เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรมฉบับที่ ๔๙

ทัศนะของพระพุทธศาสนาต่อสตรี และการบวชเป็นภิกษุณี
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)

ภาวนีย์ บุณวรรณ และ คณะ –สัมภาษณ์

ตัดทอนจากหนังสือ ทัศนะของพระพุทธศาสนาต่อสตรีและการบวชเป็นภิกษุณี
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) สนพ.สุขภาพใจ จัดพิมพ์ ๒๕๔๔

 

 

ทำไมในวินัยจึงให้ฐานะภิกษุณีไม่เต็มที่ในสังคม

ถาม : ในครุธรรม ๘ มีอยู่ ๒ ข้อที่คนไม่อยากเชื่อ คือ ภิกษุณีที่บวชมานานกว่าภิกษุ มีอาวุโสกว่า แต่ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุที่บวชเพียงวันเดียว และภิกษุณีแม้จะอาวุโสอย่างไร ก็ไม่มีสิทธิ์ตักเตือนภิกษุ แม้จะทำผิด

ตอบ : ก็อย่างที่บอกไว้แต่ต้นว่า เวลาพิจารณาเรื่องจะต้องนึกถึง

  • ๑. เรื่องการบรรลุธรรม ที่เป็นเรื่องสภาวะ
  • ๒. เรื่องทางสังคม ซึ่งเป็นสมมติ แต่เป็นสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อความเป็นไปของคณะสงฆ์ และต่อการบำเพ็ญศาสนกิจของพระพุทธเจ้าด้วย

          เราต้องมองว่าสังคมยุคนั้นเป็นอย่างไร เราต้องมองว่า พระพุทธเจ้ากำลังทรงบำเพ็ญศาสนกิจ เพื่องานพระพุทธศาสนา นี่ก็เป็นภาระหนักอยู่แล้ว ทรงพยายามให้งานดำเนินไปได้ด้วยดี อะไรที่ไม่จำเป็น จะมาขัดขวางงาน ก็ต้องพยายามยั้งไว้ มองในแง่หนึ่งก็เหมือนกับทำงานแข่งกับพวกเดียรถีย์ หรือพวกศาสดาทั้ง ๖ ทีนี้ค่านิยม ความรู้สึก ทัศนคติ ขนบธรรมเนียมประเพณีในสมัยนั้น ก็รู้กันอยู่แล้วว่าสตรีในศาสนาทั่วไปมีฐานะทางสังคมเรียกว่าด้อยมาก ดังนั้นเมื่อผู้หญิงจะมาบวช เราก็เห็นได้ชัดว่ามีเรื่องที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาใหญ่ ๆ ๒ ด้าน คือ

  • ๑. แง่สังคม สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะธรรมเนียมเกี่ยวกับเรื่องนักบวช สมัยนั้นเป็นอย่างไร
  • ๒. แง่การบรรลุธรรม

          ในตอนที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้บวชนั้นชัด คือมีลำดับเรื่อง ๒ ขั้นตอนที่ว่า ตอนแรกไม่อนุญาต และตอนหลังจึงทรงอนุญาต ถ้าเราอ่านโดยพิจารณาจะรู้เลยว่า การที่ให้บวชก็ด้วยเหตุผลในแง่บรรลุธรรมได้ แต่ถ้าว่าโดยเหตุผลทางสังคม จะไม่ยอมให้บวช เพราะว่าขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมสมัยนั้นไม่อำนวยเลย สมัยนั้น นักบวชสตรียังไม่เป็นที่ยอมรับ และในทางสังคมสตรีก็มีฐานะด้อยอยู่

          ทีนี้ในภาวการณ์ระหว่างศาสนา เมื่อค่านิยมในสังคมเป็นอย่างนี้ ถ้าผู้หญิงเข้ามาบวชก็เริ่มเป็นจุดอ่อนให้แก่ศาสนาอื่นทันที เขาก็ยกขึ้นเป็นข้อโจมตีและกดว่า ศาสนานี้ผู้หญิงก็บวชได้ ก็กลายเป็นเหมือนกับว่าผู้หญิงมาดึงคณะสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าตั้งขึ้นนี้ลงไปในขณะที่ยังต้องบุกฝ่าเดินหน้าอยู่ และถ้ายอมให้พระภิกษุไหว้ด้วย ก็จะยิ่งเป็นข้ออ้างให้เขาเอาไปพูดกดพระพุทธศาสนาได้เต็มที่

          เรื่องมีในพระไตรปิฎกด้วย ครั้งหนึ่งพระมหาปชาบดีทูลขอว่าให้พระภิกษุกับภิกษุณีเคารพกันตามพรรษา พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต และตรัสว่า แม้แต่อัญเดียรถีย์ทั้งหลายก็ไม่ยอม นี่แหละ พระพุทธเจ้าทรงปรารภเรื่องอัญเดียรถีย์ เพราะถ้าไปทำเข้า ก็เหมือนกับยอมให้พุทธศาสนาถูกเขาดึงลงไปกดไว้

          ในพระวินัย จะเห็นว่าพวกเดียรถีย์คอยหาแง่ที่จะกดจะข่มจะว่าร้ายพระพุทธศาสนาอยู่ แม้แต่ถ้าพระภิกษุให้ของขบฉันด้วยมือแก่นักบวชอเจลก (พวกชีเปลือย) เป็นต้น ก็จะถูกเขาหาแง่มุมว่าในทางไม่ดี จนเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติห้ามไม่ให้พระภิกษุให้ของขบฉันแก่นักบวชพวกนั้นด้วยมือตนเอง

          เพราะฉะนั้น จึงต้องทำความเข้าใจและตกลงกันให้ชัดก่อนว่า ถ้าจะบวชก็อย่าไปคำนึงถึงเรื่องด้านสังคมเลย เราจัดให้เหมาะตามสภาพสังคมก็แล้วกัน ให้ผู้หญิงที่จะบวชนึกมุ่งไปที่การบรรลุธรรมเป็นสำคัญ ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธตอนแรก ก็เหมือนกับว่าจะให้พิจารณาทำความเข้าใจในเรื่องนี้ ว่าถ้ามองในแง่สังคม ถึงขออนุญาตอย่างไรก็ไม่ให้ แต่เมื่อมองในแง่การบรรลุธรรมจึงทรงอนุญาต

          หนึ่ง เป็นการเตือนสตรีทั้งหลาย ให้รู้ว่าสภาพสังคมมันเป็นอย่างนี้ เราจะต้องตระหนักไว้ และสอง คำนึงถึงคุณค่าของการบวชที่ได้มาด้วยความยากลำบาก ว่ามุ่งที่การบรรลุธรรม แล้วก็อย่าไปคิดมากในเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นแง่ของการปฏิบัติให้เหมาะสมกับสภาพสังคมอย่างนั้น แล้วก็ทรงมอบครุธรรมมาเพื่อปฏิบัติให้เหมาะกับสังคมยุคนั้น ให้เป็นอันรู้กันว่านี่เป็นการยอมรับไปตามสภาพสังคม แต่เรามุ่งที่การบรรลุธรรม จึงไม่มาติดใจกันในเรื่องนี้

          เป็นอันว่า ตอนแรกที่พระมหาปชาบดีขออนุญาต พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต ซึ่งเป็นการพิจารณาในแง่ของสังคม แต่เมื่อยกเหตุผลในแง่การบรรลุธรรม อันนี้ก็ทรงอนุญาตให้บวช ภิกษุณีก็ต้องตระหนักไว้ว่า การอนุญาตให้ภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นนี้เพื่อเหตุผลในการบรรลุธรรม แล้วก็ให้มุ่งที่นี่ อย่าไปคำนึงถึงในแง่ของสังคม ซึ่งจะต้องทำให้ เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ซึ่งในแง่นี้เท่ากับขอให้เห็นแก่พระศาสนาโดยส่วนรวม เพื่อให้งานพระศาสนาส่วนรวมดำเนินต่อไปได้ด้วยดี

          เมื่อยอมรับเงื่อนไขทางสังคม พอให้ส่วนรวมดำรงอยู่ในภาวะปกติเท่าที่จะเป็นไปได้แล้ว ผู้บวชเป็นภิกษุณีเข้ามา ก็มุ่งไปที่การปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมตามศักยภาพที่มีอยู่โดยธรรมชาติ ซึ่งไม่ขึ้นต่อการยึดถือของสังคม

          ตามเรื่องที่เป็นมาปรากฏว่า ภิกษุณีสงฆ์เมื่อเกิดขึ้นแล้ว นอกจากเป็นที่ปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรม ก็ได้ขยายตัวเป็นศูนย์กลางการศึกษามวลชนสำหรับสตรี เพราะการปฏิบัติธรรมก็คือกระบวนการเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาคนนั่นเอง และวัดกับทั้งสำนักภิกษุณี ก็เป็นศูนย์กลางที่ชุมนุมพบปะทำกิจกรรมร่วมกันของพุทธบริษัททั้ง ๔ ดังนั้น การเกิดขึ้นทั้งของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ จึงเป็นการเปิดมิติใหม่แห่งการขยายโอกาสทางการศึกษาในสังคมชมพูทวีป

 

ทำไมเมื่อให้บวชภิกษุณีจึงต้องมีข้อจำกัดมากมาย

ถาม : มีผู้บอกว่า การบัญญัตินี้เป็นการบัญญัติในชั้นหลัง โดยผ่านผู้ชายหรือภิกษุเองในสมัยลังกา ท่านเจ้าคุณมีความคิดเห็นอย่างไร

ตอบ : ก็คงจะหาทางพูดเอานั่นละ ซึ่งไม่มีหลักฐานอะไร ตามประวัติเท่าที่มีหลักฐาน ตอนแรกพระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต แต่เมื่อขอในแง่ของการบรรลุธรรมก็อนุญาต ถึงอย่างนั้นก็ทรงแสดงข้อเป็นห่วงพระศาสนาไว้ เมื่อสตรีบวช พระองค์ทรงเปรียบไว้หลายข้อ เช่นว่า

          เหมือนกับบ้านเรือนที่มีบุรุษน้อย มีสตรีมาก จะถูกภัยภายนอกเข้ามาได้ง่าย คล้ายว่าสงฆ์ส่วนรวมก็จะอ่อนกำลังลง และพระภิกษุที่มุ่งทำงานอยู่ก็จะต้องแบ่งกำลังมาคุ้มครองภิกษุณีสงฆ์ด้วย เพราะสตรีนอกจากมีปัญหาเชิงสังคม เรื่องที่วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีสมัยนั้นไม่ยกย่องสตรีในระดับเดียวกับบุรุษแล้ว โดยภาวะของสตรี ก็มีความไม่ปลอดภัยต่าง ๆ มากด้วย

          ตอนหนึ่งภิกษุณีอยู่ป่า ก็ถูกคนร้ายมาข่มเหง พระพุทธเจ้าจึงต้องทรงบัญญัติสิกขาบทไม่ให้ภิกษุณีอยู่ป่า คือชีวิตที่จะบำเพ็ญสมณธรรมแบบผู้ชายนี้ทำได้ยาก ภิกษุจะบุกเดี่ยวบุกป่าฝ่าดงถึงไหนถึงกัน แต่ภิกษุณีไปไม่ได้

          แม้แต่เพียงภิกษุณีอยู่ลำพังรูปเดียวก็ไม่ได้ เกิดปัญหาอีกแล้ว จึงต้องมีบัญญัติเช่นว่า ภิกษุณีจะประพฤติมานัต ตามปกติการประพฤติมานัตอยู่กรรมก็ต้องอยู่รูปเดียว แต่สำหรับภิกษุณีต้องมีเพื่อนอยู่ด้วย พระพุทธเจ้าก็ต้องบัญญัติสิกขาบทให้ภิกษุณีสงฆ์ตั้งภิกษุณีรูปอื่นมาเป็นเพื่อนให้อยู่ได้ อย่างนี้เป็นต้น

          ในแง่ชีวิตพรหมจรรย์ที่ว่าต้องพร้อมที่จะอยู่ป่าอยู่เขาคนเดียว และจาริกไปได้ทุกหนทุกแห่ง ในแง่นี้ภาวะเพศหญิงก็ไม่เหมาะเท่าเพศชาย และกลายเป็นปัญหาหนัก ทำให้ฝ่ายพระภิกษุต้องเป็นกังวล พลอยห่วงด้วย

          ตามปกติภิกษุกับภิกษุณีเดินทางไกลไปด้วยกันไม่ได้ ถ้าไปด้วยกันชาวบ้านก็เพ่งมอง เพราะมีพระผู้หญิงพระผู้ชาย ชาวบ้านเขาก็มองว่านี่เป็นแฟนกันหรืออะไร เพราะชีวิตนักบวชนั้น คนอินเดียรู้กันอยู่แล้วว่า นักบวชไม่ว่าศาสนาไหนก็ถือว่าต้องอยู่พรหมจรรย์ พอมีภิกษุณีขึ้นมาก็แปลกแล้ว ไม่เข้าตาเขา ทีนี้พอเดินทางไปด้วยกันคนก็เพ่งก็จ้องว่า เอ๊ะ! พระในศาสนานี้มีภรรยาด้วยนะ อะไรอย่างนี้

          มีเรื่องที่พระภิกษุกับพระภิกษุณีเดินทางเป็นคณะไปด้วยกัน ผู้คนพากันมาดูและล้อเลียน ทำให้พระพุทธเจ้าต้องบัญญัติสิกขาบท กันไม่ให้ภิกษุและภิกษุณีเดินทางร่วมกัน แต่พอเดินทางแยกกัน เมื่อไปเฉพาะภิกษุณีแม้จะหลายรูปก็ถูกข่มเหง ก็ต้องมีพุทธานุญาตว่า ไม่ให้เดินทางด้วยกัน เว้นแต่เดินทางไกล ที่มีภัยอันตรายอย่างนี้เป็นต้น อย่างน้อยก็เป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นในการที่จะทำงานพระศาสนา

          ขอย้อนอีกนิดว่า ที่ว่าไม่ให้ภิกษุณีว่าภิกษุ ในอรรถกถาท่านอธิบายว่า ไม่ให้ตั้งตัวเป็นเจ้าเป็นนายหรืออะไรทำนองนั้น ถ้าจะพูดเชิงตำหนิหรือแนะนำก็พูดแบบให้เกียรติ เช่น ภิกษุทำอาการไม่สำรวม ภิกษุณีก็อาจจะพูดว่า พระผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือ ท่านไม่แสดงอาการอย่างนี้… แต่ถึงฝ่ายภิกษุก็มีวินัยบัญญัติว่าภิกษุที่จะว่ากล่าวให้โอวาทภิกษุณีต้องได้รับการแต่งตั้งจากสงฆ์

          ภิกษุณีสงฆ์นั้นเกิดขึ้นทีหลัง เป็นของใหม่ ก็ให้ปฏิบัติไปตามวินัยของภิกษุ เพราะบัญญัติไว้แล้ว แต่เมื่อภิกษุณีมีเรื่องใหม่ ๆ ขึ้นมา ก็ทรงบัญญัติสิกขาบทใหม่เป็นข้อ ๆ เพิ่มเข้าไป

          ตอนแรกที่ภิกษุณีบวชเข้ามาก็ไม่รู้ว่าวินัยที่มีอยู่แล้วเป็นอย่างไร ก็ทรงให้ภิกษุเป็นผู้สวดปาฏิโมกข์ให้ฟัง ต่อมาก็มีปัญหาว่าภิกษุมาสวดหลายครั้งเข้า คนก็ติเตียนภิกษุว่าอย่างนั้นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสห้ามไม่ให้ภิกษุมาสวดปาฏิโมกข์ให้ภิกษุณีฟัง และให้ภิกษุณีสวดเอง แต่ภิกษุณียังไม่รู้ธรรมเนียมวิธีปฏิบัติ ก็ต้องให้ภิกษุสอนให้ อย่างนี้ เป็นต้น

          ตอนแรก ๆ ก็มีการปรับตัวอย่างนี้ คือเรื่องนี้เป็นของใหม่ที่แปลกสำหรับสังคม คนก็ต้องเพ่ง ต้องจ้อง จะมีข้อตำหนิอะไรอยู่เรื่อย และภิกษุณีเองก็ไม่สบายใจ มีเรื่องเช่นว่า มีผู้ชายมาไหว้ ภิกษุณีก็ไม่สบายใจ เกิดความสงสัยว่านี่เรายินดีการไหว้ของบุรุษได้หรือเปล่า ก็ไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าได้ อย่างนี้เป็นต้น นี่ก็อีกแง่หนึ่ง แต่ปัญหาระยะยาวก็คือภาวะชีวิตร่างกายที่ไม่เอื้อต่อการอยู่ป่าอยู่เขาจาริกไปตามลำพัง

          ขอให้นึกถึงสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อ พอตั้งขึ้นแล้วก็มีเรื่องราวที่ต้องเป็นห่วงเป็นกังวลอะไรเยอะ แต่เป้าอยู่ที่ว่า เอาละอย่ามัวเกี่ยงข้อปฏิบัติด้านสังคมเลย มุ่งไปที่การบรรลุธรรมเถิด อันนี้คือตัวเหตุผลที่แท้

          ข้อสำคัญอยู่ที่ความมุ่งหมายของการบัญญัติครุธรรมนี้ ที่ตรัสว่า เพื่อป้องกันความอ่อนแอและภัยที่จะเกิดแก่พระศาสนา เหมือนสร้างทำนบกันน้ำไหลบ่าล้น เราอาจจะมัวไปมองกันในแง่อื่น ๆ และคิดอย่างโน้นอย่างนี้เลยไป ขอให้พิจารณาจุดนี้กันให้ดี

 

เมืองไทยเป็นอย่างนี้ จะมีภิกษุณีเถรวาทได้ไหม

ถาม : กลับมาปัญหาที่กำลังคุกรุ่นในปัจจุบัน ในเรื่องการบวชภิกษุณีในเมืองไทย มีผู้ที่พยายามบวช และทางฝ่ายเถรวาทอ้างว่า เพราะเราขาดสูญอุปัชฌาย์ของภิกษุณีด้านเถรวาทนี้มานานแล้ว ก็มีผู้ไปบวชเมืองจีนที่ไต้หวัน ก็ไม่เป็นที่ยอมรับ และมีกลุ่มที่พยายามผลักดันให้มีการบวชภิกษุณี โดยใช้คำอ้างว่า “แม้แต่พระพุทธเจ้ายังอนุญาตให้สตรีบวชเลย แต่ทำไมทางมหาเถรสมาคมของประเทศไทยจึงไม่อนุญาต ทั้งที่มีผู้พร้อมที่จะบวช ซึ่งน่าจะอนุญาตได้” นี่ข้อหนึ่ง

          และเขามองในแง่สังคมวิทยาว่า เพราะสถาบันศาสนาเปิดโอกาสให้กับผู้ชาย ฉะนั้นเด็กผู้ชายตามจังหวัดที่ยากจน ด้อยโอกาส มีโอกาสเข้ามาพึ่งพิงศาสนา ได้เรียนหนังสือ ได้เติบโตในสังคมต่อไปได้ด้วยดี ในขณะที่ไม่มีสถาบันภิกษุณี ทำให้ผู้หญิงไม่มีโอกาสในเรื่องของการศึกษา เขาเปรียบเทียบว่าจำนวนภิกษุสงฆ์สองแสน เทียบแล้วก็เท่ากันกับเด็กผู้หญิงที่จะต้องไปทำอาชีพโสเภณี ถ้ามีสถาบันภิกษุณีในสังคม จะได้มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้มากขึ้นด้วย

ตอบ : อันนี้เกิดจากการจับเรื่องโน้นมาชนเรื่องนี้ จับจุดของเรื่องไม่ถูก การอนุญาตให้บวชภิกษุณี เป็นเรื่องของพระพุทธเจ้า คือต้องเป็นไปตามพุทธบัญญัติ มหาเถรสมาคมไม่มีอำนาจอะไรเลย มหาเถรสมาคมเป็นเรื่องบัญญัติใหม่ตามกฎหมายของบ้านเมือง แม้แต่สงฆ์ที่เป็นการปกครองแบบพระพุทธเจ้า พระภิกษุสงฆ์ก็ไม่มีอำนาจที่จะให้ภิกษุณีบวช และการที่บอกว่าเป็นเรื่องไม่มีอุปัชฌาย์ ก็ยังไม่ถูก คือการบวชภิกษุณีสำเร็จด้วยสงฆ์ เช่นเดียวกับภิกษุเหมือนกัน เมื่อไม่มีภิกษุณีสงฆ์แล้ว จะบวชภิกษุณีได้อย่างไร ไม่ใช่อยู่ที่ตัวอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์บวชไม่ได้หรอก ถ้าไม่มีภิกษุณีสงฆ์ ถึงมีอุปัชฌาย์ มีภิกษุณีรูปเดียวเป็นอุปัชฌาย์ ก็บวชใครให้เป็นภิกษุณีไม่ได้

          เมื่อครั้งภิกษุสงฆ์ในลังกาหมด ลังกาก็ต้องส่งทูตมา ขอพระสงฆ์จากเมืองไทย เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปบวชให้แก่คนลังกา ทีนี้ภิกษุณีสงฆ์ไม่มี แล้วเราจะบวชภิกษุณีได้อย่างไร ข้อสำคัญอยู่ที่นี่ เหมือนอย่างเมื่อพระเจ้าอโศกส่งพระศาสนทูตมาตั้งพระศาสนาในลังกา พระมหินท์ก็นำคณะภิกษุมา ก็บวชภิกษุลังกาได้ และตอนนั้นฝ่ายภิกษุณีก็ต้องมีภิกษุณีสงฆ์ คือพระนางสังฆ-มิตตาเถรี นำคณะภิกษุณีสงฆ์มา ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์จึงบวชภิกษุณีได้ หมายความว่าจะต้องมีภิกษุณีสงฆ์ จึงจะบวชภิกษุณีได้ ต้องมีภิกษุสงฆ์จึงจะบวชภิกษุได้ ถ้าไม่มีภิกษุสงฆ์ แล้วใครจะไปบวชภิกษุได้ ก็ เหมือนกัน ปัญหามันติดอยู่ที่นี่ มันไม่ใช่เรื่องอุปัชฌาย์และมหาเถรสมาคมอะไรเลย

ถาม : แล้วที่พาไปบวชภิกษุณีสงฆ์ที่ไต้หวัน ที่บวชมาแล้ว ทางนี้ไม่ยอมรับนับถือ และค่อนข้างจะมองกันในแง่เรื่องของการเมืองด้วย

ตอบ : ถ้าไปบวชแบบมหายาน ก็แน่นอนละ เรื่องการเมืองไม่ต้องไปเกี่ยวหรอก ก็เหมือนกับภิกษุมหายานนั่นแหละ ภิกษุเถรวาทก็ไม่รับเหมือนกัน ใช่ไหม ไม่ต้องไปถึงไต้หวันหรอก พระมหายานในเมืองไทยก็ถือว่าเป็นมหายาน พระสงฆ์เถรวาทจะไปนับท่านเป็นเถรวาทได้อย่างไร เป็นเรื่องธรรมดา

ถาม : ทางนครปฐมที่มีเรื่องท่านสังฆณีวรมัย เท่าที่จำได้ ท่านเองก็อ้างว่าท่านบวชในสายเถรวาทมาจากไต้หวัน

ตอบ : ก็นั่นสิ ขอให้มองเป็นเรื่องตรงไปตรงมาตามธรรมดา อยู่ ๆ ถ้าพูดขึ้นมาเฉย ๆ จะให้ทางนี้ยอมรับได้ไหมว่า ภิกษุณีที่สืบมาในไต้หวันเป็นสายเถรวาท อย่างน้อยท่านก็ต้องตั้งข้อระแวงไว้ว่า ดินแดนไต้หวันมีแต่พุทธศาสนา มหายาน ภิกษุสงฆ์ก็เป็นมหายาน แล้วจะไปยอมรับภิกษุณีทันทีได้อย่างไร มันก็เป็นธรรมดา ไม่ใช่เฉพาะไม่ยอมรับภิกษุณีหรอก ภิกษุก็ไม่รับ ก็ได้แต่รับในแง่ที่รู้ว่านี่เป็นภิกษุมหายาน เมื่อเป็นภิกษุณีท่านก็ยอมรับในแง่ว่านี่เป็นภิกษุณีมหายาน ก็ว่ากันไปตามเรื่อง ตรงไปตรงมาอยู่แล้ว

          เมื่อมาจากแดนมหายาน ถ้าบอกว่าเป็นภิกษุณีเถรวาท ก็อย่าเพิ่งให้ท่านต้องยอมรับทันที ก็ต้องให้โอกาสท่าน ก็ต้องสืบสาวราวเรื่องที่เป็นมาให้ชัดก่อน นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดา

          ในกรณีที่ว่าถ้าเป็นภิกษุณีสายเถรวาทจริง แต่ภิกษุสงฆ์ในไต้หวันมีแต่มหายาน ภิกษุณีซึ่งบวชในสงฆ์สองฝ่าย ก็กลายเป็นบวชกับภิกษุสงฆ์มหายาน ความเป็นเถรวาทก็แปรไปเสียอีก จะนับว่าเป็นภิกษุณีเถรวาทครึ่ง มหายานครึ่งหรืออย่างไร แค่นี้ก็ต้องเห็นใจท่านที่จะต้องวินิจฉัยแล้ว ว่าคงลำบากใจไม่น้อยเลย

          ถ้ามีภิกษุณีสงฆ์เถรวาทจริงก็ถือว่าดีไปขั้นหนึ่ง แต่เมื่อเรื่องเกิดขึ้นท่านก็ต้องถือในขั้นต้นว่าเป็นภิกษุณีมหายานไว้ก่อน ก็เป็นธรรมดา มันตรงไปตรงมา ก็ต้องให้ความเป็นธรรมแก่ท่านด้วย

ถาม : ในประเด็นนี้ ถ้าผู้หญิงไทยยอมรับสภาพ คือยอมรับเป็นภิกษุณีสงฆ์ของมหายาน ก็น่าจะเป็นทางออกได้

ตอบ : ก็เป็นทางออกหนึ่ง เราก็ต้องมาตกลงว่าจะเอาอย่างไร

ถาม : ต้องมีการสืบต่อไปอีกไหมครับ ว่ามีการขาดช่วงของภิกษุณี

ตอบ : อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ หรือชาวพุทธที่จะต้องสืบสวนทางประวัติศาสตร์ว่า ภิกษุณีสงฆ์ในไต้หวันนั้นสืบมาอย่างไร เป็นภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทแท้จริงไหม ถ้าหากว่าสืบได้ชัด ทางนี้ยอมรับได้ ก็หมดเรื่อง แต่ก็ต้องพิจารณาในแง่ว่าไต้หวันไม่มีภิกษุสงฆ์เถรวาท ที่จะบวชภิกษุณีเถรวาทในขั้นตอนที่ให้ครบสงฆ์สองฝ่าย แล้วจะยุติอย่างไร ก็ว่ากันตรงไปตรงมา อย่าไปยกอันโน้นมาปนอันนี้ให้มันยุ่ง ไม่ต้องไปพูดถึงภิกษุณีเลย ภิกษุก็เหมือนกัน เราก็ยังมีภิกษุสายเถรวาท และภิกษุมหายาน

ถาม : แล้วอย่างที่บัญญัติไว้ว่า พระอุปัชฌาย์ของภิกษุณีที่เรียกว่า ปวัตตินี ที่ว่าสามารถบวชได้แค่ปีละองค์ แล้วก็ต้องเว้นไปอีกปีหนึ่ง ถึงจะบวชได้ใหม่อีกองค์หนึ่ง อย่างนี้คิดว่าน่าจะเป็นพระพุทธประสงค์ที่จะคุมกำเนิดนะครับ

ตอบ : ก็อาจจะอย่างนั้น คือไม่ต้องการให้มีมาก คล้ายว่าทำให้การบวชภิกษุณีนั้นเป็นไปได้ยาก อันนี้คงต้องมองในแง่ของสังคม คือเป็นปัญหาเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ทางสังคม

ถาม : คือท่านต้องการที่จะให้สูญพันธุ์ไปโดยปริยายหรือเปล่า

ตอบ : อันนั้นก็ต้องพิจารณากันอีก อาตมาคงตัดสินไม่ได้ แต่พูดได้ว่าเป็นข้อที่ควรตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่ง

 

แม่ชีที่เรามีอยู่แล้ว ช่วยกันส่งเสริมขึ้นมาจะดีไหม

ถาม : ในเรื่องของสถานภาพแม่ชีล่ะคะ

ตอบ : อันนี้อาตมาเห็นด้วยว่าควรจะเปิดโอกาสให้กับผู้หญิง ในสังคมไทยที่เป็นมา เมื่อภิกษุณีสงฆ์ไม่มี ในเมื่อเรายังมีปัญหากันอยู่ว่า เราจะมีภิกษุณีสงฆ์มาบวชได้อย่างไร เพราะวินัยมีข้อกำหนดอยู่ว่าภิกษุบวชก็ยังต้องมีภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีถึงแม้จะต้องให้ภิกษุสงฆ์ยอมรับด้วย แต่อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นต้องมีภิกษุณีสงฆ์ ทีนี้ในเมื่อเรายังหาภิกษุณีสงฆ์ไม่ได้ ในสังคมไทยก็จึงยังไม่มีภิกษุณี

          ทีนี้จะทำอย่างไร ที่จะให้โอกาสแก่สตรี โบราณก็หาทางออกโดยเป็นอนาคาริก เป็นอุบาสิกานุ่งห่มขาวรักษาศีล ที่เรียกเป็น แม่ชี แต่ในสังคมโบราณ สังคมเป็นไปอย่างหลวม ๆ เพราะเป็นชุมชนเล็ก ๆ จบในตัว ก็ไม่ค่อยมีปัญหา

          แต่ทีนี้พอเป็นสังคมใหญ่อย่างปัจจุบันขึ้นมา ก็มีกฎกติกาสังคม มีกฎหมายอะไรต่างๆ สถาบันสังคมมีความซับซ้อน อาตมาว่าต้องมาตกลงกันจัดวางให้เหมาะกับยุคนี้ คือต้องตรงไปตรงมา ถ้าจะบวชภิกษุณีก็ต้องให้มีภิกษุณีสงฆ์ ก็จบเท่านั้น ถ้าไม่มีภิกษุณีสงฆ์เราบวชภิกษุณีไม่ได้ แต่เราอยากให้ผู้หญิงมีโอกาสได้ประโยชน์จากพระศาสนา ในภาวะที่ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับเรื่องครอบครัว และภาระกังวลทางด้านชีวิตภายนอกของคฤหัสถ์ เป็นผู้ไม่ครองเรือน เราจะวางหลักเกณฑ์อย่างไร เราก็มาตกลงกัน

          อันนี้คิดว่าตรงไปตรงมาดีที่สุด หมายความว่าตอนนี้เรายังหาภิกษุณีสงฆ์มาบวชภิกษุณีไม่ได้ เรามาตกลงกันดีกว่าว่าสังคมของเราอยากให้โอกาสแก่ผู้หญิง เราจะทำอย่างไร แล้วเราก็จัดให้เหมาะ ให้ได้ประโยชน์แก่ผู้หญิงตามวัตถุประสงค์ด้วย และไม่ผิดพุทธบัญญัติด้วย นี่เป็นวิธีที่น่าจะดีที่สุด ไม่ต้องมัวมาเถียงกันอยู่

ถาม : แล้วระหว่าง ๒ ทางออก คือ การให้มีแม่ชีในเถรวาท กับการที่จะเปิดให้มีภิกษุณีสงฆ์ฝ่ายมหายาน อันไหนจะมีข้อดีข้อเสียมากกว่ากัน

ตอบ : ไม่ใช่เป็นทางออก ๒ อย่าง ที่จะต้องเลือก และไม่เกี่ยวกับการเอามาเปรียบเทียบกันเลย แม่ชีเป็นเรื่องที่เรามีอยู่แล้ว และดีอยู่แล้ว แต่เราค่อนข้างปล่อยปละละเลยไปเสีย ก็มาตั้งใจส่งเสริมจัดให้ดีไปเลย ส่วนเรื่องภิกษุณีสงฆ์ฝ่ายมหายานที่ยังไม่มี ก็เป็นเรื่องที่จะพิจารณาเป็นอีกประเด็นหนึ่งต่างหากกัน ถ้าพูดว่าอย่างไหนจะดี ก็ไม่ตรงประเด็น และจะเป็นปัญหาขัดแย้งนอกเรื่อง

          เมื่อนำภิกษุณีฝ่ายมหายานเข้ามา ก็ต้องเอาหลักคำสอน ข้อยึดถือของฝ่ายมหายานมา แต่ถ้าเราตั้งเป็นระบบของเราขึ้นมา ก็เป็นนักบวชที่เรายอมรับว่าไม่ใช่อันที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้เท่าที่ช่องทางของธรรมวินัยมีอยู่ แล้วเราก็วางแนวปฏิบัติอะไรต่ออะไรให้เหมาะสม

ถาม : แม่ชีเกิดในสังคมไทยนานเท่าไร

ตอบ : คงเกิดนานมากแล้ว มีเรื่องเล่ามาตลอด ซึ่งแสดงว่าสังคมไทยเดิมก็มีวิธีการหาทางออกให้ผู้หญิง

ถาม : แม่ชีมาอยู่ตามวัดจะถูกมองว่าเป็นเหมือนคนรับใช้ และไม่สามารถจะรับบิณฑบาตได้ ไม่สามารถจะทำพิธีสังฆทานได้

ตอบ : แม่ชีนี่เรียกว่าอุบาสิกา แต่ก่อนผู้ชายก็มี เขาเรียก ผ้าขาว ก็เหมือนกัน ไม่มีสิทธิ์อะไรพิเศษ หมายความว่าชีก็สืบมาจากโบราณ อย่างที่ฝ่ายชายก็มีชีปะขาวหรืออะไรทำนองนั้น ในแบบเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายก็อยู่วัด เป็นอนาคาริก เป็นอุบาสก เป็นอุบาสิกา มีฐานะแบบเดียวกัน แต่ต้องการมีชีวิตแยกจากความเป็นคฤหัสถ์ เพื่อจะได้มีความหลีกเร้น ปลีกตัวสงบมากขึ้น ก็มุ่งผลเพียงเท่านั้น ทีนี้สังคมมันเปลี่ยนไป เราจึงต้องบอกว่าควรจะจัดอย่างไรให้เหมาะสม

ถาม : โอกาสที่จะเป็นภิกษุณีอย่างเถรวาทนี่ ตามวินัยเป็นไม่ได้ใช่ไหมคะ

ตอบ : ตามวินัย ถ้าไม่มีภิกษุณีสงฆ์ก็บวชภิกษุณีไม่ได้

ถาม : แต่ถ้าจัดขึ้นมาเองล่ะค่ะ

ตอบ : ก็เป็นของเทียม ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า ถ้าอย่างนั้นเราก็บวชพระภิกษุกันเองได้ ไม่ต้องบวชตามวินัยของพระพุทธเจ้า จะเอาอย่างนั้นหรือที่จริง ถ้าเราจัดขึ้นมาเองเราก็เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่ง ไม่ต้องไปปลอมของท่าน อย่าไปทับพุทธบัญญัติ มันไม่ดี ไม่ถูก ก็เหมือนลังกาเมื่อพระภิกษุหมดไปเขาก็ยอมรับว่าภิกษุสงฆ์ของเขาหมด เขาก็ต้องส่งทูตมาขอจากไทยไป ก็ไปมีสยามวงศ์ขึ้นมา แล้วก็ขอจากพม่า มีนิกายมรัมมะ และอมรปุระขึ้นมา เขาเคารพพุทธบัญญัติ ก็ไม่จัดภิกษุสงฆ์ขึ้นมาเอง.

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :