เสขิยธรรม
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรมฉบับ ๕๒

เสขิยทัศน์
สัมภาษณ์ พระศรีปริยัติโมลี (สมชัย กุสลจิตฺโต)
รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
และกรรมการกลุ่มเสขิยธรรม
วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๕ เวลา ๑๗.๒๐ น.
ณ วัดจันทาราม

พระศรีปริยัติโมลี (สมชัย กุสลจิตฺโต)รำลึกท่านพุทธทาส ผ่านการศึกษาคณะสงฆ์

 

เสขิยธรรม : มีความคิดเห็นอย่างไรกับการศึกษาด้วยตนเองในลักษณะของท่านอาจารย์พุทธทาส เมื่อเปรียบเทียบกับระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ในปัจจุบัน

พระศรีปริยัติโมลี : ความจริงเรื่องการศึกษามันเป็นเรื่องการฝึกฝนอบรมพัฒนาคนและการพัฒนาตัวเอง เพราะฉะนั้นถ้าหากคนที่จะศึกษาจะพัฒนานี่เขารู้ เช่น จะหาความรู้เขาก็จะรู้จักแหล่งความรู้ จะฝึกพัฒนาตนเองเขาก็รู้ว่าวิธีการจะพัฒนาตนเองให้เก่งให้ดีขึ้นจะพัฒนาอย่างไร ก็สามารถทำได้เอง ก็สามารถพัฒนาได้ แล้วพัฒนาได้เต็มศักยภาพที่ตัวเองอยากจะทำ ไม่ต้องไปติดกรอบ ติดระบบ ติดพิธีกรรม

ทีนี้คนทั่วไปจะมีสติปัญญาเข้าใจขนาดนั้นนี่มันก็อาจจะมีน้อย เราเลยต้องมีสถาบันการศึกษา มีโรงเรียน มีวิทยาลัย มีมหาวิทยาลัย ซึ่งดูดูแล้วจนถึงขณะนี้ ผมมองว่าสถาบันการศึกษามันไม่ได้บอก หรือเรียกว่าถ้าเทียบส่วนได้กับส่วนเสีย ผมยังมองว่าประเทศชาติสูญเสียกับเรื่องสถาบันการศึกษามากกว่าได้

คือเสียทั้งในแง่ของการลงทุน ซึ่งถ้าเทียบกับงบประมาณแต่ละปีที่เราลงทุนเพื่อการศึกษานี่สองแสนกว่าล้าน ถ้าคิดก็ประมาณยี่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ผมก็มองว่าเงินที่ลงทุนไปนี่ได้ผลกลับมามันไม่คุ้ม ไม่คุ้มที่ว่าเราได้คนจบการศึกษามาเขาไม่มีสติปัญญา มองในแง่สติปัญญาที่แท้จริง เขาไม่ค่อยมี..ไม่ถึง และมองในแง่ที่จะเป็นคนที่ดีมีศีลธรรมมีอุดมการณ์นี่ มันก็ไม่พอ

อย่างวิกฤตการณ์ในปัจจุบันเราจะเห็นว่า ประเทศเราพบความวิกฤตต่าง ๆ เป็นเพราะคนที่ศึกษาไม่ถึงที่ มันมีปัญหาเพราะคนที่ได้รับการยอมรับว่ามีความรู้แล้วไม่มีความรู้จริง ไม่มีอุดมการณ์ ไม่มีศีลธรรมจริง นอกจากนั้นก็ยังเอารัดเอาเปรียบเขาอีกใช่ไหม เพราะว่าเอาเงินของคนส่วนใหญ่มาให้คนชั้นกลาง มาให้คนที่จะช่วยตัวเองได้แล้ว กลับเป็นว่าคนยากจนกว่า คนที่โอกาสน้อยกว่ากลับต้องมาหนุน ต้องมาสนับสนุนคนที่มีโอกาสมีฐานะเศรษฐกิจดีกว่า นี่มองในแง่ของการศึกษาของชาวบ้านทั่วไป

ในอนาคตนี่ผมว่าน่าจะต้องเปลี่ยนแล้ว สถาบันการศึกษาต้องได้รับการตรวจสอบ ต้องรื้อฟื้นกันมาก ต้องสังคายนากันมาก ผมว่าสังคมน่าจะไม่ยอมให้ใครที่เอารัดเอาเปรียบ หรือคนที่ได้เปรียบอยู่แล้วเอาเปรียบต่อไป หรือยอมคนที่อยู่ในระบบ เอาพิธีกรรมหรือเอาเครื่องแบบอะไรทั้งหลาย เอารูปแบบเครื่องแบบมาแสดงว่าเป็นคนมีความรู้ แล้วก็จะได้โอกาสดีกว่าคนที่ไม่มีเครื่องแบบไม่มีปริญญา ผมว่าต่อไปโลกจะต้องเปลี่ยน

อย่างวิกฤตการณ์ในปัจจุบันเราจะเห็นว่า
ประเทศเราพบความวิกฤตต่าง ๆ เป็นเพราะคนที่ศึกษาไม่ถึงที่
มันมีปัญหาเพราะคนที่ได้รับการยอมรับว่ามีความรู้แล้วไม่มีความรู้จริง
ไม่มีอุดมการณ์ ไม่มีศีลธรรมจริง
นอกจากนั้นก็ยังเอารัดเอาเปรียบเขาอีกใช่ไหม เพราะว่าเอาเงินของคนส่วนใหญ่มาให้คนชั้นกลาง มาให้คนที่จะช่วยตัวเองได้แล้ว
กลับเป็นว่าคนยากจนกว่า คนที่โอกาสน้อยกว่ากลับต้องมาหนุน
ต้องมาสนับสนุนคนที่มีโอกาสมีฐานะเศรษฐกิจดีกว่า
นี่มองในแง่ของการศึกษาของชาวบ้านทั่วไป

ทีนี้มองกลับมาที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์พุทธทาส ผมเองอยู่มหาวิทยาลัยสงฆ์ผมก็มองตลอดเวลานะ ว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์ถูกกระแสหลัก หรือการศึกษาแบบหลัก เข้ามาครอบหรือเข้ามาปิดกั้นหรือเบียดบัง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การศึกษาของสงฆ์มันไม่ค่อยตรงนัก ที่มันไม่ค่อยตรงนักก็เพราะว่า พระที่มาเรียนมันเป็นค่านิยมของสังคมด้วย ว่าเราไม่ใช่บวชเพื่อเรียนเพื่อพระศาสนา พระส่วนใหญ่นี่บวชเพื่อว่าต้องการจะเรียนแบบที่ชาวบ้านเรียน แต่ว่าโชคร้ายที่สถานะทางเศรษฐกิจไม่พอที่จะเรียนได้ โชคร้ายที่เกิดในบ้านเมืองนี้ ที่รัฐบาลแทบจะไม่ต้องทำอะไร ให้ประชาชนดิ้นรนเอาเอง ถ้าเป็นประเทศอื่นเขาก็จะต้องสนับสนุน ให้คนของเขาได้ศึกษาได้เล่าเรียนเท่าที่ความต้องการที่จะศึกษาเล่าเรียน หรือศักยภาพที่เขาจะพึงมี อย่างน้อย ๆ จบปริญญาตรี ดังนั้นเมื่อพระมาจากเบื้องหลังมาจากแรงจูงใจแรงบัลดาลใจอย่างนี้ ท่านก็เรียนแบบ.. คือถึงจะอยู่ในเครื่องแบบของพระภิกษุสามเณรแต่ความคิดก็เหมือนกับคนไทยทั่วไป ก็รับค่านิยมของสังคมไทยเหมือนกับชาวบ้านทั่ว ๆ ไป

ฉะนั้นเมื่อมาเรียนท่านจึงเรียกร้องที่จะเรียนในวิชาอื่น ๆ ซึ่งไม่ใช่พุทธศาสนา ท่านเรียกร้องที่จะเรียนวิชาแบบชาวบ้าน เรียนเศรษฐศาสตร์ เรียนรัฐศาสตร์ เรียนนิเทศศาสตร์ เดี๋ยวนี้ถ้ามหาวิทยาลัยสงฆ์ไม่สนองตรงนี้ก็ไม่ได้ เพราะมหาวิทยาลัยข้างนอกก็มาแย่งพระไปเรียนเสียเยอะแล้ว (หัวเราะเบา ๆ) เราอาจจะไม่รู้ว่าทั้งมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงใหญ่ ๆ ทั้งสถาบันราชภัฏก็พยายามไปเปิดศูนย์ที่นั่นที่นี่ ตั้งศูนย์วิทยบริการที่นั่นที่นี่ เปิดขยายห้องเรียนที่นั่นที่นี่ แล้วรับเอาพระเข้าไปเรียน ตรงนี้มันเป็นทั้งคุณทั้งโทษแก่พระสงฆ์และพระพุทธศาสนา

ดังนั้นในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยก็ดี ในมหามกุฎราชวิทยาลัยก็ดีมันอยู่ในภาวะที่ต้องประนีประนอมกันมาก ประนีประนอมที่ว่า ถ้าเราเคร่งครัดให้พระศึกษาเรื่องพุทธศาสนาอย่างจริง ๆ จัง ๆ นี่เราก็หาพระมาเรียนจริง ๆ ไม่ได้

คณะพุทธศาสตร์เป็นคณะที่พระไม่อยากเรียนที่สุด เป็นคณะที่หนีที่สุด บาลีก็บอกว่าเรียนมาแล้ว นักธรรมก็บอกว่าเรียนมาแล้ว เพราะฉะนั้นในตัวมหาวิทยาลัยสงฆ์เองนี่ผมก็คุยกันล่าสุด ก็คิดว่าการศึกษาในระบบมหาวิทยาลัยสงฆ์ระบบบาลีนักธรรมต้องรื้อฟื้นปรับปรุงใหม่ ถ้าจะอยู่อย่างนี้นี่มันก็..เรียกว่าลงทุนไปแล้วไม่ได้บุคลากรที่จะมาสืบทอดพระศาสนา

นี่อย่างเราพูดถึงหนังสือเล่มนี้ (“อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าพระไทยไม่รู้ว่า พระพุทธศาสนาอยู่ตรงไหน”–บก.) มีองค์สององค์นะบอกว่าเรียนจบพุทธศาสตร์บัณฑิตแต่ว่าไม่รู้จักท่านเจ้าคุณประยุทธ์ไม่รู้จักท่านเจ้าคุณธรรมปิฎก จึงบอกให้ตัดหัวเจ็ดชั่วโคตร อะไรทั้งหลายนี้มันฟ้องว่าระบบการศึกษาของเรานี่มันยังหย่อนยานมาก เดี๋ยวนี้มีปัญหาเรื่องพระศาสนา เรื่องที่จะสอบถามเอาความถูกต้อง ชี้ถูกชี้ผิดในทางพระพุทธศาสนา พระในมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ไม่ได้ออกมาชี้แนะ ไม่ได้ออกมาแสดงทัศนะ เป็นตัวฟ้องว่ามันอาจจะต้องมีทางเลือกอีกทางหนึ่ง

ก็ยังคิดกันอยู่ ว่ามันน่าจะมีวิทยาลัยเล็ก ๆ ที่จัดการศึกษาแบบอยู่ด้วยกันฝึกฝนอบรมด้วยกัน ฝึกให้เกิดอุดมการณ์ ฝึกเรื่องของระเบียบวินัย เรื่องของศีล เรื่องอาจาระ ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ฝึกภาษา ฝึกการวิเคราะห์สังคม ฝึกเรื่องวิชาที่จะให้เข้าใจโลกเข้าใจสังคม แล้วเตรียมพระเหล่านี้ เพื่อให้เป็นพระผู้นำ เป็นพระระดับคีย์ ระดับเสนาธิการ

ผมว่าถ้าคิดตรงนี้ได้พระศาสนาก็จะมีความหวัง ถ้าหากเอาเฉพาะระบบที่เป็นอยู่ไม่ว่าจะบาลี, นักธรรมหรือมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง ผมว่ามันไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน เคยจะหลุดมาบ้างก็คล้าย ๆ ว่าโตเอง อย่างเจ้าคุณอาจารย์พระธรรมปิฎกท่านก็โตเอง แล้วหลายรูปที่รอดมาก็โตเอง ซึ่งถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ถ้าหลุดมาโตเองนี่ กับปริมาณ หรือ Input ที่เราใส่เข้าไปแล้วมันออกมาเป็นผลผลิตนี่มันน้อย เทียบกับปริมานนี่มันน่าเป็นห่วงตรงนี้ เป็นเรื่องที่ต้องคิดกันให้ละเอียดถึงวิสัยทัศน์ ถึงยุทธศาสตร์ที่จะรักษาพระศาสนาที่จะสร้างบุคลากรระดับเสนาธิการพระเข้ามาไม่งั้นเราจะได้แบบที่เป็นอยู่ มันมีข้อจำกัดหลายอย่าง อย่างของมหาจุฬาฯ นี่ได้ขนาดนี้ถ้ามองกลับไปดูที่พื้นฐานนี่เราไม่มีอะไรเลย เริ่มจากไม่มีอะไร ไม่มีที่ตั้งไม่มีงบประมาณ รัฐบาลไม่เคยดูแลใช่ไหม มิหนำซ้ำพอเราคือฝ่ายคณะสงฆ์นี่ก็ไม่รับรองมาตั้งแต่แรก เป็นการดิ้นรนพยายามจะให้เข้มแข็งขึ้น ช่วยเหลือขึ้น พี่ช่วยน้อง น้องช่วยพี่มาเรื่อย ๆ เรียกว่าพยายามขนาดนี้แล้ว ก็พยายามพอสมควรแล้วจึงได้ขนาดนี้

ถ้ามองในแง่จำกัดเดิมนี่เราก็คิดว่ามันก็ได้มาอยู่ แต่มันน่าจะไม่พอในการจะรักษาพระศาสนาไปในอนาคต

อย่างท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุก็ดี ท่านอาจารย์เจ้าคุณประยุทธ์..พระธรรมปิฎกก็ดี เราจะเห็นว่าท่านเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ท่านเข้าใจสังคม เข้าใจโลกใช่ไหม เข้าใจการเมืองใช่ไหม เข้าใจเรื่องการเมืองเรื่องเศรษฐกิจใช่ไหม ที่ท่านพูดถึงเรื่องธัมมิกสังคมนิยม เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสิ่งแวดล้อม นี่ท่านพูดไว้หมด นี่คือมันเป็นผลจากการที่ท่านแสวงหาด้วยตัวเอง

ท่านเจ้าคุณประยุทธ์ก็ดีท่านอาจารย์พุทธทาสก็ดี
ท่านไม่ได้ไปเรียนต่างประเทศเลย แต่ท่านแปลหนังสือได้
แต่พระเราที่เรียนทั้งเรียนในระบบมหาวิทยาลัยสงฆ์เรียนในระบบบาลีนักธรรม
เรายังขาดความเข้าใจสังคมเข้าใจโลก การรู้ภาษาต่างประเทศดี
การรู้จักใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมนี่มันยังไม่มี
รวมไปจนถึงการจะสร้างจิตใจใฝ่รู้ใฝ่เรียน จิตใจแสวงหา
หรือสร้างความเป็นนักอุดมคติ ว่าถ้าทำอะไรต้องทำจริง
เรียกว่าเอาชีวิตเข้าแลก ทุ่มเททั้งชีวิต มันยังไม่มี

อย่างภาษาต่างประเทศ ท่านเจ้าคุณประยุทธ์ก็ดีท่านอาจารย์พุทธทาสก็ดี ท่านไม่ได้ไปเรียนต่างประเทศเลย แต่ท่านแปลหนังสือได้ แต่พระเราที่เรียน ทั้งเรียนในระบบมหาวิทยาลัยสงฆ์เรียนในระบบบาลีนักธรรม เรายังขาดความเข้าใจสังคมเข้าใจโลก การรู้ภาษาต่างประเทศดี การรู้จักใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมนี่มันยังไม่มี รวมไปจนถึงการจะสร้างจิตใจใฝ่รู้ใฝ่เรียน จิตใจแสวงหา หรือสร้างความเป็นนักอุดมคติ ว่าถ้าทำอะไรต้องทำจริง เรียกว่าเอาชีวิตเข้าแลก ทุ่มเททั้งชีวิต มันยังไม่มี

ผมก็พูดเรื่อย พูดไปก็อาจจะไม่ค่อยสอดคล้องกับครูบาอาจารย์บางรูปในมหาจุฬาฯ เหมือนกัน (หัวเราะเบา ๆ) เขาบอกว่าระบบการศึกษาของสงฆ์ มันจะต้องเป็น เป็นผู้นำ การที่เราจะเป็นผู้นำได้นี่เราจะต้องเป็นตัวของตัวเอง แล้วเราจะต้องทวนกระแส..

อย่างมหาวิทยาลัยข้างนอกนี่เขาจะเน้น.. ถ้าพูดถึงมหาวิทยาลัยต้องพูดถึงตึกใหญ่ ๆ ใช่ไหมครับ ตึกใหญ่ ๆ เทคโนโลยีราคาแพง ๆ มหาวิทยาลัยหนึ่งจะสร้างกันขึ้นมาก็ต้องลงทุนกันเป็นหลาย ๆ พันล้าน เป็นหมื่นล้าน แล้วก็ใช้พลังงานเยอะมาก เรียกว่าดูความเป็นมหาวิทยาลัยกันดูที่กายภาพ ดูที่ตึกเทคโนโลยี ดูที่เงินทอง ดูที่บริเวณสถานที่เราดูกันตรงนี้ และเราก็แข่งกันตรงนี้

ผมก็เคยพูดว่ามหาวิทยาลัยพุทธนี่มันต้องกลับมาสู่เล็ก ๆ Small is Beautiful และต้องกลับมาอยู่ที่เรื่องของวัด ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องของวัด ผมว่าเราหลงทางใช่ไหมครับ ระบบการศึกษาของพุทธก็คือระบบวัดใช่ไหม ศีล สมาธิ ปัญญาต้องเริ่มที่วัด วัดก็คืออารามต้องร่มรื่น ต้องสัปปายะ ต้องเล็ก ๆ ไม่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาก เพราะอยู่กับธรรมชาติอยู่กับสิ่งแวดล้อมอะไรให้ได้ นี่ต้องมาตรงนี้ ถ้าเราไปตามเขาเราหลงทาง

ระบบการศึกษาของพุทธก็คือระบบวัดใช่ไหม
ศีล สมาธิ ปัญญาต้องเริ่มที่วัด
วัดก็คืออารามต้องร่มรื่น ต้องสัปปายะ
ต้องเล็ก ๆ ไม่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาก
เพราะอยู่กับธรรมชาติอยู่กับสิ่งแวดล้อมอะไรให้ได้ นี่ต้องมาตรงนี้
ถ้าเราไปตามเขาเราหลงทาง

ผมยังมองว่าระบบการศึกษาเมืองไทยที่เราเอามาจากยุโรปนี่ คิดว่าหลงทางหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องการปฏิเสธวัดด้วย อย่างจุฬาฯ ก็ทำหอประชุมเป็นคล้าย ๆ วัด เพราะว่า ร.๖ ท่านเลิกสร้างวัด ท่านก็ไปสร้างมหาวิทยาลัย แต่ว่าท่านเอาแต่สถาปัตยกรรมไปท่านไม่ได้เอาจิตวิญญาณไป ใช่ไหม และห้องประชุมของท่านก็ไม่ใช่สถานที่จะบ่มเพาะเรื่องศีลธรรม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมหาวิทยาลัยในต่างประเทศนี่ ถ้าเราไปสังเกตเห็นนะ ล่าสุดนี่ผมไป San Francisco ไปเยี่ยมที่ Stanford ซึ่งถือว่าเป็น Top Ten ไปแล้วจะเห็นเลยนะครับ คนสร้างมหาวิทยาลัยนี่เป็นชาวนานะ แต่สิ่งที่เขาสร้างใหญ่โตมาก เป็นสถาปัตยกรรมที่สวยมาก ที่สำคัญก็คือ เขาเริ่มด้วย Church ก่อน และก็ Church นี่ใช้จริง ๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อการฝึกอบรมเด็กจริง ๆ

ผมยังมองว่าเราก้าวมาผิด เราสร้างมหาวิทยาลัยสร้างสถาบันการศึกษานี่เราปฏิเสธเรื่องจิตวิญญาณหมด ไม่ว่ามหาวิทยาลัยไหน เห็นมีมหาวิทยาลัยไหนบ้างที่สร้างวัด? ครั้งหลังสุดที่ผมไปที่ศรีปทุม ผมไปพูดประเด็นนี้ให้ท่านที่ปรึกษาอธิการบดีท่านพลเอกเสรี พุกกะมาน ท่านเป็นสามีของอธิการบดี พอผมพูดแล้วก็มีการเสวนากัน วันหลังเจอกันนี่ผมยังดีใจ(ถ้าท่านทำจริง)ท่านบอกว่า “ที่ท่านเจ้าคุณพูดนะเรื่องสร้างโบสถ์นี่ (โบสถ์หมายถึงว่าโบสถ์พุทธใหญ่ ๆ ให้เป็นที่ฝึกอบรมจริง) ท่านอธิการบดีเห็นด้วยแล้ว สั่งให้ศิลปากรมาออกแบบสร้างโบสถ์ในมหาวิทยาลัยศรีปทุม” นี่ผมว่าจุดอย่างนี้นักการศึกษาเมืองไทยเรามองข้ามมาตลอด

เสขิยธรรม : ท่านเจ้าคุณอาจารย์เห็นว่า โครงสร้างของมหาวิทยาลัยสงฆ์ในปัจจุบันไม่สามารถที่จะกลับไปสู่การฝึกตนในระบบ ศีล สมาธิ ปัญญาหรือครับ

พระศรีปริยัติโมลี : ของเรานี่อุดมการณ์กับความเป็นจริงนี่มันอาจจะไกลกัน ก็คงเหมือน ๆ กับพระที่บวช แล้วก็บอกว่า เอ๊ะ! อุดมการณ์เราต้องบวชเพื่อพ้นทุกข์ เพื่อสลัดไปจากทุกข์ “สัพพทุกขนิสสรณะ นิพพานะ” ปรากฏว่าสังคมมันยาน มันหย่อนยานหมด ระบบอุปัชฌาย์อาจารย์ ระบบถือนิสัยก็หย่อนยานหมด ในวัดเรานี่ก็ไม่เป็นจริงเราบวชตามประเพณีบ้างอะไรบ้าง ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็มีลักษณะอย่างนี้ เขาจะผลิตพุทธศาสตร์บัณฑิต ศาสนบัณฑิตให้มีความรู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนใฝ่สร้างสรรค์ มีอุดมการณ์นี่ รู้โลกรู้ธรรมอะไร เขาพูดอย่างนี้นะ (หัวเราะเบา ๆ) พูดอยู่ตรงนี้

ของเรานี่อุดมการณ์กับความเป็นจริงนี่มันอาจจะไกลกัน
ก็คงเหมือน ๆ กับพระที่บวช แล้วก็บอกว่า เอ๊ะ! อุดมการณ์เราต้องบวชเพื่อพ้นทุกข์
เพื่อสลัดไปจากทุกข์ “สัพพทุกขนิสสรณะ นิพพานะ”
ปรากฏว่าสังคมมันยาน มันหย่อนยานหมด
ระบบอุปัชฌย์าอาจารย์ ระบบถือนิสัยก็หย่อนยานหมด
ในวัดเรานี่ก็ไม่เป็นจริงเราบวชตามประเพณีบ้างอะไรบ้าง
ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็มีลักษณะอย่างนี้

แต่วิธีการ จะเข้าไปสู่ตรงนี้นี่ผมว่ามันมีเงื่อนไขเยอะ นอกจาก ที่พูดว่าท่านไม่ได้ตั้งใจมาเรียนเพื่อรู้พระศาสนาจริง ๆ เพื่อฝึกฝนเองจริง ๆ ท่านมาเรียนเพราะว่าอยากจะไปเรียนในมหาวิทยาลัยโลกแต่ว่าไม่มีโอกาสไป ท่านด้อยโอกาส นี่ส่วนหนึ่ง

และตัวมหาวิทยาลัยเองก็มีปัญหาเรื่องการบริหารการจัดการ, การที่พระต้องนั่งรถมาในที่ไกล ๆ กว่าจะมาถึงก็เลยเวลาเข้าไปแล้ว, เข้ามาก็จะต้องเร่งรีบบรรยายกันเพราะมันมีหลักสูตรบังคับอยู่ว่าจะต้องบรรยายอย่างนี้ ๆ แล้วก็ต่อไปจะต้องมีประเมินผลมีสอบ มันก็จะไปเน้นหนักเรื่องหัวสมองเรื่องความจำ ถูกบังคับด้วยหลักสูตร ด้วยกระบวนการการประเมินผลอะไรต่าง ๆ มาเจอกันแป๊บหนึ่งก็ยังไม่ทันได้พูด ยังไม่ได้ถ่ายทอดอะไรเท่าไหร่เลย มิหนำซ้ำยังถูกบังคับด้วยคุณภาพความพร้อมของนักเรียนซึ่งมาด้วยความหลากหลาย ทั้งสามเณรเล็ก ๆ ก็มี หลวงพ่ออายุ ๗๐ ก็มีมาเรียน ความแตกต่างทางวัยก็ดี ถูกบังคับหรือถูกจำกัดด้วยครูบาอาจารย์ก็ดี

ครูบาอาจารย์ที่มาพูดมาถ่ายทอดนี่มีทิศทางหรืออุดมการณ์ไหม เพราะว่ามีทั้งพระทั้งโยม บางที ฆราวาสจะพูดแต่เรื่องแบบฆราวาสไป ฆราวาสก็จิตใจเป็นฆราวาสไป ลักษณะนี้ ต้องพูดว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นข้อจำกัดที่ยากจะปรับเปลี่ยนเหมือนกัน เพราะว่าส่วนหนึ่งมันเป็นระบบราชการ ถึงแม้มันจะไม่เป็นราชการทั้งหมดก็จริง แต่ว่ามันมี พ.ร.บ. มีระบบการบริหารที่เป็นราชการ อย่างเราพูดอาจใส่ความเขามากไปก็ได้ (หัวเราะเบา ๆ) หลายเรื่องที่เข้าสู่ระบบราชการ แล้วมันเละหมด

ผมเคยพูดประเด็นนี้กับทางฝ่าย พศล.(องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก) เขาบอกว่ามหาวิทยาลัยพุทธโลกที่เขาตั้งเมื่อปีนี้ และตอนนี้ก็ยังไม่ค่อยเข้มแข็ง..อย่าหวังได้เงินนะ! อย่าหวังได้เงิน! อย่าไปเรียกร้องขอให้มี พ.ร.บ. รับรอง ถ้าไม่เช่นนั้นจะถูกคุม ข้อสำคัญก็คือต้องหาคนมาทำงานให้ได้ ออก Project ออกโครงการ ออกเรื่องหลักสูตรที่จะพัฒนา เรื่องจะวิจัยอะไรกันก็ว่าไป จะต้องทำโดยฐานของพระพุทธศาสนาโดยปัญญาของพุทธ โดยให้ประชาชนสนับสนุน คือ ถ้าเราทำงานเป็นประโยชน์จริง ๆ นี่ คิดว่าเงินมันเข้ามาได้ แต่อย่าไปหวังอยากได้เงินเยอะ เพราะว่าได้เงินมามากก็มีปัญหาอย่างที่หลายแห่งเป็น ๆ กันอยู่

เสขิยธรรม : ทางเลือกของการศึกษาคณะสงฆ์น่าจะมีรูปแบบและแนวทางอย่างไร

พระศรีปริยัติโมลี : คณะสงฆ์ต้องปรับใหม่ ทั้งระบบบาลี–นักธรรม ผมรู้ว่ามันแข็งในแง่ที่มีความรู้ในเรื่องภาษา ความรู้เรื่องไวยากรณ์ รู้ภาษา เป็นการเรียนแบบเป็นภาษาศาสตร์ เป็นภาษา ๆ หนึ่ง..อะไรอย่างนี้ แต่ไม่ค่อยได้สังเคราะห์ความรู้ในแง่เป็นองค์รวมของความรู้ที่เชื่อมต่อกัน อะไรทำนองนี้ผมว่ามันยังไม่มี และก็ไม่มีเวลาพอที่จะไปแนะนำ ไปบอก หรือเมื่อสังเคราะห์องค์ความรู้ไม่ได้เพราะว่าการสังเคราะห์องค์ความรู้มันยังเป็นประเด็นรองลงไป สิ่งที่มันละเอียดไปกว่าสังเคราะห์องค์ความรู้ ก็คือ อุดมคติ อุดมการณ์ หรือ การสร้างศาสนทายาท สร้างอุดมคติเพื่อที่จะสืบทอดพระศาสนา

เพราะฉะนั้นอาจจะพูดได้ว่า ระบบบาลีนักธรรมไม่มีเวลาที่จะพูดกันในเรื่องนี้ เพราะการจัดระบบการศึกษานี้ไม่ได้มีการจัดฝึกอบรมครู ไม่มีการพัฒนาหลักสูตร–พัฒนาครู ไม่ได้สัมมนากันว่าเป้าหมายการศึกษาจัดขึ้นเพื่ออะไร ท่านก็จะมองว่าให้แปลได้ ตอบได้ จากนั้นก็เลื่อนชั้นขึ้นไป พระทั้งหลายก็จะรู้ จะจำได้แปลได้ แต่จะไม่แม่นในเรื่องการตอบ เรื่องการสังเคราะห์องค์ความรู้ และเรื่องที่จะศึกษาเพื่อรู้ เรียนเพื่อความรู้ เรียนเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนานี่ ถือว่าเบาบางมาก ดังนั้นในส่วนบาลีนักธรรมก็คงจะต้องปรับ

ดังนั้น ทางออกนี่เป็นการศึกษาทางเลือก ผมว่าต้องมาคิดกัน แน่นอน.. เรื่องของบาลีต้องมีเรียน แต่มันน่าจะไม่ต้องเรียนให้ยากอย่างนี้ นอกจากว่ามีบางรูปบางองค์ที่ท่านรักจริง ๆ จะส่งเสริมให้เรียนเป็น Scholar ไปเลย ไปเรียนให้เป็นพระไตรปิฎกเคลื่อนที่ไปเลย อาจจะมีบางส่วนแล้วในส่วนของมหาวิทยาลัยสงฆ์ ก็มีประโยชน์ในบางเรื่อง ผมว่าน่าจะต้องคัดวิชาบางวิชามา แต่วันนั้นคุยกันครั้งหนึ่งแล้วว่า ไม่ใช่มาแล้วบรรยายนะ เพราะว่าเรื่องการบรรยายถ่ายทอดความจำนี้ มันน่าจะลดลงไป หรือว่าน่าจะไม่ใช่จุดเน้นอีกแล้ว เพราะมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะเป็นเรื่องของบรรยายอยู่แล้ว มันน่าจะเป็นเรื่องของการฝึกฝนตัวเองให้เป็นที่ปรึกษา เป็นแหล่งข้อมูล ฝึกฝน และก็มีเวลาไตร่ตรอง มีเวลาชี้แนะ มีเวลาที่จะป้อน หรือมีเวลาที่จะอยู่ด้วยกันในระบบอุปัชฌาย์อาจารย์ที่พึ่งพิงกัน ระบบกัลยาณมิตรที่เป็นที่ปรึกษากันได้ เป็นที่พึ่งพิงกันได้ เหมือนพ่อเหมือนลูกที่อยู่ด้วยกัน และเหมือนเพื่อนที่อยู่ด้วยกัน ผมว่าปรับลงมาได้ เพื่อความคล่องตัว หรือเพื่อให้การดำเนินการนี้มันคล่องไป

ทั้งนี้ ในความเห็นของผมขณะนี้..เราคงไม่จะปฏิเสธเรื่องการให้ Degree ให้อะไร เพื่อเป็นความหวัง แต่เราจะไม่เน้นตรงนี้ เราถือว่านี่เป็นผลพลอยได้ สิ่งที่เราต้องเน้นและปลูกฝัง คือปลูกฝังอุดมการณ์และความรู้สึกนึกคิดของพระของเณรที่อยู่ด้วยกันนี่ ต้องมุ่งเพื่อพัฒนาตัวเองเพื่อรับใช้พระศาสนาให้มีความมั่นใจ

ผมมองอย่างนี้ว่าระบบการศึกษาที่เราเน้นปริญญานี่เรามักจะเน้นว่าเรียนไปเพื่อมีอาชีพ อย่างน้อยเรียนไปเพื่อมีงานทำ เรียนไปเพื่อเป็นเจ้าคนนายคน (หัวเราะเบา ๆ)

เราพูดตลอดเวลาว่าการศึกษาคือ คนต้องมีงานทำ นั่นก็คือหมายถึงอาชีพ ฉะนั้นระบบการศึกษาของเรานี่ ถ้าพูดถึงอาชีพนี่ เรายังไม่ได้ถามเลยอาชีพนี่มันเป็นมิจฉาชีพหรือสัมมาชีพ ผมเองยังไม่เคยพูดในนี้ใช่ไหม มิจฉาชีพหรือสัมมาชีพเรายังไม่เคยพูด เพราะฉะนั้นเราจึงมีพวกไปขายยาบ้ายาม้า พวกที่ทุจริตคิดไม่ดีเยอะแยะเลย พวกเขาก็มีอาชีพเหมือนกัน ถ้าหากอาชีพนั้นเป็นสัมมาชีพก็ยังไม่พออยู่ดี เพราะถ้าระบบการศึกษาของเรานี่ มรรคมีองค์ ๘ นี่มันต้องไปทั้ง ๘ องค์ มันต้องไปทั้ง ๘ องค์

การศึกษามันก็ต้องไปให้ครบ ไม่ใช่ไปเน้นอาชีพอย่างเดียว เตรียมความพร้อมหรือฝึกให้พร้อม ผมมองแล้วมันอาจจะอุดมคติ ผมมองว่าถ้าฝึกตรงนี้แล้วผู้มีการศึกษาจะมีความมั่นใจที่จะดำรงชีวิตโดยไม่ต้องไป เรียนไปเพื่อหางาน แต่เรียนไปแล้วงานจะมาหาเรา หรืออยู่ที่ไหนเราก็สร้างงานได้ทำนองนี้ สมมุติว่าพระท่านอยู่ไป อยู่ไปแล้วฝึกมานี้ อาจจะมีบางรูปบางองค์ที่หลุดไป แต่เราก็ถือว่าท่านเหล่านั้นยังมีความรู้ความสามารถที่จะช่วยงานพระศาสนาได้ และขณะเดียวกันถ้าเราสร้าง Self–confident ตรงนี้ได้นี่ ผมว่านั่นเป็นความสำเร็จ เป็นความสำเร็จที่ไม่ต้องหางานทำแต่งานมาหาเรา ผมว่าเราคงจะพูดตรงนี้และทำตรงนี้ให้มันหนักแน่นให้มันเป็นรูปธรรม

เสขิยธรรม : ภายใต้โครงสร้างคณะสงฆ์ปัจุบันเราจะทำให้เกิดบรรยากาศที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ เช่น ความเป็นกัลยาณมิตร ความร่มรื่นของอาราม ความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับพุทธบริษัท ตลอดจนความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับชุมชนขึ้นมาได้อย่างไร

พระศรีปริยัติโมลี : ผมว่าตอนนี้มันเป็นจุดที่เพิ่งคิดกัน เคยคุยกันมารอบหนึ่งแล้วแต่ยังไม่ละเอียดเท่าไหร่ ในความคิดของผมเห็นว่าการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ.สงฆ์ ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญอันหนึ่งที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลง นั่นหมายความว่าการศึกษาอย่างนี้นี่ถ้าเราได้รับการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา เราคิดใหม่ขึ้นมา มันต้องเป็นระบบการศึกษาที่สงฆ์ยอมรับ ว่าเป็นการเตรียมบุคลากร เพื่อคณะสงฆ์ นั่นหมายถึงว่าจะต้องเป็นพระผู้นำเป็นเสนาธิการเลย

ฉะนั้น ตรงนี้นี่คณะสงฆ์เองก็จะต้องเข้ามาดูแล ต้องมาอนุมัติ ต้องเห็นดีเห็นชอบด้วย หมายถึงว่าเมื่อเราทำได้อย่างนี้นี่ พระเหล่านี้ที่เราฝึกออกไปจะต้องเข้าไปบริหาร ไปสืบทอดพระพุทธศาสนาก็ไปบริหารงานพระสงฆ์ เพราะฉะนั้นตรงนี้นี่ผมว่าต้องเป็นโครงการคณะสงฆ์ต้องรับและก็ต้องทุ่มเทมา เพราะว่ามันเป็นความอยู่รอดของพระศาสนา แล้วผมยังมองว่ามันไม่ใช่แค่พระศาสนาเท่านั้น มันน่าจะเป็นยุทธศาสตร์ที่จะทำให้ประเทศเราเข้มแข็ง ถ้าเรามีพระที่มีความพร้อมอย่างนี้ รู้เข้าใจอย่างนี้และมีอุดมคติที่จะอุทิศตนเพื่อพระศาสนาเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง

ทีนี้ปัญหา เอาล่ะคณะสงฆ์รับไม่รับก็คงมีความยากอยู่อันหนึ่งเหมือนกันนะครับ ถ้า พ.ร.บ. สงฆ์มามีพระรุ่นหนุ่มมาบริหารก็น่าจะง่ายขึ้น คิดว่าน่าจะคุยกันง่ายขึ้น

ประเด็นต่อมาก็คือ เรื่องของสถานที่ และครูบาอาจารย์ มีความสำคัญ มีความจำเป็น สถานที่เนี่ยมันก็คงจะต้องเป็นป่าเป็นเขาที่อยู่กันเป็นชุมชน และที่สำคัญก็คือกัลยาณมิตรครูบาอาจารย์ ผมเองก็เคยคุยกันมาว่าสำคัญมาก เพราะคนที่จะไปฝึกเขาเนี่ยมันจะต้องฝึกตัวเองให้ได้ให้เป็นตัวอย่างได้ก่อน และก็เมื่อเราทำฝึกตัวเองได้เราทำเป็นตัวอย่างได้จะง่ายต่อการดำเนินการศึกษาส่วนหนึ่ง ตัวอย่างท่านหลวงพ่อพุทธทาสท่านทำนี่ท่านก็ต้องมีอุปการคุณมากแต่ดูเหมือน ในความเห็นของผมว่า เพราะความเป็นการศึกษาทางเลือกของท่าน หรือการให้เสรีภาพในการแสวงหาด้วยตัวเองอย่างมาก นี่ดูเหมือนว่าขบวนการมันไม่ค่อยต่อเนื่อง หรือว่าเราไม่ค่อยได้ศิษย์ที่เรียกว่าเป็นกลุ่มเป็นก้อนและซึ่งมีปริมาณที่จะพอนับได้ว่ามีจำนวนเท่านี้เท่านี้ ที่จะอยู่สืบทอดพระศาสนา ทั้งนี้ก็เพราะว่าท่านให้ทุกคนพยายามจะพัฒนาตัวเองและฝึกตนเองขึ้นมา เพราะอาจมีความพร้อมโดยพื้นฐานก็ต่างกัน การฝึกฝนอบรมก็ต่างกัน และท่านก็ไม่ได้ตั้งกรอบไว้ ว่าเมื่ออยู่สวนโมกข์แล้วต้องอ่านหนังสือเล่มนี้นะ ต้องฝึกอย่างนี้นะ ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการโตเองด้วยเช่นกัน

ถ้าเรามีมหาวิทยาลัย มีสถาบันทางเลือก ผมยังมองว่า น่าจะได้กลุ่มพระที่จบมาเป็นกลุ่มก้อน มีปริมาณที่เห็นได้และก็มีคุณภาพที่ไกล้เคียงกัน และก็จะมีการสืบทอด อันนี้ก็จะเป็นจุดหนึ่งที่ผมมองว่ามันไม่ใช่ยุคเราหรือว่าเราต้องทำคนเดียว แต่ว่ามันจะต้องมีการสืบทอดคนที่คิดอย่างเราต่อไป ยุคเราคิดได้อย่างนี้แล้วอีกยุครองลงไปน้องเราจะคิดได้อย่างนี้ น้องต่อไปก็คิดอย่างมีระบบ สืบทอดทำต่อไป โดยการสนับสนุนขององค์กรสงฆ์ โดยรัฐบาลหรืออะไรก็ตาม ที่มันน่าจะไม่เป็นเรื่องเดือดร้อนนักในเรื่องที่จะต้องหาทุนหารอน หรืออะไรก็ตาม ให้ได้เห็นความร่วมมือกัน หรือรัฐบาลน่าจะลงไปหนุนเต็มที่

อย่างพม่าเขามีมหาวิทยาลัย รัฐบาลเขาสนับสนุนเต็มที่ รัฐบาลให้ข้าวให้น้ำ..ให้ทุกอย่าง รัฐบาลให้เต็มที่เลยเพราะรัฐบาลก็คงเห็นเพราะว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์ของพม่านี่เขาเรียนจริง ๆ อาจจะไปเน้นหนักในเรื่องคัมภีร์เรื่องอะไรก็ตามแต่เป็นการเรียนเพื่อรักษาพระศาสนาจริง ๆ

เพราะฉะนั้นถ้าเรามีมหาวิทยาลัยทางเลือกอย่างนี้
ถ้าเป็นการรักษาพระศาสนาจริง ๆ
เป็นการฝึกคนให้มีอุดมการณ์อุดมคติจริง ๆ
เป็นประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติจริง ๆ
ผมว่ามันน่าจะไม่ลำบากเรื่องการหาแหล่งสนับสนุน หรืองบจากรัฐบาลช่วยหนุน
ส่วนชาวบ้านนั้นถ้าหากเราฝึกพระเราให้เป็นพระที่แท้จริง
ผมยังมองว่าพระที่แท้จริง พระที่เราอยากเห็นอย่างนี้นี่ จะต้องเป็นพระที่ติดดิน
พระต้องติดดินต้องรับใช้ชาวบ้านได้อยู่กับคนยากคนจนได้
เราไม่ได้ฝึกพระเพื่อให้ขึ้นหอคอย
ผมมองว่านั่นไม่ใช่วิถีทางของพุทธ

เพราะฉะนั้นถ้าเรามีมหาวิทยาลัยทางเลือกอย่างนี้ ถ้าเป็นการรักษาพระศาสนาจริง ๆ เป็นการฝึกคนให้มีอุดมการณ์อุดมคติจริง ๆ เป็นประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติจริง ๆ ผมว่ามันน่าจะไม่ลำบากเรื่องการหาแหล่งสนับสนุน หรืองบจากรัฐบาลช่วยหนุน ส่วนชาวบ้านนั้นถ้าหากเราฝึกพระเราให้เป็นพระที่แท้จริง ผมยังมองว่าพระที่แท้จริง พระที่เราอยากเห็นอย่างนี้นี่ จะต้องเป็นพระที่ติดดิน พระต้องติดดินต้องรับใช้ชาวบ้านได้อยู่กับคนยากคนจนได้ เราไม่ได้ฝึกพระเพื่อให้ขึ้นหอคอย ผมมองว่านั่นไม่ใช่วิถีทางของพุทธ ดังนั้น ถ้าหากเราเน้นหนักมาตรงนี้นี่ผมว่าการสัมพันธ์กับชาวบ้านไม่น่าจะมีปัญหา เราพร้อมที่จะส่งท่านและท่านก็พร้อมที่จะทำงานกับใครก็ได้ ชุมชนใหนก็ได้ จะทุกข์จะยากจะจนอย่างไรก็อยู่ได้

ยังมองกันว่านอกจากจะเป็นพระผู้นำแล้ว ก็จะเป็นการผลิตพระธรรมทูต ซึ่งเรายังอ่อนแอมากนะ บนเขาเราก็ไม่ค่อยสู้ใช่ไหม ที่ยากจนเป็นสลัมก็ไม่ค่อยสู้ ไปต่างประเทศก็มักจะไปที่สบายสบาย ทั้งนี้เราก็ไม่โทษท่านทั้งหมด เพราะว่าเรายังไม่มีโครงสร้างแบบครบวงจรที่จะฝึกให้ท่านมีความมั่นใจสูงสุด หรือมีการรับผิดชอบเรื่องค่าเดินทาง, เรื่องสวัสดิการ, เรื่องสุขภาพพลานามัยของท่าน รวมทั้งยอมรับท่านด้วย ว่าท่านไปทำงานให้คณะสงฆ์ ตอนนี้พระธรรมทูตนี่คณะสงฆ์รู้สึกจะไม่รับ ว่าท่านไปทำงานให้คณะสงฆ์ แล้วก็ยังไม่มีส่วนไหนเลยที่ Support ท่านจริงจัง บางทีก็ไปตาย..ก็ตายฟรี ๆ เคยมีโยมแม่พระต้องมาร้องไห้กับผม “เอ..ทำไมลูกดิฉันนี่ ทั้งที่ในครอบครัวมีการศึกษาอยู่คนเดียว หวังจะพึ่ง นี่เอานาไปจำนำได้เงินมาให้ลูกสามหมื่นให้ลูกไปอเมริกา ตอนนี้นี่พ่อก็ไม่สบาย นาก็แล้งทำไม่ได้ ลูกก็มาตายอีก อย่างนี้แล้วดิฉันจะไปพึ่งใคร ถ้าลูกคนอื่นเขานี่ถ้าเขาไปทหาร ไปกองทัพ ไปรบไปอะไรนี่ ตายเขามีธงชาติคลุม คลุมร่างกลับมา มีเงินบำนาญ มีเงินปลอบใจ ลูกดิฉันไปธรรมทูตไปตายฟรี ไม่รู้ว่าตายเองหรือว่าใครฆ่าตาย”

นี่คือความว้าเหว่ ความว้าเหว่ที่เรายังไม่เป็นระบบ เราคิดตรงนี้เราคิดเผื่อไปตรงนั้นด้วย ท่านจะต้องไปทำงานให้กับคณะสงฆ์ เป็นงานคณะสงฆ์ คณะสงฆ์ต้องยอมรับว่าเป็นงานของท่าน จะให้กำลังใจอย่างไร จะมีระบบอย่างไร จะยกย่องก็ยกย่องไป ไม่ใช่ไปโยนภาระให้วัดให้ต้นสังกัด แต่ว่านี่คิดเผื่อไปตรงโน้นด้วย ถึงพระธรรมทูตทั้งในทั้งต่างประเทศด้วย

พวกนี้ก็ส่วนหนึ่ง เมื่อมีประสบการณ์แล้วก็จะกลับมาเป็นมันสมองหรือเป็นฝ่ายเสธ.เป็นอะไร มันน่าจะต้องมีหลายส่วน บางท่านอาจจะไม่ต้องปรากฏตัวหรือออกหน้า ไม่ต้องไปแสดงเป็นนักเทศน์ อาจจะเป็นพวกฝ่ายลึก ๆ อาจจะเป็นพวกฝ่ายข่าว ฝ่ายวิจัย ฝ่ายวางแผน แต่เราจะต้องได้คนที่ถึงระดับจริง ๆ จึงจะเป็นที่ไว้ใจ

นี่ก็คิดกัน แล้วก็ขายความคิดไปก่อน ว่าเราจะมองแต่ชีวิตของอาจารย์พุทธทาส มองแต่ชีวิตของท่านเจ้าคุณประยุทธ์เจ้าคุณธรรมปิฎกในยุคนี้ไม่ได้ เราต้องเริ่มคิดเริ่มทำเพื่อยุคหลังด้วย คิดเผื่อเขา.. ถ้าเราไม่คิดไม่ทำนี่เราจะให้ใครมาคิดมาทำอีก มันอาจจะช้าไป ส่วนทำแล้วได้แค่ใหนอย่างไรนี่เราต้องมาร่วมกันสืบทอด และรุ่นน้องมาก็ว่ากันไป พูดไปแล้วก็คิดเผื่อนะครับ เผื่อว่าถ้าเรามีการปรับปรุง พ.ร.บ. สงฆ์จริง ๆ มันยังมีหลายเรื่องหลายราวที่ต้องทำตรงนี้ น่าจะเป็นหัวใจที่เราจะมีพระในอุดมคติ

เราก็เห็นแล้วว่าท่านอาจารย์พุทธทาสรูปเดียว
ก็ทำให้สังฆมณฑลสั่นสะเทือนได้ไช่ไหม(หัวเราะ)
เมื่อท่านพูดท่านทำ หรือแสดงทัศนะอะไรออกมา
นี่ถ้าเรามีพระอย่างนี้เป็นสิบเป็นร้อย
สถานการณ์พระพุทธศาสนานี่จะดีขึ้นเพียงใด จะแข็งแรงขึ้นเพียงใด

เราก็เห็นแล้วว่า ท่านอาจารย์พุทธทาสรูปเดียว ก็ทำให้สังฆมณฑลสั่นสะเทือนได้ไช่ไหม (หัวเราะ) เมื่อท่านพูดท่านทำ หรือแสดงทัศนะอะไรออกมา นี่ถ้าเรามีพระอย่างนี้เป็นสิบเป็นร้อย สถานการณ์พระพุทธศาสนานี่จะดีขึ้นเพียงใด จะแข็งแรงขึ้นเพียงใด ผมว่าทางฝ่ายเราต้องช่วยกันคิด นอกจากผมที่อยู่มหาจุฬาฯ อยู่สองสามรูปแล้วก็อาจจะต้องระดมความคิดกันกับเสขิยธรรมบ้างว่าเราจะดำเนินการอย่างไร

เสขิยธรรม : หากระบบการศึกษาที่เหมาะสมยังไม่เกิดขึ้น ภายใต้ระบบของคณะสงฆ์และสถานการณ์ทางสังคมเช่นปัจจุบัน พระมหาเงื่อม (พุทธทาสภิกขุ–พระธรรมโกศาจารย์) หรือพระมหาประยุทธ์ (พระธรรมปิฎก) รูปที่สอง ที่สาม ที่สี่ จะมีโอกาสเกิดขึ้นมาได้หรือเปล่า เพราะในยุคของท่านทั้งสองต่างก็มีพัฒนาการมาจากโครงสร้างเดิม

พระศรีปริยัติโมลี : ก็ยังไม่เห็น.. ก็..ค่อนข้างจะมืดมนนะ เพราะอย่างเรา ๆ พูดปัญหาพระศาสนานี่ หลายเรื่อง หลายเรื่องเลยเป็นความห่วงใยพระศาสนา ห่วงใยคณะสงฆ์ นี่ถ้ามีรุ่นรองรองไปจะเกิด มันก็น่าจะโผล่ต้องแพลมออกมาบ้างแล้ว(หัวเราะ) นี่มันยังไม่โผล่ไม่แพลมออกมาเลย..ใช่ไหม? ส่วนมากถ้าจะไป ก็เข้าระบบกระแสหลักไปเลย คือ..ถามว่ามีโอกาสจะเกิดไหม มันก็คงจะมีแต่ว่าจะมีคุณภาพ มีผลกระทบขนาดท่านหลวงพ่อพุทธทาสไหม ขนาดพระธรรมปิฎกไหม นี่พยากรณ์ไม่ได้ เพราะตอนนี้ยังไม่เห็น

แต่ผมก็ยังมอง..อาจจะมองโลกในแง่ร้าย วันนี้ (๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๕ –บก.) ก็พูดที่วัดสวนแก้ว ว่าสถาบันสงฆ์ต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขโดยเร็ว แล้วพระศาสนาจะไปอย่างไรนี่ต้องคิดกัน เรียกว่าเป็นวาระแห่งชาติ ผมก็พูดท้าทายว่าพระศาสนาเป็นหัวใจ เป็นจิตวิญญาณของชาติ แต่ยังไม่มีผู้นำประเทศคนไหนออกมาพูดเลย วิกฤตการณ์ต่าง ๆ นี่มันออกไม่ได้หรอกถ้า เราไม่แก้วิกฤตการณ์ทางจิตวิญญาณก่อน

ดังนั้นในความเห็นของผม ๆ ก็ว่า เราต้องทำเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน อย่างกว้างขวาง และจริงจัง ถ้าหากคณะสงฆ์ไม่เข้มแข็งขึ้นก็หมายถึงพุทธศาสนานี่สับสน แล้วก็อาจจะทรุดเสื่อม จะทรุดเสื่อมลงไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่ได้รับการปรับปรุง ถ้าพระศาสนาทรุดเสื่อมเสียหายไปจนกระทั่งไม่เป็นที่พึ่งของสังคมแล้ว ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องของพระสงฆ์จะแย่ หรือพระสงฆ์จะสิ้นไปเท่านั้น ผมว่าประเทศไทยก็อยู่ไม่ได้ ผมมองอย่างนี้..ว่าประเทศเราก็อยู่ไม่ได้!

ถ้าจะรอให้เกิดท่านพุทธทาสสอง ท่านพุทธทาสสาม
โดยเราไม่สร้างเงื่อนไขเหตุปัจจัยนี่
ผมว่ามันอาจจะไม่ทันการ
มันอาจจะแย่เสียก่อนแล้ว
หรือมันอาจจะล่มสลายไปเสียก่อนแล้ว

หรือถ้าเราทำได้ ในทางกลับกัน ผมยังมองว่านั่นจะเป็นความหวัง ว่าสิ่งที่จะเป็นทางออกของสังคมไทยนี่มันคือทางออกเดียวของสังคมโลกด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเราทำตรงนี้ได้เร็ว ก็จะช่วยสังคมไทยได้ ถ้าจะรอให้เกิดท่านพุทธทาสสอง ท่านพุทธทาสสาม โดยเราไม่สร้างเงื่อนไขเหตุปัจจัยนี่ ผมว่ามันอาจจะไม่ทันการ มันอาจจะแย่เสียก่อนแล้ว หรือมันอาจจะล่มสลายไปเสียก่อนแล้ว.

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๘๘๗๕
... e-mail :