เสขิยธรรม
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๘

ปฏิกิริยา

พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ
ปรับปรุงจากการตีพิมพ์ครั้งแรกใน นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๓ ก.ย. ๒๕๔๖

ภาพสะท้อน..

ข่าวเล็กๆ หลายข่าวในระยะที่ผ่านมา บอกย้ำถึงความเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปทางสังคม ศาสนา และวัฒนธรรม ได้ไม่น้อย ดังเช่น ข่าวเจ้าหน้าที่สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน และเจ้าหน้าที่กรมการศาสนา เข้าจับกุมพระเณรต่างด้าว ที่เข้ามาศึกษาพระธรรมและอาศัยอยู่ในวัดหนองแขม โดยไม่มีหลักฐานการเข้าเมือง ตามที่ได้รับแจ้งจาก เจ้าคณะจังหวัดกรุงเทพฯ โดยมีพระ ๓๘ รูป เณร ๒๐ รูป เป็นชาวพม่า ๕๖ รูป และเขมร ๒ รูป ซึ่งหลังการตรวจสอบพบว่า ทั้งหมดไม่มีเอกสารยืนยันการเข้าเมืองตามกฎหมาย จึงประสานเจ้าคณะอำเภอ ให้มาทำการสึก พร้อมกับนำตัวไปสตม. เพื่อเตรียมผลักดันส่งกลับประเทศ ทั้งยังแจ้งข้อหาหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายกับผู้ต้องหาทั้งหมด

          พระที่ถูกจับกุมรูปหนึ่งกล่าวว่า ตนเป็นชาวมอญ บ้านเกิดอยู่ที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี แต่ไม่มีบัตรประชาชนไทย มีเพียงบัตรพื้นที่เท่านั้น เมื่อ ๘ ปีก่อนบวชอยู่ที่วัดวังวิเวการาม กาญจนบุรี เมื่อ ๓ ปีที่แล้วเดินทางเข้ามาศึกษาพระธรรมต่อที่วัดหนองแขม ซึ่งเป็นโรงเรียนปริยัติธรรม และพักอาศัยอยู่ที่วัดแห่งนี้ การเข้ามาศึกษาจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาส พร้อมทั้งต้องมีหนังสือสุทธิ ที่แสดงว่าเป็นพระจริง จึงจะได้รับอนุญาต ทั้งนี้จะต้องเสียค่าประกันในการเข้ามาอยู่ในวัดเป็นเงิน ๕๐๐ บาท และต้องเสียค่าน้ำค่าไฟเอง

          "ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมาจับสึกกันด้วย ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำความเดือดร้อนใด ๆ เพียงแค่มาศึกษาพระธรรมเท่านั้น ไม่ได้ฆ่าคนตาย" พระรูปดังกล่าวระบุ (คม ชัด ลึก ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๖)

 

สำหรับสังคมสมัยใหม่ การหลบหนีเข้าเมือง ย่อมต้องถูกดำเนินคดีตามโทษานุโทษ เช่นเดียวกับการละเมิดอาญาแผ่นดินอื่น ๆ เพราะรัฐชาติทั้งหลาย ต้องปกปักรักษาผลประโยชน์ของตนอย่างเต็มที่ มิให้ผู้มิใช่สมาชิกเข้ามาแย่งชิงแบ่งใช้ โดยตนมิได้อนุญาต ต่างจากสังคมเก่า หรือชนเผ่าในวิถีชีวิตดั้งเดิม ที่ “พรมแดน” และ “ผลประโยชน์เฉพาะอาณาเขต” ดูจะเป็นเรื่องนอกเหนือความสนใจ

          และหากย้อนกลับไปในอดีต ภิกษุสามเณร ก็เป็นอีกกลุ่มชนหนึ่ง ซึ่งแม้อยู่อาศัยในอาณาจักรใดๆ แต่มัก “ข้ามพรมแดน” ไปมาอยู่เสมอ ดังเหล่าธรรมทูตจากชมพูทวีป ที่เดินทางเผยแผ่ศาสนธรรมไปทุกทิศ หรือครูบาอาจารย์ฝ่ายกัมมัฏฐานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสยามในอดีต ครั้งยังเป็นพระหนุ่มเณรน้อย ก็ล้วนเคยข้ามลำน้ำโขงไปศึกษาและปฏิบัติธรรมในฝั่งลาว หรือท่านผู้ประสงค์ในอิทธิฤทธิ์ ที่พากันข้ามแดนไปเรียนคาถาอาคมถึงถิ่นเขมร ตลอดจนพระผู้ใหญ่บางท่านที่ออกไปเรียนคัมภีร์, พระสูตร และสมาธิภาวนาแบบยุบหนอพองหนอในพม่า หรือแม้แต่การออกแสวงหาโมกขธรรม จาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพร ของพระธุดงค์ทั้งหลาย เป็นต้น

          ต่างกันก็เพียง ในอดีตหากมีพระต่างถิ่นมาเรียนรู้ ณ บ้านเมืองใด ก็นับกันว่าเป็นศักดิ์และศรีของดินแดนนั้น โดยชนชั้นนำตลอดจนไพร่บ้านพลเมืองมีแต่จะต้องดูแลเอาใจใส่ อำนวยความสะดวกให้ท่านตามอัตภาพ

 

แม้รูปแบบและวิถีชีวิตของพระภิกษุสามเณรในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาล แต่ก็มีไม่น้อย ที่ยังถือเอาวิถีที่ครูบาอาจารย์เคยปฏิบัติเป็นแบบอย่าง ดังจะพบว่ายังมีพระป่านักกัมมัฏฐานออกเดินจาริกนอกพรรษากาลอยู่เสมอมิได้ขาด จึงไม่น่าแปลกใจนัก ที่คำพูดของพระมอญข้างต้น จะสะท้อนให้เห็นถึงความสับสนสงสัยต่อสิ่งที่ตนประสบ ว่าเหตุใดเพียงเข้ามาเรียนพระธรรม จึงต้องถูกจับสึกราวกับไปฆ่าคนตาย

          สิ่งที่ต้องประหลาดใจ กลับเป็นท่าทีของผู้รับผิดชอบฝ่ายสงฆ์ ที่ทั้งเข้าแจ้งความและนำกำลังเจ้าหน้าที่มาจับกุมพระเล็กพระน้อย โดยไม่รับฟังคำชี้แจงหรือร้องขอใด ๆ เสียมากกว่า ว่าเพราะเหตุใด จึงสนองนโยบายรัฐ จนต้องบังคับจับสึกพระ ทั้งที่โดยวินัยสงฆ์การข้ามแดนเช่นนี้ มิใช่ความผิดขั้นร้ายแรงนัก และอาจมีทางออกได้ ด้วยวิธีที่เอื้อเฟื้อต่อการรักษาสถานภาพภิกษุ เช่น เสนอให้ส่งตัวพระเณรเหล่านั้นกลับประเทศ โดยอาศัยหลักรัฐศาสตร์ แทนที่จะใช้มาตรการทางกฎหมายอันแข็งกร้าว ราวกับพระเณรเหล่านั้นเป็นอาชญากร

 

ดูราวกับว่าเรายินดีจะใช้ความรุนแรงรูปแบบต่าง ๆ เข้ากดขี่ข่มเหงต่อวัฒนธรรมเก่าแก่ หรือวิถีชีวิตเดิม ๆ โดยมิได้พิจารณาให้รอบด้านยิ่งขึ้นทุกขณะ หากกลับประนีประนอมต่อความเปลี่ยนแปลงอันเลวร้ายชนิดใหม่ ๆ อย่างไม่สิ้นสุด และปราศจากความยับยั้งชั่งใจยิ่งขึ้นทุกที ขณะที่ระบบคุณค่าทางศีลธรรมถูกตีความใหม่ และการบริโภคเพื่อเสพสุข ตลอดจนความประพฤติชั่วหยาบ กลับถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นความถูกต้อง น่าพึงใจ และดีงามไปเสียแทบทั้งสิ้น ทั้งที่เคยเป็นสิ่งน่ารังเกียจ หรือต้องหลีกหนีให้ห่างไกลมาแต่เดิม

          เราจึงมีโอกาสได้พบเห็น ข่าวการปราบหวยเถื่อน ด้วยการให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลออกหวย ๒ ตัว ๓ ตัว มาขายเสียเอง มิหนำซ้ำ ยังแสวงหาความชอบธรรม ด้วยการมอบเงินกำไรส่วนหนึ่งของ “เงินหวย” ที่รัฐบาลเป็นเจ้ามือ ให้เป็นทุนการศึกษาแก่เด็กยากจนและด้อยโอกาส โดยบังคับกลาย ๆ ให้เด็กเหล่านั้นเขียนเรียงความบอกเล่า “เรื่องจริง” เกี่ยวกับชีวิตของตน ซึ่งแสดงถึงความยากจน และปัญหาต่าง ๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน แลกกับทุนการศึกษา จำนวน ๒๐,๐๐๐ ทุน เป็นเงินทั้งสิ้นกว่าสองร้อยล้านบาทต่อปี โดยแทบไม่มีใครตั้งคำถามเลยว่า จะเกิดอะไรขึ้น กับฐานคิดทางจริยธรรมของเด็กและเยาวชนจำนวน ๒๐,๐๐๐ คน ที่ได้รับทุนเนื่องด้วย “อบายมุข” มาอุดหนุนการศึกษา และความก้าวหน้าในชีวิต

มีข่าวผู้ใหญ่ในบ้านเมืองของเราบางคนด่าว่าเด็กและเยาวชน ผู้ใช้กำลังและอาวุธเข้าทะเลาะเบาะแว้งกัน ว่ามีสมองน้อย ไร้คุณภาพ และโง่กว่าควาย แต่ขณะเดียวกัน ทิศทางการบริหารประเทศของ “ผู้ใหญ่” ในประเทศของเรา กลับพร้อมจะออกนอกลู่นอกทางธรรม เพียงเพื่อความเติบโตทางเศรษฐกิจและผลประกอบการอันคำนวณนับความสำเร็จด้วยตัวเลขและ ตัวเงินเป็นด้านหลัก โดยมิได้ใส่ใจถึงผลกระทบใด ๆ ที่จะตามมา

          เราตื่นตระหนกและกริ่งเกรงว่าเด็ก ๆ ที่สักยันต์มหาอุตม์กับพระบ้านนอก จะเกิดอันตรายและผลกระทบนานาชนิด ขณะที่ปล่อยให้ดาราลูกครึ่งและหนุ่มสาวชาว--กรุง อวดลายสักสมัยใหม่หรือ รอยกรีดสร้างแผลเป็นที่เรียกทับศัพท์ว่า “สการ์” (คม ชัด ลึก ๒๕ ก.ย. ๔๖) กันอย่างเปิดเผย ทั้งยังมัวเมาอยู่กับความฟุ้งเฟ้อนานาประเภท โดยผู้รับผิดชอบมิได้แก้ไขสิ่งใดอย่างจริงจัง มากไปกว่าจับตรวจปัสสาวะ

          เรามีผู้นำที่ปรารถนาจะเป็นหัวขบวนในภูมิภาค แต่ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติต่อประชาชนผู้ยากแค้นและประสบภัยจากประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนผู้ด้อยโอกาสในถิ่นตนเอง ราวกับเขาและเธอเหล่านั้นมิใช่มนุษย์ มิหนำซ้ำ ยังหันไปคบค้ากับผู้นำเผด็จการ และยินยอมให้มหาอำนาจครอบงำนโยบายบางด้านอย่างไร้ศักดิ์ศรี และปราศจากจุดยืนด้านคุณธรรม

          หรือนี่คือภาพสะท้อนวิกฤตการณ์อันมิอาจแก้ไข และไม่จำเป็นต้องมีคำอธิบาย…

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๘๘๗๕
... e-mail :