เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๗
บทความหลัก
สุลักษณ์ ศิวรักษ์

สังคมไทยกับทศวรรษแห่งการจากไปของพุทธทาสภิกขุ
ปาฐกถาในงาน ทศวรรษแห่งการจากไปของพุทธทาสภิกขุ
วันอังคารที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๖
ณ ห้องประชุมศรีอยุธยา หอวชิราวุธ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ

 

๑

          ท่านอาจารย์พุทธทาสมีความสำคัญกับพวกเราเพียงใด ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง พวกเราแต่ละคนเข้าใจท่านได้มากน้อยเพียงใดนั้น เป็นประเด็นที่ต่างออกไป แม้คนในวงนอก รวมถึงในนานาชาติ ก็ดูจะได้รับอิทธิพลจากคำสั่งสอนของท่านมากยิ่ง ๆ ขึ้น อย่างน้อยงานนิพนธ์ของท่าน ก็ดูจะเป็นเพียงผลงานของบุคคลเพียงท่านเดียวจากบ้านเมืองนี้ ที่มีงานแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากที่สุด และมีผู้เขียนถึงท่านในภาษาต่าง ๆ มากกว่าคนไทยอื่นใด ทั้งนี้ใช่ว่าข้อเขียนนั้น ๆ จะเป็นไปในแนวบวกเท่านั้นก็หาไม่

          จะอย่างไรก็ตาม คนไทยส่วนใหญ่ในเวลานี้ก็ยังคงไม่รู้จักท่านอยู่นั่นเอง หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อเสียงเกียรติคุณของท่าน แม้จนคนที่ไปสวนโมกข์ก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาเหล่านั้นจะเข้าถึงเนื้อหาสาระในทางธรรมที่ท่านอาจารย์พยายามจะสื่อ แม้ผู้ที่ประจำอยู่ในสวนโมกข์ต่อจากท่านเอง ก็สงสัยว่าเข้าใจสาระธรรมจากท่านมากน้อยเพียงใด หรือสักแต่รักษาชื่อเสียงของท่านและผลงานของท่าน ตลอดจนสถานที่ที่ท่านก่อตั้งขึ้นมาไว้ให้เป็นดังความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ โดยกลัวการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่ตนเข้าใจว่าจะทำให้ท่านเสื่อมเสีย ทั้ง ๆ ที่การเปลี่ยนแปลงในทางอุปายโกศลนั้น คือหัวใจของสวนโมกข์ ตั้งแต่สวนโมกข์เก่ามาจนสวนโมกข์นานาชาติ รวมถึงโครงการธรรมมาตา ซึ่งไม่มีการสานต่อจากที่พระคุณท่านสร้างสรรค์หรือกรุยทางไว้แต่ประการใด แม้พระคุณท่านจะจากเราไปได้ ๑๐ ปีเข้านี่แล้วก็ตาม

          อย่างน้อยเมื่อท่านอาจารย์ตายจากไปได้ถึงหนึ่งทศวรรษเช่นนี้แล้ว ผู้ที่ตั้งตัวเป็นศัตรูกับท่าน ก็คงลดความเป็นปฏิปักษ์ลง แม้บางคนจะยังจงใจไปในทางที่เห็นว่าท่านเป็นเดียรถีย์ทาส ก็ยังคงมีอยู่ อย่างน้อยก็ทางลังกาทวีป แต่ที่ในเมืองไทย คงไม่มีใครกล้ากล่าวคำจ้วงจาบหยาบช้าถึงท่านกันอีกแล้ว แม้ในวงการของพวกนักอภิธรรมในบางสำนัก

          ถ้าจะให้ข้าพเจ้าพรรณนาถึงท่านอาจารย์ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ก็ย่อมทำได้ และถ้าท่านอาจารย์รับทราบได้โดยญาณวิถีใด ท่านก็คงหัวเราะหึ ๆ อย่างชอบใจ โดยท่านย่อมถือเอาว่าถ้อยคำเหล่านั้นเป็นของข้าพเจ้า ซึ่งควรต้องรับผิดชอบกับคำพูดและข้อเขียนของตัวเอง ท่านไม่มีตัวตนที่จะมารับคำติชมจากใคร ๆ

          ข้าพเจ้าเห็นว่าในโอกาสที่ท่านอาจารย์จากไปเข้ารอบทศวรรษแล้วนี่ เราน่าจะหาบทเรียนจากชีวิตและผลงานของท่าน มาเป็นบรรทัดฐาน ในทางสร้างสรรค์สำหรับสังคมปัจจุบัน อันควรงอกงามออกไปสู่อนาคต จะดีกว่า เข้าใจว่านี่คงถูกใจท่านอาจารย์อีกด้วย

          แม้บทเรียนจากท่านอาจารย์ก็มีมากมายมหาศาล อย่างเกินที่จะนำมากล่าวได้ในเวลาอันจำกัดเช่นนี้ หากข้าพเจ้าเห็นว่ามีบางประเด็นที่เด่นและสำคัญยิ่ง อันควรที่เราจะต้องตราเอาไว้ แล้วนำเอาไปสานต่อให้ได้ นั่นจะเป็นคุณประโยชน์อย่างแท้จริง

สุลักษณ์ ศิวรักษ์
สุลักษณ์ ศิวรักษ์
.

          ข้อแรกที่พึงตราเอาไว้คือ ด.ช.เงื่อม หรือนายเงื่อมนั้น มีโครงสร้างทางร่างกาย ตลอดจนความคิดจิตใจที่เป็นไปในทางที่ใหญ่โต หรือจะพูดว่าอัตตาแรง ก็ไม่ผิด แม้จะเกิดมาในสกุลคนธรรมดาสามัญ แต่แววแห่งความเป็นอัจฉริยะปรากฏกับตัวท่านเองอย่างแน่นอน แม้ท่านจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม ยิ่งเมื่อไปบรรพชาอุปสมบทเข้าด้วยแล้ว แม้ตามประเพณี จะบวชกันเพียงพรรษาเดียว แต่ท่านก็ไปได้รับแรงบันดาลใจ จากกัลยาณมิตรที่อาวุโสกว่า ในคณะสงฆ์ ซึ่งชี้ให้เห็นคุณค่าถึงการทรงพรหมจรรย์ ว่านั่นจะเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ได้ยิ่งกว่าชีวิตของผู้ครองเรือน

          ข้าพเจ้าถือว่านี่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ โดยที่ในสมัยนี้ คนที่จะเห็นคุณค่าของความเป็น อนาคาริก ย่อมน้อยลง จนแทบจะไม่เหลือ อย่าว่าแต่ในบรรดาผู้ครองเรือนด้วยกันเลย แม้บรรพชิตส่วนใหญ่ ก็ไม่เห็นคุณค่าของพรหมจรรย์กันเสียแล้วอีกด้วย

          เพราะอัตตาอันยิ่งใหญ่ของพระเงื่อมนี่เอง ที่ท่านใช้อุปายโกศล นำเอาผ้ากาสาวพัสตร์มาลดอัตวาทุปาทานของตัวท่าน หรือปรับอัตตาในทางความเห็นแก่ตัว ให้ผันไปเพื่อรับใช้สรรพสัตว์ จนท่านสยบยอมลงไปเป็นทาสของพระพุทธเจ้า จะว่านี่เป็นอิทธิพลทางจิตใต้สำนึก ที่เกิดมาจากกระแสของมหายานเดิม ที่เคยมีภูมิฐานอยู่ทางไชยามานานนักแล้วก็ได้

          ก็การที่จะรับใช้ผู้อื่นและสัตว์อื่นได้นั้น ตนเองต้องมีจุดยืนที่มั่นคงในทางพระธรรมวินัยเสียก่อน พระภิกษุเงื่อมจึงเล่าเรียนจนสอบได้ถึงนักธรรมเอก โดยเราต้องไม่ลืมว่าหลักสูตรนักธรรมนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงวางขั้นตอนไว้ให้เหมาะกับพระนวกะในขั้นนักธรรมตรี ให้เหมาะกับพระมัชฌิมะในขั้นของนักธรรมโท และให้เหมาะกับพระเถระในขั้นของนักธรรมเอก น่าเสียดายที่ในระยะต่อ ๆ มา การสอบนักธรรมเป็นเพียงเพื่อได้รับใบประกาศนียบัตร จะได้เอาไปเป็นบันไดในการสอบเปรียญตรี โท เอก จนถึงกับลอกข้อสอบกัน ผู้คุมสอบก็ปล่อยไป และผู้ที่ได้เป็นนักธรรมเป็นขั้น ๆ ก็ได้เพียงใบประกาศนียบัตร โดยไม่รู้ถึงเนื้อหาสาระของความเป็นพระนวกะ พระมัชฌิมะ และพระเถระเอาเลย หากความข้อนี้พระเงื่อมจับประเด็นได้ถึงแก่น ท่านจึงเป็นนักธรรมที่แท้ และท่านเป็นนักเทศน์ ที่แตกฉานมาจากความเป็นนักธรรมประกอบไปด้วย โดยท่านแม่นยำในทางธรรมและประพฤติปฏิบัติตนตามพระธรรมวินัยที่เนื้อหา อย่างน่าอนุโมทนายิ่งนัก

          การที่พระเงื่อมดำรงทรงพรหมจรรย์อยู่ได้เช่นนี้ เราควรต้องขอบใจน้องชายของท่าน คือนักเรียนแพทย์ยี่เกย พานิช ผู้ยอมเสียสละอาชีพแพทย์ ซึ่งเป็นของใหม่ที่พึงปรารถนาของชาวชนบท จนอุตส่าห์สอบแข่งขันเข้าไปเรียนได้ถึงเมืองกรุงแล้ว และแล้วนายยี่เกยก็ยอมสละอนาคตกับการเป็นหมอหลวงลง เพื่อตนเองจะได้กลับมาดูแลกิจการค้าที่บ้านแทนพี่ชาย เพื่อพระพี่ชายจะได้อุทิศตนเพื่อพระศาสนาอย่างเต็มที่

          ใช่แต่เท่านั้น นายยี่เกยยังช่วยหาหนังสือภาษาอังกฤษและนิตยสารในภาษานั้นอันว่าด้วยพุทธศาสนา ส่งมาให้พระพี่ชายได้อ่านเนือง ๆ อีกด้วย ทั้ง ๆ ที่เวลานั้นหนังสือภาษาอังกฤษที่เนื่องด้วยพระพุทธศานาจะมีน้อยเพียงใด แต่อาศัยความรู้จากนอกประเทศนี้แล ที่ช่วยให้พระเงื่อมมีทัศนะอันกว้างไกลไปกว่าพระภิกษุ หรือฆราวาสไทยที่ร่วมสมัยกับท่านโดยมาก หากท่านเองก็ศึกษาจากคัมภีร์พระไตรปิฎก ซึ่งเป็นต้นตอที่มาของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทอีกด้วย

          ก็การเรียนภาษาอังกฤษและภาษาบาลีจากชนบทอันห่างไกลอย่างไชยา ย่อมสู้ไม่ได้กับการเข้าไปศึกษา ณ เมืองกรุง อันเป็นที่รวมของนักปราชญ์ราชบัณฑิต ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ อย่างน้อยนี่ก็เป็นความเชื่อของชาวบ้านทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะก็จำเดิมแต่รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา

          พระภิกษุเงื่อมเข้าไปเรียนภาษาบาลีที่กรุงเทพฯ พำนัก ณ วัดปทุมคงคา โดยท่านสามารถมองเห็นพุทธประเพณีไปในทางที่ดัดอัตตาของตัวท่านแทบทุก ๆ ทาง เช่นการลงอุโบสถทุกปักษ์นั้น ที่วัดปทุมคงคากำหนดให้พระภิกษุสงฆ์ลงฟังพระปาฏิโมกข์ ตอนบ่าย พระส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าถูกบังคับให้ไปฟังคำสวดที่ตนไม่เข้าใจ แม้สาระของการฟังพระปาฏิโมกข์นั้นก็เพื่อภิกษุแต่ละรูปจะได้เกิดมนสิการ ว่าตนได้ล่วงอาบัติข้อใดไป ตามที่มีกล่าวไว้ในพระปาฏิโมกข์ จะได้ปลงอาบัติเสีย แล้วปรับนิสัยสันดานให้เป็นไปในทางหิริโอตตัปปะ เพื่อคงความเป็นลัชชีไว้ ถ้าต้องอาบัติถึงขั้นสังฆาทิเสส ก็ควรละหมู่สงฆ์ไปเข้าปริวาสกรรม เพื่อจะได้มีความผ่องใสดีงาม ในการแสวงหาความบริสุทธิ์ แล้วกลับเข้าหาหมู่คณะเพื่อความสงบและความสว่าง ใช่แต่เท่านั้น พระหนุ่มเมื่อฉันอิ่มแล้ว ต้องไปลงโบสถ์ ก็มักง่วงหรือหลับกันเป็นแถว ๆ ใครสวดปาฏิโมกข์ได้เร็วเท่าไร ย่อมถูกใจพระหนุ่มกันเท่านั้น แต่พระเงื่อมถือว่าการนั่งฟังปาฏิโมกข์ยามบ่ายเป็นอุบายในการฝึกตนเป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้ง่วง ให้เกิดสติสัมปชัญญะ เพื่อเข้าใจเนื้อหาสาระของพระวินัย อันจะนำมาประยุกต์ใช้ให้การทรงพรหมจรรย์เป็นไปอย่างสะอาดสมตามศีลสิกขา แล้วจะได้เข้าหาความสงบตามจิตสิกขา เพื่อให้ได้เกิดความสว่างทางปัญญาสิกขา

          เมื่อพระเงื่อมสอบได้เป็นเปรียญ ๓ ประโยคแล้ว สมมติฐานทางสังคมย่อมเปลี่ยนไปให้ท่านกลายเป็นพระมหาเงื่อม แต่แล้วท่านกลับเห็นว่าราชธานีของสยามเมื่อ ๗๐ ปีกว่ามานี้มีมลพิษเสียแล้ว ทั้งทางรูปธรรมและทางนามธรรม คือบ้านเมืองสกปรกรกรุงรัง วัดวาอารามไม่เป็นที่ก่อให้เกิดสัปปายะ มลภาวะก็เริ่มขึ้นด้วยแล้ว แม้การศึกษาพระปริยัติธรรม ก็เป็นไปเพื่อให้เปรียญได้ประโยคสูง ๆ จะได้เป็นช่องทางให้ได้สึกหาลาเพศไปรับราชการ ท่านที่คงสมณเพศอยู่ต่อไป ก็หวังเพียงแต่จะกระเตื้องไปในทางสมณศักดิ์ อย่างยากที่จะมีผู้ซึ่งแสวงหาโลกุตรธรรมอยู่ในวงการของนักปริยัติ จนบางเกจิอาจารย์ถึงกับประกาศว่าความเป็นอรหันต์นั้นเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว บวชเรียนไปก็เพียงหวังสวรรค์สมบัติ หาได้ต้องประสงค์นิพพานสมบัติไม่ หาไม่ก็หวังจะได้ไปเกิดในโลกของพระศรีอารยเมตไตรย์โพธิสัตว์ ซึ่งจะมาตรัสรู้เป็นพระปัจฉิมพุทธเจ้าในภัทรกัปป์นี้

          ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นเหตุให้พระมหาเงื่อมไม่มีแก่ใจที่จะสมัครอยู่ต่อไปในเมืองกรุง ซึ่งเต็มไปด้วยพระซึ่งฉันหมาก สูบบุหรี่ นัตถุ์ยา รวมทั้งท่านที่เป็นโหรเอย หมอน้ำมนต์เอย รวมถึงไสยเวทวิทยาต่าง ๆ อีกมาก ซึ่งปนเปเข้ามากับพุทธศาสนาอย่างแยกกันแทบไม่ออก ใช่แต่เท่านั้น การสอบเปรียญของสนามหลวง ก็ติดอยู่กับรูปแบบของการแปลที่มุ่งในทางนิรุกติ ยิ่งกว่าในการเข้าถึงอรรถธรรมให้แตกฉาน

          ทั้งหมดนี้ทำให้พระมหาเงื่อมเหี่ยวห่อใจ ท่านมองไม่เห็นว่าพระธรรมวินัยจะมีอิทธิพลได้อย่างไรกับผู้คนส่วนใหญ่ แม้ในวงการคณะสงฆ์เอง ก็เข้าได้ไม่ถึงแก่นธรรมเสียแล้ว จะเอาอะไรไปอนุเคราะห์พุทธบริษัท โดยที่ปฏิคาหกได้แต่รับอามิสทานมาจากชาวบ้าน หากธรรมทานที่เพื่อนสหธรรมิกของท่านให้ไปยังชาวบ้านนั้น ล้วนเป็นแต่ธรรมะจากหนังสือ จากทฤษฎี ที่เข้าได้ไม่ถึงกับคนรุ่นใหม่เอาเลย อย่างน้อยในช่วงเวลาเมื่อ ๗ ทศวรรษกว่ามานี้ มีคนชั้นกลางมากขึ้นทุก ๆ ที บ้านเมืองก็ซับซ้อนซ่อนเงื่อนยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยไม่มีใครรู้ธรรมพอที่จะเอามาประยุกต์เพื่อชี้นำบุคคลร่วมสมัยได้เอาเลยก็ว่าได้ แม้พระผู้ใหญ่บางองค์ในเวลานั้น จะยังสามารถสอนธรรมได้เป็นอย่างดีกับชนชั้นสูงในระบบศักดินาเดิมก็ตามที

          ฟางเส้นสุดท้ายสำหรับพระมหาเงื่อม ที่ช่วยให้ท่านตัดสินใจอย่างเร่งด่วนในการละเมืองกรุง กลับไปสู่บ้านเดิมที่ไชยา ก็คือ ท่านเห็นพระร่วมวัดต้ม ถั่วเขียวฉันกันในยามวิกาล ท่านเห็นว่าพระพวกนั้นเป็นอลัชชี ไม่มียางอาย เพราะสมาทานสิกขาบทในเรื่องวิกาลโภชน์ แล้วไม่ทำตามนั้น

          ท่านเห็นว่าท่านจะอยู่ร่วมวัดกับอลัชชีอย่างไรได้ แม้ทางไชยา พระอาจมีความรู้น้อยกว่าพระในเมืองหลวง แต่การเคร่งครัดทางศีลาจารวัตร ยังเป็นเหตุให้ท่านภูมิใจในศีลสิกขาของสหธรรมิกในบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน

          ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่พระภิกษุไทยร่วมสมัยอาจไม่เข้าใจเสียแล้วเอาเลยด้วยซ้ำ โดยเราต้องตราไว้ว่า พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทของเรานั้น ต่างไปจากมหายานและวัชรยาน ตรงที่ความสำคัญสุดอยู่ที่พระเถระ ซึ่งต้องมีเวลาพิจารณาเนือง ๆ ถึงโทษแม้จะเล็กน้อยก็ต้องปลงเสีย ไม่ให้มีมลทินทางศีลสิกขา ด้วยเหตุนี้ การปลงอาบัติก็ดี การหมั่นฟังพระปาฏิโมกข์ก็ดี การรับคำเตือนซึ่งกันและกันในวันปวารณาก็ดี ย่อมเป็นไปเพื่อให้พระเถระมีศีลอันบริสุทธิ์ เพราะถ้าศีลไม่บริสุทธิ์ จักเกิดสัมมาสมาธิไม่ได้ แล้วจะเข้าถึงสัมมาปัญญาได้อย่างไร

          พระเถระที่เป็นลัชชี ผู้ฝึกตนมาดีแล้วทางอธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา เป็นปัจจัยหลัก ให้ท่านนั้น ๆ เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ รับฆราวาสเข้ามาเป็นพระนวกะในสังคมสงฆ์ แล้วพระเถระที่เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ย่อมอบรมบ่มนิสัยพระนวกะอย่างน้อยห้าปี จนช่วยตัวเองได้ในทางธรรมวินัย จึงจักพ้นนิสัยมุตตกะ เป็นพระมัชฌิมะ ซึ่งย่อมต้องอบรมตัวเองในทางศีล สมาธิ ปัญญา อีกอย่างน้อยห้าปี จึงจะเป็นพระเถระ

          ถ้าพระเถระประกอบอุปสมบทกรรมโดยไม่นำพาต่อสัทธิวิหาริกอันเตวาสิก นี่ย่อมเป็นความเสื่อมข้อที่หนึ่ง ยิ่งให้อุปสมบทกรรมเพราะเห็นแก่อามิส ยิ่งเป็นองค์ประกอบแห่งความเสื่อมอย่างสำคัญ นอกไปจากนั้นแล้ว การที่พระเถระไม่อบรมบ่มนิสัยพระนวกะให้ก้าวหน้าไปในทางธรรม โดยรู้จักรักษาตัวในทางวินัย นั่นเท่ากับเป็นการปิดหนทาง ไม่ให้เถรวาทมีอนาคตทางบุคคลากรต่อ ๆ กันไปเอาเลย ยิ่งพระเถระนั้น ๆ เองไม่นำพากับความประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยด้วยแล้ว นั่นย่อมเป็นความเสียหายอันสำคัญยิ่ง จนพระเถระนั้น ๆ กลายเป็นอลัชชีไป คือไม่มียางอายในทางพระธรรมวินัยเอาเลย จนถึงกับมีการวิ่งเต้นเดินเหินเพื่อแสวงหายศศักดิ์อัครฐานและทรัพย์ศฤงคาร นั่นก็คือจุดจบของพระศาสนาในฝ่ายเถรวาทเลยทีเดียว มิไยต้องเอ่ยถึงว่าอลัชชีนั้น ๆ พากันเป็นใหญ่ในสังฆมณฑล จนผู้ที่จะเจริญงอกงามทางสมณศักดิ์ หรือในทางการของพระสังฆาธิการ จำต้องเป็นผู้ที่อ่อนแอในธรรมวินัยไปตาม ๆ กัน จนไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม เหลืออยู่ในกระแสหลักของสถาบันสงฆ์อีกแล้วเอาเลยด้วยซ้ำ

          ถ้าเราจะเอาบทเรียนจากพระมหาเงื่อมกับการต้มถั่วเขียวฉันของสหธรรมิกของท่านเมื่อกว่า ๗ ทศวรรษมาแล้ว แล้วท่านออกไปตั้งสวนโมกข พลาราม ด้วยการโยงปริยัติกับปฏิบัติให้เข้าหากัน เพื่อเข้าถึงปฏิเวธอันเป็นที่สุดแห่งทุกข์ โดยท่านจัดสวนโมกข์ให้เป็นวัดวาอารามอย่างแท้จริง ตามธรรมนิยมในสมัยพุทธกาล อย่างปราศจากความอลังการของอาคารและรูปเคารพต่าง ๆ โดยมีธรรมชาติที่แวดล้อมไว้อย่างเหมาะสม ให้เป็นที่สัปปายะ ทั้งแก่พระและคฤหัสถ์ รวมตลอดถึงสัตว์ต่าง ๆ อีกด้วย เราก็น่าจะสำเหนียกว่าเวลานี้เถรวาทในเมืองไทย อย่างน้อยก็ในสถาบันสงฆ์ตามระบบของทางราชการนั้น มาถึงจุดอุดตัน อันไม่มีทางที่จะฟื้นขึ้นได้แล้ว เถรวาทในระดับชาติ ไม่ได้ถึงเพียงวิสัญญีภาพหากถึงซึ่งมรณภาพไปแล้ว ท่านที่นุ่งสบงทรงจีวรอยู่นั้น อย่างเก่งก็รักษาตัวเองให้รอดได้ในทางศีลสิกขา ไม่ถึงขั้นปาราชิกเท่านั้นเอง แต่แล้วท่านก็ยอมร่วมสังฆกรรมกับอลัชชี และยังไปไหว้กราบผู้ที่ดำรงสมณศักดิ์สูงส่งกว่าท่าน ทั้ง ๆ ที่รู้ว่านั่นคือสมีและอลัชชี และพวกนี้มิใช่หรือที่บันดาลยศศักดิ์อัครฐานให้พระผู้น้อยได้ ทั้งพวกนี้ยังเข้าถึงฐานอำนาจของฆราวาสที่ปราศจากธรรมะ หาไม่ก็เข้าถึงจุดสุดยอดในทางศักดินา ซึ่งถือตนว่ารู้ธรรม (อย่างผิด ๆ) เสียอีกด้วย โดยที่คฤหัสถ์พวกนี้แหละที่อุดหนุนสมีและอลัชชี จะโดยรู้เท่าทันหรือไม่ก็ตาม แม้พระเถระบางรูปอาจจะไม่ใช่อลัชชี แต่การทำพุทธพาณิชย์ ด้วยการเสกวัตถุมงคลออกจำหน่ายจ่ายแจก เพื่อหาเงินมาสร้างสถานที่ต่าง ๆ นั้น ขอถามว่าเป็นกิจของสงฆ์ละหรือ ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับพระผู้น้อยหรือหาไม่ แล้วพระผู้น้อยเหล่านั้นเล่า เมื่อมีสมณศักดิ์สูงขึ้นไป จะคงความเป็นลัชชีไว้ได้หรือ โดยที่ถ้าความกล้าหาญในทางจริยธรรมยังมีอยู่ ก็ยากที่จะเขยิบสถานะขึ้นไปเป็นพระผู้ใหญ่ในวงการพระสังฆาธิการได้ยาก และระดับชั้นของพระสังฆาธิการนั้นแล คือที่มาของสมณศักดิ์ที่สูงขึ้นไปได้เรื่อย ๆ ยิ่งจะให้ท่านพระสังฆาธิการทั้งหลาย เข้าใจถึงโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรงด้วยแล้ว ยิ่งเป็นไปไม่ได้เอาเลย แม้ท่านทรงที่ศีลสิกขาไว้ได้นั้นเล่า ท่านเจริญจิตสิกขากันเพียงใด หรือสักแต่ว่าเป็นไปในทางสมถะอย่างหลับตา หาไม่ก็เสกเป่าไปในทางพุทธพาณิชย์ ครั้นท่านเข้าถึงวิปัสสนา ก็มีการหาเงินจากคนจนมาช่วยคนรวยเป็นองค์ประกอบ และแล้วก็เกิดปัญญาสิกขา จนประกาศตนว่าเป็นพระอรหันต์ แล้วก็ยังใช้วัดเป็นศูนย์สำหรับส่งจดหมายเป็นแสน ๆ ฉบับ เพื่อสนับสนุนนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร อีกด้วย

          พวกเราที่ถือตัวว่าเป็นศิษย์ของท่านอาจารย์พุทธทาส ไม่ว่าเราจะเป็นพระหรือคฤหัสถ์ เราต้องเห็นว่าสถานการณ์ของสถาบันสงฆ์เวลานี้เลวร้ายกว่าที่เจ้ากูต้มถั่วเขียวกันยามวิกาลยิ่งนัก บางวัดเป็นดังกับซ่องโจร นอกจากกินข้าวค่ำและเสพของมึนเมาตลอดจนเล่นการพนันกันแล้ว การดูภาพลามกต่าง ๆ รวมถึงการประกอบอกรณียกิจต่าง ๆ ขนาดที่ฆราวาสยังไม่กล้าทำก็มีกันอย่างกว้างขวางยิ่ง ๆ ขึ้นทุกที โดยที่พระผู้ใหญ่ ดูจะเลวร้าย กว่าพระผู้น้อยเสียอีกด้วยซ้ำ คือท่านนั้น ๆ มีความหน้าไหว้หลังหลอกได้อย่างแยบยลกว่า แล้วเราจะมัวไกล่เกลี่ยอยู่กับสถาบันสงฆ์ของบ้านเมืองอีกละหรือ เราน่าจะต้องเดินตามทางของท่านอาจารย์ ด้วยการตั้งสำนักปฏิบัติธรรม ที่โยงปริยัติมาสัมพันธ์กับปฏิบัติ โดยรู้เท่าทัน ไม่แต่ตัวเราเอง หากต้องรู้เท่าทันสังคมวงกว้าง อันมีโครงสร้างไปในทางที่รุนแรงและอยุติธรรมอีกด้วย เพื่อจะได้นำเอาอหิงสธรรมมาประยุกต์ใช้ ในการเยียวยาตัวเราเองและสรรพสัตว์ในสังคม เท่าที่สติปัญญาและบารมีของเราจะเอื้ออาทร โดยแต่ละคน แต่ละหน่วยงาน ควรโยงใยถึงกันอย่างเป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน เพื่อใช้อุปายโกศลผดุงพระศาสนาไว้ อย่างเติบโตขึ้นมาจากข้างล่าง อย่างเสมอกัน ไม่ใช่เพื่อจะได้ไปในทางที่สูงส่ง

          เราต้องอย่าไปเชื่อทฤษฎีในเรื่องมหาบุรุษว่า ต้องเป็นคนพิเศษอย่างท่านพุทธทาสเท่านั้น จึงจะทำการด้านบุกเบิกเช่นนี้ได้ เราทุกคนล้วนเป็นคนพิเศษ หากเราถูกระบบการศึกษาและกลไกทางวัฒนธรรมของสังคมครอบงำให้เรารู้สึกด้อย หาไม่เราก็เพียงแสวงหาความเด่นเพื่อตัวเราเอง หากเราเจริญธรรมตามบารมีทั้งสิบ โดยนำเอาทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน กรุณา และอุเบกขา มาใช้ให้แก่กล้ายิ่ง ๆ ขึ้น เราจะฟื้นคืนพระพุทธศาสนาทางเถรวาทกลับมาได้อย่างสมศักดิ์ศรี ภายนอกกรอบของสถาบันสงฆ์ระดับชาติ ในขณะที่สถาบันสงฆ์ไทยในระดับชาติ กำลังร่วมฉลองกับคณะสงฆ์สยามวงศ์ที่ศรีลังกา ว่าสถาบันสงฆ์ระดับชาติในศรีลังกามีอายุอย่างใหม่มาได้ ๒๕๐ ปีนั้น นั่นคือการฉลองร่างทรงที่ปราศจากจิตวิญญาณไปแล้ว ทั้งที่สยามประเทศและลังกาทวีปนั้นแล

          ทั้งนี้ หมายความว่า พวกเราทั้งที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์ ที่ต้องการชีวิตและจิตใจของพระศาสนาทางฝ่ายเถรวาท ต้องช่วยกันเริ่มกิจการใหม่ ๆ ซึ่งทำได้ไม่ยาก หากต้องเจริญบารมีธรรมเรื่อย ๆ ไปให้แก่กล้า แม้เราไม่จำต้องปฏิเสธสถาบันสงฆ์ในระดับชาติ อย่างที่สันติอโศกกระทำมาแล้วก็ยังได้ พร้อมกันนี้ เราก็ต้องก้มหัวให้คณะสันติอโศก ที่ในบางแนวทาง เขาเดินตามแบบอย่างของท่านอาจารย์ เป็นแต่แผกออกไปอย่างน่าสนใจ และในบางประเด็นเขาเดินหน้าไปไกลกว่าท่านอาจารย์อย่างน่าอนุโมทนาอีกด้วย

          ที่ว่ามานี้เป็นประเด็นที่สำคัญยิ่ง โดยที่ท่านอาจารย์ก็จากเราไปได้ ๑๐ ปีเข้านี่แล้ว ถ้ายังไม่มีสาระของสวนโมกข์อย่างใหม่ที่เหมาะสมกับสมัยและไม่มีพระอย่างใหม่ ที่เข้าถึงเนื้อหาสาระของพระธรรมวินัย แล้วโยงไตรสิกขามาสะกดให้วัตถุนิยม ทุนนิยม บริโภคนิยม ฯลฯ เชื่องได้ ก็เท่ากับว่าเราปล่อยให้ท่านอาจารย์พุทธทาสตายเปล่า คุณค่าของท่านจะมีอยู่ก็แต่ในข้อเขียนของท่านเท่านั้น ถ้าเราสามารถปลุกเสกพระรุ่นใหม่ขึ้นมาได้ แทนวัตถุมงคลต่าง ๆ และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ นั่นคือปฏิบัติบูชาไปที่ทาสของพระพุทธเจ้า จนกลับไปบูชาที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลยทีเดียว ถ้าเราเริ่มได้แต่ในบัดนี้ ถึงชาตกาลท่านอาจารย์พุทธทาสครบศตวรรษใน พ.ศ. ๒๕๔๙ เราคงได้แลเห็นการเกิดใหม่ของเถรวาท ซึ่งไม่หยิ่งผยองในความวิเศษมหัศจรรย์ของนิกายตนเท่านั้น หากยังนอบน้อมถ่อมตนอย่างพร้อมที่จะเรียนรู้จากมหายาน และวัชรยาน แม้จนจากศาสนาต่าง ๆ อีกด้วย เพื่อร่วมมือกันกำจัดความโลภ โกรธ หลง ที่กลายมาเป็นทุนนิยม อำนาจนิยม และการศึกษากระแสหลัก ซึ่งรวมถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่กระแสหลักอีกด้วย

 

๒

          ที่ว่ามานั้นเป็นประเด็นหลัก หากยังมีประเด็นรอง ๆ ลงมาอีกบ้าง แต่ข้าพเจ้าไม่มีเวลาจะพรรณนาได้โดยละเอียด กล่าวคือ

          (๑) ควรมีการจัดขั้นตอนคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาส ให้คนที่ไม่คุ้นเคยกับคำพูดและข้อเขียนของท่าน ได้เริ่มอ่านหรือศึกษาจากง่ายไปหายาก ยิ่งสามารถทำเป็นการ์ตูนให้เด็ก ๆ ได้ลิ้มชิมรสวาทะของท่าน นั่นจะเป็นคุณค่าที่คัญยิ่ง

          (๒) ศาสนพิธีนั้น เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของศาสนา โดยที่เถรวาทแบบไทยนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงเริ่มปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาแต่สมัยทรงผนวชในรัชกาลที่ ๓ แล้วคงรูปลักษณ์สืบต่อ ๆ กันมา อย่างแทบจะไม่ได้ปรับปรุงให้ถึงแก่น เพื่อความเหมาะสมกับยุคสมัยเอาเลย ท่านอาจารย์พุทธทาสเพียงนำคำแปลมาประกอบ ให้ชาวบ้านร้านตลาดเข้าใจคำสวดสังวัธยายด้วยเท่านั้น แม้นั่นจะเป็นคุณานุคุณ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ท่านอาจารย์เคยเล่าว่านายปรีดี พนมยงค์ เคยเสนอกับท่านให้นำเอาดนตรีมาประยุกต์ใช้กับศาสนพิธี เพื่อใช้ความไพเราะเป็นพาหะให้พุทธมามกะเกิดศรัทธาปสาทะ ดังที่เราใช้ความงามเป็นพาหะให้เข้าถึงธรรมะกันมาแต่ไหนแต่ไร ทั้งทางมหายานและวัชรยานก็ใช้ดนตรีกับศาสนพิธีด้วยกันทั้งคู่ ความข้อนี้ท่านอาจารย์พุทธทาสก็ดูจะเห็นด้วย หากท่านยอมรับว่า ท่านไร้ความสามารถในทางดนตรีเอาเลย และเถรวาทที่แล้ว ๆ มาตีประเด็นในเรื่องของสิกขาบทข้อที่ ๗ ในเรื่อง นจฺจคีต วาทิต วิสูกทสฺสนา อย่างคับแคบเกินไป ทั้ง ๆ ที่ในบทพระบาลีก็เน้นไว้ชัดเจน ให้เว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการละเล่น “อันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์” เท่านั้น การฟ้อนรำ ขับร้อง และดนตรี ที่เป็นคุณต่อพรหมจรรย์มีมากต่อมากนัก ดังดนตรีอย่างดีจนถึงชั้นเลิศของฝรั่งก็ออกมาจากพิธีกรรมของฝ่ายคริสต์ พระมหานิกายเดิมของเรา ก็อุดหนุนทั้งมโหรี ปี่พาทย์ หนังใหญ่ มโนห์รา ยังการประโคมรับพระ บรรเลงกล่อมระหว่างที่พระฉัน และการบรรเลงรับเทศน์แต่ละกัณฑ์ของมหาชาติ ก็แสดงถึงบทบาทเดิมของเราอยู่แล้ว มิไยต้องเอ่ยถึงว่าการสวดสังวัธยายนั้น ก็คือการบรรเลงรวมอยู่ด้วย เราเพิ่งมาเคร่งครัดในทางรังเกียจดนตรี แต่เมื่อมีอิทธิพลมาจากธรรมยุติในรอบร้อยปีมานี้เอง

          ใช่แต่ว่าเราควรนำเอาธรรมคีตาเข้ามาสู่ศาสนพิธีเท่านั้น ศาสนพิธีที่แล้ว ๆ มานั้น เป็นเรื่องการพิจารณาให้รู้เท่าทันอุปาทานขันธ์ เพื่อแปรสภาพของแต่ละคนตามสถานะของตน ๆ เพื่อ “ปฏิบัติตามอยู่ซึ่งคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ตามสติกำลัง.....เพื่อถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวล” แม้บทพิจารณาปัจจัยสี่ของพระภิกษุ ก็ล้วนเป็นการเตือนตนให้รู้เท่าทันการดำรงชีวิตของตน ๆ ยิ่งศาสนพิธีที่นำมาใช้ในวงกว้างด้วยแล้ว ไม่ว่าจะงานศพ หรืออื่นใด ล้วนฟั่นเฝือ เจือปนไปด้วยลัทธิศักดินาบ้าง วัฒนธรรมแห่งการบริโภคบ้าง อย่างหาสาระแห่งพุทธธรรมแทบไม่ได้เลย

          ที่เราขาดคือ ศาสนพิธี หรือบทสวด (ซึ่งควรประกอบไปด้วยดนตรี) ให้พุทธศาสนิกรู้เท่าทันทุกขสัจทางสังคม ให้เห็นโทษของลัทธิบริโภคนิยม และเทคโนโลยี่สมัยใหม่ ซึ่งใช้ของปลอมและพิษภัยปนเข้ามาในอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค จนเราไม่เห็นโทษของความสะดวกสบายหรือในความโอฬาริกต่าง ๆ ตลอดจนยากันบูดที่ประกอบไปกับอาหาร ยาอย่างฝรั่งที่ให้ผลกระทบในทางลบเป็นอันมาก ตลอดจนการที่บรรษัทยาคุมความคิดทางด้านการสาธารณสุขไว้จนเกือบตลอด มิไยต้องเอ่ยถึงถุงพลาสติก และโฟมต่าง ๆ ที่ไปพร้อมกับการถวายอาหารพระ อย่างน้อยท่านนัทฮันห์ยังนำหน้าเราไป ในการปลุกมโนธรรมสำนึกในด้านนี้ แม้กระนั้นก็ยังไม่เพียงพอ ศิษยานุศิษย์ของพุทธทาสภิกขุน่าจะสานงานด้านนี้ได้ ให้เราได้มีพิธีกรรมทางพุทธอย่างสมสมัย ในตอนที่เราฉลองชาตกาลครบศตวรรษของท่านอาจารย์ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ เช่น ไม่แต่พระเท่านั้น ที่ควรรู้เท่าทันว่าการบริโภคอาหาร เพื่อไม่มัวเมาในรสอาหาร แม้ฆราวาสก็น่าจะมีบทสวดว่าอาหารนั้น ๆ เกิดจากการทำลายธรรมชาติอย่างไร เอาเปรียบแรงงานอย่างไร มีสารพิษอะไรปนเข้าไปบ้าง ฯลฯ หากทำได้เช่นนี้พิธีกรรมจะเป็นพาหะที่นำมาใช้ต่อต้านลัทธิบริโภคนิยมได้อย่างเหมาะสมนัก

          (๓) มีการกล่าวหาว่าท่านอาจารย์สอนเฉพาะเรื่องในปัจจุบันเท่านั้น จนหาว่าท่านไม่เชื่อในเรื่องตายแล้วเกิดกันก็มี นี่เกิดจากผลที่นายปุ่น จงประเสริฐ ไปจัดทำ คู่มือมนุษย์ จากงานเขียนของท่านอาจารย์ จนสรุปคำสอนของท่านให้ง่ายเกินไป

          จริงอยู่ ท่านอาจารย์เห็นว่าในสมัยของท่าน มีการสอนเรื่องนรกสวรรค์และชาติก่อนชาติหน้ามากแล้ว ท่านจึงมาเน้นที่ปรมัตถธรรมและปัจจุบันธรรมเป็นแกนกลาง หากท่านไม่เคยปฏิเสธเรื่องวัฏสงสารเอาเลย อย่างน้อยรูปกาลจักร หรือสังสารจักรจากธิเบต รูปแรกที่เขียนขึ้นในเมืองไทย ก็ที่ในสวนโมกข์นั้นเอง

          เรื่องนี้ ก็อยากให้ศิษย์หาของท่านช่วยกันชี้แจงแสดงข้อเท็จจริงให้ปรากฏด้วย ว่าพุทธศาสนาสอนเรื่องทิฏฐธรรมิกัตถะ ในปัจจุบัน และสัมปรายิกัตถะ ณ เบื้องหน้า โลกหน้า จนถึง ปรมัตถะ อันสูงสุด

          ในสมัยของท่านอาจารย์ การละอัตตาและลดบทบาทในเรื่องนรก สวรรค์เสียนั้น อาจเหมาะกับยุคสมัย หากสมัยนี้ เราคงต้องกลับไปที่ภูมิปัญญาดั้งเดิมของเราด้วยจึงจะควร แม้ท่านอาจารย์พุทธทาสจะไม่เห็นด้วย ก็เป็นสิทธิของท่าน เราควรเคารพท่านเป็นอย่างยิ่ง แต่เราก็มีสิทธิที่จะคิดให้แผกไปจากท่านด้วย

          โดยเฉพาะก็ในเรื่องเนื้อหาสาระของชาดกต่าง ๆ ตลอดจนเทวดานางฟ้า และนรกสวรรค์ การใช้ภาษาคนและภาษาธรรม จากคำสอนของท่านมาตีประเด็นเหล่านี้ นับว่าสมควรอยู่ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านี้ ก็ตรงที่การวางท่าทีที่ถูกต้องเกี่ยวกับถ้อยคำนั้น ๆ และสภาวะต่าง ๆ ของสัตวะต่าง ๆ และภาวะต่าง ๆ ที่เรามองไม่เห็น รับรู้ไม่ได้ด้วยวิธีวิทยาของวิทยาศาสตร์อย่างฝรั่ง อย่าไปด่วนสรุปว่าอะไร ๆ เป็นเรื่องของสวรรค์ในอก นรกในใจ อยู่ที่ในเวลานี้ เดี๋ยวนี้เท่านั้น เพราะความวิเศษมหัศจรรย์ในทางรหัสยนัยนี้แลคือ สถานภาพอันพิเศษของทุกศาสนา รวมพุทธศาสนาด้วย เพราะจากรหัสยนัยในทางจิตสิกขานี้แล ที่เราจะเข้าได้ถึงปัญญาสิกขา และนั่นก็คือเนื้อหาของวิโมกษธรรม สมกับชื่อของสวนโมกข์อย่างแท้จริง

          เชื่อว่าท่านอาจารย์จะพอใจในแนวคิดที่แหวกออกไปอย่างเข้าใจความปรารถนาดีของทุก ๆ คน และถ้าเราใช้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ อย่างที่ Institute of Mind Science จัดสัมนา โดยนำนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำมามีวิสาสะกับพุทธศาสนิกชั้นนำ ที่เข้าถึงทั้งทางปริยัติและปฏิบัติ แล้วเบิกบัญชรในทางรหัสยนัยให้เข้าถึงได้ ทั้งทางจิตสิกขาและทางวิทยาศาสตร์ฝ่ายนามธรรม นี่จะสำคัญยิ่งนัก จะช่วยให้เราเข้าถึงความเข้าใจในเรื่องตายแล้วเกิด และในเรื่องของเทวดานางฟ้าต่าง ๆ ดังที่ทางธิเบตเขามีนางธารา ทักขิณี มหากาฬ ศัมภาละ ฯลฯ ถ้าเราเข้าใจสัญลักษณ์เหล่านี้ อย่างวางท่าทีที่ถูกต้อง เราย่อมอาจนำเอาบุคคลาธิษฐานนั้น ๆ มาเป็นปัจจัยในการแสวงหาธรรมจนเข้าถึงธรรมาธิษฐาน และไปพ้นสัมปรายิกัตถะ จนเข้าถึงปรมัตถะได้ด้วยซ้ำไป

. พุทธทาสภิกขุ
พุทธทาสภิกขุ

          พร้อมกันนี้ ก็ต้องขอพูดต่อไปอีกเล็กน้อยว่า ผู้ที่อ้างตนว่านับถือพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้น ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจเนื้อหาสาระของพุทธธรรม เพราะ (๑) การอบรมบ่มนิสัยเยาวชนตามแบบโบราณ ซึ่งมีวัดกับบ้านอิงอาศัยกันและกัน มีพระและบิดามารดา ปู่ย่าตายาย เป็นแบบอย่างในทางวัฒนธรรมนั้น ได้ตายไปแล้วเกือบหมดสิ้น (๒) การสอนพุทธศาสนาโดยโรงเรียนนั้น คือการฆ่าสาระแห่งพระธรรม รวมทั้งการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม ที่จัดขึ้นแต่สมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส มาจนการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็เช่นกัน ยิ่งการสอนพุทธศาสนาทางสื่อมวลชนด้วยแล้ว ให้แง่ลบยิ่งกว่าแง่บวกแทบทั้งนั้น (๓) เมื่อบุคลากรฝ่ายพุทธจักรอ่อนแอ ไสยเวทวิทยาย่อมมีอำนาจเหนือพุทธธรรม โดยที่ไสยเวทวิทยาอย่างใหม่คือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ และอกุศลมูลอย่างใหม่คือ เงิน (โลภะ) อำนาจ (โทสะ) และวิธีวิทยาอย่างฝรั่งที่เรารับเข้ามาสมาทานอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (โมหะ) พุทธศาสนาจึงกลายไปเป็นพุทธพาณิชย์ ชาวพุทธชั้นนำจึงนับถือเงินและอำนาจ ตลอดจนอวิชชาต่าง ๆ อย่างเหนียวแน่น (๔) ผู้ที่ตั้งตัวเป็นพุทธศานิกสมัยใหม่ ต้องการให้เป็นพุทธศาสนามีค่าเท่ากับวิทยาศาสตร์ ให้พระพุทธเจ้าเป็นเพียงยอดของนักปราชญ์ เมื่อ ๒๕๐๐ ปีล่วงมาแล้ว แล้วพุทธศาสนาจะมีคำตอบสำหรับสังคมปัจจุบันได้อย่างไร

          นี่ยกมาเพียง ๔ ประเด็น และถ้าเราตีประเด็นเหล่านี้ได้ไม่แตก โดยเฉพาะก็ข้อล่าสุด อย่าว่าแต่พุทธทาสเลย แม้พระพุทธเจ้าก็คงมีคุณค่าเพียงเฉพาะตนเท่านั้น ดังคำแปลบทรับไตรสรณคมน์กันตามพิธีกรรมของวัดต่าง ๆ นั้น ยังมีความเพียงว่า “ข้าพเจ้าขอรับเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะที่พึ่ง เครื่องกำจัดภัยได้จริง” แต่ถ้าจะยึดตามคำแปลนี้ ก็ต้องตีความในเรื่อง “เครื่องกำจัดภัยได้จริง” ให้ถึงแก่น เพราะถ้าเข้าถึงพระรัตนตรัยอย่างแท้จริงแล้ว ภัยหรือความกลัวใด ๆ ย่อมปลาสนาการไปได้สิ้น แม้จนความกลัวตาย กลัวความเจ็บไข้ได้ป่วย กลัวความไม่มั่นคงในชีวิต กลัวความเหงา กลัวการขาดคนรัก กลัวว่าสังคมจะไม่ยอมรับสภาพของตน นี่เป็นความกลัวในทางส่วนตัว ยังความกลัวทางสังคมนั้นเล่า โดยเฉพาะก็ความกลัวที่เกิดจาก การเอาเปรียบโดยรัฐและบรรษัทข้ามชาติ การมอมเมาจากสื่อสารมวลชน ให้สยบยอมกับโลกาภิวัตน์ แทนที่จะภูมิใจในคุณธรรมดั้งเดิม การที่ว่าพระพุทธเจ้าเป็นเพียงสามัญมนุษย์ที่ดับขันธ์ไปแล้วนั้น นับว่าอันตรายมาก เพราะเมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว ทรงพบอาชีวกคนแรกระหว่างทาง เขาทูลถามสถานะของพระองค์ว่า เป็นมนุษย์หรือ เทวดาหรือ ฯลฯ ทรงตอบว่าไม่ใช่ทั้งสองสถาน หากตรัสว่าพระองค์ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ได้โดยพระองค์เอง ถ้าเราตีประเด็นนี้ไม่แตก จะเป็นมิจฉาทิฏฐิได้ง่าย

          ถ้าเราอ่านพระไตรปิฎกดูดี ๆ จะเห็นว่า ในสถานะหนึ่ง พระพุทธองค์ก็ทรงเป็นมนุษย์ เสด็จดับขันธ์ด้วยพระโรคาพาธ แม้จะทรงระงับความทุกข์ทางกายได้เหนือสามัญมนุษย์ก็ตาม และในบางสถานะก็ทรงสภาพเหนือสามัญมนุษย์ เช่น เมื่อทรงแสดงพระปฐมเทศนาจบลงนั้น เทวดาทั้งหมื่นโลกธาตุพากันมาถวายอภิวาท แซ่ซ้องสาธุการ แม้เมื่อจะปรินิพพานก็มีเทวดาจากหลายชั้นฟ้ามาเฝ้า เราจะหาว่าพระคันถรจนาจารย์เติมข้อความพวกนี้เข้าไปภายหลังกระนั้นหรือ ยังการที่ทรงสอนให้แผ่ส่วนกุศลแด่เปรตเล่า เป็นเรื่องเหลวไหลกระนั้นหรือ หรือจะว่านี่เป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ตามวิธีวิทยาของฝรั่ง อย่างน้อยทางมหายานอธิบายได้ชัดเจนเรื่องพระนิรมานกายของพระพุทธเจ้า ที่คนธรรมาดาสามัญก็แลเห็นและรับรู้ได้ นอกจากนี้ก็ยังมีพระสัมโภคกาย ที่รับรู้ได้แต่พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย และเทวดาชั้นสูงเท่านั้น โดยที่สำคัญสุดนั้นคือพระธรรมกาย แม้จะไม่ต้องไปถึงคำสอนของฝ่ายมหายาน พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระองค์ ก็ทรงประกอบไปด้วยทศพลญาณและอภิญญา ตลอดจนอิทธิปาฏิหาริย์ต่าง ๆ อย่างที่สามัญมนุษย์ไม่อาจรับรู้ได้โดยตรรกะ หรือหัวสมอง หากเข้าถึงได้ด้วยจิตสิกขา นี้แลคือความวิเศษมหัศจรรย์ของพระพุทธานุภาพ ซึ่งแสดงออกได้ทั้งทางพระกรุณาคุณ ดังทางมหายานแสดงธรรมาธิษฐานในข้อนี้ ให้เป็นบุคคลาธิษฐานในรูปของอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (ดังองค์ที่ไชยานั้นงามยิ่งนัก) หรือเจ้าแม่กวนอิม และทางพระปัญญาคุณ ซึ่งแสดงออกในทางบุคคลาธิษฐาน ให้เป็นพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ เป็นต้น ถ้าเข้าใจเนื้อหาสาระอันเป็นเลิศของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว การสมาทานพระรัตนตรัย ย่อมช่วยให้เกิดศรัทธาปสาทะอย่างมั่นคงในพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และสังฆคุณ จนเราย่อมอาจสามารถแปรเปลี่ยนความกลัวไปได้ ให้กลายเป็นความกล้าหาญเบิกบาน เราสามารถเปลี่ยนความโลภไปได้ให้เป็นทาน การให้ ตั้งแต่ให้วัตถุทาน อามิสทาน จนธรรมทาน และในที่สุดคืออภัยทาน

          กล่าวคือเราสละความกลัวต่าง ๆ เสียได้ โดยมีความกล้าหาญอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนมาแทนที่ เพื่อรับใช้สรรพสัตว์ ยิ่งกว่ารับใช้ตนเอง

          เมื่อเปลี่ยนโลภะและราคะให้มาเป็นทานได้เแล้ว เราก็ย่อมแปรเลี่ยนโทสะหรือโกธะ ให้มาเป็นความเมตตา กรุณา ความรักในทางราคะอย่างหึงหวง อย่างเต็มไปด้วยดำฤษณา กลายมาเป็นความรักอย่างลดความเห็นแก่ตัว จนเอาชนะความเห็นแก่ตัวได้ กามฉันทะแปรไปได้เป็นธรรมฉันทะ ด้วยการรักตนเองและคนรอบ ๆ ตนอย่างเข้าอกเข้าใจ อย่างไม่พยาบาทปองร้าย (เมตตา) แล้วรักคนที่ยากไร้ ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ อย่างพร้อมที่จะรับความเดือดร้อนลำเค็ญร่วมกับเขา (กรุณา) และหาทางออกจากทุกข์ภัยนั้น ๆ ด้วยความร่วมมือของกันและกัน โดยมีพุทธธรรมเป็นแกนนำ โดยเข้าใจด้วยว่าคนที่กดขี่ข่มเหงเรา ล้วนทำไปด้วยอคติ ด้วยอวิชชา และด้วยโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรม จึงไม่จำเป็นที่เราจะอิจฉาชนชั้นบน หรือคนที่กดขี่ข่มเหงเรา (มุทิตา) และถ้าเรายังหาทางออกได้ไม่ชัด หรืออะไร ๆ ก็แก้ไขปัญหาได้แล้ว เราก็ตั้งจิตไว้ให้เป็นกลาง อย่างไม่เข้าข้างใคร ใช้เวลาภาวนาอย่างเป็นกลางทางธรรมชาติ (อุเบกขา) เพื่อให้เกิดความงอกงามด้วยอหิงสธรรม สำหรับตัวเราและสังคมรอบ ๆ เรา จนถึงสังคมวงกว้างอย่างหาประมาณมิได้

          จากจุดนี้แหละที่เราอาจแปรสภาพจากโมหะหรืออวิชชามาให้กลายเป็นปัญญา ด้วยอาศัยความเข้าใจในเรื่องการอิงอาศัยซึ่งกันและกันของสรรพสิ่ง อย่างไม่มีตัวกูของกู หรือกูกับมึง หากเป็นการโยงใยกันของความเป็นเช่นนั้นเอง

          ถ้าเราสามารถเจริญธรรมได้ดังที่บรรยายมา ก็เท่ากับว่าเรานำทาสของพระพุทธเจ้ากลับมาให้เป็นตัวแปร ที่จะช่วยเราแต่ละคน และช่วยสังคมวงกว้าง ให้เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้อย่างแท้จริง นี้แลคือคำตอบที่พุทธศาสนาจะให้ได้กับสังคมไทยร่วมสมัย กล่าวคือว่า พุทธศาสนามีอะไร ๆ ที่ลึกซึ้ง และมีแนวทางที่ไปพ้นความรุนแรง และความมืดบอด อย่างมองเห็นเป็นเขาเป็นเรา เราดี เขาเลว หากเป็นการเอื้ออาทรต่อกันและกัน ไม่แต่ในหมู่มวลมนุษย์ หากรวมตลอดจนถึงสรรพสัตว์

          ถ้าเราสามารถชัดเจนได้ในเรื่องนี้ และทำความข้อนี้ให้เป็นรูปธรรมได้มากเท่าไร การบูชาท่านอาจารย์พุทธทาส ซึ่งเป็นต้นทางแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสังฆเจ้า ก็จักเป็นปฏิบัติบูชา ซึ่งมีค่ายิ่งกว่าอามิสบูชาเป็นไหน ๆ

          ก่อนจบขอพูดแถมท้ายอีกนิดว่า เมื่อข้าพเจ้าแรกไปพบท่านอาจารย์ที่สวนโมกข์เมื่อราว ๆ ๔๐ ปีมาแล้วนั้น เราปรารภกันว่าคนไทยเราตามฝรั่งในทางวัตถุนิยมมากเกินไป ท่านอาจารย์ว่าอะไร ๆ มันก็เหมือนกับลูกตุ้มที่แกว่งไปมาอยู่เสมอ บางทีก็แกว่งไปแรงในทางกามคุณ แต่พอเกิดสติ มันก็แกว่งมาในทางธรรมได้ ทางเมืองฝรั่ง เวลานี้ คนที่เดินทางนอกกระแสหลักของทุนนิยมและวัตถุนิยม ได้เข้ามาสมาทานพุทธศาสนาที่เนื้อหาสาระมากยิ่ง ๆ ขึ้น โดยที่ฝรั่งพวกนี้มีคุณภาพมากกว่าชาวพุทธไทยในกระแสหลักเสียอีก คนไทยที่ถือตัวว่าตัวเองว่าเป็นชนชั้นนำนั้น เดินตามก้นฝรั่งช้าไปกว่า ๔ – ๕ ทศวรรษ ดูได้ที่นายบุช แห่งสหรัฐ และนายแบล แห่งสหราชอาณาจักร กับนายทักษิณ ชินวัตร ที่เมืองไทยเป็นตัวอย่างก็ได้ ว่าแต่ละคนล้วนตกอยู่ใต้อำนาจนิยม และทุนนิยมอย่างสุด ๆ โดยแต่ละคนขาดสันติภาวะภายในตนด้วยกันทุกคน แม้ทั้งสามคนนี้จะมีคุณความดีรวมอยู่ด้วยก็ตาม ทั้งสามนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่เข้าไม่ถึงสันติวรบท ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสนำทางให้เราเข้าถึงพระบรมศาสดา โดยที่ในอเมริกาและอังกฤษ มีคนเรียนรู้ในเรื่องอนัตตา และสุญญตา ทางจิตสิกขายิ่ง ๆ ขึ้น แล้วนำเอาไตรสิกขามาประยุกต์เพื่อความยุติธรรมในสังคมยิ่ง ๆ ขึ้นด้วย มีการเรียนการสอนเรื่องพุทธศาสนาเพื่อสังคมอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น ในขณะที่ไม่มีวิชานี้สอนในเมืองไทยเอาเลย ถ้าเราจะตามฝรั่งอย่างลูกตุ้มที่เหวี่ยงไปมา ก็น่าจะหันมาตามลูกตุ้มที่ฝรั่งนำเอาวิทยาศาสตร์มารับใช้พุทธศาสนา โดยเอาพุทธธรรมมาสะกดให้กระแสต่าง ๆ ในทางโลกเชื่องลง เพื่อให้เป็นไปในกระแสแห่งพระอริยมรรคมากยิ่ง ๆ ขึ้น โดยท่านอาจารย์ได้เตือนไว้มาได้ ๔๐ ปีเข้านี่ แล้ว ว่าไทยเราคงจะตามฝรั่งในทางของสติและปัญญา ยิ่งกว่าเดินตามฝรั่งในทางกิน กาม เกียรติ ขอให้ถ้อยคำของท่านอาจารย์เมื่อสี่ทศวรรษมาแล้ว จักเป็นจริงยิ่ง ๆ ขึ้น เพื่อเราจะได้ถึงความสะอาด อย่างสงบ และสว่าง ดังคำของท่านอาจารย์อีกด้วยนั้นแล.. .

 

บรรยากาศในงาน
บรรยากาศในงาน

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :