เสขิยธรรม
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๖

บทความพิเศษ
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : เขียน
รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช : แปล*

ถือสิทธิอะไร ? จักรวรรดิอเมริกันและอนาคตของสันติภาพ

*ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เขียนและบรรณาธิการแปล จากบทความเรื่อง “By What Authoriy? : The American Empire and the Future of Peace” ซึ่งตีพิมพ์ในชื่อ “US aspirations of empire cloud future of world peace” Bangkok Post (March 25, 2003), op–ed.

สงครามโจมตีอิรักเปิดฉากขึ้น หลังจากผ่านพ้นเส้นตายที่ประธานาธิบดีแห่งจักรวรรดิอเมริกัน ได้กำหนดขึ้น นักรบชาย – หญิงกว่าสามแสนคนบุกเข้าโจมตีประเทศอิรัก ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์อันทันสมัยที่สุดในประวัติศาสตร์สงคราม โดยมุ่งหวังที่จะโค่นล้มผู้นำและระบอบการปกครองในอิรัก เพียงชั่วไม่กี่คืนที่ผ่านมา ขีปนาวุธและระเบิดลูกแล้วลูกเล่า ได้พุ่งเข้าไปเผาผลาญนครแบกแดด และทำลายขวัญของผู้นำอิรัก ซึ่งคอยที่จะถูก “เด็ดหัว” ด้วยคมดาบของจักรวรรดิอเมริกัน ขณะที่กำลังเขียนบทความ ชิ้นนี้อยู่ กองกำลังภาคพื้นดินที่มีสหรัฐฯเป็นแกนนำก็กำลังดำเนินการรบต่อไป ในบางจุดห่างจากนครเก่าแก่ของแบกแดดเพียงร้อยกว่ากิโลเมตร ถึงวันที่บทความนี้ถูกแปลเป็นไทย มีข่าวว่ากองกำลังของสหรัฐฯ เข้านครแบกแดดได้แล้ว ข้อมูลจากทั้งสองฝ่ายระบุว่าจำนวนผู้สูญเสียจากเหตุการณ์นั้นค่อนข้างต่ำ เพราะฝ่ายจักรวรรดิใช้เทคโนโลยีแห่งการประหัตประหารที่มีคุณภาพสูง แม่นยำในการเจาะจงเอาชีวิตผู้คน (the advanced technology of killings) อาศัยดาวเทียมจารกรรมกว่า ๓๐ ดวงในอวกาศเหนืออิรักหาข่าวสารกำหนดจุดโจมตี แต่หากสงครามยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ตัวเลขของผู้สูญเสียก็ย่อมต้องเพิ่มขึ้น ซัดดัม ฮุสเซน ถูกกล่าวหาว่าก่อ”อาชญากรรม”หลายประการรวมทั้ง การละเมิดระเบียบโลกเพราะเคยบุกรุกประเทศอื่น ครอบครองอาวุธร้ายแรงที่อาจก่อความหายนะแก่มวลมนุษยชาติ, ปกปิดความลับเรื่องอาวุธร้ายแรงดังกล่าวต่อสหประชาชาติ ตลอดจนปกครองประเทศและประชาชนอิรักด้วยความโหดร้ายทารุณ

          คำถามที่เกิดขึ้นในใจของหลายคนคงไม่ใช่เรื่องที่ว่าใครจะ “ชนะ” สงครามนี้ เพราะคำตอบดูจะแน่นอนอยู่แล้ว แต่คือคำถามว่า สงครามนี้จะดำเนินไปยาวนานเพียงไร การสู้รบในสงครามจะดำเนินไปเช่นใด เทคโนโลยีล่าสุดอันใดจะถูกนำมาใช้และจะก่อให้เกิดผลเสียหายมากน้อยเพียงไร ความกังวลอีกอย่างหนึ่งคือสงครามนี้จะส่งผลต่อ “เรา” และต่อ “เศรษฐกิจของเรา” อย่างไร นักวิเคราะห์ไม่น้อยเริ่มตั้งคำถามว่าประเทศของ ”เรา”ควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ บางคนที่มองเหตุการณ์ในระยะที่ยาวไกลกว่านี้บ้าง หรืออาจจะเพราะมองไม่เห็นทางเลือกอื่น เริ่มต้นถามถึงบทบาทของประเทศตนในการเข้าไปฟื้นฟูอิรักหลังสงคราม

          บทความนี้ต้องการพิจารณาอนาคตของสันติภาพหลังการสิ้นสุดสงคราม โดยเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของประเทศสหรัฐอเมริกา และผลกระทบในระยะยาวของสงครามอิรัก ที่ประธานาธิบดีบุชได้ก่อขึ้นต่อโลก ในตอนท้ายจะนำเสนอเงื่อนไขอันจำเป็นต่อการสร้างสันติภาพ ในช่วงขณะทางประวัติศาสตร์เวลานี้

จักรวรรดิอเมริกัน

          การโจมตีอิรักเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๑ ซึ่งนำโดยบุช –ผู้บิดา– นั้นสำคัญเพราะแสดงว่า สหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจประเทศเดีย วที่สามารถจะเป็นผู้ปกปักษ์รักษาความยุติธรรมของโลกได้ สหรัฐฯอธิบายว่าไม่ได้ทำหน้าที่นั้นเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ แต่กระทำไปในนามของการรักษาความถูกต้องในโลก

          ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๒๐๐๓ บุช –ผู้บุตร– ได้กล่าวว่า นอกจากการมุ่งพิทักษ์ความมั่นคงแห่งชาติแล้ว สงครามที่จะปลดอาวุธและโค่นอำนาจซัดดัม ฮุสเซนนั้นจำเป็นยิ่งเพราะ “เป็นการสนองตอบต่อความต้องการอันชอบธรรมของโลก“ ที่จะสร้าง “ความมั่นคงให้กับโลก” ไบรอัน อูรคูฮาร์ท อดีตรองเลขาธิการสหประชาชาติกล่าวในบทความชิ้นหนึ่งที่เขียนขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. ๒๐๐๒ ว่า แม้สงครามพิชิตซัดดัม ฮุสเซนแห่งอิรักจะประสบความสำเร็จ แต่ผลลัพธ์ทางการเมืองหลังสงครามอาจจะนำมาซึ่งหายนะ ที่สำคัญคือ สงครามอิรักนั้นอาจจะทำให้ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายสากลชะงักลง และท่ามกลางความสับสนในสมรภูมิรบ อาวุธเคมีและเชื้อโรคซึ่งเชื่อกันว่ามีอยู่ในครอบครองของฝ่ายอิรักนั้น อาจตกไปอยู่ในมือของผู้ก่อการร้าย นอกจากนั้นสงครามอิรักอาจสั่นคลอนรัฐบาลที่อ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบตะวันออกกลาง และสร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ซึ่งในด้านกลับกันอาจจะส่งผลให้การเมืองแบบสุดขั้ว (ex-tremists’ politics) เข้มแข็งขึ้นและทั้งเชื่อกันว่าจะเป็นแรงผลักดันให้คนกลุ่มใหม่ ๆ เข้าไปร่วมกับการก่อการร้ายสากลมากยิ่งขึ้น

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมันได้ตั้งคำถามในสุนทรพจน์ที่กรุงเบอร์ลินเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๐๓ ว่า การโจมตีทางทหารนั้นจะช่วยสร้างความเข้มแข็งหรือบั่นทอนการก่อการร้ายสากลกันแน่ ในเรื่องนี้บุช–ผู้บุตร–เองเป็นผู้กล่าวย้ำว่า ภัยแห่งการก่อการร้ายนั้นอาจจะรุนแรงมากขึ้นเพราะผลของสงครามในครั้งนี้ เมื่อบุช–ผู้บุตร–ประกาศขีดเส้นตายให้ซัดดัม ฮุสเซนลี้ภัยออกนอกประเทศในวันที่ ๑๕ มีนาคม เขาได้กล่าวด้วยว่าในการประกาศสงครามครั้งนี้ เป็นไปได้ว่าจะก่อภัยก่อการร้ายต่อสหรัฐฯและโลก แต่มิใช่ว่าหลีกเลี่ยงภัยนี้ไม่ได้ บุชเชื่อมั่นว่า “ศัตรู…จะพ่ายแพ้” นอกจากจะเห็นว่าการกล่าวเช่นนี้เป็นเพียงการสร้างขวัญ และกำลังใจในห้วงสงครามแล้ว น่าจะพยายามทำความเข้าใจว่า เหตุใดประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาจึงกล่าวถ้อยคำเช่นนั้นด้วยความมั่นใจ

          ในศตวรรษที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาถูกคาดหวังให้เล่นบทบาทสำคัญในยุคแห่ง”ระเบียบโลกใหม่” เพราะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับโลกผ่านองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ องค์กรการเงินระหว่างประเทศและ งานด้านมนุษยธรรมต่าง ๆ ซึ่งต้องการจะสร้างความผาสุกให้แก่ประชาคมโลก สหรัฐฯ ได้ถูกเรียกร้องให้เข้าไปมีบทบาทแทรกแซงทางทหาร ในกรณีความขัดแย้งในหลายภูมิภาค จากไฮติถึงอ่าวเปอร์เซีย จากโซมาเลียถึงบอสเนีย กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ “จักรวรรดิ” อเมริกัน ในฐานะที่เป็นที่สถิตย์แห่งคุณค่าสากลอันมุ่งสถาปนาความถูกต้องดีงามของโลกทั้งผอง (the embo-diment of universal values in pursuit of global right) ได้กำเนิดขึ้นภายใต้บริบทโลกที่สหรัฐฯ ได้ถูกเรียกร้องให้แสดงบทบาทเช่นนี้ตลอดมา ในสถานการณ์ปัจจุบัน การใช้อำนาจอันเกือบไร้ขีดจำกัดของสหรัฐฯ เกิดขึ้นได้เพราะ ความเหนือกว่าทางเทคโนโลยี รวมถึงการเข้าใจว่าตนเองของสหรัฐฯ ว่าเป็นผู้ปกปักรักษา “ความคิดที่ได้พิชิตชัยโลกไปแล้ว” (ideas that have conquered the world) อันได้แก่ สันติภาพในรูปแบบหนึ่ง ประชาธิปไตย เสรีภาพ และโดยเฉพาะ ตลาดเสรี สหรัฐฯได้พันธนาการตนเองเข้ากับพันธกิจแห่งการพัฒนาเสรีภาพของมนุษย์ ซึ่งบุช –ผู้บุตร– เห็นว่า “เป็นสิ่งที่ทุก ๆ ชีวิตและทุกหนแห่งในโลกปรารถนา” เช่นนี้เอง สหรัฐอเมริกาจึงประกาศสงครามกับอิรักด้วยความเชื่อว่า เวลาแห่งการพยายามควบคุมจำกัดอำนาจซัดดัม ฮุสเซน ป้องปรามไม่ให้เขาใช้กำลังโจมตีผู้ใด และปลดอาวุธร้ายแรงได้สิ้นสุดลงแล้ว หนทางเดียวที่เหลืออยู่คือการโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซนให้ได้เร็วที่สุดโดยไม่ต้องฟังเสียงคัดค้านจากสหประชาชาติหรือประชาชนอื่นใดในโลก

          ถ้าสิ่งที่กล่าวข้างต้นถูกต้อง แนวคิดอธิบายสหรัฐอเมริกา ในฐานะประเทศที่มีพลังอำนาจด้านการทหารและเศรษฐกิจโดดเด่น และมุ่งสถาปนา “ผลประโยชน์แห่งชาติ” ของตนให้มากที่สุดนั้นอาจจะไม่เพียงพอ บางทีอาจจะต้องทำความเข้าใจสหรัฐฯว่ากำลังเปลี่ยนสภาพจาก “ประเทศ” ไปสู่การเป็น “จักรวรรดิ”

          ไมเคิล ฮาร์ด และ แอนโตนีโอ เนกรี ได้อธิบายแนวคิดนี้ไว้ในหนังสือชื่อ Empire (Harvard University Press, ๒๐๐๑) ว่า “จักรวรรดิ” เป็นระบอบการปกครองที่สามารถก้าวข้ามพ้นขอบเขตทางพรมแดนในเชิงกายภาพไปได้ มีพลานุภาพเหนือโลก “อารยะ” ทั้งมวลโดยไม่มีข้อจำกัดในเชิงสถาบัน เพราะด้วยศรัทธาศักดิ์สิทธิ์ว่าตนได้บรรลุจุดหมายท้ายสุดแห่งความเป็นสังคมการเมืองแล้ว จักรวรรดิปกครองโลกอัน “อารยะ” ทั้งมวลผ่านปฏิบัติการที่แทรกแซงเข้าถึงแทบทุกพื้นที่ของโลกทางสังคม (social world) อย่างรอบด้านไม่ว่าจะเป็นในทางเศรษฐกิจหรือวัฒนธรรม ถึงจุดที่แม้กับผู้คนที่ตกอยู่ภายใต้ระบอบของจักรวรรดินั้น ๆ ไม่น้อย ก็อาจไม่รู้สึก หากกลับปรารถนาอย่างยิ่งยวดที่จะ “มีความสุข” อยู่ภายใต้อำนาจจักรวรรดิในฐานะทวยราษฎร์ นอกจากนี้ จักรวรรดิยังแสดงให้เห็นว่า อุทิศตนเองให้กับการสร้างสันติภาพอันเป็นสากลและยั่งยืน จักรวรรดิแตกต่างประเทศเพราะถือมั่นในพันธกิจที่เหนือไปกว่าผลประโยชน์แห่งชาติ และดำเนินการเพื่อให้บรรลุพันธกิจเหล่านั้นอย่างเคร่งครัดราวกับศรัทธาทางศาสนา ในนามของการสร้างคุณค่าสากลเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวโลกทั้งผอง

          สงครามของประธานาธิบดีบุชต่ออิรักได้ทำให้กระแสความไม่พอใจในโลกมุสลิมแพร่ไปทั่ว ในวันแรกของการบุกโจมตีอิรัก หนังสือพิมพ์ Utusan Malaysia ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษามลายูที่มีผู้อ่านมากฉบับหนึ่งพาดหัวว่า “อเมริการบกับอิสลาม” หนังสือพิมพ์ Nawa–I–Waqt ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอุรดูที่มียอดขายอันดับสองพาดหัวว่า “อเมริกันได้สร้างความแตกแยกให้กับประชาชาติมุสลิม (อุมมะห์)” อิหม่ามที่มัสยิด Al–Azhar ในเมืองจาการ์ตากล่าวกับชาวมุสลิม ที่มาทำการนมัสการประจำวันศุกร์แรกหลังเกิดสงครามว่า “มหาอำนาจ (อเมริกา) กำลังโจมตีประเทศที่อ่อนแอ คนเหล่านี้จะไม่หยุดทำสงครามกับอิสลาม” เมื่อข้าพเจ้าไปร่วมนมัสการในวันศุกร์เดียวกันนั้นที่มัสยิดเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ อิหม่ามของมัสยิดได้สวดขอพรพระเป็นเจ้าให้กับนักรบเพื่อศาสนา (mujahideen) ในประเทศอิรักให้ประสบชัยชนะในสงครามที่เผชิญอยู่ แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะพยายามปฏิเสธเพียงใดว่านี่ไม่ใช่สงครามต่อต้านประชาชนชาติใดหรือศาสนาใด แต่สงครามครั้งนี้ดูเหมือนจะทำให้มายาคติในโลกมุสลิมว่า นี่เป็นสงครามต่อต้านมุสลิม กลายเป็นจริงขึ้นอย่างน่าสะพรึงกลัว พาดหัวข่าวและคำเทศนาเหล่านี้ สะท้อนความรู้สึกที่แพร่หลายในหมู่ชาวมุสลิมว่า “เรา” กำลังถูกจักรวรรดิที่ทรงอานุภาพทำร้ายรังแก ด้วยสงครามที่ไร้ความชอบธรรมใด ๆ

 

ถือสิทธิอะไร?

          บุช–ผู้บุตร–ได้แถลงเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม (เวลาในประเทศไทย) ว่า สหรัฐอเมริกาและพันธมิตร “มีความชอบ--ธรรมที่จะใช้กำลัง” โจมตีอีรักภายใต้มติคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติที่ ๖๗๘ และ ๖๘๗ ซึ่งออกเมื่อต้นทศวรรษ ๑๙๙๐ สหรัฐฯ ย้ำว่าเพราะสหรัฐฯ ปฏิบัติตามมติดังกล่าว สงครามครั้งนี้จึงไม่ใช่ปัญหาว่าสหรัฐฯ มีสิทธิธรรม (authority) ในการประกาศสงครามหรือไม่ แต่เป็นเรื่องว่า มีเจตน์จำนงทางการเมือง (political will) ที่จะทำสงครามหรือไม่มากกว่า

          คำถามว่าผู้ประกาศสงคราม “ถือสิทธิอะไร ?” นั้นที่จริงแล้ว เป็นประเด็นที่ข้ามพ้นกรอบกติกากฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับมติสหประชาชาติ เพราะตัวคำถามนั้นเองบรรจุประเด็นปัญหาทางศาสนาอยู่ด้วย ในพระคัมภีร์ไบเบิล เมื่อพระเยซูเสด็จดำเนินอยู่ในมหาวิหารแห่งเยรูซาเล็ม “พวกปุโรหิตใหญ่ พวกอาลักษณ์ และ พวกผู้เฒ่าแก่ มาหาพระองค์ ทูลพระองค์ว่า ‘ท่านกระทำการนี้โดยอำนาจอะไร? ใครให้ท่านมีอำนาจทำการอย่างนี้ได้?’ พระเยซูจึงตรัสตอบพวกเขาด้วยคำถามว่า ‘จงตอบเรา แล้วเราจะบอกท่านทั้งหลายว่า เรากระทำการนี้โดยอำนาจอะไร คือ ศีลจุ่มของโยฮัน (John the Baptist) นั้นมาแต่สวรรค์หรือมาแต่มนุษย์?” (Mark ๑๑: ๒๗–๓๐, Luke ๒๐:๒, Matthew ๒๑: ๒๓)

          การต่อต้านสงครามครั้งนี้ทั้งโดยชาวมุสลิมและคนที่ไม่ใช่มุสลิมนั้น เกิดขึ้นก่อนสงครามจริงจะเริ่มต้นขึ้น เห็นได้จากการประท้วงของขบวนการสันติภาพทั่วโลกซึ่งล้วนเชื่อตรงกันว่าสงครามครั้งนี้ไร้ความชอบธรรมใด ๆ ด้วยเหตุสำคัญสองข้อ คือ ข้อแรก สหรัฐฯ ไม่สามารถที่จะทำให้ประชาคมโลกเชื่อได้ว่า สงครามครั้งนี้เป็นสิ่งจำเป็น และข้อสอง สหรัฐฯ ตัดสินใจฉุดกระชากลากโลกเข้าสู่สงครามเอง โดยไม่ฟังเสียงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ถ้าพิจารณาการกระทำของจักรวรรดิอเมริกันจากมุมมองทางศาสนา อาจตั้งคำถามได้ว่า “จักรวรรดิถือสิทธิธรรมอะไร ในการเสกสร้างชาติต่าง ๆ ในโลกให้เป็นไปตามฉายาของตนผู้เดียว?” (By what authority does the empire seek to reinvent the nations of the world in its own image?)

          บัดนี้สหรัฐอเมริกากำลังตราเส้นทางกิจการของโลกเสียใหม่ ด้วยสภาพการเป็นจักรวรรดิที่เชื่อมั่นในพลานุภาพที่ไม่มีใดเทียบของตน คู่ไปกับภาระศักดิ์สิทธิ์ในการธำรงรักษาคุณค่าแห่งเสรีภาพอันเป็น”นิรันดร์” และการเนรมิตให้ชาติเปลี่ยนแปลงไปตามฉายาของตน ข้าพเจ้าคิดว่าทั้งหมดนี้ ส่งผลให้เกิดกระบวนการลดทอนความเป็นอารยะ (de–civilizing process) ของระบบการเมืองระหว่างประเทศในโลกด้วยเหตุผลหลายประการ

          ประการแรก สงครามครั้งนี้ได้บั่นทอนระบบของสหประชาชาติอย่างมาก จนกระทั่งชาวบ้านร้านตลาดเริ่มตั้งคำถามว่า การดำรงอยู่ของสหประชาติเช่นนี้จะมีประโยชน์อะไรต่อไป ประการที่สอง ธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างประเทศ ที่ยอมรับให้ใช้กำลังทหารได้ในฐานะทางเลือกสุดท้ายถูกทำลายลง ประการที่สาม เมื่อบุช –ผู้บุตร– กล่าวเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๖ ว่าสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นปฏิบัติการสงครามเพราะ “การไม่ทำอะไรเลยจะก่อความเสียหายใหญ่หลวงยิ่งกว่า” เพราะ “พลังอำนาจของอิรักที่จะทำอันตรายประเทศอันเป็นเสรีทั้งหลายนั้นนับวันจะทบทวียิ่งขึ้นหลายเท่า” ภายในระยะเวลาหนึ่งถึงห้าปี นี่ไม่เพียงเป็นการสร้างบรรทัดฐานว่า “อำนาจคือธรรม” แต่เป็นการก้าวไปสู่จุดอันตรายยิ่งกว่าคือ “การใช้อำนาจบังคับในฐานะที่เป็นมาตรการป้องกันไว้ก่อนเป็นสิ่งที่ถูกต้องเป็นธรรม”

          ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๘๙ ถึง ๒๐๐๐ ได้มีความขัดแย้งด้วยกำลังรบ ๑๑๑ ครั้งใน ๗๔ แห่งทั่วโลก นักวิเคราะห์บางคนได้สรุปว่าตั้งแต่ปีค.ศ. ๑๙๘๙ ถึง ๑๙๙๗ นั้น ถือได้ว่าเอเชีย – แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มี “ความขัดแย้งด้วยกำลังความรุนแรงขนาดใหญ่มากครั้งกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ทั้งหมด” เนื่องจากจักรวรรดินั้นแผ่อำนาจของตนด้วยการตราข้อกำหนด กฎ เกณฑ์ผ่านวิถีปฏิบัติเชิงวัฒนธรรมด้วย ลองจินตนาการถึงโลกที่สหประชาชาติไม่มีบท บาทหรือมีบทบาทเหลืออยู่เพียงน้อยนิดในการจัดการกับความขัดแย้งอันรุนแรง ขณะที่ ประเทศซึ่งขัดแย้งกัน อาจหันไปใช้ความรุนแรงและสงครามแก้ปัญหากันมากขึ้นเพราะ “มาตรการสุดท้าย” กลับกลายเป็นสิ่งที่บรรลุได้เร็วและกระทำได้ง่ายดายกว่าเดิม และเพราะการประเมินคาดเดาว่าอีกฝ่ายหนึ่งมีเจตนาร้าย โดยไม่ต้องรอให้”ฝ่ายนั้น”มีพฤติกรรมอันเป็นเครื่องส่อเจตนาเสียก่อน ได้กลายเป็นเหตุผลที่เพียงพอจะให้ “ฝ่ายเรา” ใช้กำลังความรุนแรงจัดการกับ “ฝ่ายเขา” อย่างชอบธรรม

          แล้วอนาคตของสันติภาพจะอยู่ที่ไหน?

 

อนาคตของสันติภาพ

          ในช่วงขณะแห่งประวัติศาสตร์ (historical moment) เช่นนี้ มีเงื่อนไขสองประการที่อาจนำไปสู่การสร้างอนาคตของสันติภาพ คือ ต่อสู้กับความรู้สึกสิ้นหวังและปฏิเสธความเกลียดชัง

          เพื่อเอาชนะความรู้สึกสิ้นหวัง ต้องหาทางฟื้นคืนความชอบธรรมของสหประชาชาติ คู่กันไปกับเปิดพื้นที่ให้กับการต่อต้านสงครามด้วยสันติวิธี โลกยังต้องการพื้นที่ให้รัฐต่าง ๆ เข้ามาร่วมในบทสนทนา และพยายามสร้างกติกาซึ่งจะนำไปสู่การสถาปนาระเบียบโลกอันเป็นอารยะ เช่นที่เคยทำสำเร็จในการสร้างฉันทามติต่อปฏิญญาสากลสิทธิมนุษยชนมาแล้ว

          เมื่อรัฐบาลต่าง ๆ ในโลก ตัดสินใจเลือกข้างที่จะยืนในสงครามครั้งนี้ ว่าจะเข้าข้างจักรวรรดิหรือไม่เพียงไร คงต้องให้ความสำคัญกับปัญหาการสร้างและธำรงความชอบธรรมของสหประชาชาติในเวลาเดียวกันด้วย และไม่น่าจะเลือกตัดสินใจที่จะทำให้ความชอบธรรมของสหประชาชาติอ่อนแอลงไปอีก ขณะเดียวกันสามัญชนทุกศาสนา ทุกวัฒนธรรมควรต้องเข้ามามีส่วนได้เสียกับการเมือง แสดงความเห็นคัดค้านสงครามได้โดยเสรี การให้พื้นที่สำหรับผู้คัดค้านสงคราม ได้แสดงออกในสังคมของตนเองนั้น จะเป็นการลดภัยอันตรายที่อาจเกิดจากความรู้สึกสิ้นหวัง ขณะที่ต้องเผชิญกับจักรวรรดิที่กำลังก่อตัวขึ้น พื้นที่ทั้งสองส่วนนี้มีความสำคัญในการพาโลกให้พ้นจากความสิ้นหวังและความรู้สึกไร้อำนาจ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความรุนแรงทุกรูปแบบ รวมตลอดถึงการก่อการร้ายสากลด้วย

          การใช้ความเท็จการหลอกลวงและเห็น “ผู้อื่น” ไม่ใช่มนุษย์แต่เป็นปีศาจร้าย (demonization) เป็นญาติสนิทของสงคราม ทั้งสองสิ่งนำมาซึ่งความเกลียดชังฝ่ายตรงข้าม ขณะที่ครุ่นคิดอยู่ว่าจะต่อสู้กับความเกลียดชังที่กำลังจะระบาดแพร่ไปได้อย่างไร ข้าพเจ้าคิดถึงสตรีชาวอเมริกันเล็ก ๆ คนหนึ่งที่แทบไม่มีใครรู้จัก เธอชื่อ ราเชล คอร์รี่ (Rachel Corrie)

          ราเชลอายุ ๒๓ ปี มาจากเมืองโอลิมเปียในมลรัฐวอชิงตัน ทางตะวันตกตอนเหนือของสหรัฐฯ เครก และซินดี้ คอร์รี่ ซึ่งเป็นพ่อแม่ของเธอเขียนเล่าถึงบุตรสาวว่า ราเชล ถูกเลี้ยงมาให้ชื่นชมความงามของโลก เธอเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักและความรู้สึกถึงหน้าที่ที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ราเชลเป็นสมาชิกคนหนึ่งขององค์กร Grassroots International Presence for the Protection of Palestine เธอได้เดินทางไปยังตอนใต้ของเมืองกาซา เพื่อปกป้องผู้อื่นด้วยสันติวิธี โดยใช้ร่างกายของเธอเป็นโล่ห์กำบังไม่ให้เกิดความรุนแรงต่อผู้คน ในวันที่ ๑๖ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๐๓ ราเชลพยายามป้องกันไม่ให้ทหารอิสราเอลทำลายบ้านเรือนของชาวปาเลสไตน์ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ราฟา โดยนอนขวางหน้ารถบุลโดเซอร์เพื่อกั้นไม่ให้รถวิ่งเข้าไปทำลายบ้านเรือนของชาวบ้าน เธอตายเมื่อรถไถถมทรายลงบนร่างของเธอ พ่อกับแม่ของเธอ เขียนเล่าว่าทั้งสองคนภูมิใจในลูกสาวผู้มั่นคงในความเชื่อของเธอ และยอมสละชีวิตเพื่อปกป้องผู้คนที่ไม่อาจปกป้องตนเองได้

          วันที่ ๑๗ มีนาคม ธงอเมริกันโบกไสวอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยตอนใต้ของเมืองกาซา แต่เดิมมักเห็นภาพธงอเมริกันถูกเผาเพื่อเป็นประท้วงสหรัฐฯและอิสราเอลเนือง ๆ ในที่นั้น แต่วันนี้ชาวปาเลสไตน์กว่าพันคนเดินขบวนรอบค่ายผู้ลี้ภัย ในมือของพวกเขามีเปลคลุมด้วยธงชาติอเมริกันเป็นสัญลักษณ์ไว้อาลัยให้กับราเชลด้วยความซาบซึ้งใจ ชาวนาชาวปาเลสไตน์คนหนึ่งกล่าวว่า “เราโบกธงอเมริกันในวันนี้ เพื่อแสดงความชื่นชมต่อชาวอเมริกันผู้รักสันติทุกคนเช่นราเชล”

ในวันนั้น เส้นแบ่งผู้คนเป็นฝักฝ่าย เปลี่ยน “ฝ่ายตรงข้าม” ให้กลายเป็นวัตถุแห่ง ความเกลียดชังกันและกันได้มลายหายไป ราเชล คอร์รี่ต่อสู้กับความเกลียดชังด้วยความกล้าหาญ เรื่องราวการต่อสู้เพื่อสันติภาพโดยมิได้ทำร้าย หรือเกลียดชังผู้อื่นของคนอเมริกันอย่างราเชลและผู้คนอื่น ๆ อีกมากในโลก ควรต้องถูกบอกกล่าวให้รับรู้กันทั่วไป เพื่อจะได้ตั้งคำถามกันว่า

          ระหว่างการคร่าชีวิตผู้อื่นโดยจักรวรรดิ กับการอุทิศชีวิตตนเองด้วยสันติวิธีของหญิงสาวเล็ก ๆ คนหนึ่งเช่นนี้ หนทางอย่างใดกันที่จะนำพาโลกและสังคมอเมริกันไปสู่ความมั่นคงที่ยั่งยืนและสันติภาพอันถาวร .. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :