เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับ ๕๑
เสมือนบทนำ

แปลจาก A Simple Monk
ซึ่ง
ส.ศิวรักษ์ เขียนถวายองค์ทะไลลามะ

พระธรรมดาทะไลลามะ กับ ส.ศิวรักษ์

“การดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายของพระ
ย่อมจะช่วยให้เกิดสภาพสังคมที่เอื้อเฟื้อกัน
และเกิดความสมดุลของสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้พระธรรมดายังมีเวลาให้กับการเรียนรู้ศาสตร์สาขาต่าง ๆ
อันจะช่วยให้มนุษย์ และสรรพสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากกองทุกข์ได้
และศาสตร์สาขาต่าง ๆ เหล่านี้จะเชื่อมโยงกัน
และจะช่วยป้องกัน รวมทั้งเยียวยาแก้ไขความทุกข์
ในระดับบุคคลและสังคมร่วมสมัย”

 

 

งค์ทะไลลามะมักเรียกตัวเองว่าเป็นพระธรรมดา ทั้งที่ตามความเป็นจริงท่านเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ว่าทรงเป็นห้วงสมุทรแห่งภูมิปัญญา เป็นประมุขแห่งรัฐ และเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณคนสำคัญแห่งพุทธศาสนานิกายวัชรยาน นี่ยังไม่รวมถึงสถานะพิเศษของพระองค์ที่ทรงพระนิรมานกายของพระอวโลกิเตศวร พระโพธิสัตว์บุคลาธิษฐานแห่งพระกรุณาคุณของพระพุทธเจ้า

          ข้าพเจ้าคิดว่าการแนะนำตัวของพระองค์มีความหมายและน่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงบ่งบอกถึงความอ่อนน้อมถ่อมตัว หากยังเป็นสัจธรรมที่จริงแท้อย่างสำคัญ

          เมื่อหลายปีก่อน คริสตชนกลุ่มหนึ่งได้แจกจ่ายใบปลิวใน ณ ที่ประชุมคณะสงฆ์แห่งสำนักไดมอนด์เฮด ที่กรุงฮอนโนลูลู พวกเขาเน้นว่าในเมื่อองค์ทะไลลามะประกาศตนเป็นเพียงพระธรรมดา ถ้าเช่นนั้นก็ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า แล้วท่านจะทำอะไรได้ แล้วทำไมคนต้องมาหลงใหลงมงายท่าน หรือเคารพท่าน เขาควรหันไปสมาทานนับถือพระเยซูเจ้ามากกว่า เพราะพระองค์ไม่เพียงเป็นพระบุตร หากยังเป็นผู้กอบกู้ช่วยเหลือชีวิตสรรพสัตว์ในโลก

          อันที่จริง ทั้งโดยส่วนตัว และต่อสาธารณชน องค์ทะไลลามะได้ยกย่องสรรเสริญทั้งพระเยซู พระมะหะหมัด และยังพระศาสดาแห่งศาสนาอื่น ท่านได้กระตุ้นเตือนให้ทั้งคริสตศาสนิกชนและอิสลามิกชน ปฏิบัติตามหลักศาสนาของตน อย่างกอปรด้วยวิจารณญาณ และอย่างรู้ตัวทั่วพร้อม แม้ศาสนิกชนเหล่านั้นจะนำหลักสมาธิภาวนาของพุทธไปใช้บ้างก็ไม่เป็นไร ทั้งนี้หากการทำเช่นนั้นไม่ได้ทำให้ความเชื่อต่อศาสนาของตนย่อหย่อนลงไปเลย

          นี้ทำให้ข้าพเจ้าระลึกถึงพระธรรมดาอีกรูปหนึ่ง คือ ท่านพุทธทาสภิกขุ ผู้เป็นพระอาจารย์ผู้ล่วงลับไปแล้วของข้าพเจ้า และองค์ทะไลลามะเองให้ความเคารพนับถืออย่างสูง ท่านอาจารย์พุทธทาสได้กระตุ้นเตือนให้เหล่าศาสนิกชนผู้นับถือท่านปฏิบัติตามปณิธานสำคัญสามประการ อันได้แก่ ประการแรก ให้พยายามเข้าใจสารัตถะแห่งคำสอนของพระพุทธองค์ และพยายามปฏิบัติตามอย่างไม่เห็นแก่ตัวให้มากที่สุด ประการที่สอง ให้เคารพและให้เกียรติกับเพื่อนศาสนิกชนอื่น ๆ โดยไม่ถือว่าพวกเขาด้อยกว่าเรา และประการที่สาม ให้ร่วมมือกันกับศาสนิกอื่น ๆ และบุคคลทั่วไปเพื่อหาทางเอาชนะความโลภ ความโกรธ และความหลงให้ได้ ซึ่งอกุศลมูลทั้งสามได้ปรากฏออกมาให้เห็นเด่นชัดยิ่งขึ้น ในรูปของบริโภคนิยม การรวมศูนย์อำนาจ และการศึกษาสมัยใหม่ ซึ่งเน้นที่หัวสมองอย่างปราศจากปัญญา และกรุณา

          ท่านพุทธทาสได้อุทิศตนเยี่ยงทาสของพระพุทธเจ้า และอันที่จริงพระพุทธองค์เองก็เป็นเพียงพระธรรมดา เราอาจระลึกได้ว่าเมื่อครั้งพระพุทธองค์ยังเป็นเพียงเจ้าชายหนุ่ม พระองค์ได้ลุ่มหลงเสพย์กามสุขอย่างไม่ได้ข้องเกี่ยวสัมผัสกับความทุกข์ในโลกเลย ในที่สุดพระองค์มีโอกาสได้เห็น คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และผู้ภิกขาจารทั้งหลาย ทันใดนั้นพระองค์ได้ตระหนักว่า ความเจ็บป่วยและความตาย ก็เป็นส่วนหนึ่งแห่งทุกข์ จึงเกิดความประสงค์ที่จะทำให้เกิดที่สิ้นแห่งทุกข์ และเกิดความคิดว่าถ้าได้ละทิ้งกามสุขทั้งหลาย เพื่อดำเนินชีวิตเยี่ยงภิกขาจารผู้ท่องเที่ยวไป อาจเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ อันที่จริงก่อนการตรัสรู้พระพุทธองค์ได้เป็นภิกขาจารท่องเที่ยวไปเป็นเวลาหกปี จนที่สุดจึงได้หลุดพ้นจากความโลภ ความโกรธ และความหลง ปัญญาที่เกิดแก่ท่านนั้นแจ่มชัดเสียจนไม่มีความเห็นแก่ตัวใด ๆ หลงเหลืออยู่ อันเป็นเหตุให้ปัญญาของท่านคล้อยนำให้เกิดความกรุณาขึ้น ด้วยเหตุนี้เราจึงเอ่ยนามของพระองค์อีกอย่างว่าเป็นสัพพัญญูผู้รู้แจ้งแทงตลอด และเป็นพระมหากรุณาธิคุณ

          สำหรับพวกเรา การเป็นพระธรรมดา (หรือเป็นภิกษุณีหรือแม่ชีธรรมดา) เป็นพละปัจจัยสำคัญอันจักช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิตด้วยความเข้าใจในทุกขสัจจ์ และอยู่ในภาวะบรมสุข โดยปราศจากเครื่องล่อจากปัจจัยภายนอก

          หากเราไม่ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย ชีวิตเราจักพึ่งพากับปัจจัยภายนอกมากมาย มากจนกระทั่งเราไม่มีเวลา และพลังในการดำเนินชีวิตอย่างมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม เพื่อให้เข้าใจทุกขสัจจ์ รวมทั้งความหมายอันลึกซึ้งแห่งจักรวาลทั้งปวง ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ช่วยให้เราเข้าใจจักรวาลอย่างเป็นส่วนเสี้ยว หากสมาธิภาวนาอันลึกซึ้งอย่างปราศจากความเห็นแก่ตัว จักช่วยให้เราตระหนักถึงสัจจธรรมอย่างเป็นองค์รวม

          การเป็นพระธรรมดา ช่วยให้เราสามารถปฏิบัติเพื่อให้เกิดความไม่เห็นแก่ตัว ได้ง่ายกว่าชีวิตของฆราวาสผู้ครองเรือน ทั้งนี้เพราะพระธรรมดาย่อมไม่ติดกับรสแห่งกามสุข ซึ่งเป็นเหมือนดาบสองคม เพราะโดยสัจจธรรมแล้ว ลาภ ยศ ความสุขทางเพศ และคำยกย่องสรรเสริญ ล้วนมีแง่มุมอันเป็นผลลบ กล่าวคือหากไม่สมหวังเราก็จะเกิดความรู้สึกสูญเสีย ความอับอาย ความทุกข์ และความทดท้อ ตามหลักธรรมของพระพุทธองค์ สิ่งเหล่านี้เป็นโลกธรรมทั้งแปด ผู้ซึ่งยังติดยึดในโลกธรรมเหล่านี้ ย่อมไม่อาจไปพ้นจากห้วงแห่งการเกิด แก่ เจ็บ และตายได้

          โชคร้ายที่พระจำนวนมาก ผู้ละทิ้งชีวิตแบบฆราวาสเพื่อมุ่งแสวงหาโมกขธรรม กลับยังติดยึดอยู่กับรสแห่งโลกธรรมทั้งแปดประการนี้ พวกท่านได้สูญเสียความเรียบง่าย และหลงใหลในความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม กลายเป็นเพียงพระที่สักแต่ว่าเป็นพระ หากไม่ได้ดำเนินชีวิตตามหนทางแห่งพรหมจรรย์อันประเสริฐเลย พระจำนวนมากได้กลายเป็นพวกมือถือสากปากถือศีล คอยหลอกลวงคนอื่นทั่วไป บุคคลเหล่านี้ย่อมเลวร้ายเสียยิ่งกว่าปุถุชนทั่วไปเสียอีก

          ว่ากันว่าศีลธรรม หรือจริยธรรม เป็นพื้นฐานของการพัฒนาศักยภาพมนุษย์อย่างแท้จริง ตามคำสอนของพระพุทธองค์ การดำเนินชีวิตตามหลักของศีล ด้วยการอธิษฐานว่าจะไม่ล่วงเกินทำร้ายชีวิตอื่น ทั้งด้วยกาย และวาจา อันรวมถึงการไม่กล่าวเท็จ การไม่ฆ่า การไม่ลักขโมย ฯลฯ เหล่านี้เป็นหนทางอันประเสริฐในการสั่งสมกรรมดี อันจะเป็นพละปัจจัยให้กับศีลธรรมอันเข้มแข็งของเรา เป็นกุศลมูลอันจะนำไปสู่การพัฒนาทั้งทางกาย วาจา และใจ

          ในทางพุทธเราถือว่าพระวินัยหรือบารมีนั้น ไม่ได้เป็นเพียงข้อห้ามทางศีลธรรม หากเป็นธรรมนูญแห่งการดำเนินชีวิต ศีลเหล่านี้ เป็นแนวทางพื้นฐานสำหรับการดำเนินชีวิตของฆราวาสชน ในขณะที่พระวินัยของพระภิกษุ และพระภิกษุณี เป็นหนทางอันสำคัญยิ่งกว่า ที่จะทำให้เราสามารถดำเนินชีวิต ตามครรลองของศีลธรรมได้อย่างประณีตขึ้น อาทิ พระภิกษุเองต้องสมาทานศีลถึง ๒๒๗ ข้อ

          กล่าวโดยตรรกะ ยิ่งเราสมาทานรักษาศีลมากเท่าไร โดยที่เราปฏิบัติตรงตามนัยแห่งศีลเหล่านั้น เราย่อมจะมีโอกาสพัฒนาไปสู่ความเมตตา ความกรุณา ความอดทนข่มกลั้น ปัญญา และอื่น ๆ โดยสามัญสำนึกเรา จะเห็นได้ว่าการมีศีลย่อมช่วยให้เรามีเวลากับการปฏิบัติมากขึ้น กล่าวคือ มีปัจจัยแวดล้อมทั้งภายนอก และภายในที่ล้วนส่งเสริมการปฏิบัติของเรา

          กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ชีวิตแห่งสมณะ ทั้งพระภิกษุ หรือพระภิกษุณี ดำเนินไปอย่างบรรสานสอดคล้อง อย่างข่มกลั้น และมุ่งธำรงไว้ซึ่งพรหมจรรย์ โดยงดเว้นจากการตอบสนองสัญชาติญาณที่ใฝ่หาความสุขทางร่างกาย คนจำนวนมากในยุคแห่งบริโภคนิยม และวัตถุนิยม ไม่เห็นคุณค่าแห่งการดำเนินชีวิตตามพรหมจรรย์อย่างงดงามสมบูรณ์พร้อม

          ท่านชยสาโร ซึ่งเป็นพระภิกษุชาวอังกฤษ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างงดงามจับใจว่า

          “ด้วยการดำเนินตามครรลองแห่งศีลอย่างเพียบพร้อมนี่เอง เราจักสามารถหยั่งรู้ถึงธรรมชาติแห่งกามสุขทั้งหลายได้ เราจักได้เห็นถึงภาวะปรุงแต่งที่เกิดขึ้น เห็นการเกิดขึ้นและดับไปของความรู้สึกเช่นนั้น เราจักเริ่มเห็นถึงทุกข์ อันเป็นผลตามมาของการติดยึดทั้งปวง เห็นว่ามันไม่มีตัวตนอย่างไร เห็นว่ามันได้รับการกระตุ้นอย่างไร และมีปัจจัยใดที่ส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกดังกล่าวขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาวะด้านร่างกาย การติดรสเอร็ดอร่อยของอาหาร ขาดการควบคุมทางอารมณ์ ความรู้สึก หรือการลุ่มหลงในความฟุ้งซ่าน เราจักเริ่มเห็นภาวะของการปรุงแต่งที่เกิดขึ้น ทั้งความตระหนักรู้ดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ หากเราได้วางระยะห่างระหว่างตัวเรากับความรู้สึกเช่นนั้น เป็นการเข้าใจถึงภาวะเช่นนั้นด้วยการงดเว้นที่จะไปสัมผัสด้วยทั้งกาย และวาจา”

          “มีข้อที่พึงตระหนักอย่างสำคัญเกี่ยวกับกิเลส กล่าวคือ เราจำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติของกิเลสอย่างลึกซึ้งในจิตใจของเราก่อน ก่อนที่เราจะสามารถละวางกิเลสนั้นได้ และการเข้าใจธรรมชาติของกิเลสได้อย่างลึกซึ้ง เกิดขึ้นได้จากการงดเว้นทั้งอย่างมีสติหรือโดยอาศัยการข่มกลั้น ที่จะไม่กระทำตามกิเลสดังกล่าว ทั้งในทางกายก็ดี หรือวาจาก็ดี จากจุดนี้เราจะเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างศีล สมาธิ และปัญญาได้อย่างชัดเจน ตราบใดที่เรายังแสดงออกซึ่งความรู้สึกทางเพศ โดยทางร่างกายก็ดี หรือโดยทางวาจา ด้วยการกล่าวหยาบช้าลามกอนาจาร เราย่อมไม่สามารถจำแนกแยกแยะกามตัณหาออกมาอย่างชัดเจนได้ ด้วยมันยังได้รับการปรุงแต่งต่อไป ได้รับอาหารกระตุ้นต่อไป เรายังปล่อยให้มันปรุงแต่งยิ่ง ๆ ขึ้น เช่นเดียวกับการเติมเชื้อให้กับเปลวไฟอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเราจึงควรหันมาเผชิญหน้ากับเปลวไฟแห่งตัณหาที่หนุนเนื่อง และเราจะทำได้สำเร็จก็เมื่อมีบารมี มุ่งมั่นที่จะงดเว้นจากกามกิจทั้งปวงโดยสิ้นเชิงได้ ทั้งด้วยบารมีเช่นนี้ พร้อมกับความอดทนข่มกลั้น ปุถุชนย่อมจะสามารถข้ามพ้นห้วงแห่งโอฆะสงสารไปได้”

          “ในฐานะพระสงฆ์ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เราจักมีท่าทีอย่างใหม่ต่อการแสดงออกทางเพศ รวมทั้งมีท่าทีใหม่ต่ออิสตรีผู้เป็นครึ่งหนึ่งของมนุษยชาติ เราจักฝึกปฏิบัติเพื่อให้สำเหนียกว่า สตรีที่แก่กว่าเราเปรียบเหมือนมารดาของเรา สำหรับผู้ที่แก่กว่าเราเพียงเล็กน้อยก็เปรียบเสมือนเป็นพี่สาวของเรา หากมีอายุน้อยกว่าเราก็เปรียบเสมือนน้องสาวของเรา เช่นนี้เราจักเปลี่ยนท่าทีต่อสตรีอย่างที่เต็มไปด้วยกามตัณหา มาเป็นความคิดในทางกุศล นี้เป็นของขวัญอันงดงามที่เราจักมอบให้กับสตรีได้ เมื่อมีสตรีผู้สวยงามเดินย่างกรายเข้ามาในวัด เราจักงดเว้นจากการหมกมุ่นครุ่นคิดในทางกามารมณ์ และเปลี่ยนมาเป็นการตริตรองด้วยกุศลจิต ทั้งการพยายามอย่างรู้ตัวทั่วพร้อมที่จะคิดว่าสตรีท่านนั้นเป็นน้องสาว หรือพี่สาวของเรา หรือมีความปรารถนาให้สตรีท่านนั้นได้ปลอดจากทุกข์ ทั้งนี้ด้วยการเจริญเมตตาภาวนา อธิษฐานให้ผู้อื่นจงประสบแต่ความสุข”

          “เราจักมอบของขวัญด้วยการเพ่งพินิจสตรีอย่างกอปรด้วยกุศลจิต โดยถือว่าเป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่นเดียวกับเรา แทนที่จะไปหมกมุ่นหลงใหลในรูปโฉม หรือความงามทางร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง ด้วยการตั้งจิตปรารถนาเช่นนั้น เราจักสามารถยกระดับจากการคิดในระดับสัญชาติญาณไปสู่ภาวะแห่งมนุษย์ที่แท้ เป็นการเปลี่ยนจากภาวะจิตอันหยาบช้ามาสู่ความประณีต อันที่จริงคำบาลีที่ว่า “พรหมจริยา” นั้นก็หมายถึง “ครรลองแห่งพระผู้เป็นเจ้า พระพรหม” นั่นเอง กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ในท่ามกลางกระแสแห่งสังสารวัฏ ชีวิตพรหมจรรย์ที่ดำเนินไปอย่างสมัครใจ และอย่างพอใจย่อมเป็นการดำรงอยู่กับความสุขอันประณีต และลึกซึ้งอย่างที่สุด”

          พระธรรมดาเพียรปฏิบัติตามหลักอุเบกขา ซึ่งมีอยู่น้อยอย่างน่าเสียดายในสังคมอันกอปรด้วยความรุนแรง อุเบกขาเป็นข้อสี่ในพรหมวิหารธรรม อันเป็นครรลองแห่งพรหม และเป็นหนทางที่ช่วยให้เราเข้าถึงภาวะแห่งจิตอันประณีต และมักจะแปลกันในนัยว่าการปล่อยวาง ความเป็นกลาง หรือความตั้งมั่น ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก ผู้มีนามอันอุโฆษ ได้กล่าวถึงอุเบกขาว่า หมายถึง “การมองสิ่งต่าง ๆ ตามที่เป็นจริง ด้วยจิตอันตั้งมั่น เยือกเย็น แน่วแน่ และยุติธรรม เปรียบได้กับตาชั่ง ตระหนักรู้ว่ามนุษย์ต่างล้วนจะได้รับผลกรรมที่ดี หรือเลวตามแต่เหตุปัจจัยที่ตนเองได้สร้างไว้ เป็นความพร้อมที่จะประเมินจุดยืนของตนเอง และปฏิบัติอย่างสอดคล้องกับหลักการ เหตุผล และความเท่าเทียม”

          ท่านเจ้าคุณยังได้ยกตัวอย่างที่ดีเพื่อยืนยันด้วยว่า อุเบกขาเกิดขึ้นเมื่อเราแน่ใจว่าตัวตนในตัวของเราได้ปฏิบัติตามหน้าที่อย่างปลอดภัย และอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเราสามารถมองสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างปล่อยวางโดยปราศจากความคิดที่จะเข้าไปกำหนดกดชา หรือแทรกแซงให้เป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เปรียบได้กับสารถี เมื่อม้าวิ่งไปอย่างราบเรียบ สารถีก็สามารถประคองตนนั่งในที่ของตนได้อย่างเงียบเชียบ และอย่างรู้ตัวทั่วพร้อม ซึ่งต้องตามนัยอันลึกซึ้งของอุเบกขาตามที่ปรากฏในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ว่าเป็น “การเฝ้ามองอย่างปล่อยวาง ในขณะที่ผู้อื่นสามารถปฏิบัติตามหน้าที่ที่ตัวเองมีอยู่ได้ หรือเมื่อพวกเขาได้รับผลลัพธ์อันเป็นไปตามภวปัจจัยแห่งการกระทำของพวกเขา”

          อนึ่ง พึงตราไว้ด้วยว่า อุเบกขาไม่ได้หมายถึงการวางเฉยแบบทองไม่รู้ร้อน ไม่ใช่หมายถึงความเฉยเมย ปราศจากน้ำใจ หรือการจงใจปล่อยให้เกิดอาชญากรรมใด ๆ ขึ้น ด้วยการลอยตัวไม่เข้าไปข้องเกี่ยวกับเรื่องใด ๆ เลย อุเบกขาเกิดขึ้นเมื่อเราต้องการความรู้สึกปล่อยวาง (ชั่วคราว) อย่างมีสติ เพื่อจะสามารถจำแนกแยกแยะให้เกิดปัญญาขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขจำเป็นก่อนที่เราจะสามารถลงมือช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความกรุณา และปัญญาได้

          ในทางพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาทถือกันว่ามีบารมีอยู่ ๑๐ ขั้น (ทศบารมี) อันเราพึงปฏิบัติตาม อุเบกขาเป็นบารมีในขั้นสุดท้าย บารมีในเก้าขั้นแรกได้แก่

๑)ทาน การให้ การเสียสละ ความเมตตา และความโอบอ้อมอารี
๒)ศีล ศีลธรรม การดำเนินกาย และวาจาให้เรียบร้อย อาทิ การเคารพในตนเองและสรรพชีวิตทั้งปวง
๓)เนกขัมมะ การปลีกตัวปลีกใจจากกาม หรือความพยายามเอาชนะตัณหาทั้งปวง
๔)ปัญญา ความรอบรู้ ความหยั่งรู้ ความตระหนักรู้
๕)วิริยะ ความเพียร ความแกล้วกล้า และความมุมานะ
๖)ขันติ ความข่มกลั้น ความอดทน และการข่มใจ
๗)สัจจะ ความจริง
๘)อธิษฐาน ความแน่วแน่ และความตั้งใจมั่น
๙)เมตตา ความเอื้อเฟื้อ ไมตรี

          ในฝ่ายเราได้มีการแบ่งบารมีทั้งสิบออกเป็นสามขั้น ขั้นแรก เป็นความสมบูรณ์พร้อมแห่งการบำเพ็ญระดับสามัญหรือบารมี ในกรณีของอุเบกขา ในขั้นนี้ก็จะหมายถึงการฝึกปฏิบัติตนให้วางเฉยต่อคำสรรเสริญเยินยอ ในขณะเดียวกันก็ไม่หวั่นไหวกับคำนินทาว่าร้าย อันเป็นผลเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเอง (อย่างไรก็ดี การวางเฉยต่อคำนินทาว่าร้ายไม่เหมือนกับการไม่รับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่เลวร้ายเนื่องจากการกระทำ หรือไม่กระทำอะไรบางอย่างของตนเอง) บารมีที่สูงขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งเรียกว่า อุปบารมี ในขั้นนี้เราจะวางเฉยแม้ในยามที่กำลังได้รับอันตรายในทางร่างกาย บารมีสุดท้ายเป็นปรมัตถบารมี ในขั้นนี้เราจักวางเฉยได้แม้ในยามที่กำลังถูกทัณฑ์ทรมานจนตาย กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ด้วยการปฏิบัติปรมัตถบารมี เราจะสามารถบรรลุซึ่งปัญญาอันจะเปลี่ยนจากความเห็นแก่ตัวเป็นความไม่เห็นแก่ตัว จาก “ตัวกู” ที่ใหญ่โตกลายเป็นสามัญชน

          ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น อุเบกขาเป็นขั้นสุดท้ายของการปฏิบัติ เพราะเราต้องเริ่มจากการปฏิบัติความเมตตาอันสำคัญอย่างยิ่งยวดให้ได้เสียก่อน ในกรณียเมตตสูตรได้มีการกล่าวถึงความข้อนี้อย่างชัดเจนว่า

          “กิจนั้นใดอันพระอริยเจ้า บรรลุบทอันระงับกระทำแล้ว กิจนั้นอันกุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์พึงกระทำ กุลบุตรนั้นพึงเป็นผู้อาจหาญ และซื่อตรงดี เป็นผู้ที่ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่มีอติมานะ เป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย เป็นผู้มีกิจธุระน้อย ประพฤติเบากายจิต มีอินทรีย์อันระงับแล้ว มีปัญญา เป็นผู้ไม่คะนอง ไม่พัวพันในสกุลทั้งหลาย วิญญูชนติเตียนชนทั้งหลายได้ ด้วยกรรมอันใด ไม่พึงประพฤติกรรมอันนั้นเลย

          (พึงแผ่ไมตรีจิตไปในหมู่สัตว์ว่า) ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้มีสุข มีความเกษม มีตนถึงความสุขเถิด สัตว์มีชีวิตทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ ยังเป็นผู้สะดุ้ง (คือมีตัณหา) หรือเป็นผู้มั่นคง (ไม่มีตัณหา) ทั้งหมดไม่เหลือ เหล่าใดยาว หรือใหญ่ หรือปานกลาง หรือสั้น หรือผอม เหล่าใดที่เราเห็นแล้ว หรือมิได้เห็น เหล่าใดอยู่ในที่ไกล หรือที่ไม่ไกล ที่เกิดแล้ว หรือที่กำลังแสวงหาภพก็ดี ขอสัตว์ทั้งปวงเหล่านั้น จงเป็นผู้มีตนถึงความสุขเถิด สัตว์อื่นอย่าพึงข่มเหงสัตว์อื่น อย่าพึงดูหมิ่นอะไร ๆ เขาในที่ไร ๆ เลย ไม่ควรปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน เพราะความกริ้วโกรธและความคุมแค้น มารดาถนอมลูกคนเดียวผู้เกิดในตน ด้วยยอมพร่าชีวิตได้ฉันใด พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้น

          บุคคลพึงเจริญเมตตามีในใจ ไม่มีประมาณไปในโลกทั้งสิ้น ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องเฉียง เป็นธรรมอันไม่คับแคบ ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู ผู้เจริญเมตตาจิตนั้นยืนอยู่ก็ดี เดินไปก็ดี นั่งแล้วก็ดี นอนแล้วก็ดี เป็นผู้ปราศจากความง่วงนอนเพียงใด ก็ตั้งสติอันนั้นได้เพียงนั้น บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวกิริยานี้ว่า เป็นพรหมวิหารในพระศาสนานี้ บุคคลที่มีเมตตา ไม่เข้าถึงทิฏฐิ เป็นผู้มีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยทัสสนะ (คือ โสดาปัตติมรรค) นำความหมกมุ่นในกามทั้งหลายออก ย่อมไม่ถึงความนอน (เกิด) ในครรภ์อีกโดยแท้ทีเดียวแล”

          กล่าวโดยสรุป พระธรรมดา คือ พระผู้เรียบง่าย ประพฤติต้องตามหลักพรหมจรรย์ มีสติรู้ตัวทั่วพร้อม และเป็นผู้หมั่นเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณ เป็นพระผู้ดำเนินชีวิตพรหมจรรย์อันประเสริฐ เป็นผู้ที่ต้องการเพื่อตนเองเพียงน้อย หากเสียสละเวลาและพลังเพื่อความสุขและความสวัสดีของสรรพชีวิตอื่น กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือผู้ที่เป็นสุขเมื่อได้ทุ่มเทความคิด วาจา และการกระทำ โดยมุ่งเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่นเป็นสำคัญ

          ทั้งเป็นพระผู้ดำเนินชีวิตอย่างบรรสานสอดคล้องทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ และความบรรสานสอดคล้องภายในได้นำไปสู่การดำรงชีวิตร่วมอย่างบรรสานสอดคล้องกับพระภิกษุ และพระภิกษุณีท่านอื่น ๆ รวมทั้งกับเหล่าฆราวาส การดำเนินชีวิตของท่าน จะเป็นแบบอย่างให้กับฆราวาสผู้เพียรพยายามเลียนเยี่ยง เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย และอย่างรู้ตัวทั่วพร้อม การดำเนินชีวิตของท่านยังมีอิทธิพลต่อวัฏจักรธรรมชาติ ทำให้วัฏจักรธรรมชาติดำเนินไปอย่างบรรสานสอดคล้องและเป็นไปในทางกุศล และมีอิทธิพลต่อแม้เดรัจฉานหรือแมลงทั้งหลาย ให้ได้เรียนรู้ที่จะมุ่งทำร้ายผู้อื่นน้อยลงและเกิดความกรุณามากขึ้น

          การดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายของพระย่อมจะช่วยให้เกิดสภาพสังคมที่เอื้อเฟื้อกัน และเกิดความสมดุลของสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้พระธรรมดายังมีเวลาให้กับการเรียนรู้ศาสตร์สาขาต่าง ๆ อันจะช่วยให้มนุษย์ และสรรพสัตว์ทั้งปวงหลุดพ้นจากกองทุกข์ได้ และศาสตร์สาขาต่าง ๆ เหล่านี้จะเชื่อมโยงกันและจะช่วยป้องกัน รวมทั้งเยียวยาแก้ไขความทุกข์ในระดับบุคคลและสังคมร่วมสมัย (โดยไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาแบบแยกส่วนหรือมุ่งเพื่อพาณิชยกรรม) องค์ทะไลลามะได้ร่วมในการสนทนาที่สำคัญหลายครั้งกับนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผลก็คือบางส่วนของนักวิทยาศาสตร์เหล่านั้น เริ่มเกิดความอ่อนน้อมถ่อมตนมากขึ้น และเริ่มเห็นคุณค่าในทางจิตวิญญาณ ที่จะช่วยให้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาตร์ก้าวข้ามพ้นหลักตรรกะเหตุผล และสสารนิยมไปได้ หนังสืออันเนื่องมาจากการสนทนาเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง รวมทั้งงานขององค์ทะไลลามะเอง และงานของผู้ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากท่านก็มีคุณค่าดุจเดียวกัน

          ปัญหาด้านสังคมหลายประการส่งผลลบอย่างร้ายแรงและน่าสะพรึงกลัว ดังกรณีการรุกรานประเทศธิเบต โดยประเทศจีน รวมทั้งเหตุการณ์อันเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับประเทศนั้นนานัปการ กระนั้น เรายังมีพระธรรมดาอย่างองค์ทะไลลามะ และสานุศิษย์ของท่านที่เน้นย้ำเสมอว่า เราต้องเรียนรู้ที่จะรักและเห็นอกเห็นใจชาวจีน และให้อภัยกับรัฐบาลจีน ซึ่งได้ก่อกรรมทำเข็ญขึ้น เนื่องมาจากอวิชชาและความหลงของตนเอง ทั้งนี้ยังไม่รวมความโลภ และความโกรธของพวกเขาด้วย ท่าทีเช่นนี้นับว่ามีความหมายอย่างลึกซึ้ง

          แม้ในยามที่พระธรรมดาถูกทัณฑ์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ ท่านยังสามารถประคองสติความรู้ตัวทั่วพร้อม ความเมตตา และความกรุณาไว้ได้ แม้ว่าองค์ทะไลลามะเองจะไม่เคยผ่านทัณฑ์ทรมานด้านร่างกายมาก่อน แต่ทุกครั้งที่ได้สดับตรับฟังเรื่องราวที่พระภิกษุ สามเณรี และพสกนิกรทั้งหลายของพระองค์ได้รับการทรมานอย่างโหดร้าย ท่านก็ได้รับความสะเทือนใจทุกครั้งไป กระนั้นท่านก็แบกรับความทุกข์เหล่านี้ไว้อย่างปราศจากความพยาบาทอาฆาตแค้น ทั้งท่านยังเตือนเราเสมอว่า หนทางเดียวที่จะเอาชนะความทุกข์ได้ คือการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งสันติขึ้นภายใน และมุ่งทำงานด้วยสันติวิธี และอย่างอดกลั้นอดทน

          ด้วยการเป็นพระธรรมดาผู้ลี้ภัยในต่างแดนในช่วงมากกว่าสี่ทศวรรษที่ผ่านมา พระองค์ได้แสดงให้ทั้งโลกได้ประจักษ์ว่า ความดี ความงาม และความจริง ไม่เพียงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ หากยังเป็นสิ่งที่กระทำได้ ดังเราได้ประจักษ์จากการกระทำของพระองค์เองกับสานุศิษย์ แม้จนบรรดาฆราวาสชนผู้ดำเนินตามแนวทางของท่าน ก็ครองชีวิตอย่างเรียบง่ายบนพื้นฐานของกรุณาและสันติวิธี

          แม้ว่าพระองค์จะทรงมีภารกิจที่ต้องเดินทางไปทั่วโลกเพื่อพบปะกับบุคคลต่าง ๆ จากทุกแวดวง ในฐานที่เป็นพระธรรมดา ท่านยังสามารถปลีกเวลาเพื่อการปฏิบัติสมาธิภาวนา ยังการประกอบพิธีกรรมอย่างสมสมัย และการสั่งสอนพระหนุ่ม เณรน้อยเพื่อให้เจริญรอยตามหลักอริยอัฏฐางคิกมรรค

          ข้าพเจ้าเชื่อว่าอิทธิพลของพระองค์ต่อชาวโลก ไม่ได้เกิดขึ้นเนื่องจากความเป็นพระโพธิสัตว์ หรือสถานะประมุขของรัฐ ๆ หนึ่ง หรือสถานะของผู้นำชุมชนชาวพุทธขนาดใหญ่ รวมทั้งไม่ใช่เพราะท่านมีอำนาจอภินิหารใด ๆ ทั้งสิ้นด้วย อิทธิพลสำคัญของท่านเกิดจากความเป็นพระธรรมดาผู้หวังเพียงน้อยเพื่อตนเอง หากทุ่มเทเวลา และพละกำลังเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในโลกซึ่งกำลังได้รับความทุกข์เนื่องจากผลของความโลภ โกรธ และหลง พระธรรมดาผู้เปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน และความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งแม้จะอยู่ในสภาวะที่เผชิญกับปัญหาสังคมรอบด้านที่รุมเร้าพสกนิกร และประเทศของพระองค์เอง พระองค์ก็ได้แสดงให้โลกได้เห็นว่าสัจจะ การให้อภัย ความเมตตา และความกรุณา มีพลังเหนือกว่าอำนาจใด ๆ ในโลก

          แม้จนผู้นำในศาสนาอื่น และยังไม่นับประมุขของประเทศ และบุคคลสำคัญจากแวดวงต่าง ๆ พวกเขาโดยมากต่างยกย่องนับถือท่าน ทั้งนี้เพราะพระธรรมดาอย่างท่านไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยนศาสนิกในศาสนาอื่นให้มานับถือศาสนาของตนเลย ท่านเพียงหวังให้เกิดความสุขและสวัสดีแก่สรรพสัตว์ทั้งปวง และท่านได้แสดงให้พวกเขาได้ประจักษ์ว่าความสุขสูงสุดนั้นได้จากการมีชีวิตอยู่กับความเรียบง่าย สัจจะ และความกรุณา ด้วยเมล็ดพันธุ์แห่งสันติภายใน พระธรรมดาอย่างองค์ทะไลลามะนับเป็นผู้ชี้นำแนวทางท่านสำคัญสำหรับผู้มีใจปรารถนาให้เกิดสันติภาพในโลก ให้เกิดความยุติธรรมทางสังคม และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :