เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๗
บันทึกตู้หนังสือฯ
พิณผกา งามสม

ศาสนธรรมกับ...ชีวิตและสังคม

ถ้อยคำที่ทำให้ประโยคสมบูรณ์

 

ศาสนธรรมกับ...ชีวิตและสังคม
รำลึก ๙ ปีมรณกรรมพุทธทาสภิกขุ

สุวรรณา สถาอานันท์
บาทหลวงวิชัย โภคทวี
ประมวล เพ็งจันทร์
จรัญ มะลูลีม
สุเมธ โสฬศ

พิณผกา งามสม บรรณธิการ

จัดพิมพ์โดย โครงการรำลึก ทศวรรษแห่งการจากไป ของพุทธทาสภิกขุ
พิมพ์ครั้งที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๖
กระดาษปอนด์ ๑๗๖ หน้า ราคา ๘๐ บาท

 

ปัญญาดีแต่บารมีไม่ถึง...

          คำวิจารณ์ครึ่งชมครึ่งด่าจากเพื่อน ที่ฉันก็ไม่รู้ว่า เขาเข้าใจความหมายของมันแท้จริงแค่ไหน แต่ถ้า “ปัญญาดี” ที่ว่า หมายถึงการมีสมองที่ดีพอ สำหรับเรียนรู้สรรพวิชาอันซับซ้อนที่มีอยู่มากหลาย กับความสามารถที่จะทำความเข้าใจ “รหัส” ของถ้อยคำใหญ่ ๆ ที่มีอยู่มากมายไม่แพ้กัน

          และถ้า “บารมี” ที่ฉันมีไม่ถึง หมายถึง ความมีใจจดจ่อกระทั่งสามารถ “บรรลุถึง” เฉพาะบางสิ่งในบรรดาวิชาและถ้อยคำที่มีอยู่มากมายนั้น ก็คงไม่ใช่แต่ฉันคนเดียวเท่านั้นที่มีอาการดังที่ถูกวิจารณ์มา

          ในท่ามกลางยุคสมัย ซึ่งบรรจุความหลากหลายของคุณค่า จนกระทั่งดูเหมือนว่า อะไร ๆ ก็ “เท่ากันหมด” การเลือก “เชื่อ” บางอย่างดูเหมือนจะไม่ฉลาดนัก ฉะนั้นคนฉลาดทั้งหลายก็ควรเป็นผู้ชมอยู่ข้างนอก และปลีกตัวออกมาจากสิ่งที่เห็น วิพากษ์วิจารณ์ แล้วก็...ฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ

 

ท่าที VS วิถี...

          ในท่ามกลางภาวะที่ซับซ้อนของสังคมปัจจุบัน เราอาจมีการแสวงหาด้านจิตวิญญาณมากยิ่งและอาจมากจนล้นเกิน ทว่าสิ่งที่กลับถูกละเลยไปก็คือการแสวงหาวิถีที่เหมาะสม เมื่อเราคิดและทำความเข้าใจแล้วเรามักจะนึกเอาว่าเราเป็นในสิ่งที่เราคิดด้วย ในความเป็นจริงการคิดได้อาจไม่ได้นำพาเราไปสู่สิ่งใด ๆ เลยหากไม่เคยได้รับการตรวจทานโดยการปฏิบัติ เราอาจเพียงกำลังแสดงในสิ่งที่เราเชื่อว่าเราเป็น โดยมิได้เป็นเช่นนั้นจริง ขณะที่เราหาและให้ความหมาย เราอาจไม่ได้ทำสิ่งใดอีก นอกจาก...ฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ

 

ศาสนา กับคนหนุ่มสาว...

          ฉันเคยถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นว่าเขานับถือศาสนาอะไร คำตอบที่ได้รับคือ “ผมนับถือตัวเอง” ฉันเองก็ไม่รู้ว่ามีคนหนุ่มสาวอีกมากมายเพียงใดที่จะให้คำตอบเช่นเดียวกันนี้ “ตัวของฉัน คือศาสนาของฉัน” ถ้าเช่นนั้น ในอนาคตอันใกล้ จำนวนศาสนาก็คงมีเท่ากับจำนวนประชากรโลก

          นัยที่เร้นอยู่ก็คือ ศาสนาบรรดามีอยู่ในปัจจุบัน อาจไม่ใช่สิ่งกำกับวิถีชีวิตของคนรุ่นต่อไป

          อันที่จริง การตอบว่า “ตัวขอฉันคือศาสนาของฉัน” กำลังนำพาผู้คนหนุ่มสาวไปสู่ลัทธิเดียวกัน คือการบูชา ความสุข ความพอใจเฉพาะตนเองลำพัง จนกระทั่งไม่อาจรับรู้สิ่งอื่นที่ไกลกว่าตนเอง

          ในขณะที่มีความฉลาดเพียงพอที่จะเรียนรู้สรรพวิชาและรหัสแห่งถ้อยคำ ทว่าก็ไม่อาจรับรู้สิ่งที่ไกลไปกว่าตนเอง...“ปัญญาดี แต่บารมีไม่ถึง”

 

เชื่อบางสิ่ง ตอบบางสิ่ง อย่างจริงจัง...

          คนเขียนหนังสือล้วนเคยสัมผัสการรอคอย “คำ” ที่ทำให้ใจความสมบูรณ์ และทำให้ประโยคนั้นงามและพอดี โดยไม่อาจเติมถ้อยคำใดลงไปอีก หรือหาถ้อยคำอื่นใดมาแทน นั่นหมายความว่า อะไรๆ อาจไม่เท่ากันหมด คุณค่าบางอย่างไม่อาจแทนด้วยอีกบางอย่าง บางครั้งเราก็อาจต้องเลือกเชื่อบางอย่างบ้าง เพื่อให้เราก้าวเดินต่อไป ไม่ใช่หยุดนิ่งอยู่กับที่เพราะได้วิพากษ์วิจารณ์ไปแล้ว

          สิ่งที่ฉันเรียนรู้จากการทำหน้าที่บรรณาธิการหนังสือ อันมีใจความหลักอยู่ที่ศาสนธรรมก็คือการ “ต้อง” เชื่อ เพื่อกำหนดจังหวะก้าว

          ในท่ามกลางภาวะที่ซับซ้อนของสังคมปัจจุบัน โอกาสในการแสวงหาด้านจิตวิญญาณนั้น เหมือนจะมีมาก คุณค่าที่ให้เลือกเชื่อยิ่งมีมากเหลือเกิน กระทั่งเรา

ตถตา          ไม่รู้ว่าความมากนั้น หกนำพาเราไปสู่สิ่งเดียวกัน คือการไม่เชื่ออะไรเลย และไร้พลังอย่างที่สุด

          ฉันเรียนรู้ว่าเรา “ต้อง” เชื่อบางสิ่ง บางสิ่งที่เสมือนถ้อยคำที่ไม่อาจแทนด้วยถ้อยคำอื่นใด และเป็นถ้อยคำที่ทำให้ประโยคชีวิตของเราได้ใจความ สมบูรณ์ และงาม มิใช่เพียง ดำรงอยู่อย่างฉลาด มีความสุข ทว่า ไร้พลังอย่างที่สุด เป็นมนุษย์ชนิด “ปัญญาดี แต่บารมีไม่ถึง” .. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :