เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๗
บทความพิเศษ พระไพศาล วิสาโล
เพราะเอื้ออาทร จึงฆ่าตัดตอน

 

วัยรุ่นอายุสิบสี่ก่อคดีสะเทือนขวัญ สังหารเด็กหนุ่มคนหนึ่งถึงแก่ความตายเพื่อแสดงความเก่งกล้าให้เพื่อน ๆ ในแก๊งเห็น แม่ของผู้ตายเจ็บปวดรวดร้าวยิ่งนัก ทุกครั้งที่มีการสืบพยานในศาล เธอเข้าไปนั่งฟังอย่างสงบและนิ่งเงียบ มีประโยคเดียวเท่านั้นที่ออกจากปากเธอ นั่นคือหลังจากที่ศาลตัดสินจำคุกฆาตกรวัยรุ่น เธอเดินตรงเข้าไปหาเขา แล้วพูดว่า "ฉันจะฆ่าเธอ"

          หลังจากนั้นหกเดือน เธอก็เริ่มไปเยี่ยมวัยรุ่นผู้นั้น แล้วฝากเงินค่าบุหรี่ให้เขาก่อนจากกัน นับแต่นั้นเธอก็ไปเยี่ยมเขาบ่อยขึ้น แต่ละครั้งก็เอาอาหารและของฝากไปให้ เมื่อคุ้นเคยกับเขา เธอจึงรู้ว่ามีเธอคนเดียวเท่านั้นที่ไปเยี่ยมเขา เขาไม่มีญาติพี่น้องเลยเพราะเป็นเด็กข้างถนน

          เมื่อใกล้พ้นโทษจำคุกสามปี เธอทราบว่าชายหนุ่มยังไม่รู้ว่าจะไปทำมาหากินอะไรหลังออกจากคุก เธอจึงหางานให้เขาทำ แล้วชวนเขามาพักในบ้านของเธอ

          แปดเดือนผ่านไปไม่มีอะไรเกิดขึ้น แล้วเย็นวันหนึ่งเธอก็เรียกเขาไปคุยในห้อง เธอเริ่มต้นด้วยคำถามว่า "เธอจำได้ไหมตอนที่อยู่ในศาล ฉันพูดว่าจะฆ่าเธอ ?" ชายหนุ่มพยักหน้า เธอจึงพูดต่อว่า "ฉันไม่ต้องการเห็นคนที่ฆ่าลูกฉันยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ฉันต้องการให้เขาตาย เพราะเหตุนี้แหละฉันจึงไปเยี่ยมเธอและเอาของไปให้ เพราะเหตุนี้แหละฉันจึงหางานให้เธอและให้เธออยู่บ้านฉัน" ถึงตรงนี้ชายหนุ่มไม่แน่ใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป แล้วแม่ของผู้ตายก็พูดต่อไปว่า

          "ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเธอ ตอนนี้เจ้าวัยรุ่นคนนั้นได้จากไปแล้ว ทีนี้ฉันจะถามเธอล่ะว่า ในเมื่อลูกของฉันจากไปแล้ว เจ้าฆาตกรก็จากไปแล้วเช่นกัน เธอยังอยากจะอยู่ที่นี่อีกหรือเปล่า ฉันอยากรับเธอเป็นลูกหากเธอไม่ว่าอะไร"

          ในที่สุดเธอได้กลายเป็นแม่ของคนที่ฆ่าลูกเธอ ส่วนฆาตกรผู้หลงผิดก็ได้แม่ซึ่งเขาไม่เคยมีมาก่อนในชีวิต

          เรื่องนี้เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเมื่อหลายปีก่อน ชะตากรรมของผู้เป็นแม่ในเรื่องข้างต้น มิได้แตกต่างจากผู้หญิงอีกหลายคนในโลกที่ต้องสูญเสียลูกไปด้วยน้ำมือของคนสิ้นคิดที่มีพฤติกรรมดัง "สวะสังคม" เมื่อประสบเหตุการณ์เช่นนี้ คนส่วนใหญ่คงไม่ปรารถนาอะไรนอกจากการเห็นฆาตกรถูกฆ่าให้ตายตกตามกัน ผู้เป็นแม่ในเรื่องนี้ก็เช่นกัน เธอต้องการ "ฆ่า" ฆาตกรคนนั้นด้วยตัวเธอเอง แต่การฆ่าของเธอไม่เหมือนของคนอื่น เธอ "ฆ่า"ฆาตกรด้วยการทำให้ความเป็นฆาตกรของวัยรุ่นคนนั้นดับสูญไป และให้ความดีเข้ามาสิงสถิตในตัวเขาแทน

          ไม่มีวิธีใดที่จะ "ฆ่า" ฆาตกรได้ดีไปกว่าวิธีนี้อีกแล้ว การฆ่าด้วยปืนผาหน้าไม้ แม้ทำให้ฆาตกรคนหนึ่งตายไป แต่ก็บ่มเพาะฆาตกรคนใหม่มาแทนที่ ฆาตกรคนนั้นอาจได้แก่ญาติพี่น้องหรือลูกหลานของผู้ตายที่เคียดแค้นพยาบาท หรือคนที่รับรู้เหตุการณ์แล้วซึมซับรับเอาวิธีรุนแรงดังกล่าวมาไว้กับตัว แน่ละฆาตกรอีกคนหนึ่งที่มองข้ามไปไม่ได้ก็คือคนที่ลงมือฆ่าฆาตกรในนามความยุติธรรมนั้นเอง

          ผู้เป็นแม่ในเรื่องนี้ไม่เพียงทำให้ฆาตกรคนหนึ่งตายจากไป หากยังทำให้มีคนดีคนหนึ่งเกิดขึ้นมาแทนที่ เป็นการสิ้นสุดวัฏฏะแห่งความรุนแรงและความเคียดแค้นพยาบาท สมกับพุทธภาษิตว่า "เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร" และ "พึงชนะความชั่วด้วยความดี"

          การฆ่าแบบนี้ใช่ไหมที่เป็นการตัดตอนวงจรอุบาทว์ได้อย่างสิ้นเชิง เป็นการฆ่าตัดตอนที่ประเสริฐอย่างยิ่ง ฆ่าตัดตอนแบบนี้จะทำได้ ต้องอาศัยความเอื้ออาทรอย่างยิ่ง เป็นความเอื้ออาทรต่อฆาตกรด้วยตระหนักว่า เขาไม่เคยได้พานพนความอบอุ่นในชีวิตเลยจึงมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงเช่นนั้น ความเอื้ออาทรอย่างนี้เกิดขึ้นได้เพราะมีศรัทธาในมนุษย์ว่าสามารถกลับตัวเป็นคนดีได้ หากมีใครสักคนที่รักเขา เห็นคุณค่าของเขา

          การฆ่าด้วยอาวุธนั้น ไม่มีใครเป็นฝ่ายได้เลย มีแต่เสียทั้งสองฝ่าย ฆาตกรนั้นสูญเสียชีวิต ส่วนผู้ฆ่าหรือผู้สนับสนุนให้ฆ่า แม้จะได้ความสะใจ แต่ก็ได้สร้างวิบากกรรมให้แก่ตนเอง ไม่ช้าก็เร็วผลร้ายย่อมตกถึงตัว แต่การฆ่าด้วยการไม่จองเวรนั้น ทุกฝ่ายมีแต่ได้ ไม่มีเสีย ดังเรื่องจริงข้างต้น วัยรุ่นที่เป็นฆาตกรได้ชีวิตใหม่ ส่วนหญิงผู้นั้น ก็ได้ลูกคนใหม่มาทดแทนคนเก่าที่ตายไป

          การฆ่าอย่างหลังนี้แหละที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ เป็นการฆ่าอีกแบบหนึ่งที่นอกเหนือจากการไม่ว่ากล่าวตักเตือน ดังที่ได้เคยตรัสเทียบเคียงกับการฝึกม้า กล่าวคือม้าที่ฝึกไม่ได้ ย่อมถูกฆ่าทิ้งฉันใด ผู้ใดที่พระองค์ฝึกไม่ได้ พระองค์ก็ทรงฆ่าทิ้งฉันนั้น

          ยังมีการฆ่าอีกแบบหนึ่งที่ชาวพุทธควรใส่ใจกันให้มาก ๆ การฆ่าแบบนี้ต้องอาศัยความเอื้ออาทรเช่นกัน แต่เป็นการเอื้ออาทรต่อตนเอง

          เอื้ออาทรต่อตนเองคือการรักตน ไม่ปรารถนาให้ตนเป็นทุกข์ ด้วยเหตุนี้จึงพยายามหาหนทางป้องกันตัวเองไม่ให้ทุกข์เข้ามากระทำย่ำยี คนเป็นอันมากรักตนด้วยการหาสิ่งเสพมาปรนเปรอประสาททั้งห้า หรือด้วยการตักตวงทรัพย์สมบัติ สะสมอำนาจ ไล่ล่าหาชื่อเสียง แต่แล้วกลับกลายเป็นการสร้างทุกข์ให้แก่ตนเอง ทุกข์เพราะแก่งแย่งแข่งขันกับผู้อื่น ทุกข์เพราะคอยปกป้องหวงแหนไม่ให้ใครมาแย่งชิง ทุกข์เพราะสิ่งเหล่านั้นเสื่อมทรุดแปรเปลี่ยนไป หรือถึงแม้สิ่งเหล่านั้นยังไม่แปรเปลี่ยนไปให้เห็นแต่ก็ต้องทุกข์เพราะรสชาติแห่งสุขจางคลายไป

          ทุกข์เหล่านี้กล่าวอย่างถึงที่สุดก็ล้วนมีสาเหตุจากความยึดมั่นถือมั่นว่าเที่ยงและเป็นตัวตน ซึ่งโยงยึดอยู่กับความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นเราเป็นของเรา พูดอย่างท่านอาจารย์พุทธทาสก็คือ เกิด "ตัวกู ของกู" ขึ้นมาในจิตใจ "ตัวกู ของกู"นี้แหละที่ทำให้เกิดวงจรแห่งความทุกข์ขึ้น เพราะเมื่อมีตัวกูขึ้นมา ก็จะต้องมีสิ่งที่มาคุกคามตัวกูทันที ทำให้ตัวกูถูกบีบคั้น จนเสื่อมทรุดดับไปในที่สุด (ชรามรณะ) อาทิเช่น เมื่อรู้สึกสำคัญมั่นหมายว่า "กูเก่ง" ก็ย่อมเกิดความระแวงหรือความกลัวว่าคนอื่นจะเก่งกว่ากู เวลาเห็นใครมีความสามารถมากกว่า หรือใกล้เคียงกับตัว ก็จะรู้สึกว่า "กูผู้เก่ง" ถูกกระทบ เกิดความอิจฉา ไม่พอใจ เหล่านี้คือความทุกข์ที่มี "กู" เป็นผู้รับไปเต็ม ๆ เกิดความรู้สึกว่า "กูทุกข์"

          ท่านอาจารย์พุทธทาสได้พร่ำสอนว่า อย่าเผลอปล่อยให้เกิดตัวกูขึ้นมา เริ่มตั้งแต่เวลาเกิดผัสสะ ไม่ว่าตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายได้สัมผัส ให้มีสติเข้าไปกำกับ สักแต่ว่ารับรู้ ไม่ปล่อยให้เกิดตัวกูเป็นผู้เห็น ผู้ได้ยิน ฯลฯ หรือเมื่อเกิดเวทนาตามมา จะร้อนหรือหนาว เจ็บหรือสบาย ก็ให้มีสติ รับรู้เวทนาที่เกิดขึ้น แต่อย่าให้เกิดตัวกูเป็นผู้ร้อน ผู้หนาว หากขาดสติ ก็จะเกิดตัณหาต่อจากเวทนาทันที เกิดความอยากได้ใกล้ชิด หรืออยากผลักไสให้ไกลห่าง แล้วก็จะปรุงต่อไปเป็นอุปาทาน ภพ ชาติ ตามด้วยชรามรณะ แล้วก็ต่อไปสู่ทุกข์ในที่สุด

          เห็นได้ว่าวงจรแห่งความทุกข์เกิดขึ้นเมื่อขาดสติ ปล่อยให้ตัวกูเกิดขึ้น ไม่ว่าในขั้นผัสสะ หรือเวทนา ถ้าไม่อยากให้เกิดทุกข์ วิธีที่ดีที่สุดก็คือตัดวงจรนี้ให้ขาดก่อนที่มันจะลามไปสู่ความทุกข์ วิธีตัดวงจรนี้ก็คือการมีสติกำกับ ระงับตัวกูไม่ให้เกิดตั้งแต่ขั้นผัสสะ หรือถ้าไม่ทัน ก็ใช้สติเข้าไปดูเวทนา ตัวกูก็จะไม่เกิดขึ้นมาเป็นเจ้าของเวทนา

          พูดอีกอย่างคือ ถ้ารักตัวกลัวทุกข์ ก็ต้องกล้าที่จะ "ฆ่า" ตัวกูเสียตั้งแต่ต้นมือ อันจะเป็นการตัดตอนวงจรอุบาทว์หรือวงจรแห่งความทุกข์ ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่า วงจรแห่งปฏิจจสมุปบาท

          ที่จริงท่านอาจารย์พุทธทาสยังแนะเรามากกว่านั้น ตัวกูนั้นเกิดจากอวิชชา มีอวิชชาเป็นแม่ ดังนั้นท่านจึงสอนว่า "เมื่อแม่ของมันคืออวิชชา ก็ให้ฆ่าแม่ของมันเสีย ด้วยวิชชาหรือปัญญาที่รู้ว่า ไม่มีอะไรที่ควรยึดมั่นถือมั่น"

แม่และลูก          สรุปก็คือ เราต้องเรียนรู้ที่จะฆ่าทั้ง "ตัวกู" และ "แม่ของตัวกู" คืออวิชชา

          การฆ่าอย่างนี้แหละที่เป็นการฆ่าตัดตอนอันประเสริฐสุด ฆ่าตัดตอนอย่างนี้แหละที่ชาวพุทธควรส่งเสริมกันให้มาก ๆ แทนที่จะไปสนับสนุนการฆ่าตัดตอนแบบอื่น ๆ ซึ่งไม่ได้ช่วยตัดตอนวงจรอุบาทว์แห่งความทุกข์ ทั้งในสังคมและในจิตใจอย่างแท้จริงเลย

          การฆ่าตัดตอนอันประเสริฐนี้ ทำไม่ได้ง่ายนัก แต่ก็ไม่ยากเกินไปหากเรารู้จักเอื้ออาทรต่อตัวเองอย่างถูกต้อง ที่แล้วมาเรารักตัวเองไม่ถูกต้อง เพราะไปเอื้ออาทรต่อกิเลสและอวิชชาเสียมากกว่า

          ขอให้หันกลับมาดูจิต หมั่นพิจารณาตน ดำรงสติให้มั่น แล้วปัญญาจะเกิดในที่สุด เมื่อนั้นเราจะรู้จักวิธีฆ่าตัดตอนวงจรแห่งความทุกข์ และเข้าถึงชีวิตที่สุขเกษมศานต์อย่างแท้จริง.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :