เสขิยธรรม
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับ ๕๑
บทความหลัก

พระไพศาล วิสาโล
ปรับปรุงจากการอภิปรายในหัวข้อเดียวกัน ซึ่งจัดขึ้นในโอกาส ที่พระครูพิพิธประชานาถมีอายุครบ ๗๒ ปี
เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ณ ห้องจุมภฏพันธุ์ทิพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยมีผู้ร่วมอภิปรายคือ พระไพศาล วิสาโล พระสุบิน ปณีโต เสน่ห์ จามริก และ รสนา โตสิตระกูล ดำเนินรายการโดย สุรพล จรรยากูล

สิ่งที่หลวงพ่อนานและพระนักพัฒนาอีกหลายท่านได้ทำก็คือช่วยให้ผู้คน
เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างโลกกับธรรม พุทธศาสนาตามที่เราเข้าใจ
โดยเฉพาะในช่วงหลัง ๆ มานี้ คือนับตั้งแต่มีการพัฒนาแบบสมัยใหม่
จะแยกโลกกับธรรมออกจากกัน หมายความว่าวัดกับบ้านแยกกัน
พระกับสังคมแยกกัน พระไปยุ่งกับสังคมไม่ได้ ถ้าไปยุ่งก็จะถูกมองว่า
ไปยุ่งกับเรื่องการเมือง พระไปสอนเด็กเล็กหรือตั้งศูนย์เด็กเล็กก็ถูกหาว่า
มีเบื้องหลังทางการเมือง นี่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับหลวงพ่อคำเขียนที่ชัยภูมิ
การแยกโลกกับธรรมยังหมายความว่า การปฏิบัติธรรมกับการทำมาหากินนั้นเป็นคนละเรื่อง
คุณจะปฏิบัติธรรมก็ปฏิบัติธรรมไป แต่ถ้าคุณจะมาหากินก็ต้องเก็บธรรมะใส่ลิ้นชักก่อน
การทำงานเพื่อสังคมกับการปฏิบัติธรรมก็แยกออกจากกัน หรือแม้กระทั่งการเมืองกับธรรมะก็แยกกัน
โลกกับธรรมแยกกันไปถึงขั้นที่การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องเฉพาะตัวไม่เกี่ยวข้องกับสังคม
นี่ยังเป็นความเข้าใจที่แผ่หลายดาษดื่นมากในสังคมไทย

 

 

าตมารู้จักหลวงพ่อนานหรือพระครูพิพิธประชานาถมากว่า ๒๐ ปีแล้ว โดยการแนะนำของคุณวิศิษฐ์ วังวิญญู ซึ่งตอนนั้นไปเป็นเจ้าหน้าที่สนามให้แก่สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ ในช่วงนั้นคือราว ๆ ปี ๒๕๒๑–๒๕๒๒ หลวงพ่อนานยังไม่เป็นที่รู้จักในแวดวงนักพัฒนา และท่านยังไม่มีงานพัฒนาที่โดดเด่นเท่าไรนัก อย่างไรก็ตามเราต้องตระหนักว่าเมื่อ ๒๐ ปีก่อนนั้นการที่พระจะมาทำงานพัฒนานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อย่าลืมว่าช่วงนั้นไม่มีคำว่า “พระนักพัฒนา” ไม่ต้องพูดถึงคำว่า “พระนักอนุรักษ์” ซึ่งเป็นคำที่มาทีหลัง เวลานั้นไม่มีใครอยากเป็นพระนักพัฒนา แต่หลวงพ่อนานได้ทำงานกับชุมชนมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว

          ที่พูดว่าการทำงานในสภาพบรรยากาศเมื่อ ๒๐ ปีก่อนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ก็เพราะว่าต้องทำอย่างโดดเดี่ยว อีกทั้งยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐมองด้วยความหวาดระแวง เมื่อปี ๒๕๒๓ อาตมาได้ไปเยี่ยมหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ ที่อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ก็พบว่าท่านประสบปัญหาคล้าย ๆ กัน ทั้ง ๆ ที่งานที่ท่านทำไม่ใช่งานพัฒนา แต่เป็นแค่งานสงเคราะห์เด็ก คือจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กในวัด ซึ่งนับเป็นแห่งแรกในจังหวัดชัยภูมิ เพียงเท่านั้นทางเจ้าหน้าที่ก็ระแวงแล้วว่าท่านมีสายสัมพันธ์กับทหารป่าหรือ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ในละแวกนั้นหรือเปล่า เพราะในสมัยนั้นการที่พระจะเอาเด็กมาเลี้ยง หรือทำงานสังคมสงเคราะห์ แม้กระทั้งภายในวัดเอง ก็ถือเป็นเรื่องแปลก โดยเฉพาะในท้องที่ที่ทุรกันดาร ไกลหูไกลตาเจ้าหน้าที่รัฐ แถมเป็นเขตสีชมพูอีกต่างหาก

          ที่ว่าเป็นเรื่องแปลก ไม่ใช่ว่าพระไม่เคยมีบทบาทอย่างนี้มาก่อน แต่ก่อนก็เคยมีแต่ถูกลืมหายไปเพราะการพัฒนาในช่วง ๗๐–๘๐ ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะนับแต่รัชกาลที่ ๖ ซึ่งเริ่มมีการแยกโรงเรียนออกจากวัดเป็นครั้งแรก ทำให้บทบาททางสังคมของพระลดน้อยลง จนเหลือเพียงแค่บทบาททางพิธีกรรมเท่านั้น

          อาตมาอยากจะพูดว่า หลวงพ่อนานและอีกหลายท่านเป็นจุดเริ่มต้นของกระแส ซึ่งภายหลังเป็นที่ยอมรับกันในสังคม นั่นคือกระแสพระนักพัฒนา กระแสพระนักพัฒนานี้ต่อมาก็แตกแขนงออกไปสู่กิจกรรมด้านอื่น ๆ อีกมากมาย เช่นการอนุรักษ์ป่า การช่วยผู้ป่วยเอดส์ การทำสัจจะออมทรัพย์ การทำเกษตรผสมผสาน การส่งเสริมธุรกิจชุมชน เป็นต้น (อันที่จริงคำว่าพระนักพัฒนา เป็นคำที่ไม่ค่อยถูกต้องเท่าใดนัก เพราะชวนให้เข้าใจไปว่าท่านมีบทบาทเฉพาะงานพัฒนาอย่างเดียวเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ท่านทำงานอย่างอื่นด้วย เช่น การอบรมชาวบ้าน การสอนกรรมฐาน)

          กระแสใหญ่โตเวลานี้เริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ไม่กี่จุด ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ตามป่าเขาและชนบท ปรากฏการณ์ดังกล่าวให้บทเรียนสำคัญแก่เราว่า พระธรรมดา ๆ หรือพระหลวงตา ซึ่งทำงานในชุมชนของตัวอย่างค่อนข้างโดดเดี่ยวและดูเหมือนไม่มีความสำคัญเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว ท่านอาจสิ้นหวังในบางครั้ง และถูกรังแกหลายอย่าง แต่การที่ท่านเหล่านั้นได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายและติดต่อสัมพันธ์กันเรื่อยมาก็สามารถก่อผลกระทบต่อสังคมจนเป็นที่ยอมรับ ทั้งในระดับของรัฐและของคณะสงฆ์เอง จนแม้เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ฝ่ายรัฐเองก็ต้องขอให้พระมาช่วย ป่าถูกทำลายก็ขอให้พระมาช่วย คนติดยากันมากมายก็ขอให้พระมาช่วย เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้วไม่ใช่อย่างนั้นเลย

 

 

าตมาอยากจะเกริ่นนำก่อนว่าหลวงพ่อนานเป็นต้นธารร่วมกับพระหลาย ๆ รูป ซึ่งเป็นพระเล็กพระน้อยที่ได้ทำให้เกิดกระแสใหม่ ไม่ใช่กระแสของพระนักพัฒนาเท่านั้น หากยังรวมถึงกระแสการสร้างบทบาทใหม่ให้แก่พระและการนำศาสนามาประยุกต์ใช้ในสังคม

          อาตมาจะขอพูดอีกสัก ๒–๓ ประการเกี่ยวกับคุณูปการของหลวงพ่อนานที่ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน และก็จะโยงไปถึงอนาคต

          นอกเหนือจากการเป็นต้นกระแสพระนักพัฒนาดังได้กล่าวแล้ว คุณูปการสำคัญประการต่อมาคือ ท่านได้ปรับเปลี่ยนบทบาทของพระและวัดในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน การที่วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนนั้นแม้จะมีข้อดีหลายอย่าง แต่จุดอ่อนอย่างสำคัญซึ่งเป็นปัญหาในเวลาต่อมาคือทำให้พระเป็นฝ่ายตั้งรับ หรือเป็นฝ่ายที่รอคนเข้าวัด สมัยก่อนวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน โรงเรียนก็ตั้งที่วัด การศึกษาก็จัดที่วัด การรักษาพยาบาลก็มีที่วัด จะมาประชุมกันก็มาที่วัด ในแง่หนึ่งพระได้กลายเป็นผู้นำของชุมชน แต่ในแง่หนึ่งมันได้สร้างประเพณีให้พระเป็นฝ่ายรอโยมเข้าวัด ตรงนี้เป็นปัญหาเพราะว่าพอสังคมมีการพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ โยมก็ถูกดึงออกจากวัด เพราะว่าโรงเรียนก็อยู่นอกวัด โรงพยาบาลก็อยู่นอกวัด จะประชุมกันก็มีศาลากลางบ้าน ไม่ต้องมาที่วัด การพัฒนาแบบนี้ทำให้คนไม่มีความจำเป็นที่ต้องเข้าวัด แต่พระไม่คุ้นกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่สามารถปรับบทบาทเพื่อรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงนี้ได้ ท่านยังรอให้คนเข้าวัดเพราะยังนึกว่าวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน ปัญหาคือกระแสการพัฒนาทุกวันนี้มีแต่จะดึงคนออกนอกวัด ดึงแม้กระทั่งให้คนออกนอกชุมชน พระจำนวนไม่น้อยไม่สามารถปรับบทบาทให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ได้ ยังเฝ้ารอให้คนเข้าวัด แต่หลวงพ่อนานเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับบทบาทของพระ คือถ้าจะทำให้วัดยังคงเป็นเป็นศูนย์กลางของชุมชนต่อไป จะรอให้คนเข้าวัดเหมือนเก่าไม่ได้ แต่จะต้องเข้าไปหาชาวบ้าน กิจกรรมของท่านหลายอย่างไม่ว่านากระชับมิตร สหบาลข้าว ล้วนแต่เป็นการพาพระออกไปหาชาวบ้าน

          อาตมาอยากกล่าวเพิ่มเติมอีกหน่อยว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ขณะที่คนห่างเหินจากวัดไปเรื่อย ๆ เขาได้เข้าไปรับเอาความเจริญสมัยใหม่และมีความเป็นอยู่สะดวกสบายขึ้น มีการศึกษาดีขึ้น ไม่เฉพาะทางโลกเท่านั้น ในทางธรรม เขาก็มีโอกาสศึกษาได้มากขึ้น โดยไม่ต้องเข้าวัดหรือพึ่งพระ เพราะมีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มากมายที่เปิดสอนวิชาพุทธศาสนา อีกทั้งยังมีหนังสือธรรมะออกมามากมาย สามารถศึกษาด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องพูดถึงอินเตอร์เน็ตและซีดีรอม เดี๋ยวนี้จะเรียนรู้ธรรมะก็ไม่จำเป็นต้องเข้าวัด ขณะที่ฆราวาสรับเอาความเจริญหรือการพัฒนาเข้าไปเต็มที่ ฝ่ายพระแทบไม่ได้เข้าไปรับความเจริญเลย อยู่แต่ในวัด ไม่ยอมเรียนรู้วิชาการทางโลก สมัยก่อนพระท่านเรียนรู้วิชาการทางโลกจนเชี่ยวชาญและสามารถสอนลูกหลานชาวบ้านได้ โดยเฉพาะวัดมหาธาตุฯ สมัยก่อนมีความเชี่ยวชาญในศาสตร์และศิลป์แขนงต่าง ๆ ไม่น้อยไปกว่าในวัง แต่พอถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ วิชาการทางโลกก็ถูกตัดออกไปจากการศึกษาของสงฆ์ แม้แต่ภาษาอังกฤษก็ไม่ให้เรียน เรียนแต่วิชาทางพระล้วน ๆ ด้วยความเข้าใจว่าคนที่มาบวชพระนั้นจะครองผ้าเหลืองไปตลอดชีวิต การศึกษาที่คับแคบแบบนี้ทำให้พระไม่รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่รู้แม้กระทั่งความเปลี่ยนแปลงในแวดวงพระพุทธศาสนาทั้งของประเทศและของโลก การเรียนรู้ทางด้านปริยัติธรรมก็เลยย่ำอยู่กับที่ ไม่สัมพันธ์กับสภาพความเป็นจริง พระเณรจึงไม่สามารถเอาความรู้ทางธรรมที่ได้ไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับชีวิตและสังคมสมัยใหม่ได้ ไม่ว่าเพื่อแก้ปัญหาชีวิตของตนเอง (โดยเฉพาะเมื่อสึกไปเป็นฆราวาส) หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น

          ด้วยเหตุนี้จึงมีช่องว่างมากระหว่างพระกับฆราวาส ทั้งในแง่ความคิด ความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมรอบตัว ยังไม่พูดถึงช่องว่างทางภูมิศาสตร์ หมายความว่าฆราวาสก็ไม่เข้าวัด ส่วนพระก็หมกตัวอยู่แต่ในวัดเพราะรอให้คนเข้าวัด เพราะยังคิดว่าเป็นศูนย์กลางชุมชนอยู่ ตรงนี้มันทำให้เกิดปัญหาเพราะว่าในที่สุดจะเกิดความรู้สึกว่าวัดกับบ้านเป็นคนละพวกกัน เวลาเกิดปัญหาจริยธรรมในหมู่เยาวชน พระจำนวนไม่น้อยก็รู้สึกว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัด เพราะถือว่าวัดจะเกี่ยวข้องเฉพาะการศึกษาในวัดหรือการศึกษาสำหรับพระเณรเท่านั้น ไม่สนใจที่จะให้การศึกษาหรือการอบรมสั่งสอนแก่ลูกชาวบ้าน เว้นแต่ลูกชาวบ้านจะเข้าวัดหรือบวชมาเป็นพระเณร แต่ถ้าไม่เข้าวัด พระก็ไม่สนใจแม้ว่าลูกชาวบ้านจะอยู่รอบ ๆ วัด นี่เป็นการแยกระหว่างวัดกับบ้านแทบจะสิ้นเชิง ยกเว้นก็เฉพาะเรื่องพิธีกรรมหรือกิจนิมนต์ เพราะถ้านิมนต์ไปฉัน พระท่านจะยินดีมากเลย อันนี้คือสภาพที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ว่าคุณูประการของหลวงพ่อนานและอีกหลายท่านก็คือเชื่อมวัดกับบ้านเข้าด้วยกัน โดยปรับบทบาทของพระไม่ให้เป็นฝ่ายตั้งรับหรือคอยชาวบ้านเข้าวัดอย่างเดียว ซึ่งจะช่วยให้วัดยังเป็นศูนย์กลางของชุมชนได้ต่อไป

          ที่ว่ามาข้างต้นเป็นคุณูปการเกี่ยวกับพระสงฆ์

          ต่อมาคือคุณูปการต่อพระพุทธศาสนา สิ่งที่หลวงพ่อนานและพระนักพัฒนาอีกหลายท่าน ได้ทำก็คือช่วยให้ผู้คนเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างโลกกับธรรม พุทธศาสนาตามที่เราเข้าใจโดยเฉพาะในช่วงหลัง ๆ มานี้ คือนับตั้งแต่มีการพัฒนาแบบสมัยใหม่ จะแยกโลกกับธรรมออกจากกัน หมายความว่าวัดกับบ้านแยกกัน พระกับสังคมแยกกัน พระไปยุ่งกับสังคมไม่ได้ ถ้าไปยุ่งก็จะถูกมองว่าไปยุ่งกับเรื่องการเมือง พระไปสอนเด็กเล็กหรือตั้งศูนย์เด็กเล็กก็ถูกหาว่ามีเบื้องหลังทางการเมือง นี่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับหลวงพ่อคำเขียนที่ชัยภูมิ การแยกโลกกับธรรมยังหมายความว่า การปฏิบัติธรรมกับการทำมาหากินนั้นเป็นคนละเรื่อง คุณจะปฏิบัติธรรมก็ปฏิบัติธรรมไป แต่ถ้าคุณจะมาหากินก็ต้องเก็บธรรมะใส่ลิ้นชักก่อน การทำงานเพื่อสังคมกับการปฏิบัติธรรมก็แยกออกจากกัน หรือแม้กระทั่งการเมืองกับธรรมะก็แยกกัน โลกกับธรรมแยกกันไปถึงขั้นที่การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องเฉพาะตัวไม่เกี่ยวข้องกับสังคม นี่ยังเป็นความเข้าใจที่แผ่หลายดาษดื่นมากในสังคมไทย แต่สิ่งที่หลวงพ่อนานและพระนักพัฒนารุ่นหลังที่พยายามทำโดยมีฆราวาสอีกหลายคนมาร่วมด้วยก็คือ พยายามเชื่อมโลกกับธรรมให้เข้าหากัน ไม่ใช่วัดกับบ้านมาประสานกันเท่านั้น แต่ยังทำให้เห็นว่าธรรมะกับการทำงานเพื่อสังคมเกี่ยวพันกันด้วย ฉะนั้นการที่พระท่านไปทำงานเพื่อสังคมในแง่หนึ่งคือการปฏิบัติธรรม เป็นการทำเพื่อประโยชน์ตน และประโยชน์ท่าน

          ในแง่หนึ่งการเชื่อมโลกกับธรรมเข้าด้วยกันทำให้พระพุทธศาสนามีมิติทางสังคมขึ้นมา อันนี้ต้องอธิบายหน่อยคือว่าพุทธศาสนาโดยพื้นฐานไม่ใช่คำสอนเพื่อการพ้นทุกข์เฉพาะตัว หากยังสอนให้ช่วยเหลือเกื้อกูลและปรับปรุงสังคมไปพร้อมกันด้วย แต่ว่าในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมามีความเข้าใจในหมู่คนจำนวนมากว่า พุทธศาสนาสอนแต่เรื่องการปฏิบัติธรรมเฉพาะตัวให้พ้นทุกข์ เรามักได้ยินคนพูดเสมอว่าเราทำดีแต่ตัวเองก็พอ อย่าไปสนใจสังคมเลย หรือไม่ก็พูดว่าถ้าทุกคนดีสังคมก็ดีไปด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเราทำตัวให้ดี สังคมก็จะดีไปเอง นี่เป็นสูตรสำเร็จของชาวพุทธที่มักจะพูดกัน ซึ่งเป็นข้ออ้างหรือเหตุผลที่ทำให้ไม่สนใจสังคม

          การที่พูดว่าทุกคนดีสังคมก็ดีไปด้วยนั่น จะว่าไปแล้วก็เหมือนกับพูดว่า ถ้านักฟุตบอลเก่งทั้ง ๑๑ คน ทีมฟุตบอลนั้นก็จะเก่งไปด้วย ซึ่งไม่จริงเสมอไป ทีมฟุตบอลแม้จะมีนักกีฬาเก่งทั้ง ๑๑ คน แต่ว่าถ้าไม่เล่นเป็นทีม หรือนักกีฬาปีนเกลียวกัน ทีมนั้นก็มีโอกาสแพ้อีกทีมซึ่งแม้ไม่มีคนเก่งแต่เล่นเข้าขากัน ความเป็นจริงนั้นไม่ได้เป็นตรรกะที่ง่ายขนาดว่าถ้านักกีฬาทุกคนเก่งทีมนั้นก็เก่งไปด้วย ในทำนองเดียวกันถึงแม้ทุกคนจะเป็นคนดี ก็ใช่ว่าสังคมดีไปด้วย ถึงทุกคนจะดีแต่ถ้าดีเฉพาะตัว ต่างคนต่างอยู่ ไม่สัมพันธ์กันด้วยดี สังคมนั้นจะดีได้อย่างไร ยังไม่ต้องพูดว่าการทำให้ทุกคนเป็นคนดีจะเป็นไปได้หรือไม่ เพียงแค่ตรรกะที่ว่าทุกคนดี สังคมก็ดีไปด้วยนั้น ก็เป็นตรรกะที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเท่าไร เพราะความเป็นจริงนั้นมีปัจจัยสลับซับซ้อนกว่านั้นมาก

          น่าสนใจก็คือนี่ไม่ใช่ความคิดแบบเถรวาทเท่านั้น มหายานก็คิดแบบนี้ ถึงแม้ว่าตามหลักการมหายานจะเน้นเรื่องการช่วยเหลือสรรพสัตว์และเอื้อเฟื้อสังคม แต่พอถึงภาคปฏิบัติมหายานก็พูดทำนองเดียวกันว่าถ้าเราทำตัวให้ดีสังคมก็จะดีไปเอง อุปมาอุปมัยที่มักจะใช้ในฝ่ายมหายานก็คือ “ถ้ารากดีกิ่งก็จะดีด้วย” ข้อนี้ไม่มีใครปฏิเสธ แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าในอีกด้านหนึ่งนั้นกิ่งดีก็ทำให้รากดีด้วยเหมือนกัน ในทางตรงกันข้ามถ้ากิ่งแย่รากก็แย่ด้วย นั่นก็หมายความว่าถ้าสังคมดี คนก็ดีด้วย ถ้าสังคมแย่ คนก็แย่ด้วย เพราะฉะนั้นการคิดแต่จะทำตัวให้ดี โดยไม่สนใจสังคมเลย เพราะคิดว่าสังคมจะดีโดยอัตโนมัติ ในที่สุดอาจกลายเป็นการปล่อยให้สังคมเลวร้ายลง จนส่งผลให้เกิดคนเลวขึ้นมากมาย กระทั่งว่าเราเองก็อาจพลอยเป็นกับเขาด้วย

          เพราะเหตุว่าสังคมมีผลต่อพฤติกรรมและจิตใจของผู้คน พุทธศาสนาจึงสอนว่า เราจะต้องให้ความสำคัญกับการปรับปรุงแก้ไข หรือจัดสรรสภาพแวดล้อม ให้เกื้อกูลต่อการปฏิบัติธรรมด้วย หรือเพื่อเกื้อกูลให้ธรรมะเจริญงอกงามขึ้นมาในใจ ขนาดพระจะไปปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าก็ยังทรงแนะนำให้ไปปฏิบัติธรรมในที่ที่สัปปายะ คือมีสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูล เช่น ไม่มีปัญหาโจรผู้ร้าย ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกันในชุมชนหรือในคณะสงฆ์ ไม่มีปัญหาข้าวยากหมากแพง นี้แสดงว่าแม้กระทั่งการปฏิบัติธรรมสำหรับพระก็ยังต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม นับประสาอะไรกับฆราวาสซึ่งยิ่งต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะ เพราะเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นถึงการจัดสรรสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการปฏิบัติธรรม หรือให้ธรรมะเจริญงอกงาม แต่ว่าเวลาเราพูดถึงธรรมะนั้น เรามักจะมองประโยชน์ของธรรมะในแง่ที่จำกัดเฉพาะตัวเฉพาะบุคคล เช่นศีล เรามักจะมองว่าถ้ารักษาศีลแล้ว เราเองก็จะมีความสุข แต่ที่จริงแล้วพุทธศาสนาสอนว่าศีลไม่ได้ทำให้คุณมีความสุขคนเดียวเท่านั้น หากยังทำให้สังคมผาสุกสงบเรียบร้อยด้วย ในทำนองเดียวกันทานก็ไม่ได้มีผลแต่เฉพาะช่วยขัดเกลาจิตใจให้เห็นแก่ตัวน้อยลง มีอิสระมากขึ้นเท่านั้น หากยังทำให้สังคมมีการเอารัดเอาเปรียบน้อยลง มีการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันมากขึ้น จะเห็นได้ว่าธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสอนนั้นมีทั้งมิติส่วนตัวและมิติทางสังคมตลอดเวลา แต่พระพุทธศาสนาที่สอนกันในปัจจุบันนั้น ปรากฏว่ามิติทางสังคมจะหายไป เหลือแต่มิติส่วนบุคคลหรือมิติของปัจเจกบุคคล ก็เลยทำให้ชาวพุทธไม่ค่อยสนใจเรื่องสังคม หรือให้ความสำคัญกับปัจจัยทางสังคม

          ที่ว่าพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับการจัดสรรสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติธรรม หรือเกื้อกูลต่อการบ่มเพาะธรรมะในตัวบุคคลนั้น เห็นได้ชัดจากจารึกของพระเจ้าอโศก ซึ่งแม้จะหลังพุทธกาลมากว่า ๓๐๐ ปี ก็ยังรักษาแก่นสารส่วนนี้ไว้ได้ จารึกอโศกตอนหนึ่งมีความว่า

          “ตามถนนหนทาง ข้าฯ ได้ให้ปลูกต้นไทรขึ้นไว้ เพื่อเป็นร่มเงาแก่สัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย ให้ปลูกสวนมะม่วง ให้ขุดบ่อน้ำไว้ทุกระยะครึ่งโกรศะ (ประมาณ ๒ ก.ม.) ให้สร้างที่พักคนเดินทาง และให้สร้างอ่างเก็บน้ำจำนวนมากไว้ในที่ต่าง ๆ ...ที่ข้าฯ ได้ทำการเช่นนี้ ก็ด้วยความมุ่งหมายข้อนี้คือเพื่อให้ประชาชนทั้งหลายประพฤติปฏิบัติตามธรรม”

          จารึกนี้ชี้ให้เห็นว่า ที่ท่านพยายามบปรับปรุงสภาพแวดล้อมในอาณาจักรของท่าน ก็เพราะมีจุดมุ่งหมายส่งเสริมให้คนปฏิบัติธรรมหรือมีธรรม แต่เดี๋ยวนี้เรามักเข้าใจว่าถ้าจะทำให้คนมีธรรมะก็ต้องเทศน์อย่างเดียว เราเอาการเทศน์เป็นสูตรสำเร็จ ในขณะที่คนสมัยก่อนเห็นว่าสิ่งแวดล้อมทั้งทางกายภาพและทางสังคมนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องจัดสรรให้ดี อย่างที่ปรากฏในจารึกอโศก ในพระไตรปิฎกก็มีหลายพระสูตรที่แนะนำให้แก้ไขปัญหาอาชญากรรมในสังคม ด้วยการปรับปรุงระบบเศรษฐกิจให้ดีขึ้น เช่นมีการกระจายโภคทรัพย์ และลดความยากจน ในกูฏทันตสูตรก็มีข้อแนะนำให้กษัตริย์หรือผู้ปกครองให้อาหารและเงินทุนแก่ราษฎรที่มีอาชีพต่าง ๆ เช่นเกษตรกร พ่อค้า ให้อาหารและเงินเดือนแก่ข้าราชการอย่างทั่วถึง น่าสังเกตว่าในพระสูตรนี้ไม่ได้พูดถึงการเทศน์เลย แต่เดียวนี้พอมีปัญหาอาชญากรรม คอร์รัปชั่น เรานึกถึงแต่การแก้ปัญหาด้วยการเทศน์ เช่น นิมนต์พระไปเทศน์ในคุก หรือเทศน์ให้ตำรวจและนักการเมืองฟัง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเราไปคิดว่าพระพุทธศาสนาสอนแต่เรื่องการแก้ที่ตัวบุคคล ไม่ได้สอนเรื่องการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เกื้อกูลต่อการพัฒนาตน

          สิ่งที่หลวงพ่อนานและพระนักพัฒนาทั้งหลายพยายามบอกเราก็คือ ธรรมะในตัวบุคคลนั้นไม่ได้แยกจากการสร้างสังคมหรือสร้างชุมชนให้เกื้อกูล ทำไมท่านต้องไปทำงานพัฒนาชุมชน ก็เพราะนั่นป็นส่วนหนึ่งของการบ่มเพาะให้ธรรมะเจริญงอกงามในตัวบุคคล อันนี้เป็นประเด็นสำคัญมาก ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างหรือฟื้นฟูจริยธรรมทางสังคมแบบพุทธ ได้แก่จริยธรรมที่ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงสังคมและสภาพแวดล้อม หมายความว่าการที่เราจะสร้างสรรค์ความดีงามขึ้นให้เกิดขึ้นในสังคมหรือในตัวบุคคล เราเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพยายามทำให้สังคมมีความสงบ มีความเจริญงอกงามทั้งทางกายภาพหรือทางวัตถุ คือมีสภาพแวดล้อมที่ดี ปลอดพ้นจากความยากจน ขณะเดียวกันก็มีความเจริญงอกงามในทางสังคมด้วย คือผู้คนมีความสามัคคี มีเมตตาและเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน เป็นต้น

          สรุปคุณูปการของหลวงพ่อนานคือ

          ๑. เป็นแบบอย่างให้แก่พระสงฆ์ในการปรับปรุงบทบาทเพื่อรักษาความเป็นผู้นำหรือศูนย์กลางชุมชน โดยออกไปหาสังคม แทนที่จะเป็นฝ่ายรอให้คนเข้าวัด เป็นแรงบันดาลใจให้พระหลายรูปทำงานสงเคราะห์และพัฒนาชุมชน จนต่อมาสังคมก็ให้ความยอมรับแก่พระที่ทำงานดังกล่าว เปลี่ยนความคิดจากเดิมที่เข้าใจว่าพระไม่ควรมายุ่งเรื่องพวกนี้

          ๒. ช่วยฟื้นฟูมิติทางสังคมให้แก่พุทธศาสนา หรือทำให้ผู้คนได้ตระหนักว่าพุทธศาสนานั้นให้ความสำคัญกับการปรับปรุงแก้ไขสังคมด้วย มิใช่เน้นแต่เรื่องจิตใจ หรือมุ่งแต่ความอยู่รอดเฉพาะตัว

          ประเด็นต่อไปที่จะพูดคือ บทบาทและภารกิจที่พระรุ่นใหม่ควรให้ความใส่ใจทั้งในปัจจุบันและอนาคต

          บทบาททางสังคมหรือการทำงานในชุมชนที่เราเรียกว่างานพัฒนา ไม่ว่า การสงเคราะห์ด้านปัจจัย ๔ ก็ดี การแก้ปัญหาหนี้สินก็ดี ตลอดจนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็ดี เหล่านี้เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการพัฒนาในทางพุทธศาสนาเท่านั้น เรียกว่า กายภาวนา ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาสไม่ควรจะหยุดเพียงเท่านี้ แต่พระนักพัฒนาจำนวนไม่น้อยสนใจเพียงขั้นนี้ขั้นเดียวเท่านั้น คือการพัฒนาด้านกายภาพหรือความเป็นอยู่ เช่น การรักษาโรคด้วยสมุนไพร การช่วยผู้ป่วยเอดส์ การตั้งธนาคารข้าว หรือการทำกลุ่มออมทรัพย์ การรักษาป่า ถ้าทำหรือมุ่งเพียงเท่านี้ยังไม่พอ ควรไปสู่อีกขั้นตอนหนึ่งนั่นคือการช่วยเหลือให้สังคมหรือชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ผู้คนมีคุณธรรมต่อกัน เรียกว่าศีลภาวนา พูดอย่างสมัยใหม่ก็คือทำให้ชุมชนหรือสังคมเข้มแข็ง ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ถูกมองข้าม หลายชุมชนประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจน แต่ปรากฏว่าคนในชุมชนกลับอยู่แบบตัวใครตัวมัน ความสัมพันธ์เหินห่างกัน เพราะทุกคนสบายแล้วก็เลยไม่คิดจะพึ่งพาอาศัยกัน

          กรณีงานพัฒนาที่ยกกระบัตร สมุทรสาครเมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนว่าพอพัฒนาไปแล้วชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ความสัมพันธ์ในชุมชนกลับอ่อนลง การร่วมแรงร่วมใจมีน้อยลง ซึ่งในที่สุดอาจมีผลให้ชุมชนถูกเอารัดเอาเปรียบจากภายนอกได้ง่ายขึ้น ตรงนี้สำคัญเพราะว่าหากสามารถทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งคือที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน นอกจากจะเอื้อให้ผู้คนมีความเอื้อเฟื้อต่อกันแล้ว ยังทำให้การทำชั่วเกิดขึ้นได้ยากกว่าเดิม เพราะว่าถ้าขืนทำชั่ว เช่น ลอบตัดไม้ทำลายป่าของชุมชน คดโกง หรือเบียดบังเงินของส่วนรวม ก็จะถูกสังคมหรือชุมชนลงโทษโดยไม่จำต้องพึ่งตำรวจ เช่น ไม่คบหา ไม่ให้ความร่วมมือเวลาต้องการความช่วยเหลือ สมัยก่อนเขาก็ทำกันอย่างนั้น คนเลยไม่อยากทำชั่วหรือละเมิดกฎเกณฑ์ของชุมชน ศีลธรรมจึงเกิดขึ้นในชุมชน ปัญหาเวลานี้ก็คือสังคมหรือชุมชนส่วนใหญ่ขาดสิ่งนี้ ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องความยากจน และจะว่าไปความยากจนส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากความสัมพันธ์ในชุมชนที่เสื่อมทรามลง ชุมชนแตกสลาย คนไม่ช่วยเหลือกัน ก็ถูกคนภายนอกเอาเปรียบและยากจนลง

สิ่งที่หลวงพ่อนานและพระนักพัฒนาทั้งหลายพยายามบอกเราก็คือ
ธรรมะในตัวบุคคลนั้นไม่ได้แยกจากการสร้างสังคมหรือสร้างชุมชนให้เกื้อกูล
ทำไมท่านต้องไปทำงานพัฒนาชุมชน ก็เพราะนั่นป็นส่วนหนึ่งของการบ่มเพาะ
ให้ธรรมะเจริญงอกงามในตัวบุคคล อันนี้เป็นประเด็นสำคัญมาก
ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างหรือฟื้นฟูจริยธรรมทางสังคมแบบพุทธ
ได้แก่จริยธรรมที่ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงสังคมและสภาพแวดล้อม
หมายความว่าการที่เราจะสร้างสรรค์ความดีงามขึ้นให้เกิดขึ้นในสังคมหรือในตัวบุคคล
เราเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพยายามทำให้สังคมมีความสงบ มีความเจริญงอกงาม
ทั้งทางกายภาพหรือทางวัตถุ คือมีสภาพแวดล้อมที่ดี ปลอดพ้นจากความยากจน
ขณะเดียวกันก็มีความเจริญงอกงามในทางสังคมด้วย
คือผู้คนมีความสามัคคี มีเมตตาและเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกันเป็นต้น

          สิ่งที่เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ชุมชนขาดสามัคคีกันหรือไม่สามารถร่วมมือกันได้ในเวลานี้ก็คือ การขาด “ความไว้วางใจ” นี้เป็นสิ่งสำคัญมากเพราะหากชุมชนขาดความไว้วางใจกันแล้ว ก็ทำอะไรไม่ได้เลย จะชักชวนชาวบ้านให้มาร่วมกันขุดสระน้ำ ตัดถนน ชาวบ้านก็ไม่อยากจะมาเพราะรู้สึกว่า “ถ้ากูมาแต่คนอื่นไม่มา กูก็ถูกกินแรงนะซิ” ชาวบ้านจะกลัวถูกกินแรงเสมอ ก็เลยไม่อยากให้ความร่วมมือ

          เวลานี้ตามหมู่บ้านต่าง ๆ มีการเก็บเงินทุกครัวเรือนเพื่อเป็นทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ มักจะมีปัญหาว่าเก็บเงินได้ไม่ครบ ทำไมถึงเก็บเงินได้ไม่ครบ เพราะต่างคนต่างอยากจะ “เบี้ยว” สาเหตุที่อยากจะเบี้ยวก็เพราะระแวงว่าคนอื่นจะเบี้ยว ก็เลยกลัวจะถูกเอาเปรียบ ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยมักจะคิดว่า “ถึงกูไม่เบี้ยว คนอื่นก็เบี้ยว ฉะนั้นกูเบี้ยวก่อนดีกว่า” ทัศนคติแบบนี้ทำให้ชุมชนไม่สามารถทำอะไรได้ การรักษาป่ามีปัญหาก็เพราะเหตุนี้ ชาวบ้านเขาก็รู้ว่าถ้าป่าดี น้ำก็สมบูรณ์ ของป่าก็หาง่าย ดินก็อุดม คำถามก็คือเหตุใดชาวบ้านถึงยอมทำร้ายตัวเองด้วยการแข่งกันตัดไม้ทำลายป่า คำตอบก็คือเพราะชาวบ้านคิดว่าเขายิ่งรักษาป่าเขาก็ยิ่งเสียเปรียบ เขารักษาป่าแต่คนอื่นมาตัด แล้วจะรักษาไปทำไม เพราะฉะนั้นก็ตัดเองเสียเลย จะไม่ดีกว่าหรือ ความระแวงว่าจะถูกกินแรง หรือความไม่ไว้วางใจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทรัพยากรในชุมชนเสื่อมโทรมลงไปเรื่อย ๆ การที่คนสมัยก่อนใช้สมบัติของส่วนรวมอย่างรู้จักประมาณ เช่น ไปเก็บหน่อไม้ ก็เก็บคนละนิดหน่อยแค่พอกิน ไม่ใช่เพียงเพราะว่าเขามีคุณธรรมหรือเห็นแก่คนอื่นเท่านั้น หากยังเป็นเพราะเขาไว้วางใจคนอื่น ๆ ในหมู่บ้านว่า จะเอาคนละนิดละหน่อยเหมือนกัน พูดง่าย ๆ คือไว้ใจว่าคนอื่นจะเหลือให้เขาได้มาเก็บกินในวันต่อ ๆ ไปได้ด้วย แต่เวลานี้ชาวบ้านเขาไม่เก็บคนละนิดละหน่อยแล้ว เพราะกลัวว่าถ้าเขาไม่ตัดหมดคนอื่นมาเจอก็จะมาตัดหมด ดังนั้นจึงต้องรีบฉวยโอกาสขณะที่ยังมีโอกาส

          นี้คือปัญหาสำหรับพระที่ทำงานชุมชนว่าทำอย่างไรชาวบ้านถึงมีความไว้วางใจกัน จุดอ่อนของพระนักพัฒนาหรือพระที่ทำงานในชุมชนก็คือว่า ท่านคิดแต่จะนำชาวบ้านอย่างเดียว โดยไม่คิดที่จะทำให้ชาวบ้านทำงานร่วมกันหรือพัฒนาความไว้วางใจให้เกิดขึ้นในหมู่ชาวบ้านด้วยกัน ที่มักปรากฏก็คือการตัดสินใจทั้งหมดจะอยู่ที่พระรูปเดียว แต่ท่านไม่ได้ช่วยทำให้ชุมชนหรือชาวบ้านมีความไว้วางใจกัน ชาวบ้านเขามารวมกันไม่ใช่เพราะเขาไว้วางใจกัน เขามาเพราะเขาไว้วางใจคนเดียวคือหลวงพ่อ ถ้าหลวงพ่อไม่อยู่เขาก็ไม่ไว้วางใจคนอื่น ผลก็คือวงแตก โครงการไปต่อไม่ได้

          คำถามสำหรับพระรุ่นใหม่ก็คือทำอย่างไรชาวบ้านถึงจะทำงานกันต่อได้ถึงแม้ท่านจะไม่อยู่ คำตอบก็คือต้องสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นในชุมชน ตรงนี้เป็นจุดอ่อนอย่างมากของพระที่ทำงานชุมชนหรือพระนักพัฒนา ซึ่งรวมถึงพระอนุรักษ์ด้วย ท่านอาจประสบความสำเร็จในการรักษาป่า สร้างธนาคารข้าว จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ทำโรงสีชุมชน แต่ว่าโครงการเหล่านี้มักอยู่บนฐานที่ง่อนแง่นคือการไม่ไว้วางใจกันในหมู่ชาวบ้าน พอหลวงพ่อไม่อยู่ เช่น มรณภาพหรือสึกหาลาเพศ หรือวางมือเพราะอายุมาก โครงการหลายโครงการอยู่ได้สักพักก็ล้มเนื่องจากชาวบ้านต่างคนต่างเบี้ยว เพราะทุกคนพากันคิดว่า “ถ้ากูไม่เบี้ยวคนอื่นก็ต้องเบี้ยว เพราะฉะนั้นกูเบี้ยวก่อนดีกว่า” ทำนองเดียวกันการโกงเงินหลวง ข้าราชการก็มักคิดว่า ถ้าฉันไม่ทำคนอื่นก็ทำ ฉะนั้นฉันทำก่อนดีกว่า นี่คือเหตุผลที่มักอ้างกันอยู่เสมออย่างน้อยก็ในใจของตน

          เคยมีคนถามนักโฆษณาว่า ทำไมคุณโฆษณาด้วยวิธีที่แย่ ๆ ทำไมถึงสร้างค่านิยมผิด ๆ ให้แก่เด็ก ๆ เขาบอกถึงเขาไม่ทำคนอื่นก็ต้องทำอยู่ดี นี่คือข้ออ้างที่ใช้กันแพร่หลาย ลองไปถามเจ้าของโรงงานว่าทำไมคุณถึงปล่อยน้ำเสีย ลองไปถามผู้บริหารโรงไฟฟ้าว่าทำไมไปตั้งอยู่ริมทะเล เสี่ยงต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม เขาก็จะบอกว่าถึงฉันไม่ทำคนอื่นก็ต้องทำอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นฉันทำก่อนดีกว่า แต่น่าสังเกตว่าเวลาน่าจะทำความดี ทุกคนกลับบอกว่า “ถึงกูไม่ทำคนอื่นก็ต้องทำอยู่ดี เพราะฉะนั้นให้คนอื่นทำดีกว่า” อย่างเช่นเวลามีคนเป็นลมกลางถนนที่พลุกพล่าน ทุกคนจะนึกอยู่ในใจว่า ถึงเราไม่ช่วย คนอื่นก็ช่วยอยู่ดี ผลก็คือทุกคนเดินผ่านไปเลย

          การขาดความไว้วางใจกำลังเป็นปัญหาที่ระบาดไปทั่วทุกชุมชนและทั่วทั้งสังคม นี่คือประเด็นที่สัมพันธ์กับการพัฒนาสังคม จะเห็นได้ว่า การพัฒนาทางวัตถุหรือกายภาพยังไม่เพียงพอ ยังจะต้องพัฒนาความสัมพันธ์ทางสังคมให้ดีขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลถึงการพัฒนาศีลธรรมหรือคุณธรรมของผู้คนในสังคม พระที่ทำงานพัฒนาจะต้องคิดเสมอว่าทำอย่างไรถึงจะให้เกิดการพัฒนาในขั้นตอนที่สองนี้ได้ ตรงนี้เองที่งานสัจจะออมทรัพย์ของพระสุบิน ปณีโตน่าจะเป็นแบบอย่างได้ เพราะกิจกรรมดังกล่าวช่วยให้ชาวบ้านเกิดความไว้วางใจกัน เพราะมีมาตรการที่สามารถป้องปรามหรือลงโทษคนที่คิดจะโกงเงินกู้ มาตรการดังกล่าวทำให้ทุกคนที่เข้าร่วมมีความมั่นใจมากขึ้น ว่าจะไม่มีการโกงการเอาเปรียบกันและยิ่งไม่มีการโกงกัน ก็ยิ่งทำให้ผู้คนเกิดความเชื่อมั่นและไว้วางใจกันมากขึ้น ด้วยเหตุนี้สัจจะออมทรัพย์ของท่านจึงทำให้ชุมชนเกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน นี้เป็นความสำเร็จที่มีความสำคัญยิ่งกว่าการแก้ปัญหาหนี้สินของชาวบ้านเสียอีก

          แต่สุดท้ายแล้ว แม้จะทำให้ชุมชนมีความไว้วางใจกัน ร่วมมือกันแล้ว ก็ยังไม่พอ ยังต้องมีการพัฒนาขั้นที่สาม นั่นคือการพัฒนาทางด้านจิตวิญญาณหรือการพัฒนาให้เกิดศาสนธรรมขึ้นในชุมชน นี้เป็นจุดหมายที่สำคัญที่สุด ถึงที่สุดแล้วการพัฒนาแบบพุทธจะต้องไปถึงตรงนี้ให้ได้ ทำไมพระเจ้าอโศกต้องปลูกผลไม้ สร้างที่พักคนเดินทาง และอะไรต่ออะไรมากมาย ก็เพื่อส่งเสริมให้คนประพฤติธรรม ซึ่งมีความหมายรวมไปถึงการขัดเกลาจิตใจให้ลดความเห็นแก่ตัว มีจิตใจที่โปร่งโล่งและอิสระ ไม่เป็นทาสวัตถุ การพัฒนาจิตวิญญาณเป็นเรื่องที่ยาก แต่พระนักพัฒนาต้องไม่ละเลย เพราะถ้าละเลยแล้วงานของท่านก็แทบไม่ต่างกับการพัฒนาของรัฐหรือของราชการ การพัฒนาทางจิตวิญญาณคือการช่วยให้ผู้คนเกิดความเข้าใจ และเข้าถึงคุณค่าของความสันโดษ ความพอเพียง ให้ดียิ่งกว่านั้นก็คือช่วยให้จิตเป็นอิสระไม่เป็นทาสวัตถุ เข้าถึงความสงบด้านใน ไม่หวั่นไหวต่อความผันผวนปรวนแปรของโลกธรรมทั้งหลาย ไม่รู้สึกตื่นเต้นหวั่นไหวที่เห็นคนอื่นรวยกว่าตัวเอง ไม่รู้สึกหวั่นไหวที่คนอื่นมีบ้านใหญ่กว่าตนเอง

          นี้เป็นจุดสุดท้ายที่เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญ เป็นอุดมคติของการพัฒนาแบบพุทธ ก็คือว่าจะต้องไปให้ถึงมิติทางด้านจิตวิญญาณให้ได้ จะทำเช่นนี้ได้ก็หมายความว่าตัวพระสงฆ์เองหรือผู้นำที่ทำการพัฒนาต้องมีความลุ่มลึกในทางจิตวิญญาณด้วย มีการฝึกฝนพัฒนาตนให้เข้าถึงความสุขและอิสระในทางจิตใจเป็นลำดับ หากตัวเองไม่มีสิ่งนี้แล้วก็ยากที่จะไปช่วยชาวบ้านในเรื่องนี้ได้

          ด้วยเหตุนี้การพัฒนาชุมชนถึงที่สุดแล้วย่อมไม่อาจแยกจากการปฏิบัติธรรมได้ ผู้ที่จะพัฒนาชุมชนให้เกิดผลดีตามหลักการของพุทธศาสนา จะต้องมีการฝึกฝนพัฒนาตนไปด้วยจนเกิดปัญญารู้เท่าทันตามความเป็นจริงของชีวิตและโลก กล่าวอีกนัยหนึ่งถึงที่สุดแล้วการทำงานเพื่อสังคมก็คือการปฏิบัติธรรมนั้นเอง เป็นการปฏิบัติธรรมส่วนตนขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อการทำงานเพื่อผู้อื่น คือเกิดทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านไปพร้อมกัน

          อาตมาอยากเน้นในท้ายที่สุดนี้ว่าบทบาทสำคัญประการหนึ่งของพระรุ่นใหม่ก็คือ จะต้องทำให้การปฏิบัติธรรมกับการทำงานเพื่อสังคมไปด้วยกันทั้ง ๓ แง่ ๓ ความหมายคือ

          ๑. ขณะที่ทำงานเพื่อสังคมก็ไม่ทิ้งการปฏิบัติธรรม เช่น มีเวลาให้แก่การทำสมาธิภาวนาด้วย

          ๒. ดีกว่านั้นก็คือไม่ต้องแยกว่าปฏิบัติธรรมเวลาหนึ่ง ทำงานเพื่อสังคมก็อีกเวลาหนึ่ง แต่ให้ปฏิบัติธรรมไปในขณะเดียวกับที่ทำงานเพื่อสังคม หมายความว่าขณะที่ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็เป็นโอกาสสร้างขันติบารมี วิริยบารมี หรือเจริญสติและปัญญาไปพร้อมกัน ในแง่นี้ก็หมายความว่าใช้งานทางสังคมเป็นอุปกรณ์สำหรับฝึกฝนพัฒนาตน

          ๓.ให้การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นฐานค้ำจุนงานสังคม หมายความว่า ให้การปฏิบัติธรรมไปสงเคราะห์งานทางสังคม เพื่อให้มีมิติทางด้านจิตวิญญาณ กล่าวคือนอกจากผู้คนจะมีคุณธรรมต่อกันแล้ว ยังสามารถเข้าถึงความสุขและอิสระด้านในได้ด้วย ด้วยวิธีนี้การพัฒนาจะก่อให้เกิดประโยชน์ครบทุกมิติ คือทั้งทางวัตถุ ความสัมพันธ์ และจิตวิญญาณ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือมีทั้งกายภาวนา ศีลภาวนา จิตภาวนา และปัญญาภาวนา ครบถ้วนเป็นองค์รวมตามหลักการของพุทธศาสนา

          ภารกิจของพระรุ่นใหม่ในปัจจุบันและในอนาคต หากสรุปด้วยคำของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกก็คือ “ทำชุมชนให้อยู่ดี ทำชีวิตให้งอกงาม” ๒ อย่างนี้ต้องไปด้วยกัน คือเกิดทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ขณะเดียวกันก็เกิดผลดีทั้งในทางกายภาพ ความสัมพันธ์ทางสังคม และจิตใจ การทำเช่นนี้จะช่วยให้สถาบันพระสงฆ์ พุทธศาสนา และสังคมไทยเจริญมั่นคงไปด้วยกันอย่างแท้จริง

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :