เสขิยธรรม
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์
พระไปทำอะไร
ในที่ชุมนุมมุสลิม

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๗
ปฏิกิริยา
จิรธัมม์

          สำนึกหนึ่งของความทรงจำในวัยเด็กเมื่อนึกถึงมุสลิม ก็จะโยงไปถึงคำว่า แขก, บัง, สุเหร่า และโยงไปถึง พวกไม่กินหมู !

          มากไปกว่านี้ ไม่มีความรู้อะไรอีกเลยที่พอจะบอกว่าผู้เขียนรู้จัก “มุสลิม” นี่ไยมิใช่ปราการอันแข็งแกร่งที่ถูกสร้างขึ้นในโลกทางความคิดของเด็ก ๆ ซึ่งค่อยก่อรูปไปสู่การแบ่งแยกเป็นโลกของชาวพุทธ โลกของมุสลิม โลกของคริสเตียน โลกของ...ฯลฯ

          กรอบกรงบาง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จินตนาการของเหล่าทารกทาริกา เมื่อได้รับเชื้อแห่งอคติ ความไม่เข้าใจ ความรู้ไม่จริง รับเชื้อแห่งการใส่ร้ายป้ายชั่วเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวส่วนพรรคและพวก ขณะเดียวกันเมื่อชีวิตของเหล่ากุลบุตรกุลธิดาทั้งหลาย ได้เติบใหญ่ขึ้นมาท่ามกลางสังคมที่ห่างไกลสาระสำคัญทางศาสนา นี่ย่อมเป็นแหล่งเพาะเชื้ออันอุดมให้เกิดโลกทัศน์ที่แบ่งแยก คับแคบ และขลาดกลัวต่อเพื่อนมนุษย์ที่ต่างก็เป็นเพื่อนร่วมทุกข์.

 

บนผืนทราย
ใต้ควงสนชราภาพ
พักวางวิญญาณของเจ้าไว้ที่นี่เถิด

เปิดดวงตา
เผยดวงใจ
ในยามอรุณ
อาทิตย์อุทัยไขดวงเหนือห้วงน้ำใหญ่
ร่างกายและวิญญาณเจ้าสถิตสงัดอยู่ที่นี่...
ลานหอยเสียบ

ชั่วขณะดวงไฟใหญ่ไต่ขอบฟ้ากว่าจะเต็มดวง
แดงช่วงเจิดจ้า
ขอเจ้าจงอธิษฐาน

อธิษฐานเป็นครั้งสุดท้าย
ก่อนแผ่นฟ้า ผืนดิน และห้วงน้ำที่เจ้าถือกำเนิด
จักแปรเปลี่ยนไป
จนไม่มีใครจำได้
ไม่มีใครอาจจำได้.

 

          สถานการณ์ลานหอยเสียบถึงตอนนี้ คงต้องยกประโยชน์ให้รัฐบาลที่สามารถใช้เครื่องมือทุกชนิดในการปิดกั้นความจริง บิดเบือนข้อมูลและข่าวสาร ชี้ถูกให้เป็นผิด เล่นเกมโกหกและตอแหล สร้างความแตกแยกโกลาหลให้ประชาชน/ชุมชน สร้างภาพลวงมอมเมาคนทั้งประเทศให้มึนชางวยงง ไม่อาจแยกได้ว่าไหนจริงไหนลวง กระทั่งเมินเฉยต่อมโนธรรม/มนุษยธรรมภายใน แต่ขอเรามาถามกันดูเถิด ว่าในฐานะสามัญชน (ผู้ไม่มีส่วนได้ประโยชน์จากโครงการทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น รายได้เป็นกอบเป็นกำจากการกว้านซื้อที่ดิน และอื่น ๆ) หากวันหนึ่งลืมตาขึ้นมาแล้วพบว่า วิถีชีวิตที่เคยมีความสุขตามประเพณีที่เป็นอยู่ บัดนี้เต็มไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรม ควันพิษ น้ำเสีย และเสียงอึกทึกครึกโครมของเครื่องจักรขนาดใหญ่ หากเลือกได้…เราจะเอาอย่างไหน ?

          ในฐานะสามัญชนที่ไม่ถึงกับอ่อนเยาว์หรือมืดบอดทางปัญญาและวิญญาณ ท่านผู้ใหญ่ทั้งหลายมองไม่เห็นหรืออย่างไรว่า ทะเลและหาดทรายไร้มลพิษ อุดมสมบูรณ์ บริสุทธิ์และงดงามนั้น เป็นทั้งโอสถและสุนทรียภาพแก่ชีวิตชุมชน ท่านมองไม่เห็นหรืออย่างไรว่า ชนบทอยู่ไม่ได้ด้วยเงินเพียงอย่างเดียว หากอยู่ได้ด้วยความเกื้อกูล ความผูกพันในกลุ่มญาติมิตร ด้วยความสำนึกในวิญญาณบรรพบุรุษที่ฝากร่างอยู่ในเนื้อดินภายใต้กุโบร์อันเก่าแก่.

 

          สิบปีมานี้ ในสถานภาพของภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งบางคราวสนใจที่จะรู้จักและเข้าใจขอบเขตความรู้และประสบการณ์ที่บกพร่องไปในชีวิตที่ผ่านมา เจตจำนงบางอย่างจึงพาผู้เขียนไปรู้จักโลกของพี่น้องมุสลิม โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิมที่กำลังเป็นทุกข์อย่างสาหัส ภายใต้โครงการพัฒนาของรัฐ––โลกของมหาวิทยาลัยชาวบ้านลานหอยเสียบ (ที่ชุมนุมคัดค้านโครงการวางท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย–มาเลเซีย)

          ผลักประตูรถตู้ออกมา แรกสัมผัสไอเค็มของลมทะเลปากอ่าวสะกอม สำนึกแห่งชนบทพาใจให้ผูกพันและหวงแหน ราวกับผู้เขียนได้มาเยือนแผ่นดินเก่าแห่งบ้านเกิดก็ไม่ปาน ทั้งที่การมาเยี่ยมเยียนลานหอยเสียบครั้งนี้เป็นเพียงครั้งที่สองในรอบหนึ่งปีมานี้เอง และข้อเท็จจริงหนึ่งที่จะลืมเสียมิได้ นั่นคือ คนที่นี่ล้วนเป็นมุสลิม

          ครั้งที่สองของการลอดซุ้มประตูใหญ่ อันเป็นเสมือนประตูค่ายประชาชนผู้ไม่ยอมก้มหัวให้กับความอยุติธรรม สายตาสัมผัสชายธงแดงฉานริ้วรายปลิวไสวด้วยแรงลมทะเล ด้านล่างติดไว้ด้วยคำขวัญสะดุดตา “ที่นี่มีแต่ผู้หญิงและเด็ก ๆ” สัมผัสมือและดวงตาเป็นประกายของชายชรารุ่นพ่อ พร้อมรอยยิ้มกว้างขวางของคนใต้ชาวสะกอม

          “ท่ากันแล้วล่าวนะหลวงพี่” (พบกันอีกแล้วนะหลวงพี่)

          “ว่าผลือบัง* บายดีนะ” (เป็นอย่างไรบ้าง สบายดีหรือเปล่า)

          “บายดีครับ บายดี เชิญข้างในเลยครับ.”


*บัง โดยศัพท์แปลว่า พี่ชาย แต่ในหลายกรณีใช้เรียกผู้สูงวัยกว่าเพื่อแสดงความนับถือ

 

          มาตรา ๒๖ การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

          มาตรา ๒๙ การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะ เพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพนั้นมิได้

          มาตรา ๔๔ บุคคลย่อมมีเสรีภาพ ในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

          มาตรา ๔๖ บุคคลซึ่งร่วมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์ฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

          มาตรา ๕๖ สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่อง ในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐
หมวดที่ ๓ สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย

 

          “การที่มีวันนี้ วันที่มีพี่น้องจากบ่อนอก–บ้านกรูด–กุยบุรี กว่า ๒๐๐ ชีวิต พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์ถึง ๑๑ รูป มาเยี่ยมเยียนพวกเราที่ลานหอยเสียบ มาแลกเปลี่ยนปัญหา เพิ่มพูนกำลังใจ มองในแง่หนึ่งเราจะเห็นว่า โครงการวางท่อก๊าซไทย–มาเลเซียก็มีด้านดีอยู่เหมือนกัน เป็นด้านดีของความทุกข์ ที่นำไปสู่การแสวงหาความดับทุกข์ เป็นแง่งามของวิกฤติที่ก่อให้เกิดขบวนการภาคประชาชนที่เข้มแข็ง ปราศจากโครงการฯ นี้เสียแล้ว พี่น้องเราอาจจะนอนหลับไม่ตื่น หลงใหลไปกับสิ่งที่รัฐหยิบยื่นให้โดยไม่ลืมหูลืมตาก็เป็นได้

          “ณ วันนี้ วันที่พระภิกษุมาที่นี้ วานซืนก่อน (๒๗ มิ.ย. ๔๖) ก็มีบาทหลวงและซิสเตอร์มาก่อนแล้ว วันที่มีพี่น้องมุสลิมและโต๊ะอิหม่ามมาให้การต้อนรับ วันที่พวกเราต่างก็พักวางกรอบกรงมายา ยี่ห้อ ศาสนา วันที่เอาใจมาเติมใจ เอาปัญญามาแลกปัญญา นี่มิใช่หรือที่ปราชญ์กล่าวว่า เพชรย่อมหาได้ในหัวคางคก

          “ถึงวันนี้ วันที่ถูกกล่าวถึงด้วยความขมขื่นสิ้นหวังว่า ‘ท่อก๊าซจะเดินหน้าต่อไปหรือหยุดยั้งลง ไม่สำคัญเท่ากับว่า ถึงวันนี้พี่น้อง ครอบครัว ญาติมิตร มองหน้ากันไม่ได้เสียแล้ว เดินหันหลังให้กันเสียแล้ว’ แม้ชุมชนจะถูกย่ำยีจนยับเยิน พ่อลูกไม่มองหน้ากัน ญาติพี่น้องหมางเมินเหินห่าง ถึงวันศุกร์จะพบกันในมัสยิด แต่ต่างคนต่างละหมาด จากนั้นก็หันหลังให้กัน แม้เหตุการณ์จะเป็นถึงเพียงนี้ ก็ขอให้เราตั้งเจตจำนงไว้เถิดว่า นี่เป็นเพียงวิกฤติที่มาทดสอบศรัทธาของเรา ขอพวกเราจงยึดมั่นในวิถีแห่งจิตวิญญาณดังที่เป็นอยู่นี้ เพื่อพวกเราจักค้นพบหนทาง อันนำไปสู่ความปรองดองที่ยิ่งใหญ่กว่า หนทางที่นำไปสู่การเยียวยาบาดแผลภายใน.”

 

สำนึกหนึ่งในความทรงจำในวัยเด็ก เมื่อนึกถึงมุสลิม…
ก็จะโยงไปถึงคำว่า แขก บัง สุเหร่า และ
พวกไม่กินหมู !
มากไปกว่านี้ ไม่มีความทรงจำอื่นใด
ให้กับโลกมุสลิม

หากวันนี้ ฉันยืนอยู่ที่นี่
ราตรีที่นอนหลับสนิทบนสันทรายริมหาด
ไร้สิ่งมุงบัง
เช้าที่นั่งดื่มน้ำตาลสดจากมือมุสลิมรุ่นพ่อ
แต่ตกบ่าย กลับแว่วข่าวว่าพระผู้ใหญ่บางรูป
เคลือบแคลงใจเป็นกังวลว่า
“พระเหล่านั้นไปทำอะไรในที่ชุมนุมมุสลิม ?”

เพื่อนภิกษุทั้งหลาย !
อันใดคือกิจที่สังฆะควรทำ เพื่อตอบสนองต่อความทุกข์ระดับสังคมที่นับวันซับซ้อนเข้าใจยาก
อันใดคือภาพลักษณ์ที่ควรสงวนไว้
โดยไม่ละเลยความรุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่ตำตา
อันใดคือหนทางเพื่อสืบสานความเข้าใจระหว่างศาสนา หากมิใช่หนทางแห่งการร่วมทุกข์
อันใดคือกลุ่มชนที่ควรยอมตนรับใช้
หากมิใช่เหล่าผู้ยากไร้ที่ถูกรังแก
และชนร่ำรวยที่กำลังหลงผิด.. .

 


บทความนี้สืบเนื่องจากการไปยื่นหนังสือรณรงค์การใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหา
และเลยไปเยี่ยมพี่น้องมุสลิมที่ลานหอยเสียบร่วมกับกลุ่มศาสนิกชนชาวไทยเพื่อสันติภาพ (๒๗ มิ.ย. ๒๕๔๖)
และร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด บ่อนอก กุยบุรี เดินรณรงค์ต่อต้านความรุนแรง (๓๐ มิ.ย. ๒๕๔๖)
หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :