เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรมฉบับที่ ๕๕
ประยุกต์ธรรม

บทสัมภาษณ์ติชนัทฮันห์ โดย Kyleigh
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ แปลจาก Consumption/Compassion
จากนิตยสาร Whole Life Times สิงหาคม ๒๐๐๑

การบริโภค/ความกรุณา

          ติชนัทฮันห์ เป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดท่านหนึ่งในตะวันตก ท่านได้อุทิศชีวิตเพื่อส่งเสริมแนวคิดของการไม่ใช้ความรุนแรงและความกรุณาในพุทธศาสนา

          ท่านเกิดในตอนกลางของประเทศเวียดนามเมื่อปี ๑๙๒๖ (พ.ศ. ๒๔๖๙) และได้รับการบรรพชาอุปสมบทเมื่ออายุ ๑๖ ปี ในช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐ ขณะที่พำนักอยู่ในกรุงไซง่อน ท่านได้ก่อตั้งโรงเรียนเยาวชนเพื่อบริการสังคม ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานในระดับรากหญ้า เพื่อช่วยเหลือบูรณะหมู่บ้านที่ถูกระเบิดทำลายไป ได้จัดตั้งโรงเรียนและสถานีอนามัยช่วยให้ผู้ที่สูญเสียที่อยู่อาศัยได้มีที่พักพิง และได้จัดตั้งสหกรณ์การเกษตร ทั้งท่านยังทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเพื่อก่อตั้งมหาวิทยาลัยด้านพุทธศาสนา สำนักพิมพ์ และนิตยสารด้านสันติภาพของนักกิจกรรมที่มีบทบาทสำคัญในประเทศเวียดนาม

          ท่านได้ลี้ภัยจากประเทศเวียดนามในปี ๑๙๖๖ เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ท่านนัทฮันห์ได้เดินทางไปยังทวีปอเมริกาเหนือ และได้โน้มน้าวให้ทางการของสหรัฐเห็นความสำคัญของสันติภาพในระหว่างสงครามเวียดนาม ทั้งยังกล่าวกันว่าท่านมีอิทธิพลต่อ มาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์ และสามารถโน้มน้าวให้เขาหันมาต่อต้านสงครามเวียดนามอย่างเปิดเผย ซึ่งเป็นเหตุให้มีการขับเคลื่อนขบวนการสันติภาพทั่วประเทศ ในปีถัดมานายคิงได้เสนอชื่อของท่านเพื่อรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

          ท่านเขียนหนังสือหลายเล่ม ปัจจุบันท่านนัทฮันห์พำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศสที่หมู่บ้านพลัม ซึ่งเป็นชุมชนสงฆ์แบบพุทธและได้บรรยายธรรมและนำปฏิบัติสมาธิอย่างสม่ำเสมอในอเมริกาเหนือ เมื่อเร็ว ๆ นี้ท่านได้แบ่งปันภูมิปัญญาจากวัด Deer Park ซึ่งเป็นศาสนสถานแห่งใหม่ทางตอนใต้ของท่านที่เมืองเอสคอนบิโด

ผู้สัมภาษณ์ : เหตุใดการที่ได้อยู่ใกล้กับท่าน และได้ฟังการบรรยายและร่วมปฏิบัติธรรมกับท่าน ช่างมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อคนทั้งหลาย

ติชนัทฮันห์ : อาตมาคิดว่า เป็นเพราะอาตมาเห็นคุณค่าของเวลาทุกนาทีและชั่วโมง ที่เรามีอยู่เพื่อจะดำรงชีวิตสืบไป อาตมาไม่คิดจะใช้เวลาไปทำสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์นัก ด้วยเหตุนี้การปฏิบัติของอาตมาคือการอยู่กับปัจจุบันขณะ การอยู่กับปัจจุบันขณะอย่างมีอิสระและมีชีวิตชีวา ความมหัศจรรย์ของชีวิตมีอยู่มากมายเมื่อเราเข้าถึงที่นี่และเดี๋ยวนี้ หากท่านปราศจากสติท่านก็จะพลาดที่จะพบสิ่งเหล่านั้น ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าเสียใจและเปล่าประโยชน์

-> ในท่ามกลางความวุ่นวายที่เกิดขึ้นรอบตัวเราทุกขณะ เราจะสามารถนำสันติภาวะที่เราได้ค้นพบที่นี่ และนำไปใช้ในชีวิตประจำได้อย่างไร

          สิ่งที่เราได้พบปะอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอาจช่วยทั้งส่งเสริมเราหรือทำลายเราก็ได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องระมัดระวังต่อสิ่งที่เราเข้าไปสัมผัสเกี่ยวข้องด้วย อย่างเช่นเมื่อเช้าวันนี้ในระหว่างที่อาตมานั่งสมาธิ อาตมานั่งสมาธิเพียงลำพังที่นี่และสามารถสัมผัสถึงพระจันทร์ ท้องฟ้า และขุนเขา ซึ่งนับเป็นเรื่องที่เจริญใจยิ่ง อาตมาเพียงแต่นั่งและมีถ้วยชาอยู่ตรงนี้ หลังจากนั้นอาตมาได้เชื้อเชิญให้สหธรรมิกร่วมกันเดินจงกรม พระจันทร์ยังส่องสว่างอยู่ตรงนั้นบนท้องฟ้า และอาตมารู้ว่าการเดินจงกรมเช่นนั้น และการได้สัมผัสกับยามเช้าตรู่ ท้องฟ้า พระจันทร์ ขุนเขา ต้นไม้ และสิงสาราสัตว์ที่อาศัยอยู่ในขุนเขาล้วนเป็นสิ่งที่ดีต่ออาตมาเช่นกัน

          เราได้เดินขึ้นไปบนภูเขาและมีความสุขกับยามเช้าตรู่ จากนั้นก็ได้เดินลงมา อาตมาได้พบกับคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่ได้เดินทางมาพำนักยังวัดแห่งนี้ และอาตมาได้เชื้อเชิญให้พวกเขามายังที่พักและร่วมกันรับฟังบทเพลงและบทสวดมนต์ พวกเขาห้าคนได้มายังที่พักและนั่งพร้อมกับอาตมาในห้องนี้ พวกเรารับฟังบทสวดมนต์เป็นเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีนัก

          เหล่านี้เองที่เป็นอาหารที่สร้างความเจริญใจแก่เรา อาตมาเพียรที่จะได้สัมผัสกับปัจจัยที่บำรุงหล่อเลี้ยงเหล่านี้ซึ่งอยู่รอบตัวเรา พวกเราดื่มด่ำกับบทเพลงและการอยู่ร่วมกันและวันนี้เป็นวันขี้เกียจแห่งวัด Deer Park

          เราจัดการปฏิบัติธรรมกันในลักษณะนั้นเอง เราสร้างสภาพแวดล้อมที่ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถดื่มด่ำกับความมหัศจรรย์ด้านต่าง ๆ ของชีวิต ซึ่งเป็นเหมือนน้ำที่หล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์ที่ดีที่สุดในตัวเรา การปฏิบัติธรรมเป็นเวลาสี่หรือห้าวันเช่นนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนได้

          ในแง่ของสิ่งที่บำรุงหล่อเลี้ยงหรืออาหาร พวกเรากลายเป็นสิ่งที่พวกเราบริโภคเข้าไป พวกเราจะเป็นสิ่งที่ร่างกายเราเผาผลาญ ด้วยเหตุนี้เราจึงพึงระมัดระวังที่จะไม่บริโภคสิ่งใดที่ทำลายร่างกายและจิตใจ ด้วยเหตุที่สังคมเราเป็นสังคมแห่งการบริโภค และเราก็ต้องบริโภค แต่เราควรบริโภคอย่างมีสติ เราควรจะเลือกสรรและระมัดระวัง ทั้งนี้เพราะสุขภาพของเรา ครอบครัว และสังคม ล้วนขึ้นอยู่กับความมีสติในการบริโภค

-> ท่านคิดว่าเราจะสามารถทำอะไรที่เป็นประโยชน์มากที่สุดต่อเยาวชนทุกวันนี้

          จงให้เวลากับพวกเขามากขึ้น อย่าใช้โทรทัศน์เป็นพี่เลี้ยงเด็กมากเกินไป จงใช้เวลาของท่านอยู่กับพวกเขาและท่านจะได้รับคุณค่า และเด็กเองก็จะได้รับประโยชน์เช่นกัน หากท่านรู้ว่าจะใช้เวลากับเด็ก ๆ ได้มากเพียงใดท่านก็จะได้รับประโยชน์มากเพียงนั้น ชีวิตท่านจะมีความสดชื่นมากขึ้นและท่านก็ได้มีโอกาสคุ้มครองเด็ก ๆ และอย่าปล่อยให้ลูกหลานของท่านถูกทำร้ายด้วยวัตถุอันมีพิษ โดยเฉพาะที่มาจากการบริโภควิดีโอเกมส์ โทรทัศน์ นิตยสาร และหนังสือบางประเภท ซึ่งบ่มเพาะความรุนแรง กิเลสตัณหาและความกลัวในหมู่เยาวชน หากท่านมีโอกาสได้อยู่ร่วมกับลูกหลานของท่าน ท่านก็จะสามารถปกป้องพวกเขาจากพิษภัยเหล่านั้นได้ นี้เป็นการปฏิบัติในขั้นพื้นฐานที่จะปกป้องตนเองและปกป้องคนที่ท่านรัก

-> ทุกวันนี้เด็ก ๆ และวัยรุ่นในโรงเรียนได้ก่อความรุนแรงมากมาย จนทำให้มีการสอนพวกเขาว่าจะมีท่าทีต่อวิกฤตเช่นนั้นอย่างไร เราจะทำอะไรซึ่งเป็นรูปธรรมที่จะสามารถแก้ไขสถานการณ์เหล่านั้นได้

เราต้องมองว่าเยาวชนที่ยิงทำร้ายผู้อื่นก็เป็นเหยื่อเช่นกัน พวกเขาได้สร้างเหยื่อขึ้นมาแต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็เป็นเหยื่อของสิ่งแวดล้อมรอบตัวของเขา อาตมาคิดว่าสิ่งที่เราพึงกระทำได้ในขั้นแรกคือการไม่กระทำ เพราะวิถีการดำรงอยู่ของท่านก็เป็นการกระทำอย่างหนึ่งเช่นกัน เมื่อพ่อแม่อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข เมื่อพ่อแม่รู้ว่าจะใช้ปิยวาจาต่อกันอย่างไร เมื่อพ่อแม่รู้ว่าจะดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกันอย่างไร และทำให้เด็ก ๆ มีความสุข นั่นก็เป็นการกระทำที่คุ้มครองเด็ก ๆ บาดแผลที่พ่อแม่กระทำต่อกันก็อาจจะไปปรากฏอยู่ในตัวของผู้เป็นลูกได้ เด็ก ๆ จะได้รับทุกข์เมื่อพ่อแม่นำความทุกข์มาใส่กัน ด้วยเหตุนี้การสร้างบรรยากาศแห่งความรัก ความไว้วางใจ และสันติภาพในครอบครัวจึงเป็นการปฏิบัติขั้นพื้นฐาน (ซึ่งอาจมองว่าเป็น) การไม่กระทำซึ่งเป็นวิถีชีวิตอย่างหนึ่ง เด็กก็เป็นเหมือนกับต้นไม้ที่โตขึ้นอยู่ในสวนและต้องพึ่งพาความสมบูรณ์ของสวนหรือครอบครัวนั่นเอง

-> ในหนังสือของท่านเรื่องสันติภาพทุกย่างก้าว ท่านเขียนไว้ว่า “พวกเราเฉื่อยชามากเกินไป พวกเราพร้อมจะจ้องดูอะไรก็ตามที่ปรากฏบนจอ พวกเราโดดเดี่ยวเกียจคร้านหรือเบื่อหน่ายที่จะสร้างสรรค์ชีวิต พวกเราเอาแต่เปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้ ปล่อยให้คนอื่นชักนำเรา กำหนดความเป็นตัวเราและทำลายเรา การปล่อยชีวิตไปเช่นนี้เท่ากับเป็นการทำให้ชีวิตเราตกอยู่ในกำมือของผู้อื่น ซึ่งอาจไม่มีการกระทำที่รับผิดชอบ” อะไรเป็นวิถีทางที่เราจะสามารถปกป้องตัวเราเอง ไม่ปล่อยให้ตนเองหลงใหลไปตามสิ่งต่าง ๆ ที่เราต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน

          อย่างที่อาตมากล่าว ปัญหามาจากสภาพแวดล้อม เราควรร่วมกันสร้างสรรค์สภาพแวดล้อม ที่ช่วยให้เรามีโอกาสสัมผัสกับปัจจัยที่เป็นบวกในตัวของเราเอง และรอบตัวเรา ปัจจัยที่เป็นบวกมีอยู่ทั้งในร่างกายของเราและสติ แต่หากไม่มีสภาพแวดล้อมที่ดีเราก็ไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับสิ่งดี ๆ ในตัวของเราเอง

          ปัจจัยบวกมีอยู่รอบตัวเราเช่นกัน เราจำเป็นต้องมีกัลยาณมิตรที่คอยชี้นำให้เราเห็นถึงปัจจัยบวกที่อยู่ในตัวเรา เราอาจจะมีเมล็ดพันธุ์อันเป็นบวกอยู่ในตัวเรา แต่หากเราไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เมล็ดพันธุ์ในตัวเราก็ไม่มีโอกาสพัฒนาขึ้น และไม่สามารถทำให้เราเป็นบุคคลที่มีความสุขได้ และถ้าเราไม่มีความสุขเสียแล้ว เราก็ไม่สามารถช่วยเหลือให้ผู้อื่นมีความสุขด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้การหล่อเลี้ยงบำรุงเมล็ดพันธุ์ที่ดีในตัวเราจึงเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง

-> เราจะสอนลูกหลานของเราได้อย่างไร

          ก็ด้วยการดำรงชีวิตไปตามหลักการดังกล่าว เมื่อเราดำรงชีวิตอย่างมีสติ เราจะเป็นผู้มีความปีติสดชื่นและมีความอดทน ซึ่งทำให้เด็ก ๆ อยากอยู่ใกล้ชิดกับเรา เราไม่สามารถบังคับให้พวกเขาทำสิ่งต่าง ๆ ที่พวกเขาไม่ต้องการ หากเราเป็นผู้มีความปีติและความสุข ความสุขของเราก็จะช่วยชี้นำให้พวกเขาไปในทิศทางเดียวกันกับเรา

-> พวกเราส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะคิดและกระทำบนพื้นฐานของความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อต่อต้านความอยุติธรรม เราจะสามารถปรับเปลี่ยนทิศทางของพลังเหล่านั้นได้อย่างไร

          การปฏิบัติในขั้นพื้นฐานคือการบ่มเพาะความกรุณา เมื่อมีความกรุณาเราจะสามารถให้อภัยและจะไม่เป็นทุกข์มากนัก หากเราสามารถบ่มเพาะความกรุณาขึ้นจำนวนหนึ่งภายในหัวใจของเรา เราก็จะสามารถมองดูผู้คนด้วยสายตาแห่งความกรุณาและยอมรับพวกเขาอย่างที่พวกเขาเป็น เมื่อนั้นเราจึงจะสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ การรับฟังอย่างลึกซึ้ง และการสนทนาอย่างนิ่มนวล ช่วยให้การสื่อสารดีขึ้นและเป็นการกำจัดความอยุติธรรมทีละขั้น แต่หากเราปล่อยให้ตัวเราจมปลักอยู่ในความโกรธและความทุกข์มากเกินไปเราก็จะเป็นผู้แพ้

          การปฏิบัติเพื่อให้เกิดการมองอย่างลึกซึ้งเป็นหนึ่งในวิถีทางที่จะช่วยให้เราเกิดความกรุณา ทั้งนี้เพราะคนที่ทำให้เรามีความทุกข์ พวกเขาเองก็มีความทุกข์จากอวิชชาของตนเอง พวกเขาไม่รู้หรอกว่ากำลังทำอะไรอยู่ เพราะเวลาที่พวกเขาทำให้คนอื่นมีความทุกข์ พวกเขาก็มีความทุกข์เช่นกัน นี่เป็นหลักความจริงในทุกโอกาส เมื่อพ่อทำให้ลูกทุกข์ พ่อเองก็ทุกข์เช่นกัน เมื่อลูกชายทำให้พ่อทุกข์ ลูกชายเองก็ทุกข์เช่นกัน และหลักการเช่นนี้ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันในชีวิตของสามีภรรยา คู่รัก และเพื่อน โดยทั่วไปเรามักคิดกันว่าเราเท่านั้นที่เป็นทุกข์ ส่วนเขาหรือเธอกำลังมีความสุขจากความทุกข์ของเรา อันที่จริงความทุกข์ไม่ใช่ปัจจัยที่แยกโดดเดี่ยว เช่นเดียวกัน ความสุขก็ไม่ใช่ปัจจัยที่แยกโดดเดี่ยว เมื่อเราสามารถทำให้คนคนหนึ่งยิ้มได้ เราก็รู้สึกดีขึ้นเช่นกัน

-> ตัวอย่างหนึ่งของการใช้ความรุนแรงเพื่อต่อต้านความอยุติธรรมได้แก่การลงโทษประหาร ซึ่งเป็นประเด็นที่ร้อนแรงมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของเราได้ยอมให้มีการลงโทษประหาร และการลงโทษประหารนายทิมโมที แมคเวย์ ในข้อหาก่อการร้ายเป็นประเด็นที่มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ท่านคิดอย่างไรกับการประหารชีวิตของคนที่ทำให้เกิดความทุกข์กับผู้อื่นเป็นอย่างมาก

          การลงโทษให้ผู้หนึ่งถึงความตายเป็นการยอมแพ้ มันแสดงให้เห็นว่าเราล้มเหลว เราไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงเขาหรือเธอ และเราต้องสังหารเขาหรือเธอไป เท่ากับเรายอมแพ้ โทษประหารจึงสะท้อนให้เห็นถึงการไร้ความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เมื่อเราไม่สามารถทำอะไรได้แล้ว เมื่อเราเชื่อมั่นว่าเราไม่สามารถทำอะไรได้อีกเพื่อทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เราก็เลือกใช้วิธีสังหารเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งตายตกไป ซึ่งเป็นการแสดงถึงการไร้ความสามารถของเรา ความไร้ประโยชน์ของเรา และเป็นความล้มเหลวอย่างหนึ่ง

-> มีบางคนเสนอว่าเราควรจะถ่ายทอดสดการประหาร ทั้งนี้เพื่อให้เหยื่อได้สัมผัสอย่างใกล้ชิดมากขึ้นและเพื่อเป็นการข่มขู่เพื่อไม่ให้อาชญากรคนอื่น ๆ ทำเช่นนี้ ท่านคิดว่าการกระทำเช่นนี้จะมีผลอย่างไรต่อสังคมของเรา

          อาตมาคิดว่าเป็นความคิดที่แย่มาก เมื่อเรามีความรุนแรงและมุ่งทำร้าย เราก็ตกอยู่ในสภาพที่ต้องจับพวกเขามาขังไว้เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาไปทำร้ายคนอื่นต่อไป แต่เราสามารถจับพวกเขาขังไว้ได้ด้วยความกรุณา และผู้พิพากษาที่มีคำสั่งให้จับพวกเขาไว้ควรกระทำการด้วยความกรุณา พัสดีในเรือนจำก็ควรที่จะจับพวกเขาไว้ด้วยความกรุณา มันเป็นไปได้ทั้งนั้น และพัสดีในเรือนจำก็สามารถที่จะเป็นพระโพธิสัตว์ ผู้พิพากษา ผู้อำนวยการเรือนจำก็ล้วนสามารถเป็นพระโพธิสัตว์ได้ นั่นเป็นสิ่งที่พวกเราควรกระทำ ความรักเท่านั้นที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ความเกลียดชัง

-> เมื่อไม่นานมานี้สื่อมวลชนได้ให้ความสนใจอย่างมากต่อวุฒิสมาชิกบ็อบ เคอรี่* เกี่ยวกับการกระทำของเขา ในช่วงที่มีสงครามในประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นมาตุภูมิของท่าน พวกเราได้ฟังกันทุกวันถึงความทารุณโหดร้ายในบอสเนียและประเทศอื่น ๆ ทำอย่างไรที่เราจะสามารถดำรงชีวิตอย่างผู้ปฏิบัติธรรม ร่วมกับอีกด้านหนึ่งที่มืดดำในชีวิตของเรา

          คนเรามีความกลัวและความเกลียดอย่างมากในจิตใจ และเราก็ไม่รู้ว่าจะยอมรับและจัดการกับความกลัวและความเกลียดเหล่านั้นได้อย่างไร และเรามีโอกาสที่จะก่ออาชญากรรมใด ๆ ก็ได้ ดังนั้นการปฏิบัติที่ถูกต้องก็คือ การเรียนรู้ที่จะยอมรับความกลัวและความเกลียดในตัวของเราเอง ตั้งแต่มันยังมีอยู่เพียงเล็กน้อย แต่ถ้าเราปล่อยให้ตัวเองอยู่ในสภาพที่มีความกลัวและความเกลียดเพิ่มมากขึ้นทุกวัน เราก็มีโอกาสจะก่ออาชญากรรมทำร้ายมนุษยชาติได้ อาตมาไม่อยากจะพูดถึงใครบางคนเป็นการเฉพาะ ทุกคนสามารถที่จะปล่อยให้ชีวิตตนเองอยู่ในสภาพที่มีความกลัวและความเกลียด มากขึ้นทุกวัน และก็มีโอกาสจะก่ออาชญากรรมได้เช่นกัน

-> ทำอย่างไรผู้ซึ่งได้ก่ออาชญากรรมทำร้ายผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นในระหว่างสงครามหรือในโอกาสอื่น ๆ จะสามารถอยู่ร่วมกับความรู้สึกผิดและอายเหล่านั้นได้

          ผู้ที่ทำเช่นนั้นก็จะเป็นทุกข์อย่างมากเช่นกัน แม้ว่าตัวเขาเองจะไม่รู้ตัวก็ตาม เขาต้องมีชีวิตอยู่กับความทุกข์นั้นวันต่อวัน บุคคลเช่นนั้นควรได้รับฟังคำสอน (ที่จะช่วยให้เขาสามารถ) ปฏิบัติเพื่อเริ่มชีวิตอย่างใหม่ เขาควรได้รับโอกาสที่จะกระทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อไถ่ถอนความผิดพลาดที่ได้กระทำลงไป เพราะนั่นคือความกรุณา เมื่อใครบางคนทำสิ่งที่เลวร้ายลงไป เราควรช่วยให้เขาตระหนักรู้และยอมสารภาพถึงสิ่งที่เขาได้ทำลงไปอย่างเลวร้าย และควรให้โอกาสกับเขาในการกระทำสิ่งตรงข้ามเพื่อไถ่ถอนตนเอง อาตมาคิดว่านี่เป็นความกรุณาและเป็นสิ่งที่กระทำได้ สิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นและกำลังเกิดขึ้นอยู่ทั่วไป

          เมื่อเราได้กระทำสิ่งผิดพลาดลงไป เรารู้สึกเสียใจและเราได้พยายามจะลืมมันหรือกลบซ่อนสิ่งนั้นไม่ให้คนอื่นรับรู้ ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง เราต้องเรียนรู้ที่จะแสดงความเสียใจต่อการกระทำที่ไม่ถูกต้องด้วยการกระทำที่เป็นบวก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้โดยสามัญสำนึก หากท่านเคยฆ่าเด็กลงไปห้าคน ในตอนนี้ท่านก็สามารถทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อช่วยชีวิตเด็กอีก ๕๐ คน ซึ่งอาจจะช่วยให้ท่านคลายความเศร้าโศกและสามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุข โดยเฉพาะเมื่อการกระทำที่เป็นบวกของท่านมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่เรียบง่ายและชัดเจนมาก นายบ็อบ เคอรี่ก็สามารถทำเช่นนั้นได้เช่นกัน แต่หากเขาประกาศว่าได้ทำสิ่งหนึ่งและไม่ได้ให้ความสำคัญกับมัน โดยเขาประกาศสิ่งนั้นไปโดยไม่มีความเชื่อในสิ่งนั้น นั่นก็อาจแสดงว่าเขาไม่ได้แสดงตัวตนที่แท้จริงออกมา ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องพยายามทำความเข้าใจกับเขาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในการทำความเข้าใจกับเขาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เราต้องทำความเข้าใจสังคมอเมริกันให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้เพราะตัวเขาเองสะท้อนความเป็นอเมริกันอย่างหนึ่ง ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ไม่เพียงสะท้อนความเป็นอเมริกัน แต่คนอเมริกันทุกคนสะท้อนถึงความเป็นอเมริกันในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เมื่อเราพิจารณาที่คนคนหนึ่งเราก็จะเข้าใจถึงคนทั้งหมดได้ และนั่นเป็นปัญหาของสังคมโดยรวม

          อาตมาอยากจะใช้ปริศนาธรรมที่จะช่วยให้เราเข้าใจถึงประเด็นนี้ ซึ่งจะเป็นแนวของการปฏิบัติสมาธิเพื่อให้ค้นพบความจริง ยังคงมีนายบ็อบ เคอรี่อีกหลายคนที่หลบซ่อนอยู่ และเรายังไม่สามารถค้นพบ และบ็อบ เคอรี่เองก็อาจจะอยู่ในตัวเราแต่ละคนก็ได้ .


* Bob Kerry วุฒิสมาชิกอเมริกัน (ปัจจุบันลาออกแล้ว) ได้ยอมรับเมื่อเร็ว ๆ นี้ต่อสื่อมวลชนว่า ระหว่างที่ปฏิบัติการด้านทหารอยู่ในประเทศเวียดนาม ในช่วงสงครามเวียดนาม เขาได้สั่งการให้มีการสังหารประชาชนที่นั่นอย่างโหดเหี้ยมหลายครั้ง — ผู้แปล
หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :