เสขิยธรรม
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๗
คิดคนละมุม
ไมเคิล ไรท์
คอลัมน์ ฝรั่งมองไทย มติชนสุดสัปดาห์
ฉบับ วันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๓ ฉบับที่ ๑๑๙๒ หน้า ๔๒

 

ขอคุยกับ อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ หน่อย

 

ผมเคยได้ยินได้อ่านใครว่า อาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็น “สุภาพบุรุษอังกฤษคนสุดท้าย” (The Last English Gentleman)

          ผมไม่เชื่อ

          อาจารย์คึกฤทธิ์เป็นอัจฉริยบุคคลไร้เทียมทาน (Unigue Genius) และอาจจะเป็นนักเลงแท้ (แปลเป็นอังกฤษไม่ได้) คนสุดท้ายของไทย แต่ท่านไม่เคยเป็น Gentleman ตามความหมายเฉพาะของชาวอังกฤษ

          ในสายตาผม อาจารย์ ส. ศิวรักษ์ ต่างหากที่เป็นสุภาพบุรุษอังกฤษสมบูรณ์แบบ

          ท่านจะเป็นคนสุดท้าย ผมไม่ทราบ แต่คนพรรค์นี้เหลือไม่มากในยุคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ประเทศอังกฤษ

          ท่านผู้อ่านเชื่อไหมว่า ท่าน ส. กับผมรู้จักกันมาสี่สิบปีเต็ม ๆ แต่ไม่เคยจับเข่าคุยกันอย่างจริงจังแม้ครั้งเดียว ?

          มันไม่จำเป็น เพราะเรารู้ใจกันตั้งแต่พบกันเป็นครั้งแรก

          ท่านเจ้านายที่ไปเรียนอังกฤษตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ มักเรียนตามโรงเรียนเจ้านาย (Public Schools เช่น Rugby, Harrow, Eton) ที่เน้นกษัตริยธรรม คือวิชาการปกครอง และการใช้อำนาจเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและผลประโยชน์ของชนชั้นบน

          โรงเรียนเหล่านี้เป็นที่เพาะนักปกครองอาณานิคมตลอด ค.ศ.ที่ ๑๙ และครึ่งแรกของ ค.ศ.ที่ ๒๐

          แต่ท่าน ส. เข้าเรียนที่ St.David’s College, Lampeter, ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับลูกชนชั้นสูงจริง แต่เป็นของศาสนาจักร คริสต์นิกายอังกฤษ (Anglican) ฝ่ายเสรีนิยม ที่มีหลักสูตรสอนนักเรียนให้รักความจริงและความเป็นธรรม เข้าข้างคนที่ถูกรังแก (Side with the Underdog) และกษัตริยธรรมที่ว่าคนสูงศักดิ์ต้องเสียสละเพื่อประโยชน์ของคนอื่น (Noblesse oblige) กล้าพูดความเป็นจริงและกล้าต่อสู้เพื่อความถูกต้อง

          คุณธรรมเหล่านี้ไม่ได้เป็นของคริสต์ศาสนาหรืออังกฤษ แต่เป็นของสากลแท้ ๆ ที่ขงจื๊อ และศากยมุนีเคยสอนมาแต่ก่อน

          ผมเห็นว่า ท่าน ส. ได้ปฏิบัติตามค่านิยมเหล่านี้ตลอดมา จึงนับได้ว่าเป็นสุภาพบุรุษในความหมายที่ถูกต้อง (หรืออย่างน้อยก็เข้าใกล้ความเป็นสุภาพบุรุษเท่าที่จะทำได้ในกลียุคนี้)

          แล้วผมจะหาเรื่องทะเลาะถกเถียงกับอาจารย์สุลักษณ์ได้อย่างไร ?

          ที่ท่านส่งเสริมการศึกษาพุทธธรรมอย่างถูกต้อง และการปฏิบัติตามนั้น ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง

          แต่ที่ท่าน ส. เสนอว่า พุทธธรรมเป็น “คำตอบ” สำหรับปัญหาปัจจุบัน ทั้งปัญหาวัฒนธรรม, เศรษฐกิจ, สังคม และการเมืองนั้น ผมแทบไม่เชื่อหู

          ความคิดแบบนี้น่ารัก, น่าปรารถนา, น่าเคารพ แต่เป็นไปไม่ได้

          ผมเชื่อว่า ศากยมุนีเป็นยอดจิตแพทย์คนแรกของโลก ที่มียาวิเศษแก้ทุกข์และสร้างสุขภาพจิตในระดับบุคคล ว่าอีกนัยท่านเบิกทาง (มรรค) จากความเจ็บ (ทุกข์) สู่นิโรธ (ความหลุดพ้น)

          นอกนี้ท่านศากยมุนียังมีคำสอนเกี่ยวกับวัฒนธรรม, เศรษฐกิจ, สังคม และการเมือง แต่เป็นคำสอนเกี่ยวกับวัฒนธรรม, เศรษฐกิจ, สังคม และการเมือง ในอินเดียเหนือเมื่อ ๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาลหรือเกิน ๒,๕๐๐ ปีก่อนปัจจุบัน

          ขอชวนให้ดูความคิดของศากยมุนีในบริบทประวัติศาสตร์ :–

 

พุทธธรรมยุคเบื้องต้น

          ท่านศากยมุนี (นักปราชญ์แห่งเผ่าศากยะ) ดำเนินชีวิตในยุคไล่เลี่ยกับท่านขงจื๊อของจีนและบรรดา “ศาสดาพยากรณ์” (Prophets) ของชาวยิว

          “ขงจื๊อ เป็นนักปราชญ์ในยุคเหล็กตอนต้นของจีน ที่สอนคุณธรรมความดีที่เคยมี (หรือเพ้อฝันว่าเคยมี) ในยุคสำริด กษัตริย์จีนทั้งหลายแข่งกันเชิญขงจื๊อมาเยือนเพื่อแสดงธรรม แต่ในที่สุดขงจื๊อผิดหวังเพราะไม่มีกษัตริย์องค์ใดเอาเยี่ยงอย่าง

          บรรดาศาสดาพยากรณ์ เกิดในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อที่ชาวยิวกำลังเปลี่ยนจากสังคมพเนจร (มีความเสมอภาคเกื้อกูลแก่กัน) มาเป็นสังคมเมือง (มีชนชั้น หมดความเอื้ออารีแก่กัน) ศาสดาพยากรณ์ต่างสาปแช่งสังคมเมืองที่มีความเลื่อมล้ำ และชวนชาวยิวให้หันกลับไปอยู่กันด้วยคุณธรรมที่เคยมีมาแต่เดิม คนส่วนหนึ่งเห็นด้วยแต่ส่วนใหญ่ไม่ยอมทำตาม

          ศากยมุนีเกิดในยุคที่ชาวอินเดียเหนือกำลังเปลี่ยนจากสังคมเผ่าที่มีความเสมอภาค ไม่ครองที่ดินจึงไม่มีเจ้าของที่ดิน และหัวหน้าเผ่า (สมมุติราช) มาจากการเลือกตั้ง (Primitive Democracy) มาตั้งกันเป็นบ้านเป็นเมือง หรือ “รัฐ” คือสังคมที่มีชนชั้น (วรรณะ) มีเจ้าของที่ดินและคนไม่มีที่ดิน และกษัตริย์ที่สืบทอดตระกูลมา (สุริยพงศ์)

          ศากยมุนีปฏิเสธ (ปฏิรูป ? ปฏิวัติ ?) โครงสร้างสังคมใหม่นี้ โดยไม่รับรู้หรือนับถือชนชั้น (วรรณะ) และก่อตั้งสังคมของท่านที่เรียกว่าสังฆะหรือสงฆ์ (“สงฆ์” ตามรากศัพท์ไม่ได้หมายถึง “พระ” แต่หมายถึง “หมู่คณะ” หรือ “เผ่า”)

          ลักษณะพิเศษของสังฆะของพระพุทธองค์คือ

          ๑) ปกครองกันเองด้วยมติของที่ประชุม (Primi-tive Democracy)

          และ ๒) สละทรัพย์สินหรือใช้ปัจจัยร่วมกัน (Primitive Communism) ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตสมัยที่ยังอยู่กันแบบเผ่า

          ขออภัยอาจารย์สุลักษณ์ที่ผมอธิบายกำเนิดพุทธศาสนายืดเยื้อเช่นนี้ ท่านอาจารย์ต้องรู้เรื่องนี้ลึกกว่าผมเป็นไหน ๆ แต่อีกหลาย ๆ คนที่เข้าใจผิดว่าพุทธศาสนาเป็น “สิ่งสำเร็จรูปลอยตัว” ไม่นึกไม่คิดเลยว่ามีบริบททางประวัติศาสตร์ปรุงแต่ง

          ประเด็นของผมคือ ศากยมุนีได้พยายามแก้ปัญหาของสังคม ฯลฯ ในอินเดียของท่านเมื่อ ๒,๕๐๐ ปีที่แล้ว แต่จะใช้คำสอนของท่านมาแก้ปัญหาปัจจุบันได้อย่างไร ?

          ในยุคทุนนิยม บริโภคนิยม และโลกาภิวัตน์นี้ Primitive Democraey และ Primitive Commumism ใช้งานไม่ได้แล้ว

          มนุษยชาติเดินทางมาไกลมากจนไม่มีทางหวนกลับไปอยู่กันอย่างสังคมเผ่า

 

ศาสนาในยุคหลังศาสดา

          ศาสนาทุกศาสนาเริ่มต้นเป็นงานปลดปล่อย ปฏิรูป ปฏิวัติ แต่สิ้นศาสดาแล้วไม่ช้าก็เร็วคำสอนของท่านถูกตัดแปลงให้เป็นเครื่องมือการปกครองของรัฐ ขงจื๊อกลายเป็นเสาหลักของจักรวรรดิจีน และคำสอนของเยซู (ศาสดาพยากรณ์คนสุดท้ายของชาวยิว) ถูกตัดแปลงเป็นเครื่องบังคับบัญชายุโรป พุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน ตั้งแต่พระเจ้าอโศกมหาราช พุทธศาสนากลายเป็นเครื่องมือการปกครองของรัฐ ดังปรากฏชัดเจนในประวัติศาสตร์ลังกา พม่า และสยาม

          แล้วเราจะนำเครื่องมือการปกครองของรัฐนี้มาใช้ในการปฏิรูป ปฏิวัติระบบการปกครอง หรือปลดปล่อยสังคมจากอำนาจตลาดบริโภคนิยมได้หรือ ?

          ผมเห็นว่าเป็นไปได้ยาก

 

ศาสนากับอำนาจ

          ศาสดาทุกคนเคยปล้ำกับปัญหาอำนาจว่าควรใช้อย่างไร และควรมีขอบเขตอย่างไร แต่ไม่เห็นมีใครมีคำตอบที่น่าพอใจจนใช้ได้ทั่วไปและตลอดกาล

          ปัญหาอำนาจนี้ดูเหมือนจะเป็นจุดอ่อนของพุทธศาสนา ถ้าเชื่อว่า เตมียชาดกเป็นพุทธพจน์ ก็ต้องเข้าใจว่าศากยมุนีเห็น “อำนาจ” เท่ากับ “บาป” ดังนี้ คนมีอำนาจย่อมเป็นคนชั่ว และคนดีต้องเป็นคนที่ไม่ใช้อำนาจ

          ตามหลักนี้ สฤษดิ์ ธนรัชต์ เป็นนักปกครองที่ดีเพราะใช้อำนาจอย่างไม่กลัวบาป ในขณะที่ อานันท์ ปันยารชุน เป็นนักปกครองที่เลวเพราะรู้จักละอายต่อบาป

          ถ้าถือการปกครองตามหลัก เตมียชาดก ก็เห็นว่ามีแต่คนชั่วเท่านั้นที่จะปกครองเมืองไทยได้ ส่วนคนดีควรสละอำนาจให้ไปปฏิบัติธรรมในป่าหิมวันต์

 

สุดท้ายนี้

          สุดท้ายนี้ ผมขอคารวะต่อ ท่านสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้เป็นทั้งสุภาพบุรุษและอัศวินที่สูญพันธุ์ไปแล้วในประเทศอังกฤษ ทั้งยังกราบเท้าในฐานะที่ท่านเป็นผู้รื้อฟื้นความเข้าใจพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง

          ขอชวนท่านให้วิริยะอุตสาหะอีกต่อไป ในการถางทางให้พุทธธรรมเป็นมรรคสำหรับทุกคนที่รู้ตัวว่ามีความทุกข์ และเป็นทางออกสำหรับคนที่หน่ายความเหลวไหลของสังคมบริโภคนิยม

          แต่คิดอย่างไร ผมไม่เห็นว่าพุทธศาสนาจะเป็นวิธีแก้ปัญหาวัฒนธรรม สังคม การเมือง หรือเศรษฐกิจของโลกปัจจุบัน

          คนที่มองโลกในแง่ดี (Optimists) เช่น อ.สุลักษณ์ และคุณหมอประเวศ เห็นพุทธศาสนาเป็นคำตอบ

          แต่คนมองโลกในแง่ร้าย (Pessimists) อย่างผม สงสัยว่าพุทธศาสนาอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา

          ปีนี้ท่านสุลักษณ์กำลังฉลอง ๗๐ ปี ขอให้ท่านมีอายุยืนอยู่กับเราอีกนานหลาย ๆ ปี จะได้เป็นไฟจี้คนคิดชั่ว และเป็นแสงสว่างนำทางคนหวังดีอีกต่อไป.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :