เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรมฉบับที่ ๕๕
บทความพิเศษ

ชาล็อต โจโก เบค : เขียน, มากูเกียว : แปล
จาก “Attention Mean Attention” ตีพิมพ์ใน Tricycle : The Buddhist Review, Vol 3 No.1 Fall 1993

 

ใส่ใจ แปลว่า ใส่ใจ

 


ชาร์ลอตต์ โจโก เบค เป็นนักบวชหญิงและอาจารย์ธรรมะ
ในนิกายเซน ท่านมีเชื้อสายอเมริกัน วัย ๘๕
ปัจจุบันสอนประจำอยู่ที่ศูนย์เซนในซานดิเอโก สหรัฐอเมริกา

          มีเรื่องเก่าแก่ของเซนเรื่องหนึ่ง เล่าว่า ศิษย์คนหนึ่ง กล่าวกับท่านอาจารย์อิคคิวว่า “กรุณาเขียนอะไรบางอย่างที่แสดงถึงปัญญาอันเลิศล้ำให้ข้าพเจ้าด้วย” ท่านอิคคิวหยิบพู่กันขึ้นมาแล้วเขียน คำว่า “ใส่ใจ” ศิษย์คนนั้นก็ถามว่า “เท่านี้เองหรือ?” ท่านอาจารย์จึงเขียนเพิ่มว่า “ใส่ใจ ใส่ใจ” ศิษย์เริ่มหงุดหงิด “ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าเป็นสิ่งเลิศล้ำหรือฉลาดเฉลียวแต่อย่างใด?” ท่านอิคคิวตอบด้วยการเขียนเพิ่มขึ้นอีก “ใส่ใจ ใส่ใจ ใส่ใจ” ศิษย์ไม่พอใจอย่างมาก “อะไรนี่! ใส่ใจมันหมายความว่าอะไรกัน?” ท่านอิคคิวตอบว่า “ใส่ใจ แปลว่า ใส่ใจ”

          เราอาจแทนคำว่าใส่ใจด้วยคำว่าตระหนักรู้ การใส่ใจหรือการตระหนักรู้นี้เป็นเคล็ดลับของชีวิตและเป็นหัวใจของการปฏิบัติ เราอาจจะเหมือนศิษย์ในเรื่องที่ผิดหวังกับคำสอนแบบนี้ ดูมันพื้น ๆ ไม่น่าสนใจเอาเสียเลย เรามักจะอยากให้การปฏิบัติดูน่าตื่นเต้น เพียงแค่ความใส่ใจช่างน่าเบื่อเสียนี่กระไร เราอาจสงสัยว่า “การปฏิบัติมีเพียงเท่านี้เองล่ะหรือ?”

          เมื่อมีศิษย์มาพบฉัน ฉันฟังพวกเขาบ่นแล้วบ่นอีกเรื่องตารางเวลา เรื่องการภาวนา เรื่องอาหาร เรื่องพิธีกรรม เรื่องฉัน เรื่องนั้น เรื่องนี้ แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ได้สำคัญไปกว่าเรื่อง “เล็ก ๆ” เรื่องอื่น เช่นว่า เราเดินไปเตะอะไรเข้า เราปูเบาะนั่งสมาธิอย่างไร เราแปรงฟันอย่างไร เรากวาดพื้นหรือหั่นแครอทอย่างไร เรามาที่นี่ เพื่อคิดว่าจะจัดการกับเรื่องที่ “สำคัญกว่านี้” เช่นปัญหาชีวิตคู่ เรื่องงาน เรื่องสุขภาพ ฯลฯ เราไม่อยากยุ่งกับเรื่อง “เล็ก ๆ” เช่นว่า เราจะจับตะเกียบอย่างไร หรือวางช้อนอย่างไร แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของชีวิตเราในทุก ๆ ขณะ ไม่สำคัญว่ามันจะสำคัญหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับการใส่ใจ การตระหนักรู้ ทำไมน่ะหรือ ก็เพราะว่า ทุกขณะของชีวิตมนุษย์สมบูรณ์อยู่ในตัวมันเอง ชีวิตมีทั้งหมดเท่านี้ ไม่มีอะไรมากไปกว่าปัจจุบันขณะ ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ไม่มีอะไรนอกจากนี้ ดังนั้น ถ้าเราไม่ใส่ใจกับเรื่องเล็ก ๆ แต่ละเรื่อง เราจะพลาดไปทั้งหมด เรื่องเหล่านี้ อาจจะเป็นอะไรก็ได้ อาจจะเป็นการปูเบาะนั่งสมาธิ หั่นหัวหอม ไปหาใครบางคนที่เราไม่อยากเจอ มันไม่สำคัญว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องอะไร แต่ละขณะนั้นมีความสมบูรณ์อยู่ในตัว มีเพียงเท่านี้เอง และจะมีเพียงเท่านี้ตลอดไป ถ้าเราสามารถใส่ใจอย่างเต็มที่ เราจะไม่มีวันเสียใจ ถ้าเราเสียใจ แสดงว่าเราไม่ได้ใส่ใจ ถ้าเราไม่ได้พลาดแค่ขณะเดียว แต่พลาดแล้วพลาดอีก เราจะพบกับปัญหามากมาย

          สมมติว่า ฉันถูกตัดสินลงโทษด้วยการถูกตัดศีรษะโดยเครื่องกิโยติน เอาล่ะ ตอนนี้ฉันกำลังเดินไปบนแท่นประหาร ฉันจะสามารถใส่ใจในทุก ๆ ขณะได้หรือไม่ ฉันจะตระหนักรู้ทุก ๆ ย่างก้าวได้หรือไม่ ฉันจะวางศีรษะบนเครื่องประหารให้เพชฌฆาตได้เป็นอย่างดีหรือไม่ ถ้าฉันสามารถใช้ชีวิตและตายได้เช่นนี้ จะไม่มีปัญหาใด ๆ ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเราเห็นว่าปัจจุบันขณะมีค่าด้อยกว่าสิ่งอื่น ๆ ถ้าหมกมุ่นกับตัวเอง เราจะไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน แต่จะคิดว่า “ฉันต้องการอะไร?” วันทั้งวันเรานำเรื่องความต้องการของตัวเองมาแทนที่ปัจจุบันขณะ นี่เองเป็นสาเหตุแห่งปัญหา

          เมื่อเราใส่ใจต่อปัจจุบันขณะ เราจะตกอยู่ในภาวะของความคิดที่ว่า “ฉันต้องการให้มันเป็นไปตามที่ฉันต้องการ” ช่องว่างในการตระหนักรู้ถึงความจริงตามที่มันเป็นจริง ๆ นั้นได้เกิดขึ้นแล้ว ความวุ่นวายทั้งหลายในชีวิตก็จะเกิดขึ้นในช่องว่างนั้น เราสร้างช่องว่างนี้ขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดวัน การปฏิบัติเป็นไปก็เพื่อปิดช่องว่างเหล่านี้ เพื่อลดเวลาที่เราเสียไปกับการหลงลืม แล้วมัวติดยึดกับความฝันอันมุ่งถึงแต่ตนเอง

          อย่างไรก็ตาม ถ้าเราคิดว่า “ฉันกำลังใส่ใจ” “ฉันกำลังกวาดพื้น” “ฉันกำลังหั่นหัวหอม” “ฉันกำลังขับรถ” นั่นก็ยังเป็นความผิดพลาดอยู่ดี การคิดเช่นนี้อาจจะใช้ได้ในระยะแรกเริ่มของการฝึกปฏิบัติ แต่ก็ยังยึดติดอัตตาตัวตนอยู่นั่นเอง ยังมีคำว่า “ฉัน” แทนประสบการณ์ในปัจจุบันขณะ สิ่งที่ดีกว่านั้นคือการตระหนักรู้อย่างง่าย ๆ เพียงการรับรู้ รับรู้ และรับรู้เท่านั้น การตระหนักรู้ล้วน ๆ จะไม่มีช่องว่าง ไม่มีพื้นที่ให้ความคิดของอัตตาเกิดขึ้น เมื่อใดที่เกิดความคิดเช่นนั้น แสดงว่าช่องว่างได้เกิดขึ้นแล้ว ช่องว่างเป็นแหล่งกำเนิดของปัญหาและความเสียใจทั้งมวลที่รุมเร้าเรา

          ทุกครั้งที่บ่นว่าชีวิต เราได้ตกอยู่ในช่องว่างนั้นแล้ว ในการปฏิบัติ เราสังเกตความคิดและความเขม็งตึงของร่างกาย เปิดรับมันทั้งหมด แล้วกลับคืนสู่ปัจจุบันขณะ นี่เป็นการปฏิบัติที่ยากที่สุด เราอยากจะหนีมันไปให้พ้น หรือไม่ก็จมดิ่งอยู่ในความเสียใจอันน้อยนิด ความเสียใจนี้จะทำให้เราเห็นหรือคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง ความคิดที่ยึดติดเป็นอัตตาเป็นศูนย์กลางนี้ เป็นแรงดึงที่เปรียบได้กับการก้าวเดินบนน้ำเชื่อมข้น ๆ เหนียว ๆ ซึ่งเรายกเท้าขึ้นมาได้อย่างลำบากยากเย็น แต่แล้วก็กลับไปติดแน่นในน้ำเชื่อมนั้นอีก เรา “สามารถ” ปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ถ้าคิดว่านี่เป็นเรื่องง่าย ๆ นั่นก็แสดงว่า เรากำลังหลอกตัวเองแล้ว

          เวลาเสียใจ เรากำลังตกอยู่ในช่องว่างของอัตตาและสิ่งต่าง ๆ ซึ่งครอบงำเราด้วยความเรียกร้องต้องการจากชีวิต อย่างไรก็ดี ความรู้สึกในขณะนั้นก็ไม่ได้สำคัญไปกว่าการจัดเก้าอี้ หรือการปูเบาะนั่งสมาธิแต่อย่างใด

          อารมณ์ส่วนมาก ไม่ได้เกิดจากเหตุการณ์ในปัจจุบัน (อย่างเช่นเวลาที่เราเห็นเด็กถูกรถชน) แต่มักเกิดจากความต้องการของอัตตาที่เรียกร้องให้ชีวิตเป็นไปตามที่มันต้องการ แม้ว่าการมีอารมณ์ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่เราจะเรียนรู้จากการปฏิบัติได้ว่า มันก็ไม่ได้มีความสำคัญอะไรเช่นกัน การวางดินสอบนโต๊ะมีความสำคัญเท่า ๆ กับความรู้สึกสูญเสียหรือเหงา ถ้าเราตระหนักรู้ถึงความรู้สึกเหงา และเห็นความคิดที่มากับความเหงานั้น เราจะสามารถถอยออกมาจากช่องว่างที่เกิดขึ้นได้ การปฏิบัติก็คือการเคลื่อนออกมาเช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ถ้าเรามีความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องราวบางอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อหกเดือนก่อน และเป็นความทรงจำที่ทำให้เราเสียใจ เราควรเฝ้าดูความรู้สึกนั้นด้วยความสนใจ และหยุดเพียงเท่านี้ อาจดูเหมือนเย็นชา แต่นี่เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้เราเป็นคนโอบอ้อมอารีและมีความกรุณาอย่างแท้จริง ถ้ามองเห็นว่าเราให้ความสำคัญกับความรู้สึกมากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะ ก็ควรเฝ้าสังเกตความคิดนั้น การกวาดพื้นทางเดินเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ความรู้สึกเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้น เป็นเหมือนตาข่ายที่เราถักทอไว้ดักตัวเอง ดูช่างเป็นวิธีการอันน่าอัศจรรย์ แต่ที่สุดแล้ว มันจะทำให้ชีวิตเรายุ่งเหยิง

          เมื่อฉันเห็นความคิดของตัวเอง สัมผัสถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกาย รับรู้ว่ามีแรงต้านภายในที่ไม่อยากนำความรู้สึกมาเป็นอารมณ์ในการปฏิบัติ ฉันจึงหันกลับมาเขียนจดหมายที่เขียนค้างอยู่ให้เสร็จ นี่แหละคือการถอยออกจากช่องว่างมาสู่การตระหนักรู้ หากหมั่นเพียรปฏิบัติวันแล้ววันเล่า เราจะค่อย ๆ สามารถหาทางออกจากความยุ่งเหยิงในชีวิตได้ หัวใจของการปฏิบัติก็คือ ใส่ใจ ใส่ใจ ใส่ใจ

          การเขียนเช็คสำคัญเท่า ๆ กับความเจ็บปวดที่ไม่ได้พบคนที่เรารัก ถ้าเราไม่ปิดช่องว่างที่เกิดจากความไม่ใส่ใจนั้น ทุก ๆ คนจะได้รับผลกระทบไปด้วย

          การปฏิบัติสำคัญสำหรับฉันเช่นกัน สมมติฉันหวังว่าลูกสาวจะมาเยี่ยมฉันในวันคริสต์มาสนี้ แต่เธอกลับโทรมาบอกว่าเธอไม่มา การปฏิบัติจะช่วยให้ฉันคงความรักที่มีต่อเธอไว้ได้ แทนที่จะเสียใจเพราะเธอไม่ทำตามที่ฉันต้องการ ด้วยการปฏิบัติ ฉันจะสามารถรักเธอได้อย่างเต็มเปี่ยม หากปราศจากการปฏิบัติ ฉันก็จะกลายเป็นเพียงคนแก่ขี้เหงาขี้หงุดหงิด ในความหมายนี้ ความรักก็คือการใส่ใจและการตระหนักรู้นั่นเอง เมื่อฉันคงการตระหนักรู้ไว้ได้ ฉันก็จะสามารถสอนได้เป็นอย่างดี นี่คือรูปแบบหนึ่งของความรัก ฉันจะคาดหวังคนอื่นน้อยลง และทำเพื่อผู้อื่นได้มากขึ้น เมื่อฉันพบลูกสาวอีกครั้ง ฉันก็ไม่จำเป็นต้องแบกความขุ่นเคืองใจเก่า ๆ มาพบเธอด้วย ฉันจะสามารถมองเห็นเธอได้อย่างแท้จริง

          ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการอยู่ที่นี่ในเวลานี้ แท้จริงแล้วมีเพียงสิ่งเดียวที่สำคัญ นั่นคือการใส่ใจกับปัจจุบันขณะ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม

          ใส่ใจ แปลว่า ใส่ใจ. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :