เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ๕๔

เสมือนบทนำ
กองบรรณาธิการ

นักบวชกับบทบาททางการเมือง
และ..การจากไปของกัลยาณมิตร

          นับวันข่าวการ “ชุมนุมทางการเมือง” ของพระภิกษุ, สามเณร และแม่ชี ในสื่อชนิดต่าง ๆ จะมีมาให้รับทราบกันมากยิ่งขึ้น พร้อม ๆ ไปกับการจับตาและวิพากษ์วิจารณ์ของชาวพุทธโดยทั่วไป ซึ่งมักไม่มีโอกาสได้เข้าร่วม หรือรู้เห็น กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้โดยตรง

         เดิมที ผู้สนใจและติดตามข่าวคราวจากต่างประเทศ ก็มักจะคุ้นหูคุ้นตา หรืออย่างน้อยก็เคยผ่านการรับรู้ เกี่ยวกับกิจกรรมและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพระภิกษุ–สามเณร–ภิกษุณี หรือแม่ชี ในประเทศต่างๆ เช่น ศรีลังกา เขมร ลาว และพม่า ซึ่งเป็นพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท หรือข่าวภิกษุ–ภิกษุณี ชาวไต้หวัน เวียตนาม และเกาหลี เพื่อนสพรหมจารีย์ฝ่ายมหายาน ซึ่งมีทั้งการชุมนุมอย่างสงบ–สันติ และที่ใช้ความรุนแรง ทั้งจากฝ่ายชุมนุมและฝ่ายปราบปราม เช่น การชุมนุมของพระเณรในประเทศเกาหลีใต้ หรือที่รุนแรงยิ่งขึ้น เช่น การประท้วงด้วยการเผาตัวตายของนักบวชพุทธ ทั้งหญิงและชายในประเทศเวียตนาม และการปราบปรามอย่างรุนแรงหฤโหดเป็นที่สุด ของฝ่ายรัฐบาลพม่า ที่มีต่อพระ–เณร–แม่ชี ชนชาติและศาสนาเดียวกัน เมื่อเหตุการณ์ ๘/๘/๘๘ อันปรากฏต่อสายตาชาวโลก ว่าอาจรุนแรงยิ่งไปกว่าเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙ ของไทยเสียอีก

         กล่าวได้ว่า ประเด็นการชุมนุมยิ่งแหลมคม และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนหมู่มากเท่าใด การขัดขวางและปราบปรามของผู้มีอำนาจ ก็ยิ่งจะก้าวร้าวรุนแรงยิ่งขึ้นเท่านั้น ทั้งเพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของฝ่ายตนเอาไว้ และเพื่อสยบให้ฝ่ายตรงกันข้ามไม่ให้สามารถเงยหน้าขึ้นสู้ได้อีก

         ที่แล้วมาบทบาททางการเมืองของ “นักบวชพุทธ” ในต่างประเทศ ที่กล่าวข้างต้น มักถูกสรุปโดยพุทธบริษัทชาวไทยว่าไม่ถูกต้อง–เหมาะสม มาโดยตลอด กระทั่งไม่นานมานี้ ที่พระภิกษุ, สามเณร และแม่ชี ของเราเริ่มแสดงออกทางการเมืองกันมากขึ้น

         ทั้งฝ่ายวัดป่าและวัดบ้าน ทั้งฝ่ายมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย จึงเป็นเหตุให้ท่าทีของพุทธศาสนิกชนเริ่มแปรเปลี่ยนไปบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่าทีที่มีต่อรูปแบบการเคลื่อนไหว เช่น การชุมนุมเพื่อเสนอข้อเรียกร้อง หรือยื่นหนังสือคัดค้าน

         กล่าวสำหรับสยาม ประเด็นคงมิใช่เพียงอยู่ที่ว่า การชุมนุมของเพื่อนสหธรรมิกเหล่านั้น “มีความถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่?” ดังที่หลายฝ่ายมักกล่าวถึง ภายใต้วาทกรรม “ความห่วงใยต่อพระศาสนา” ตามสูตรสำเร็จที่บางกลุ่มบางพวกเคยสร้างไว้ หากน่าที่จะต้องกล่าวถึง หรือ “ตั้งโจทย์” เอาไว้ เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันด้วย ก็คือ “เป้าหมาย”, “วัตถุประสงค์” หรือ “ข้อเรียกร้อง” อันเป็นหัวใจ หรือเป็นเหตุให้เหล่าสมณ “ศากยบุตร–ศากยธิดา” ต้องก้าวออกจากประตูวัด เพื่อมา “พบกัน” ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า หน้าทำเนียบรัฐบาล หรือรัฐสภา นั้น ถึงที่สุดแล้วหมายถึงอะไรกันแน่ อีกทั้ง มีที่มา หรือมีรากเหง้าอย่างไร และปฏิบัติการเหล่านั้นกำลังจะนำพาการพระศาสนาไปในทิศทางใด

         พูดให้ง่ายก็คือ หากได้ทุกอย่างตามที่เรียกร้อง จะเกิดอะไรขึ้นกับพระพุทธศาสนา อันเป็นที่เทิดทูนของชาวพุทธทุกฝ่าย

         เพราะนอกเหนือไปจากความตั้งใจดี อันแฝงไว้ด้วยความยึดมั่นถือมั่นในความเห็นของตน, การมุ่งเอาชนะคะคาน, การแบ่งฝักฝ่าย และความฮึกเหิมลำพองด้วยสำคัญผิดในข้อเท็จจริง ตลอดจนความไร้เดียงสาทางการเมือง แล้ว ดูคล้ายกับว่าหลายกลุ่มที่ “ขยัน” ออกมา “เคลื่อนไหว” กำลังจะเอาการพระศาสนาไปผูกติดไว้กับความคิดชาตินิยม อนุรักษ์นิยม หรือกระทั่งเลยเถิดไปถึง “ลัทธิคลั่งชาติ” อย่างมีนัยสำคัญยิ่งขึ้นทุกขณะ

         หาก “การชุมนุมทางการเมือง” เพื่อยื่นข้อเสนอ–ข้อเรียกร้อง ต่อฝ่ายกุมอำนาจรัฐ/ฝ่ายอาณาจักร จะนับเป็นความ “ก้าวหน้าทางการเมือง” ของฝ่ายพุทธจักร/ศาสนจักร ที่ควบคู่ไปกับระบอบประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน” แล้ว การมีข้อเรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งอะไรก็ตามที่ต้องลงท้ายว่า “...แห่งชาติ” “...ประจำชาติ” หรือ “...เพื่อความเป็นไทย” อันมีอยู่เป็นวลีพร่ำติดปากแล้ว นี่จะนับเป็นอะไรได้ นอกเสียจากพัฒนาการอันติดค้างอยู่ในระยะนิยมของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แห่งเยอรมัน หรือจอมพลตราไก่ของไทย(แลน–ด์) เป็นอาทิ

          มิพักจะต้องกล่าวถึงว่า ประเด็นทางการเมืองในมิติทางศาสนา ที่เป็นข้อเรียกร้องหลัก ๆ ของการชุมนุมเหล่านั้น จะนำไปสู่เป้าหมายทางพุทธธรรมหรือไม่ ซึ่งดูจะยิ่งเหลือวิสัยของ “นักเคลื่อนไหว” ต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วไปมากนัก

          และ ภายใต้สถานการณ์เคลื่อนไหวทางอำนาจและโครงสร้าง “ส่วนบน” ของ “พระในเมือง” เช่นนี้ น่าสงสัยเหลือเกินว่า “พระบ้านนอก” เช่น หลวงพ่อนาน หลวงพ่อคำเขียน หรือหลวงพ่อพระครูสุภาฯ ตลอดจน “พระเสขิยธรรม” ทั้งหลายในชนบท รวมทั้งพระเณรไร้ตำแหน่งทางวิชาการ ไร้เปรียญ และไร้ยศฐาบรรดาศักดิ์ อันเป็นพระ “ระดับล่าง” เหล่านั้นท่านกำลังคิดและทำอะไรอยู่...

 

          “จดหมายข่าวเสขิยธรรม” ฉบับนี้ พยายามนำเสนอปรากฏการณ์บางด้านของ “พุทธบริษัท” ในสังคมร่วมสมัย ผ่านมุมมองของนักวิชาการ และนักกิจกรรมทางสังคม ซึ่งมีฐานคิดทางพุทธศาสนา ทั้งพยายามนำเสนอทางออก ซึ่งหลายฝ่ายอาจจะมองข้าม หรือถูกอคติบางประเภทบดบังไว้ เผื่อว่าจะเป็นทางเลือกอีกสายหนึ่ง สำหรับการก้าวพ้นไปจากปลักตม “ความยึดมั่นถือมั่น” และความเป็นฝักฝ่าย ที่กำลังงอกงามเติบโต บนเนื้อดินของสังฆมณฑล

         ในส่วนของ “กลุ่มเสขิยธรรม” เอง แนวคิดใหม่หลายประการกำลังได้รับการแปรเปลี่ยนมาสู่รูปธรรมแห่งการปฏิบัติ ทั้งการจัดเตรียมการอบรมเชิงปฏิบัติการ ในประเด็นอันเกิดจากความต้องการของสมาชิกกลุ่มเสขิยธรรมเองโดยตรง, การแบ่งประเภทและขยายฐานสมาชิก ออกเป็น สมาชิกสามัญ–สมาชิกสมทบ–สมาชิกกิตติมศักดิ์ และเริ่มเก็บ “ค่าสมาชิก” เพื่อนำเงินเข้า “กองทุนเสขิยธรรม” ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนด้านการศึกษา–อบรม และการจัดกิจกรรมของสมาชิกในภูมิภาคต่าง ๆ ตลอดจนเพื่อการจัดทำสื่อและสิ่งพิมพ์เพื่อเผยแพร่แนวคิดของ “กลุ่มเสขิยธรรม” ออกสู่สาธารณะให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

         ทุกอย่างกำลังจะเข้ารูปเข้ารอย เพื่อรองรับการจัดองค์กรที่มีความชัดเจน, เป็นจริง และพึ่งตนเองได้ ของ “กลุ่มเสขิยธรรม” ซึ่งอาจหมายถึงการจัดตั้ง “มูลนิธิเสขิยธรรม” หรือรูปแบบองค์กรที่มีความเหมาะสมยิ่งกว่า ขึ้นในอนาคต เพื่อรองรับบทบาทของ “พุทธบริษัท” ที่ประสงค์จะประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรม เพื่อเป็นแนวทางและเป้าหมายในการดำเนินชีวิต ทั้งระดับบุคคล ชุมชน และสังคม อย่างบรรสานสอดคล้องกับธรรมชาติ อย่างที่สมาชิกกลุ่มเสขิยธรรมคาดหวัง

 

          พร้อม ๆ กับจังหวะก้าวสำคัญของ “กลุ่มเสขิยธรรม” และ “จดหมายข่าวเสขิยธรรม” นี้เอง ก็เกิดเหตุการณ์แห่งความสูญเสียขึ้นอย่างนอกเหนือความคาดหมาย เมื่อ อาจารย์เครือมาศ วุฒิการณ์ ผู้เป็นกัลยาณมิตร และร่วมกิจกรรมกับคณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา (ศพพ.) ตลอดจนองค์กรเครือข่ายภายใต้มูลนิธิเสฐียรโกเศศ–นาคะประทีป มากว่า ๒๐ ปี ในฐานะผู้ประสานงาน และผู้สนับสนุน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ได้ถึงแก่กรรมลงเมื่อเช้าตรู่ วันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๔๕ ด้วยโรคธัยรอยด์เป็นพิษ และอาการหัวใจล้มเหลว

         ในส่วนของ “จดหมายข่าวเสขิยธรรม” อาจารย์เครือมาศ วุฒิการณ์ มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการจัดทำมาโดยตลอด นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงรูปเล่มและเนื้อหาใหม่ในปี ๒๕๔๒ ทั้งการจัดเตรียมประเด็นในเล่ม การประสานงานต้นฉบับ การประชาสัมพันธ์ และการหาสมาชิก ตลอดจนการเป็นนักเขียนประจำให้กับ “จดหมายข่าวเสขิยธรรม” แม้ในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต

         กระทั่งในขณะป่วยหนักมากแล้ว เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๔๕ ก่อนหน้าจะเสียชีวิตเพียงสองวัน อาจารย์เครือมาศ ก็ยังทำหน้าที่ประสานงานนัดหมาย ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ เพื่อให้กองบรรณาธิการสัมภาษณ์ สำหรับตีพิมพ์ในคอลัมน์ “เสขิยทัศน์” ดังปรากฏรายละเอียดอยู่ในฉบับนี้แล้ว (บทบาทพุทธบริษัทกับสังคมร่วมสมัย)

         ในฐานะบุคลากรที่มีคุณภาพอย่างยิ่งคนหนึ่งของสังคมเชียงใหม่ อาจารย์เครือมาศ วุฒิการณ์ ย่อมได้รับการยกย่อง เชิดชู และแสดงความเสียใจ จากหลายฝ่ายอยู่แล้ว แต่ในส่วนของ “จดหมายข่าวเสขิยธรรม” และองค์กรเครือข่ายใกล้ชิด เราขออุทิศเนื้อที่ส่วนหนึ่งของฉบับนี้ เพื่อร่วมระลึกถึงและแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ “อาจารย์ติ่ง” เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย

.... .... ....

         ภายใต้กฎเกณฑ์ของความไม่เที่ยงแท้ การดิ้นรนเพื่อแสวงหาความเหมาะสมและลงตัว ยังเกิดขึ้นอยู่เสมอ ตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ ประเด็นสำคัญคงอยู่ที่ว่า เราจะมีสิ่งใดเป็นเข็มมุ่ง หรือธงนำ ให้กับชีวิต วัตถุ เงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ อำนาจ และโอกาสในการเอารัดเอาเปรียบ หรือ ความสงบเย็น อันเกิดจากการละวางตัวตนและกิเลสอาสวะ เพื่อมุ่งการทำประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน และประโยชน์ทั้งสองฝ่าย โดยปราศจากอคติ

         ยิ่งวันเวลาล่วงผ่าน การจากไปของกัลยาณมิตร และ โมฆะบุรุษ ก็ยิ่งปรากฏให้เป็นอุทาหรณ์แก่ผู้ยังอยู่ ทั้งฝ่ายคฤหัสถ์และบรรพชิต เพื่อปลงธรรมสังเวช และแสวงหาหนทางที่เหมาะสมของตนเองต่อไป

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :