เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๗
ชีวิตแห่งการภาวนา
วดีลดา เพียงศิริ

ล้างพิษ ให้ จิตใจ

 

 

ตอนแรกฉันตั้งใจจะตั้งชื่อเรื่องว่า “ล้างพิษ ให้จิตฟุ้ง” แล้วให้ผู้อ่านทายกัน เล่น ๆ ว่ามันแปลไทยเป็นไทยว่ายังไงกันแน่
ก. จิตมัน “ฟุ้ง” เลยนำไปล้างพิษ เข้าทำนองล้างพิษในลำไส้
ข. อยู่ดีไม่ว่าดี ล้างพิษให้จิตมัน “ฟุ้ง” เล่น ๆ ซะเลย

          เหตุที่ฉันสนใจเรื่องจิตฟุ้ง ก็เพราะตัวเองมีเป็นกระตั้ก ด้วยปรุงมาตั้งแต่เด็ก เคยมีผู้สัมภาษณ์ว่า จำได้ไหมว่าแต่งเรื่องตั้งกะตอนไหน ฉันจำเป็นขวบเป็นปีไม่ได้ จำได้ว่า สมัยเด็กนั้นกลัวผีเหลือเกิน (สมัยนี้ยิ่งกลัวกว่า !!) ดังนั้นวิธีการเดียวที่จะมีองครักษ์พิทักษ์ผี (ตกลงช่วยคนหรือช่วยผี !) เข้าไปในส้วมด้วย ก็คือการเอานิทานเข้าหลอกล่อผู้ที่จะเข้าไปเฝ้า

          มีญาติผู้น้องคนหนึ่ง เดี๋ยวนี้เห็นหน้าเธอเมื่อไหร่ก็ขำเมื่อนั้น ก็น้องผู้หญิงคนนี้แหละที่เข้าไปร่วมอุดมการณ์ด้วยอย่างไม่ย่อท้อต่อรูป กลิ่น และเสียง ขอเพียงให้ฉันเล่านิทานที่แต่งขึ้นเองสด ๆ ร้อน ๆ ให้ฟังเป็นใช้ได้ ขณะเขียนนี่ สารภาพว่ารู้สึกคลื่นไส้เป็นที่ยิ่ง เพราะภาพนั้นตามมาหลอกหลอนชัดเจน

หัวใจ          นักเขียนไส้แห้ง เขาต้องแต่งเรื่องเพื่อยาไส้

          ฉัน....ต้องแต่งเรื่อง เพื่อล้างไส้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว จึงไม่แปลก ที่ฉันจะชำนาญในการปรุง ในการแต่ง และสนุกที่จะฟุ้งชนิดเอาไม่อยู่กู่ไม่กลับเสมอมา

 

 

ฉันแต่งเรื่องเก่งจนเป็นนิสัย ในที่สุดอึดอัดมากต้องเขียนลงกระดาษ แล้วส่งไปให้คนอื่นอ่าน เคราะห์ดีที่คนอื่นที่ว่า ชาวโลกเรียกเขาว่า “บ.ก.” ดังนั้นเขาจึงเป็นสื่อกลาง ส่งเรื่องฉันไปให้ “คนอ่าน” ที่ฉันไม่เคยรู้จักมักจี่ ไม่เคยเห็นหน้าค่าตามาก่อน ได้อ่านสิ่งที่ฉันปรุงขึ้น โอ้โห... ทีนี้ล่ะค่ะ การมีคนไม่เคยเห็นหน้ามา “รู้จัก” และ “ชื่นชอบ” ผ่านงานเขียน มันทำให้ตัวฉันพองเบ้อเร่อ จนนึกไม่ออกว่า จะมีอะไรในโลกที่จะดูโก้ดูเท่ เท่าการเป็น “นักเขียน” ไหม ?

          แล้วเหรียญก็มีสองด้านเข้าจนได้ ก็เพราะฟุ้งชนิดมหากาฬนี่แหละที่ทำให้ การนั่งสมาธิของฉันปั่นป่วนต้องเรียนปรึกษาหลวงพ่อ ท่านจึงเมตตาแนะนำว่า ต้องขยันกำหนดรู้ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงให้ถี่ชิดที่สุด แล้วจะฟุ้งน้อยลง ถ้ามันเริ่มก่อตัว เริ่มคิดปุ๊บแล้วกำหนดปั๊บ มันหายปุ๊บไป นี่ยิ่งดี

          ฉันรีบจดยิก หมายมั่นจะทำให้ได้ลงในสมุดโน้ต ทั้งที่ยามมาปฏิบัติวิปัสสนานั้น เขาห้ามเขียนอ่านทั้งสิ้น ว่า “วิริยะประกันฟุ้ง” ซึ่งไม่เกี่ยวกับบริษัท “วิริยะประกันภัย” เขาหรอกนะ

 

 

คราวนี้ก็เหมือนกัน ฉันไปเข้าอยู่วัดมาอีก เพื่อนสนิทที่แอนตี้การไปอยู่วัด ด้วยเหตุผลที่ว่า “เราไม่ได้ทำผิดคิดร้ายหรือ สร้างความเดือดร้อนให้ใคร แค่นี้ก็พอแล้ว ไม่เห็นต้องไปอยู่วัดเลย” มาถามว่า “มีอะไรในชีวิตหรือเปล่า”

          ฉันอยากตอบว่า มีซี่เธอ ชีวิตทั้งชีวิตเลยแหละที่มันเป็นตัวทุกข์ แต่กลัวเธอแนะให้ไปโรง’บาลโรคจิตแทนที่จะไปวัด เลยแกล้งพูดให้เธอขำและรับได้ว่า

          “มันเบื่อลำไส้ตัวเองน่ะเธอ เช้าขึ้นมาก็ต้องบีบ ๆ ไล่กากเน่า ๆ ออกจากร่างกาย กว่าจะตายไม่รู้ต้องบีบไปอีกกี่พันครั้ง”

          เพื่อนรีบเออ–ออ ว่าเข้าใจ เพราะตัวเพื่อนเอง จะไปเข้าคอร์สล้างพิษและลดความอ้วน แบบทูอินวันเร็ว ๆ นี้เหมือนกัน

          ฉันอยากแย้งว่า นี่เธออย่าเอาการไปอยู่วัดล้างพิษในจิตใจไปเปรียบเทียบกับล้างพิษทางร่างกายเชียวนะ แต่ก็กลัวเธอจะหาว่า ฉันยกตนข่มท่าน แล้วถ้าเพื่อนคนนี้เลิกคบ ฉันอาจลำบากในภายหลัง เพราะเธอเป็นแม่ครัว ทำอาหารปิ่นโตส่งให้ครอบครัวฉันกินน่ะซี่ ฝีมือการทำอาหารของเธอน่ะ ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ระดับอ๋อง

          จะว่าไป ขณะที่บอกกับเพื่อนว่า ‘ชีวิตก่อนไปวัดน่ะแสนดี’ นั้น เพราะดูไปแล้ว ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรที่จัดการไม่ได้สักอย่าง แต่ใครที่โม้ว่าจัดการชีวิตได้หมดน่ะ ระวังให้ดีเถิด ลึก ๆ แล้วฉันเชื่อว่า ชีวิตคนไม่เคยเรียบร้อยหรอก แล้วความเชื่อนั้นมันก็คงจะลึกเสียจนฉันไม่ทันได้ไหวตัวว่าอะไรจะตามมา

          จนไปอยู่วัดได้ ๑๐ วัน ถึงได้รู้ว่า พิษสงของความอหังการ์ว่าตัวเองเป็น “นักเขียน” น่ะมันทั้งหนักทั้งหนาและทั้งเหนียวหนึบสุดจะบรรยาย และถ่ายถอนจริง ๆ

          ฉันคงกดทับความอิจฉานักเขียนอื่นเอาไว้นาน ไม่ต้องอื่นไกล เอาแค่สามีนั่นปะไร ปีที่แล้วหนังสือของเขาได้พิมพ์ซ้ำ แล้วของฉันล่ะ ?! เดี๋ยวนี้งานเขียนของฉันเชยจนไม่มีใครอยากอ่านแล้วหรือเล่า แถมความคิดที่เคยลื่นไหล ไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม ก็กลับกลายเป็นความละล้าละลัง ห่วงหน้าพะวงหลัง กลัวเขียนไม่ดี เขียนไม่ออก แก้แล้วแก้อีก ชวนให้คิดไปว่า นี่ “มนตร์” ของฉันกำลังเสื่อมหรือไร โอ๊ย....ย...ใจหาย ใจหาย รับไม่ได้ !! !

          เออหนอ ลูกก็ดี สามีก็ดี งานกัลยาณมิตรก็มีอยู่ งานก็ไม่มีปัญหา ลูกน้องก็น่ารัก เกียรติก็มีอยู่บ้าง แข็งแรงก็แข็งแรง เงินก็ไม่ขาดแคลนอะไร แต่ยังอยากจะเขียนหนังสือให้ได้เยอะ ๆ คล่อง ๆ และให้คนอ่านรัก – – นิยม และติดตามมาก ๆ !

          เขาถึงเรียกว่า “คน !” ใช่ไหมนี่ ?

 

 

กลับออกจากวัด แม้จะล้างพิษของความอหังการ์ไม่ได้ ได้แค่ทำความรู้จัก (ก็บุญแล้ว) ฉันก็ไปกินข้าวเย็นบ้านเพื่อน ก็คนที่เพิ่งดั้นด้นไปเข้าคอร์สล้างพิษถึงเกาะสมุย และจ่ายค่าล้างเป็นเงินดอลล่าร์ มันแพงจัดจนฉันกลั้นความตกใจไว้ไม่อยู่ แต่เธอเล่าอย่างตื่นเต้นว่า “มันคุ้มตรงสมุนไพรน่ะเธอ” สมุนไพรของนอกที่เธอว่านั้นมันมีประสิทธิภาพในการขับสารพิษที่ร่างกายสะสมไว้ ออกมาทางเหงื่อ ปัสสาวะ อุจจาระ การจาม การไอ โดยเฉพาะลำไส้ที่ถูกมันชอนไช ครูดและรูดทุกขด อย่างหมดจด เธอว่างั้น

          แถมเธอบอกว่า ขบวนการก่อนที่จะได้กินสมุนไพรนั้น ลำบากลำบนเหลือจะกล่าว ตั้งกะตื่นแต่เช้า ถ่างตาออกกำลัง กินแต่ผลไม้ น้ำผลไม้ หิวจนไส้กิ่ว สารพัดสารเพจนต้องถามตัวเองว่า ใครเขาใช้ให้มา เสียเงินก็เสีย อดนอนจนตาโหล ทำกิจกรรมประดามี เพื่อเอื้ออำนวยต่อการกำจัดขยะ และแทบจะเป็นลมตอนที่เขาให้ไปออกกำลังในน้ำอุ่นเพราะโซเซเต็มทีแล้ว จะมีชื่นใจ ก็ตรงน้ำหนักที่ลดพรวด ๆ ซึ่งเธอก็สารภาพว่า กลัวเหี่ยวเกินไปอีกน่ะแหละ...

 

 

เราช่วยกันยกยอผู้จัดคอร์สนี้ว่า ทั้งหมดเกิดจากประสบการณ์ที่เขาทดลอง ปรับเปลี่ยน และจัดแจงจนลงตัว เพื่อให้ลูกค้าของเขาทุกคนกลับบ้านตัวเบาหวิว (ไม่เกี่ยวกับจ่ายดอลล่าร์) ลำไส้สะอาดเอี่ยม เป็นคนไร้สารพิษ ชั่วคราว !! ที่ว่าชั่วคราว ก็เพราะพูดจบเราสองคน ก็เริ่มลงมือเปิบไส้อั่วกันน่ะซี

 

 

คราวนี้ก็ถึงตาเพื่อนสัมภาษณ์ฉันกลับบ้าง เรื่องที่ไปหลังขดหลังแข็งอยู่วัด ยิ่งตอนที่ฉันบอกว่า มีตั้งวันครึ่งที่ทั้งวัดไฟดับสนิท พัดลมก็ไม่มีใช้ รักแร้งี้เหนียวหนึ่บเชียว เพื่อนหัวร่อแล้วพูดกำเมืองว่า “ใครเขาข้ำใครเขาเขให้เธอไปไม่ทราบ อยู่บ้านมีแอร์ให้นอนสบาย ๆ ไม่ชอบ !”

          อย่าว่าแต่เพื่อนคนนี้เลย วันก่อนฉันได้อ่านบทความที่น่าสนใจ บทความหนึ่ง เขาแสดงทัศนะไว้ว่า คนเราไม่เห็นต้องเข้าวัดให้เมื่อยเลย การปฏิบัติธรรมน่ะทำที่ไหน ตรงไหนก็ได้ ทั้งหมดมันสำคัญที่ใจ การเข้าไปรวมกลุ่มกันปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องตลก และเป็นเรื่องของคนไม่สบายทางใจ

          ฉันอ่านแล้วใบหน้าร้อนผ่าว มีทั้งเห็นด้วยเต็มไปหมด

          ที่เห็นด้วยอย่างยิ่งก็คือ เวลาไปวัด ฉันมองเห็นคนป่วยทางใจ ชัดเจนยิ่งกว่าคนที่เดินสวนกันไปสวนกันมานอกวัด ที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือตัวฉันเอง

           แต่เรื่องการเข้าวัด ฉันอยากทำความเข้าใจ ทั้งกับเพื่อนที่นั่งกินตำบะตื๋น (ตำกระท้อน) อย่างเอร็ดอร่อยตรงหน้า และกับผู้เขียนบทความที่ว่า

          การเข้าวัด การเข้าคอร์ส หรือแม้แต่การบวช สำหรับฉัน คือมี “สัญญา” ที่แรงกล้าในช่วงนั้น แล้วเข้าไป “ฝึก” และเมื่อออกจากวัด ก็นำสิ่งที่ฝึก หรือสิ่งที่ประจักษ์ด้วย “ตาใน” บางอย่าง มาปรับใช้ในชีวิตจริง แต่ ไม่ได้เข้าไปเพื่อออกมา “เป็นคนที่ดีกว่า” เขาอื่น เพราะมันไม่ใช่การ “มัดย้อม” การ “ชุบตัว” หรือ “ตราแสตมป์”

          แต่กระบวนการนี้ เราวัดผลได้เอง มันคือกระบวนการที่เรารู้สึกเล็ก ๆ เล็กลงเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งตัวเราน้อยลง น้อยลงเรื่อย ๆ ไปสู่การ “บิ” ตัวเองทิ้งทีละหน่อย จนหมด “ตัวเอง”

          “ฉันไม่เข้าใจ เพราะฉันเองไม่มีทางไปอยู่วัดแน่” เพื่อนส่ายหน้า พร้อมกินตำบ่ะตื๋นใส่น้ำปู๋ (น้ำที่ได้มาจากการเอาปูเป็น ๆ จำนวนมากใส่ไห– – แต่กระบวนการขยำให้ได้น้ำจากปูนั้น ฉันไม่แน่ใจในรายละเอียด) ต่อไป

          ฉันพยายามใช้ผลพวงจากการฝึก ไม่งั้นต้องโดนอัปเปหิจากความเป็นศิษย์มีครูแน่ เพราะเริ่มยัวะ

          “ก็จริงของเธอ อยู่ตรงไหนก็ขัดเกลาตัวเองได้ตลอดเวลา เพราะเราเกิดมาเพื่อทำงานนี้กันอยู่แล้ว” แต่น้ำเสียงหลังจากนี้ของฉันคงเคร่งเครียดและพูดวกวน เพราะเพื่อนฮัดเช่ยติดกันสองที เหมือนประท้วง

          ฉันพยายามอธิบายว่า การไปเข้าวัด ปลีกวิเวก นั้น เพื่อจะได้เผชิญหน้ากับตัวเองจริง ๆ เพราะฉันเชื่อว่า การได้เผชิญหน้ากับตัวนั้นแล ที่จะถอนออกจากตัวเองได้ และแต่ละสำนัก ครูบาอาจารย์ท่านเมตตาแนะนำให้จากประสบการณ์การปฏิบัติของท่าน ซึ่งก็ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นแหละ

          และจริง ๆ ฉันก็ไม่อยากไปตอบโต้คนเขียนบทความนั้นหรอก เพราะการเข้าวัดทุกวันนี้ มันขาดความเป็นธรรมชาติจริง ๆ ไม่เหมือนคนสมัยก่อน ชีวิตของฆราวาส อุบาสก อุบาสิกาเขาเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมกันทั้งชีวิต พระสงฆ์องค์เจ้าก็มอบกายถวายชีวิตให้พระธรรมคำสอน มีเป้าหมายเพื่อการหลุดพ้นอย่างเห็นได้ชัด ฆราวาสเราก็เข้าวัด ถือศีล นุ่งขาวห่มขาวถือพรหมจรรย์ ไปนอนวัดในวันพระมิได้ขาด และที่สำคัญนำธรรมะนั้นมาปรับใช้ในการดำรงชีวิต ทั้งสังคมไม่มีการแยกส่วน ไม่มีการแยกขาด เนียนเนื้อเป็นหนึ่งเดียวกลมกลืน เอื้อเฟื้อมาก แต่ทั้งหมด เพราะ ท่านได้มองเห็น “ทุกข์” และต้องการออกจากทุกข์

          แต่ตอนนี้สภาพสังคมทุนนิยมของเราขณะนี้ ทุกอย่างแสนจะแยกส่วน แสนจะแยกขาดออกจากกัน มันแยกชีวิตเราเป็นส่วนเป็นเสี้ยว ทุกท่านล้วนแสวงหาความสุข และทำทุกอย่างเพื่อให้เสพสุขชั่วนาตาปี ไกลห่างจากพระธรรมคำสอนจนจินตนาการไม่ออกว่า จะเริ่มต้นมาบรรจบกันได้อย่างไร

          การเข้าวัดปฏิบัติธรรมจึงดูเป็นกิจกรรมแปลกปลอม เป็นเรื่องของคนมีปัญหา คล้ายสามีไปมีภรรยาน้อย เทือกนั้น

          ดังนั้นการไปอยู่วัดของคนสมัยนี้ จึงมีลักษณะเฉพาะเข้าทำนอง “คนบ้านไกล เวลาน้อย” แต่บรรยากาศและผู้คนที่ตั้งใจไปวัด (อาจถึงวัดหรือไม่ถึงวัด !!) นั้นมักจะ สัปปายะ กว่าอยู่บ้านเสมอ เพราะอย่างน้อยก็มีศีล ๘ เป็นเครื่องป้องกันไว้เปลาะหนึ่ง คงไม่ต่างอะไรกับชุมชนของสงฆ์ที่อยู่กันตั้งมากมายแต่อยู่กันได้ เพราะมีเครื่องป้องกันอย่างแน่นหนาถึง ๒๒๗ ข้อ แต่เรื่องนี้ฉันเคยคุยกับเพื่อนว่า ขอให้ดูไปเถิด ที่สุดแล้ว ยังมีเรื่องหลุดรอดมาให้หงุดหงิดใจกันอยู่ดี ซึ่งเรื่องที่พ้นจาก ๒๒๗ ข้อนั้นมักจะเป็นเรื่องหยุมหยิมไม่เข้าท่า แต่ชวนให้ “สั่งสม” และชวนระเบิดตามมา ทั้งสิ้น

          ในขณะที่ไปเข้าคอร์ส ครูบาอาจารย์แต่ละที่ ก็จะวางเป้าหมายเอาไว้ มีรูปแบบ ที่แสนจะไม่เป็นธรรมชาติต่าง ๆ นานา เช่น เดินยืด ๆ ยาด ๆ แถมให้ย้ำ ให้รู้เนื้อรู้ตัวอยู่นั่นแล้วว่า ขณะนี้ ยืนอยู่ นอนอยู่ นั่งอยู่ เดินอยู่ ราวกับที่ผ่านมา ไม่เคยทำอิริยาบถดังว่ามาก่อนเลย วัน ๆ เอาแต่เดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือบางทีให้ยกมือยกไม้เคลื่อนไหวพร้อมกันยังกะฝึกร.ด. นอนก็น้อย กินก็น้อย พูดหรือนินทาใครไม่ได้ทั้งนั้น และให้ใส่เครื่องแบบ คือ ชุดขาว

          แต่ฉันคิดเองว่า ทั้งหมดที่หามรุ่งหามค่ำทำกันนั้น ท่านอยากให้เราปรับทหารกล้าทั้งสองคู่ให้ร่วมมือกันทำงานอย่างสมดุล คู่แรกคือ ศรัทธากับปัญญา คู่ที่สองคือ วิริยะกับสมาธิ แล้วเมื่อนั้น ทหารเอก ชื่อว่า สติ ก็จะมีพละกำลังพร้อมจะยืนยามระวังไม่ให้ข้าศึกเข้ามาถึงตัวเราได้

          ฉันเล่าถึงตรงนี้ เพื่อนดึงทิชชู่ สั่งน้ำมูกเสียงสนั่น ดวงตาซ้ายบอกว่า ยังสนใจดีอยู่ ส่วนดวงตาขวากะพริบถี่ ๆ เหมือนจะบอกว่า ดูไปซิ ว่ามันจะพล่ามไปถึงไหน ! ? !

          ฉันจึงเล่าต่อ ‘เมื่อทหารเอกทำงานอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว’ เธอทำหน้าอ๋อ ๆ เหมือนจะไปโยงใยกับสมุนไพรของนอกที่ประสิทธิภาพสูงล้ำของเธอ ‘ผู้ปฏิบัติโดยมาก มักจะได้ประจักษ์กับสภาวธรรมตามธรรมชาติตามกำลังของตนแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกตกใจที่เห็นการทำงานของธาตุต่าง ๆ ในตัวเรา ที่แต่ก่อนนี้เราไม่เคยเฉลียวใจมาก่อน ว่ามันมีอยู่ การเกิด ๆ ดับ ๆ ที่ทำให้โลกของเราเปลี่ยนไปหลังออกมาจากวัด แต่ฉันเชื่อว่า เป้าหมายสูงสุด ของการหลังขดหลังแข็งโดยแท้ นั่นคือ มาถอนเสียจากความเข้าใจผิดว่า เป็นตัวเรา ซึ่งทำไม่ได้ง่ายหรอก อย่าหลงคิดว่าง่าย แค่เห็นเลา ๆ ก็ยังยากเย็นเข็ญใจเลย’

          ถึงตรงนี้ เพื่อนสนใจมากทีเดียว “แบบไม่เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาใช่ไหม ฉันชอบมากเลยประโยคนี้ ฉันชอบอ่านจากปฏิทินท่านพุทธทาส ที่สนพ.สุขภาพใจพิมพ์จำหน่าย ฉันชอบขนาดซื้อแจกเพื่อนฝูงทุกปี เธอก็ยังเคยได้เลยไม่ใช่เหรอ !” แต่แล้วเธอก็ขมวดคิ้ว

          “แต่ยังไงซะ ฉันไม่มีเวลาเหมือนเธอหรอก” เธอพูดพร้อมยื่นไอศกรีมเสาวรสแสนอร่อยมาตรงหน้าฉันหนึ่งถ้วย ของเธอน่ะจ้วงไปสองคำแล้ว แถมเสริมต่อไปว่า “แล้วฉันอาจจะโชคดีกว่าเธอ เพราะบางทีฉันกลุ้มเรื่องงานแทบแย่ แต่พอไปเจอคำพูดบางคำ ก็ทำให้ฉันคิดได้และปลงตก หลุดพัวะออกจากวังวนของปัญหานั้นทันที” เธอยกตัวอย่างคำพูดยอดฮิต อาทิ

          “จะอาฆาตแค้นอะไรกัน คนเราอยู่ไม่ถึงร้อยปี”

          “จะงกอะไรกันนักหนา ตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้”

          “ปัญหาทุกอย่างมันไม่ได้เกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ มัน มาจากเหตุจากปัจจัยหลายอย่าง”

          ฉันอยากบอกว่า ‘นี่มันเป็นโรคทีกินยาที’ – – นี่นา !

          เธอเอื้อมมือมาจ้วงไอศกรีมในถ้วยฉันไปกินหน้าตาเฉย แถมส่ายหน้าหงุดหงิด เมื่อเห็นว่ามันละลายเกือบหมด เธอยกถ้วยขึ้นซดแล้วลุกไปตักถ้วยใหม่มาให้ฉัน แน่ล่ะว่า เพื่อยืนยันว่าอร่อยแค่ไหน เธอตักมาสองเท่าของถ้วยที่แล้ว นี่คือความหวังดี อยากให้ฉันได้กินของอร่อย โดยแท้

          พอดีกว่าอธิบายไปก็รังแต่ไอศกรีมจะละลายเสียของเปล่า ๆ เอาเป็นว่า ทั้งฉันและเพื่อนเห็นทุกข์มั่งไม่เห็นทุกข์มั่ง ว่าคนอื่นเขามั่ง นึกว่าตัวเองเจ๋งมั่ง นึกว่าตัวเองคิดถูกอยู่คนเดียวมั่ง นึกว่าตัวเองเท่านั้นที่มาถูกทางมั่ง

          ก็โธ่........เราหนีพระพุทธเจ้ามาได้ตั้งกี่พระองค์แล้วเล่า งวดนี้ ชาตินี้ทำไมจะลอยนวลต่อไปไม่ได้ (มิน่า พิษหนาตึ้ก !)

          “เอ้า ! จะเหม่อไปถึงไหนยะ ฉันว่าคนโทสะแรงอย่างเธอเนี่ย ยิ่งเข้าวัดยิ่งฟุ้ง

          เอ้า ! ของดี ๆ เมื่อไหร่จะกินซะที”

          ....ถูกของเธอ ของ “ดีดี” ของ “วิเศษ” เมื่อไหร่จะ “ลงมือ” กินสักที มัวแต่พูดมัวแต่พล่ามอยู่นั่นแล้ว ใครจะไปกินแทนใครได้ ไม่ยอมกินแบบนี้ แล้วชาติไหน ถึงจะรู้ “รส” กันละหนอ

          ว่าแล้วฉันตัดใจจากความเห็นไม่ลงรอยระหว่างเรา จ้วงไอศกรีมเสาวรสหอมละมุน รสละไมเข้าปาก แล้วร้อง อืมม์....ม์....ม์... .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :