เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรมฉบับที่ ๕๕
เหลียวมองเพื่อนบ้าน

สมบูรณ์ จึงเปรมปรีดิ์ : เรื่องและภาพ

ธุดงค์ของคนรุ่นใหม่สู่ขุนเขาหิมาลัย เรียนรู้ผ่านการจาริกและข้อคิดทางสังคม

 

รามู มณีวัลนา ยิ้มร่าเดินโบกไม้โบกมือมา สวัสดีและสวมกอดกับพวกเราที่เดินทางมาถึงสนามบินที่เดลลี อย่างอบอุ่นท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวของเมืองบนที่ราบชายขอบทะเลทรายอย่างเดลลี หลังจากเจรจาต่อรองกับรถแท็กซี่อยู่พักหนึ่งเราก็ได้ขึ้นนั่งและออกเดินทางสู่ตัวเมือง อันเป็นที่พักของพวกเรา ก่อนออกยาตราสู่ขุนเขาตามที่เราปรารถนากัน

          ธรรมยาตราสู่ขุนเขาหิมาลัยเป็นโครงการร่วมกันระหว่างเสมสิกขาลัยและโครงการพุทธสรวล ที่ต้องการให้เกิดการเชื่อมสัมพันธ์ เรียนรู้ แลกเปลี่ยนกันระหว่างชาวไทย อินเดีย และชาวต่างชาติ โดยใช้วิถีของการอยู่รวมกัน เดินทาง อยู่กิน และเดินเท้าร่วมกัน ช่วยเหลือ เอื้ออาทร สมบุกสมบันด้วยกันกว่าสิบวันบนขุนเขาสูงอย่างหิมาลัย

          ในครั้งนี้เราได้ยาตราร่วมกันสู่ขุนน้ำยมุนาและภกิรติ ซึ่งเป็นสองในสี่ต้นน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดูที่เคารพนับถือกันมาหลายสหัสวรรษจวบจนปัจจุบัน ตามปกติแล้วเราชาวไทยมักคุ้นเพียงยมุนาและคงคาเท่านั้น หาได้รู้จักกับแม่น้ำสาขาของคงคาไม่ แม่น้ำอีกสองสายที่ไหลมาบรรจบและหลอมรวมเป็นชื่อแม่น้ำคงคาที่ยิ่งใหญ่ เชี่ยวกรากตามที่เรามักคุ้นกัน อันได้แก่แม่น้ำเคดานารถและบาดินารถ

          โครงการพุทธสรวลเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการจัดการศึกษาทางเลือกแก่เด็กผู้ยากไร้ทั้งในเมืองและชนบท โดยมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในอินเดียอาสาเข้าไปจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เด็ก ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งยังช่วยเหลือเด็ก ๆให้เข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการศึกษาในกระแสหลักด้วย โรงเรียนนี้ไม่มีอาคารสถานที่เรียน แต่สามารถที่จะเรียนรู้ได้ทุกหนแห่ง ไม่ว่าจะเป็นศาลากลางบ้าน ใต้ร่มไม้ หรือบ้านของใครสักคนที่เอื้อให้ใช้ประโยชน์อย่างจริงใจ

          รามู มณีวัลนา เป็นผู้ริเริ่มโครงการ ซึ่งอีกบทบาทหนึ่งเขาเป็นอาจารย์สอนคณะรัฐศาสตร์ ที่วิทยาลัยฮินดูอันเก่าแก่ ภายใต้มหาวิทยาลัยเดลลีอันมีชื่อ เขาเห็นถึงความตีบตันของระบบการศึกษาที่อยู่แต่ในห้องเรียน ดังนั้นจึงได้ริเริ่มเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้าไปเรียนรู้และสัมผัสกับผู้ยากไร้อย่างจริงจัง ตามวิถีของการอาสาในแนวทางคานธี และเขายังเห็นอีกว่าน่าจะมีการพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครเหล่านี้โดยการแลกเปลี่ยนกับเสมสิกขาลัย เพื่อให้เจ้าหน้าที่จากเสมสิกขาลัยได้ไปใช้ชีวิตและเรียนรู้ที่อินเดีย ส่วนอาสาสมัครจากอินเดียก็มาอยู่เรียนรู้ที่เมืองไทยสักช่วงหนึ่ง เพื่อเรียนรู้ขบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมในมิติต่าง ๆ จากบริบทที่แตกต่างกันของสองประเทศ ในการประยุกต์นำไปใช้ต่อไป ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายในการนี้จะมาจากผลกำไรในการจัดธรรมยาตราสู่ขุนเขาหิมาลัย

--> วิถีที่แตกต่างในระหว่างพรรษา

          เราชาวพุทธมักจะคุ้นกับช่วงของการเข้าพรรษาที่พระหรือผู้ปวารณาตนจะอยู่ในพรรษาสามเดือน ณ ที่ ๆ ตนได้ปวารณาไว้ แม้จะสัตตาหะไปก็เพียงระยะเวลาอันสั้นหรืออย่างมากก็ไม่เกินเจ็ดคืน

          ผมออกจะแปลกใจกับขบวนยาตราที่เราเห็นระหว่างนั่งรถออกจากสนามบินสู่ที่พัก คณะผู้แสวงบุญชุดแล้วชุดเล่าชาวฮินดูที่ออกเดินทางกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ มุ่งหน้าสู่ต้นน้ำคงคา เพื่อแสวงบุญและล้างบาปตามวิถีความเชื่อที่สืบต่อกันมา เสื้อผ้าสีส้มสดใสผ่านไปคนแล้วคนเล่า แต่ละคนหาบคานไม้ไผ่ที่ประดับประดาอย่างสวยงามเป็นรูปสามเหลี่ยมมีมุมแหลมตั้งขึ้น และห้อยไว้ด้วยถังขนาดเล็กใหญ่ตามที่ตนต้องการเพื่อไปตักน้ำที่ตีนเขาหิมาลัย ณ หุบเขาฤาษี หรือที่รู้จักกันในนามเมืองฤาษีเกษ

          ตามถนนหนทางเราจะพบเต็นท์ที่ตั้งอยู่ริมถนนเพื่อให้บริการที่พัก อาหาร หยูกยารักษาสำหรับนักแสวงบุญ พร้อมทั้งมีขาหยั่งที่ตั้งคานหาบสำหรับนักแสวงบุญตามหน้าเต้นท์ต่าง ๆ เป็นแนวพรืด

          มณีบอกเราว่านี่เป็นวิถีของชาวฮินดูโดยเฉพาะชายหนุ่มที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ อย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิตจะต้องออกจาริกแสวงบุญสู่ต้นน้ำคงคาและเก็บน้ำกลับบ้านเข้าหิ้งบูชา เมื่อผ่านการแสวงบุญนี้จะเปรียบเสมือนการผ่านเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เต็มตัว ดังชาวพุทธที่ลูกชายมักจะออกบวชช่วงเข้าพรรษา เมื่อสึกออกมาก็จะเป็นทิดหรือบัณฑิตโดยนัยยะ หรือเป็นดังเช่นชาวอินเดียนแดงที่ให้ลูกไปอยู่กลางทะเลทรายห้าวันเจ็ดวัน เพื่อการแปรเปลี่ยนสู่อีกสภาวะและสถานะทางสังคม

          ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ลองนึกถึงในอดีตที่ชาวฮินดูต้องข้ามน้ำข้ามเขากี่ร้อยพันลูกกว่าจะถึงหุบเขาฤาษีได้ ต้องผจญกับสิงห์สาราสัตว์ต่าง ๆ ทั้งหมดนี้เป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงการที่จะเติบใหญ่เพื่อการนำพาครอบครัวได้ในอนาคต แต่ ณ ปัจจุบันการจาริกเปลี่ยนไป ต้องผจญกับรถราที่วิ่งกันขวักไขว่ฉวัดเฉวียน และเสียงแตรที่บีบกันเสียจนปวดเศียรเวียนเกล้า ต้องผจญกับคลื่นถั่งโถมของการยั่วยวนชวนให้บริโภคอย่างบ้าคลั่ง ซึ่งผมคิดว่าถ้าใครจับจุดนี้ได้ ก็สามารถที่จะท้าทายตนเองในช่วงการแสวงบุญโดยการงดซื้อ งดพกพาเงิน ใช้การเอื้ออาทรที่มีตามเส้นทางจากโรงทานเพื่อการดำรงชีพ และยาตราด้วยเท้าเพียงอย่างเดียวก็จะได้รับคุณค่าภายใน เพื่อการแปรเปลี่ยนในชีวิตตนอย่างจริงจัง นี่เป็นเพียงการแนะนำบางด้านในสังคมสมัยใหม่เพื่อคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต

          อีกเรื่องที่ผมเห็นว่าเป็นสิ่งน่าสนใจคือเรื่องของศรัทธากับเวลา เมื่อก่อนจะเห็นว่าศรัทธานั้นจะควบคู่กับเวลา การจาริกที่ต้องใช้ระยะทางและเวลาที่ยาวนานนั้นต้องมีศรัทธาที่มากล้น แต่ปัจจุบันเวลาที่เร่งรีบจะควบคู่กับศรัทธาที่หดหาย การจาริกที่อาศัยรถ–ลานั้นเมื่อเทียบกับการจาริกด้วยเท้าจะเห็นศรัทธาได้อย่างแตกต่างเลยทีเดียว

--> ชุมชน–ผู้คนในเมืองใหญ่

เราเข้าพักกันที่เกสเฮาส์โปตาลา ชื่อเดียวกับพระราชวังที่ลาซาของชาวธิเบต แต่ที่นี่เป็นชุมชนของชาวธิเบตที่อพยพกันมาตั้งหลักแหล่ง เปิดเป็นที่พักให้กับผู้ผ่านทาง โดยเฉพาะชาวธิเบตที่ไปทำธุระหรือพบญาติพี่น้อง จากเมืองธรรมศาลาสู่บังกาลอทางใต้ของอินเดีย หรือในทางกลับกัน

          แต่ปัจจุบันชาวต่างประเทศกลับเป็นลูกค้ารายใหญ่ของที่นี่ เพราะหลายคนสนใจที่จะเดินทางไปเข้าเฝ้าสมเด็จทะไล ลามะ หรือเยี่ยมชมเมือง เรียนรู้พุทธศาสนาจากลามะธิเบต โดยเฉพาะชาวตะวันตกที่ได้รับอิทธิพลและใส่ใจในพุทธศาสนามากขึ้น

          พวกเราพักกันที่นี่สามวันเพื่อปรับตัว หัวใจ และร่างกายให้เข้ากับภูมิประเทศ ภูมิอากาศก่อนที่จะออกเดินทางสู่ดอยสูงอย่างหิมาลัย ช่วงที่เราพักกันที่เดลลีเหนือ ในภาษาพูดของคนที่นั่น หรือเดลลีเก่าในภาษาเขียน เราได้เดินทางไปเยี่ยมชมประตูอินเดีย ทำเนียบประธานาธิบดี รัฐสภา และย่านต่าง ๆ ของเดลลีใหม่ ในตอนต้นน้องที่มาด้วยกันและต้องการที่จะอยู่ที่นั่นต่ออีกหนึ่งปี ถึงกับบ่นอุบถึงความสกปรกและความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง แต่เมื่อได้เห็นสถานที่สำคัญ ๆ เหล่านั้นแล้วกลับชื่นชม ผมกลับเห็นว่า นี่เป็นการแบ่งแยกและสร้างช่องว่างทางสังคมอย่างชัดเจน ที่นั่นเราจะไม่เห็นตลาดร้านรวงหรือบ้านชาวบ้านทั่วไปอยู่เคียงข้างทำเนียบ หรือรัฐสภาเลย ไม่เหมือนกับบ้านเราที่จะเห็นวัด บ้าน ตลาด วัง จะอยู่เคียงข้างกันตลอดอย่างผสมกลมกลืน จวบจนสมัยหลังจึงจะเห็นว่าบ้านเอย ตลาดเอยถูกกีดกันออกไป เหลือเพียงวัดและวังให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งนี่เป็นการเอาอย่างของสังคมที่แปลกแยกมาใช้นั่นเอง

--> มุ่งหน้าสู่ยมุนา

          เราออกเดินทางกันในเวลากลางคืน เพื่อเลี่ยงอากาศร้อนอบอ้าวของพื้นที่ราบสูงอย่างเดลลีและเมืองใกล้เคียง แม้ว่าระยะทางจะไม่ไกลนักประมาณ ๓๐๐ กิโลเมตร แต่เราก็ใช้เวลากว่าเจ็ดแปดชั่วโมงในการเดินทางในวันแรกนี้ เราพักระหว่างทางก่อนจะเข้าสู่ต้นน้ำยมุนา ซึ่งจะต้องเดินทางในวันรุ่งขึ้นอีกกว่าร้อยกิโลเมตรบนเขาสูงคดเคี้ยวไปมา

สู่ขุนเขา .

          ตลอดการเดินทาง เราจะพักตามบ้านพักนักท่องเที่ยว ที่รัฐบาลสร้างไว้ตามเมืองต่าง ๆ สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญ ซึ่งในแต่ละแห่งที่เราพักก็ให้บริการที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่ว่าเป็นเมืองใหญ่เมืองเล็ก หรือมีผู้จัดการบริหารที่เอาใจใส่เพียงใด

          เช้าวันรุ่งขึ้น เราเริ่มการเดินทาง ด้วยสมาธิภาวนาฉบับกระเป๋า และตามด้วยโยคะสั้น ๆ ที่ช่วยเราในเรื่องการเตรียมพร้อมขึ้นสู่ภูสูง ด้วยท่าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการหายใจเข้าออกสลับกันไปมาทีละข้าง หรือดัดตนด้วยท่าต่าง ๆ เพื่อช่วยผ่อนคลายจากการนั่งรถนาน ๆ เราเริ่มต้นและจบลงด้วยการเปล่งคำว่า “โอม” สามครั้ง จากนั้นมณีก็จะสวดมนต์ด้วยบทภาษาสันสกฤต เพื่อการเดินทางที่ราบรื่นของคณะ และแผ่เมตตาแก่มวลสัตว์ในสากลโลก เพื่อสุข สงบ สันติ

          เราใช้เวลาเกือบจะทั้งวันในการเดินทางโดยรถยนต์แวน โดยมีพลขับเป็นชาวสิกข์ชื่อ ศาสตราจี อยู่ร่วมกับเราตลอดสิบกว่าวันจวบจนกระทั่งกลับถึงเดลลี มีเรื่องตลกโปกฮาอยู่บ้าง ก็เห็นจะเป็นเรื่องการขับรถของเขา ที่ทำเอาเราเกร็งกันพอสมควร ผมนั่งข้างหน้าแทบไม่กล้าหลับ หรือแม้แต่น้องที่นั่งอยู่ด้วยกันข้างหน้าฝันว่า พลขับของเราหลับใน ถึงกับสะดุ้งและจะกระชากพวงมาลัยให้เบนเข้ามาเอาเลยทีเดียว และก็มีอยู่เหมือนกันที่ศาสตราจีหลับในจริง ๆ เกือบจะพุ่งดิ่งลงข้างทาง ยิ่งทำให้เรานั่งกันสะดุ้งโหยง ๆ เป็นครั้งคราว อีกอย่างเวลาศาสตราจีคุยกับมณีซึ่งนั่งอยู่ข้างหลังคนขับ เขาก็หันหน้ามาคุยอย่างเป็นจริงเป็นจัง เล่นเอาพวกเราต้องออกเสียงฮือ ๆ กันอยู่ร่ำไป แต่ว่าไปนี่ก็ให้ความสนุกและตื่นเต้นแก่พวกเราพอสมควร รวมทั้งน้องที่ร่วมทีมไปถึงกับบอกว่าเขาเตรียมตัวตายบนรถอยู่บ่อย ๆ

          บ่ายแก่ ๆ เราก็เดินทางถึงหนุมานชาติ หมู่บ้านที่รถเราสามารถแล่นเข้าไปถึง จากนั้นก็จะเป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะต้องเริ่มต้นการยาตรา ซึ่งต้องพึ่งสองเท้าของเราเอง ทุกคนใจจดจ่ออยู่กับพรุ่งนี้ซึ่งเป็นการเดินวันแรกหลังจากมาอินเดียได้หลายวันแล้ว เราค้างคืนที่ที่พักนักท่องเทียวซึ่งอยู่เชิงหน้าผาแต่มีแม่น้ำยมุนาคั่น เสียงน้ำไหลกลบเสียงเอะอะจอแจที่อยู่ในหมู่บ้านไปได้พอสมควร ผู้คนจากทั่วสารทิศมาออกันอยู่ที่หมู่บ้านนี้เพื่อเริ่มต้นจาริกเช่นเราในวันพรุ่ง

--> เขื่อนนี้เพื่อใคร?

          ก่อนที่เราจะเดินทางถึงหนุมานชาติ เราได้ขับรถผ่านเมืองเตห์รี ซึ่งเป็นเมืองโบราณก่อนสมัยอาณานิคม และเป็นเมืองพักตากอากาศอีกแห่งหนึ่งของอังกฤษในช่วงที่ปกครองอินเดีย ถ้าจะเทียบกับเมืองเราก็จะประมาณอยุธยาตอนกลาง

          แต่แล้วเมื่อรัฐบาลประกาศแผนการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำคงคา ณ จุดนี้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า และสร้างท่อผันน้ำมาจากอีกภูเขาหนึ่งซึ่งจะส่งผลให้เมืองทั้งเมืองต้องจมอยู่ใต้น้ำ ชาวเมือง และกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ได้ออกมาคัดค้านการสร้างเขื่อนนี้อย่างต่อเนื่อง แต่แล้วก็สู้กับกลยุทธ์ของรัฐและบรรษัทเอกชนที่เข้ามาสัมปทานการสร้างเขื่อนนี้ไม่ได้ ธนาคารโลกได้อุดหนุนการสร้างเขื่อนนี้ในตอนเริ่มต้น แต่เมื่อเริ่มเห็นว่าการสร้างเขื่อนมีโทษมากกว่าคุณจึงเบนหัวเรือหนี แต่รัฐบาลอินเดียก็ยังคงเดินหน้าต่อไป หาได้สนใจประชาคมโลกที่ปฏิเสธโครงการเขื่อนขนาดใหญ่เช่นนี้เลย

          ยิ่งเมื่อพวกเราได้ล่วงรู้ถึงผลประโยชน์ของการสัมปทานสร้างเขื่อนยิ่งทำให้หดหู่ ชาวบ้านแทบจะหาที่ซุกหัวนอนไม่ได้ต้องอพยพโยกย้าย บ้านแตกสาแหรกขาด ชุมชนที่อยู่ร่วมกันมาหลายชั่วคนล่มสลาย แต่มหาเศรษฐีผู้รับเหมาโครงการเขื่อนหินทิ้งที่เตห์รีกลับสร้างวังอยู่อย่างราชาที่เมืองอัคระ อย่างนี้หรือที่เรียกว่าการค้าเสรี การค้าที่เป็นธรรม หาได้แยแสต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติไม่ เราต้องตั้งคำถามให้มากขึ้นว่าเขื่อนนี้เพื่อใคร?

--> ขุนเขายะเยือก

          ถ้อยวลีนี้ผุดขึ้นมาในใจอยู่เสมอ ๆ ตั้งแต่เริ่มยาตราออกจากหนุมานชาติสู่ ยมุนาทรี ทั้งโชคดีและโชคร้าย เพราะวันนี้ฝนตกพรำ ๆ ตลอดทางจวบจนเย็นย่ำจึงได้สร่างซาไป ถึงแม้จะมีเสื้อกันฝนกันทุกคนแต่ก็เล่นเอาพวกเราเปียกโชกหนาวสั่นไปตาม ๆ กัน บรรยากาศรอบข้างหมอกลงหนา เรามองเห็นข้างหน้าได้ไม่ไกลนัก น้ำตกทอดตัวลงมาเป็นสาย ๆ สลับกับขุนเขาเขียวขจี หน้าผาสูงชัน เราเดินลัดเลาะไปตามหน้าผา บางช่วงก็แคบเสียจนน่ากลัว บางแห่งต้องมีการหล่อคอนกรีตเป็นทางเดินเพราะมีแต่หน้าผาหามีไหล่เขาไม่

          ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศจาริกมาที่นี่ เพราะตามหลักแล้วที่นี่จะเป็นประตูแรกของการจาริกก่อนที่จะมุ่งทิศไปทาง ภกิรติ บาดินารถ และเคดานารถ อันเป็นสาขาของแม่น้ำคงคาตามลำดับ ตลอดเส้นทางหาได้โดดเดี่ยวไม่ มีผู้คนเดินกันขวักไขว่ตลอด ๗ กิโลเมตรหรือไม่ก็ขึ้นขี่ม้าที่มารอให้บริการตลอดเส้นทาง ที่พิเศษหน่อยก็เห็นจะเป็นการนั่งเกี้ยวให้คนสี่คนหามขึ้นเหมือนท่านลอร์ดยาตรา ซึ่งก็ถือว่าเป็นการให้โอกาสคนแก่และผู้ที่ไม่สามารถจาริกเท้าได้พบสรวงสวรรค์บ้าง ขาลงถ้าตัวไม่ใหญ่นักก็จะได้นั่งในตะกร้าให้คนเดียวแบกหามลงไป

          ขุนน้ำยมุนาอยู่ที่ ความสูงประมาณ ๓,๐๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ในตอนแรกพวกเรากลัวกับความกดอากาศที่อาจจะส่งผลต่อร่างกาย แต่แล้วทุกอย่างก็เป็นใจให้กับพวกเรา

          ได้คุยกันว่า ถ้าวันนั้นฝนไม่ตกเราคงพลาดโอกาสได้เห็นสวรรค์ชั้นฟ้า และความโอ่อ่าของขุนเขา ทุกสิ่งบรรจงสร้างโดยเทพยดาและมนุษย์ผู้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ทุกย่างก้าวที่เราเหยียบย่างและมุมมองที่เราหยุดอยู่ คือความลงตัวที่ไม่สามารถปั้นแต่งได้จากเครื่องยนต์กลไกใด ๆ บนโลกหล้า หรือจากระบบอุตสาหกรรมที่หยาบกร้าน

          ในที่สุดเราก็ถึงต้นน้ำ ที่แปลกกว่าแห่งอื่นก็คือ มีน้ำพุร้อนผุดขึ้นมา มีวัดวาสร้างคร่อมบ่อน้ำร้อน ให้กับผู้จาริกบุญได้อาบและผ่อนคลาย โดยแยกเป็นหญิงชาย พวกเราเปียกปอนเมื่อต้องอากาศเย็นถึงกับสั่นกันงก ๆ ค่อยยังชั่วหน่อยเมื่อได้เข้าใกล้บ่อน้ำร้อน แต่เราก็ไม่กล้าที่จะลงอาบเพราะเพิ่งหายไข้และกลัวการเปลี่ยนอุณหภูมิอย่างรวดเร็วจะทำให้อาการกำเริบอีก จึงเดินขึ้นไปที่ศาลาประกอบพิธีกรรมของชาวฮินดูกับน้องอีกสองคน พวกเขาเห็นเราเป็นชาวต่างชาติจึงเข้ามาทักทายและดูเหมือนจะให้ค่ามากกว่าคนพื้นถิ่นด้วยกัน เมื่อเขาประกอบพิธีให้กับพี่น้องชาวฮินดูด้วยกันเสร็จ ก็เรียกพวกเราให้คุกเข่าลงหน้าแท่น ที่มีหนุ่มหน้าแขกประกอบพิธีกรรมบ่นพึมพำ ๆ เอาช้อนตักน้ำใส่ฝ่ามือเราแล้วให้ลูบลงหัว เอาเมล็ดข้าวและถั่วใส่ฝ่ามือพวกเรา พร้อมกับบอกพวกเราให้สาดใส่ไปที่ตาน้ำที่ผุดขึ้นมา แล้วเจิมที่หน้าผากของพวกเราด้วยสีแดงแป๊ด แรก ๆ พวกเราก็ค่อนข้างที่จะชื่นชอบกับพิธีกรรมเหล่านี้ แต่แล้วก็ต้องสะดุดลงเมื่อเขาแบมือขอเงิน และกำหนดกฎเกณท์ไว้ด้วยว่า พวกคุณชาวต่างชาติสามคนจะต้องจ่ายอย่างน้อย ๑๐๐ รูปี เล่นเอาพวกเราขาดศรัทธา ควักเงินให้แล้วรีบเดินออกจากวัดเลย พวกเราห่างจากพุทธพาณิชย์ที่เมืองไทย แต่ก็ต้องมาพบกับการค้าศรัทธาและฮินดูพาณิชย์ที่นี่เช่นกัน แต่ก็ปลงใจได้เพราะว่ากระแสของวัตถุนิยมและบริโภคนิยมนั้นแผ่ไปทั่วทุกมุมโลกแล้ว

--> บ้านหินดิน และปูนซีเมนต์

          หลังจากอาหารกลางวันพวกเราก็มุ่งหน้ากลับสู่หนุมานชาติ อันเป็นที่พักของพวกเราอีกคืน ระหว่างทางทั้งขาขึ้นและลงเราต้องผ่านหมู่บ้าน… หมู่บ้านนี้มีความสวยงามมากในเรื่องสถาปัตยกรรมสร้างบ้านด้วยหินและฉาบด้วยดิน ทาสีดินที่ต่างเฉดสีกัน วงกบประตูเป็นลายสลักที่กลมกลืนมีสีสัน บันไดเป็นหิน แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครอยากที่จะอยู่บ้านที่สร้างด้วยวัสดุเช่นนี้อีกแล้ว ชาวบ้านเริ่มสร้างบ้านใหม่ ๆ ด้วยปูนซีเมนต์ที่ต้องซื้อหามาจากข้างนอกรวมถึงอิฐดินเผาด้วย ละเลยก้อนหินที่วางเรียงรายอยู่เกลื่อน บ้านหินดินจึงกลายเป็นเพียงอนุสรณ์สถานที่บ่งบอกอดีตอันรุ่งเรืองของผู้คน ในการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นและเป็นมิตรกับธรรมชาติ

. บ้านดิน

          บทเรียนนี้ก็คงจะไม่ต่างกันกับบ้านเรา อาจจะไม่ต้องเอ่ยถึงชาวพื้นราบ ที่แพ้ราบคาบกับอำนาจทุนนิยม แต่พี่น้องปกฺาเกอะญอและพี่น้องชาวพื้นที่สูงอื่น ๆ เริ่มเพิกเฉยและรู้สึกด้อยค่า เมื่อต้องอยู่ในบ้านไม้ไผ่ บ้านใหม่ ๆ ถูกสร้างด้วยปูนซีเมนต์ ที่ถูกกำหนดราคาจากโรงงาน และนับวันจะแพงขึ้นอยู่เรื่อย ๆ

          นอกจากนี้ยังรวมถึงการระเบิดทำลายภูเขา และการใช้พลังงานอย่างมหาศาล ในการบดย่อยให้เป็นผง รวมถึงไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว เพราะปูนซีเมนต์เก็บความเย็น ทำให้ร่างกายขาดความอบอุ่น หรือเก็บความร้อนทำให้ร่างกายขาดความสมดุลดังเช่นในเมือง

          ดังนั้นจึงมีกลุ่มต่าง ๆ ทั้งที่เมืองไทยและต่างแดน กำลังรณรงค์ให้คนเมืองและชนบท ได้หันกลับมาใช้วัสดุท้องถิ่น ในการสร้างบ้านอาจจะเป็นทั้งการสร้างบ้านดิน บ้านหินฉาบด้วยดิน บ้านไม้ หรือว่าเป็นบ้านไม้ไผ่อยู่กัน

--> เมืองป่าเหนือ

          เมืองป่าเหนือหรือที่ชาวอินเดียเรียกกันว่าอุตรกาสีนั้นเป็นเมืองใหญ่หน้าด่านก่อนที่จะผ่านไปสู่ต้นน้ำคงคา เราพักค้างหนึ่งคืนที่เมืองนี้ในขาไป หลังจากพักผ่อนในช่วงบ่ายเวลาเย็นจึงได้ออกเดินในตัวเมือง โดยที่แรกเราได้ไปที่ท่าน้ำคงคาในตัวเมืองซึ่งกำลังมีการเผาศพอยู่ริมคงคา อันเป็นแบบแผนของชาวฮินดูที่เชื่อว่า แม่น้ำคงคาจะชำระล้างบาปของผู้คน เพื่อนำพาเขาไปสู่สรวงสวรรค์ได้ พิธีกรรมนั้นเรียบง่ายช่วยให้ผู้คนเห็นถึงความเป็นอนิจจัง เขาเอาไม้มากองสุมกันเข้าแล้วเอาศพวางมีพิธีกรรมเล็กน้อยแล้วก็เผา เมื่อเผาใกล้จะหมดกองไฟใกล้จะมอดก็ผลักทั้งศพ ขี้เถ้าและท่อนไม้ลงไปในคงคาเท่านั้นถือว่าเป็นอันเสร็จพิธี จะไม่มีการเก็บอัฐิอย่างบ้านเรา ลูกชายจะต้องเป็นคนประกอบพิธีจุดไฟ โดยเฉพาะลูกชายคนโต ซึ่งจะต้องโกนผมต่อหน้าเชิงตะกอนด้วย

          จากนั้นเราเดินลัดเลาะตัวเมืองอันพลุกพล่านด้วยผู้คนสู่วัดฮินดูอันเก่าแก่ ซึ่งเป็นหนึ่งในสองวัดที่สำคัญของชาวฮินดู เพราะมีศิวลึงค์หินที่เกิดโดยธรรมชาติ สังฆราชองค์แรกของชาวฮินดูจาริกมาที่นี่เพื่อเข้ากรรมฐานสมัยเมื่อหลายพันปีมาแล้ว และผู้คนจากทั่วทุกสารทิศจะต้องเดินทางมาเพื่อสักการะก่อนที่จะมุ่งหน้าสู่แกงโก๊ทรี ในยุคหลังจึงมีการสร้างตัวอาคารครอบและสลักลวดลายลงไป รวมทั้งมีตะเกียงน้ำมันพืชที่จุดด้วยแรงศรัทธาอย่างต่อเนื่องมากว่า ๑๕๐ ปี วันที่เราเดินทางไปถึงเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวฮินดู จึงมีผู้คนมาทำบุญกันมากมายแต่งกายด้วยสีสันอันฉูดฉาด

--> การเดินทางทั้งภายนอกและภายใน

          ช่วงเราอยู่กันที่เมืองป่าเหนือได้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างผมกับน้องอีกคน ซึ่งทำให้ผมโกรธมากและเกือบที่จะตะบันหน้ามันแล้ว โชคดีที่ยังยั้งอารมณ์ไว้ได้ โดยตัวผมเองก็ตกใจกับอารมณ์ที่มันผุดขึ้นมานี้ซึ่งในชีวิตนั้นเกิดเหตุเช่นนี้เพียงแค่สองสามครั้งเอง แต่เพียงช่วงระยะเวลาไม่นานอารมณ์โกรธและขัดเคืองของผมก็จางไป

          ส่วนน้องเขาก็สรุปเป็นบทเรียนได้ไม่เลวเลยทีเดียวสำหรับการนำไปใช้ในชีวิตข้างหน้า แต่คนที่ติดและโกรธอยู่คือเพื่อนของน้องคนนั้นที่สนิทกับผมมาก จนไม่ยอมพูดและประกาศว่าจะไม่คบหาสมาคมกับผมอีก โดยส่วนตัวแล้วผมก็ไม่ได้ใส่ใจมากมาย เพราะถ้าใครรับด้านร้ายของผมไม่ได้ก็ไม่จำเป็นต้องคบหากัน คนเรามันจะเรียบร้อยน่ารักอยู่ตลอดนั้นดูจะไม่จริงสักเท่าไหร่

          สงครามภายในจึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะความขัดข้องหมองใจของน้องที่ยังคงติดขัดกับผมอยู่ วันนี้เราออกเดินจากแกงโก๊ทรีสู่โคมุขอันเป็นภูเขาน้ำแข็งต้นน้ำคงคา ระหว่างทางน้องเขาเฝ้าคิดว้าวุ่นใจแต่กับเรื่องความขัดแย้งนี้ และยังคงโกรธผมอยู่เป็นอันมาก จนน้ำตาไหลอยู่หลายครั้งอีกทั้งหลบไปอาเจียนอยู่ครั้งสองครั้ง

          แต่แล้วเมื่อเราเดินถึงที่พักแรมที่อยู่ระหว่างทางข้างธารน้ำ ผมก็นัดหมายเพื่อพูดคุยกันถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และเราก็ได้สรุปเป็นบทเรียนจากประสบการณ์ตรงชุดนี้ เพื่อประโยชน์ของเราทั้งสามคนในอนาคต

          ธุดงค์ในครั้งนี้ของพวกเราจะไม่สัมฤทธิ์ผลเลยถ้าเราไม่ได้เดินทางภายในของเราแต่ละคน เราธุดงค์กันกับระยะทางในแนวราบแต่หาได้ธุดงค์ดิ่งลึกในห้วงแห่งจิตของเราแต่ละคนไม่ การค้นหา การเฝ้าดู การจดจ่อ การแปรเปลี่ยนล้วนเป็นแบบฝึกหัดให้แก่เรา และเป็นย่างก้าวที่เราแต่ละคนจะต้องย่ำเดิน เราจะแปรเปลี่ยนอย่างไรเพื่อนำไปสู่ความสงบ สันติ รำงับ เพราะในบางครั้งเราธุดงค์กันเฉพาะภายนอกที่ชักพาเราไปสู่ความฟุ้งซ่าน หลงใหล เย้ายวนและชวนหา ดังนั้นเราอาจจะต้องกลับมาคิดทบทวนอาจจะอยู่ในรูปประโยคของ “ทางกลับคือการเดินทางต่อ” หรือ “การเดินทางโดยปราศจากจุดมุ่งหมาย” ก็ได้

--> ใกล้อวสานของโคมุข

          มีหนังสือและบทความหลายเล่มทีเดียวที่เขียนถึงความงามและการเดินทางสู่ต้นน้ำคงคาเป็นภาษาไทย ซึ่งผมเองก็ได้รับอิทธิพลจากหนังสือหรือบทความเหล่านั้น โดยเฉพาะหนังสือ “ในห้วงหิมาลัย” ของธารา รินศานต์หรือพี่เล้ง ที่ได้อ่านเมื่อสี่ห้าปีที่แล้วและฝันไว้ว่าสักวันหนึ่งเราจะได้จาริกสู่คงคา–หิมาลัย แล้วฝันนั้นก็เป็นจริง ต้องขอขอบคุณผู้จุดประกายฝันของผม

. คงคา

          การเดินทางภายนอกของเรา จากแกงโก๊ทรีจากระดับน้ำทะเลสามพันกว่าเมตร ลัดเลาะเลียบริมเขาและคงคาที่ ดูเหมือนบ้าคลั่ง เสียงสายน้ำดังกระหึ่มอยู่ตลอดเวลา และทุกระยะของการเดินเท้า สีน้ำข้นดั่งน้ำนมผสมช็อคโกแลตนิด ๆ ในช่วงฤดูมรสุมของที่นี่ มณีบอกกับเราว่า ในฤดูอื่นคงคาจะเป็นประกายดังสีเงินยวงเมื่อต้องแสง เขาจะหาโอกาสมาที่นี่ทุกครั้งเมื่อโอกาสเอื้อ หรืออย่างน้อยทุกแปดเดือน จะต้องเดินทางจากเดลลีมาสู่หุบเขาฤาษีเป็นครั้งครา

          โคมุข คือหัววัวนั่นเอง เป็นชื่อของภูเขาน้ำแข็งอันเป็นจุดกำเนิดของเธอ “คงคา” โดยมีเทือกเขาหิมะภกิรติหนึ่ง สอง และสามอยู่ทิศเบื้องหลังคอยประคองกอดเธอไว้ และทิศเบื้องซ้ายของเธอมีชิบลิงค์ หรือภูเขาลึงค์พระศิวะเป็นผู้ชักจูงเธอ ตามตำนานเท่าที่ผมจดจำมาได้คือ เทพธิดาคงคายินดีลงมาช่วยเหลือชาวโลก แต่เพราะเธอร้อนแรง การจุติลงมาของเธอเกิดการแตกกระจายเป็นแม่น้ำสิบสองสายของคงคา และที่จุดโคมุขอันเป็นสายหลักนั้นพระศิวะต้องน้อมเกศาของพระองค์มารองรับความแรง มิเช่นนั้นหลายสิ่งหลายอย่างคงพังทลาย ดังนั้นโคมุขจึงอยู่เคียงข้างกับลึงค์พระศิวะ

          เมื่อเราเดินกลับจากโคมุขถึงแกงโก๊ทรีและได้สักการะวัดที่สร้างขึ้นเมื่อเจ็ดสิบกว่าปีที่แล้ว แต่เป็นจุดที่มีผู้คนจาริกมาแสวงบุญกันมาหลายพันปี ผมถามมณีว่าทำไมเขาจึงสร้างวัด ณ จุดนี้เพราะห่างจากโคมุขตั้ง ๑๔ กิโล มณีบอกว่าแรกเริ่มทีเดียวหลายพันปีมาแล้ว เขาพบภูเขาน้ำแข็งอันเป็นต้นน้ำคงคา ณ จุดนี้ ด้วยระยะเวลาที่ผันผ่านมานานกว่าพันปีโคมุขจึงหดหายไปเรื่อย ๆ จวบจนปัจจุบันหดไปตั้ง ๑๔ กิโลเมตร ดูแล้วจะเหลืออยู่ไม่เกินกว่ากิโลเมตรก็จะหมดแล้ว และมีท่าว่าจะละลายหายไปมากขึ้นกว่าเดิม ดังมีสถานีตรวจวัดการละลายตัวของภูเขาน้ำแข็ง ณ จุดโคมุข และที่สำคัญที่เราจะต้องจดจารไว้ก็คือ โลกที่ร้อนขึ้นจะทำลายโคมุขให้หมดไปด้วย

--> ธุดงค์ของคนรุ่นใหม่

          ธุดงค์โดยนัยยะแล้วเป็นข้อวัตรปฏิบัติ ที่ผู้สมัครใจจะพึงสมาทานประพฤติได้ หรือเป็นอุบายขัดเกลากิเลส ส่งเสริมความมักน้อยสันโดษ ในทางพุทธศาสนามีข้อวัตรอยู่ ๑๓ ข้อ เพื่อเป็นไปในวิถีที่สันโดษ จะเห็นว่าข้อวัตรเหล่านี้จะเกี่ยวโยงกับการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย อาหาร การกิน จะว่าไปอีกทีทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงกับการสร้างทางเลือกออกจากบริโภคนิยม

          แล้วการจาริกของเราในครั้งนี้ได้สร้างทางเลือกออกจากบริโภคนิยมหรือไม่ ? นี่เป็นสิ่งที่คณะเราพูดคุยบ้างแต่มิได้ลงลึกมาก จะว่าไปแล้วไม่ใช่ง่ายเลยที่จะหลีกลี้ หรือไม่ติดกับความสะดวกสบายที่สังคมสมัยใหม่ประเคนให้กับเราเพื่อแลกกับเงินตรา เพื่อการซื้อหาและดูดทรัพยากรมาสนองมนุษยชาติ โดยปราศจากการคิดอย่างแยบคายว่าทรัพยากรที่มีอยู่นี้มีขีดจำกัดหรือไม่ และเราเองก็ต้องวิ่งวนหาเงินเพื่อนำมาซื้อหาสิ่งของเหล่านี้ จนขาดการเหลียวแลเอาใจใส่ต่อชีวิต ความสัมพันธ์ และการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งอื่นเอาเลย

          นี่เป็นประสบการณ์อันเล็กน้อยของชีวิตที่เราได้คิด เพื่อเชื่อมโยงระหว่างชีวิตและสังคม หวังว่าการแสวงหาของเราในครั้งนี้จะเป็นก้าวน้อย ๆ ที่จะปลดปล่อยเราสู่ความเป็นอิสระมากขึ้น

          ขุนเขา สายน้ำ และดวงวิญญาณแห่งการแสวงหายังคงดำรงอยู่ หล่อเลี้ยง และเติบโตขึ้นตามลำดับ

          ขอให้สรรพสิ่ง จงมีความสุข “May all beings be happy”. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :