เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรมฉบับที่ ๔๙

เพราะเป็นผู้หญิง?
สุชาดา จักรพิสุทธิ์

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือน มิถุนายน ๒๕๔๔ คอลัมน์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

 

คนส่วนใหญ่เมื่อพูดถึงผู้หญิงเก่งในสังคมไทย ก็มักนึกออกแต่เพียงผู้หญิงที่ปรากฏอยู่ตามสื่อต่าง ๆ ซึ่งก็คือผู้หญิงที่เป็นนักการเมือง นักธุรกิจ หรือผู้หญิงในแวดวงบันเทิงและสื่อสารมวลชน ไม่กี่คน แทบไม่เห็นใครกล่าวขานอ้างถึงผู้หญิงชาวบ้านกันสักที ยิ่งในแง่มุมของการยกย่องเชิดชู ยิ่งไม่มี

          ความจริงก็ไม่ได้เป็นเรื่องแปลก สำหรับสังคมที่ยังมีฐานคิดและวัฒนธรรมผู้ชายเป็นใหญ่ แม้ในผู้หญิงที่มีการศึกษาหรือผู้หญิงยุคใหม่ ที่ด้านหนึ่งดูเหมือนมีบทบาทและ โอกาสมากขึ้น เพราะทัศนคติที่เปลี่ยนไปนำพาผู้หญิงไปสู่ “โลกนอกบ้าน” แต่ความจริงอีกด้าน ผู้หญิงก็ยังคงเข้าไม่ถึงโครงสร้างอำนาจ และไม่อาจฝ่าด่านวัฒนธรรมความเชื่อเดิม ๆ ไปได้

          ดังนั้น สิ่งที่ผู้หญิงในวงการสตรีศึกษาต่อสู้เรียกร้องมาช้านาน จึงยังวนเวียนอยู่ในประเด็นของสิทธิ ภราดรภาพ และโลกทัศน์ใหม่อยู่นั่นเอง

ภาพ ตาราโพธิสัตว์ วาดโดย อองซานซูจี เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๘๐

          แต่สำหรับผู้หญิงชาวบ้านหรือผู้หญิงชนบท–ยากจน ปัญหาพื้นฐานด้านการดำรงชีพและวิถีการผลิต ทำให้ผู้หญิงคงความสำคัญสูงสุดมาแต่อดีต ตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงชุมชน ในลักษณะการเป็นผู้นำตามธรรมชาติ ดูแลความเป็นอยู่ของทุกชีวิตในบ้าน ไม่ว่าอาหารการกิน การอบรมเลี้ยงดูเด็ก การควบคุมจัดการทรัพยากรในครัวเรือน การใช้จ่ายเงิน การจัดซื้อจัดหาสิ่งของเครื่องใช้ ฯลฯ เรียกว่าเป็นผู้ควบคุมคุณภาพชีวิตของครอบครัวก็ว่าได้

          ในสังคมเกษตรแต่อดีต ผู้หญิงยังเป็นผู้ตัดสินใจ และเป็นแรงงานสำคัญในการผลิต จะทำนาเท่าไร ปีนี้ปลูกพืชอะไร ขายเท่าไหร่ เก็บไว้กินแค่ไหน ฯลฯ ผู้หญิงเป็นหลักทางเศรษฐกิจและเป็นผู้นำชีวิต ผู้นำการทำงานมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แม้เมื่อวิถีการผลิตแบบที่เคยมีมา ไม่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องอีกต่อไป ก็ผู้หญิงอีกนั่นแหละ ที่ต้องออกจากบ้านไปหางานทำนอกภาคการเกษตร ในขณะที่ผู้ชายยังคงใช้แรงงาน ดูแลเรือกสวนไร่นา หาของป่าอยู่ในละแวกชุมชุน ดังสถิติจำนวนแรงงานจากภาคการเกษตรที่เข้าสู่เมือง จึงปรากฏเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง ๒ ล้านกว่าคน

          จากโลกในบ้านที่บ่มเพาะทักษะแก่ผู้หญิงไปในทางการปฏิบัติ การจับทำรายละเอียดต่าง ๆ ในบ้าน การมีบทบาทเป็นผู้ให้บริการ การตอบสนองและแก้ไขปัญหารอบตัว ความเข้าใจในผู้อื่น ฯลฯ มาแต่บรมกัลป์ ทำให้ผู้หญิงเข้าสู่กระบวนการผู้นำโดยธรรมชาติ ที่ประกอบด้วยคุณธรรมของการ “ให้” ความอดทน เสียสละ และการเรียนรู้จากการสั่งสมประสบการณ์ ทำให้เมื่อผู้หญิงส่วนหนึ่งก้าวเข้าสู่บทบาทการพัฒนาชุมชน การเป็นแกนนำกลุ่มอาชีพและกิจกรรม รวมถึงการมีบทบาทในขบวนการต่อสู้ต่อรองของม็อบหรือกลุ่มปัญหาต่าง ๆ เราจึงได้เห็นศักยภาพของผู้หญิงอีกแบบหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยท่าทีประนีประนอม เข้าอกเข้าใจ และมีวิธีการในเชิงสร้างสรรค์อย่างน่าทึ่ง

          มีตัวอย่างผู้หญิงชาวบ้านไม่น้อยที่ลุกขึ้นแก้ปัญหาเศรษฐกิจของครอบครัวและชุมชน โดยการรวมกลุ่มผลิตสินค้าแปรรูป สมุนไพร หัตถกรรม ตัดเย็บเสื้อผ้า ฯลฯ ซึ่งฟังดูเป็นเรื่องปากท้องแท้ ๆ หากแต่การรวมกลุ่มนี้เองได้นำพวกเธอไปสู่การมีส่วนร่วมคิดและลงมือปฏิบัติการเชิงสังคมและวัฒนธรรมอื่น ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เช่นที่ แม่คำข่าย สิทธิยา กลุ่มแม่บ้านบ้านปวง จ.ลำพูน ต่อสู้เรียกร้องให้มีปั๊มน้ำสะอาดใช้สำหรับเด็ก ๆ ในโรงเรียน

          แม่สมปอง เวียงจันท์ จากสมัชชาคนจนที่ยืนหยัดในสิทธิอันชอบธรรมของชาวบ้านปากมูน

          แม่บัว ช่างทอผ้า จ.อุดรธานี ที่ก่อร่างสร้างธุรกิจผ้าพื้นบ้านแก่ชุมชนจนเป็นปึกแผ่น

          นางสายัณ พรหมรักษา ชาวนา จ. พระนครศรีอยุธยา ที่ก่อตั้งสหกรณ์แม่บ้านออมทรัพย์ ทำกองทุนการศึกษาและเครือข่ายการค้าชุมชนอย่างแข็งขัน

          นางจินตนา แก้วขาว ที่บ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผู้หญิงชาวบ้านที่เป็นแถวหน้า ในการต่อสู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน อันจะนำมาซึ่งการสูญเสียแนวปะการัง ภาวะมลพิษ และการทำลายอาชีพประมงของชาวบ้าน

          กรณีนางจินตนา ที่บ้านกรูด นับเป็นตัวอย่างสะท้อนตัวตนของผู้หญิงธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ซึ่งเมื่อตื่นตัวขึ้นรับรู้ปัญหาอันมีผลกระทบต่อความเป็นปกติสุขของครอบครัวและชุมชน เธอก็ปักใจสู้อย่างเด็ดเดี่ยวทุกวิถีทาง จนบัดนี้เป็นเวลาเกือบ ๕ ปีแล้ว ทั้งด้วยการลงมือศึกษาหาข้อมูล การร้องเรียน การรวมกลุ่มชาวบ้าน จนถึงการก่อม็อบและปฏิบัติการ “กูไม่กลัวมึง” กับอีกฝ่ายหนึ่งอย่างไม่ลดละ

          น่าสังเกตว่าความเป็นผู้หญิงทำให้เธอยินดีรับมือกับปัญหา วิ่งเต้นประสานงานเจรจากับใครต่อใคร มีลักษณะกัดไม่ปล่อย อดทนต่อความยืดเยื้ออย่างที่ผู้ชายทำไม่ได้ เธอยังมีบุคลิกภาพของผู้หญิงที่คิดว่าตนไม่มีอะไรจะสูญเสียอีกแล้ว เช่นเดียวกับผู้หญิงที่แบกรับปัญหาและภาระมากมายทั้งหลาย

          ยังมีกรณีตัวอย่างการต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวของหญิงสาวสวยที่ชื่อ Julia Butterfly แห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งขึ้นไปใช้ชีวิตอยู่บนต้นเรดวู้ดอายุร่วมพันปี สูง ๑๘๐ ฟุต เป็นเวลาถึง ๒ ปี โดยไม่ยอมแพ้ต่อการข่มขวัญกลั่นแกล้งจากบริษัทตัดไม้ เธอกินนอนและอดทนต่อความยากลำบาก ถูกหิมะกัดเท้าบาดเจ็บและอดอยากหิวโหย เมื่อเพื่อนฝูงที่สนับสนุนเธอถูกกีดกันไม่ให้ส่งอาหารและความช่วยเหลือ สันติวิธีและความเป็นผู้หญิงที่ไม่ย่อท้อ ส่งผลสะเทือนต่อประชาชนและบริษัทตัดไม้ จนต้องยินยอมทำสัญญาอนุรักษ์ต้นไม้เก่าแก่ไว้

          เช่นกันกับที่อินเดีย ในชนบทแถบเทือกเขาหิมาลัย แคว้นอุตตรประเทศ ที่มีการตัดไม้ทำลายป่าอย่างมโหฬาร จนผู้หญิงชาวบ้านในชุมชนจำนวนหนึ่งลุกขึ้นรวมกลุ่มประกาศว่า ถ้าใครจะตัดต้นไม้ก็ให้ขวานนั้นฟันลงที่ร่างพวกเธอแทนเถิด พวกเธอตั้งกลุ่มที่ชื่อว่า “ซิปโก้” เป็นภาษาฮินดี แปลว่า โอบกอด โดยพวกเธอใช้กลยุทธ์การปกป้องต้นไม้ด้วยการจับมือล้อมกันโอบกอดต้นไม้แต่ละต้นไว้ การต่อสู้นี้กินเวลายาวนานและขยายตัวไปในหลายชุมชน จนเกิดเป็น “ขบวนการซิปโก้” อันลือลั่น

          พวกเธอมิใช่เพียงแต่ใช้ความเป็นแม่เข้าปกป้องอนาคตเท่านั้น หากแต่ยังแจ่มชัดในการต่อสู้กับนโยบายพัฒนาที่ผิดพลาดทำลายล้างนั้นด้วย พวกเธอรู้ดีว่า ระบบนิเวศที่ถูกทำลายเป็นตัวการทำร้ายหมู่บ้าน ผู้คนยากจนลง ขาดแคลนฟืนและต้องทิ้งถิ่นไปหากินไกล ๆ ครอบครัวแตกสลาย นำมาซึ่งความรุนแรงขัดแย้งในหมู่บ้าน และทำให้ผู้หญิงอินเดียซึ่งทำงานหนักและรับภาระมากมายอยู่แล้ว ยิ่งยากลำบากมากขึ้น

          อินดู ทิกาการ์ หญิงชาวบ้านผู้นำขบวนการซิปโก้ ซึ่งเคยมาบรรยายให้กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทย กล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า “ระบบคิดแบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ มองทุกสิ่งทุกอย่างในแง่ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ทำให้ร่างกาย จิตใจและสติปัญญาของผู้หญิงกลายเป็นสินค้าด้วย ทำให้เกิดปัญหา ผู้หญิงไม่ได้รับความเคารพนับถือ...สังคมใดที่ไม่เคารพนับถือผู้หญิง และไม่ทำให้ผู้หญิงมีศักดิ์ศรีเคารพนับถือตัวเอง สังคมนั้นจะประสบกับความหายนะ ไม่ทางสังคม ก็ทางสิ่งแวดล้อมและจิตใจ ฉะนั้นการพัฒนาที่ถูกต้องจะต้องให้ความสำคัญและการมีส่วนร่วมแก่ผู้หญิง เพื่อให้คุณค่าและสัญลักษณ์ของผู้หญิง อันได้แก่ความรักและอหิงสธรรม เป็นเครื่องค้ำจุนสังคม”

          ใครที่ได้ดูภาพยนตร์จีนเรื่อง Not One Less ที่สร้างโดย “จางอี้โหมว” ผู้กำกับชาวจีนที่เป็นมือวางอันดับหนึ่ง สร้างภาพยนตร์สะท้อนปมปัญหาและโลกทัศน์ของผู้หญิงได้อย่างถึงแก่น และชอบที่จะตีแผ่เบื้องลึกทางด้านวัฒนธรรม ชีวิตผู้คนในแผ่นดินใหญ่ในยุคสมัยของการปฏิวัติวัฒนธรรม จนภาพยนตร์ที่เขาสร้างหรือกำกับ ถูกห้ามฉายในประเทศจีนไปเสียทุกเรื่อง

          ในเรื่อง Not One Less นั้น โครงเรื่องเป็นเรื่องราวของเด็กสาวบ้านนอกคนหนึ่ง ซึ่งไปหางานทำในต่างหมู่บ้าน ได้รับหน้าที่ให้เป็นครูชั่วคราวสอนเด็ก ๆ ขี้มูกกรังแทนครูตัวจริงที่ต้องเดินทางไปธุระในแดนไกล คุณครูสาวน้อยซึ่งตัวเกือบเท่า ๆ นักเรียน ต้องต่อสู้กับประสบการณ์ใหม่และความขาดแคลนของโรงเรียนบ้านนอก พยายามทุกวิถีทางที่จะให้เด็ก ๆ ทุกคนมาเข้าห้องเรียน

          เมื่อวันหนึ่งลูกศิษย์ตัวแก่นคนหนึ่งหายไปในเมืองเพื่อหวังจะไปหางานทำ คุณครูสาวน้อยปักใจแน่วแน่ที่จะไปตามเด็กกลับมาเรียนให้ได้ตามที่ได้รับปากไว้กับครูตัวจริง เธอฝ่าฟันทำงานร่วมกับเด็ก ๆ เพื่อให้ได้เงินค่ารถเข้าเมือง ซอกซอนตามหา พากเพียรเขียนประกาศ รอคอยข้ามวันข้ามคืนเพื่ออ้อนวอนผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ให้ช่วยออกอากาศ จนได้พบลูกศิษย์ทั้งน้ำตา สมดังปณิธาน

          ทั้งหมดคือธรรมชาติและศักยภาพความเป็นผู้หญิง ที่หากปักใจ ศรัทธา เชื่อมั่นในสิ่งใด ก็พร้อมจะยืนหยัด ภักดีด้วยชีวิต แม้แต่ไปรบทัพจับศึกหรือทำการใดที่ต้องใช้ขันติและเวลาสักเท่าใด ผู้หญิงมีคุณสมบัติพิเศษในด้านนี้อย่างยิ่ง

          ยิ่งหากตื่นรู้ เข้าใจปัญหาทั้งของตนเองและของสังคม ผู้หญิงร้อยทั้งร้อยสามารถเป็นผู้หญิงเก่ง พัฒนาตนเองไปสู่การใช้ปัญญาและพลังเต็มร้อยเพื่อผู้อื่นได้อย่างแน่นอน.

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :