล อยู่ริมฝั่งแม่น้ำอะลักนันทะ (Alaknanda River) อยู่บนยอดเขาสูง ๓,๑๓๓ เมตร ในตอนกลางคืน ราวสี่ทุ่ม ผู้คนจะแต่งตัวสวยงามมาร่วมพิธีสักการะบูชาพระวิษณุ จากที่พักจะเห็นยอดเขาที่มีหิมะปกคลุม ยามเช้าแสงอาทิตย์สาดส่องกระทบยอดเขานั้น เป็นสีส้มเรื่อ ๆ ดูแล้วเพลิดเพลินใจ วันนี้สบาย ไม่ต้องเดินมาก คณะเราไปเยี่ยมชมหมู่บ้านมน (Mana Village) เป็นหมู่บ้านสุดท้ายของอินเดียอยู่ติดกับธิเบต หมู่บ้านนี้มีอายุมากกว่าพันปี ชาวบ้านแต่งตัวกึ่งแขกกึ่งธิเบต หน้าตาสดชื่น เด็กน้อยมีแก้มสีแดง ยังคงวิถีชีวิตแบบโบราณ ตำข้าว ทอผ้า ปลูกผัก บ้านก่อด้วยหินทั้งหลัง ตากผ้าและตากอาหารบนหลังคาบ้าน วันที่เราไปมีพิธีถวายผ้าแด่พระเจ้า เห็นริ้วขบวนชาวบ้าน ในมือถือต้นข้าวที่แตกยอดอ่อน หากเดินไกลออกไปจากหมู่บ้านราว ๓ ก.ม. จะได้ชมความสวยงามของน้ำตกวสุธารา เป็นน้ำจากหิมะบนยอดเขา สูงถึง ๑๒๒ เมตร ในหมู่บ้านบนยอดเขานี้ ยังมีถ้ำสำหรับนั่งสมาธิ และวัดอีกมากแห่ง มีถ้ำหนึ่งบันทึกเรื่องราวของภควคีตาด้วยการแกะสลักตามฝาผนังถ้ำ ข้าพเจ้าไม่ได้เดินไปไหน ด้วยเดินไม่ไหว ได้แต่นั่งชื่นชมปุยเมฆสีขาว ล่องลอยอย่างช้า ๆ จากยอดเขาลูกหนึ่งไปสู่อีกลูกหนึ่ง ปุยเมฆอยู่ใกล้เหมือนกับจะยื่นมือไปไขว่คว้ามาได้ ภาพแบบนี้หาดูไม่ได้ง่าย ๆ เมื่ออยู่บนภูเขาสูง ข้าพเจ้าเห็นแต่ภูเขาอยู่รอบตัว เป็นภูเขาที่ไม่มีความสุดสิ้น เป็นความสูงประหนึ่งว่าเรากำลังปีนขึ้นไปสู่เมืองฟ้า เมืองสวรรค์ ไม่เป็นการประหลาดเลย ที่ชาวอินเดียจะยึดมั่นในความเชื่อเรื่องสวรรค์และเทพเจ้าเบื้องบน

          สถานที่ศักดิ์สิทธ์แห่งสุดท้ายคือ ศรี คาดินาถ อันเป็นที่ตั้งของวัดพระศิวะ เทพแห่งภูเขา วัดนี้ก่อสร้างด้วยหินทั้งหลัง ลวดลายแกะสลักอย่างอ่อนช้อยงดงาม อายุมากกว่าพันปี ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง ๓,๕๘๓ เมตร ภายในวัดมีรูปแกะสลักเป็นพระศิวะ ซึ่งถูกคลุมด้วยเครื่องสักการะบูชา จนมองไม่เห็นองค์ มีรูปแกะสลักของพระวิษณุและนางลักษมี วันที่ไป ตอนกลางคืนมีพิธีบูชา คนเข้าไปจนแน่นขนัด ต้องเบียดเสียดผู้คนเข้าไปดู ใกล้ ๆ กับวัดมีกุฏิเล็ก ๆ เป็นที่นั่งสมาธิก่อนดับขันธ์ของ อดิคุรุ สังกราจารย์ การเดินทางขึ้นยอดเขา ต้องเดินจากจุดที่รถจอด เมืองเการิคุน (Gaurikund) เดินขึ้นไป ๑๔ ก.ม. หนทางสะดวกสบาย เดินไม่ยาก แต่เส้นทางยาวไกลบนยอดเขานั้นต้องฝ่าแรงโน้มถ่วงของโลก และสู้กับความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากไม่น้อย

          ความเหนื่อยยากที่ได้รับเนื่องจาการปีนป่ายขึ้นไปถึงยอดเขาหิมาลัย ได้ผลตอบแทนทางจิตใจ เท่าที่ได้ไปเห็นมา ก็รู้สึกว่าเป็นโชคดีและเป็นความประทับใจที่ได้เห็น เข้าใจลักษณะของความสูง เรารู้ว่าความสูงคืออะไร แต่เราจะไม่เข้าใจดี จนกว่าจะได้ปีนขึ้นไปบนหิมาลัย เมืองฟ้าเมืองสวรรค์ ภาพบนภูเขาหิมาลัย คงจะเป็นฉากให้เขียนนิยายได้หลายเรื่อง ความคิดผูกเรื่องได้มีขึ้นเองเมื่อเห็นภาพที่ปรากฏ ที่ซึ่งเรารู้สึกว่าไม่มีความสิ้นสุดแห่งภูเขาใหญ่มหึมา จนเรียกได้ว่าทะเลภูเขา

          วันสุดท้ายของคณะยาตรา ได้มาพัก ณ เมืองฤๅษีเกศ ได้ชมชื่นความสงบสงัดของแม่น้ำคงคา แลเห็นเป็นน้ำไหลนิ่งอย่างไม่หยุด คนอินเดียถือว่าแม่น้ำคงคาศักดิ์สิทธิ์ด้วยต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งถือว่าเป็นแดนสวรรค์ พวกเราได้สวดมนต์ร่วมกันก่อนจากลา แล้วฝนก็โปรยปราย เหมือนพระเจ้าได้ประทานพรให้แก่คณะเดินทางกลับประเทศไทยด้วยความปลอดภัย.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๘๘๗๕
... e-mail :