เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๐

ชีวิตหมดปัญหาถ้ารู้จักภาวนา

 

“ผมไม่มีเวลาปฏิบัติธรรมเลยครับ” หลายคนมักพูดเช่นนี้กับหลวงพ่อชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง เวลาท่านแนะให้หัดปฏิบัติธรรมเสียบ้าง
“แล้วเธอมีเวลาหายใจหรือเปล่า” คือคำตอบของหลวงพ่อ

 

ผู้

คนมักเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมหมายถึงการหลีกเร้นออกไปนั่งหลับตาคนเดียว แต่ ความจริงแล้วไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ ก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ทุกที่และทุกเวลา เพียงแค่กำหนดใจให้อยู่กับลมหายใจทั้งเข้าและออกขณะนั่งรถหรือคอยเพื่อน ก็เป็นการปฏิบัติธรรมแล้ว วันหนึ่ง ๆ รวมแล้วยังทำได้เป็นชั่วโมงโดยไม่ต้องปลีกตัวหลีกเร้นไปที่ไหนเลย จะว่าไปแล้วการปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องที่กินเวลาเลยด้วยซ้ำ เหมือนกับการหายใจซึ่งเราทำอยู่ทุกขณะที่กิน เดิน พูดคุย และเข้าห้องน้ำ (ใครบ้างที่ต้องเผื่อเวลาไว้หายใจ ยกมือขึ้น!) ในทำนองเดียวกันกิจกรรมเหล่านั้น เราก็สามารถทำไปพร้อม ๆ กับการปฏิบัติธรรมได้เลย พูดอีกอย่างคือ เราสามารถทำกิจกรรมเหล่านั้นให้กลายเป็นการปฏิบัติธรรมได้ด้วย เชื่อหรือไม่ว่าในชั่วชีวิตของเราโดยเฉลี่ยแล้วจะใช้เวลาอยู่ในห้องน้ำรวมแล้วประมาณ ๗ ปี! แค่อยู่ในห้องน้ำอย่างเดียวเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ถ้าคุณรู้จักปฏิบัติธรรมขณะอยู่ในห้องน้ำ เพียงเท่านี้คุณก็บอกตัวเองได้เลยว่า ในชั่วชีวิตนี้คุณปฏิบัติธรรมได้มากกว่าเพื่อนของคุณที่คอยแต่จะเข้าวัดปฏิบัติธรรมปีละหลาย ๆ อาทิตย์เสียอีก

          คุณอาจไม่สามารถตามลมหายใจไปได้ตลอดเวลาที่เข้าห้องน้ำ กินข้าว หรือพูดคุยกับเขา แต่หากคุณทำสิ่งนั้นอย่างมีสติ คือรู้ตัวสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันก็ใส่ใจอยู่กับกิจกรรมที่กำลังทำ ไม่ปล่อยใจลอย หรือให้ใจฟูแฟบไปตามเรื่องราวหรือสิ่งที่มากระทบนั่นก็เรียกว่าการปฏิบัติธรรมแล้ว หรือจะพูดให้เจาะจงกว่านั้นก็คือ เป็นการบำเพ็ญภาวนา ที่พูดเช่นนี้ก็เพราะการปฏิบัติธรรมนั้นมีความหมายที่กว้าง การทำมาหากินอย่างสุจริตและถูกต้องชอบธรรม ก็เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ธรรมที่ว่าคือสัมมาอาชีวะเวลาทำงานด้วยความหมั่นเพียรอดทนอดกลั้น ก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรมเช่นกัน คือบำเพ็ญวิริยะและขันติธรรม เป็นต้น แต่ถ้าหากทำงานต่าง ๆ อย่างมีสติรู้ตัว ก็เป็นการปฏิบัติธรรมในขั้นฝึกฝนพัฒนาจิตใจ ซึ่งเรียกตามภาษาพระว่าจิตภาวนา

          ไม่ใช่ว่าเราจะทำสิ่งต่าง ๆ อย่างมีสติรู้ตัวกันได้ง่าย ๆ ลองสังเกตเวลาคุณกินข้าว บ่อยไหมที่ปากคุณเคี้ยว แต่ใจคุณลอยไปไหนไม่รู้ ในยามนั้นคุณแทบจะไม่รู้ตัวเลยว่ากินอะไรหรือทำอะไรอยู่ ถึงรู้ก็รู้สึกแบบลาง ๆ คลุม ๆ เครือ ๆ เวลาคุณทำงาน คุณใจลอยบ่อยไหม หงุดหงิดหัวเสียบ้างไหม คอยเร่งคอยลุ้นให้เสร็จไว ๆ หรือเปล่า ถ้าใช่ นั่นก็แสดงว่าคุณทำสติตกหล่นแล้ว ใจคุณตอนนั้นกำลังหลุดไปจากการจดจ่องานที่กำลังทำ แต่ไปอยู่กับอะไรสักอย่าง ที่อาจเกี่ยวข้องกับงานหรือไม่เกี่ยวเลยก็ได้ เช่นจดจ่ออยู่กับแฟนที่กำลังคอยคุณอยู่ หรือวนเวียนอยู่กับเพื่อนร่วมงานที่ไม่รับผิดชอบงาน เลยกลายเป็นภาระให้คุณจัดการแทน เป็นต้น หรือคอยนึกถึงแต่ผลขั้นสุดท้ายของงานว่าจะออกมาอย่างไร เรื่องเหล่านี้พอครุ่นคิดไปก็จะเกิดอารมณ์ขึ้นมา เช่น วิตกกังวล ขุ่นเคืองหงุดหงิด หรือหนักอกหนักใจ สรุปก็คือทุกข์

          เวลาคนเรามีความทุกข์มีปัญหา เรามักมองหาสาเหตุข้างนอก จะเป็นดินฟ้าอากาศ ผู้คน สังคมก็ตาม เคยได้ยินเรื่องนี้ไหม เวลาลูกเดินสะดุดของที่พ่อเผลอวางเอาไว้ พ่อจะตำหนิว่าลูกซุ่มซ่าม แต่ถึงคราวพ่อเดินสะดุดเองบ้าง กลับต่อว่าลูกว่าทำไมไม่เก็บของให้เป็นที่เป็นทาง นิสัยแบบนี้ทำให้คนเราชอบมองหาแพะรับบาปอยู่เสมอ เศรษฐกิจล่มก็โทษต่างชาติและยอร์จ โซรอส เวลามีปัญหาอื้อฉาวเกี่ยวกับพระ ก็โทษพวกต่างศาสนา ในทำนองเดียวกันเวลาเกิดเซ็งทดท้อขึ้นมา ก็โทษเพื่อนร่วมงานหรือที่ทำงานที่กล่าวมาอาจมีส่วนถูก แต่สาเหตุที่เรามักมองข้ามก็คือ ตัวเราเอง หรือพูดให้ถูกคือ จิตใจของเราเอง เราโกรธและทุกข์ไม่ใช่เพราะเพื่อนนินทาเราหรอก หากเป็นเพราะเราไปยึดเอาคำพูดของเขามาเป็นอารมณ์ เขาอาจพูดบางประโยคลอย ๆ ขึ้นมา เราก็เอาตัวตนหรืออัตตาของเราไปออกรับ สำคัญมั่นหมายว่าเขากำลังพูดกระทบเรา ถ้าก้อนหินกำลังตกมา แทนที่เราจะหลบ กลับเอาหน้าไปรับ ผลคืออะไรหากไม่ใช่เจ็บ เช่นนี้แล้วควรตำหนิคนทำก้อนหินตก หรือโทษตัวเราเองดี

          ทุกครั้งที่เราทุกข์ พึงตระหนักเสมอว่าเราเองมีส่วนรับผิดชอบเสมอ เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา คนเรามีทางเลือกเสมอว่าจะทุกข์ หรือไม่ทุกข์ เวลาถูกตำหนิติเตียน นอกจากการโมโหโวยวายแล้ว เรายังมีอีกทางเลือกหนึ่งคือพิจารณาว่าที่เขาพูดนั้นมีประโยชน์ไหม ทำให้เราเห็นข้อบกพร่องของตัวเราไหม หรือทำให้เห็นนิสัยของเขาชัดเจนขึ้น ถ้าเราเอาความ “ถูกใจ” เป็นหลัก เราจะทุกข์ แต่ถ้าเราเอาความ “ถูกต้อง” เป็นหลัก เราจะได้ปัญญามาแทนที่ความทุกข์ ความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้น ไม่จำเป็นว่าจะทำให้เราทุกข์เสมอไป ถ้าวางจิตวางใจให้เป็น ก็จะได้ประโยชน์จากความเจ็บป่วยนั้น และรู้สึกขอบคุณโรคภัยนั้นด้วยซ้ำแปลกไหมที่มีหลายคนพูดว่า “ดีใจที่เป็นมะเร็ง” “ดีใจที่เป็นเอดส์” ชายและหญิงหลายคนพูดประโยคนี้ เพราะโรคร้ายดังกล่าวทำให้เขาและเธอหันมาทบทวนชีวิต และค้นพบความหมายที่แท้ของชีวิต หันมาทำสิ่งทรงคุณค่าที่ละเลยไปนาน เพราะมัวหลงเพลินกับความสนุกสนานหรืองานการก็แล้วแต่ ในทางตรงกันข้าม หากวางจิตวางใจไม่เป็นเสียแล้ว อย่าว่าแต่เคราะห์เช่นโรคภัยไข้เจ็บเลย แม้โชคเช่นถูกล็อตเตอรี่ได้เงินสิบล้านก็ยังทำให้ทุกข์หนักได้เลย

          ที่พูดมานี้เกี่ยวกับภาวนาอย่างไร เกี่ยวโดยตรง เพราะความทุกข์ของเรานั้น ส่วนใหญ่เกิดจากความลืมตัว หรือเป็นเพราะวางจิตวางใจไม่ถูกต้อง เราลืมตัวเพราะขาดสติ เราวางจิตวางใจไม่ถูกต้องเพราะขาดปัญญา ภาวนาคือการบ่มเพาะจิตใจให้มีสติและเกิดปัญญา ปัญญานั้นจะทำงานได้ดีต้องมีสติเป็นตัวนำหรือกำกับ ถ้าขาดสติ ปัญญาก็ไม่เกิด หรือมาแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่ถูกกาละเทศะ ท่านอาจารย์พุทธทาสชอบเล่าเรื่องหนึ่งเพื่อเป็นอุทธาหรณ์ เด็กน้อยเผลอหยิบเหรียญทองแดงใส่ปาก แล้วเกิดติดคอขึ้นมา แม่รู้เข้าก็ตกใจ ทำอะไรไม่ถูก สักครู่ก็นึกได้ว่าน้ำกรดนั้นกัดทองแดงได้ ก็เลยรีบคว้าขวดน้ำกรดมากรอกใส่ปากเด็ก เกิดอะไรขึ้นกับเด็กก็พอเดาได้ การรู้ว่าน้ำกรดกัดทองแดงได้นั้นเป็นปัญญาอย่างหนึ่ง แต่เป็นเพราะขาดสติ ปัญญาจึงถูกเอามาใช้อย่างผิดที่ผิดทาง พูดภาษาสมัยใหม่นี่เป็นการใช้ปัญญาแบบแยกส่วน คือสนใจอยู่แต่เฉพาะการหาวิธีขจัดทองแดง แต่ไม่ได้ดู “บริบท” หรือสภาพแวดล้อมว่าทองแดงนั้นอยู่ที่ไหน และลืมไปว่าเมื่อขจัดทองแดงได้แล้ว จะเกิดผลข้างเคียงกับปัจจัยแวดล้อมหรือไม่ เป็นการแก้ปัญหาแบบเฉพาะส่วนโดยแท้

          สติและปัญญาสามารถบ่มเพาะขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน การพยายามรู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดอยู่เสมอเป็นการฝึกจิตให้มีสติ อย่างไรก็ตามความรู้สึกนึกคิดนั้นเป็นของละเอียดอ่อน ถ้าสติไม่ไวพอ ก็เท่าทันมันยาก ดังนั้นครูบาอาจารย์จึงแนะนำให้มีสติรู้กับสิ่งที่หยาบก่อน นั่นคือลมหายใจหรืออิริยาบถต่าง ๆ ของร่างกาย หากมีสติรู้กายอย่างต่อเนื่องและแคล่วคล่องแล้ว การมีสติรู้ใจก็ทำได้ไม่ยากและจะดีขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อรู้ทันความคิดแล้ว ต่อไปก็ลองฝึกคิดฝึกมองในแง่มุมใหม่ ๆ ที่จะไม่พาไปสู่ความทุกข์ เช่น การมองในแง่บวก หรือการมองโดยยึดเอาความถูกต้องมากกว่าถูกใจ หากรู้จักมองแล้ว ทุกอย่างก็เป็นธรรมะ หรือเพิ่มพูนปัญญาได้หมด และปัญญาอย่างหนึ่งที่จะช่วยเราได้มากก็คือ การตระหนักรู้ว่า อะไรเกิดขึ้นกับเราก็ไม่ทำให้เราทุกข์ได้มาก เท่ากับท่าทีหรือการวางจิตวางใจที่ไม่ถูกต้องของเราเอง.

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :