เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๗
ประยุกต์ธรรม
พระชาย วรธมฺโม

(โดน) ปิดปาก สามวัน !

 

มีคนพูดให้ได้ยินบ่อย ๆ ว่าเสขิยธรรมเป็นวารสารธรรมะที่ไม่ค่อยมีเรื่อง ‘ภาวนา’ ให้อ่านสักเท่าไรเอาแต่เล่นประเด็นทางสังคม สงสัยว่าคนพูดคงไม่รู้ว่าเสขิยธรรมเป็นวารสารแนว Engaged Buddhism (โยงธรรมะเข้ากับสังคม) จึงไม่น่าสงสัยว่า ทำไมเสขิยธรรมมีแต่เนื้อหาเรื่องความเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งออกจะแตกต่างจากวารสารธรรมะทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเผ็ดประเด็นร้อน แต่ยังไงเสียฉบับนี้ก็ขอเขียนเรื่องภาวนาบ้างน่าจะดี เดี๋ยวจะหาว่าเสขิยธรรมมีแต่เรื่องร้อน ๆ

          ที่ผ่านมาข้าพเจ้าผู้เขียนรู้สึกตัวว่า ‘ทำงาน’ หนักมากไปหน่อย ตั้งแต่เทศนา จัดอบรม เขียนบทความ ตามประเด็นเคลื่อนไหวทางสังคมจนกระทั่งลงไปปฏิบัติการภาคสนามจนรู้สึกตัวว่าภาวนาน้อยไปหน่อย ประกอบกับสี่ซ้าห้าปีที่ผ่านมามีอะไรประดังประเดเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตมากมาย งานนี้เลยต้องจัดตารางชีวิตเสียใหม่กะจะไปหาที่หาทาง ‘เข้าเงียบ’ ที่ไหนสักแห่ง

          หะแรกทีเดียวเลือกรายการอบรมของท่านอาจารย์โคเอ็นก้าเป็นเวลา ๑๐ วัน แต่จนแล้วจนรอดก็ต้องผิดนัดจนได้ เพราะช่วงเวลาว่างที่พยายามจัดให้ลงตัวของเราหดสั้นลงเหลือแค่ ๓ วัน อีกทั้งช่วงเวลาว่างของเราก็ไม่ตรงกับรายการอบรมของเขา เหลียวซ้ายแลขวาไม่รู้จะไปทางไหนดีเลยเลี้ยวขวาเข้า ‘อาศรมวงศ์สนิท’ ดีกว่า แล้วใช้เวลาที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ด้วยการเข้าเงียบเป็นเวลา ๓ วัน นั่งนอนปฏิบัติธรรมอยู่ในบ้านดินเล็ก ๆ สีหวานแหววหลังนั้น

 

เข้าเงียบคืออะไร

          ชาวพุทธหลายคนไม่รู้ว่า ‘เข้าเงียบ’ คืออะไร และเป็นอย่างไร เฉลยให้ฟังตรงนี้ว่าเข้าเงียบคือการปฏิบัติธรรมแบบอุกฤษฏ์ประเภทหนึ่ง ด้วยการงดพูดตลอดช่วงระยะเวลาที่ผู้ปฏิบัติจะกำหนดไว้ อาจจะ ๓ วัน ๑๐ วัน หรือ ๑ ปี ก็แล้วแต่ความสะดวกของบุคคล ระหว่างนั้นผู้เข้าเงียบจะใช้ชีวิตอยู่ในความเงียบของตัวเองตลอดเวลา อยู่กับความรู้สึกตัว อยู่กับสติ อยู่กับตัวเองเป็นการปฏิบัติธรรมที่เคร่งครัดขึ้นมากกว่าปรกติธรรมดา แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องละทิ้งกิจวัตรประจำวันในชีวิตลงไปด้วย กิจวัตรต่าง ๆ เช่น กินข้าว ซักผ้า เข้าห้องน้ำ ก็ยังทำตามปรกติเพียงแต่ไม่ได้พูดแค่นั้นเอง การเข้าเงียบจะทำให้ผู้ปฏิบัติเห็นธรรมะมากขึ้น เห็นตัวเองมากขึ้น รู้จักตัวเองมากขึ้น ประจันหน้ากับกิเลสตัณหาตัวเองโดยตรง และทำให้คน ๆ นั้นรู้จักสภาวธรรมตัวเองในที่สุด แต่อย่างไรก็ตามการเข้าเงียบสำหรับผู้เริ่มต้นควรมีครูบาอาจารย์ไว้สอบอารมณ์และสอบถามแนวทาง แต่หากรู้แนวทางแล้วไม่จำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ก็ได้เพราะตัวเราก็เป็นครูบาอาจารย์ให้กับตัวเราเองได้อยู่แล้ว

          ในชีวิตของข้าพเจ้านอกจากช่วงบวชใหม่ ๆ เมื่อ ๑๓ ปีที่แล้วอาจจะเรียกได้ว่าเป็นช่วงเข้าเงียบของชีวิตก็ว่าได้ เพราะช่วงที่บวชใหม่นั้นรู้สึกจะเกร็ง ๆ เพราะต้องละกิจแบบฆราวาสโดยฉับพลันและสิ้นเชิง ไม่ค่อยกล้าพูดกล้าจากับใครในวัดแม้แต่พระเณรด้วยกันก็ไม่กล้าพูดเพราะรู้สึกว่ายิ่งพูดก็ยิ่งฟุ้งซ่าน วัน ๆ จึงไม่ค่อยได้คุยกับใคร มีเวลาก็เดินจงกรมตลอด ตั้งแต่นั้นมาก็เลยเข้าใจอะไร ๆ ที่เกี่ยวกับธรรมะในตัวเองมากขึ้น รวมทั้งชีวิตก็มีสติมากกว่าที่เคยเป็น หลังจากนั้นก็ไม่เคยเข้าเงียบเป็นกิจจะลักษณะอีกเลย จนกระทั่งปีนี้ที่รู้สึกว่าน่าจะหาเวลาว่างเข้าเงียบดูสักทีเพราะอะไร ๆ ในสมองชักจะล้นออกมาเลอะเทอะเต็มไปหมด

 

ความคิดวิ่งวุ่น อดีต–อนาคต

          ความที่ห่างเหินการเข้าเงียบมานาน แต่ก็พยายามทำจิตทำใจให้อยู่กับตัวเอง อยู่กับลมหายใจ อยู่กับร่างกายที่รู้สึกตัวตลอดเวลา อยู่กับปัจจุบันขณะ แต่ด้วยความที่เป็นนักเขียนนักคิดที่ชอบขีด ๆ เขียน ๆ ชอบคิดชอบจินตนาการและเป็นนักกิจกรรมด้วย (แต่คิดว่าคนอาชีพอื่น ๆ ก็น่าจะเป็นเหมือนกัน) จิตใจก็เลยสนุกสนานไปกับการคิด…คิด…คิด

          วันแรกกับวันสองของการเข้าเงียบจึงสนุกสนานมากเพราะจิตใจหลงใหลไปกับการคิดที่วิ่งวุ่นไปมา สรุปลงตรงความคิดที่หมุนวนอยู่เพียงสองเรื่องคือ เรื่องที่ผ่านไปแล้วกับเรื่องที่ยังมาไม่ถึง เรื่องไหนสนุกประทับใจมักเวียนเข้ามาให้คิดและกลายเป็นความสุขทางใจครั้งที่สอง (แบบว่าความสุขนี้รีไซเคิลได้) แล้วนำไปสู่เรื่องราวที่ยังไม่เกิดขึ้น คิดมาก ๆ เข้าข้าพเจ้าก็ชักจะรำคาญ แต่ไม่รู้จะทำยังไงเลยปล่อยเลยตามเลย อยากจะคิดก็คิดพร้อมกับตามลมหายใจไปด้วย ได้ผลแฮะแต่ได้ผลเอาวันที่สาม เริ่มคิดน้อยลงและอยู่กับตัวเองมากขึ้นเป็นลำดับในที่สุด !

 

เผลอพูดกับตัวเอง

          ข้าพเจ้าเป็นพระภิกษุที่ชอบพูดกับตัวเองมากที่สุด (ไม่รู้ภิกษุรูปอื่นจะเป็นหรือเปล่า) เพราะเวลาพูดกับตัวเองหรือบ่นกับตัวเองมักมีความสุขเพราะไม่มีใครตอบโต้ ตัวเองย่อมยอมรับในความคิดตัวเองทุกอย่าง จะพูดจะบ่นอะไรแม้แต่คำสบถก็ย่อมได้รับการยอมรับทั้งสิ้น ! ทั้งเรื่องที่เป็นเรื่องและเรื่องที่ไร้สาระ บางทีคิดอะไรก็พูดกับตัวเองให้ได้ระบายออกมาเป็นคำพูด กติกาของสามวันที่ปิดปากนี้การพูดกับตัวเองจึงต้องงดไปด้วย

          งดพูดกับคนอื่นนั้นง่ายแต่งดพูดกับตัวเองนั้นยากยิ่งกว่า วันหนึ่งข้าพเจ้ารู้สึกเพลีย (เนื่องจากสุขภาพไม่ดีจึงต้องนอนกลางวัน–บอกแล้วไงการเข้าเงียบไม่จำเป็นต้องงดกิจวัตรประจำวัน !) จึงเอนหลังหวังจะนอนกลางวันก็เผลอพูดกับตัวเอง (โดยลืมไปว่ากำลังอยู่ในระหว่างเข้าเงียบ) ว่า “เตรียมตัวจะเลื้อยอีกแล้วสิ” พอเผลอพูดออกมาก็รู้ตัวทันใดกะจะพูดเตือนตัวเองต่อมาว่า “อ้าวเผลอพูดซะแล้ว” ถัดมาก็นึกได้ทันควันว่าห้ามพูดจึงรีบหยุดพูดอย่างที่คิด เลยได้แต่นึกขำตัวเองในบัดดลถึงภาวะขาดสติของตัวเอง !

 

ความฝันบรรเจิดพริ้งเพริดนักหนา

          ในที่สุดเมื่อเรางดพูดสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือจิตไม่ได้งดพูดไปด้วย แต่จิตพูดอยู่ตลอดเวลา หนำซ้ำยังเก็บเอาไปฝันเพ้อเจ้อมากมายก่ายกองอยู่ได้ทั้งสามคืน ฝันว่าอะไรบ้างลองมาดูกัน … ฝันเห็นตัวเองกำลังเล่นน้ำตกในชุดกางเกงขาสั้น ฝันเห็นพี่สาวที่เป็นทอมกำลังเปลี่ยนแฟนใหม่ ฝันเห็นพระหลวงตาแก่ชรารูปหนึ่งมีปีกเหมือนนกกำลังมรณภาพอย่างช้า ๆ ฝันว่าไปกินก๋วยเตี๋ยวกับเพื่อนที่เป็นเลสเบี้ยนแล้ววิ่งหนีคนขายเพราะเบี้ยวค่าก๋วยเตี๋ยว ! จำได้ว่าตอนที่ไม่ได้เข้าเงียบก็ไม่เคยฝันอะไรเป็นตุเป็นตะขนาดนั้น ไม่นึกเลยว่าอานิสงส์ของการเข้าเงียบ ๓ วันจะให้ผลแรงขนาดนี้

          ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะขันธ์ ๕ (รูปกับนาม) ของเรากำลังจัดเรียงข้อมูลใหม่ เพราะที่ผ่านมาเราอาจใช้งานเขาเยอะไปหน่อยด้วยการที่

เวทนา = ทำหน้าที่รู้สึกสุข ทุกข์
สัญญา = เก็บข้อมูล, บันทึกข้อมูล
สังขาร = ประมวลข้อมูลที่ได้รับออกมาเป็นความคิด
วิญญาณ = รับรู้สิ่งที่มากระทบกับทวาร ๖

          เมื่อเราเข้าเงียบ รูป (คือร่างกายของเรา) ได้ทำงานน้อยลง นาม (หรือจิต) ก็ได้หยุดทำงานไปด้วยแต่ก็ไม่ยอมหยุดนิ่งเสียทีเดียวเพราะมันคุ้นเคยกับการทำงานหามรุ่งหามค่ำ ครั้นพอเราหยุดพักการทำงานของขันธ์ ๕ ด้วยการเข้าเงียบ จิตก็เลยประมวลอะไรต่าง ๆ ออกมาปรากฏในความฝันข้างต้น น่าสังเกตว่าฝันอยู่ได้ทุกคืน แต่ละคืนก็ไม่ได้ฝันแค่เรื่องเดียวบางคืนฝันมากกว่าสองเรื่องด้วยซ้ำ เนื้อหาของเรื่องที่ฝันก็ไม่ธรรมดาแต่เป็นเรื่องราวที่ฟุ้งซ่านน่าดู ตื่นจากฝันก็เลยรู้สึกงง ๆ ว่ามาปฏิบัติเข้าเงียบแต่จิตใจออกไปเที่ยวได้ทุกค่ำคืน ! น่าเสียดายที่มีเวลาน้อยไปหน่อย จิตของข้าพเจ้ากำลังเข้าที่เข้าทางในวันที่ ๓ ของการเข้าเงียบพอดีเพราะรู้สึกได้ว่าวันที่ ๓ เริ่มอยู่กับตัวเองได้มากขึ้นเป็นลำดับ โดยไม่ซัดส่ายไปมาเหมือนสองวันแรก หากมีเวลาอยู่ต่อจนครบ ๑๐ วันอาจจะมีประสบการณ์ดี ๆ มาเล่าให้ฟังมากกว่านี้ เพราะช่วงที่ออกมาก็รู้สึกได้ว่าเหมือนเราเป็นคนใหม่ จิตใจปลอดโปร่งสุขสงบมองโลกในแง่ดี พร้อมจะเผชิญอะไร ๆ ได้อย่างสงบนิ่ง นี่ละ..การชาร์จพลังของนักบวช

          พูดถึงการเข้าเงียบแล้วในบรรดาพุทธศาสนา ๓ นิกาย เถรวาท มหายาน และวัชรยาน มีวัฒนธรรมการเข้าเงียบที่ไม่แตกต่างกันนัก เพียงแต่ในเถรวาทเราดูเหมือนว่า พระสงฆ์จะไม่ค่อยมีการพูดถึงและให้ความสนใจอย่างเป็นกิจจะลักษณะมากเท่าไร ทั้ง ๆ ที่การเข้าเงียบมีอะไรที่น่าสนใจในตัวเองอยู่มาก (ของเราอาจจะไปให้ความสนใจในเรื่อง พ.ร.บ.สงฆ์และการปกครองสงฆ์เสียมากกว่าจึงทำให้ขาดความสมดุลย์ในการให้การศึกษาคณะสงฆ์) ในขณะที่สายมหายานก็มีการพูดถึงอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายวัชรยานมีการประพฤติปฏิบัติกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง กุฏิของพระลามะจะมีห้องใต้ดินลงไปข้างล่าง เป็นห้องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ แคบ ๆ พอให้นั่งได้เอาไว้เข้าเงียบจริง ๆ เพื่อทวารทั้ง ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) จะได้ไม่ต้องรับอารมณ์ภายนอกมากนักจิตจะได้ตั้งมั่นกว่าปรกติ จะออกมาเมื่อถึงเวลาอาหาร ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ และอาบน้ำเท่านั้น เสร็จกิจแล้วก็กลับเข้าไปบำเพ็ญเพียรต่อ แต่ถึงไม่มีสถานที่เช่นนี้ให้ปฏิบัติแม้เพียงการปิดวาจาก็ให้ผลมากมายอยู่แล้ว

          การเข้าเงียบอีกประการหนึ่งเปรียบเหมือนการจัดเรียงข้อมูลคอมพิวเตอร์ (defragment) หากใครใช้คอมพิวเตอร์จะรู้ดีว่าทุกสัปดาห์เป็นอย่างน้อยต้องมีการจัดเรียงข้อมูลคอมพิวเตอร์เสียใหม่ หาไม่แล้วเครื่องจะทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพพอ และเครื่องอาจแฮ้งค์เอาได้ง่าย ๆ เช่นเดียวกับคนเราทำงานมาก ๆ มีทุกข์มาก ๆ ก็ต้องเข้าวัดถือศีลเพื่อทำจิตสงบ (หรืออาจไม่ใช่วัดก็ได้แต่เป็นสถานที่ที่เงียบสงบพอจะได้จางคลายจากทุกข์) หรือพนักงานก็ต้องมีวันหยุดพักร้อนไปเที่ยวทะเล ไปเที่ยวภูเขา พักผ่อนหย่อนใจบ้าง ซึ่งจิตจะได้พักผ่อนมากแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับภาวะที่จิตได้มีโอกาสสงบลงในช่วงเวลานั้น ๆ

          อันที่จริงการเข้าเงียบต่างก็มีในวัฒนธรรมของทุกศาสนา สุดแท้แต่จะอยู่ภายใต้ชื่ออะไร ที่สุดแล้วก็คือกระบวนการทำให้ศาสนิกได้เข้าถึงหัวใจของศาสนาตน รวมถึงการค้นพบและเข้าใจตนเองอย่างถ่องแท้

          สุดท้ายนี้ข้าพเจ้าจึงขอสมาทานว่าจะเข้าเงียบปีละครั้ง เพราะเห็นแล้วว่าการเข้าเงียบมีคุณค่ากับสุขภาพจิตเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับการเป็นนักบวชที่ต้องทำงานสัมพันธ์กับสังคมด้วยแล้ว การเข้าเงียบเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้เลย เพราะเราต้องรับอารมณ์จากข้างนอกเข้ามาข้างใน หากภายในของเราไม่สงบเพียงพอแล้ว ปัญหาสังคมที่เรากำลังเข้าไปปฏิสัมพันธ์ด้วยอาจย้อนกลับมาเป็นพิษกับเราได้ และอาจทำให้เรื่องราวนั้น ๆ ร้อนยิ่งขึ้นไปอีก การเข้าเงียบจึงไม่ได้มีความสำคัญกับนักบวชเท่านั้น แต่สำหรับฆราวาสชาวพุทธทั่วไปก็น่าจะมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาว NGOs ทั้งหลายที่ต้องทำงานเปลี่ยนแปลงสังคมเพราะเป็นเรื่องหนัก

          การเข้าเงียบจึงไม่ใช่แค่การหยุดพูดธรรมดา ๆ แต่เป็นการหันกลับเข้ามาดูตนเองอย่างลึกซึ้งทีเดียว.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :