เสขิยธรรม
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๖

ชีวิตแห่งการภาวนา
พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ

ความรับผิด-ชอบ

 

"รื้อไปเลย ๆ มีปัญหา กทม. รับผิดชอบเอง...” เสียงคุ้นหูของ นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร นักการเมืองระดับชาติ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ผู้ผันตัวเองมาเล่นการเมืองท้องถิ่น ประกาศก้องผ่านเครื่องขยายเสียง เพื่อสั่งการเจ้าหน้าที่เทศกิจนับพัน ที่ยกขบวนกันมา “รื้อ” หมู่บ้านคนจน ซึ่งปลูกสร้างอยู่ริมถนนนครปฐม ใกล้ทำเนียบรัฐบาล, สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ตลอดจนโรงเรียนฯ และวัดเบญจมบพิตร

         น้ำเสียงของ “ท่านผู้ว่าฯ” แสดงอำนาจ และประกาศความรับผิดชอบตามตำแหน่งหน้าที่อยู่เป็นระยะ ไม่นับการให้สัมภาษณ์ยืนยันกับสื่อมวลชนก่อนหน้าและภายหลัง ว่า “ผู้ชุมนุม” กระทำการขัดต่อกฎหมายท้องถิ่นหลายข้อกระทงความ ต่างกรรมต่างวาระ อาทิ ปลูกสร้างเพิงพักอยู่อาศัยในที่สาธารณะ กีดขวางการจราจร ก่อความเดือดร้อนรบกวนทั้งผู้คน ข้าราชการ และพระสงฆ์องคเจ้าซึ่งเป็น “เจ้าถิ่น” อยู่แถบนั้น

         น่าสงสัยนัก ว่าในประวัติศาสตร์ “กรุงเทพมหานคร” ซึ่งหมายถึงหน่วยราชการ “ส่วนท้องถิ่น” ผู้รับผิดชอบบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับ “ชาวกรุงเทพฯ” จำนวนหลายล้านคนแห่งนี้ เคยกระทำการอันอุกอาจเอิกเกริกเช่นนี้ มาบ้างแล้วหรือไม่ ไม่ว่ากับคนทุกข์คนยาก หรือเศรษฐีมหาเศรษฐี ที่ถูกอ้างว่า ประพฤติผิดคิดมิชอบ ในลักษณะอาการเดียวกัน

         หรือต้องมีนายกรัฐมนตรีชื่อ ทักษิณ ชินวัตร และผู้ว่าการกรุงเทพมหานครชื่อ นายสมัคร สุนทรเวช รัฐและอำนาจรัฐ จึงจะสามารถปฏิบัติการได้เยี่ยงเดียวกับ “จอมเผด็จการ” หรือ “มาเฟีย” ผู้ยกไพร่พลลิ่วล้อไปรื้อถอนบาร์เบียร์แถบถนนสุขุมวิท ในห้วงเวลาก่อนหน้ากันไม่นานนัก

 

เช้าวันนั้นผู้เขียนกับพระสุพจน์ สุวโจ เดินทางไปสมทบกับพระภิกษุจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จำนวน ๙ รูป นำโดยพระมหาบุญถึง สิรินฺธโร เพื่อรับบิณฑบาต จากญาติโยมชาวปากมูนและราษีไศล ตั้งแต่ ๗ โมงเช้า

         ๐๖.๐๐ น. ก่อนออกเดินทางไปยังสถานที่ชุมนุม ก็มีโทรศัพท์เข้ามาแจ้งว่า “เขาจะรื้อหมู่บ้านเช้านี้แน่นอนครับหลวงพี่ ช่วยดูแลให้การบวชชีพราหมณ์กับพิธีกรรมทางศาสนาลุล่วง ไปได้ด้วยนะครับ... ฯลฯ” ผู้เขียนได้แต่รับคำ ทั้งที่ยังตรองไม่ตก ว่าจะดำเนินการอะไรได้สักแค่ไหน ยิ่งเมื่อได้พูดคุยกับแกนนำสมัชชาคนจนบางคนในระหว่างทำกิจกรรม แล้วพบว่าผู้นำในที่นั้น ยังไม่ทราบเรื่อง ว่าจะมีการรื้อถอนในช่วงเช้าด้วยแล้ว ก็ยิ่งสงสัยว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เพราะกำหนดการเดิม คือ รับบิณฑบาต ฉันภัตตาหาร พิธีบวชเนกขัมมะ แสดงธรรม แถลงข่าวการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีจากตัวแทนศาสนิก ๓ ศาสนา (พุทธ คริสต์ อิสลาม) ก่อนที่จะเดินทางไปยื่นหนังสือ และจัดการเสวนาระหว่างศาสนา เรื่อง “ศาสนธรรมกับการใช้ความรุนแรง” ในเวลา ๑๘.๐๐ น. ณ สถานที่ชุมนุมของชาวปากมูนและราษีไศล บริเวณถนนนครปฐม

         ท่ามกลางความสับสนของสถานการณ์ กิจกรรมยังดำเนินต่อไปตามเวลาที่กำหนดไว้ หลังเสร็จภัตตกิจพระมหาบุญถึงจึงเริ่มพิธีอันเรียบง่าย เพื่อ “บวช” ให้กับ “ผู้ขอบวช” ซึ่งพากันนุ่งขาวห่มขาวมาร่วมกิจกรรมแล้วตั้งแต่ต้น จากนั้นก็กล่าวให้โอวาทชี้แนะแนวทางการปฏิบัติธรรม

         ระหว่างนั้นเอง ไกลออกไปที่ถนนใกล้ทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่เทศกิจในเครื่องแบบ มีการเคลื่อนย้ายกำลังกันอย่างคึกคัก ขณะเดียวกับที่ฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์จากทำเนียบรัฐบาล หลายคนเริ่มเดินเข้ามาใกล้สถานที่ประกอบพิธีด้านหลัง

         โอวาทแก่ผู้บวชบางตอนกล่าวถึงความเดือดร้อนของผู้ชุมนุม ที่ถูกตัดกระแสไฟและลดปริมาณน้ำใช้มาก่อนแล้วหลายวัน มิหนำซ้ำ เช้ามืดของวันนั้น (๒๙ มกราคม ๒๕๔๖) รถสุขาของกทม. ก็ถูกสั่งการให้เคลื่อนย้ายออกไปจนหมดสิ้น ตั้งแต่เวลา ๔ นาฬิกา ถ้อยคำที่พระอาจารย์บุญถึงกล่าวว่า “ผู้ชุมนุมหลายคนมีอายุเท่ากับแม่ของท่านนายกฯ หรือแก่กว่า... น่าที่ท่านนายกรัฐมนตรีจะให้ความเมตตา มากกว่าที่จะใช้อำนาจสั่งการเช่นนี้...” ยังอยู่ในความทรงจำของผู้เขียนเสมอ ด้วยว่าหลังจากนั้นไม่นานนัก “ปฏิบัติการณ์รื้อถอนและขับไล่” อันรุนแรงและเลือดเย็น ก็ทำให้การ “ตัดน้ำตัดไฟย้ายส้วม” กลายเป็นเรื่องปลีกย่อยไปเสีย

         ๐๙.๑๐ น. เมื่อการให้โอวาทจบลง ผู้เขียนประกาศกับสื่อมวลชนว่าอีกสักครู่จะมีการแถลงข่าว แล้วยื่นหนังสือ “ขอให้ระงับการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้ร่วมชุมนุม” จากตัวแทน ๓ ศาสนา ถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ตากล้องโทรทัศน์หลายช่อง รวมทั้งนักข่าวจำนวนมากต่างทยอยกันเข้ามาเลือกมุมที่ตนเห็นว่าดีที่สุด ขณะที่ คุณพ่อวิชัย โภคทวี (ตัวแทนคริสตศาสนิกชน) และคุณเดช มะเก (ตัวแทนอิสลามิกชน) กำลังจัดที่นั่งบนแผ่นไม้อัดที่ปูไว้สูงจากพื้นถนนขึ้นมาเพียง ๒ – ๓ นิ้ว

         แต่แล้ว... พร้อม ๆ กับการแถลงข่าวเริ่มขึ้น “ผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร” ก็เข้ามาในบริเวณชุมนุม ห่างออกไปเพียง ๑๕ – ๒๐ เมตร นักข่าวแทบทั้งหมดกรูกันออกไปยัง “แหล่งข่าวใหม่” อย่างรวดเร็ว เหลือเพียงกล้องโทรทัศน์บนขาตั้ง ที่ยังทำหน้าที่ต่อไปโดยไม่ต้องมีคนบังคับ เวลาผ่านไปครู่ใหญ่ เมื่อแถวตอนเรียงสองของเจ้าหน้าที่เทศกิจจำนวนนับพันเดินตบเท้าเข้ามานั่นแหละ ตากล้องจึงกลับมาเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ของตนออกไปหาภาพแง่มุมใหม่ ๆ

         ตัวแทนศาสนาทั้งสาม พร้อมกับพระสงฆ์อีก ๑๐ รูป ยังนั่งอยู่อย่างเดิม เช่นเดียวกับผู้ผ่านการบวชเนกขัมมะ และอุบาสกอุบาสิกาไม่น้อยกว่า ๕๐ คน ผู้เขียนจึงเชิญชวนทุกคนร่วมภาวนาท่ามกลางความอลหม่านนั้น ...ฝ่ายหนึ่งอยู่ในความสงบรำงับ ขณะอีกฝ่ายเคลื่อนไหวไปมาอย่างคึกคัก... โดยมีเสียงสั่งการของนายสมัครดังขึ้นเป็นช่วง ๆ ระคนไปกับเสียงฝีเท้า และการรื้อถอน ซึ่งเริ่มจากหัวถนนนครปฐมทั้งสองด้าน

         เวลาผ่านไปพอสมควร เมื่อลืมตาผู้เขียนก็พบว่า ห่างออกไปเพียง ๒ – ๓ ฟุต คือกางเกงเครื่องแบบเจ้าหน้าที่เทศกิจ ที่ยืนแถวหน้ากระดานราวกับกำแพง ขยายแนวออกไปทั้งซ้ายขวายาวเหยียดปิดล้อมพื้นที่กิจกรรมทางศาสนาเอาไว้ ผู้ประสานงานบางคนเข้ามาเสนอให้ผู้นำศาสนาแยกตัวออกไปก่อน ด้วยเกรงว่าจะมีการจับกุมฐานขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ น่าชื่นชมที่คุณพ่อวิชัย และคุณเดชต่างปฏิเสธที่จะออกจากที่ชุมนุม ด้วยเหตุผลว่า “ในเหตุการณ์นี้ พี่น้องปากมูนเดือดร้อนยิ่งกว่าพวกเรามากนัก”

         พระจากมหาจุฬาฯ ท่านหนึ่งเสนอให้เจริญพุทธมนต์เป็นลำดับต่อไป ผู้เขียนจึงนิมนต์ให้พระมหาบุญถึงเป็นผู้นำ น่าสนใจว่า ขณะพระภิกษุ ๑๑ รูปกำลังเจริญพุทธมนต์ โดยมีผู้นำศาสนาคริสต์ และตัวแทนศาสนาอิสลามร่วมฟังอย่างสงบ ร่วมกับอุบาสกอุบาสิกาหลายสิบคนที่นั่งพับเพียบพนมมือ เจ้าหน้าที่เทศกิจ ซึ่งเข้าแถวประจันหน้าอยู่กับพวกเรา กลับต้องยืนตัวตรงนิ่งตามระเบียบ ...ระเบียบอันตราขึ้นด้วยอำนาจ ที่นับวันจะห่างไกลจาก “ความเป็นธรรม” ยิ่งขึ้นทุกที...

         เมื่อการเจริญพุทธมนต์จบลง ผู้เขียนเชิญชวนให้ทุกคนอยู่ในอาการสงบอีกครั้ง และเสนอให้พยายามใช้เหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นอุบายเฝ้าดูจิตของตน ดูแลไม่ให้ส่องส่ายปรุงแต่งไปกับผัสสะที่กำลังเกิดและรุกคืบใกล้เข้ามา พร้อมกับย้ำว่า “อย่าถือโทษเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ เพราะพวกเขาจำต้องมาตามคำสั่ง ผู้บังคับบัญชา หาไม่แล้ว ในเหตุการณ์อย่างนี้ ลูกหลานคนยากคนจน คงไม่อยากเข้าร่วมกับการข่มเหงรังแกผู้ร่วมฐานะของตนเป็นแน่...”

         อาจจะเป็นด้วยถ้อยคำดังกล่าว หรือเพราะเหตุใดก็ไม่ทราบชัด ปฏิกิริยาของเจ้าหน้าที่ตรงหน้าพวกเราจะคลี่คลายลงไปไม่ใช่น้อย เจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้าบางคนถึงกับพูดสวนขึ้นว่า “ขอบคุณที่พระคุณเจ้ายังเข้าใจพวกผม...”

         ต่อมา คุณพ่อวิชัยและคุณเดชได้ร่วมกล่าวให้กำลังใจผู้ร่วมชุมนุม ด้วยมุมมองและ หลักธรรมของแต่ละศาสนา รวมทั้งพระมหาบุญถึงที่ร่วมกล่าวด้วย ในฐานะนักบวชพุทธ ก่อนสวดสาธยายกรณียเมตตสูตร และร่วมกันภาวนาอีกครั้ง

 

สิ่งที่เกิดขึ้น ดูเหมือนว่าจะสะเทือนใจผู้คนในบริเวณนั้นไม่ใช่น้อย หลายคนที่นั่งบนฟุตบาทฟากตรงข้ามพนมมือฟังสวดไปพร้อมกับการเช็ดน้ำตาเป็นระยะ ขณะเหล่านักบวชกับเพื่อนศาสนิกต่างศาสนา และพ่อแก่แม่เฒ่า ร่วมประกอบ ศาสนพิธี ที่ต้องประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ตรงหน้า โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐยืนทะมึนค้ำศีรษะ เป็นแนวกำแพงมนุษย์

         ช่างภาพหลายแขนงแยกย้ายกันเก็บแง่มุมต่าง ๆ ภาพแล้วภาพเล่า บ้างจ่อกล้องเข้ามาใกล้ในมุมเงยสูง เพื่อให้ติดทั้งพระและเจ้าหน้าที่เทศกิจ บ้างถ่ายมุมกว้างให้เห็นทั้งผู้ร่วมพิธีและผู้ที่กำลังรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอย่างขมักเขม้น เมื่อรถบรรทุกคันใหญ่และรถบัสโดยสารของกทม.วิ่งฝ่าเข้ามา ก็ไปถ่ายเสียทีหนึ่ง ก่อนวิ่งกลับมารุมถ่ายแม่เฒ่า ซึ่งร้องไห้โฮใหญ่ เมื่อผู้เขียนประกาศยุติกิจกรรม และขอให้ทุกคนลุกขึ้น เพราะขณะนั้นการรื้อถอนขยายมาถึงเพิง “มหาวิทยาลัยสังคม” ซึ่งฝาด้านหนึ่งเป็นฉากหลังของลานพิธีแล้ว

         เวลาเดียวกันนั้นเองที่นายวรัญชัย โชคชนะ ผู้มาร่วมกำกับการรื้อถอนโดยที่หลายคนไม่ทราบชัด ว่ามีหน้าที่รับผิดชอบใด ก็เดินตรงเข้ามาที่ผู้เขียนพร้อมทั้งบอกว่า “ดีแล้วที่รีบเลิกเสีย จะได้ไม่ต้องมีปัญหา” หากรีบเปลี่ยนประเด็นหันไปตำหนิ กทม. เมื่อพบว่าเราต่างคุ้นหน้ากันอยู่บ้าง ด้วยเหตุที่ผ่านเวทีอื่น ๆ ร่วมเวลาและสถานที่เดียวกันมาแล้วหลายครั้ง

 

๑๑.๐๕ น. ฝุ่นและเศษผงหญ้าคาที่เคยใช้มุงเพิงฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ ผู้เขียนกับพระสุพจน์ สุวโจ เดินเลี่ยงออกมาด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเดินทางกลับ เห็นอาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ กำลังให้สัมภาษณ์นักข่าวจำนวนหนึ่งถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

         ทราบภายหลังว่ามีผู้รักความเป็นธรรมหลายวงการเดินทางมาสังเกตการณ์ถึงที่ ทั้งยังร่วมให้คำแนะนำและให้กำลังใจผู้ร่วมชุมนุมอย่างใกล้ชิด

         ระหว่างรอรถอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวคนหนึ่งก็ปรี่เข้ามาถามยืนยันถึงชื่อ ฉายา และสังกัดวัด ว่าผู้เขียนเป็นคนเดียวกับที่เขาเคยบันทึกไว้หรือไม่ พร้อม ๆ กับแม่สมปอง หนึ่งในแกนนำผู้ชุมนุม เดินมาหารือเรื่องผู้ที่บวชเนกขัมมะ ว่าจะให้ทำอย่างไรต่อไป และต้องปฏิบัติอย่างไรบ้างเพื่อไม่ให้ศีลขาด แล้วนำไปพบผู้ผ่านการบวช ที่นั่งรวมตัวกันอยู่ริมถนน ด้านตรงกันข้ามทำเนียบรัฐบาล

         เมื่อพบกันผู้เขียนก็ได้แต่ให้กำลังใจสั้น ๆ พร้อมทั้งแนะนำวิธีปฏิบัติตัวที่น่าจะสอดคล้องกับความตั้งใจแต่เดิม ขณะที่ผู้บวชหลายคนยังสอบถามเรื่องศีลขาด – ไม่ขาด ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปซ้ำแล้วซ้ำอีก กระทั่งผู้เขียนกับพระสุพจน์ขอตัวกลับ ด้วยรถแท็กซี่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้เรียกให้

         ตลอดทาง ผู้เขียนอดไม่ได้ที่จะคิดถึงเหตุการณ์ทั้งหมดที่เพิ่งผ่านมา คิดถึงนายสมัคร สุนทรเวช, เจ้าหน้าที่เทศกิจ, นักข่าวและตากล้อง ตลอดจนผู้ร่วมชุมนุมและผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ว่า อะไรกันเล่า ที่ทำให้ “ผิดและชอบ” ซึ่งพวกเขากำลัง “รับ” อยู่นั้น ขัดแย้งและแตกต่างกันมากนัก

         โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแก่แม่เฒ่าซึ่งบวชในเช้าวันนั้น ที่ยังพากันกังวลถึงศีลที่สมาทานไว้เสียยิ่งกว่าเพิงพัก ทรัพย์สิน หรือการชุมนุมเรียกร้อง ที่พวกตนตั้งเป้าหมายไว้แต่เดิม อดคิดไม่ได้ว่า คนเช่นนี้หรือ ที่นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเป็นพวกพูดไม่รู้เรื่อง มุ่งหวังผลส่วนตัวโดยไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี และไม่มีการคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม .. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :