เสขิยธรรม
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๘

บทความพิเศษ

รองศาสตราจารย์ ดร. สมภาร พรมทา
ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทัศนะทางปรัชญาและศาสนาของอินเดีย

ประเทศอินเดียมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมไทยหลายอย่าง เช่นศาสนาหลัก ๆ ที่เรานับถือกันอยู่เวลานี้คือพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูก็มาจากอินเดีย วรรณคดีที่สำคัญของเราบางเรื่องเช่น “รามเกียรติ์” ก็มาจากอินเดีย แม้ระบบการปกครองและระบบกฎหมายไทยโบราณก็ได้มาจากประเทศอินเดีย สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่เรามีอยู่เวลานี้ก็มาจากแนวคิดของอินเดีย ดังนั้นการศึกษาเรื่องราวของอินเดียจึงมีความสำคัญต่อการเข้าใจสังคมไทย บทความนี้จะกล่าวถึงแนวคิดทางศาสนาและปรัชญาของอินเดีย และชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยเราควรรับเอาแนวคิดเหล่านี้มาปรับใช้ในยุคปัจจุบันอย่างไรบ้าง นอกเหนือจากที่มีอยู่แต่ก่อนแล้ว

 

          ศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดของอินเดียคือศาสนาพราหมณ์ ต่อมาเรียกว่าศาสนาฮินดู เดิมนั้นศาสนาฮินดูสอนเรื่องเทพเจ้าประจำธรรมชาติ เช่นสอนว่ามีเทพประจำแผ่นดิน ทะเล ท้องฟ้า ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และอื่น ๆ ต่อมาเทพเจ้าหลายองค์นี้ก็ได้รับเลือกให้มีบทบาทเด่นที่สุดสามองค์คือ พระพรหม พระนารายณ์ (หรือพระวิษณุ) และพระศิวะ (หรือพระอิศวร) ปัจจุบันเทพเจ้าสามองค์มีเพียงสององค์ที่ชาวฮินดูนับถือมากที่สุดคือพระศิวะและพระนารายณ์ ในสังคมไทยนั้นเรากลับนับถือพระพรหมมากกว่าพระนารายณ์และพระศิวะ ชาวฮินดูเชื่อว่าเทพเจ้าสามองค์นี้มีบทบาทหลักเกี่ยวข้องกับโลกเรา (โลกในที่นี้หมายถึงจักรวาล) ต่างกันคือ พระพรหมสร้างโลก พระนารายณ์คุ้มครองโลก พระศิวะทำลายโลก บทบาทสามประการของเทพเจ้าสามองค์นี้มาจากความเชื่อของศาสนาฮินดูที่ว่า จักรวาลนี้มีเกิดมีดับสลับกันไปเช่นนี้ชั่วนิจนิรันดร

          การเกิดดับของโลกนี้ศาสนาฮินดูเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการที่มนุษย์เราประพฤติตนอย่างไรในทางศีลธรรม เมื่อพระพรหมสร้างโลกแล้ว พระพรหมก็จะปล่อยให้มนุษย์ดูแลโลกไป ตราบเท่าที่มนุษย์ยังมีศีลธรรมอยู่ ตราบนั้นโลกก็จะยังดำเนินไปด้วยดี ต่อเมื่อใดที่มาตรฐานทางศีลธรรมของมนุษย์ต่ำลง เมื่อนั้นโลกจะค่อย ๆ เสื่อมลง ความเสื่อมของโลกนี้ดูจากการที่โลกจะมีความทุกข์เพิ่มมากขึ้น ชีวิตมนุษย์จะเต็มไปด้วยปัญหามากกว่าแต่ก่อน ตามความเชื่อของชาวฮินดู เพื่อให้ศีลธรรมของมนุษย์ดำรงอยู่ พระนารายณ์จะอวตารลงมาเกิดเป็นผู้นำทางศีลธรรมเพื่อบอกมนุษย์ว่าอะไรคือความดี อะไรคือความชั่ว บางครั้งก็มีการอธิบายว่าแม้แต่พระศาสดาในศาสนาอื่น เช่นพระพุทธเจ้าของศาสนาพุทธ ก็เป็นภาคอวตารของพระนารายณ์ จะอย่างไรก็ตาม พระนารายณ์ก็ไม่สามารถบังคับให้มนุษย์ทำดีได้หากมนุษย์ไม่เห็นคุณค่าของความดีนั้นด้วยตัวเขาเอง ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าแม้จะมีศาสนาแล้ว ในเวลาต่อมาศีลธรรมของมนุษย์ก็สามารถเสื่อมลงได้เพราะมนุษย์ไม่เห็นคุณค่าของศาสนา เมื่อเป็นเช่นนี้บทบาทของพระนารายณ์ก็จะค่อย ๆ ลดลง จนถึงวันหนึ่งเมื่อมาตรฐานทางศีลธรรมของมนุษย์ตกต่ำจนถึงระดับวิกฤติ พระศิวะจะเข้ามาทำหน้าที่แทนพระนารายณ์ นั่นก็จะถึงจุดจบของโลก โลกจะพินาศเพราะการทำลายของพระศิวะ เมื่อโลกถูกทำลายแล้ว พระพรหมก็จะเข้ามารับช่วงในการสร้างโลกรอบใหม่ต่อไป

          แนวคิดของศาสนาฮินดูหลายอย่างนั้นศาสนาอื่น ๆ ในอินเดียเช่นพุทธศาสนาอาจไม่เห็นด้วย เช่นพุทธศาสนาไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องวรรณะที่ศาสนาฮินดูสอน พุทธศาสนาไม่เห็นด้วยกับความเชื่อของศาสนาฮินดูที่ว่าพิธีกรรมช่วยให้ชีวิตเราบริสุทธิ์ได้ (เช่นการลงไปอาบน้ำในแม่น้ำคงคาจะช่วยให้พ้นจากบาปที่ได้กระทำมา) แต่ในเรื่องโครงสร้างทางศีลธรรมที่กล่าวมานี้ ดูเหมือนว่าพุทธศาสนาจะเห็นด้วยกับศาสนาฮินดู นอกจากพุทธศาสนายังมีศาสนาที่สำคัญอีกศาสนาหนึ่งของอินเดีย เกิดร่วมสมัยกับพุทธศาสนาคือ ศาสนาไชนะ ศาสนานี้ก็เชื่อในเรื่องโครงสร้างทางศีลธรรมที่จะช่วยค้ำจุนโลกเหมือนกัน แต่รายละเอียดว่าธรรมที่ว่านั้นคืออะไรศาสนาเหล่านี้สอนต่างกัน

 

          ศาสนาฮินดูสอนว่าธรรมคือการทำหน้าที่ ส่วนพุทธศาสนาสอนว่าธรรมคือการทำตัวให้สอดคล้องกับกฎธรรมชาติ ศาสนาไชนะสอนว่า ธรรมคือการไม่เบียดเบียนผู้อื่น เมื่อสามศาสนานี้นิยามธรรมต่างกัน หลักการปฏิบัติหรือหลักการสำหรับตัดสินว่าความดีความชั่วคืออะไรก็ต่างกัน เพื่อให้เห็นภาพคำสอนที่ต่างกันของสามศาสนานี้ ขอให้พิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้

๑. ทหารที่ไปรบเพื่อป้องกันประเทศ จำเป็นต้องฆ่าข้าศึก ถามว่าเขาทำบาปไหม
๒. เรากินยาถ่ายพยาธิเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง ถามว่าเราทำบาปไหม
๓. เราเดินทางข้ามทะเลทรายโดยขี่ม้า ระหว่างทางม้าเราขาหักไปต่อไม่ได้ เราไม่สามารถพาม้าไปด้วย ปัญหาคือถ้าทิ้งม้าไว้อย่างนั้นกว่ามันจะตายท่ามกลางแสงแดดที่ร้อนระอุนั้นต้องใช้เวลาหลายวัน เราไม่ต้องการให้ม้าที่เรารักตายอย่างทรมาน เราจึงตัดสินใจยิงมันด้วยปืนเพื่อให้ตายทันที ถามว่าเราได้ทำบาปไหม

          ปัญหาข้างต้นนี้เป็นปัญหาที่เรียกกันในทางปรัชญาว่าปัญหาความขัดแย้งทางศีลธรรม (moral dilemma) ซึ่งเป็นปัญหาที่ตอบได้ยาก และปัญหาประเภทนี้โลกมนุษย์กำลังเผชิญหน้าอยู่ไม่น้อย (เช่นปัญหาการทำแท้ง ปัญหาโทษประหารชีวิต) มีความพยายามจากหลายฝ่ายที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งทางศีลธรรมเหล่านี้ และศาสนาก็เป็นสถาบันหนึ่งที่มีบทบาทสูงในการให้คำอธิบายและทางออกแก่ปัญหาเหล่านี้ ในที่นี้เราจะลองพิจารณาทัศนะของสามศาสนาที่สำคัญของอินเดียที่กล่าวข้างต้น คำตอบที่แต่ละศาสนาให้แก่ปัญหาเหล่านี้จะสะท้อนให้เห็นว่าแต่ละศาสนาคิดอย่างไรเกี่ยวกับโลกและชีวิต

          เราจะเริ่มที่ศาสนาฮินดู ในคัมภีร์ “ภควัทคีตา” ที่เป็นคัมภีร์สำคัญเล่มหนึ่งของศาสนาฮินดู มีการนิยามธรรมว่าคือการทำหน้าที่ ในคัมภีร์เล่มนี้มีการเล่าเรื่องว่าแม่ทัพคนหนึ่งเกิดความสงสัยว่า การที่ตนเองเป็นทหารต้องเข้ารบอยู่เสมอและในการรบนั้น ก็จำเป็นต้องเข่นฆ่าฝ่ายตรงกันข้าม เขาจะต้องรับบาปอันเกิดจากการฆ่าคนหรือไม่ เนื้อหาของคัมภีร์ได้ตอบว่า ตามทัศนะของศาสนาฮินดู อะไรจะผิดหรือไม่ผิดขึ้นอยู่กับว่าสิ่งนั้นเป็นหน้าที่ของเราหรือไม่ การตั้งคำถามเกี่ยวกับการกระทำใด ๆ โดยไม่ดูว่ากระทำโดยคนที่มีหน้าที่หรือไม่ ไม่สามารถตอบได้ว่าผิดหรือถูก เช่นการฆ่า ถามว่าผิดหรือถูกทันทีไม่ได้ ต้องถามว่าใครเป็นคนฆ่าและใครถูกฆ่า และฆ่าในสถานการณ์เช่นใด นายเขียวเป็นทหารไปรบฆ่านายขาวซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามตาย อย่างนี้ไม่ถือว่าผิดเพราะเป็นการทำตามหน้าที่ แต่ถ้านายเขียวเป็นคนธรรมดา วันหนึ่งเดินเข้าซอยเกิดเขม่นกับนายขาวแล้วฆ่านายขาวตาย อย่างนี้ถือว่าผิดเพราะนายเขียวไม่มีหน้าที่ในการฆ่า กรณีตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น ตามศาสนาฮินดูการกินยาฆ่าพยาธิ ถ้าตีความว่า เป็นไปตามหน้าที่ของมนุษย์ที่จะพึงรักษาสุขภาพของตนให้ดี ก็ไม่ถือว่าผิด การฆ่าม้าขาหักในทะเลทราย เพราะไม่ต้องการให้มันทุกข์ทรมาน ถ้าตีความว่า เป็นหน้าที่ของเราที่เป็นเจ้านายมันที่ต้องกระทำเช่นนั้นก็ไม่ถือว่าผิด

          ธรรมตามทัศนะของพุทธศาสนา คือ การทำตัวให้สอดคล้องกับกฎธรรมชาติ การฆ่านั้นพุทธศาสนาถือว่าผิด ไม่ว่าจะฆ่าใคร ฆ่าที่ไหน หรือฆ่าภายใต้สถานการณ์เช่นใดก็ตาม ที่พุทธศาสนาเชื่อเช่นนั้นก็เพราะพิจารณาว่าการฆ่าเป็นอกุศลกรรมตามธรรมชาติ และสิ่งที่เป็นอกุศลกรรมตามธรรมชาตินั้นย่อมส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้กระทำเสมอ ไม่ว่าผู้กระทำจะอ้างว่าทำไปเพราะไม่มีทางเลือก เพราะสงสาร หรือเพราะถูกบังคับก็ตาม การไปรบแล้วฆ่าศัตรู การกินยาฆ่าพยาธิ การฆ่าม้าขาหักในทะเลทรายล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ผิดตามหลักการของพุทธศาสนาทั้งสิ้น แม้ว่าพุทธศาสนาจะมองว่าความผิดถูกเป็นเรื่องตามธรรมชาติ มนุษย์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ผิดให้ถูกหรือที่ถูกให้ผิด แต่พุทธศาสนาก็มีจารีตในการที่จะไม่ใช้ศาสนาบีบบังคับให้บุคคลทำตามศีลธรรมของศาสนาหากเขาไม่ยินดี ชาวพุทธที่จำเป็นต้องทำบาปเช่นต้องประกอบอาชีพประมงเพื่อเลี้ยงชีพและไม่มีอาชีพอื่นให้ทำในท้องถิ่นนั้น (เช่นบริเวณชายทะเลที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้) พุทธศาสนาก็อนุโลมให้เจ้าตัวพิจารณาเองว่าจะจัดการกับชีวิตตนเองอย่างไร ถ้าเจ้าตัวเขาเห็นว่าต้องทำไม่เช่นนั้นจะอดตายก็ทำได้ แต่พุทธศาสนาก็ยังยืนยันว่าการทำประมงนั้นเป็นบาป และชาวประมงก็ต้องรับกรรมที่กระทำนั้นในอนาคต การต้องทำบาปไม่เช่นนั้นจะอดตายพุทธศาสนาก็ยังถือว่าไม่พ้นความผิด ในขณะที่ศาสนาฮินดูอาจจะมองว่าการทำประมงเป็นหน้าที่ ถ้าไม่มีชาวประมงเราก็ไม่มีปลากิน ดังนั้นการทำประมงจึงไม่ผิด แต่การตกปลาเพื่อความสนุกสนานโดยไม่มีหน้าที่รองรับต้องถือว่าผิด

          ธรรมตามทัศนะของศาสนาไชนะ คือ การงดเว้นที่จะไม่เบียดเบียนผู้อื่น หลักการนี้เรียกว่าหลักอหิงสา และผู้อื่นในที่นี้ศาสนาไชนะก็ตีความกว้างมากโดยครอบคลุมมนุษย์ สัตว์ พืช และแม้แต่สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติเช่นแม่น้ำ ป่าเขา อากาศ ศาสนาไชนะมีจริยธรรมที่เคร่งครัดมากกว่าทุกศาสนาในอินเดีย นักบวชในศาสนานี้จะได้รับการสั่งสอนให้พยายามเลี่ยงการเบียดเบียนชีวิตอื่น จึงมีนักบวชในนิกายหนึ่งของศาสนานี้ไม่สวมเสื้อผ้าเพราะคิดว่าเสื้อผ้าก็มาจากชีวิตผู้อื่น การกินอาหารก็พยายามระวัง ไม่ให้ทำร้ายใคร นักบวชไชนะไม่กินเนื้อสัตว์อยู่แล้ว แม้พืชที่กินก็พยายามกินพืชประเภทที่เราไม่ต้องทำลายมันทั้งชีวิตเพื่อเอามาเป็นอาหาร กรณีตัวอย่างที่ตั้งเป็นคำถามข้างต้นนั้นศาสนาไชนะเห็นด้วยกับพุทธศาสนาว่าต้องถือว่าผิด แต่ศาสนาไชนะก็เคร่งกว่าพุทธศาสนาตรงที่ไม่สอนให้ผ่อนปรน คนดีตามทัศนะศาสนานี้พร้อมจะทำตนให้ลำบากมากกว่าที่จะทำร้ายผู้อื่น ดังนั้นศาสนานี้น่าจะแนะให้ชาวประมงเลิกจับปลาแล้วหาอาชีพอื่นทำ ถ้าทำแถวนั้นไม่ได้ก็ควรย้ายไปอยู่ที่อื่น

 

          ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นการพิจารณาศาสนาของอินเดียจากประเด็นการตัดสินค่าทางจริยธรรม ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นคือประเด็นว่าอะไรคืออุดมคติสูงสุดของชีวิต อันที่จริงประเด็นนี้อาจถือได้ว่าสำคัญกว่าประเด็นแรกเสียด้วยซ้ำ หากเราคิดว่าแนวความคิดทางปรัชญาและศาสนาของอินเดียนั้น โดยภาพรวมล้วนมุ่งแสวงหาว่า อะไรคือจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตด้วยกันทั้งสิ้น

          เราอาจแบ่งปรัชญาและศาสนาของอินเดียออกเป็นสองพวกในเรื่องที่กำลังกล่าวอยู่นี้ คือ

(๑) พวกที่เห็นว่าเป้าหมายสูงสุดของชีวิตคือการแสวงหาความสุขทางประสาทสัมผัสใส่ตน ปรัชญาที่มีแนวคิดนี้คือปรัชญาจารวาก
(๒) พวกที่เห็นว่าความหลุดพ้นไปจากความทุกข์ อันเนื่องมาจากการต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ คือเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ศาสนาที่เห็นในแนวนี้ก็คือศาสนาโดยทั่วไปของอินเดียอันได้แก่ศาสนาฮินดู พุทธศาสนา และศาสนาไชนะที่เรากล่าวถึงมาแล้ว

          ปรัชญาจารวากนั้นไม่เชื่อว่ามีชีวิตหลังความตาย ไม่เชื่อว่ามีวิญญาณที่จะล่องลอยไปเกิดใหม่หลังจากที่คนเราตายแล้ว เมื่อไม่เชื่ออย่างนี้เลย ทำให้คิดว่าการที่คนเรามีโอกาสได้เกิดมาดูโลกในช่วงระยะเวลาราว ๗๐ ปีโดยประมาณนี้ต้องถือว่าเป็นโอกาสที่สำคัญ ตายไปแล้วไม่แน่ว่าเราจะได้เกิดอีกหรือไม่ เมื่อไม่แน่ใจ เราจะอุทิศชีวิตให้แก่อะไร ระหว่างความสุขที่สามารถจับต้องได้แน่ ๆ ในชาตินี้กับความหลุดพ้นที่ศาสนาต่าง ๆ ของอินเดียสอนอยู่ในเวลานั้น สำหรับปรัชญาจารวากการเลือกที่ฉลาดก็คือการเลือกสิ่งที่จับต้องได้และแน่นอนว่ามีตัวตนอยู่จริง ๆ

          ปรัชญาจารวากคิดว่าคนที่เข้าใจชีวิตก็คือ คนที่รู้จักตระเตรียมตัวเองเพื่อให้สามารถมีความสุขในโลกนี้ การตระเตรียมที่ว่านี้ก็เช่นเมื่อเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น เป็นหนุ่มสาวก็ต้องรู้จักขวนขวายเรียนหนังสือ เมื่อเรียนจบแล้วก็รู้จักทำงานสร้างเนื้อสร้างตัว มีคนรัก แต่งงาน และรู้จักใช้เงินทองที่หามาได้นั้นซื้อหาความสุขใส่ตัว ความสุขในที่นี้ปรัชญาจารวากแบ่งออกเป็นหลายระดับ ตั้งแต่สุขหยาบ ๆ เช่นสุขจากการกินดื่มไปจนถึงสุขที่ประณีตเช่นการมีครอบครัวมิตรสหายที่อบอุ่น โดยสรุป ปรัชญาจารวาก ไม่เชื่อเรื่องสวรรค์ที่เราจะได้ไปพบหลังจากตายแล้ว อย่างที่ศาสนาทั้งหลายในอินเดียสอน แต่เชื่อว่าหากจะมีสวรรค์ สวรรค์นั้นก็อยู่ในโลกนี้แหละ เรานั่นเองที่จะเป็นผู้สร้างสวรรค์ให้แก่ตนเอง หาใช่ใครไม่

          ศาสนาฮินดู พุทธ และไชนะไม่คิดว่าความสุขทางกายในโลกนี้จะเป็นสิ่งสำคัญ พุทธศาสนาวิจารณ์ว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่เรียกว่าความสุขของมนุษย์นั่นล้วนแล้วแต่แฝงความทุกข์อยู่ด้วยเสมอ ขณะมีความรัก เราอาจคิดว่าชีวิตเป็นสุข แต่วันหนึ่งเมื่อคนที่เรารักต้องแยกทางจากเราไป หรือตายจากเราไป เราจะพบว่าท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่เป็นความจริงของชีวิตหาใช่ความสุขไม่ หากแต่คือความทุกข์ต่างหาก พระพุทธเจ้าสอนว่าเราแต่ละคนท้ายที่สุดแล้วก็ต้องเดินทางเข้าหาความตายอย่างโดดเดี่ยวเพียงลำพังทั้งสิ้น ขณะที่เรานอนรอความตายอยู่บนเตียงในโรงพยาบาลนั้น ใคร ๆ ก็ช่วยอะไรเราไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นคนรักเราเช่นสามี ภรรยา ลูก พ่อแม่ หรือมิตรสหาย เราแต่ละคนจะต้องเดินเข้าไปหาความตายที่มืดมิดนั้นเพียงลำพัง เมื่อสัจธรรมของชีวิตเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ฉลาดน่าจะได้แก่การเตรียมตัวเดินทางเข้าสู่ความตายอย่างผู้มีปัญญา พุทธศาสนาและศาสนาโดยทั่วไปในอินเดียเชื่อว่าการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้เป็นเรื่องชั่วคราว เรายังมีชีวิตที่จะต้องสืบต่อไปอีกยาวนานหลังจากที่เราตายแล้ว พุทธศาสนานิกายวัชรยานของทิเบตกล่าวว่าความตายก็เหมือนช่วงพระอาทิตย์ตก พระอาทิตย์ไม่ได้หายไปไหน แต่รอเวลาที่จะกลับมาอีกครั้ง การมุ่งหาความสุขในโลกนี้จะทำให้เราไม่รู้จักตระเตรียมตัวเพื่อเผชิญหน้าโลกหลังความตาย ในโลกหลังความตายนั้นมีสุขที่ดีกว่าประณีตกว่าสุขในโลกนี้อย่างไม่อาจเทียบกันได้ คนฉลาดคือคนรู้จัดอดเปรี้ยวไว้กินหวาน พวกจารวากนั้นคือพวกไม่รู้จักรอสิ่งดีกว่าที่จะมาถึง

          แม้ว่าพุทธศาสนาจะเน้นเรื่องโลกหน้า แต่ก็มีความคิดว่าขณะที่อยู่ในโลกนี้เราก็สามารถมีความสุขได้ในบางระดับ แต่สุขที่พุทธศาสนาสอนไม่ใช่สุขทางกายอย่างที่ปรัชญาจารวากสอน พุทธศาสนาคิดว่าการรู้จักกินดื่มหาความสุขใส่ตัวนั้น สัตว์เดรัจฉานมันก็รู้จักทำเท่าที่สติปัญญาของมันจะเอื้ออำนวย ถ้ามนุษย์เราเกิดมาเพียงเพื่อหาสุขใส่ตัว เราก็คงไม่ประเสริฐกว่าสัตว์ พุทธศาสนาคิดว่าเราควรใช้ชีวิตอย่างผู้ประเสริฐ อะไรทำให้เราเป็นผู้ประเสริฐ คัมภีร์พุทธศาสนาตอบว่าธรรม ธรรมในที่นี้ก็คือการรู้จักใช้ปัญญาไตร่ตรองว่าอะไรคือแก่นสารของความเป็นคน เด็กสาวหรือเด็กหนุ่มที่เอาแต่แต่งตัวและสนใจแต่หน้าตาตัวเอง ว่าจะเป็นที่พึงใจของเพศตรงข้ามหรือไม่ ตามหลักพุทธศาสนายังไม่ถือว่าเข้าใจชีวิต เราอาจจะสนใจตัวเองก็ได้เพราะเรายังเป็นปุถุชน แต่ก็ควรสนใจเรื่องที่ประเทืองสติปัญญาอันไม่เกินกว่าวัยของเราที่จะเข้าใจด้วย นอกจากนี้พุทธศาสนาก็เสนอว่า การศึกษาควรเตรียมเยาวชนให้เป็นผู้รู้จักแยกแยะว่าอะไรคือความจริงความลวงด้วย ยิ่งในโลกสมัยใหม่ที่ระบบการโฆษณาสินค้าพยายามยั่วยุให้เราแยกไม่ออกระหว่างสองสิ่งนี้ การศึกษาชนิดนี้ยิ่งจำเป็นมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

          สังคมไทยปัจจุบันรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกมาเป็นแบบ ทำให้วัฒนธรรมที่อยู่ใกล้ ๆ กับเรานี้คือวัฒนธรรมอินเดียถูกมองข้ามไป พุทธศาสนาและศาสนาฮินดูนั้นยังมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมไทยอยู่ แม้จะอ่อนกำลังลงไปมาก แต่สิ่งนี้ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมอินเดียยังมีรากที่หยั่งลึกพอสมควรในสังคมเรา เมื่อเรารับวัฒนธรรมอินเดียมานั้น เราได้พยายามปรับให้เป็นไทย และเราก็ปรับได้มากทีเดียวดังจะเห็นได้จากการที่พุทธศาสนาอย่างไทยนั้น ต่างไปจากพุทธศาสนาอย่างอินเดียและอย่างลังกาพม่าเป็นต้น การที่เรามีทุนทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงไปหาอินเดียอยู่นี้ อาจทำให้เป็นเงื่อนไขที่ดีที่เราจะลองพิจารณาศึกษาวัฒนธรรมอินเดียในแง่ใหม่ ๆ บ้าง ประเทศอินเดียนั้นคนไทยไม่น้อยได้ยินชื่อแล้วก็ร้องยี้ แต่เราคงไม่ลืมไปว่าประเทศอินเดียมีกวีที่ได้รางวัลโนเบลมาแล้ว นักวิทยาศาสตร์ของอินเดียก็ได้รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์มาแล้ว นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลคนล่าสุดที่ชื่อ Amartya Sen นั้นก็คนอินเดีย ก่อนหน้านั้นเราอาจไม่รู้ว่านักคณิตศาสตร์คนสำคัญของโลกคนหนึ่งก็เป็นคนอินเดีย ท่านผู้นี้คือรามานุชัน (Ramanujan) ซึ่งตามประวัติเป็นเด็กยากจนไม่ได้เรียนหนังสือมากเพราะครอบครัวยากจนอยู่ในกระท่อมดินหลังเล็ก ๆ ศาสตราจารย์คณิตศาสตร์ชาวอังกฤษบังเอิญไปพบและเห็นแววอัจฉริยะ จึงพาไปเรียนมหาวิทยาลัยที่อังกฤษ แล้วความเป็นอัจฉริยะก็แสดงออกจริง ๆ ท่านผู้นี้ได้เสนอทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ที่สำคัญหลายเรื่อง เลข ๐ ที่เป็นตัวเลขที่ปฏิวัติความก้าวหน้าทางคณิตศาสตร์ของโลกอย่างขนานใหญ่นั้น ก็มาจากการสร้างสรรค์ของชาวฮินดูโบราณ ตัวเลขในโลกนั้นมีอยู่สองระบบหรือเลขโรมันกับเลขฮินดูอารบิค เลขโรมันไม่มีเลขศูนย์ คณิตศาสตร์ของโรมันจึงไม่ก้าวหน้า พอชาวอาหรับนำเลขศูนย์ของอินเดียไปเผยแพร่ในโลกตะวันตก ก็เกิดการปฏิวัติอย่างใหญ่หลวงในทางคณิตศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ที่ก้าวหน้ามากในยุคนี้ก็มาจากการมีเลข ๐ นั่นเอง ถ้าปราศจากเลขตัวนี้ อะไร ๆ ก็คงไม่ก้าวมามากขนาดนี้ เลข ๐ นี้คนอินเดียเป็นคนคิดค้น

          การเรียนรู้วัฒนธรรมอินเดียสำหรับคนไทยคงไม่ใช่เพื่อลอกเลียนแบบอินเดีย หรือรับอินเดียมาทั้งหมดโดยไม่มีวิจารณญาณ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ก็จะไม่ต่างจากการรับวัฒนธรรมตะวันตกมาอย่างไม่พิจารณา อย่างที่เรากำลังวิจารณ์กันมากในปัจจุบัน การศึกษาวัฒนธรรมอินเดีย ควรเน้นที่การดูว่า อะไรคือแก่นสารของความคิดแบบอินเดีย แก่นสารที่ว่านี้แต่ละคนอาจมองเห็นไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเรามองเห็น เราก็อาจมองเห็นช่องทางต่อไปว่าเราจะสร้างสิ่งที่เรียกว่า แก่นสารความเป็นไทยได้อย่างไร เราเองควรมีแก่นสารแบบไทย และแก่นสารแบบไทยนี้เองที่จะช่วยให้เรากล่าวได้ว่าเราเป็นชาติอารยะ.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๘๘๗๕
... e-mail :